วันเสาร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2555

ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ : รอยวัฏฏารมณ์/รูปวิลักษณ์

โลกียธรรม / ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ / หอศิลป์ร่วมสมัยอาร์เดล, 16 กุมภาพันธ์ - 18 มีนาคม 2555

“สามขุม” หล่อสัมฤทธิ์ 65x65x25 ซม.

[“สามขุม” หล่อสัมฤทธิ์ 65x65x25 ซม.]

แบบแผนของศิลปกรรมประเพณีสืบทอด แลกเปลี่ยน และพัฒนา มาเป็นเวลากว่าพันปี นับเนื่องจากงานช่างประดับตกแต่งทางศาสนาและการปกครอง หลังจากรับแบบอย่างทางศาสนาและศิลปะจากอู่อารยธรรม ท้องถิ่นต่างๆ ก็นำมาปรับปรุงให้เหมาะสมกับตน จนเกิดลักษณะเฉพาะถิ่นขึ้นมา

ลวดลายประดับอย่างกระหนกก็ได้พัฒนาจนเป็นลายไทยที่คุ้นตา และมีความสำคัญมาก เพราะศิลปะไทยไม่ว่าจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม หรือหัตถกรรม ล้วนนิยมตกแต่งประดับประดาอย่างวิจิตรบรรจง งานศิลปะร่วมสมัยในแนวทางประเพณีย่อมต้องอาศัยลายกระหนกเหล่านี้ในการสร้างสรรค์เช่นกัน และยังมีการประดิษฐ์คิดค้นให้แปลกใหม่ไปกว่าเดิม

ต้นทศวรรษ 2530 ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ ประสบความสำเร็จในการนำลวดลายศิลปะโบราณมาผสมกับรูปแบบการแสดงออกและกลวิธีของศิลปะสมัยใหม่ โดยสกัดเอาเฉพาะแก่นสารที่เป็นสากลร่วมกัน แสดงรูปลักษณ์ของพลังความเปลี่ยนแปลงในธรรมชาติ ผ่านเส้นและรูปทรงที่สำแดงการเคลื่อนไหวในลักษณะนามธรรม ผสมกับลวดลายและร่องรอยพื้นผิวที่หมุนวนพลิ้วไหวไปในลีลาที่สอดคล้องเล่นล้อกัน ภายใต้มวลน้ำหนักทึบแน่นทึมเทาแวดล้อม การเคลื่อนไหวปรากฏเป็นริ้วรอยสีขาวบริเวณกลางภาพ หมุนวนไปพร้อมกับลวดลายและสีทองซึ่งให้ความรู้สึกถึงคุณค่าตามสัญลักษณ์ของอุดมคติที่ดีงามในวัฒนธรรมดั้งเดิม

เขาได้รับรางวัลในหลายเวทีจากแนวทางดังกล่าว งานในช่วงแรกจะเป็นการแสวงหาวิธีการแสดงออกของศิลปะประเพณีในรูปแบบใหม่ๆ เขาสนใจมวลของรูปทรงที่มีน้ำหนักทึบแน่น ประดับลวดลายประดิษฐ์ที่ดัดแปลงมาจากศิลปะประเพณี ซึ่งแสดงอาการเกี่ยวร้อยบีบรัดเข้าด้วยกัน เพื่อขับสัญลักษณ์ที่บอกถึงความดีงามหรือความจริงสูงสุดในภาพนั้นให้โดดเด่น ต่อมาเขาขยายความอัดแน่นไปทั้งภาพ และแสดงอาการเคลื่อนไหวภายใต้ความทึบตันเช่นนั้น เช่นภาพครุฑจับนาคในจินตนาการใหม่ ซึ่งครุฑแสดงอาการดิ้นรนต่อสู้อยู่ในการร้อยรัดพัวพันของนาคที่ขดแน่น และเมื่อเขาตัดทอนรูปทรงเหลือเพียงสัญลักษณ์ที่แสดงออกในลักษณะนามธรรม ความรู้สึกภายในก็สามารถถ่ายทอดผ่านทัศนธาตุที่เลือกสรรแล้วอย่างทรงพลัง

