วันพุธที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2551

คามิน เลิศชัยประเสริฐ : ศิลปินและศิลปะแห่ง “ปี”

คามิน เลิศชัยประเสริฐ, “นั่ง (เงิน) 2547-2549”, ประติมากรรมกระดาษจากเศษธนบัตร

คามิน เลิศชัยประเสริฐ, “นั่ง (เงิน) 2547-2549”, ประติมากรรมกระดาษจากเศษธนบัตร

คามิน เลิศชัยประเสริฐ, “นั่ง (เงิน) 2547-2549”, ประติมากรรมกระดาษจากเศษธนบัตร

[คามิน เลิศชัยประเสริฐ, “นั่ง (เงิน) 2547-2549”, ประติมากรรมกระดาษจากเศษธนบัตร, จัดแสดงที่หอศิลป์ตาดู ระหว่างวันที่ 21 ธันวาคม 2549 – 24 กุมภาพันธ์ 2550 (ภาพจาก www.fineart-magazine.com)]

นิตยสาร Fine Art ก้าวเข้าสู่ปีที่ 5 และจัดกิจกรรมรางวัล Fine Art Award : Artist of the Year 2007 ขึ้นเป็นปีแรก เพื่อประกาศเชิดชูเกียรติแก่ศิลปินไทยผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปกรรมยอดเยี่ยมประจำปี พ.ศ. 2550 โดยคัดเลือกจากศิลปินที่แสดงนิทรรศการศิลปะเดี่ยว (Solo Exhibition) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2550 – 31 ธันวาคม พ.ศ. 2550 และศิลปินที่ได้รับเลือกให้เป็น “ศิลปินแห่งปี” คนแรกก็คือ คามิน เลิศชัยประเสริฐ จากผลงานชุด “นั่ง (เงิน) 2547-2549” (Sitting (Money) 2004-2006) ซึ่งจัดขึ้นที่หอศิลป์ตาดูเมื่อตอนต้นปีที่แล้ว และงานชุด “ชีวิตทุกวัน” (Life Everyday) ซึ่งจัดขึ้นที่ถังแกลเลอรี่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา

เคยมีคนพยายามทำนิตยสารเกี่ยวกับศิลปะโดยเฉพาะอยู่หลายครั้ง แต่ทำได้ไม่กี่ฉบับก็มีอันต้องล้มเลิกไปเสียก่อน เพราะยากที่จะยืนอยู่ได้ด้วยผลตอบรับทางเศรษฐกิจ Fine Art ก้าวมาได้ไกลขนาดนี้ต้องถือว่าเข้มแข็งไม่น้อย อาจเพราะเนื้อหาที่ Fine Art เลือกนำเสนอยังคงเป็นตลาดศิลปะกระแสหลักระดับพื้นฐานในบ้านเรา หากเทียบกับนิตยสารเกี่ยวกับศิลปะอีกเล่มคือ Free Form จะเห็นว่า Free Form เลือกเล่นกับเรื่องนอกกระแสมากกว่า ซึ่งจำกัดกลุ่มคนอ่านลงไปด้วย แต่ก็จำเป็นทั้ง 2 แนวทาง สำหรับการทำหน้าที่เป็นสื่อกลางของศิลปะร่วมสมัยกับสังคมในวงกว้าง แม้ยังขาดการประเมินคุณค่าทั้งในภาพรวมและด้านลึก แต่นั่นก็เป็นงานอีกส่วนหนึ่งที่ต้องเสริมขึ้นมาในลักษณะอื่น

