วันพุธที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2554

พรทวีศักดิ์ ริมสกุล : แปลงรูปใส่จินตนาการ เปลี่ยนปฏิสัมพันธ์เป็นพลังงาน

นิทรรศการ: Hybrid Technology - หั้ยบิด หั้ยกด หั้ยดึง ฯลฯ เทคโนโลยี /ศิลปิน: พรทวีศักดิ์ ริมสกุล /พื้นที่จัดแสดง: 100 ต้นสน แกลเลอรี, 16 ธันวาคม 2553 - 30 มกราคม 2554

“Flower bed” ปี 2547

[“Flower bed” ปี 2547]

(รถไฟจำลองวิ่งวนผ่านหน้าจอโทรทัศน์ที่แสดงภาพดอกไม้ประดับกลางถนนในเมือง บนโครงสร้างเหล็กรูปวงกลมที่แขวนลอยจากพื้น เป็นจินตภาพแทนความรู้สึกต่อชีวิตร่วมสมัย)

ห้องนั่งเล่นจำลองที่ต้องช่วยกันนั่งขย่มโซฟาเพื่อให้เกิดแสงสว่างที่โคมระย้า

(ห้องนั่งเล่นจำลองที่ต้องช่วยกันนั่งขย่มโซฟาเพื่อให้เกิดแสงสว่างที่โคมระย้า)

โคมระย้าจากหัวจ่ายน้ำมัน กระตุ้นเตือนให้นึกถึงที่มาของพลังงาน

(โคมระย้าจากหัวจ่ายน้ำมัน กระตุ้นเตือนให้นึกถึงที่มาของพลังงาน)

รถยนต์พลังคนโยก

รถยนต์พลังคนโยก

(รถยนต์พลังคนโยก)

กาน้ำเดินได้ด้วยพลังมือหมุน แต่ก็ต้องลากแหล่งพลังงานของมันไปด้วยเสมอ

(กาน้ำเดินได้ด้วยพลังมือหมุน แต่ก็ต้องลากแหล่งพลังงานของมันไปด้วยเสมอ)

หมุนแป้นโทรศัพท์ แล้วไฟข้างบนจะติด

(หมุนแป้นโทรศัพท์ แล้วไฟข้างบนจะติด)

หลังจากนิทรรศการเดี่ยวครั้งที่แล้ว “Porntaweesak’s Exhibition” ซึ่งจัดแสดงที่ 100 ต้นสน แกลเลอรี ช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ปี 2549 เขาทิ้งรอยจำไว้ด้วยผลงาน “RGB’ War” ซึ่งนำหมวกเหล็กทหารมาติดล้อ และบังคับด้วยวิทยุ ให้ผู้ชมมีส่วนร่วมด้วยการบังคับหมวกเหล็กทหารให้วิ่งไปมาตามที่ต้องการ เป็นการนำสัญลักษณ์ของอำนาจ การบังคับควบคุม และระเบียบวินัย มาเล่นล้อด้วยการแปลงให้กลายเป็นของเล่นที่สร้างความสนุกสนาน

ชวนให้คิดถึงนัยยะที่สอดคล้องกับสถานการณ์ทางการเมืองในเวลานั้น แม้ว่าในเบื้องต้นน่าจะเป็นการแสดงออกจากแรงกดดันเกี่ยวกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ฝังลึกอยู่ภายในตัวตนของศิลปินเองมากกว่า

มาถึงนิทรรศการเดี่ยวครั้งใหม่ของ พรทวีศักดิ์ ริมสกุล “Hybrid Technology / หั้ยบิด หั้ยกด หั้ยดึง ฯลฯ เทคโนโลยี” เขาเล่นกับประเด็นเรื่องพลังงาน ผสมผสานระหว่างการใช้และกระบวนการผลิตพลังงานเข้าด้วยกัน

อย่างรถยนต์ที่ถอดระบบเครื่องยนต์ออกหมด แล้วติดตั้งคันโยกเข้าไปแทน คนที่เข้าไปนั่งจะต้องช่วยกันโยกคันโยก รถจึงจะเคลื่อนไปข้างหน้า พร้อมกับพัดลม จะช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับแรงคน

เขานำหัวจ่ายน้ำมันมาทำเป็นโคมไฟ เพื่อให้มีนัยประหวัดนึกถึงที่มาของพลังงานอยู่ตลอดเวลา แล้วนำมาประกอบกันเป็นชุดโคมระย้า (chandelier) แขวนประดับไว้เหนือชุดโซฟา และติดตั้งระบบกำเนิดไฟฟ้าไว้ใต้ที่นั่ง คนที่เข้าไปนั่งอยากให้มีแสงสว่างสวยหรูจากโคมไฟก็ต้องช่วยกันออกแรงขย่ม หยุดเมื่อไรไฟก็ดับ

หรือติดตั้งโคมไฟไว้บนที่สูง แล้วโยงสายยาวมาที่เครื่องโทรศัพท์ซึ่งดัดแปลงเป็นที่กำเนิดไฟฟ้า พอหมุนแป้นโทรศัพท์ ไฟที่อยู่ข้างบนก็จะติด

เขายังนำตู้เติมน้ำมันให้รถยนต์มาดัดแปลงเป็นปั๊มน้ำรดต้นไม้ หรือนำงานชุดเก่าคือกาน้ำไดโนเสาร์เดินได้มาติดตั้งระบบแบตเตอรี่มือหมุน ซึ่งมันจะเดินได้เท่าที่ผู้ชมหมุนรอบสะสมไว้เป็นพลังงาน

นับเป็นความชาญฉลาดในการตีประเด็นของศิลปิน เพราะใช้รูปแบบงานประเภท Interactive Installation ซึ่งต้องการปฏิสัมพันธ์ของผู้ชมในการมีส่วนร่วมให้งานแสดงนั้นสมบูรณ์ เชื่อมโยงเข้ากับเรื่องพลังงาน ด้วยการชวนให้ผู้ชมร่วมปฏิบัติและรู้สึกได้ด้วยตัวเอง

ความงามหรือสุนทรียภาพที่ศิลปินนำเสนอในงานชุดนี้จึงไม่ใช่วัตถุที่จัดแสดง แต่เป็นสิ่งที่มองไม่เห็นอย่างพลังงาน และจะสัมผัสหรือรู้สึกถึงได้ด้วยกระทำการที่ผสมผสาน (hybrid) ระหว่างแรงคนและเครื่องกลไก

อันที่จริงรูปแบบและเนื้อหาที่พรทวีศักดิ์นำเสนอไม่ใช่ของใหม่ในวงการศิลปะ แต่การเลือกสรรหรือท่าทีย่อมเป็นประสบการณ์และทักษะของเขาเอง

การใช้วัสดุสำเร็จรูป (ready made) หรือวัสดุเก็บตก (found object) ในการสร้างงานศิลปะมีมานานแล้ว และแตกต่างกันไปตามเจตจำนงของศิลปิน อย่างศิลปินกลุ่มดาดาในยุคบุกเบิก นำวัสดุสำเร็จรูปมาใช้สร้างงานเพื่อต่อต้านศิลปะตามแบบแผนเดิม หรือศิลปินกลุ่มป็อปอาร์ต นำวัสดุสำเร็จรูปมาใช้เพื่อบอกถึงยุคสมัยแห่งรสนิยมมวลชน

หลังจากนั้นก็มีศิลปินมากหน้าหลายตา ทดลองนำข้าวของเครื่องใช้ที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน มาใช้แทนสีหรือวัสดุที่ใช้สร้างงานศิลปะ เพื่อนำเสนอภาพแทนความคิดของตน

จะเห็นศิลปินไทยทดลองทำงานประเภทนี้มาร่วม 20-30 ปีแล้ว ส่วนใหญ่จะรู้จักกันในนามของศิลปะสื่อผสม (mixed media) มีทั้งที่ดำเนินรอยตามอิทธิพลศิลปะร่วมสมัยจากตะวันตก และดัดแปลงด้วยวัสดุหรือวัฒนธรรมพื้นถิ่น มีศิลปินที่ทำงานประเภทนี้จนเป็นที่ยอมรับอยู่หลายคน

