วันศุกร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

กำไรของชีวิตคือความสุขในศิลปะ

สวัสดิ์ ตันติสุข, “ตลาดน้ำบางแค” ปี 2506, หมึกและสีน้ำบนกระดาษ 26x30 ซม.

[สวัสดิ์ ตันติสุข, “ตลาดน้ำบางแค” ปี 2506, หมึกและสีน้ำบนกระดาษ 26x30 ซม.]

(เส้นของฝีแปรงที่ตวัดอย่างรวดเร็วเปิดโครงสร้างของรูปทรงให้บรรยากาศได้แสดงบทบาทในภาพเพิ่มขึ้น)

สวัสดิ์ ตันติสุข, “หมู่เรือประมง” ปี 2537, สีน้ำบนกระดาษ 36x51 ซม.

[สวัสดิ์ ตันติสุข, “หมู่เรือประมง” ปี 2537, สีน้ำบนกระดาษ 36x51 ซม.]

(บรรยากาศละลายโครงสร้างของรูปทรงด้วยคุณลักษณะของสีน้ำที่พร่างพรมลงทั่วทั้งภาพบ่งบอกถึงฤดูกาล)

สวัสดิ์ ตันติสุข, “ทะเลสีเงิน” ปี 2538, สีน้ำมันบนผ้าใบ 70x90 ซม.

[สวัสดิ์ ตันติสุข, “ทะเลสีเงิน” ปี 2538, สีน้ำมันบนผ้าใบ 70x90 ซม.]

(ศิลปินนำชั่วยามแห่งความประทับใจเข้าสู่ความงามในภาวะนิรันดรด้วยการสรร-สร้างเป็นภาพนามธรรม)

สังคมปัจจุบันขับเคลื่อนด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจเป็นหลัก เดิมทีกลไกเหล่านี้เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเรื่องความขาดแคลนด้านวัตถุของมนุษย์ แต่แม้เครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ จะพัฒนาไปไกลจนเกินความต้องการพื้นฐานแล้ว ระบบที่ครอบคลุมวิถีการทำมาหากินของคนในสังคมอยู่ก็เป็นเหมือนเครื่องจักรที่ไม่มีวันหยุดพัก มันต้องเดินหน้าเจริญเติบโตไปเรื่อยๆ ด้วยอัตราเร่งที่ต้องเพิ่มขึ้นเสมอ ขณะที่ช่องว่างระหว่างกลุ่มคนที่อยู่หัวขบวนกับคนในส่วนอื่นๆ ซึ่งถูกทอดทิ้งไว้ตามรายทางจะห่างจากกันมากขึ้นตามไปด้วย

เงื่อนไขดังกล่าวส่งผลต่อศิลปะร่วมสมัยใน 2 ด้านเป็นอย่างน้อย ด้านหนึ่ง เกิดระบบการจัดการเรื่องเงินทุนหรือธรรมเนียมการซื้อขายงานศิลปะที่สมน้ำสมเนื้อกับการสร้างสรรค์ของศิลปินมากขึ้น ศิลปินที่มีความสามารถไม่ต้องลำบากเหมือนในอดีตอีกแล้ว แต่แน่นอนว่าแหล่งเงินทุนหรือกระแสความนิยมในตลาดอาจจะมากำหนดการสร้างสรรค์ให้เป็นไปในแนวทางใกล้เคียงกัน จนละเลยงานบางประเภทไปอย่างน่าเสียดาย อีกด้านหนึ่ง ภาวะทางเศรษฐกิจที่บีบคั้นจนเกิดความตึงเครียดไปทั่วสังคม ย่อมกระทบต่อความคิดและพฤติกรรมของผู้คน เช่นเดียวกับแรงบันดาลใจของศิลปิน เพราะฉะนั้นศิลปินส่วนหนึ่งจึงแสดงออกผ่านรูปแบบหรือเนื้อหาที่จริงจังรุนแรง เพื่อแสดงความรู้สึกนึกคิดของตน สะท้อนปัญหาสังคม หรือเสนอแนวคิดบางอย่าง

ความหมายของศิลปะตามพื้นฐานที่เป็นเครื่องอำนวยความเพลิดเพลินเจริญใจให้แก่ผู้คน อาจจะพอหลงเหลือให้เห็นบ้างในงานศิลปะเด็กหรืองานของศิลปินสมัครเล่น แต่ก็จะอยู่ในขอบเขตของทักษะที่จำกัด

