วันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

สมรรถพลและพุทธิปัญญาในจิตรกรรมบัวหลวง

ทศวรรษที่ 3 จิตรกรรมบัวหลวง / หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ, 7 กุมภาพันธ์ – 27 มีนาคม 2555

“เสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์” สุรทิน  ตาตะน๊ะ, สีอะคริลิค 165x125 ซม.

[“เสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์” สุรทิน ตาตะน๊ะ, สีอะคริลิค 165x125 ซม.]

เป็นเวลาสามสิบกว่าปีมาแล้วที่มูลนิธิธนาคารกรุงเทพจัดประกวดรางวัล “จิตรกรรมบัวหลวง” ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกในปี 2517 นับเป็นเวทีสำคัญในการส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย เปิดทางให้ศิลปินรุ่นใหม่ก้าวขึ้นสู่ความสำเร็จ รองลงมาจากเวทีการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ มีบทบาทต่อการสังสรรค์และพัฒนาแบบอย่างทางศิลปะ โดยเฉพาะจิตรกรรมไทยประเพณีซึ่งเวทีจิตรกรรมบัวหลวงให้การขับเน้น

เนื่องในวาระครบ 30 ปี ได้มีการจัดนิทรรศการพิเศษ แสดงผลงานของศิลปินที่เคยได้รับรางวัลย้อนหลัง พร้อมกับผลงานในปัจจุบัน แบ่งออกเป็น 3 ครั้ง คือ “ทศวรรษที่ 1 จิตรกรรมบัวหลวง” รวมงานของศิลปินที่ได้รางวัลตั้งแต่ครั้งที่ 1-10 ระหว่างปี 2517-2529 ซึ่งจัดขึ้นในปี 2551 “ทศวรรษที่ 2 จิตรกรรมบัวหลวง” รวมงานตั้งแต่ครั้งที่ 11-20 ระหว่างปี 2530-2539 จัดในปี 2552 และ “ทศวรรษที่ 3 จิตรกรรมบัวหลวง” รวมงานครั้งที่ 21-30 ระหว่างปี 2540-2551 เลื่อนมาจัดในปีนี้เอง

การประกวดจิตรกรรมบัวหลวงแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ จิตรกรรมไทยแบบประเพณี จิตรกรรมไทยแนวประเพณี และจิตรกรรมร่วมสมัย จิตรกรรมแบบประเพณีจะรักษาขนบธรรมเนียมตามแบบแผนไว้เป็นสำคัญ ส่วนจิตรกรรมไทย “แนว” ประเพณีจะเป็นรูปแบบประยุกต์ดัดแปลง และจิตรกรรมร่วมสมัยก็เปิดกว้างทางรูปแบบอย่างอิสระ

กระนั้นในระยะหลังการแบ่งประเภทก็เลือนเข้าหากัน เนื่องจากจิตรกรรมไทยประเพณีมีการนำเทคนิควิธีของจิตรกรรมร่วมสมัยมาปรับใช้อยู่มาก ขณะที่จิตกรรมร่วมสมัยก็นำหลายอย่างจากศิลปะประเพณีและศิลปะพื้นบ้านมาสร้างสรรค์

จิตรกรรมบัวหลวงเป็นสนามสำคัญให้ศิลปินร่วมสมัยแสดงออกถึงความเป็นไทยในปัจจุบัน ขณะที่สังคมสมัยใหม่ก้าวเข้าสู่ความเป็นสากล ซึ่งวิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลกแทบจะเหมือนกันไปหมด การรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ประจำชาติเป็นเรื่องที่คนในสังคมตระหนัก เห็นจำเป็นทั้งทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ แต่จะรักษาและพัฒนาไปอย่างไรเป็นโจทย์ที่ต้องพิจารณากันหลายชั้น ทั้งในชั้นแก่น กระพี้ และเปลือกนอก