การให้รางวัลก็เป็นวิธีหนึ่งในการประเมินคุณค่าของผลงานหรือผู้สร้าง รางวัล Artist of the Year ของนิตยสาร Fine Art จึงเป็นการเติมเต็มให้เห็นภาพรวมของศิลปะร่วมสมัยในบ้านเราอย่างครบถ้วนมากขึ้น เพราะไม่ใช่การส่งประกวดงานศิลปกรรม ซึ่งเป็นเสมือนเวทีแจ้งเกิดของศิลปินรุ่นใหม่ไปแล้ว หรือไม่ใช่การประเมินผลงานที่ผ่านมาของศิลปิน อย่างรางวัลศิลปินแห่งชาติ และรางวัลศิลปาธร แต่เป็นการสำรวจจากศิลปินที่ยังทำงานอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งน่าจะเป็นชีพจรหลักของศิลปะร่วมสมัยที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ด้วยซ้ำ และนิตยสาร Fine Art ก็มีความเหมาะสม เพราะทำหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลและติดตามข่าวสารที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด

ด้วยความสำคัญอันนี้จึงน่าจะขยายความให้รับรู้ร่วมกันมากขึ้น แทนที่จะเป็นข่าวแค่ในแวดวงจำกัดเท่านั้น

หากพิจารณาจากข้อมูลของการแสดงนิทรรศการศิลปะในรอบปีที่ผ่านมา จะพบว่าโดยรวมยังไม่ขยับเขยื้อนไปจากเดิมมากนัก อาจจะมีการเคลื่อนไหวของศิลปินหัวก้าวหน้าอยู่บ้าง และแกลเลอรี่หลายแห่งก็พยายามสร้างพื้นที่หรือตลาดใหม่ๆ ขึ้นมา แต่ยังไม่ก่อแรงกระเพื่อมชัดเจน จนกว่าจะสะสมปริมาณและคุณภาพอย่างต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง จำนวนของศิลปินที่พอจะสร้างงานอย่างมีพลังโดดเด่นก็นับได้ไม่กี่นิ้วมือ

มองอย่างติดตลก คงไม่มีใครเหมาะสมกับรางวัลศิลปินและศิลปะแห่ง “ปี” เท่า คามิน เลิศชัยประเสริฐ อีกแล้ว เพราะเขาชอบทำงานเป็นชุดโดยกำหนดเวลา 1 ปีเป็นกรอบ นับตั้งแต่งานชุด “เวลาและประสบการณ์” ซึ่งเขาทำขึ้นในปี พ.ศ. 2533 (ปี ค.ศ. 1990) ขณะกำลังศึกษาต่ออยู่ที่นิวยอร์ก และนำมาจัดแสดงย้อนหลังในอีก 10 ปีให้หลัง คือปี พ.ศ. 2543 งานชุดนั้นเป็นการค้นหาความหมายของชีวิตและศิลปะ ด้วยการละเลงสีลงบนกรอบผ้าใบขนาดเท่ากันทุกวัน พร้อมกับเขียนตัวเลขไทยกำกับลำดับ ตั้งแต่วันที่ 1 จนถึง 365 และยังนำสีที่เหลือในแต่ละวันมาพิมพ์ฝ่าเท้าประทับลงบนกระดาษ พร้อมกับเขียนตัวเลขไทยกำกับลำดับวันเช่นกัน ผลสำเร็จทั้งหมดคือภาพสะท้อนตัวตนของเขาในช่วงเวลาหนึ่ง

ต่อมาคามินใช้กรอบเวลา 1 ปีเป็นเงื่อนไขในการสร้างงานอีกหลายครั้ง อย่างงานชุด “ปัญหา ปัญญา” (ปี พ.ศ. 2536-2538) เขานำหนังสือพิมพ์ในแต่ละวันมาทำประติมากรรมกระดาษขนาดเล็ก เป็นรูปอุปมาอุปไมยจากการใช้ “ปัญญา” ขบคิดถึง “ปัญหา” ในวันนั้นๆ ทั้งปัญหาสังคมและปัญหาส่วนตัว จนครบ 365 วัน

