วันอังคารที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ภาพตะวัน สุวรรณกูฏ : ฐานภาพและคตินิยม/ผัสสะและมิติสัมพันธ์

Locution-(re)-locations.. ผนังของโลกหม่นบางคล้ายผนังระฆังทองคำ (เต็มไปด้วยทัศนะ..เต็มไปด้วยความรู้สึก) / ภาพตะวัน สุวรรณกูฏ / 100 ต้นสนแกลเลอรี่, 19 พฤษภาคม – 10 กรกฎาคม 2554

“Grey wall of the World, fragile as the sound of golden bell”  สีอะคริลิคบนผ้าใบ  180x75 ซม.  ปี 2550  และ  “One Step at a Time”  หมึกบนผ้าทอมือ  220x35 ซม.  ปี 2553

[“Grey wall of the World, fragile as the sound of golden bell” สีอะคริลิคบนผ้าใบ 180x75 ซม. ปี 2550 และ “One Step at a Time” หมึกบนผ้าทอมือ 220x35 ซม. ปี 2553]

นับแต่จิตรกรรมไทยประเพณีได้รับการฟื้นฟูและสร้างสรรค์ใหม่ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ต้องนับว่าตื่นตัวและพัฒนาไม่น้อย ทั้งในแง่อนุรักษ์ ประยุกต์ให้เหมาะสมกับสังคมปัจจุบัน และแปรแปลงไปสู่บทบาทหรือความหมายที่แตกต่าง ในบรรดาศิลปินที่ทำงานจิตรกรรมไทยมีผู้หญิงอยู่ไม่มากนัก และในจำนวนนั้น ภาพตะวัน สุวรรณกูฏ ก็ยังต่างจากคนอื่นออกมา

ด้วยพื้นฐานของครอบครัวที่ทำงานจิตรกรรมไทยมาโดยตลอด เนื่องจาก ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ เป็นผู้บุกเบิกจิตรกรรมไทยในรูปแบบปัจจุบันคนสำคัญ เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังในวัดตามประเพณีเดิม และเขียนภาพจิตรกรรมไทยตกแต่งอาคารสถานที่เอกชน เช่น โรงแรม หรือสำนักงาน ภาพตะวันผู้เป็นบุตรสาวก็เติบโตมากับการเรียนรู้ทักษะและองค์ความรู้เกี่ยวกับจิตรกรรมไทยดังกล่าว และทำงานแทนพ่อในช่วงหลัง ส่วนตัวเธอเองเรียนระดับปริญญาตรีด้านอักษรศาสตร์ ซึ่งช่วยเสริมฐานภาพเดิมในการขยายความเข้าใจต่อคตินิยมของศิลปะไทยที่มักจะเกี่ยวพันกัน โดยไม่อาจแยกประเภทออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด อย่างงานจิตรกรรมก็มักจะใช้เนื้อหาตามวรรณคดีเป็นต้น แต่ความเข้าใจที่เปิดกว้างออกกลับทำให้เธอคิดต่างออกไปจากร่องรอยเดิม และต่างออกไปจากศิลปินที่ฝึกฝนมาทางศิลปะอย่างเดียว

ภาพตะวัน สุวรรณกูฏ ฝากฝีมือไว้กับงานจิตรกรรมฝาผนังหลายแห่ง เช่นที่วัดศรีโคมคำ จ.พะเยา ร่วมกับ อังคาร กัลยาณพงศ์ งานจิตรกรรมไทยของเธอมีความเรียบง่ายกลมกลืนสอดคล้อง เป็นแบบแผนตามหลักวิชาที่ประมวลขึ้นมาในยุคหลัง ต่อเมื่อนำทักษะความชำนาญของเธอมาแสดงออกในพื้นที่ศิลปะร่วมสมัย จึงได้เห็นการตรึกตรองที่เป็นเรื่องราวของโลกและชีวิตในปัจจุบัน

เช่น การใช้รูปลักษณ์ของนารีผลในงานจิตรกรรมไทยเป็นสัญลักษณ์แทนปัญหาการค้าประเวณีและตกเขียวเด็กผู้หญิง นับเป็นการใช้คตินิยมที่ต่างไปจากฐานภาพเดิม หรือเธอมักจะใช้ช้างเป็นสัญลักษณ์แทนภูมิธรรมดั้งเดิม อันหมายรวมถึงพ่อ ครอบครัว และพื้นภูมิที่เธอเติบโตมา

