[สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (ร่างแบบ) และคาร์โล ริโกลี (ระบายสี), “พระอาทิตย์ชักรถ” ปี 2460, สีปูนเปียกบนเพดาน พระที่นั่งบรมพิมาน 270x420 ซม.]
(สมเด็จครูผู้เป็นนายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม ริเริ่มนำหลักทัศนียภาพของตะวันตกมาเสริมจักรวาลวิทยาของตะวันออกให้มีมิติตื้นลึกขึ้น และเป็นชั้นเชิงลวงสายตา จะเห็นได้ทั้งในงานจิตรกรรม หรือสถาปัตยกรรม อย่าง จังหวะลดหลั่นของหลังคาที่ซ้อนกันของพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร เป็นต้น)
[ปรีชา เถาทอง, “ป่าหิมพานต์ กลางคืน” ปี 2547, สีอะคริลิคบนผ้าใบ 270x300 ซม.]
(ศิลปินใช้พุทธิปัญญากำหนดสัดส่วนและจัดองค์ประกอบของภาพตามขนบเสียใหม่ให้มีความงามสมบูรณ์แบบขึ้นกว่าเดิม อันเป็นผลมาจากความก้าวหน้าทางวิชาการและวิธีการเขียนภาพในปัจจุบัน)
[สน สีมาตรัง, “ใกล้รุ่งที่สระอโนดาต (1)”, สีอะคริลิคและทองคำเปลวบนผ้าใบ 45x185 ซม.]
(ด้วยแนวภาพกึ่งนามธรรม ศิลปินนำบางส่วนของศิลปกรรมไทยแบบประเพณีมาดัดแปลงเพื่อถ่ายทอดบรรยากาศในความรู้สึก แทนที่จะเขียนเป็นรูปทรงบอกเรื่องราวเหมือนเดิม)
เพราะไม่มีความรู้อย่างถ่องแท้ ความคุ้นเคยจึงอาจจะทำให้มองข้ามความสำคัญของบางสิ่งไปอย่างน่าเสียดาย ดังเช่นคติความเชื่อเรื่องไตรภูมิซึ่งเป็นจักรวาลทัศน์ที่แวดล้อมชีวิตของคนไทยมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน สามารถพบเห็นได้ตลอดเวลาแม้จะไม่รู้ตัวก็ตาม ตั้งแต่ศิลปกรรมตามวัดวาอาราม ปราสาทราชวัง จนถึงพิธีกรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี หรือศรัทธาความเชื่อ ปรัชญา และระบบคิด เรียกได้ว่าครอบคลุมทั้งสังคม ตั้งแต่สถาบันพระมหากษัตริย์ จารีตการปกครอง ศาสนา ชุมชน และชีวิตประจำวันของชาวบ้าน
“ไตรภูมิ” เป็นจักรวาลวิทยา (Cosmology) หรือโลกสัณฐานตามมติในพุทธศาสนา ซึ่งอธิบายโครงสร้างและลักษณะต่างๆ ของจักรวาล ตั้งแต่กำเนิด จนสิ้นสลาย รวมทั้งความเป็นมาของชีวิต และความเป็นไปหลังความตาย อันที่จริงพระพุทธเจ้ามิได้ทรงบรรยายถึงรูปลักษณ์ของโลกและจักรวาลไว้โดยตรง ด้วยทรงเน้นที่การดับทุกข์มากกว่า และปัญหาเหล่านี้ก็ไม่ได้ทำให้คนพ้นจากความทุกข์แต่อย่างใดเลย นอกจากนี้ยังเป็นสิ่งที่ไม่สามารถอธิบายได้กระจ่างชัด หรืออภิปรายได้ไม่จบสิ้น เพราะอยู่พ้นเลยไปจากขอบเขตการรับรู้ของมนุษย์จะเข้าถึงได้ด้วยผัสสะของตน แต่ก็ยังทรงตรัสถึงบ้างเพื่อประกอบการแสดงธรรมในวาระต่างๆ