ความรู้สึกอันเป็นสุขในการทำงานอย่างอิสระไร้แรงกดดัน มักจะสัมผัสได้ในงานศิลปะยุคก่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ หรือในงานของศิลปินที่เติบโตมาก่อนนั้น และจะรู้สึกได้เวลาเข้าไปชมงานนิทรรศการประเภทศิลปกรรมย้อนหลัง (Retrospective) ของศิลปินอาวุโสที่ผ่านยุคสมัยมายาวนาน กลิ่นอายที่สะท้อนออกมาจากตัวงานในห้องนิทรรศการเหมือนจะจำลองบรรยากาศในอดีตให้หวนคิดทบทวนถึงห้วงเวลาที่ผ่านมากันอีกครั้ง

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป กรมศิลปากร หรือ “หอศิลปแห่งชาติ” เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่มีโครงการสนับสนุนเชิดชูเกียรติศิลปินอาวุโสผู้สร้างสรรค์งานศิลปะที่มีคุณค่าและเป็นที่ยอมรับมาตลอด ด้วยการจัดนิทรรศการพิเศษเพื่อเผยแพร่ผลงานและเกียรติคุณของศิลปินแก่สาธารณะ สำหรับปีนี้เป็นนิทรรศการศิลปกรรมย้อนหลังของ สวัสดิ์ ตันติสุข ศิลปินชั้นครูผู้บุกเบิกจิตรกรรมสมัยใหม่คนสำคัญอีกท่านหนึ่ง ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 เมษายน – 29 พฤษภาคม 2551 ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลปะ ถนนเจ้าฟ้า นั่นเอง

สวัสดิ์ ตันติสุข ได้ชื่อว่าเป็น “ครูแห่งครู” โดยแท้ เพราะนับแต่จบการศึกษาจากโรงเรียนเพาะช่างในปี 2485 และจบการศึกษาสาขาจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ปี 2488 ในฐานะ 1 ใน 8 ของนักศึกษารุ่นแรก เขาก็เริ่มเข้ารับราชการในกรมศิลปากรตั้งแต่ปี 2491 เป็นต้นมา และต้องสอนนักศึกษาคณะจิตรกรรมฯ ไปด้วย

หลังกลับจากศึกษาต่อที่อิตาลี ปี 2504 เขาก็มาดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนช่างศิลป กรมศิลปากร จนกระทั่งเกษียณอายุราชการปี 2528 ในตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยช่างศิลปนั่นเอง จากนั้นก็ยังทำงานเป็นกรรมการในกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง และเป็นอาจารย์พิเศษหรือวิทยากรสอนศิลปะให้แก่เด็ก นักเรียนนักศึกษา และบุคคลทั่วไปเรื่อยมา เพราะฉะนั้นลูกศิษย์ลูกหาย่อมมากมายนับไม่ถ้วน

งานจิตรกรรมของ สวัสดิ์ ตันติสุข ขึ้นชื่อว่าเป็นฝีมือชั้นครูด้วย เขาเคยได้รับรางวัลเกียรตินิยมอันดับ 1-2-3 เหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง ประเภทจิตรกรรมและเอกรงค์ จากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ตั้งแต่ครั้งแรก ปี 2492 จนถึงครั้งที่ 6 ติดต่อกัน จนได้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยมประเภทจิตรกรรมในปี 2498 นั่นเอง

และขณะเรียนอยู่ในประเทศอิตาลีระหว่างปี 2499-2503 เขาก็ได้รางวัลสำคัญของที่นั่นโดยตลอด หลังจากนั้นก็ยังได้รางวัลในระดับนานาชาติอีกหลายครั้ง

กระทั่งปี 2534 เขาก็ได้รับเกียรติยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ประเภทจิตรกรรม และได้รับเกียรติคุณอื่นๆ อีกตามสมควร

สวัสดิ์ ตันติสุข เกิดเมื่อปี 2468 ในบ้านสวนริมคลองละแวกบางแค ธนบุรี ปัจจุบันอายุ 83 ปีแล้ว ถ้านับจากผลงานที่เก่าแก่ที่สุดที่นำมาแสดงในนิทรรศการครั้งนี้คือภาพจิตรกรรมสีน้ำ “บ้านศิลปิน” ซึ่งวาดขึ้นในปี 2485 จนถึงผลงานในปัจจุบัน รวมระยะเวลากว่า 65 ปี ที่เขาสร้างสรรค์งานอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด

ลักษณะเฉพาะตัวในงานจิตรกรรมของ สวัสดิ์ ตันติสุข ที่คุ้นตากันดีคือ เส้นสีฝีแปรงหวัดๆ ฉับไว แสดงโครงสร้างของรูปทรงอย่างคร่าวๆ ไม่บรรจง แต่แม่นยำในสัดส่วน เป็นความตั้งใจที่จะไม่ทำให้เรียบร้อย เหมือนไม่เสร็จสมบูรณ์ เพื่อบันทึกอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่รู้จบ เพราะฉะนั้นงานของเขาจึงดูได้ไม่รู้เบื่อ

แต่ผลงานของเขาก็มีความหลากหลายตามช่วงเวลา และมีจุดเน้นหนักต่างกันในแต่ละช่วง งานที่นำมาจัดแสดงจำนวนกว่า 150 ชิ้น เป็นภาพรวมคร่าวๆ เท่านั้น เพราะเป็นเรื่องยากที่จะรวบรวมงานที่กระจัดกระจายไปแล้วให้ครบถ้วน แต่ก็พอมองเห็นรอยทางทั้งหมดของศิลปิน

หากแบ่งงานของสวัสดิ์ออกเป็นยุค น่าจะแบ่งได้สัก 4 ยุค คือยุคแรกอยู่ในระหว่างการศึกษา และเก็บเกี่ยวความสำเร็จจากเวทีการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ เป็นช่วงเวลาแห่งการฝึกฝนทักษะฝีมือจนเชี่ยวชาญในการประสานการแสดงออกที่แม่นยำกับความรู้สึกภายในเข้าด้วยกัน

ภาพทิวทัศน์ที่เขียนขึ้นอย่างฉับพลัน แสดงร่องรอยฝีแปรงปาดตวัดทิ้งปลายอย่างอิสระ เพื่อถ่ายทอดมิติเวลาของบรรยากาศที่ศิลปินแลเห็นลงในภาพ ขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาเค้าโครงและน้ำหนักของรูปทรงต่างๆ ไว้ตามสัดส่วนที่สมจริง อาจกล่าวได้ว่าสวัสดิ์สนใจความงามของบรรยากาศภายใต้สำนึกเรื่องเวลา เพราะฉะนั้นเขาจึงมักจะชอบเขียนภาพที่แสดงการแปรเปลี่ยนของเวลาในห้วงยามที่ต่างกัน เช่น ภาพบรรยากาศในฤดูฝน หรือภาพบรรยากาศยามเช้าและยามเย็น เป็นต้น หากเปรียบเทียบกับจิตรกรยุคเดียวกันอย่าง ทวี นันทขว้าง ยิ่งเห็นได้ชัด เพราะจิตรกรรมของทวีต้องการแสดงความงามของรูปทรงที่นิ่งสถิตอยู่เหนือกาลเวลา เพราะฉะนั้นจึงขับเน้นมวลของรูปทรงขึ้นมาด้วยการตัดเส้นรอบนอกชัดเจน และข่มบรรยากาศโดยรวมของภาพไว้ด้วยโทนสีเคร่งขรึมไม่บ่งบอกเวลา

งานยุคที่สองของสวัสดิ์คือระหว่างที่เขาไปศึกษายังสถาบันวิจิตรศิลป์แห่งกรุงโรม ประเทศอิตาลี กระทั่งกลับมาค้นคว้าทดลองต่ออีกระยะ ท่ามกลางดินแดนที่เป็นศูนย์กลางสำคัญทางศิลปะอีกแห่งหนึ่ง เป็นช่วงที่เขาเริ่มละจากความสมจริงตามที่ตาเห็นภายนอก และปลดปล่อยให้ความรู้สึกภายในเป็นตัวกำหนดเค้าโครงทั้งหมดแทน เพราะฉะนั้นสัดส่วนของสิ่งที่ปรากฏในภาพจึงเป็นการแสดงความงามพิสุทธิ์ของทัศนธาตุทางศิลปะมากกว่าการบอกเล่าเรื่องราวอย่างอื่น จะเห็นได้จากงานจิตรกรรมสีน้ำมันชุดที่เขาเขียนภาพบ้านเมืองในอิตาลี เช่น ภาพ “วันฝนตกที่บรัคซาโน” (ปี 2502) และภาพ “มิลานเก่า” (ปี 2503) เขาจะลงพื้นด้วยเนื้อสีแทนบรรยากาศโดยรวมก่อน แล้วลากเส้นลงน้ำหนักขับเน้นโครงสร้างของรูปทรงเป็นระนาบตามที่ “ใจ” เห็นว่างาม และแต่งเติมรายละเอียดที่น่าสนใจบ้าง แต่ก็ตัดเอาเฉพาะส่วนสำคัญ และไม่ได้บันทึกตามที่ “ตา” เห็นทั้งหมด จนเกือบจะเป็นภาพกึ่งนามธรรม