เมื่อความซับซ้อนของสัญลักษณ์ไม่ได้จำกัดอยู่กับความหมายเดิม แต่เปิดการตีความให้กว้างออกเป็นปัจจุบัน กลวิธีในการทำงานแบบประเพณีก็กลายเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวที่ได้เปรียบ หลังจากไปศึกษาต่อด้านศิลปะที่ออสเตรเลีย และได้พำนักอยู่ที่นั่นในเวลาต่อมา งานของภาพตะวันในช่วงหลังเป็นการผสมผสานระหว่างจิตรกรรมไทยกับบริบทการแสดงออกอย่างศิลปะร่วมสมัย เนื้อหาก็จะเห็นความพยายามที่จะควบรวมพุทธปรัชญาในศิลปะประเพณีเข้ากับความรู้สึกนึกคิดของปัจเจกศิลปิน และยังพยายามรวมบทบาทในการสะท้อนสภาพแวดล้อมของโลกปัจจุบันไว้ด้วย

งานนิทรรศการศิลปะ “Locution-(re)-locations.. ผนังของโลกหม่นบางคล้ายผนังระฆังทองคำ (เต็มไปด้วยทัศนะ..เต็มไปด้วยความรู้สึก)” เป็นการแสดงผลงานคัดสรรในช่วง 7 ปีของภาพตะวัน จะเห็นประเด็นนำเสนอปรากฏอย่างน่าสนใจทั้งในรูปแบบและเนื้อหา บอกถึงการครุ่นคิดใคร่ครวญของศิลปิน ผ่านรูปลักษณ์และวิธีการที่เธอคุ้นเคย แต่ก็เหมือนจะไกลห่างออกไปจนเหลือแต่เงาร่างล่องลอย ซ้อนบัง และเลือนราง

ดังถ้อยคำที่บอกเล่าถึงถิ่นที่ไกลห่าง แต่ก็เป็นเพียงการทำซ้ำด้วยภาษาที่ไม่อาจเข้าถึงได้โดยตรง เป็นเพียงความเปรียบนามธรรม และการพรรณนาอันเปราะบาง ศิลปะของภาพตะวันก็คือการพรรณนานั้น

การติดตั้งจัดวางในห้องแสดงงานมีส่วนช่วยสร้างบรรยากาศเหลื่อมซ้อนของผัสสะระหว่างชิ้นงาน เกิดเป็นมิติสัมพันธ์ที่เสมือนเป็นกลุ่มงานเดียวกัน ส่งสะท้อนซึ่งกันและกัน ขณะเดียวกันผู้ชมก็จะเข้าไปสัมพันธ์ในมิติที่กินพื้นที่ลอยตัวออกมา และสัมผัสกับภาวะซ้อนบังนั้นด้วยผัสสะของตนเอง

อย่างงานชื่อ “Grey wall of the World, fragile as the sound of golden bell” ปี 2550 เป็นภาพแนวตั้ง 3 ภาพติดเคียงกัน วาดบ้านเรือนแบบตะวันตกในลักษณะแบน 2 มิติอย่างงานจิตรกรรมไทย และมีฉายาของพระพุทธเจ้าปางลีลาซ้อนเหลื่อมอยู่ทั้งสามภาพ

แต่ผู้ชมก็จะเห็นงานชิ้นนี้ไม่ถนัดนัก เนื่องจากมีผลงานชื่อ “One Step at a Time” ปี 2553 ซึ่งเป็นผ้าทอมือเขียนตัวอักษรด้วยหมึก แขวนบังอยู่ข้างหน้า เหมือนม่านยาวจรดพื้น เว้นช่องไฟให้พอมองผ่าน และเดินผ่านเข้าไป แต่ก็จำกัดมุมมองให้ไม่อาจเห็นทั้งหมด บนผ้าทอมือเขียนตัวอักษรสำนวนโบราณหลายต่อหลายเรื่อง ปะติดปะต่อไม่ถนัดชัดเจนนัก และรับรู้เป็นเพียงกลิ่นอายเท่านั้น

เมื่อขยับมาข้างหน้าก็จะเป็นงาน “Un(for)seen” ปี 2553 ซึ่งเป็นภาพลายเส้นและตัวอักษรไทย บนม้วนกระดาษไข ผ้าไหม และผ้าทอมือ แขวนลงมาจากเพดานจรดพื้นในลักษณะซ้อนบังชิดติดกัน จนไม่อาจมองผ่านหรือเดินผ่าน