แต่ธรรมชาติของมนุษย์ย่อมมีความสงสัยใคร่รู้ในชีวิตและโลกที่ตนดำรงอาศัยอยู่นั้น ภายหลังจึงมีผู้รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับโลก จักรวาล และภพภูมิต่างๆ จากที่ปรากฏในพระไตรปิฎกและแหล่งอื่นๆ มาประกอบกัน เรียบเรียงเป็นคัมภีร์ทางพุทธศาสนาประเภทหนึ่ง เรียกว่า “โลกศาสตร์” ตัวอย่างเช่น หนังสือ “โลกบัญญัติ”, “โลกทีปกสาร”, “จักกวาฬทีปนี” และ “โลกุปปัตติ” เป็นต้น
คัมภีร์โลกศาสตร์ที่กำเนิดขึ้นในสังคมไทย และเป็นที่ยอมรับรู้จักกันดีมีอยู่ 2 ฉบับ คือ “ไตรภูมิกถา” หรือ “ไตรภูมิพระร่วง” พระราชนิพนธ์ในพระมหาธรรมราชาที่ 1 หรือพญาลิไท พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 5 แห่งอาณาจักรสุโขทัย ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในปี พ.ศ. 1888 หรือเมื่อ 600 กว่าปีก่อน ส่วนอีกเล่มคือ “ไตรภูมิโลกวินิจฉัย” ที่พระยาธรรมปรีชา (แก้ว) แต่งขึ้นในปี พ.ศ. 2345 หรือช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ก็ยังมีหนังสือที่เขียนเป็นภาพให้ชาวบ้านเข้าใจง่าย หรือที่เรียกว่า “สมุดภาพไตรภูมิ” อีกหลายฉบับ
ไตรภูมิกถาของพระมหาธรรมราชาลิไทได้ชื่อว่าเป็นวรรณกรรมไทยเล่มแรกซึ่งเก่าแก่ที่สุดเท่าที่ปรากฏหลักฐานหลงเหลือมาถึงปัจจุบัน และยังเป็นรากฐานของวรรณกรรม ศิลปกรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีในชั้นหลัง ซึ่งแตกแขนงไปอย่างกว้างขวาง หนังสือเล่มนี้ได้รับการคัดลอกต่อกันมาไม่ขาดสาย จนถึงยุคแห่งการพิมพ์ก็ยิ่งแพร่หลาย เพราะมีคนต้องการศึกษาทำความเข้าใจเพื่อประกอบกิจกรรมตามประเพณีอยู่เสมอ
รายละเอียดของภพภูมิต่างๆ หลายเรื่องมีมาก่อนสมัยพุทธกาล บางเรื่องเพิ่งมีขึ้นในภายหลัง และยังมีคติความเชื่อเฉพาะท้องถิ่นผสมกันไปด้วย แต่ทั้งหมดจะได้รับการตีความด้วยพุทธปรัชญา อย่างตำนานเทพเจ้าที่มีคนนับถือกันมานาน และยากจะทำลายลง พุทธศาสนาก็ใช้วิธีดูดกลืนเข้ามาจัดระเบียบใหม่เสีย เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนลำดับชั้นตามสภาวธรรม และเปลี่ยนแก่นสาระสำคัญให้แสดงความจริงแท้ตามหลักพุทธธรรม เช่น จากความเชื่อเรื่องเทพเจ้าสร้างโลกก็เปลี่ยนเป็นเรื่องของกฎแห่งกรรม สรรพสิ่งเป็นไปตามเหตุและผลต่อเนื่องกันมา หรือเปลี่ยนจากความเชื่อเรื่องภาวะนิรันดร เป็นความไม่คงที่แน่นอนหรืออนิจจลักษณะแทน
แม้จะยกความมุ่งหมายทางศาสนาให้อยู่พ้นเหนือโลก แต่โครงสร้างในภูมิจักรวาลย่อมแฝงนัยของการจัดระเบียบการปกครองและการครองชีวิตทางโลกนั่นเอง ตำแหน่งของศูนย์กลางจักรวาลบ่งชี้ศูนย์กลางอำนาจ ซึ่งลดหลั่นกันมาตามลำดับชั้น และยังวางแบบแผนจริยธรรมให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขด้วย
