วันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ศิลปกรรมฐาน : คามิน เลิศชัยประเสริฐ

ก่อนเกิด-หลังตาย (Before Birth – After Death) / คามิน เลิศชัยประเสริฐ / นำทองแกลเลอรี่, 24 มีนาคม – 31 พฤษภาคม 2555

“มีอยู่ทุกหนแห่ง ในเรา” อะคริลิกบนผ้าใบ 140x220 ซม.

[“มีอยู่ทุกหนแห่ง ในเรา” อะคริลิกบนผ้าใบ 140x220 ซม.]

ด้วยพื้นฐานเป็นคนช่างคิด ขยันทำ และหัวก้าวหน้า มาแต่ครั้งเป็นนักศึกษา งานศิลปะของ คามิน เลิศชัยประเสริฐ โดดเด่นแปลกตาออกจากแนวนิยมของศิลปินรุ่นเดียวกัน ด้วยความสนใจเฉพาะแน่วแน่ในตนเอง งานแสดงครั้งแรกในปี 2530 หลังจบจากมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นภาพถ่ายและภาพพิมพ์โลหะในรูปแบบเหนือจริงและสำแดงความรู้สึกภายในออกมา เพื่อสะท้อนอารมณ์เจ็บปวดรวดร้าวของความเป็นมนุษย์ ผ่านรูปทรงคนและวัตถุในกิริยาบิดเบี้ยวขัดแย้ง แสดงร่องรอยขูดขีดเสื่อมพัง

หลังจากนั้นเขาก็ไปเรียนรู้ต่อที่นิวยอร์ค งานของคามินไม่ยึดติดกับรูปแบบ เขาทดลองค้นหาวิธีการนำเสนอแปลกๆ ใหม่ๆ ที่ตรงกับความสนใจในขณะนั้นอยู่เสมอ งานช่วงแรกในนิวยอร์คยังเป็นการสำแดงความรู้สึกภายในตัวเองออกมา ด้วยงานจิตรกรรมที่วาดด้วยมือ เป็นรูปทรงและเรื่องราวเกี่ยวกับการดิ้นรนในชีวิตของมนุษย์ที่เป็นสากลมากขึ้น

ต่อมาจึงเริ่มปรากฏสัญลักษณ์ในเชิงล้อเลียนเสียดสีด้วยอารมณ์ขัน เพื่อยั่วล้อภูมิปัญญาของมนุษยชาติและสุนทรียศาสตร์ของศิลปะ ขณะที่อีกด้านหนึ่งเขาก็เริ่มมีสำนึกถึงความเป็นคนตะวันออกในตัวเอง ท่ามกลางชาวต่างชาติ และเริ่มทำงานวาดเส้นที่ได้อิทธิพลจากปรัชญาหยิน-หยาง เต๋า และเซน จนกลายเป็นลายเส้นเฉพาะตัว จากนั้นก็เริ่มตั้งคำถามถึงความเป็นไทยด้วยงานชุด “ก เอ๋ย ก ไก่” ปี 2534 ซึ่งนำพยัญชนะไทยมาเป็นแรงดลใจในการสร้างงานจิตรกรรมและภาพพิมพ์ เป็นกรอบสำรวจประสบการณ์ภายในของตัวเองตามพยัญชนะนั้น

เมื่อกลับเมืองไทยเขาก็ออกสำรวจสังคมไทยร่วมสมัย ถ่ายภาพปรากฏการณ์อันแปลกตาและกระทบใจเขา มาประทับด้วยภาพพิมพ์ที่แกะจากรองเท้าแตะ และวาดเส้นตามแบบของเขา เป็นงานชุด “นิราศไทยแลนด์” ปี 2535

คามินเริ่มวางแผนทำงานภายใต้กรอบเวลา 1 ปี ในชุด “ม่วงงิ้ง แซ่เล้า” ปี 2536 ซึ่งเป็นชื่อในวัยเด็กของเขา ด้วยงานจิตรกรรมที่แสดงออกอย่างใสซื่อตรงไปตรงมาแบบศิลปะเด็ก บันทึกความรู้สึกในแต่ละวัน และเขียนภาพขนาดใหญ่ต่อเนื่องกัน เพื่อแสดงสภาพแวดล้อมของสังคม อันมีที่มาจากเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองในเดือนพฤษภาคม ปี 2535 ด้วย นอกจากนี้ยังวาดเส้นผสมตัวอักษรในชุด “อะไรในใจฉัน” ปี 2537