งานศิลปะดั้งเดิมไม่ได้แยกออกจากชีวิตประจำวัน แต่เป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของผู้คน รวมอยู่ในข้าวของเครื่องใช้ การตกแต่งประดับประดา ความเชื่อ ศาสนา ประเพณีและพิธีกรรม แม้กระทั่งศิลปินผู้สร้างก็ไม่สลักสำคัญเท่ากับการสืบทอดแนวทางที่ยึดถือกันมา บางครั้งการทำอะไรผิดแปลกแหวกแนวถือเป็นการนอกครูที่มีความผิดร้ายแรง แต่ศิลปะสมัยใหม่ต้องการแสดงสมรรถพลของศิลปินในฐานะปัจเจกที่มีความโดดเด่นไม่เหมือนใครอื่น การลอกเลียนแนวทางของผู้อื่นถือเป็นความผิดร้ายแรงของศิลปินในปัจจุบัน

งานจิตรกรรมก็แยกตัวออกมาจากการประดับตกแต่ง เพื่อแสดงพุทธิปัญญาในการสร้างสรรค์ด้วยตนเอง กล่าวได้ว่างานจิตรกรรมแบบประเพณีในปัจจุบันก้าวหน้ากว่าอดีตมาก ด้วยศิลปินได้รับการศึกษาตามหลักวิชาอย่างเป็นระบบระเบียบ ประกอบกับเทคนิควิธีและวัสดุอุปกรณ์ได้พัฒนาไปมาก

แนวทางจะเริ่มเห็นตั้งแต่การนำเทคนิคการวาดภาพของศิลปะตะวันตกมาผสมผสานกับจิตรกรรมไทย อย่างที่เห็นในงานของขรัวอินโข่ง, สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศนานุวัดติวงศ์, พระเทวาภินิมมิต และเหม เวชกร จากนั้นก็เป็นการผสมผสานกับรูปแบบการแสดงออกตามอย่างลัทธิต่างๆ ของศิลปะสมัยใหม่ อย่างงานของ ชลูด นิ่มเสมอ, เฉลิม นาคีรักษ์, ถวัลย์ ดัชนี และอังคาร กัลยาณพงศ์ จนกระทั่งมาถึงปัจจุบันซึ่งมีการตีความและพัฒนาไปในหลายทิศทาง ซึ่งเห็นได้ตั้งแต่การประกวดจิตรกรรมบัวหลวงในปี 2517 เป็นต้นมา

ทศวรรษที่ 1 จิตรกรรมบัวหลวง จะเห็นฝีมือของศิลปินที่ผ่านการศึกษาฝึกฝนมาอย่างล้ำเลิศ อย่างการแสดงมุมมองของจิตรกรรมไทยผ่านแสงเงาของสถาปัตยกรรมในงานของ ปรีชา เถาทอง การแสดงความงามอันวิจิตรบรรจงในงานของ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ และการแปรแปลงเป็นจินตนาการเหนือจริงในงานของ ปัญญา วิจินธนสาร นอกจากนี้ยังเห็นชั้นเชิงในการจัดองค์ประกอบ เพื่อแสดงความงามของทัศนธาตุทางศิลปะในลักษณะนามธรรมในงานของ อิทธิพล ตั้งโฉลก, พิษณุ ศุภนิมิต และปริญญา ตันติสุข

พอเข้าสู่ทศวรรษที่ 2 จิตรกรรมบัวหลวง จะเห็นแรงบันดาลใจของศิลปินที่หลากหลายออกไปตามภูมิหลังและความสนใจเฉพาะตัว อย่างงานจิตรกรรมที่แสดงกลิ่นอายท้องถิ่นทางเหนือของ ประสงค์ ลือเมือง และเนติกร ชินโย หรือท้องถิ่นทางอีสานในงานของ ธีระวัฒน์ คะนะมะ และจินตนา เปี่ยมศิริ การนำสัญลักษณ์ของศิลปะประเพณีมาปรับใช้ในลักษณะนามธรรม อย่างงานของ ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ, เกรียงไกร วงษ์ปิติรัตน์ และอภิชัย ภิรมย์รักษ์ ส่วนจิตรกรรมร่วมสมัยก็จะเห็นงานที่สะท้อนตัวตนและสังคม อย่างงานของ ชาติชาย ปุยเปีย, สันติ ทองสุข และนาวิน เบียดกลาง