หรืองานชุด “ธรรมดา-ธรรมชาติ” (ปี พ.ศ. 2538) เขาวาดเส้นด้วยดินสอดำบนกระดาษเป็นตัวอักษรและภาพ บันทึกความคิดจากการพิจารณาชีวิตในแต่ละวันด้วยหลักธรรมของพุทธศาสนา

จนมาถึงงานชุด “นั่ง (เงิน)” และ “ชีวิตทุกวัน” เขาก็ยังคงใช้งานวาดเส้นบันทึกความคิดและประสบการณ์ของแต่ละวันใน 1 ปีมาเป็นภาพร่าง สำหรับสร้างงานประติมากรรมกระดาษจากเศษธนบัตรที่ป่นทิ้งแล้ว และงานประติมากรรมแกะสลักไม้จากต้นลำไยแก่ที่ล้มอยู่ในสวนของเขา

สำนึกเรื่องเวลาในงานของคามินอาจเริ่มจากการเป็นแค่กรอบในการทำงาน เหมือนขอบเขตของกรอบภาพ แต่ต่อมาเวลาก็กลายเป็นวัตถุทางศิลปะในงานของเขา ความงามไม่ได้อยู่ที่ตัวงานแต่ละชิ้นเท่านั้น แต่ความงามคือทั้งหมดของความเพียรพยายามทำงานอย่างต่อเนื่องทุกวันๆ จนครบปีที่กำหนด และเมื่อเขาหันมาสนใจหลักธรรมทางศาสนา เวลาในงานของเขาก็มีน้ำหนักของปรัชญาและธรรมะมากขึ้น เวลาและการทำงานกลายเป็นเสมือนร่องรอยในการดำรงอยู่ของเขาชั่วขณะหนึ่ง

แม้จะใช้เวลา 1 ปีเหมือนกัน งานแต่ละชุดของคามินก็มีความต่างและความต่อเนื่องที่หลากหลายในรายละเอียด ตามอุปนิสัยที่ไม่เคยหยุดนิ่งของเขา ซึ่งแสดงให้เห็นตั้งแต่ครั้งยังเป็นศิลปินรุ่นเยาว์

คามินสร้างชื่อให้ตัวเองตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร ด้วยงานภาพถ่าย และภาพพิมพ์โลหะ ซึ่งคว้ารางวัลตามเวทีประกวดต่างๆ หลายแห่ง งานของเขามีลักษณะแหกคอกออกจากศิลปินในรุ่นเดียวกัน ตรงที่เริ่มมีเนื้อหาบอกเล่าความรู้สึกนึกคิดของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา ขณะที่ตอนนั้นกระแสของความงามทางองค์ประกอบศิลป์ยังเป็นรูปแบบที่นิยมกันอยู่ตามเวทีประกวด แต่การบอกเล่าเนื้อหาโดยที่รูปแบบไม่ได้สื่อสารด้วยพลังของตัวมันเองอย่างโดดเด่นเพียงพอ ทำให้งานของเขาออกไปทางภาพประกอบเรื่องมากกว่า ข้อด้อยนี้มักจะเห็นในช่วงที่เขากำลังคลี่คลายความคิดและยังไม่ตกผลึกมากพอ

งานที่สมบูรณ์ทั้งรูปแบบและเนื้อหาในช่วงแรกของคามินคือภาพพิมพ์โลหะชุด “เจ็บปวด” (Suffering) ซึ่งได้รางวัลเกียรตินิยมอันดับ 2 เหรียญเงิน จากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 32 ปี พ.ศ. 2528 เขาใช้เทคนิค Photo Etching ถ่ายทอดความรู้สึกเจ็บปวดทุกข์ทรมาน ด้วยภาพถ่ายร่างกายของคนในท่าบิดเกร็ง ผสมกับวัตถุผุกร่อนและร่องรอยขูดขีดที่เกิดจากกระบวนการกัดกรดบนแม่พิมพ์โลหะ