ส่วนด้านหน้าและผนังอีกด้านเป็นงาน “Rebirth Mandala” ปี 2550-2553 อันประกอบด้วยรังไหมที่ถักขึ้นมาใหม่จากเส้นไหม แขวนลอยอยู่กลางห้อง และแผ่นการ์ดกระดาษทำมือวาดเส้นประกอบตัวอักษร จัดวางคู่กับผ้าทอมือพับเป็นรูปทรงพีระมิด วางเรียงเสมือนเป็นบันทึกส่วนตัวจำนวน 42 ชิ้น

เส้นไหมกลับเป็นรังไหมด้วยการถักของศิลปิน มณฑลของจักรวาลดั้งเดิมก็ย่อส่วนลงในขอบเขตจำกัดแค่โปสการ์ด

ผนังด้านตรงข้ามเป็นงานจิตรกรรมชุด “Three Worlds” ปี 2552 คัดสรรมาจัดแสดง 5 ภาพ เป็นจิตรกรรมไทยประยุกต์ วางองค์ประกอบในแนวตั้ง ผสมผสานภูมิทัศน์ต่างบ้านต่างเมืองเข้ากับคตินิยมในจิตรกรรมไทย มีตัวอักษรไทยในสำนวนโบราณเป็นพื้นหลัง บ่งบอกตัวตนอันเป็นส่วนผสมของฐานภาพในอดีตกับสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน ซึ่งทั้งขัดแย้งยากจะเข้าใจและพยายามประสมกลมกลืนเข้าด้วยกัน

ส่วนงาน “The Elephant and the Journey” ประกอบด้วยจิตรกรรมขนาดใหญ่เป็นรูปภูมิทัศน์ต่างบ้านต่างเมืองเช่นกัน และมีแผ่นกระจกฝ้าวาดลายเส้นรูปช้างบังสลับกัน มองผ่านซ้อนภาพเลือนมัว และยังคงมีตัวอักษรประกอบ

ผลงานที่ปรากฏไม่ได้เป็นเพียงรูปแบบ แต่ยังบอกการติดข้องในสภาวะจิตของศิลปิน การเพ่งพินิจพิจารณาความเป็นตัวเอง แสดงออกผ่านภูมิปัญญาและประสบการณ์ที่สั่งสม งานศิลปะของ ภาพตะวัน สุวรรณกูฏ เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า แบบอย่างของศิลปะแบบประเพณียังคงนำมาใช้รองรับประสบการณ์ร่วมสมัยได้อีกหลายเรื่อง ด้วยสุนทรียอารมณ์ที่ยังคงสง่างาม.

[พิมพ์ครั้งแรก; Vote]

วันศุกร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2554

มานิต ศรีวานิชภูมิ : ปรากฏการณ์จิตเภทในสังคมบริโภคภาพลักษณ์

ท้าและทาย : ปรากฏการณ์ มานิต ศรีวานิชภูมิ (Manit Sriwanichpoom : Phenomena & Prophecies) / แกลเลอรี่ g23 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 23 เมษายน – 26 มิถุนายน 2554

“Horror in Pink # 3”  ปี 2544, 120x160 ซม.

[“Horror in Pink # 3” ปี 2544, 120x160 ซม.]

หากนึกถึงช่างภาพที่มีบทบาทในปริมณฑลของศิลปะร่วมสมัย สร้างงานซึ่งเป็นที่ยอมรับ และเป็นที่จดจำในฐานะภาพแทนของปรากฏการณ์ทางสังคม นามของ มานิต ศรีวานิชภูมิ ต้องอยู่ในอันดับต้นๆ

เขามีชื่อเสียงมาก่อนในฐานะช่างภาพอาชีพ มีผลงานโดดเด่นในการถ่ายภาพสารคดี ความสนใจและแนวคิดออกไปทางปัญญาชน สนใจปัญหาสังคมและการเมืองในเชิงโครงสร้าง

เขาเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่ม “อุกกาบาต” ซึ่งทำกิจกรรมทางศิลปะในรูปแบบอิสระนอกกรอบเกณฑ์ ด้วยความคิดที่แหลมคมในการบริภาษสังคมอันเสื่อมทราม ท่าทีเสียดสีล้อเลียน และการนำเสนอที่กระตุ้นเร้ารุนแรง เหมือนการพุ่งชนของอุกกาบาต

หากเปรียบกลุ่มอุกกาบาตกับบทบาทของกลุ่มดาดาหรือเซอร์เรียลิสม์ในยุโรปตอนหลังสงครามโลกทั้งสองครั้ง มานิต ศรีวานิชภูมิ คงเปรียบได้กับ แมน เรย์ ช่างภาพประจำกลุ่มและศิลปินคนสำคัญ