การวางแผนทำงานทุกวันภายใต้กรอบเวลา 1 ปี เข้มข้นขึ้นในชุด “ปัญหา-ปัญญา” ปี 2538 เมื่อเขานำหนังสือพิมพ์รายวันมาเลือกข่าวที่กระทบใจหนึ่งข่าว แล้วพิจารณาจนตกผลึกเป็นความคิด ก่อนจะนำหนังสือพิมพ์ที่เหลือมาปั้นเป็นประติมากรรมกระดาษ ซึ่งว่าด้วยปัญหาและปัญญาที่เกิดจากการพิจารณานั้น

และเมื่อหันมาศึกษาพุทธศาสนาอย่างจริงจัง การพิจารณาปัญหาส่วนตัวและสังคมของเขาก็อยู่บนพื้นฐานของพุทธปรัชญา ดังที่เห็นในงานวาดเส้นเชิงบันทึกบทรำพึงธรรมในชุด “ธรรมดา-ธรรมชาติ” ปี 2540 และงานวาดเส้นชุด “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” ปี 2542 ซึ่งวาดรูปลักษณ์ต่างๆ ที่ล้วนแฝงไตรลักษณ์ของสัจธรรมดังกล่าวอยู่ด้วย

คามินวางแผนการทำงานภายใต้กรอบเวลา 1 ปี ต่อเนื่องมาอีกหลายต่อหลายชุด เป็นงานวาดเส้นบ้าง จิตรกรรมบ้าง ประติมากรรมบ้าง สื่อผสมหรือติดตั้งจัดวางบ้าง เนื้อหาก็ว่าด้วยปรัชญาความคิดที่ได้จากการรำพึงธรรม สอดแทรกการล้อเลียนเสียดสีพฤติกรรมและค่านิยมของคนร่วมสมัยบ้าง

ระหว่างนั้นคามินก็ร่วมกับเพื่อนศิลปินทำกิจกรรมเชิงศิลปะและสังคมหลายโครงการ เช่น “โครงการที่นา” ปี 2541 และ “อุโมงค์ศิลปธรรม” ปี 2545 ซึ่งรวมกันเป็น “มูลนิธิที่นา” ในภายหลัง ล่าสุดคือการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์จิตวิญญาณร่วมสมัยของทศวรรษที่ 31 เพื่อให้ผู้คนมาแลกเปลี่ยนแรงบันดาลใจแก่กัน

งานชุดใหม่ของคามินคือ “ก่อนเกิด-หลังตาย” (Befor Birth – After Death) ยังคงอยู่ในวิถีการใช้ชีวิตและทำงานศิลปะของเขา เขาเริ่มโครงงานนี้ในปี 2551 ด้วยการตัดแปะวัสดุสิ่งพิมพ์ที่กระทบใจในชีวิตประจำวันลงบนกระดาษ จากนั้นก็พิจารณาให้เห็นหัวข้อรำพึงธรรม และวาดรูปหัวกะโหลกทับลงไปบนภาพ เมื่อครบ 1 ปี เขาก็เลือกชิ้นที่พอใจมาขยายเป็นงานจิตรกรรม และทำเป็นประติมากรรมจำนวนหนึ่ง

งานที่จัดแสดงจึงเป็นยอดของภูเขาน้ำแข็งจากฐานที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง คุณค่าของงานศิลปะชุดนี้จึงอยู่ที่กระบวนการทั้งหมดที่ทำมา เรียกได้ว่าอยู่ที่วัตรปฏิบัติของศิลปินเอง

ด้วยมีต้นแบบมาจากสิ่งพิมพ์ในชีวิตประจำวัน เมื่อมองอย่างผิวเผินงานจิตรกรรมสีสันสดใสเหล่านี้ละม้ายงานประเภทป็อปอาร์ต แต่ด้วยกระบวนการถือเป็นงานคอนเซ็ปต์ช่วลที่เสนอมโนทัศน์ทางศาสนา แม้จะไม่ใช้รูปแบบศิลปะประเพณี แต่กลับมีความเป็นพุทธศิลป์ร่วมสมัยที่มีพื้นฐานทางการปฏิบัติอันหนักแน่น เมื่อพิจารณารายละเอียด ภาพตัดแปะจากสื่อสิ่งพิมพ์ที่ขยายขึ้นใหญ่โตเหล่านั้น อ้างอิงข้อมูลข่าวสารที่ประสมปนเปกันตามประสบการณ์ส่วนตัวของศิลปิน แล้วแต่ผู้ชมจะตีความ แต่คามินก็สะกดทุกภาพไว้ด้วยเค้าร่างของหัวกะโหลก เล่นล้อกับรูปทรงของภาพเบื้องหลัง เสมือนต้องการบอกว่ามีความตายอยู่ในทุกหนแห่งไม่ว่าจะมองเห็นหรือคิดเรื่องอะไรอยู่ก็ตาม

