วันศุกร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2550

คู่มือมนุษย์ในวันที่ยังมีความฝัน

ฮอนด้า โซอิจิโร : ชายผู้สร้างความฝันให้เป็นความจริง (Honda Soichiro Yume O Chikarani) / ฮอนด้า โซอิจิโร – เขียน / กนิฏฐา มัทซุโอะ – แปล / พิมพ์ครั้งแรก : สำนักพิมพ์ ส.ส.ท. เยาวชน สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น), ตุลาคม 2549

ฮอนด้า โซอิจิโร : ชายผู้สร้างความฝันให้เป็นความจริง (Honda Soichiro Yume O Chikarani) / ฮอนด้า โซอิจิโร – เขียน / กนิฏฐา มัทซุโอะ – แปล

ผมนั่งอ่านหนังสือเล่มนี้ในช่วงปลายปีที่แล้ว ระหว่างติดตามข่าวในแวดวงต่างๆ ซึ่งมักจะมีการสรุปภาพรวมของปีที่ผ่านมา สำหรับวงการอุตสาหกรรมยานยนต์มีรายงานว่าผลประกอบการไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เช่นเดียวกับธุรกิจอีกหลายประเภท กระนั้นก็ยังแข่งขันกันอย่างดุเดือด อย่างตลาดรถกระบะที่ช่วงชิงกันเป็นที่หนึ่งระหว่างค่ายโตโยต้ากับอีซูซุ แต่สำหรับตลาดรถเก๋งขนาดกลางและเล็ก ฮอนด้าแซงหน้า จนเรียกได้ว่าเป็นปีทองของเขาเลย ยิ่งตลาดมอเตอร์ไซค์ ฮอนด้ากินส่วนแบ่งถึง 65 เปอร์เซ็นต์

จักรยานยนต์กับรถยนต์ขนาดกลางและเล็กเป็นงานถนัดของฮอนด้า และทำได้ดีทั้งคู่ แม้จะแยกกันคนละบริษัทก็ตาม ชื่อเสียงของฮอนด้าเป็นที่เชื่อถือในแง่ใช้งานง่าย ซ่อมแซมสะดวก บริการน่าพอใจ แม้ไม่โหมโฆษณามากนัก ผู้บริโภคก็ขานรับปากต่อปาก และจะขายต่อก็มีราคา

ในบ้านเกิดของตัวเอง ปัจจุบันเหลือเพียงโตโยต้ากับฮอนด้าเท่านั้นที่ยังคงเป็นวิสาหกิจรถยนต์ของทุนญี่ปุ่นแท้ๆ ในต่างประเทศชื่อเสียงของฮอนด้าก็เป็นที่ยอมรับไม่น้อย ทั้งในตลาดอเมริกาและยุโรป นวัตกรรมใหม่ๆ อย่าง รถแข่ง Formula 1 หรือหุ่นยนต์ ASIMO ก็สร้างชื่อให้ฮอนด้าเป็นอย่างมาก

หลังจากอ่านหนังสือ “ฮอนด้า โซอิจิโร : ชายผู้สร้างความฝันให้เป็นความจริง” แล้ว ไม่แปลกใจเลยถึงความสำเร็จของฮอนด้าในวันนี้ เพราะหนังสือเล่มนี้ช่วยย้อนหลังให้เห็นว่า ชายผู้เริ่มต้นมาจากเด็กฝึกงานในอู่ซ่อมรถ สามารถสร้างรากฐานของกิจการจนกลายเป็นวิสาหกิจระดับโลกได้อย่างไร

ฮอนด้า โซอิจิโร เป็นวีรบุรุษทางธุรกิจคนหนึ่งของญี่ปุ่น ซึ่งสร้างเนื้อสร้างตัวมาจากงานที่ทำด้วยความรู้จริงและสร้างสรรค์ด้วยตนเอง ไม่ได้เป็นแค่นายทุนเท่านั้น ซ้ำยังมีวิสัยทัศน์กว้างไกล และมีปรัชญาอันเข้มแข็งรองรับวัฒนธรรมองค์กร จนกลายเป็นแบบอย่างขององค์กรมหาชนที่แท้จริง