หลังจากกลับมาเมืองไทย สวัสดิ์ทดลองใช้วิธีเดียวกันถ่ายทอดบรรยากาศในบ้านเราบ้าง เช่น ภาพ “บ้านชาวประมง มหาชัย” (ปี 2507) แต่สิ่งปลูกสร้างตามชนบทไม่ได้เป็นตึกมีเหลี่ยมมุมชัดเจนเหมือนในเมือง เพราะฉะนั้นโครงสร้างของรูปทรงจึงยิ่งสลายกระจัดกระจาย เปิดและเลื่อนไหลเป็นอิสระตามธรรมชาติ จนกระทั่งเขาสกัดออกมาเป็นภาพนามธรรมที่แสดงลีลาการเคลื่อนไหวของรอยแปรงสัมพันธ์กันเป็นกลุ่มเท่านั้น

งานในยุคที่สามเป็นช่วงที่เขารับราชการเป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยช่างศิลปะ ด้วยงานในหน้าที่ทั้งบริหารและสอน รวมทั้งภารกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น นำคณะอาจารย์และนักศึกษาไปปั้นหล่อลวดลายประดับองค์พระธาตุพนมช่วงกลาง หรืองานขยายพระพาหาและพระกรของพระพุทธรูปประธานพุทธมณฑล เป็นต้น การสร้างสรรค์งานส่วนตัวย่อมขาดตอน แต่กระนั้นก็ยังมีงานวาดเส้น งานจิตรกรรมสีน้ำและสีน้ำมัน ซึ่งบันทึกความประทับใจต่อสถานที่หรือโบราณสถานสำคัญ และพอจะเห็นงานที่มีร่องรอยการริเริ่มทดลองบ้าง ขาดเพียงความต่อเนื่องเท่านั้น

มาถึงยุคที่สี่คือหลังจากเกษียณอายุราชการถึงปัจจุบัน กลับเป็นช่วงที่เขาสร้างสรรค์ผลงานได้มากมายและหลากหลาย มีงานดีๆ เปี่ยมคุณค่าเกิดขึ้นหลายต่อหลายชุดด้วยกัน เช่น งานจิตรกรรมสีน้ำชุดเรือประมง งานจิตรกรรมสีน้ำชุดทะเลและทิวทัศน์ งานจิตรกรรมสีน้ำมันชุดนามธรรมแสดงเนื้อหาอันเป็นอุดมคติ เป็นต้น และงานส่วนใหญ่ที่จัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ก็อยู่ในช่วง 20 ปีหลังนี่เอง

สิ่งหนึ่งที่เห็นได้เสมอทั้งในงานวาดเส้น งานจิตรกรรมสีน้ำและสีน้ำมัน ของ สวัสดิ์ ตันติสุข คือ ความเพลิดเพลินสนุกสนานจากการทดลองทางกรรมวิธีที่หลากหลาย อย่างที่เขามักจะแนะนำเวลาสอนศิลปะว่าให้ “เล่นเรียน เรียนเล่น กับงานศิลปะ” เพราะฉะนั้นจึงเห็นเขาเล่นตั้งแต่มุมมองของภาพ อย่างการเขียนภาพย้อนแสง การเขียนภาพเวลากลางคืน หรือการเขียนภาพขณะฝนตก แม้จะมีเม็ดฝนกระเซ็นลงมาในภาพ เขาก็จะปรับแก้ให้เป็นพื้นผิวแสดงความชุ่มฉ่ำหรือปล่อยให้เป็นคราบที่บ่งบอกฤดูกาลในตัวมันเอง

ด้วยความชื่นชมในบรรยากาศ เขาจึงชอบเขียนภาพทิวทัศน์เป็นส่วนใหญ่ ทั้งทิวทัศน์ตามธรรมชาติ สถานที่สำคัญ ชุมชน และทิวทัศน์ในเมือง สิ่งที่เขาสนใจมักจะเป็นความสัมพันธ์ทางโครงสร้างในรูปทรงของสิ่งที่พบเห็น มิเพียงเท่านั้นเขายังสนใจความสัมพันธ์กับมิติเวลาในมโนภาพด้วย เพราะฉะนั้นเขาจึงทำลายความชัดเจนของโครงสร้างลงให้เลือนราง ด้วยการตวัดเส้นทิ้งปลายเปิดไม่เกาะกันเป็นรูปทรงปิดทึบ เพื่อให้บรรยากาศถ่ายเทถึงกันทั่วทั้งภาพ หากรูปทรงคือสถานที่หนึ่ง บรรยากาศก็คือห้วงเวลาหนึ่ง อารมณ์ความรู้สึกของศิลปินประสานกับสิ่งที่เขาพบเห็นกลายเป็นกระสวนหรือแบบอย่างเฉพาะตัว การเล่นในงานจิตรกรรมของสวัสดิ์ก็คือร่องรอยของปฏิกิริยาระหว่างตัวเขากับบรรยากาศที่เขาประทับใจนั่นเอง ภาพที่ปรากฏบ่งบอกว่าเขามองเห็นธรรมชาติของความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ อาจกล่าวได้ว่าเขามองเห็นอาการเคลื่อนไหวของเวลา ซึ่งจะพัดพาทุกสิ่งทุกอย่างให้กระจัดกระจายหายไปสิ้น และร่องรอยที่หลงเหลืออยู่ระหว่างนั้นก็คือความงาม