เมื่อความงามย้ายไปอยู่ที่วิธีคิดหรือกระบวนการ ตัวงานศิลปะก็เป็นแค่หลักฐานบันทึกให้จับต้องมองเห็น อย่างไรก็ตามงานศิลปะยังคงต้องการธรรมารมณ์เพื่อกระทบใจผู้ชมให้คล้อยตาม ด้วยพลังความงามจากทัศนธาตุของมันเอง เพื่อพิสูจน์ว่าไม่ได้เป็นเพียงภาพประกอบการอ้างอิงของคำอธิบาย.

[พิมพ์ครั้งแรก: Vote]

วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ประดิษฐ์/ประเดิด : สุธี คุณาวิชยานนท์

ดีเป็นบ้า! (Crazily Good!) / สุธี คุณาวิชยานนท์ / Number 1 Gallery, 15 มีนาคม – 21 เมษายน 2555

“ประเทศไทยหัวทิ่ม” ปี 2555, สีน้ำมันบนไม้อัด 300 ซม.

[“ประเทศไทยหัวทิ่ม” ปี 2555, สีน้ำมันบนไม้อัด 300 ซม.]

หนังสือ “จากสยามเก่าสู่ไทยใหม่” (ปี 2545) ของ สุธี คุณาวิชยานนท์ เป็นบันทึกเล่มสำคัญที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทย ซึ่งมีเนื้อหาครบถ้วนเท่าที่สามารถค้นคว้าถึง ทั้งผู้เขียนยังสรุปประเด็นเป็นหัวข้อที่เข้าใจง่าย อธิบายความเปลี่ยนแปลงของศิลปะที่สัมพันธ์กับสังคม และยังตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจไว้ไม่น้อย ด้วยเข้าใจในสัญญะและมายาคติของศิลปะเหล่านั้น กระทั่งสามารถเล่นล้อได้อย่างคมคาย ดังที่เห็นในผลงานศิลปะของเขาด้วย

ความรู้ในประวัติศาสตร์ของสังคม ทำให้สุธีเป็นศิลปินที่มีความคิดอ่านแหลมคมในการวิพากษ์วิจารณ์สังคมและวัฒนธรรม ด้วยการประดิษฐ์งานสื่อผสมแปลกๆ ใหม่ๆ เพื่อสะท้อนความประดักประเดิดของภาพลักษณ์และความหมายที่ผิดเพี้ยน เขาเล่นล้อเช่นนั้นได้เพราะเข้าใจว่าความหมายของวัฒนธรรมไม่ใช่ความจริงตามธรรมชาติ แต่เป็นประดิษฐกรรมที่ประกอบสร้างขึ้นมา เมื่ออยู่ผิดที่ผิดเวลาก็อาจจะแปลกแปร่งไปจากที่ควรเป็น นั่นเป็นอรรถรสที่เขาพึงใจนำมาใช้แสดงความคิดเห็นต่อความเป็นไปในสังคม

งานของสุธีสมัยเรียนคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นภาพพิมพ์ผสมภาพถ่ายและซิลค์สกรีน เป็นภาพเพื่อนฝูงบุคคลใกล้ชิด ทับซ้อนด้วยร่องรอยลวดลายสีสดฉูดฉาด บ่งบอกถึงความสนใจในการทดลองผสมผสานวิธีการแปลกๆ ใหม่ๆ ในการนำเสนอความรู้สึกภายในออกมา

งานในช่วงที่ไปเรียนออสเตรเลีย และจัดแสดงระหว่างปี 2534-37 ยังคงเป็นการสะท้อนความรู้สึกในตัวตน ผ่านงานวาดเส้น จิตรกรรม ภาพถ่าย ภาพพิมพ์ ผสมปนเป ติดตั้งจัดวาง เป็นภาพแทนของกระแสสำนึก และแฝงแนวคิดเกี่ยวกับสภาวะของจิตในทางพุทธศาสนา