พรทวีศักดิ์ ริมสกุล เป็นศิลปินหนุ่มที่สร้างชื่อมาในช่วง 10 ปีหลัง ด้วยลักษณะงานเฉพาะตัวที่เป็นการนำวัตถุในชีวิตสมัยใหม่มาแปลงรูป (transform) ให้เกิดความหมายอีกอย่าง อันสะท้อนตัวตนหรือสังคม ความโดดเด่นของเขาอยู่ที่ท่วงทำนองการนำเสนอ ด้วยการเลือกสรรข้าวของรอบตัวที่ผู้คนรู้สึกคุ้นเคยใกล้ชิด หรือเป็นที่นิยมแก่มวลชน นำมาเปลี่ยนมโนภาพให้เกิดจินตนาการ เล่นล้อในท่าทีที่ไม่จริงจัง หรือมีความสนุกสนานแฝงอารมณ์ขัน แม้นเนื้อสารที่นำเสนอนั้นแหลมคม

ยกตัวอย่างงานชุด “Dinosaur” (ปี 2544) ที่นำกาน้ำมาติดขาของเล่นให้เดินได้ หรือนำหลอดไฟมาเรียงต่อกันเป็นรูปดวงอาทิตย์ในงาน “We will be your light when the sun deserts you” (ปี 2547)

พรทวีศักดิ์เล่นกับสัญญะ (sign) ของวัตถุด้วยการเปลี่ยนประโยชน์ใช้สอยมาสู่ความหมายในอีกบริบทหนึ่ง เพื่อแสดงพุทธิปัญญาหรือกระตุ้นเร้าจินตนาการ แต่ก็ยังคงมโนภาพเชิงซ้อนกับความหมายเดิม เพื่ออ้างอิงกับความคุ้นเคย มิให้หลุดลอยไปเป็นนามธรรมที่ไม่สื่อความหมายใดเลย เพราะเจตจำนงของเขาเป็นการแสดงความสัมพันธ์ตอบโต้กันทางความรู้สึกระหว่างวัตถุกับมนุษย์ มิใช่เป็นการแสดงวัตถุที่ไร้ชีวิต แต่เป็นวัตถุที่แปรเปลี่ยนเป็นงานศิลปะด้วยกระสวนของอาเวค อันเกิดจากการผสมผเสกันของวัสดุ กลวิธี และความหมาย

อาเวค (emotion) หรืออารมณ์ ความรู้สึก และความสะเทือนใจ ทำให้มนุษย์เกิดความสัมพันธ์กับวัตถุ เปรียบเหมือนเด็กที่เล่นกับข้าวของต่างๆ ด้วยการจินตนาการสมมุติให้เป็นสิ่งโน้นสิ่งนั้น กระบวนการแปรรูปวัตถุของพรทวีศักดิ์ก็คล้ายกับการเล่นของเด็ก แต่มิใช่เพื่อความเพลิดเพลินอย่างเดียว มันยังแสดงความวิตกกังวลภายในตัวตนของศิลปินออกมาด้วย ผ่านความสัมพันธ์ในการเล่นกับวัตถุนั้น

อย่างการนำของเล่นและหุ่นจำลองชิ้นเล็กๆ มาประกอบจัดวางเข้ากับเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อสื่อถึงความรู้สึกที่ไม่มั่นคงปลอดภัย เช่น นำหุ่นจำลองและแผ่นหินมาวางบนเครื่องสั่นกระชับกล้ามเนื้อ แล้วสมมุติเป็นแผ่นดินไหวในงาน “Earthquake” (ปี 2545) นำมาวางบนลำโพงที่สั่นสะเทือนด้วยเสียงในงาน “Fear and excitement” (ปี 2545) นำเศษผมมาเป่าให้ลอยด้วยเครื่องเป่าผมในงาน “Giddy and fever” (ปี 2545) หรือทำภูมิประเทศจำลองเป็นภูเขาที่ปกคลุมด้วยหิมะ และจัดวางอยู่ในตู้กระจกที่ติดเครื่องปรับอากาศในงาน “Visiting snow” (ปี 2545)

