วันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

เรียบง่ายไว้ก่อน

พรีเซนเทชั่นเซน: ไอเดียเรียบง่ายในการออกแบบและนำเสนออย่างทรงพลัง (Presentation Zen: Simple Ideas on Presentation Design and Delivery) / การ์ เรย์โนลด์ส (Garr Reynolds) - เขียน / ธัญญา ผลอนันต์ และคณะ – แปลและเรียบเรียง / สำนักพิมพ์ขวัญข้าว ’94, พิมพ์ครั้งแรก กันยายน 2553

พรีเซนเทชั่นเซน: ไอเดียเรียบง่ายในการออกแบบและนำเสนออย่างทรงพลัง (Presentation Zen: Simple Ideas on Presentation Design and Delivery) / การ์ เรย์โนลด์ส (Garr Reynolds) - เขียน / ธัญญา ผลอนันต์ และคณะ – แปลและเรียบเรียง

เราอยู่ในยุคข้อมูลข่าวสาร และเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันมากขึ้น แม้แต่เด็กเล็กก็ต้องเรียนรู้การใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และโปรแกรมในการจัดการเอกสารเบื้องต้น

แต่แทนที่เครื่องมืออำนวยความสะดวกเหล่านี้จะทำให้สบายขึ้น การประมวลผลและการสื่อสารที่รวดเร็วกลับทำให้ต้องรับมือกับปริมาณข้อมูลที่ท่วมท้นแทน การใช้โปรแกรมสำเร็จรูปในการนำเสนอผลงานกลับกลายเป็นเรื่องยุ่งเหยิงรกรุงรัง หาแก่นสารความคิดไม่เจอ แทนที่จะทำให้เกิดความน่าสนใจชวนติดตาม การใช้เทคโนโลยีเหล่านี้กลับทำให้การนำเสนอเป็นเรื่องน่าเบื่อชวนหลีกหนีไปเสีย

เพราะฉะนั้นการนำเสนอด้วยเครื่องมือสมัยใหม่ก็ต้องการศิลปะ เพื่อให้เป็นนายเหนือเทคนิค และศิลปะของการนำเสนอที่ทรงพลังก็คือความเรียบง่าย

แต่การย่อยสลายข้อมูลที่กระจัดกระจายให้เรียบง่ายและน่าสนใจเป็นเรื่องยาก และต้องมีแนวทางในการปฏิบัติเหมือนกัน การ์ เรย์โนลด์ส (Garr Reynolds) เป็นนักออกแบบและผู้เชี่ยวชาญด้านการนำเสนอ เขานำแนวคิดแบบ “เซน” ในศาสนาและศิลปะหลายแขนงของญี่ปุ่น มาดัดแปลงเป็นหลักการในการนำเสนอด้วยสไลด์จากโปรแกรมพาวเวอร์พอยต์หรือคีย์โน้ตในเครื่องแมค เพื่อให้เกิดความเรียบง่ายอย่างมีศิลปะ

เพราะเซนนั้นมีหลักอยู่บนความเรียบง่าย เข้าถึงแก่นแท้ น้อยแต่กินความมาก ดังจะเห็นจากสวนหินในวัดญี่ปุ่น บทกวีไฮกุ ศิลปะการต่อสู้ของญี่ปุ่น หรือแม้แต่อาหาร

“อาหารกล่องญี่ปุ่นประกอบด้วยอาหารที่จัดเรียงในรูปแบบที่มีประสิทธิภาพและหมดจดที่สุด อาหารกล่องดูเรียบง่าย สวยงามและสมดุล ไม่มีสิ่งใดขาด ไม่มีสิ่งใดเกิน ไม่ได้ตกแต่งอย่างสวยหรู แต่ออกแบบอย่างงดงาม มันดูดีและอร่อยด้วย การใช้เวลา 20 นาทีกับอาหารกล่องเป็นประสบการณ์ที่รื่นรมย์” (หน้า 6)

การ์อยากให้การนำเสนอผลงานด้วยโปรแกรมพรีเซนเทชั่นเป็นประสบการณ์ที่น่ารื่นรมย์สำหรับผู้คน นอกเหนือจากสาระที่ได้รับ แทนที่จะเป็นความทุกข์ทรมานน่าเบื่อหน่าย ซึ่งนอกจากจะเสียเวลาแล้วยังไม่ได้เนื้อหาอีกด้วย

หลังจากแจกแจงความเลวร้ายของงานนำเสนอที่ไม่มีประสิทธิภาพ และยกตัวอย่างประกอบ เขาก็มุ่งตรงเข้าสู่แก่นของแนวทางแบบเซน ทั้งทางศาสนาและศิลปะ

“ขั้นตอนแรกของการมุ่งสู่ทางสว่างเห็นธรรมคือการตระหนักรู้ว่า ชีวิตนั้นสับสนวุ่นวาย ไม่สมบูรณ์แบบ และความไม่สมบูรณ์แบบของชีวิตนั้น มีสาเหตุมาจากการยึดติดกับเรื่องเล็กน้อย การยึดมั่นถือมั่นกับสิ่งที่ไม่เป็นแก่นสาร” (หน้า 7)

เช่นเดียวกับธรรมชาติของข้อมูลที่เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวายไร้ระเบียบ และต้องการการจัดการให้เป็นระบบแบบแผน ซึ่งการ์ก็ยืมหลักเกณฑ์มาจากเซนอีกเช่นกัน

“หัวใจของเซนอยู่ที่การตระหนักรู้ในตัวตน มีความสามารถในการเห็นและค้นพบ เซนเป็นแนวทางที่ใช้ได้จริงและเกี่ยวข้องกับ ‘ที่นี่’ และ ‘เดี๋ยวนี้’” (หน้า 8)