ความคิดเชิงสังคมเริ่มเป็นรูปธรรมในงานชุด “ช้างเผือกสยาม” ปี 2538 ซึ่งสุธีใช้ช้างเผือกเป็นสัญลักษณ์แทนสิ่งที่มีคุณค่าในสังคมไทย และกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่วิกฤตสุ่มเสี่ยงเช่นเดียวกับช้างไทย เขานำเสนอทั้งงานจิตรกรรม ประติมากรรม สื่อผสม และติดตั้งจัดวาง ทดลองใช้วัสดุที่แสดงสภาพต่างๆ แม้จะเป็นการตอบโจทย์เรื่องความเป็นไทยเช่นเดียวกับศิลปินอีกหลายคนที่กำลังตั้งคำถาม และแสวงหาแนวทาง แต่การตีความสัญลักษณ์ของสุธีก็ไปไกลถึงขั้นเห็นความแปลกปลอมไม่แน่นอนของความหมายทางวัฒนธรรม

ปี 2540 สุธีเริ่มทำงานสื่อผสมที่ให้ผู้ชมมีส่วนร่วมในงานแสดง และมีเนื้อหาเล่นล้อเสียดสีสัญญะทางวัฒนธรรม เช่น ประติมากรรมรูปคนไหว้ ซึ่งเมื่อใช้เท้าเหยียบแป้นแล้วจะก้มหัวลง พร้อมกับเปิดศีรษะกลวงเปล่าออกมาเหมือนฝาถังขยะ หรือประติมากรรมหุ่นยางที่ผู้ชมต้องช่วยกันเป่าลมให้พองเป็นรูปขึ้นมา เหมือนความกลวงเปล่าของรูปลักษณ์ต่างๆ ซึ่งต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของผู้คนจึงจะมีชีวิตขึ้นมา

ตลอดทศวรรษ 2540 หลังวิกฤตเศรษฐกิจและท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ที่มีผลกระทบต่อสังคมและวัฒนธรรมมากมาย สุธีเฝ้าถอดรื้อมายาคติความเป็นไทยในสังคมร่วมสมัยโดยอาศัยพื้นฐานความรู้ที่มีน้ำหนัก เขาทำงานศิลปะโดยแอบอิงอยู่กับงานวิชาการนอกกรอบกระแสหลัก ทำให้มีความหลักแหลมในการนำเสนอมุมมองด้านกลับ ทั้งเนื้อหา รูปแบบ และวิธีการ

เช่นงานชุด “ห้องเรียนประวัติศาสตร์” ปี 2543 เขานำโต๊ะนักเรียนมาแกะไม้ด้านหน้าเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทย แล้วนำไปจัดวางให้ผู้ชมใช้กระดาษวางทาบ และฝนดินสอด้านบน เป็นภาพพิมพ์นูนสูงที่สามารถเรียนรู้วิธีทำและนำกลับบ้านได้ด้วยตนเอง น่าสนใจว่าประวัติศาสตร์ที่สุธีนำมาบอกเล่ามิใช่ประวัติศาสตร์ที่สอนกันอยู่ในสถานศึกษา แต่เป็นประวัติศาสตร์กระแสรองซึ่งถูกทำให้ละเลยและหลงลืมด้วยแนวคิดทางการเมืองที่แตกต่างกัน กระทั่งคนส่วนใหญ่ในสังคมก็ไม่รู้อดีตความเป็นมาอย่างครบถ้วน เมื่อเกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นมาก็ไม่อาจเข้าใจได้อย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งสุธีมองออกว่าเป็นเรื่องของการศึกษา และจำลองความประดักประเดิดดังกล่าวออกมาเป็นงานศิลปะ

ขณะที่อีกด้านหนึ่งเขาก็ยังคงมองตัวตนตามพุทธปรัชญา จำลองสังขารที่เริ่มโรยราของตัวเองเป็นหุ่นยางนั่งสมาธิ หรือเป็นหุ่นนักมวยที่กำลังจะชกต่อยกันเอง