ส่วนทศวรรษที่ 3 จิตรกรรมบัวหลวง จะเห็นการลงรายละเอียดที่ลึกซึ้งขึ้น ทั้งในชั้นเชิงฝีมืออันวิจิตรอลังการ การเข้าถึงจิตวิญญาณพื้นบ้าน การใช้กลวิธีและวัสดุที่ให้ประสิทธิผล รวมถึงการนำเสนอมโนภาพในด้านที่เลวร้ายของชีวิตและสังคม นอกเหนือจากความงดงามที่เป็นอุดมคติเท่านั้น

จะเห็นชั้นเชิงฝีมืออันประณีต ละเอียดอ่อน ลำดับองค์ประกอบและควบคุมน้ำหนักบรรยากาศได้อย่างงดงาม ในงานของ สุรทิน ตาตะน๊ะ, เกรียงไกร เมืองมูล และพรมมา อินยาศรี หรือการแสดงฝีมือผ่านกลวิธีและวัสดุดั้งเดิมได้อย่างลงตัว อย่างงานรดน้ำลายทองของ สิโรจน์ พวงบุปผา และปรัชญ์ อินทรัตน์

การนำเสนอความเป็นพื้นบ้านท้องถิ่นมิใช่เป็นเพียงกลิ่นอาย แต่เข้าถึงรูปแบบและวิถีชีวิต หรือเรียกได้ว่าจับจิตวิญญาณขึ้นมาต่อยอดเป็นงานร่วมสมัย มีการแสดงออกที่จริงใจ ซื่อ และเป็นอิสระอย่างช่างพื้นบ้านมากกว่าช่างหลวง อย่างงานของ ลิปิกร พวงแก้ว ภาพพระบฏที่เสียดสีความเสื่อมของประเพณีความเชื่อของ นพวงษ์ เบ้าทอง งานตกแต่งสิมหรือโบสถ์ทางอีสานของ อัศวิณีย์ หวานจริง ขณะที่งานของ ชวลิต อุ๋ยจ๋าย และเจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ ก็สะท้อนบรรยากาศและสภาพชีวิตทางภาคใต้

การใช้วัสดุและสื่อผสมก็ทำให้เกิดความงามอันแปลกตา เกิดมิติในการมองเห็นที่มากกว่าระนาบแบนเรียบธรรมดา อย่างงานของ สากล สุทธิมาลย์ ซึ่งใช้ปูนปั้นเป็นภาพนูนต่ำและวาดทับด้วยสีฝุ่น หรืองานจิตรกรรมสื่อผสมของ ศรัณย์ ศิริเจริญ และระฐาพัชร์ พิชิตศิลปะธำรง เล่นระดับกับมิติทางสายตา งานวาดเส้นร้อนบนไม้ของ อภิชาติ เอี่ยมวิจารณ์ ก็ถ่ายทอดความทุกข์ทรมานของไฟนรกได้อย่างถึงอารมณ์

จิตรกรรมไทยในปัจจุบันมิได้สืบทอดอุดมคติจากอดีตเพียงถ่ายเดียว แต่ยังมีการตีความด้วยพุทธิปัญญาของศิลปินเอง อันเป็นผลมาจากทักษะ ความรู้สึกนึกคิดของศิลปิน และสภาพแวดล้อมของสังคม จินตภาพในจิตรกรรมที่เนรมิตขึ้นมาจึงยังคงสะท้อนมาจากชีวิตและสังคมนั่นเอง.

[พิมพ์ครั้งแรก: Vote]

วันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

สกัด/สลัว/สงัด : ประหยัด พงษ์ดำ

นิทรรศการเชิดชูเกียรติศิลปินอาวุโส ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ประหยัด พงษ์ดำ / หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ, 1 พฤศจิกายน – 15 ธันวาคม 2554

ยามเช้า, ปี 2524 ภาพพิมพ์แกะไม้ 60x40 ซม.