นอกจากนี้เขายังนำของใช้มาแปลงรูปเป็นของเล่น ประดิษฐ์ของจำลองแทนของจริง หรือแทนธรรมชาติด้วยวัตถุที่พบเห็น เช่น นำโถปัสสาวะมาจำลองเป็นน้ำตกในงาน “Waterfall” (ปี 2546) นำขวด ดอกกุหลาบ และหมอนลายดอกกุหลาบ มาจัดวางเป็นรูปคนนอนในงาน “The rose garden” (ปี 2546) หรือนำขอนไม้ผุมาทำเป็นหุบเขาจำลองในงาน “The climbing” (ปี 2546)

เขาทำให้วัตถุกลายเป็นภาพแทนชีวิตในสังคมปัจจุบัน ด้วยการทำให้มันเคลื่อนไหวหรือส่งเสียงด้วยกลไกประดิษฐ์ดัดแปลง และสื่อถึงลางสังหรณ์หรือความวิตกกังวลในจิตใจมนุษย์ จากความแปลกแยกหรือแปลกปลอมของมโนภาพประหลาดนั้น เช่น นำโทรศัพท์มือถือ (รุ่นเก่า) มาตั้งอยู่ในครอบแก้วทรงกลมที่แขวนอยู่อย่างไม่มั่นคงนัก และสั่นด้วยกลไกเป็นระยะ แทนมโนภาพของตึกสูงในเมืองใหญ่ และความรู้สึกอันไม่มั่นคงเปราะบาง ในงาน “Bangkok Quake” (ปี 2547) เขายังชอบเล่นกับรถไฟจำลองที่วิ่งวนอยู่ในโครงสร้างแปลกตา ผ่านตู้ปลา หรือผ่านจอมอนิเตอร์เปลือยที่แสดงภาพแปลงดอกไม้กลางถนน ในงาน “Flower bed” (ปี 2547)

ความวิตกกังวลในจิตใจยังแสดงออกผ่านความสัมพันธ์ที่น่าหวาดหวั่นระหว่างวัตถุกับมนุษย์ เช่น นำหุ่นจำลองมาวางอยู่บนเตารีดแทนความร้อนของทะเลทราย หรือทำต้นไม้จำลองและเลี้ยงปลาในโถแก้วบนเตาแก๊ส บางครั้งเขาจะสื่อเนื้อหาเชิงวิพากษ์ออกมาตรงๆ เช่น วางแบบจำลองอาคารบนหลังรูปปั้นควายในงาน “Confuse” (ปี 2547) แสดงหุ่นจำลองอวัยวะภายในของมนุษย์พร้อมกับซองบุหรี่ในงาน “PET” (ปี 2548) หรือสะท้อนความรู้สึกต่อสงครามในยุคบริโภคข่าวสารในงาน “Let’s go to Iraq” (ปี 2546)

ช่วงหลังงานของพรทวีศักดิ์เปิดให้ผู้ชมเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น ดังเช่นหมวกเหล็กทหารติดล้อบังคับวิทยุที่กล่าวถึงข้างต้น ซึ่งเป็นการถ่ายโอนความรู้สึกภายในของศิลปินให้ผู้ชมได้สัมผัสผ่านการกระทำด้วยตนเอง

และชัดเจนขึ้นในงานชุด “Hybrid Technology” นี่เอง ซึ่งต้องถือว่าเป็นการขมวดรวมกระบวนการทำงานและพัฒนาการของพรทวีศักดิ์ได้อย่างลงตัวและสอดคล้องกับสาระที่นำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นการแปลงรูปวัตถุจากประโยชน์ใช้สอยเดิมให้มีความหมายใหม่ การเคลื่อนไหวเพื่อแสดงจินตภาพ และการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมผ่านผลงาน ดังชื่อรองของงานที่เล่นพ้องเสียงภาษาไทยว่า “หั้ยบิด หั้ยกด หั้ยดึง ฯลฯ เทคโนโลยี”

พรทวีศักดิ์นำประเด็นเรื่องพลังงานมาสู่ผู้ชม ด้วยการดัดแปลงวัตถุงานศิลปะที่เรียกร้องให้มีส่วนร่วมในการกระทำให้ปรากฏผล และสะกิดเตือนให้นึกถึงพลังงานที่ใช้ไปในชีวิตประจำวันด้วย จากการแสดงกระบวนการผลิตที่ผู้ชมจะต้องทำให้เกิดขึ้นเอง