หลังปฏิวัติในปี 2549 และเข้าสู่ทศวรรษ 2550 ด้วยความขัดแย้งทางการเมืองที่ซับซ้อนและรุนแรง จากการบิดเบือนของความหมายที่ใช้ต่อสู้กัน จนเกิดเป็นวิกฤตคุณค่าที่สับสนอลหม่านกว่ายุคสมัยใดที่ผ่านมา งานของสุธีก็สะท้อนออกจากมุมที่เขามอง และฐานความรู้ที่สะสมมาก่อนหน้า

เขาตั้งคำถามต่อความเป็นไทยด้วยน้ำเสียงเสียดเย้ยอีกครั้งในงานชุด “ครึ่งหนึ่งของความจริง” ปี 2553 ซึ่งนำรูปแบบศิลปะไทยประเพณีมาผสมปนเปกับวัฒนธรรมประชานิยมรากหญ้าในลักษณะประดักประเดิด เช่น เขียนภาพจิตรกรรมไทยประเพณีเป็นรูปมือชูนิ้วกลางอย่างอ่อนช้อย เป็นต้น

นอกจากนี้เขายังลงลึกในการศึกษาและเลียนแบบศิลปะชาตินิยมในยุคริเริ่มสร้างชาติให้เป็นสมัยใหม่ในงานชุด “โหยสยาม ไทยประดิษฐ์” และเสียดสีการลอยตัวอยู่เหนือปัญหาในสังคมในงานชุด “ลอย” ปี 2554 เป็นหุ่นคนนั่งสมาธิ ติดดวงไฟไว้ข้างใน แล้วนำไปแขวนไว้เหนือตรอกตึกแถวในลักษณะผิดที่ผิดทาง

การติดตามความอลหม่านทางวัฒนธรรมอันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมือง สะท้อนออกมาเป็นงานแสดงล่าสุดคือ “ดีเป็นบ้า!” (Crazily Good!) ซึ่งประกอบด้วยงานศิลปะ 3 ชุด จัดวางประสมกัน

เริ่มจากแผนที่ประเทศไทยหัวทิ่ม ทำด้วยไม้อัดขนาดสูง 3 เมตร และตัดด้วยกระดาษห้อยกลับหัวลงมา เล่นกับสีเหลืองและสีแดงตามนัยยะขัดแย้งทางการเมือง

งานจิตรกรรมสีอะคริลิกชุด “นวดมหาประลัย” ประสมท่วงท่าการนวดแผนไทยเข้ากับมวยไทยอย่างพิสดาร และแสดงความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ เป็นภาพแทนของวัฒนธรรมไทยปัจจุบันซึ่งบิดผันไปด้วยอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในยุคโลกาภิวัตน์ นอกจากนี้ก็ยังมีโต๊ะเรียนแกะไม้ตามภาพต้นแบบให้ผู้ชมใช้ดินสอฝนเป็นภาพพิมพ์นำกลับบ้านด้วย

และงานประดิษฐ์ตัวอักษรเลียนอย่างโฆษณาสมัยก่อน เป็นถ้อยคำที่ชวนคิดในหลายเรื่อง เช่น “อยากเลิกอยาก” “โปรดถามให้ตรงคำตอบ” “รักประชาธิปไตย แต่เกลียดเสียงข้างมาก” เป็นต้น

เมื่อนำงานทั้งหมดมาติดตั้งจัดวางรวมกัน มันก็ให้ทัศนวิสัยแบบจับฉ่ายอย่างตลาดนัด ซึ่งมีเรื่องราวหลากหลายผสมผสานกันอย่างอิสระจนแทบไร้เหตุผล ไร้รสนิยม และไร้สติ แล้วแต่ผู้ชมว่าจะกระทบใจกับสิ่งใดตามพื้นฐานของตน ซึ่งมีตั้งแต่เรื่องการเมือง บันเทิง ไปจนถึงธรรมะ

ความสับสนอลหม่านของวาทกรรมจากหลายแหล่งที่มา ทำให้ไม่มีมายาคติใดชักนำเป็นหลัก น้ำเสียงเชิงวิพากษ์ของศิลปินก็เป็นการยั่วเย้าให้ขบคิด อารมณ์ขันคลายความขัดแย้งที่ตึงเครียดลงไปได้มาก และทำให้เห็นได้ว่า หากยากที่จะเป็นระเบียบเรียบร้อย บางทีความรกรุงรังก็อาจมีวิธีจัดการตัวมันเอง.

[พิมพ์ครั้งแรก: Vote]