เพราะฉะนั้นความสำคัญของไตรภูมิกถาอีกประการหนึ่งจึงอยู่ตรงร่องรอยที่แสดงการสถาปนาจักรวาลความเป็นไทยซึ่งชัดเจนขึ้นทั้งในส่วนของอำนาจรัฐและวัฒนธรรม
เนื้อความตอนต้นของไตรภูมิกถาบอกวันเวลาที่แต่งและผู้ประพันธ์ชัดเจน และบอกจุดมุ่งหมายในการแต่งว่าเพื่อ “มีอรรถพระอภิธรรม” “จะใคร่เทศนาแก่พระมาดาท่าน” และ “เพื่อจำเริญพระธรรม” จากนั้นก็บอกชื่อพระคัมภีร์ที่ “เอาออกแลแห่งแลน้อยและเอามาผสมกัน” จำนวน 32 เรื่อง ซึ่งมีทั้งพระไตรปิฎก อรรถกถา และปกรณ์พิเศษ และยังบอกรายนาม “พระสังฆเจ้า” และ “ราชบัณฑิต” ผู้ประสิทธิประสาทวิชาด้วย นอกจากนี้ท่านผู้สัดทัดกรณียังชี้ให้เห็นว่าพระมหาธรรมราชาลิไททรงมีความรู้หลากด้าน ซึ่งประกอบให้หนังสือสมบูรณ์ยิ่ง
ไตรภูมิกถาจัดพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2445 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงให้ชื่อหนังสือว่า “ไตรภูมิพระร่วง” เพราะชาวบ้านมักจะเรียกพระมหากษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัยว่า “พระร่วง” ต่อมากรมศิลปากรได้ชำระใหม่ในปี พ.ศ. 2517 และให้ชื่อว่า “ไตรภูมิกถา หรือ ไตรภูมิพระร่วง” ส่วนฉบับชำระล่าสุดจัดทำในปี พ.ศ. 2544 โดยราชบัณฑิตยสถาน
ระหว่างที่กระทรวงวัฒนธรรมกำลังดำเนินโครงการจัดพิมพ์หนังสือ “ไตรภูมิกถา ฉบับรัชกาลที่ 9 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550” เป็นหนังสือ 2 ภาษา โดยใช้ฉบับที่ราชบัณฑิตยสถานชำระ กับฉบับภาษาอังกฤษจากโครงการวรรณกรรมอาเซียนในปี พ.ศ. 2530 ควบคู่กัน คณะทำงานได้กำหนดให้ภาพประกอบเป็นผลงานของศิลปินไทยในปัจจุบัน เพื่อแสดงลักษณะของ “ศิลปะสมัยรัชกาลที่ 9” สืบไปในภายหน้า นั่นเองเป็นที่มาของนิทรรศการ “จิตรกรรมไทยประเพณี : อิทธิพลจากสมุดภาพไตรภูมิ” จัดขึ้นที่หอศิลป์ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (OCAC) ระหว่างวันที่ 2-30 เมษายน 2551 ซึ่งรวบรวมผลงานของศิลปินที่ทำงานจิตรกรรมไทยแบบประเพณีไว้หลากรุ่นหลายวัย
ภาพประกอบในหนังสือจะแบ่งเป็น 2 ภาค ภาคแรกจะใช้วิธีระดมศิลปินผู้เชี่ยวชาญมาร่วมกันวาด เป็นภาพไตรภูมิที่นิยมเขียนกันในหน้าต้นของสมุดภาพไตรภูมิมาแต่โบราณ ส่วนภาคที่สองจะคัดเลือกผลงานจากศิลปินที่เชิญมาเข้าร่วมในนิทรรศการ เป็นภาพที่แสดงรายละเอียดภายในจักรวาลไตรภูมิ ภาพพุทธประวัติ ภาพชาดก รวมทั้งภาพที่เกี่ยวข้อง
ผลงานในนิทรรศการมีทั้งหมด 50 ภาพ จาก 41 ศิลปิน เช่น ภาพสำเนาจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ภาพสำเนาจิตรกรรมของ ปรีชา เถาทอง และจิตรกรรมของ สน สีมาตรัง เป็นต้น นอกนั้นก็เป็นศิลปินอาชีพที่ผ่านการศึกษาจากหลากหลายสถาบัน ทั้งเคยได้รับรางวัลสำคัญระดับประเทศ หรือเคยได้รับทุนการศึกษาของมูลนิธินริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งสนับสนุนด้านจิตรกรรมไทยมาโดยตลอด และยังมีศิลปินรุ่นเยาว์ที่เป็นนักศึกษาร่วมอยู่ด้วย