เนื้อหาของหนังสือแบ่งออกเป็น 3 ภาค คือ “ภาคแรก : ประวัติชีวิตข้าพเจ้า” ซึ่งฮอนด้าเขียนขึ้นในปี ค.ศ. 1962 ขณะที่เขามีอายุได้ 55 ปี และก่อตั้งกิจการมาได้ 14 ปี เล่าเรื่องตั้งแต่เด็ก เป็นบุตรชายของช่างตีเหล็กที่สนใจหลงใหลในเครื่องยนต์กลไกมาแต่น้อย อายุ 16 ปี เขามาสมัครเป็นเด็กฝึกงานของอู่ซ่อมรถยนต์ในกรุงโตเกียว จนอายุ 22 ปี เขาจึงกลับไปเปิดอู่สาขาที่บ้านเกิด ต่อมาก็เปิดโรงงานผลิตวงแหวนลูกสูบ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เขาเริ่มต้นพัฒนาจักรยานติดเครื่องยนต์ขนาดเล็ก จากนั้นจึงย้ายมาตั้งบริษัทฮอนด้าในกรุงโตเกียว ร่วมกับ ฟูจิซาวะ ทาเกโอะ ซึ่งเป็นผู้ดูแลด้านธุรการทั้งหมด และหลังจากพัฒนารถจักรยานยนต์จนประสบความสำเร็จแล้ว เขาก็พัฒนารถยนต์ต่อ

“ภาคสอง : หลังจาก ‘ประวัติชีวิตข้าพเจ้า’ ถูกตีพิมพ์ (ค.ศ. 1962-1991)” เป็นการเรียบเรียงของบรรณาธิการ เล่าเรื่องต่อจากนั้น ซึ่งเป็นประสบการณ์ของฮอนด้าระหว่างดำรงตำแหน่งผู้บริหารองค์กรใหญ่ ผ่านวิกฤตการณ์ และการตัดสินใจครั้งสำคัญหลายครั้ง กระทั่งลาออกพร้อมกับฟูจิซาวะเพื่อเปิดทางให้คนรุ่นใหม่ และถึงแก่กรรมในปี ค.ศ. 1991

ด้วยเป็นสายตาที่มองย้อนหลัง ดังนั้นจึงเห็นข้อบกพร่องและความผิดพลาดของฮอนด้าด้วย และยังรวมทรรศนะของคนอื่นๆ ให้เห็นรอบด้านมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของ ฟุจิซาวะ ทาเกโอะ ซึ่งเป็นเสมือนแม่บ้านผู้ดูแลด้านการตลาด ขณะที่ฮอนด้ารับผิดชอบด้านการผลิต

ส่วน “ภาคสาม : รวมสุนทรพจน์และโวหารของ ฮอนด้า โซอิจิโร” นั้น เป็นวาทะที่แสดงปรัชญาความคิดของฮอนด้าได้อย่างแจ่มชัด โดยเฉพาะเมื่ออ่านหลังจากรับรู้ประวัติชีวิตและการทำงานของเขาทั้งหมดแล้ว จะรู้สึกว่าประโยคเรียบง่ายนั้นช่างเป็นจริงและหนักแน่นยิ่ง เพราะกลั่นออกมาการลงมือทำอย่างหนักเป็นเวลายาวนานนั่นเอง

น้ำเสียงของความกระตือรือร้นในการเล่าถึงการงานของชายผู้มีความสุขกับสิ่งที่ตัวเองทำด้วยความรัก ทำให้หนังสือเล่มนี้อ่านสนุกและเปี่ยมไปด้วยพลังของแรงบันดาลใจ และอาจเพราะเป็นหนังสือที่ตั้งใจให้เยาวชนอ่าน ประสบการณ์อันเข้มข้นจึงสกัดออกมาเป็นสาระที่แจ่มชัดและหนักแน่น คนทำงานหรือผู้ประกอบการอ่านแล้วก็น่าจะได้ประโยชน์เป็นชิ้นเป็นอัน เป็นน้ำเป็นเนื้อของความฝันที่สามารถปั้นแต่งตามอย่างไปได้ไม่ยาก

ท่าทีของหนังสือยังไม่ได้กระตุ้นให้อยากประสบความสำเร็จอย่างหนังสือแนวธุรกิจ แต่กระตุ้นกำลังใจ อย่างที่ผู้เรียบเรียงชี้แจงไว้ใน “บทนำ” ว่า ปรารถนาให้บทเรียนเหล่านี้มีประโยชน์แก่ผู้คน เพราะหลังจากเศรษฐกิจของญี่ปุ่นผ่านช่วง “สิบปีแห่งความล้มเหลว” ในยุค 90 มาแล้ว คนหนุ่มสาวก็ดูเหมือนจะตกอยู่ในบรรยากาศของความสิ้นหวังและไร้ความฝัน