[ยามเช้า, ปี 2524 ภาพพิมพ์แกะไม้ 60x40 ซม.]

อาจารย์ประหยัด พงษ์ดำ ได้ชื่อว่าเป็นปรมาจารย์ผู้เป็นเอกในการสร้างสรรค์ผลงานภาพพิมพ์แกะไม้ (wood cut) จนได้รับการยกย่องเป็นศิลปินชั้นเยี่ยมประเภทภาพพิมพ์ จากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ปี 2524 และได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพพิมพ์) ในปี 2541 งานภาพพิมพ์แกะไม้ของประหยัดเข้าถึงความสมบูรณ์ลงตัว ทั้งในกลวิธีการพิมพ์ด้วยแม่พิมพ์ไม้ ซึ่งให้ความรู้สึกดิบซื่อ จริงใจ และเรียบง่าย เหมาะกับเนื้อหาที่เป็นวิถีชีวิตของชาวบ้าน และรูปแบบที่ลดทอนความสมจริง เหลือเพียงรูปทรงในอุดมคติที่เรียบง่าย เรียกได้ว่าประจวบเหมาะทั้งกลวิธี เนื้อหา และรูปแบบ

มิเพียงเท่านั้น ประหยัดยังเป็นคนที่มีโอกาสเติบโตมาในวิถีชีวิตชาวบ้านในสังคมไทยดั้งเดิม และสามารถสกัดเอาจิตวิญญาณในบรรยากาศเช่นนั้นมาแสดงออกให้เห็นเป็นรูปลักษณ์ เป็นรูปสัตว์ใกล้ตัวคนไทยสมัยก่อน อย่าง แมว ตุ๊กแก จิ้งจก ไก่ นกฮูก นกเค้าแมว หรือควาย เป็นภาพคนในครอบครัว ผู้หญิง และเด็ก หรือเป็นมโนภาพในอุดมคติอย่างภาพม้า ต้นโพธิ์ หรือดอกบัว ส่วนใหญ่จะจัดองค์ประกอบอย่างเรียบง่าย คือวางรูปทรงประธานอยู่กลางภาพ โดยมีบรรยากาศที่ก่ออารมณ์สถิตนิ่งอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่เบื้องหลัง โดยมากจะเป็นบรรยากาศมืดสลัว แฝงความรู้สึกเร้นลับ

บรรยากาศมืดสลัวเงียบสงัดเหมือนในยามพลบค่ำ ปรากฏในงานของประหยัดมาตั้งแต่ตอนทำงานจิตรกรรม ดังเช่นงานจิตรกรรมสีน้ำมันชื่อ “อยุธยา” ซึ่งได้รางวัลจากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ปี 2500 เขาวาดภาพโบราณสถานวัดราชบูรณะในเวลากลางคืน ลดทอนแสงสีลงในความอึมครึม และสกัดรายละเอียดจนเหลือเพียงกลุ่มก้อนของรูปทรงในน้ำหนักทึบตัน เป็นการนำเสนอความเป็นไทยที่ไม่ได้สง่างาม แต่มองเห็นความงามในเงาหม่นของซากโบราณสถาน แฝงความรู้สึกลี้ลับซ่อนเร้นในโลกโบราณ ซึ่งยังไม่ได้โดนทำลายด้วยความเจริญเจิดจ้าของวัฒนธรรมไฟฟ้า

นอกจากนี้เขายังเริ่มวาดรูปสัตว์ในบรรยากาศมืดครึ้ม เสมือนเป็นสัญลักษณ์สะท้อนความรู้สึกภายในของมนุษย์ เช่น ภาพแมวในยามกลางคืน ภาพครอบครัวแมวท่ามกลางหลืบเงาของบ้านเรือนและวัด ภาพม้าหรือควายที่แสดงพลังชีวิต รวมทั้งภาพผู้หญิงในภวังค์ลี้ลับ

