วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550

Love and Money : แค่สองคำนี้ยังไม่พอ

นิทรรศการ – Love and Money : The best of British Design Now / ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ, 20 กรกฎาคม – 16 กันยายน 2550

เจมี่  ฮิวเล็ตต์, “Gorillaz” ปี 2001, โปรเจ็คท์อัลบั้ม

[เจมี่ ฮิวเล็ตต์, “Gorillaz” ปี 2001, โปรเจ็คท์อัลบั้ม]

มีการพูดกันมานานถึงเศรษฐกิจของประเทศที่เติบโตขึ้นจนถึงเวลาต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการลงทุนในอุตสาหกรรมหลายประเภท จาก “รับจ้างทำของ” เป็นขายความคิดสร้างสรรค์หรือทักษะความชำนาญแทน เพราะความได้เปรียบจากการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลืองและอาศัยแรงงานราคาถูกนั้นได้ผ่านไปแล้ว แต่เรื่องนี้ก็ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จกันโดยง่าย

หลายประเทศที่เป็นผู้นำด้านความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบไม่ได้ปล่อยให้ต่างคนต่างทำตามยถากรรม แต่มีหน่วยงานที่เป็นศูนย์กลางของการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อเรียนรู้และมองเห็นทิศทางร่วมกันมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน หากรัฐไม่ได้เป็นฝ่ายจัดการ เอกชนเขาก็รวมกลุ่มกันเอง หรือร่วมมือกันในหลายลักษณะ ขึ้นอยู่กับความตระหนักและแรงบีบคั้น อย่างญี่ปุ่นก็เปลี่ยนจากการทำของเลียนแบบมาเป็นผู้นำการออกแบบในเวลาเพียงไม่กี่ปี นับแต่การตื่นตัวในเรื่องนี้ตอนต้นทศวรรษที่ 80 เรื่อยมา

บ้านเรามีศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC : Thailand Creative & Design Center) เป็นหน่วยงานที่ให้บริการความรู้และประสบการณ์ด้านการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ ตั้งอยู่ที่ชั้น 6 ศูนย์การค้าเอ็มโพเรียม ถนนสุขุมวิท บทบาทหลักของที่นี่คือให้บริการสาธารณะ เพราะฉะนั้นผู้ที่สนใจด้านนี้ก็ควรไปใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่า ทั้งนิทรรศการถาวร “What is Design?” นิทรรศการหมุนเวียน ห้องสมุดเฉพาะด้านการออกแบบ ห้องสมุดวัสดุเพื่อการออกแบบ กิจกรรมการบรรยาย การชุมนุมทางความคิด และสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ซึ่งเท่าที่ผ่านมาการทำงานของ TCDC ได้มาตรฐานสากลและมีแต่เสียงชมเชย

และล่าสุดกับนิทรรศการ “Love and Money : The best of British Design Now” หรือ “ทำสิ่งที่รักให้เป็นเงิน : 20 ธุรกิจงานออกแบบอังกฤษ” เป็นการคัดเลือกตัวอย่างจากธุรกิจงานออกแบบของอังกฤษในปัจจุบัน ซึ่งประสบความสำเร็จในแง่ของการรักษาความสมดุลระหว่างการสร้างสรรค์กับผลประกอบการทางธุรกิจ นำมาจัดแสดงโดยร่วมมือกับ British Council และ UK Trade & Investment

เดิมทีงานออกแบบของอังกฤษจะติดอยู่กับลักษณะอนุรักษ์นิยมอันเคร่งครัด จะมีสีสันบ้างก็คงเป็นลวดลายประดับดอกไม้แบบวิคตอเรียอย่างที่เห็นในงานผ้าหรือวอลเปเปอร์ติดผนัง พอถึงทศวรรษที่ 60 วัฒนธรรมมวลชนที่ถูกกระตุ้นเร้าโดยสื่อ การโฆษณาประชาสัมพันธ์ และการบริโภค กลายเป็นแหล่งสร้างแรงบันดาลใจให้คนหนุ่มสาวระเบิดทัศนะความงามอย่างใหม่ขึ้นมาในลักษณะท้าทาย ด้วยคุณสมบัติของวัตถุที่เข้าถึงง่าย ฉูดฉาดสะดุดตา และฉาบฉวย ตามไวยากรณ์ทางศิลปะแบบ “ป๊อป” (Pop Art) ต่อมาในทศวรรษที่ 70 วัฒธรรมข้างถนนของลูกหลานชนชั้นล่างที่มีพฤติกรรมขบถต่อต้านสังคมอย่างพวก “พั้งค์” (Punk) ก็เป็นระเบิดอีกลูกที่ส่งเสียงดังเข้ามาในงานออกแบบอย่างนึกไม่ถึง