หลังจากนั้นเขาก็เสียดสีความเป็นมนุษย์ด้วยภาพพิมพ์โลหะในชุดที่ใช้ลิงเป็นสื่อ

ระหว่างที่กำลังศึกษาอยู่ในนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา คามินเริ่มมีความมั่นใจมากขึ้นในการละจากรูปแบบและวิธีการซึ่งศิลปินไทยส่วนใหญ่มักจะยึดติดกัน แล้วใช้แนวความคิด (concept) เป็นแกนกลางแทน เพื่อแตกแขนงรูปแบบและวิธีการออกไปอย่างไม่จำกัด

เช่น เมื่ออยู่ท่ามกลางคนต่างชาติต่างภาษา เขาก็ตอบโจทย์เรื่องความเป็นไทยในยุคโลกาภิวัฒน์ ด้วยการนำเอาตัวอักษรในภาษาไทยจากพยัญชนะทั้ง 44 ตัวมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างงาน จนกลายเป็นงานชุด “ก เอ๋ย ก ไก่” (ปี พ.ศ. 2534) ซึ่งเขากำหนดพยัญชนะแต่ละตัวลงบนกรอบผ้าใบขนาดเท่ากัน และละเลงสีตามความรู้สึกที่สัมพันธ์กับพยัญชนะตัวนั้น แล้วก็เอาสีมาพิมพ์มือลงบนกระดาษตามพยัญชนะเช่นกัน หรือประทับลงบนภาพพิมพ์โลหะชุดลิงในงานชื่อ “บทสนทนาภาษาไทย” (Thai Dialogue) นอกจากนี้เขายังทำประติมากรรมดินเผาตามพยัญชนะทั้ง 44 ตัวด้วย อันเป็นจุดเริ่มต้นของการทำประติมากรรมขนาดเล็กเป็นชุดๆ

จากนั้นเขาอาศัยลีลาการเขียนอักขระไทยเล่นตวัดหางสร้างลายเส้นเฉพาะตัวของคามินขึ้นมา ทั้งทำเป็นบทกวี และประกอบภาพอื่นๆ ขณะที่การตอบโจทย์เรื่องความเป็นไทยของเขาไล่เรียงไปสู่ประเด็นทางสังคมมากขึ้น ดังปรากฏในภาพถ่ายชุด “นิราศไทยแลนด์” (ปี พ.ศ. 2535) ซึ่งเขาบันทึกภาพสังคมไทยในปัจจุบันตามความเป็นจริง ด้วยมุมมองที่เห็นถึงความอิหลักอิเหลื่อทางวัฒนธรรมหลายอย่าง พร้อมกับนำรองเท้าแตะที่สวมไปถ่ายภาพตามที่ต่างๆ มาแกะพื้นเป็นภาพพิมพ์ยาง ประทับชื่อของตัวเองลงไปบนงานด้วย

และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2535 มีผลต่อความคิดเชิงสังคมของคามินไม่น้อย ทำให้เขาต้องไล่เรียงถึงที่มาของปัญหาต่างๆ ในสังคมไทยด้วย และสำนึกดังกล่าวก็ยังมีให้เห็นอยู่ในงานของเขาจนถึงปัจจุบัน

ขณะที่ปัญหาเรื่องตัวตนของปัจเจกยังเป็นโจทย์สำคัญที่เขาทำพร้อมกันมาโดยตลอด เพราะฉะนั้นอีกด้านหนึ่งเขาจึงหันไปสนใจศิลปะบำบัดทางจิตวิทยา แล้วทำงานวาดเส้นด้วยจิตบริสุทธิ์คล้ายศิลปะเด็กออกมาเป็นจำนวนมาก นัยว่าเพื่อบำบัดจิตของตัวเอง

เช่นเดียวกับการตั้งคำถามถึงความหมายของศิลปะ ครั้งที่ฮือฮาที่สุดคือตอนที่เขาถ่ายเอกสารเกียรติประวัติของตัวเองเอาไปใส่กรอบทองอย่างหรูหรา แล้วเขียนตัวอักษรเป็นลายเส้นลงไปว่า “ผมอยากได้รางวัลเหรียญทองแห่งชาติบ้างครับ” และส่งไปร่วมประกวดในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ

การหมกมุ่นครุ่นคิดเรื่องความทุกข์ของตัวตนและสังคมย่อมโน้มนำให้เขาหันมาสนใจธรรมะ นับจากปี พ.ศ. 2536 จะเห็นกลิ่นอายจากการศึกษาปรัชญาหรือคำสอนทางพุทธศาสนาอยู่ในตัวงานของเขาเรื่อยมา สำนึกเรื่องเวลาของเขาก็เริ่มมีความหมายออกไปทางปฏิบัติธรรมมากขึ้น การทำงานศิลปะในแต่ละวันเป็นเหมือนการทำสมาธิภาวนาเพื่อสำรวมใจให้เกิดปัญญาเห็นแจ้ง และแน่นอนว่าศิลปะจากพุทธธรรมของเขาย่อมไม่ได้แสดงออกด้วยความงามทางรูปแบบเหมือนศิลปินคนอื่น แต่บอกเล่าเนื้อหาถึงตัวความทุกข์และการดับทุกข์อย่างตรงไปตรงมาอีกเช่นเคย ด้วยภาพพจน์ที่เข้าใจง่าย จากตัวอย่างที่พบเห็นในชีวิตประจำวันของชนชั้นกลาง หรือไม่ก็เขียนถ้อยคำบอกออกมาตรงๆ เลย

จากต้นทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา จะเห็นความพยายามของคามินในการผสมผสานศิลปะเข้ากับการใช้ชีวิตและการปฏิบัติธรรม นอกจากนี้ยังขยับขยายไปสู่ความเป็นชุมชนและกิจกรรมทางสังคมด้วย หลังจากขึ้นไปอยู่ที่เชียงใหม่ และเป็นอาจารย์พิเศษที่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขาจัดตั้ง “อุโมงค์ศิลปะธรรม” ขึ้น เพื่อเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมสาธารณะ และปี พ.ศ. 2541 เขาก็ร่วมกับ ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวณิช ทำโครงการ “ที่นา” (The Land) เพื่อเป็นพื้นที่ทดลองใช้ชีวิตแบบพึ่งพาตนเอง ทำเกษตรกรรมธรรมชาติ พร้อมทั้งประสานการทำงานศิลปะและกิจกรรมทางสังคมเข้าด้วยกัน

เหล่านี้อาจจะเป็นส่วนหนึ่งในการแสวงหาความหมายของชีวิตและศิลปะของศิลปิน หลังจากพัฒนาการของศิลปะบางสายเริ่มปฏิเสธความหมายเดิมในยุคสมัยใหม่แล้วต้องพบกับภาวะสุญญากาศ หากศิลปะไม่ได้เป็นสมบัติของศิลปินในฐานะของปัจเจก หรือสมควรจะคืนศิลปะกลับสู่ชุมชน แล้วศิลปินจะมอบมงกุฎและคทาแห่งอำนาจในการนิยามศิลปะให้แก่ประชาชนอย่างไร ขณะที่ความเข้าใจเรื่องศิลปะในสังคมยังลุ่มๆ ดอนๆ ไม่เสมอกัน

งานชุด “นั่ง (เงิน)” และ “ชีวิตทุกวัน” ของคามิน เป็นผลจากการปฏิบัติอย่างจริงจังมาระยะหนึ่ง ทั้งชีวิต ศิลปะ และธรรมะ การซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกของตัวเองของศิลปินทำให้ความจริงบางด้านปรากฏออกมาเป็นน้ำเสียงเสียดสีเหน็บแนม เพราะชีวิตไม่ได้สมบูรณ์ แต่ยังมีตำหนิที่น่าขำ ศิลปะก็ไม่ได้สูงส่งเลิศเลอ แต่ยังมีความน่าสงสัยในคุณค่าบางประการ หรือแม้แต่ธรรมะที่ว่าดีงามก็อาจจะต้องพลิกกลับไปกลับมาหลายตลบ เพื่อเข้าถึงความดีงามที่แท้จริง มิใช่เพียงเปลือกนอก