แม้งานจิตรกรรมจะคุมบรรยากาศตามที่ต้องการได้สะดวกกว่า แต่การลดทอนรูปทรงให้เรียบง่ายจนมีลักษณะแบนราบเป็นสองมิติ ก็เหมือนจะใช้คุณสมบัติของความเป็นจิตรกรรมได้ไม่สมประโยชน์นัก ต่อเมื่อประหยัดทำงานภาพพิมพ์แกะไม้ ความแบนราบของรูปทรงสองมิติก็เด่นชัดขึ้นมาในเส้นและขอบที่คม ความพยายามที่จะสร้างน้ำหนักอ่อนเข้มและมิติบรรยากาศขึ้นมาด้วยวิธีการอันจำกัดก็กลายเป็นเสน่ห์

ดังเช่นงานชื่อ “ตุ๊กแก” ซึ่งได้รางวัลเกียรตินิยมอันดับหนึ่งในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ปี 2506 เขาแกะแม่พิมพ์ไม้เป็นภาพตุ๊กแกแม่ลูกไต่อยู่บนกระดานข้างฝา เบื้องหลังเป็นทิวทัศน์ในยามกลางคืน เห็นพระจันทร์ดวงโต ดวงดาวสุกสกาว และเรือกสวนเป็นเงาอยู่ใต้ตีนฟ้า ลวดลายของตุ๊กแกโดดเด่นบนแผ่นเงาดำของกระดาน ความน่าเกลียดน่ากลัวที่ขัดตากลับบอกเล่าธรรมชาติอันอ่อนโยนของครอบครัวตุ๊กแก เป็นการขัดกันทางความรู้สึกที่ให้ความงามอันสะเทือนอารมณ์

หรืองานชื่อ “ยามเช้า” ซึ่งได้รับรางวัลเกียรตินิยมอันดับหนึ่งในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ปี 2524 เป็นภาพไก่ขันตอนเช้ามืด อันเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นวันใหม่ ท่วงท่าของไก่ชนสง่างามอยู่ในท่าโก่งคอขัน ฉากหลังไล่สีด้วยลูกกลิ้งเป็นบรรยากาศยามค่อนรุ่ง เริ่มมีแสงที่ขอบฟ้า ขณะที่ฟ้าสีเข้มด้านบนยังมีดาวประดับ

ระยะหลังประหยัดประสมประสานกลวิธีของงานจิตรกรรมและภาพพิมพ์เข้าด้วยกัน เพื่อสร้างผลงานในเชิงอุดมคติความเชื่อ ตามคตินิยมของศิลปะประเพณีและพุทธศาสนา เส้นและขอบที่คมชัดของวิธีการทางภาพพิมพ์ช่วยขับเน้นรูปทรงเรียบง่ายให้โดดเด่น ขณะที่การระบายสีช่วยเกลี่ยบรรยากาศให้กลมกลืนและมีสีสัน

แต่ผลงานซึ่งเป็นที่จดจำก็คือภาพพิมพ์แกะไม้ที่แสดงบรรยากาศของวิถีชีวิตชาวบ้านไทยนั่นเอง

ประหยัดยังหยิบยืมรูปแบบและเนื้อหาของศิลปะประเพณีมาหลายอย่าง อาทิรูปทรงคนในลักษณะอุดมคติอย่างจิตรกรรมไทย แต่ก็ปรับให้ดูเรียบง่ายและซื่อ กระทั่งการใช้ทองคำเปลวปิดลงบนภาพ เพื่อขับเน้นส่วนที่สำคัญให้ทอแสง ก็เป็นสุนทรียภาพของศิลปะไทยที่คุ้นเคยกับการแสดงความงามในความมืดสลัว