จนถึงปัจจุบัน ความรุ่มรวยในงานออกแบบของอังกฤษก็เกิดจากการปะทะสังสรรค์กันระหว่างรสนิยมอันเคร่งครัดของนักอนุรักษ์กับลักษณะเอะอะมะเทิ่งอย่างไร้รสนิยม (Kitsch) ของพวก “ป๊อป” และ “พั้งค์” ประกอบกับความตื่นตัวต่อเทคโนโลยีล้ำหน้าและลักษณะจับฉ่ายผสมพันธุ์ข้ามวัฒนธรรม

หลังภาวะเศรษฐกิจถดถอยในทศวรรษที่ 90 คนหนุ่มสาวในสังคมตะวันตกเริ่มเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต จากการตั้งหน้าตั้งตาหาเงินและใช้เงินแบบพวก “ยัปปี้” หันมาใช้ชีวิตตามความพึงพอใจกันมากขึ้น จะเห็นได้จากแนวคิดของผู้ประกอบการธุรกิจงานออกแบบในอังกฤษจำนวน 20 รายที่คัดเลือกมาจัดแสดงในนิทรรศการ ซึ่งล้วนเป็นธุรกิจขนาดพอเหมาะกับกำลังความสามารถและตลาดของตน แต่ละรายมีความระมัดระวังต่อการเติบโตที่เกินตัว และพยายามรักษาคุณภาพของงานที่ตนพอใจไว้เป็นเรื่องสำคัญ

ผลงานที่นำมาจัดแสดงมีทั้งงานออกแบบสื่อ งานออกแบบผลิตภัณฑ์ และงานออกแบบสถาปัตยกรรม ทั้งหมดพอจะประมวลลักษณะเด่นได้ 3 คำ คือ “คุณภาพ” – การเน้นคุณภาพในผลงาน, “มวลชน” – การตอบสนองวัฒนธรรมมวลชน และ “ประสบการณ์ใหม่” – การสร้างประสบการณ์ใหม่ในการรับรู้

อย่าง “กราฟฟิก ธอท ฟาซิลิตี” (Graphic Thought Facility) เป็นบริษัทออกแบบที่ได้รับยกย่องว่าดีที่สุดแห่งหนึ่ง แต่ยังคงความเป็นสตูดิโอขนาดเล็ก และชอบทำงานที่ท้าทายศักยภาพในการสร้างสรรค์มากกว่า เช่นเดียวกับ “สตูดิโอ ไมเยอร์สคอฟห์” (Studio Myerscough) ของ โมแร็ก ไมเยอร์สคอฟห์ ก็มีขนาดเล็ก เพื่อจะได้มีส่วนร่วมในรายละเอียดของงานแต่ละชิ้น หรือเสื้อผ้าของ “เอลีย์ คิชิโมโตะ” (Eley Kishmoto) ก็ออกแบบจากสตูดิโอที่อยู่ชั้นบนของโรงงานตัดเย็บ และทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ดังนั้นจึงมีความสดใหม่อยู่เสมอ

งานออกแบบผลิตภัณฑ์ของ ทอม ดิ๊กสัน (Tom Dixon) เน้นน้ำเนื้อของทักษะและประสบการณ์ไม่น้อยกว่ามุมมองในเชิงพาณิชย์ เช่นเดียวกับ “อินดัสเตรียล ฟาซิลิตี” (Industrial Facility) ซึ่งสามารถทำงานสัมพันธ์กับลูกค้า และสร้างความไว้วางใจด้วยความเป็นเหตุเป็นผล ขณะที่ “เอสตาบลิชด์ แอนด์ ซันส์” (Established & Sons) นำความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมของอังกฤษกลับคืนมา ด้วยการพัฒนาเครือข่ายของแหล่งผลิตและช่างเทคนิคซึ่งมีความเชี่ยวชาญชั้นสูงในด้านต่างๆ ทำให้สามารถผลิตงานที่มีคุณภาพเหนือกว่าเฟอร์นิเจอร์เจ้าอื่น

“อดัมส์ คารา เทย์เลอร์” (Adam Kara Taylor) เป็นบริษัทวิศวกรรมโครงสร้างที่มีจุดขายตรงการพัฒนาแก้ไขกระบวนการทางวิศวกรรมอยู่เสมอ โดยไม่นำเรื่องงบประมาณมาเป็นข้อจำกัด ขณะที่ “ท็อปช็อป” (TopShop) เป็นร้านค้าปลีกที่มีจุดขายตรงการจำหน่ายเสื้อผ้าแฟชั่นชั้นสูงในราคาย่อมเยา