เขาลากเข้าเรื่องว่าหัวใจของการนำเสนออยู่ที่การตระหนักรู้ในเนื้อหา หรือความสามารถในการเห็นหรือค้นพบมโนทัศน์ (conceptual) เพื่อทำให้เรื่องยากกลายเป็นเรื่องง่ายในการสื่อสารกับผู้คน เพื่อให้เกิดความเข้าใจ “ที่นี่” และ “เดี๋ยวนี้” นั่นถึงจะเรียกว่าเป็นการนำเสนอที่ประสบความสำเร็จ

การเชื่อมโยงข้อมูลเข้าด้วยกันจนเห็นเป็นมโนทัศน์ทำได้หลายวิธีการ วิธีหนึ่งที่การ์แนะนำในช่วงเตรียมการก็คือให้อยู่ห่างจากคอมพิวเตอร์ เพราะเครื่องมือและโปรแกรมเหล่านั้นจะกลายเป็นกรอบจำกัดของความคิด ขณะที่การเขียนบนกระดาษด้วยมือจะเชื่อมโยงกับการทำงานของสมองซีกขวาได้อย่างเป็นธรรมชาติมากกว่า ความคิดจะลื่นไหลและช่วยให้เห็นภาพรวมได้ชัดเจนกว่า

จากนั้นค่อยเปิดคอมพิวเตอร์ในขั้นตอนการปฏิบัติงาน ซึ่งความเรียบง่ายจะมาจากความคิดที่ชัดเจนอยู่ก่อนแล้ว เพราะจะรู้ว่าอะไรสำคัญและอะไรที่ไม่จำเป็น

“กิจกรรมในแต่ละวันซับซ้อนและเต็มไปด้วยข้อมูลและทางเลือกมากมาย การออกแบบการสื่อสารที่ชัดเจนและกระชับตรงประเด็นจึงมีความสำคัญมาก ความชัดเจนและเรียบง่ายคือสิ่งที่ผู้คนต้องการ แต่ก็หาได้ยากเต็มที หากคุณต้องการสร้างความประหลาดใจหรือสร้างความประทับใจเกินความคาดหมายให้กับผู้คนรอบข้าง คุณทำได้โดยการสื่อสารให้สง่างาม เรียบง่าย ชัดเจนและยอดเยี่ยม ‘ความยอดเยี่ยม’ วัดได้จากสิ่งที่ตัดทิ้งไป ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามา” (หน้า 42)

การเล่าถึงหลักในการออกแบบตามที่จำเป็น ซึ่งหยิบยืมมาจากศาสตร์หลายแขนง เบื้องต้นคือต้องตระหนักว่าการออกแบบไม่ใช่การตกแต่งหรือประดับประดา แต่การออกแบบคือการทำให้ชัดเจนและเข้าใจง่าย การออกแบบที่มีศิลปะอาจมีประสิทธิผลมากกว่านั้น คือใช้น้อย เผยเพียงบางส่วน แต่ก่อให้เกิดจินตนาการหรือสร้างแรงบันดาลใจไม่รู้จบ

หนังสือแบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ส่วน ตามขั้นตอนการนำเสนอ คือ การเตรียมการ การออกแบบ และการบรรยาย การ์บอกเล่าประสบการณ์ทั้งที่เป็นปัญหาและความสำเร็จ และยกตัวอย่างจากศิลปะแบบเซนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเทียบให้เห็นวิธีการและประสิทธิภาพของความเรียบง่าย ตามกระบวนการใน 3 ขั้นตอนนั้น

บางส่วนเขาก็ก้าวล่วงไปในทางปรัชญาเสียจนเกินกว่าการใช้งานในทางโลก อย่างเทียบการบรรยายนำเสนอผลงานกับการปฏิบัติธรรม การฝึกดาบ การเล่นดนตรี หรือเสมือนว่าเป็นการทำงานศิลปะของศิลปิน นั่นบอกถึงความสนใจของเขาที่ออกจะเกินจากหน้าที่การงาน และทำให้หนังสือเล่มนี้น่าสนใจจนเกินกว่าจะเป็นแค่คู่มือการออกแบบงานพรีเซนเทชั่น

“เมื่อคุณเรียนรู้ที่จะปล่อยวาง คุณจะมองเห็นตนเองว่าซึมซับได้ ไม่ใช่อ่อนแอ คุณจะเปิดกว้างต่อสิ่งที่ไม่รู้จักและอิทธิพลใหม่ ไอเดียใหม่ แทนที่จะต่อต้านและต่อสู้แม่น้ำแห่งชีวิต คุณจะเคลื่อนเข้าหามันด้วยความลื่นไหลและสง่างาม เรียนรู้ที่จะเข้าร่วมแทนที่จะต้านกระแส อารมณ์ขันเป็นวิธีมหัศจรรย์ในการเตือนผู้อื่นรอบตัวเรา ไม่สำคัญว่างานจะหนักเพียงใด ตัวตนที่แท้จริง และ ‘แก่นแท้’ ที่สุดของเราจะไม่คลั่งไคล้กับความต้องการแบบเด็กๆ สิทธิประโยชน์หรือการคาดการณ์ แต่จะสนับสนุน มั่นใจ ช่วยเหลือและให้แรงบันดาลใจ คนอื่นจะมองเห็นด้านนี้ของคุณผ่านการนำเสนอ” (หน้า 198)

การนำเสนออย่างเรียบง่ายจึงอาจจะเป็นกุญแจสำคัญของการทำงานในโลกยุคยุ่งเหยิง.

[พิมพ์ครั้งแรก: Vote]