ประวัติของฮอนด้าเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า การจะก้าวหน้าต่อไปได้ด้วยดีนั้น ต้องมีปรัชญาที่ดีเป็นหลักชี้นำ อย่างฮอนด้าจะมีปรัชญาในการทำงานว่า ต้องพัฒนาผลงานให้มีคุณภาพมากที่สุด และต้องไม่ลอกเลียนแบบใครด้วย เพราะฉะนั้นงานของเขาจึงมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และสอดคล้องเหมาะสมกับความต้องการของคนในสังคมอยู่เสมอ อย่างจักรยานยนต์รุ่น Dream D ซึ่งมีประสิทธิภาพมากในขณะนั้น หรือจักรยานยนต์รุ่น Super Cub C100 ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งครอบครัว หรือรถยนต์รุ่น CIVIC ที่ใช้เครื่องยนต์ลดควันพิษ ตอบรับกับกระแสควบคุมมลภาวะจากรถยนต์ในขณะนั้นพอดี

ด้วยความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ทำให้ฮอนด้าตัดสินใจลงแข่งขันในสนามแข่งรถระดับโลก เพื่อสร้างชื่อเสียงและนำประสบการณ์ที่ได้นั้นมาพัฒนาต่อ นั่นเองที่ทำให้บริษัทรถยนต์น้องใหม่อย่างฮอนด้าเร่งเครื่องตามทันและแซงหน้าบริษัทอื่นอย่างรวดเร็ว

และด้วยตระหนักดีว่าบริษัทจะประสบความสำเร็จได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาวต้องมีงานวิจัยที่มีประสิทธิภาพรองรับ ดังนั้นเขาจึงก่อตั้งสถานบัน Honda R&D ขึ้นในปี ค.ศ. 1960 โดยเริ่มต้นจากทำรถแข่งนั่นเอง การบริหารจัดการสถาบันวิจัยต่างจากโรงงาน เพราะหน้าที่ของโรงงานนั้นคือการผลิต พนักงานจำเป็นต้องเชื่อฟังองค์กรเป็นหนึ่งเดียว แต่งานวิจัยต้องอาศัยความสามารถเฉพาะตัวของปัจเจกบุคคล และต้องพบกับความล้มเหลวมากกว่าความสำเร็จ เพราะฉะนั้น Honda R&D จึงอยู่ได้ด้วยการอาศัยเงินวิจัยจากฮอนด้ามอเตอร์ร้อยละ 3 ของยอดขายทั้งหมด และขายผลงานวิจัยให้กับฮอนด้ามอเตอร์เป็นการตอบแทน

ด้วยเหตุนี้นวัตกรรมของฮอนด้าจึงก้าวหน้าอยู่เสมอ อย่างกิจกรรมภายในอย่างงานประกวด All Honda Idea Contest นั้น ก็เป็นแรงกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของพนักงานได้เป็นอย่างดี

นอกเหนือจากนี้ฮอนด้ายังเน้นความมีเหตุมีผลในการทำงาน เช่น หมั่นสังเกตสถานการณ์จากตัวแทนจำหน่ายอยู่เสมอ ทำให้ปรับโครงสร้างการทำงานได้ทันท่วงทีต่อการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ทั้งยังเน้นความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค และการนำผลกำไรคืนสู่สังคม

ผมชอบที่หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เน้นความสำเร็จจากความร่ำรวยในการทำธุรกิจ แต่เน้นความสุขจากการทำงาน อย่างที่ฮอนด้าพูดถึงความสุข 3 ประการของเขา คือ ความสุขจากการเป็นผู้สร้างสินค้าที่มีคุณภาพ ความสุขจากการต้อนรับของผู้บริโภค และความสุขจากความภาคภูมิใจเมื่อสินค้านั้นเป็นประโยชน์ต่อผู้คน อันล้วนเป็นความสุขที่เกิดจากความรับผิดชอบนั่นเอง.

[พิมพ์ครั้งแรก: Vote]