งานทั้งสองชุดแตกตัวมาจากงานวาดเส้นที่เขาทำขึ้นทุกวัน จนครบ 1 ปี หรือ 365 วัน เป็นภาพคนนั่งสมาธิเหมือนกันทั้งหมด และตัดทอนรูปทรงให้เรียบง่ายบริสุทธิ์จนดูคล้ายศิลปะพื้นบ้าน (Folk Art) รายละเอียดของแต่ละภาพแตกต่างกันไปตามหัวข้อที่ศิลปินเพ่งพิจารณาเป็นอารมณ์ จนเห็นแจ้งตามความเป็นจริงในขณะนั้นๆ มองผิวเผินจะดูคล้ายพระพุทธรูปปางต่างๆ แต่โดยรวมถือเป็นศิลปะประเภทปริศนาธรรม นำธรรมะมาพิจารณาชีวิตและสังคมที่ยังเวียนว่ายอยู่ในวังวนของความทุกข์นานาประการ

วัสดุและวิธีการที่ต่างกันในการทำประติมากรรมขนาดเล็กทั้ง 2 ชุดให้ผลทางสุนทรียะที่ต่างกันด้วย ประติมากรรมกระดาษจากเศษธนบัตรในงานชุด “นั่ง (เงิน)” ให้ความรู้สึกเชิงยั่วแย้งมากกว่า แม้ในอดีตประติมากรรมทางศาสนาจะนิยมสร้างขึ้นจากสิ่งมีค่า อย่างโลหะ หินหายาก อัญมณี หรือแม้แต่ทองคำ และปัจจุบันสิ่งที่มีค่าก็คือเงิน แต่การนำเอาเศษเงินจริงๆ มาทำประติมากรรมที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการพิจารณาชีวิตด้วยธรรมะ ชวนให้คิดไปได้หลายทาง ทั้งในเชิงให้ค่า เยาะหยัน หรือปลงเสียแล้ว

ขณะที่ประติมากรรมแกะสลักไม้ในงานชุด “ชีวิตทุกวัน” ยังเน้นความงามของน้ำพักน้ำแรงในการทำงานแต่ละวันอย่างต่อเนื่อง อาจเพราะกระบวนการแกะสลักไม้ดูเหมือนจะต้องใช้แรงและความเพียรมากกว่า ศิลปินนำภาพวาดเส้นมาจัดแสดงรอบห้องแสดงงาน พร้อมกับประติมากรรมวางเรียงกันเป็นกลุ่มอยู่ตรงกลาง เหมือนต้องการแสดงให้เห็นถึงการแปรรูปจากงานวาดเส้นมาเป็นประติมากรรม ช่องว่างระหว่างนั้นล้วนต้องใช้เวลาและการกระทำซึ่งเป็นส่วนที่คนดูมองไม่เห็นแต่รู้สึกถึง

สำนึกเรื่องเวลาของคามินจึงมีความเข้มข้นหนักแน่นขึ้นอีก ด้วยความหมายที่เต็มเปี่ยมทั้งในการทำงานศิลปะ การใช้ชีวิต และการปฏิบัติธรรม รูปแบบงานของเขาก็มีความสมบูรณ์ลงตัวขึ้นด้วย แม้ยังไม่ทิ้งอุปนิสัยคิดมากและชอบทดลองอย่างไม่หยุดนิ่งเหมือนเคย ดังนั้นจึงถือเป็นตัวอย่างหนึ่งอันน่าชื่นชมของคนทำงานที่สมควรจะได้รับรู้ร่วมกันมากกว่าที่เป็นมา.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น