ทั้งหมดพอจะมองเห็นภาพรวมในการตีความไตรภูมิของศิลปินปัจจุบัน ซึ่งบ่งบอกสถานะของไตรภูมิในสังคมไทยทุกวันนี้ด้วย
กล่าวได้ว่าไตรภูมิเป็นรากฐานของศิลปกรรมไทยแทบทุกแขนง ทั้งสถาปัตยกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม ประณีตศิลป์ หรือศิลปะพื้นบ้าน ฉะนั้นหากจะเข้าถึงศิลปะไทยจึงต้องเข้าใจไตรภูมิเสียก่อน
จักรวาลของไตรภูมิแบ่งออกเป็น 3 ภูมิใหญ่ คือ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ แต่ละภูมิยังแบ่งแยกย่อยไปอีกหลายชั้น รวมทั้งหมด 31 ภูมิ
กามภูมิเป็นแดนของผู้ที่ยังติดข้องอยู่ในกามคุณหรือสิ่งที่น่าปรารถนา ทั้งรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ดังนั้นจึงมีความพอใจและไม่พอใจ มีความสุขและความทุกข์ และมีโลภ โกรธ หลง เป็นสมบัติ กามภูมิแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ สุคติภูมิ หรือแดนที่เป็นสุขมากกว่าทุกข์ กับทุคติภูมิ หรือแดนแห่งความทุกข์ทรมาน มนุสสภูมิหรือโลกมนุษย์เป็นแดนที่อยู่ในสุคติภูมิ เหนือขึ้นไปคือสวรรค์ทั้งหกชั้นหรือฉกามาพจร เป็นที่อยู่ของเทวดาระดับต่างๆ ซึ่งยังติดข้องในกามคุณเช่นกัน ส่วนแดนที่ต่ำสุดในไตรภูมิคือนรกภูมิ เป็นที่อยู่ของสัตว์นรกที่ต้องได้รับโทษทัณฑ์จากการทำบาปหยาบช้านานาประการ เหนือขึ้นมาคือเปรตภูมิ อสูรกายภูมิ และเดรัจฉานภูมิ ซึ่งจัดอยู่ในทุคติภูมินั่นเอง
รูปภูมิกับอรูปภูมิเป็นแดนของผู้ที่ไม่ยินดียินร้ายในกามคุณแล้ว แต่รูปภูมิยังติดอยู่ในตัวตน ส่วนอรูปภูมิไม่มีตัวตน และเหลืออยู่เพียงจิต
ภพภูมิทั้งหมดยังคงเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสังสารตามผลบุญผลกรรมนั่นเอง และจะพ้นไปได้ก็ต่อเมื่อสำเร็จมรรคผลนิพพานแล้วเท่านั้น
โครงสร้างของจักรวาลในไตรภูมิมีเขาพระสุเมรุเป็นแกนกลาง ล้อมรอบด้วยเขาสัตตบริภัณฑ์ 7 ชั้น ระหว่างชั้นยังมีทะเลสีทันดรคั่นกลาง ทั้ง 4 ทิศของเขาพระสุเมรุมีทวีปใหญ่ ทางทิศใต้คือชมพูทวีปอันเป็นแดนของมนุษย์ และรอยต่อระหว่างโลกมนุษย์กับเขาพระสุเมรุซึ่งเป็นที่อยู่ของเทวดาชั้นต่างๆ ก็คือป่าหิมพานต์