ตั้งแต่การจำลองห้องนั่งเล่นภายในบ้าน ซึ่งผู้ชมไม่อาจนั่งสบาย หากอยากให้โคมไฟข้างบนติดก็ต้องออกแรงขย่มโซฟาไปด้วย รถยนต์ก็ต้องใช้มือโยกให้เคลื่อนไปข้างหน้า อยากให้กาน้ำเดินได้ก็ต้องหมุนแบตเตอรี จะให้ดวงไฟนอกอาคารสว่างก็ต้องหมุนโทรศัพท์ หรือตู้เติมน้ำมันรดน้ำต้นไม้ก็ให้นึกถึงการใช้พลังงานควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย

ความต่างที่เห็นได้ชัดจากงานที่ผ่านมาคือ ศิลปินแสดงความรู้สึกส่วนตัวในผลงานน้อยลง และเป็นเพียงผู้ออกแบบตัวงานและกระบวนการ เพื่อนำเสนอประเด็นทางสังคมสู่ผู้ชม หรือเรียกได้ว่าเขาโยนความวิตกกังวลให้เป็นเรื่องของผู้ชม ผ่านความสัมพันธ์กับวัตถุจากการผสมผสานจัดวางของเขา แต่ยังคงท่าทีสนุกสนานแฝงอารมณ์ขันในการเล่นแบบเด็กเหมือนเคย

วัตถุธรรมดาเปลี่ยนเป็นงานศิลปะด้วยจินตนาการของศิลปิน และผู้ชมจะเข้าถึงความงามนั้นได้ก็ด้วยกระทำการของตนเอง.

วันอังคารที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2554

พื้นที่และความสัมพันธ์

คนและความคิดทางสถาปัตยกรรม / ต้นข้าว ปาณินท์ / สำนักพิมพ์สมมติ, พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม 2553

คนและความคิดทางสถาปัตยกรรม / ต้นข้าว ปาณินท์

การศึกษาในบ้านเราไม่ว่าแขนงไหนมักเน้นไปที่ความต้องการทางวิชาชีพ ปรัชญาหรือทฤษฎีไม่ค่อยเน้น หรือท่องจำไปอย่างนั้นโดยไม่เห็นความสำคัญเชื่อมโยงกับการทำงานในชีวิตจริง ทั้งที่การเรียนรู้เรื่องความคิดน่าจะเป็นเบื้องต้นของการปฏิบัติ เพราะความคิดเป็นตัวกำหนดแนวทาง ทำไปโดยไม่คิดก็คือไม่มีแนวทาง ผลออกมาก็คือสะเปะสะปะไปคนละทิศละทาง

การศึกษาสถาปัตยกรรมก็เช่นกัน ต้นข้าว ปาณินท์ เป็นนักวิชาการรุ่นใหม่ที่สนใจศึกษาปรัชญาและทฤษฎีทางสถาปัตยกรรม หนังสือ “คนและความคิดทางสถาปัตยกรรม” บ่งบอกถึงความสนใจของเธอ และประเด็นนำเสนอที่ขยายความได้อีกมาก เป็นหัวข้อที่พยายามตั้งโจทย์และตอบคำถามเกี่ยวกับบทบาทของสถาปัตยกรรม ด้วยการสืบค้นเพื่อทำความเข้าใจกับรากที่มา แล้วเรียบเรียงออกมาอย่างเรียบง่าย

เริ่มด้วยการตั้งคำถามกับสภาพแวดล้อมของคนในสังคม ต้นข้าวตั้งข้อสังเกตว่า คนเรามักจะสยบยอมหรือวางเฉยต่อสถาปัตยกรรมมากกว่าตั้งคำถาม จากนั้นก็ชี้ให้เห็นว่าสถาปัตยกรรมไม่ได้เป็นเพียงสิ่งก่อสร้างเพื่อประโยชน์ใช้สอยเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์และการสื่อสาร ซึ่งมีปฏิสัมพันธ์ต่อระบบความสัมพันธ์ของคนในสังคมด้วย