มานิตสร้างชื่อในฐานะศิลปินเต็มตัว จากผลงานภาพถ่ายชุด “สงครามไร้เลือด” (This Bloodless War) และ “พิงค์แมน” (Pink Man) ปี 2540 อันเป็นปฏิกิริยาต่อปรากฏการณ์ในสังคมไทยภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวอย่างเปราะบางของเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัตน์

มานิตบริภาษสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยการเปรียบเทียบกับสงคราม เป็นสงครามที่ไร้เลือด เห็นเพียงความรุนแรงทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อผู้คนไม่น้อย เขาหยิบยืมภาพข่าวที่คุ้นตาจากสงครามในภูมิภาคอินโดจีน นำมาล้อเลียนด้วยการจัดองค์ประกอบของภาพและท่วงท่าของตัวแบบให้ละม้ายเหมือน ต่างกันที่เครื่องแต่งกายและฉากหลังซึ่งต้องการเสียดสีสังคมทุนนิยม เช่น ภาพเด็กๆ และชาวบ้านพากันวิ่งร่ำไห้หนีระเบิดในเวียดนาม เขาก็นำมาล้อด้วยภาพพนักงานออฟฟิศพากันวิ่งร่ำไห้ไปตามทางรถไฟ โดยมีฉากหลังเป็นตอม่อของโครงการรถไฟลอยฟ้าที่สร้างไม่เสร็จ หรือภาพการสังหารกลางเมืองในกัมพูชา เขาก็นำมาล้อด้วยภาพชายสวมสูทกำลังสังหารชายที่ไม่มีทางสู้ผู้หนึ่งอยู่ข้างถนนในกรุงเทพฯ

เป็นความเปรียบที่เข้าใจง่าย กระทบใจได้ทันที เขายังจัดแสดงงานชุดนี้ด้วยการให้เพื่อนศิลปินแต่งชุดเสื้อคลุมสีขาวพร้อมผ้าปิดปาก เดินเรียงแถวถือกรอบภาพไปตามที่ชุมนุมชน เป็นที่แปลกใจแก่ผู้พบเห็น

เขายังเสียดสีผู้คนในสังคมบริโภคด้วยการสร้างตัวละครพิงค์แมนขึ้นมา โดยให้กวีอย่าง สมพงศ์ ทวี’ เป็นตัวแบบ แต่งชุดสูทสีชมพูทั้งตัว และเดินเข็นรถเข็นสีชมพูไปตามสถานที่ต่างๆ อันเป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมบริโภค ด้วยใบหน้าที่ไม่สนใจไยดีอะไรนัก บ้างก็ทำท่าทีเย้ยหยัน หรืออ่านบทกวีที่ไม่มีใครสนใจฟัง

ต่อมาพิงค์แมนก็เป็นตัวละครคู่ขวัญของมานิต ซึ่งร่วมกันเสียดเย้ยสังคมในอีกหลายเรื่อง

มานิตยังคงถ่ายภาพในแนวทางสะท้อนสังคมสม่ำเสมอ และหันมาทำกิจกรรมส่งเสริมคุณค่าของศิลปะภาพถ่าย อย่างทำแกลเลอรี่แสดงงานภาพถ่ายโดยเฉพาะ งานนิทรรศการ “Phenomena & Prophecies” เป็นการแสดงผลงานย้อนหลังของเขา ซึ่งคัดสรรมาเฉพาะงานที่เป็นปรากฏการณ์สำคัญทางสังคมและการเมือง

เริ่มตั้งแต่งานภาพถ่ายและวีดิโอชุด “สงครามไร้เลือด” ที่ยังคงรุนแรงในความรู้สึก แม้อาจจะลืมเลือนที่มาในยุคสมัยนั้นแล้วก็ตาม เพราะความโหดร้ายของทุนนิยมยังอยู่ในสำนึกของผู้คนเสมอ

งานภาพถ่ายและวีดิโอชุด “พิงค์แมน” ก็ยังคงมีพลังในการเสียดเย้ย และเมื่อพิงค์แมนเข้าไปปรากฏตัวอยู่ในภาพข่าวเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองในงานชุด “ปีศาจสีชมพู” (Horror in Pink) ปี 2544 มันก็ยิ่งสร้างความรู้สึกพิพักพิพ่วน ด้วยสีหน้าท่าทางเหมือนเข้าไปเที่ยวชมบริโภคประวัติศาสตร์เหล่านั้น และสะอกสะใจไปกับความรุนแรงที่พบเห็น