ลวดลายประดับของศิลปะประเพณีไทยรับอิทธิพลเบื้องต้นจากอารยธรรมที่มีมาก่อน แล้วประดิษฐ์ดัดแปลงตามรสนิยมของตน ซึ่งหล่อหลอมขึ้นจากวิถีชีวิตและสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ เช่นลายกระหนกของไทยพัฒนาสูงสุดในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย จากวงโค้งของหัวกระหนกก็สะบัดปลายพลิ้วไหว อย่างลีลาของเปลวไฟ สายควัน กระแสลม หรือกระแสน้ำ

ธงชัยจับเอาเฉพาะลีลาและลวดลายมาแทนปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ แล้วนำเสนอในเชิงสัญลักษณ์ที่เป็นนามธรรม เพื่อสื่อถึงสภาวะของการเคลื่อนไหวแปรเปลี่ยน เช่น ร่องรอยของเถ้าธุลีในลีลาที่คล้ายการเผาไหม้ของเปลวเพลิงสีทอง หรือพลังความเปลี่ยนแปลงในธรรมชาติซึ่งมีลีลาเคลื่อนไหวเหมือนสายน้ำหมุนวน กระทั่งพลังจักรวาลที่ละม้ายการเคลื่อนไหวของกลุ่มดาวฤกษ์ในเอกภพ หรือแทนความหมายของนักษัตบริวารทางดาราศาสตร์โบราณ

ระยะต่อมาเขาลดทอนรูปทรงอีกจนเป็นการจัดองค์ประกอบเพื่อแสดงพุทธิปัญญา ภายใต้เค้าโครงนั้นยังคงประดับลวดลายประดิษฐ์ดัดแปลงจากศิลปะโบราณ เช่นลวดลายบนเครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง การเล่นกับน้ำหนักและร่องรอยพื้นผิว และยังคงใช้สีขาว เทา ดำ และสีทอง เป็นหลัก เค้าโครงรูปทรงที่นิยมใช้จนเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวคือทรงกลม ซึ่งแทนความหมายได้หลายอย่าง ทั้งอุดมคติ ความดีงาม หลักสัจธรรม พลังธรรมชาติ รูปลักษณ์แห่งจักรวาล หรือความเปลี่ยนแปรไม่จบสิ้น บางครั้งเขาจะจัดองค์ประกอบร่วมกับรูปทรงสามเหลี่ยมหรือสี่เหลี่ยมบ้าง ทดลองวิธีการและวัสดุใหม่ๆ บ้าง ตลอดจนทำเป็นประติมากรรม

ช่วงทศวรรษ 2540 ธงชัยยังคงทดลองปรับเปลี่ยนองค์ประกอบและวิธีการนำเสนอภายใต้ร่องรอยเดิมนั่นเอง กระทั่งเข้าสู่ต้นทศวรรษ 2550 เขาก็ฉีกตัวเองกลับมาเขียนภาพที่แสดงรูปลักษณ์เรื่องราวอีกครั้ง คือไม่ได้เป็นภาพนามธรรมเหมือนเดิม รวมทั้งเพิ่มสีสันขึ้นบ้าง อย่างเช่นงานชุด “มหาวิเนษกรมณ์” หรือการออกผนวชของเจ้าชายสิทธัตถะ เขาวาดภาพที่ลวงตาด้วยมวลตื้นลึกเสมือนเป็นประติมากรรม ประกอบกับเครื่องตกแต่งร้อยรัดซึ่งมีมวลแน่นหนักเช่นกัน ภายใต้บรรยากาศเหนือจริงผสมปนเปกันทั้งจิตรกรรมสองมิติและสามมิติ เสมือนเป็นกิเลสที่หนักหนารกรุงรังยากจะตัดขาด

น่าสนใจว่าการนำเสนอรูปลักษณ์ของธงชัยกระหายที่จะแสดงมวลอย่างประติมากรรม มากกว่าที่จะแสดงเส้นสีอย่างงานจิตรกรรม ทั้งยังกระหายที่จะผสมความสมจริงของกายวิภาคตามธรรมชาติมากกว่าที่จะเป็นเพียงรูปทรงในอุดมคติเท่านั้น