การทิ้งรอยให้รู้สึกได้ถึงความแปรผันที่ไม่จบสิ้น พบได้ทั้งในงานจิตรกรรมสีน้ำและสีน้ำมัน แต่เขาจะขึ้นชื่อในการเขียนสีน้ำเป็นพิเศษ สวัสดิ์เล่นกับสีน้ำทั้งวิธีการระบายแบบเปียกและแห้ง ทั้งการใช้พู่กันปาดสี และหยด-พรม-เช็ด-ทิ้งรอยเปื้อน ทั้งการเขียนให้เห็นกระจ่างชัด และสลายโครงสร้างของรูปทรงด้วยบรรยากาศที่กระจายเข้ามาเจือจาง นอกจากนี้เขายังนำกรรมวิธีที่ค้นพบและชื่นชอบไปขยายเป็นงานนามธรรม เพื่อแสดงคุณลักษณะของสีน้ำโดยเฉพาะด้วย

งานจิตรกรรมสีน้ำมันที่เขียนขึ้นนอกสถานที่ก็มีความแม่นยำในโครงสร้างของรูปทรงและบรรยากาศ แต่ที่เขานำมาพัฒนาจนเหมาะสมกับคุณสมบัติของวัสดุและการเพ่งพินิจในห้องทำงานก็คืองานแนวนามธรรม ซึ่งสกัดตัดทอนทั้งรูปทรงและบรรยากาศจากธรรมชาติจนได้ลักษณะอันเป็นสากลออกมา เป็นภาพในอุดมคติที่อยู่เหนือสถานที่และเวลาทั้งปวง เช่น ภาพ “สายลม” (ปี 2536) หรือภาพ “สู่สวรรค์” (ปี 2536) เป็นต้น

ความสำเร็จในชีวิตของ สวัสดิ์ ตันติสุข เป็นตัวอย่างที่น่าพิจารณา อย่างที่เขากล่าวไว้ในสูจิบัตรประกอบนิทรรศการว่า งานศิลปะสำหรับเขานั้นเป็นทั้ง “อาชีพหลัก” และ “นำมาซึ่งความสุข และเป็นกำไรแห่งชีวิต” หากไล่เรียงประวัติการทำงานและผลงานควบคู่กันมา จะพบปัจจัยหนึ่งคือความสัมพันธ์สอดคล้องกับสังคมไทยโดยรวม มิได้ล้ำหน้าหรือล้าหลังเกิน ขณะเดียวกันก็สามารถสร้างสรรค์งานได้อย่างมีพลังสม่ำเสมอ ความพอดีไม่ขาดไม่เกินนี้นอกจากจะเป็นองค์ประกอบของความงามทางศิลปะแล้ว ยังก่อให้เกิดความกลมกลืนราบรื่นแก่ชีวิตด้วย แต่ยุคสมัยที่ต่างกันย่อมมีจุดสมดุลที่ไม่เหมือนกัน แล้วแต่ใครจะค้นพบและดำเนินตาม

อย่างไรก็ตามความแตกต่างของยุคสมัยก็เป็นแค่เรื่องของวัตถุนั่นเอง แต่ธรรมชาติของมนุษย์ไม่เคยเปลี่ยน เพราะฉะนั้นการศึกษาจากรอยทางของผู้ที่มาก่อนย่อมได้ประโยชน์ เพียงแต่ไม่จมไปกับเรื่องเฉพาะหน้าอย่างเดียว และรู้จักมองยาวตลอดทั้งชีวิตบ้าง อาจจะได้คำตอบที่เหมาะสมว่าสมควรจะดำเนินชีวิตกันอย่างไร.

[พิมพ์ครั้งแรก; เนชั่นสุดสัปดาห์]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น