จากการเป็นภาพแทนเสียดเย้ยวัฒนธรรมบริโภคนิยม พิงค์แมนขยับมาเป็นภาพแทนวัฒนธรรมอำนาจนิยมในสังคมไทยได้อย่างเหมาะเจาะ ผ่านการเสียดสีความเป็นชาติในงานชุด “Pink, White & Blue” ปี 2548 เป็นภาพพิงค์แมนทำท่าแสนซาบซึ้งและแสนภูมิอกภูมิใจกับธงชาติ พิงค์แมนเข้าไปอยู่ในห้องเรียนและเป็นหัวแถวนักเรียนในชุดลูกเสือโบกธงชาติ นอกจากนี้ยังมีภาพพิงค์แมนนั่งบนเก้าอี้ใช้มือปิดตานักเรียนที่คุกเข่าถือธงชาติอยู่ข้างตัว

และใกล้ๆ กันนั้นก็คืองานชุด “Embryonia” ปี 2550 เป็นภาพเด็กนักเรียนถูกมัดมือมัดเท้านอนอยู่บนผ้าสีแดง สีขาว และสีน้ำเงิน ซึ่งมานิตแจ้งว่าได้จัดท่วงท่าเลียนอย่างภาพลูกแกะที่ถูกมัดนอนอยู่บนแท่นบูชาในภาพเขียนสีน้ำมันของศิลปินสเปน

อีกฟากหนึ่งของห้องแสดงงาน เป็นงานที่มานิตถ่ายในปี 2549 ทั้งหมด และล้วนเป็นภาพขาวดำไร้สีสัน เห็นเพียงอากัปกิริยาของบุคคลในภาพอย่างตรงไปตรงมา ประกอบด้วยงานชุด “Waiting for the King (Standing)” และ “Waiting for the King (Sitting)” เป็นภาพประชาชนที่มารอต้อนรับขบวนเสด็จ งานชุด “Liberators of the Nation” เป็นภาพประชาชนที่มาร่วมชุมนุมทางการเมือง และงานชุด “Coup d’etat Photo Op” เป็นภาพประชาชนที่มาถ่ายรูปกับทหารและรถถังหลังรัฐประหาร

งานทั้งหมดนี้มานิตไม่ได้แต่งเติมหรือชี้นำความคิดใดๆ เพียงแสดงภาพอย่างที่เป็น และปล่อยให้ความจริงอย่างที่ปรากฏบอกเล่าตัวมันเอง

ต่างจากงานชุด “Pink Man Opera” ปี 2552 ที่เขาให้พิงค์แมนไปปรากฏบนโรงลิเก แสดงท่วงท่าร่วมกับตัวแสดงลิเกเพื่อเสียดสีสังคมและการเมือง สะท้อนวัฒนธรรมอำนาจนิยมในสังคมไทยได้อย่างถึงแก่น ผ่านจินตภาพของการประดับประดาตกแต่งแพรวพราวในการแสดงลิเกนั่นเอง และดูเหมือนว่าชุดสีชมพูและท่าทีอวดโอ้โอ่อ่าของพิงค์แมนจะเหมาะกับเวทีลิเกมาก

มานิตใช้ภาพถ่ายเป็นสื่อในการแสดงความคิดของเขา และเล่นล้อกับภาพลักษณ์ในสังคมเพื่อเยาะหยันค่านิยมของชนชั้นกลาง ตลอดจนเสียดเย้ยโครงสร้างอำนาจในสังคม ภาพถ่ายเป็นสื่อที่เหมาะในการเล่นกับความจริงและความหมายแฝง เพราะคุณสมบัติในการบันทึกความเป็นจริงตามที่ตาเห็น

มานิตหยิบยืมและผสมผสานรูปลักษณ์ที่มักคุ้นเข้ากับความหมายใหม่เพื่อแสดงอาการป่วยไข้ของสังคม ทั้งเผยออกมาแบบเกินจริงผ่านจินตภาพที่ผิดเพี้ยนโฉ่งฉ่าง และปล่อยให้ความจริงแสดงตัวออกมาเองอย่างเงียบงัน โดยเขาเป็นเพียงผู้บันทึก

เหมือนจะบอกว่า หากไม่ยอมรับกันเสียก่อนว่ามีปัญหา ก็ยากที่จะรักษาได้สำเร็จ.

[พิมพ์ครั้งแรก: Vote]