แผนผังของศิลปกรรมไทยมักจะใช้โครงสร้างเช่นนี้เป็นฐาน คือมีแกนกลางเป็นสัญลักษณ์ของเขาพระสุเมรุสำหรับประดิษฐานสิ่งสำคัญ และแวดล้อมประดับประดาด้วยเครื่องตกแต่งที่เป็นตัวแทนของระดับชั้นต่างๆ ลดหลั่นกันมา อย่างการประดับด้วยภาพสัตว์ป่าหิมพานต์ก็เป็นการบ่งบอกว่าบริเวณนั้นเริ่มเข้าสู่เขตแดนที่สูงกว่าภพภูมิของมนุษย์ธรรมดาแล้ว องค์ประกอบที่จำลองจักรวาลของไตรภูมิพบเห็นได้ตั้งแต่ผังเมือง แผนภูมิของวัด พระราชวัง หรือสถานที่สำคัญ โครงสร้างทางสถาปัตยกรรมของอาคาร โบสถ์ วิหาร พระที่นั่ง ปราสาท มณฑป มณเฑียร และสิ่งก่อสร้างอย่างเจดีย์ พระปรางค์ สถูป เมรุ ฯลฯ จนถึงศิลปวัตถุก็เช่นกัน กระทั่งกรวยใบตองกลางพานบายศรียังแทนเขาพระสุเมรุอันเป็นศูนย์กลางจักรวาล
การจัดองค์ประกอบของศิลปกรรมในศาสนสถานสำคัญก็มักจะจำลองจักรวาลของไตรภูมิที่มีพระพุทธปฏิมาเป็นประธาน ภายในอาคารจะกำหนดแสงให้ข่มความรู้สึกสงบ และขับความงามของสิ่งสำคัญขึ้นมา จิตรกรรมฝาผนังด้านล่างจะเขียนภาพภพภูมิของมนุษย์และดินแดนที่ต่ำลงมาอย่างนรก ด้านบนก็เขียนภาพสวรรค์และภพภูมิที่สูงขึ้นไปตามลำดับ บรรยากาศทั้งหมดจึงช่วยส่งเสริมการเจริญธรรมโดยสมบูรณ์
แต่จิตรกรรมร่วมสมัยแยกออกมาจากประโยชน์ใช้สอยในสังคมเดิม และแสดงคุณค่าด้วยตัวมันเองตามลำพัง ศิลปินใช้รูปแบบและเนื้อหาของศิลปะตามจารีตเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างงานด้วยความมุ่งหมายเฉพาะตน มิได้ทำด้วยความรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์โดยรวม เพราะฉะนั้นเรื่องราวและจินตภาพที่แสดงออกจึงแยกเป็นส่วนๆ ตามความสนใจของแต่ละคน
อย่างงานที่แสดงอยู่ในนิทรรศการ “อิทธิพลจากสมุดภาพไตรภูมิ” จะมีความหลากหลายทั้งเรื่องราวเนื้อหาและรูปแบบวิธีการที่นำเสนอ คือจะเห็นทั้งงานที่ดำเนินตามจารีตเดิม งานที่ประยุกต์ให้แปลกตา จนถึงงานกึ่งนามธรรมที่แสดงความงามทางทัศนธาตุอย่างศิลปะสมัยใหม่
แก่นสารสำคัญของตัวงานส่วนใหญ่จะนิยมเขียนถึงพุทธธรรมโดยตรง อาจจะผ่านเรื่องราวในพุทธประวัติ ชาดก หรือผ่านสัญลักษณ์ที่แทนหลักธรรมข้อใดข้อหนึ่ง จินตภาพหลักก็ยังคงประยุกต์ดัดแปลงจากแบบแผนตามประเพณีนั่นเอง และมักจะใช้วัสดุวิธีการแบบสมัยใหม่รองรับ อย่างสีอะคริลิกบนผ้าใบ ซึ่งจะให้ค่าสีที่สดใสกว่าเดิม เหมาะกับอาคารบ้านเรือนสมัยใหม่และแสงไฟฟ้าส่องสว่างมากกว่า แต่เส้นสีรูปทรงก็ต้องแสดงความงามด้วยลีลาวิจิตรตระการตาตามคุณสมบัติวาววับของวัสดุไปด้วย ขณะที่การใช้สีฝุ่นแบบเดิมจะหม่นขรึมกว่า เหมาะกับแสงธรรมชาติและบรรยากาศนิ่งสงบ การแสดงความงามก็จะออกไปทางเรียบง่าย
ทั้งหมดทำให้เห็นว่าศิลปินร่วมสมัยใช้ประโยชน์จากมรดกทางศิลปกรรมในไตรภูมิน้อยกว่าที่คิด แม้จะทำงานศิลปะในแนวประเพณีเป็นหลักก็ตาม พอมีคนรู้จักเลือกใช้แนวเรื่องที่ต่างออกไปบ้างก็จะโดดเด่นขึ้นมา รวมทั้งการดัดแปลงวิธีการแบบโบราณให้เหมาะกับยุคสมัยก็ช่วยเสริมคุณค่าเพิ่มขึ้นด้วย
