วันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ทำเงินจากปัญญา

เศรษฐกิจสร้างสรรค์ : เขามั่งคั่งจากความคิดกันอย่างไร (The Creative Economy : How People Make Money from Ideas) / จอห์น ฮาวกินส์ (John Howkins) – เขียน / คุณากร วาณิชย์วิรุฬห์ – แปล / ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC), พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2552

เศรษฐกิจสร้างสรรค์ : เขามั่งคั่งจากความคิดกันอย่างไร (The Creative Economy : How People Make Money from Ideas) / จอห์น ฮาวกินส์ (John Howkins) – เขียน / คุณากร วาณิชย์วิรุฬห์ – แปล

ระบบเศรษฐกิจแบบต่างๆ เกิดขึ้นมาเพื่อจัดสรรทรัพยากรและความสัมพันธ์ทางการผลิตให้สนองต่อความต้องการของคนในสังคมได้อย่างลงตัว เมื่อสังคมมีความเปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไขปัจจัยนานาประการอยู่ตลอดเวลา ระบบเศรษฐกิจก็ต้องมีการพัฒนาปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ จนเรียกได้ว่าไม่มีรูปแบบใดที่สมบูรณ์

ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมพัฒนาและคลี่คลายมาโดยตลอด จนนำความเจริญมั่งคั่งมาสู่มนุษย์ในทุกๆ ด้านของชีวิต ด้วยหลักการที่ยอมรับในธรรมชาติความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ขณะที่ระบบเศรษฐกิจแบบอื่นซึ่งปฏิเสธความต้องการเช่นนั้นมักจะขาดแรงจูงใจในการสร้างสรรค์ความก้าวหน้าให้ตนเอง

แต่ทุนนิยมก็มีข้อบกพร่องในตัวมันเองอย่างมาก โดยเฉพาะการควบคุมความต้องการที่ไม่สิ้นสุด ความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงทรัพยากร และความซับซ้อนของระบบที่ซุกซ่อนสารพัดปัญหาไว้ภายใต้กติกาที่ทุกคนยอมรับ จนทุนนิยมกลายเป็นภัยคุกคามความอยู่รอดของมนุษยชาติเสียเอง เมื่อมันเป็นเสมือนเครื่องจักรที่เขมือบกลืนทุกอย่างโดยไร้การควบคุม จนโลกเสียสมดุลทั้งสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและสังคม

การปรับเปลี่ยนในระดับโครงสร้างก็ทำได้ลำบาก เพราะยากจะอธิบายให้คนทั่วไปเข้าใจและมองเห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องไกลตัว คนที่มีโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรจึงไม่ค่อยตระหนักถึงปัญหา และหลายเรื่องก็ต้องรอให้ปัญหาต่างๆ สะสมเงื่อนไขจนกลายเป็นวิกฤตที่กระทบถึงกันทั้งหมดเสียก่อน

กระนั้นทุนนิยมก็ยังปรับตัวอยู่เสมอ แม้จะเป็นการปรับตัวเพื่อการทำมาหากินก็ตาม แต่บางอย่างก็เป็นแนวโน้มที่ดีมากกว่าเสีย และอาจจะเป็นช่องทางในการใส่เนื้อหาใหม่ๆ ลงไปได้อย่างคาดไม่ถึง

หนังสือ “เศรษฐกิจสร้างสรรค์ : เขามั่งคั่งจากความคิดกันอย่างไร” (The Creative Economy : How People Make Money from Ideas) ของ จอห์น ฮาวกินส์ (John Howkins) เป็นกรณีศึกษาของการปรับเปลี่ยนช่องทางทำมาหากินจากเศรษฐกิจอุตสาหกรรมมาเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จากตัวอย่างในหลายๆ ประเทศ ซึ่งบางแห่งถึงกับยกเป็นนโยบายหลักของยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศด้วยซ้ำ

เบื้องต้นย่อมมาจากความอิ่มตัวของการสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของคนในสังคมนั้น ตามธรรมดาของคนที่พึงพอใจในความต้องการทางกายภาพแล้ว ย่อมต้องการความพึงพอใจในระดับอารมณ์และจิตวิญญาณ นอกเหนือจากนั้นก็เป็นหมากบังคับของแนวโน้มทางเศรษฐกิจ เนื่องจากตัวแบบทางธุรกิจแบบเดิมเริ่มเสื่อมถอย ทรัพยากรธรรมชาติก็ร่อยหลอจนถึงขั้นต้องฟื้นฟูกันแล้ว เพราะฉะนั้นจึงต้องมองหาเศรษฐกิจใหม่มาทดแทน

ประเทศมหาอำนาจค้นพบว่าสิ่งที่เป็นนามธรรมอย่างทรัพย์สินทางปัญญาก็มีมูลค่ามหาศาลไม่แพ้สินค้าที่เป็นวัตถุจับต้องได้เหมือนกัน หรือเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารก็เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ผลิตสินค้าหรือบริการที่แปลกใหม่เสนอแก่ตลาด อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจสร้างสรรค์นั้นต้องถือว่ายังเยาว์อยู่มาก อย่างน้อยที่ปรากฏเป็นนโยบายก็เพียง 10 กว่าปีเท่านั้น ยังต้องเฝ้าสังเกตทั้งโอกาสและปัญหาในปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างความเปลี่ยนแปลง