ส่วนที่เธอสนใจนั้นคือจินตภาพและความคิดเบื้องหลังสถาปัตยกรรมเหล่านั้น หรือที่เรียกว่า “ทฤษฎี”

ต้นข้าวอธิบายคำศัพท์ว่า “ทฤษฎี” แปลมาจาก “Theory” ในภาษาอังกฤษ ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า “Theoria” แปลว่า การมอง การพิจารณา การคาดเดา

“ดังนั้นจุดเริ่มต้นของความคิดในเชิงทฤษฎีจึงมาจากการสังเกตและการตั้งคำถามถึงความหมาย ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ เมื่อการสังเกตและการตั้งคำถามนำไปสู่การคาดเดา การพยายามสร้างคำตอบอย่างเป็นระบบ กระทั่งเกิดเป็นความเชื่อ สิ่งที่เรียกว่าทฤษฎีจึงถือกำเนิด และเมื่อคำตอบนั้นถูกนำมาใช้กับการกระทำใดการกระทำหนึ่ง ทฤษฎีก็กลายเป็นสิ่งที่กำหนดแนวทางหรือทิศทางในการปฏิบัติ” (หน้า 21)

การตีความที่ต่างกัน นำไปสู่ทฤษฎีหรือกรอบในการทำงานที่ต่างกัน

เช่น ชนชั้นกลางในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เริ่มตระหนักถึงอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของตน ดังนั้นจึงแสดงออกด้วยการลอกเลียนรูปแบบสถาปัตยกรรมของชนชั้นปกครองในอดีต ด้วยการประดับประดาตกแต่งอย่างฟุ่มเฟือย จนเกิดเป็นแนวทางของสถาปัตยกรรมแบบ Historicism ขึ้นมา

อดอล์ฟ โลส สถาปนิกชาวออสเตรียก็ได้ตั้งคำถามต่อความหลอกลวงของสถาปัตยกรรมเหล่านั้น และออกแบบอาคารในลักษณะเรียบง่ายแบบสัจนิยมขึ้นมาเป็นตัวแทนของสถาปัตยกรรมยุคใหม่

หรือจะเห็นได้จากทฤษฎีทางสถาปัตยกรรมที่ได้เรียบเรียงไว้เป็นตำรับตำรา นับแต่เรื่อง “The Ten Books of Architecture” ของ มาร์คัส วิทรูเวียส โปลลิโอ สถาปนิกชาวโรมัน จนถึงทฤษฎีสมัยใหม่ของ เลอ คอร์บูซิเอร์

แล้วต้นข้าวก็ชี้ให้เห็นถึงหัวใจของงานสถาปัตยกรรม นั่นคือ “Space” หรือ “ที่ว่าง” และการออกแบบสถาปัตยกรรมก็คือการออกแบบ Space หรือระบบความสัมพันธ์ของ “ที่ว่าง” นั่นเอง

เธอสาวลึกไปถึงรากศัพท์ของ Space และความหมายในทางสถาปัตยกรรม แล้วไล่เรียงให้เห็นการตีความ Space ด้วยทฤษฎีที่ต่างกัน ซึ่งจะกำหนดรูปแบบของสถาปัตยกรรมด้วยแก่นแกนที่แตกต่าง

“Space ทางสถาปัตยกรรมจึงไม่ใช่ที่ว่าง แต่เป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยโครงสร้างของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งอื่นๆ รอบตัว / ความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อสิ่งรอบข้าง มีต่อสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะอยู่ในวัตถุประสงค์ด้านการใช้สอย ความงาม หรือกระทั่งอารมณ์ความรู้สึก ล้วนเป็นสิ่งที่มนุษย์ให้ความหมายในทางความคิด” (หน้า 68)

การจำแนกประเภทของสถาปัตยกรรมเรียกว่า “Type” และ “Typology” ซึ่งเป็นโครงร่างเชิงจินตภาพที่เป็นกรอบกำหนดรูปทรงและพื้นที่ใช้สอยของอาคาร ต้นข้าวอธิบายว่า Type เปรียบเสมือน “มารดาผู้ให้กำเนิดบุตรที่สามารถเติบโตไปเป็นตัวของตัวเองจากฐานของความสัมพันธ์เดียวกัน” ส่วน Typology นั้นเปรียบเสมือน “เข็มทิศชี้นำแนวทางเพื่อการพัฒนาเปลี่ยนแปลง” และ “เป็นกระบวนการสร้างสรรค์อิสระที่มีจุดอ้างอิงจากประวัติศาสตร์และรากของสังคมวัฒนธรรม”