งานที่โดดเด่นมักจะตีความสัญลักษณ์ในไตรภูมิให้สอดคล้องกับลักษณะอันเป็นสากลของมนุษย์ในทุกกาลสมัย หรือตีความหลักธรรมให้เป็นจินตภาพที่เห็นแจ้ง แต่ก็ยังเป็นแค่ส่วนย่อย มิใช่ภาพรวมทั้งหมด
และคงไม่ใช่เพียงไตรภูมิ แต่สังคมไทยกำลังเผชิญปัญหากับการตีความวัฒนธรรมเดิมให้สัมพันธ์สอดคล้องกับชีวิตในปัจจุบัน
จักรวาลของสังคมสมัยใหม่มีสัณฐานวางอยู่บนจินตภาพของเครื่องจักร แยกกันเป็นหน่วยย่อย แต่ละส่วนรับผิดชอบเฉพาะตน และมองไม่เห็นองค์รวมทั้งหมด ซึ่งแม้จะมีประสิทธิภาพ แต่ก็ก่อให้เกิดความตึงเครียดภายในจากความแปลกแยกและการแข่งขันกันเอง พฤติกรรมของคนในสังคมจึงมักจะนึกถึงแต่ตัวเองเป็นหลัก และมองไม่ออกว่าการกระทำบางอย่างกระทบต่อส่วนรวมแล้วย้อนกลับมากระทบถึงตัวเองอย่างไร
มโนทัศน์เรื่องบาปบุญคุณโทษของคนโบราณเป็นความเข้าใจต่อกระบวนการของเหตุและผลซึ่งกระทบถึงกันทั้งหมดตามเงื่อนไขปัจจัยสัมพันธ์ เพียงแต่อยู่ในรูปของภาษาความเปรียบ พลังของสัญลักษณ์สื่อสารกับจิตใต้สำนึกของมนุษย์ และคนเราก็สัมผัสความจริงบางอย่างผ่านสามัญสำนึก เพราะฉะนั้นคนที่ผ่านการศึกษาสมัยใหม่มาแล้วก็อาจเชื่อเรื่องนรกสวรรค์ได้เพราะจินตภาพนั้นบอกความจริงในอีกมิติหนึ่งผ่านทางจิตใจนั่นเอง
อันที่จริงกระบวนทัศน์ทางวิทยาศาสตร์แบบเก่าซึ่งมองโลกเป็นกลไกเครื่องจักรได้ถูกหักล้างไปนานแล้ว ด้วยกระบวนทัศน์ของวิทยาศาสตร์ใหม่ที่มองจักรวาลอยู่ในรูปของคลื่นพลังงานที่สัมพันธ์กันทั้งหมด แต่โครงสร้างของสังคมสมัยใหม่ก็ยังดำเนินอยู่ในกระบวนทัศน์เก่านั่นเอง เพราะมันอธิบายโลกด้วยวัตถุที่มองเห็นและจับต้องได้ง่าย ขณะที่ความจริงชุดใหม่ยังคงเป็นนามธรรมซึ่งยากจะอธิบายให้คนทั่วไปเข้าใจได้เหมือนกัน ดังนั้นจึงมีนักคิดหลายคนพยายามหยิบฉวยเอาคติความเชื่อโบร่ำโบราณในวัฒนธรรมต่างๆ มาตีความใหม่และใช้อธิบายแทน ซึ่งบางเรื่องก็พอจะกลมกลืนลงตัว แต่บางเรื่องก็ยังขัดเขิน
เวลานี้สังคมไทยกำลังอยู่ในภาวะสุญญากาศทางจริยธรรม ระหว่างจักรวาลโบราณที่เสื่อมโทรมไปตามกาล กับจักรวาลสมัยใหม่ที่หยาบกระด้าง ด้วยขาดความลึกซึ้งทางจิตวิญญาณ จะปรับปรุงของเก่าอย่างไร หรือจะใช้ประโยชน์จากของใหม่อย่างไร หรือจะก้าวข้ามความขัดแย้งนี้ไปสู่จิตสำนึกอีกระดับหนึ่งอย่างไร ล้วนแล้วแต่ต้องใช้ความรู้และปัญญาอย่างมาก
หากมองไปรอบๆ ตัว ยังพอมองเห็นจักรวาลของไตรภูมิมีชีวิตและปฏิสัมพันธ์อยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน เพียงหยิบยกขึ้นมามองใหม่ก็อาจช่วยบรรเทาความสับสนในทิศทางได้บ้าง เพราะเป็นสิ่งที่หล่อหลอมทุกคนขึ้นมาเป็นตัวตน และคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น