จอห์น ฮาวกินส์ เป็นผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ระดับโลกในฐานะที่ปรึกษา เขาจึงมีประสบการณ์ตรงเป็นข้อมูลพื้นฐานของการวิเคราะห์ อย่างน้อยเขาก็มองเห็นในระดับส่วนตัวว่ามันเป็นธุรกิจที่สนุกและทำเงิน และคงไม่แปลกที่เขาจะเริ่มต้นบทแรกๆ ของหนังสือด้วยแง่มุมทางกฎหมายและการนิยามอันชวนปวดหัว เรื่องยุ่งๆ ของทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งเป็นนามธรรม ไม่ใช่ของที่จับต้องได้เหมือนทรัพย์สินอย่างอื่น ไม่ว่าจะเป็น “ลิขสิทธิ์” (copyright) “สิทธิบัตร” (patent) “เครื่องหมายการค้า” (trademark) หรือ “แบบผลิตภัณฑ์” (design) ล้วนต้องกำหนดขอบเขตความหมายให้ดีว่าครอบคลุมแค่ไหน ขณะที่ธรรมชาติของการสร้างสรรค์หลายๆ อย่างก็ไม่ค่อยอยู่ในกรอบที่แน่นอน

เพราะหากระบบทุนนิยมพัฒนาตัวเองขึ้นมาได้ด้วยกฎหมายรับรองทรัพย์สินส่วนบุคคล ทำให้เกิดการสะสมทุนและการแข่งขันกัน การรับรองและคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในทางกฎหมายก็จะทำให้เกิดแรงจูงใจในการสร้างสรรค์มากขึ้น ดังประเทศพัฒนาแล้วจะเกิดสินค้าที่เป็นนวัตกรรมใหม่จำนวนมาก เพราะคนที่ทำงานสร้างสรรค์ได้รับการคุ้มครองในสิทธิเหนือผลงานของตน และได้รับผลประโยชน์เต็มความสามารถ ขณะที่สังคมซึ่งขาดนวัตกรรมมักจะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับคุณค่าทางปัญญาเท่าใดนัก

ส่วนที่เหลือของหนังสือก็จะว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างการสร้างสรรค์กับเศรษฐศาสตร์ นับตั้งแต่การควานหาว่าอะไรคือธรรมชาติของการสร้างสรรค์ อะไรคือคุณลักษณะของผู้สร้างสรรค์ และกระบวนการของการสร้างสรรค์เป็นอย่างไรบ้าง

เขาสรุปคุณลักษณะของผู้สร้างสรรค์ไว้ 6 ประการ คือ (1) มีใจเปิดกว้าง (2) มีความคิดอิสระ (3) ไม่เกรงกลัวการเปลี่ยนแปลง (4) ท้าทายกับที่ว่างและต้องการเติมบางสิ่งบางอย่าง (5) มีอารมณ์ขัน และ (6) ชอบแข่งขันและมีจุดมุ่งหมาย

การสร้างสรรค์เปล่าๆ อาจไม่ก่อมูลค่าใดเลย เศรษฐกิจสร้างสรรค์จะสมบูรณ์ต้องทำเงินได้ด้วย ดังที่ จอห์น ฮาวกินส์ เขียนเป็นสูตรไว้ว่า CE = CPxT หรือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CE) มีค่าเท่ากับมูลค่าของผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ (CP) คูณด้วยจำนวนการซื้อขาย (T)

เขาให้ข้อมูลคร่าวๆ เกี่ยวกับทิศทางในระดับโลกของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่สำคัญ 15 ประเภท คือ การโฆษณา สถาปัตยกรรม ศิลปะ หัตถกรรม งานออกแบบ แฟชั่น ภาพยนตร์ ดนตรี ศิลปะการแสดง การพิมพ์ การวิจัยและพัฒนา ซอฟต์แวร์ ของเล่นและเกม โทรทัศน์และวิทยุ และวิดีโอเกม โดยชี้ให้เห็นถึงความถดถอยและการเติบโต อันขึ้นอยู่กับตัวแบบทางธุรกิจแต่ละประเภทว่าจะสามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่ได้ดีเพียงใด ความสำเร็จย่อมอยู่ที่การสร้างเรื่องราวขึ้นมาใหม่ให้ตรงต่อความต้องการในสังคม

หรือตามแนวโน้มดังที่ จอห์น เพอร์รี บาร์โลว์ แห่งวง Grateful Dead และผู้ก่อตั้งมูลนิธิ Electronic Frontier เห็นว่า “เศรษฐกิจในอนาคตจะอิงอยู่กับความสัมพันธ์มากกว่าการครอบครอง” หรือที่ เจเรมี ริฟกิน เห็นว่า “ความเป็นเจ้าของกำลังถูกแทนที่ด้วยการเข้าถึง คำถามสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าใครเป็นเจ้าของอะไร แต่อยู่ที่ใครเข้าถึงมัน ใครสามารถใช้มัน” (หน้า 55)

แต่ก็ไม่ง่ายเลย เพราะเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในปัจจุบันยังคงเติบโตอยู่ภายใต้โครงสร้างเดิมนั่นเอง และต้องใช้เวลาปรับเปลี่ยนอีกมาก อย่างน้อยช่วงแรกก็ต้องหลอกล่อด้วยภาษาผลประโยชน์ให้ตาโตกันเสียก่อน แต่หากคิดจะใส่เนื้อหาที่สร้างสรรค์ลงไปก็คงต้องมองให้ไกลกว่านั้น.

[พิมพ์ครั้งแรก: Vote]