มาพลิกรูปโฉมโดยสิ้นเชิงทั้งรูปแบบและเนื้อหาในผลงานชุด “โลกียธรรม” ซึ่งธงชัยสร้างสรรค์งานประติมากรรมแสดงรูปลักษณ์ที่ผสมกันระหว่างศิลปะจารีตกับศิลปะเหนือจริง กระหวัดประกอบเข้าด้วยกันในลักษณะพิลึกพิกลมากกว่าสวยงาม และผิดประหลาดในลักษณะแฟนตาซีมากกว่าสง่างาม เรื่องราวที่นำเสนอแม้จะเกี่ยวกับเทพปกรณัม แต่ก็ไม่ได้อยู่ในอาการหลุดพ้น แนวทางใหม่ที่แปลกไปสำหรับธงชัยคือน้ำเสียงในเชิงเสียดสีเย้ยหยัน ซึ่งไม่ปรากฏชัดเจนนักในการทำงานนามธรรมที่เนื้อหายังคงอยู่ในกรอบจารีต

งานแสดงมีทั้งประติมากรรมและจิตรกรรม แต่ประติมากรรมมีความโดดเด่นกว่า ด้วยสรีระของคน สัตว์ และลวดลายตกแต่ง ซึ่งผสมกันอย่างสมจริง แต่ผิดส่วน เพื่อแสดงวัฏฏารมณ์ของจิต อันที่จริงศิลปะประเพณีก็สร้างจินตภาพของสิ่งที่อยู่ในอุดมคติด้วยการผสมดัดแปลงรูปร่างของคน สัตว์ หรือพืช เข้าด้วยกัน เพื่อแสดงถึงสิ่งที่อยู่เหนือไปจากธรรมชาติ แต่ประติมากรรมของธงชัยกลับขับเน้นความแปลกประหลาดผิดส่วนขัดตา เพื่อยืนยันถึงความไม่สมบูรณ์ของโลกและมนุษย์

ดังนั้นจึงเห็นรูปหล่อสัมฤทธิ์ของเทพที่มีเพียงเศียรลุ่มหลงเงาตัวเอง เทพที่มีเรือนร่างคล้ายลิง หรือมีท่อนร่างเป็นสิงห์ที่พิลึกพิกล นกอรหันที่มีสัดส่วนอันขัดตาเหยียบอยู่บนหัวกะโหลก นางนกเงือกที่ตัวเป็นคนแขนเป็นปีก มนุษย์ในโลงสี่เหลี่ยมที่งอกขา ปีก และหาง ออกมาเป็นสารพัดสัตว์ หรือมนุษย์ที่แบกรับภาระเป็นวงล้อวัฏสงสาร

การดิ้นรนวนเวียนอยู่ในวัฏฏารมณ์เป็นหัวข้อที่ธงชัยสนใจมาแต่แรก เพียงนำเสนอในรูปแบบนามธรรมเป็นส่วนมาก และยังแสดงความสมมาตรขององค์ประกอบอยู่ในกรอบอุดมคติอันดีงาม แม้บรรยากาศในผลงานของเขาจะรู้สึกสัมผัสถึงความกดดันและการเคลื่อนไหวแปรเปลี่ยน แต่ก็ไม่มีลักษณะของการวิพากษ์ที่เด่นชัดมาก่อน ประติมากรรมของปวงเทพที่บิดเบี้ยวผิดส่วนย่อมละเมิดต่อสุนทรียศาสตร์ของศิลปะตามแบบแผน เป็นการยอมรับต่อโลกียธรรมซึ่งปิดกั้นกดทับอยู่ภายใต้อุดมคติที่เลิศลอยมานาน ทั้งที่อาจจะเป็นหนทางแห่งการเข้าถึงสัจธรรมที่จริงแท้กว่า.

[พิมพ์ครั้งแรก: Vote]