วันเสาร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2550

ทำหนังแบบพอเพียง

ปฏิบัติการหนังทุนน้อย / ฟิล์มไวรัส – เรียบเรียง / สำนักพิมพ์เอาตัวเป็นหนัง, มีนาคม 2550

ปฏิบัติการหนังทุนน้อย / ฟิล์มไวรัส – เรียบเรียง

นับแต่กำเนิดภาพยนตร์ก็เป็นมรหสพที่ได้รับความนิยมแพร่หลาย จนพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมบันเทิงขนาดใหญ่ ซึ่งคนทั่วไปยากจะเข้าถึงการผลิต ดังนั้นจึงมียักษ์ใหญ่เพียงไม่กี่รายที่คอยกำหนดแนวทางของหนังและรสนิยมของผู้คน

กระทั่งเครื่องไม้เครื่องมือในการทำหนังมีขนาดย่อมและราคาเยาลงแล้ว หนังอิสระที่มีรูปแบบแตกต่างจากกระแสหลักก็มีโอกาสแสดงตนมากขึ้น

เช่นเดียวกับหลอดสีแบบพกพาซึ่งเป็นประดิษฐกรรมใหม่ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ช่วยให้จิตรกรสามารถออกไปทำงานนอกสตูดิโออันทึบทึมได้สะดวก จนเกิดงานจิตรกรรมที่เน้นความประทับใจฉับพลันสีสันจัดจ้านแบบอิมเพรสชั่นนิสม์ขึ้นมา กล้องขนาดพกพาและฟิล์มไวแสงในทศวรรษ 60 ก็เป็นอุปกรณ์สำคัญที่ทำให้เกิดหนังของผู้กำกับกลุ่มนิวเวฟในฝรั่งเศส กลุ่มนีโอเรียลิสม์ในอิตาลี หรือคนทำหนังอิสระในอเมริกา

กล้องและเครื่องเล่นวีดีโอในทศวรรษ 80 ช่วยหล่อหลอมคนบ้าหนังอย่าง สตีเว่น โซเดอร์เบิร์ก, เควนติน ทาแรนติโน่ หรือ โรเบิร์ต โรดริเกซ ให้เติบโตมาเป็นคนทำหนังมือฉมังในยุค 90

ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิตอลในต้นศตวรรษที่ 21 ก็กำลังท้าทายผู้สร้างสรรค์ว่าจะใช้เครื่องมืออันแสนสะดวกและง่ายดายนี้ทำประโยชน์ให้เกิดคุณค่าใหม่ได้อย่างไร

หนังสือ “ปฏิบัติการหนังทุนน้อย” ของคนบ้าหนังชาวไทยกลุ่มฟิล์มไวรัส เก็บเกี่ยวหัวข้อที่พวกเขาเสนอไว้ก่อนกาลเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว มาไล่เรียงรวบรวมข้อมูลใหม่เป็นเล่มในยุคที่การทำหนังอิสระเป็นกิจกรรมอันเจนตา เพื่อบอกเล่าตำนานของผู้บุกเบิกในยุคที่หนทางยังมืดแปดด้านสำหรับคนอยู่นอกระบบสตูดิโอ เพราะปัจจัยสำคัญของการทำหนังคือเงินทุนก้อนโตสำหรับค่าใช้จ่ายสารพัด เมื่อกระเป๋าแฟบแล้วจะทำหนังได้อย่างไร คนเหล่านี้ปฏิบัติการเป็นตัวอย่างให้เห็นแล้วว่าสามารถทำได้จริง เพียงแต่ต้องคิดใหม่ทั้งกระบวนการเพื่อให้เหมาะกับเงื่อนไขของตน และใช้สมองกับหัวใจให้มากกว่าความเคยชิน

เมื่ออ่านประสบการณ์ของผู้กำกับหนังทุนน้อยที่ประสบความสำเร็จแต่ละคนแล้ว จะเห็นว่าไม่มีสูตรสำเร็จสำหรับการเริ่มต้นและเดินต่อ ต่างคนต่างต้องผสมสูตรที่พอเหมาะกับตัวเอง บางคนมุ่งแก้ไขปัญหาในเชิงธุรกิจ จนกลายเป็นผู้กำกับและผู้อำนวยการสร้างบริษัทหนังอิสระที่เป็นแหล่งสนับสนุนผู้กำกับฝีมือดีในเวลาต่อมา บางคนใช้ทุนจำกัดจำเขี่ยสร้างหนังสยองขวัญระดับตำนานที่ยากจะลืมเลือน อย่างเรื่อง “Night of the Living Dead” และ “Carnival of Souls”

ผู้กำกับฯ มากฝีมือหลายคนเริ่มต้นได้สวยจากหนังทุนน้อยก่อนที่จะไปทำหนังฟอร์มโต อย่าง ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปล่า หรือ กิญแญร์โม่ เดล โตโร่ ขณะที่การเริ่มต้นของบางคนกลายเป็นสัญลักษณ์ของหนังอิสระ อย่าง จิม แม็คไบร์ด หรือ จอห์น แคสซาเวทส์ และบางคนก็เลือกที่จะเดินอยู่บนเส้นทางส่วนตัวโดยไม่ประนีประนอมกับสังคมวงกว้างเลย อย่าง ดีเรค จาร์แมน หรือ จิม จาร์มุช แต่ผู้กำกับบางคนก็ยังคงความเป็นตัวของตัวเองไว้ได้เสมอ ไม่ว่าจะกำกับหนังทุนน้อยหรือทุนมากอย่างไรก็ตาม อย่าง ริชาร์ด ลิ้งค์เลเตอร์, โจนาธาน เด็มมี่ หรือ เดวิด ลิ้นช์

หรือบางกรณีผู้กำกับฯ ที่ชอบทำเรื่องใกล้ตัวอย่างพฤติกรรมและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ก็ใช้ทุนไม่มากอยู่แล้ว เพราะไม่ต้องเปลืองค่ายใช้จ่ายไปกับงานสร้างด้านอื่นๆ มากนัก เช่น เวย์น หวัง, นีล ลาบิวต์ และ เฮนรี่ แจ็กกล็อม เป็นต้น

เพราะเป็นประสบการณ์ของการทำงานสร้างสรรค์ภายใต้ข้อจำกัด หนังสือเล่มนี้จึงร่ำรวยไปด้วยทุนสมองราคาประหยัดมากมาย ซึ่งไม่ใช่เฉพาะคนชอบดูหนังหรือคนทำหนังเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ คนอ่านทั่วไปก็จะได้ตัวอย่างของแรงบันดาลใจด้วย

อย่างน้อยก็เป็นการย้ำความเข้าใจให้เชื่อมั่นว่า เงินเป็นแค่เครื่องอำนวยความสะดวก แต่ไม่ใช่ผลสำเร็จของทุกสิ่งทุกอย่าง การทุ่มเททำงานที่ตัวเองรักอย่างจริงใจสามารถทดแทนสิ่งที่ขาดหาย และจะนำบางสิ่งที่นึกไม่ถึงมาเติมเต็มให้สมบูรณ์

เว้นเสียแต่ว่าจะไม่รักกันจริงเท่านั้น.

[พิมพ์ครั้งแรก: Vote]