ด้วยสนใจต่อ “นัย (แห่ง) ความสัมพันธ์” ของสถาปัตยกรรมกับสภาพแวดล้อม หรือที่เรียกว่า “Context” หรือ “บริบท” เธอเห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างงานสถาปัตยกรรมกับบริบทจะแปรเปลี่ยนไปไม่คงเดิม และเป็นกระบวนการที่มีชีวิตในตัวเอง ซึ่งบางครั้งก็อยู่นอกเหนือการควบคุมของสถาปนิก เช่นนั้นเองเธอจึงไม่เห็นด้วยกับการวิจารณ์งานสถาปัตยกรรมในยุคโมเดิร์นของพวกโพสต์โมเดิร์น ซึ่งมองเพียงผิวเผิน หาว่าพวกโมเดิร์นให้ความสำคัญกับวัตถุนิยมสมบูรณ์แบบ จนละเลยต่อบริบทความสัมพันธ์เชิงวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ เป็นเครื่องจักรที่ขาดมิติทางจิตวิญญาณและความเป็นมนุษย์

เธอเห็นว่างานสถาปัตยกรรมสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมอยู่แล้ว แม้จะใช้รูปแบบอันเป็นสากล แต่ก็จะต่างกันไปตามองค์ประกอบของพื้นที่ตั้ง พร้อมยกตัวอย่างงานของ เลอ คอร์บูซิเอร์ 2 เรื่อง งานเรก เลอ คอร์บูซิเอร์ ออกแบบบ้านให้เจ้าของทางไปรษณีย์ โดยไม่เคยไปเยือนสถานที่ตั้งเลย และอีกงานหนึ่ง เลอ คอร์บูซิเอร์ ออกแบบบ้านขึ้นมาก่อน แล้วตระเวนหาสถานที่ปลูกบ้านทีหลัง

อธิบายเรื่องความคิดทางสถาปัตยกรรมแล้ว “คน” ที่ต้นข้าวกล่าวถึงน่าจะหมายถึงความเป็นมนุษย์ ดังที่เธอเขียนถึงเรื่อง “Dwelling ความหมายของการอยู่” เธออยากให้สถาปัตยกรรมให้ความสำคัญกับ “การอยู่” ของมนุษย์

“‘การอยู่’ หรือ Dwelling นั้นไม่ได้จำกัดอยู่กับการอยู่อาศัยในบ้าน แต่รวมไปถึงการครอบครองพื้นที่ของมนุษย์ในสภาพแวดล้อมทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอกอาคาร ไม่ว่าบทบาทหน้าที่ทางวัตถุของงานสถาปัตยกรรมจะพัฒนาเปลี่ยนแปลงผันแปรไปเช่นไร พื้นฐานความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสัญชาตญาณในการอยู่ก็ยังคงเกี่ยวพันกับความคิด 3 ประการที่สำคัญคือ ความคิดเกี่ยวกับตำแหน่งหรือ Location, ความคิดเกี่ยวกับขอบเขตหรือ Boundary, และความผูกพันเป็นเจ้าของหรือ Belonging” (หน้า 146)

ตอนท้าย ต้นข้าวเรียกร้องให้สถาปนิกฟื้นฟูสัญชาตญาณแห่งสหวิทยาการกลับมา เนื่องจากการทำงานสถาปัตยกรรมควรมีความรู้รอบในหลายสาขาวิชา นอกเหนือจากความชำนาญในวิชาชีพ โดยเฉพาะความรู้ในทางปรัชญาและสังคมวิทยา

อันที่จริงไม่ใช่เฉพาะสถาปนิก แต่ทุกอาชีพน่าจะปลดตัวเองจากความรู้แบบแยกส่วนด้วย.

[พิมพ์ครั้งแรก: Vote]