ความเป็นไทยที่ประหยัดแสดงให้เห็นมาจากวิถีชีวิต เป็นภาพประทับในใจมากกว่าการลอกเลียนจากภายนอก ผลงานภาพพิมพ์และจิตรกรรมของเขาสัมผัสได้ถึงความรู้สึกที่อวลไปด้วยบรรยากาศเร้นลับ ขรึมขลัง เงียบสงบ วังเวง เสมือนมีอำนาจเหนือธรรมชาติ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือวิญญาณลี้ลับ แฝงเร้นอยู่ในโลกเช่นนั้น เป็นวิถีชีวิตแบบชาวบ้านที่ยังอยู่ในโลกของความเชื่อและศรัทธาต่อศาสนา จารีตประเพณี และเรื่องผีสางเทวดา ห่มคลุมให้อยู่ในครรลอง เป็นโลกแห่งความมืดสลัว ข่มไว้ด้วยความกลัวเกรง แต่ก็ยังมองเห็นความงามของชีวิต สายใยรักอันอบอุ่นในครอบครัว และพลังที่พยายามดิ้นรนอยู่ภายในตน

งานของประหยัดอาจไม่ได้สะท้อนสังคมและการเมืองโดยตรง แต่บอกเล่าเรื่องราวของชีวิตอย่างเรียบง่าย และแฝงนัยยะความหมายอื่นใดอยู่ในสัญลักษณ์เหล่านั้น

ความเชื่อเรื่องผีสางเทวดาอันที่จริงก็คือภาวะจิตใจในส่วนลึกของมนุษย์ ความงามสัมพันธ์กับความปรารถนา และความดีก็คือความรู้สึกปีติยินดีนั่นเอง

เช่นภาพผู้หญิงของประหยัด ซึ่งลดทอนความงามในเชิงกามรมณ์เหลือเพียงโครงร่างที่อ่อนช้อย อย่างตัวพระตัวนางในงานจิตรกรรมไทย เพียงแต่จะสวมเสื้อคอกระเช้าและนุ่งผ้าถุงอย่างหญิงไทยสมัยก่อน บอกเล่าเรื่องราวตามธรรมชาติของการเติบโต เป็นรูปธรรมของครอบครัวอันอบอุ่น และแทนภาวะนามธรรมที่เป็นอุดมคติสูงส่ง แม้แต่เด็กซึ่งเป็นตัวแทนของชีวิตใหม่ ประหยัดก็แทนค่าด้วยเด็กผู้หญิง เหมือนเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์และการให้กำเนิดที่ไม่สิ้นสุด เขายังเปรียบสัตว์ที่มีรูปร่างอ่อนช้อยอย่างแมวกับผู้หญิง และชอบจัดองค์ประกอบภาพสัตว์ที่แสดงความเป็นแม่ เป็นครอบครัว ความรักและกามรมณ์ ไม่ว่าสัตว์ที่น่าเกลียดน่ากลัวอย่างตุ๊กแก จิ้งจก นกฮูก หรือนกเค้าแมว หากสัตว์ที่แสดงถึงความเป็นชาย อย่างม้า ควาย และไก่ชน จะแสดงความสง่างาม หรือพละกำลัง อยู่ในท่วงท่าดุดัน เปลี่ยวทะยาน กระทั่งกำลังต่อสู้กัน

กล่าวได้ว่าศิลปินสกัดภาวะในจิตใจของโลกียธรรม ลดทอนออกมาเป็นรูปทรงเหนือผัสสะในโลกุตรธรรม ภายในบรรยากาศมืดสลัวจึงเหมือนมีพลังลี้ลับแอบแฝง หรือมีวิญญาณสิงอยู่ในอีกมิติหนึ่ง นอกจากมิติที่มองเห็นด้วยสายตา และภายใต้ความเงียบสงัดก็มีความงามรุกเร้ากังวานอยู่ในความรู้สึก

งานศิลปะของประหยัดประทับรอยจำถึงวิถีชีวิตและจิตวิญญาณของชาวบ้านในยุคสมัยที่ล่วงผ่านไปแล้ว แต่ยังคงบอกเล่าความเป็นจริงของปรารถนาในจิตใจอย่างมนุษย์ธรรมดา.

[พิมพ์ครั้งแรก: Vote]