เหล่านี้เป็นคนทำงานที่ถือคติว่าคุณภาพต้องมาก่อน แล้วอย่างอื่นจะตามมาเอง และหากสิ่งที่ตามมาทำให้คุณภาพของงานลดลง พวกเขาก็พร้อมจะหลีกเลี่ยง

สำหรับที่มาของความคิดสร้างสรรค์อันประสบความสำเร็จนั้น มักจะเกิดจากการเรียนรู้และตอบสนองต่อวัฒนธรรมมวลชน อย่าง สำนักพิมพ์เพนกวิน (Penguin Books) ซึ่งเริ่มจากความคิดที่จะจัดพิมพ์วรรณกรรมชั้นดีในรูปแบบพ็อกเก็ตบุ๊คราคาถูกเท่ากับบุหรี่หนึ่งซอง และหาซื้อได้ง่าย เพื่อให้หนังสือเผยแพร่ไปถึงมือคนจำนวนมาก แต่ก็ยังให้ความสำคัญกับการออกแบบปกอันโดดเด่น หรือหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน (The Guardian) ซึ่งลงทุนศึกษาวิจัยเพื่อออกแบบรูปลักษณ์และวิธีการนำเสนอใหม่ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปแล้ว เช่นเดียวกับการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 โดย “โฟร์ครีเอทีฟ” (4Creative) ซึ่งสร้างความเคลื่อนไหวในลักษณะก้าวนำไปข้างหน้า

นักเขียนการ์ตูน เจมี่ ฮิวเล็ตต์ (Jamie Hewlett) เคยสร้างปรากฏการณ์ในวัฒนธรรมป็อปของอังกฤษมาแล้วครั้งหนึ่ง กับ “แทงค์ เกิร์ล” ตัวละครสาวพั้งค์ขับรถถังในโลกยุคหลังสงครามนิวเคลียร์ คราวนี้เขาร่วมมือกับ เดมอน อัลบาร์น นักดนตรีหนุ่มหัวก้าวหน้าแห่งวง “เบลอร์” สร้างวงดนตรีเสมือนจริงนาม “กอริลลาซ” ซึ่งมีสมาชิกเป็นตัวการ์ตูน 4 ตัว อันเป็นส่วนผสมของวัฒนธรรมข้างถนนอย่างพวกฮิปฮอปในอเมริกากับพั้งค์เข้าด้วยกัน รวมถึงวัฒนธรรมลูกผสมหัวมังกุท้ายมังกรในยุคโลกาภิวัตน์

เบน วิลสัน (Ben Wilson) ก็เป็นนักออกแบบที่ได้รับแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมกลุ่มย่อยตามข้างถนนเช่นกัน อย่างมอเตอร์ไซค์สกู๊ตเตอร์สตุสซีย์ ฮอนด้า ซูมเมอร์ ซึ่งตกแต่งด้วยรูปลักษณ์ของสเก็ตบอร์ดและจักรยานโหลดเตี้ยแบบพวกฮิปฮอป หรืออย่าง “ฟิก ริก” โครงเหล็กทรงกลมสำหรับกล้องถ่ายภาพยนตร์มือถือ ซึ่งจะช่วยให้ช่างภาพสามารถควบคุมกล้อง เสียง และแสงได้สะดวกขึ้น เขาก็พัฒนาร่วมกับผู้กำกับ ไมค์ ฟิกกิส และจากวัฒนธรรมของคนทำหนังอิสระ

งานออกแบบเครื่องประดับของ ฌอน ลีน (Shaun Leane) เต็มไปด้วยกลิ่นอายลึกลับของประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกับงานออกแบบสถาปัตยกรรมของ “ฟอเรนจ์ ออฟฟิศ อาร์คิเต็คท์ส” (Foreign Office Architects) ก็เต็มไปด้วยกลิ่นอายของวัฒนธรรมท้องถิ่นกึ่งสากล

และไม่ใช่เพียงรับแรงบันดาลใจจากประสบการณ์ทางวัฒนธรรมที่มีอยู่แล้วเท่านั้น พวกเขายังพยายามสร้างประสบการณ์ใหม่ให้รับรู้ด้วย เช่น การออกแบบวิดีโอเกมส์ของ “ร็อคสตาร์ เกมส์” (Rockstar Games) ซึ่งเน้นปฏิสัมพันธ์ของผู้เล่นที่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการเลือกสร้างสรรค์เกมได้ด้วยตัวเอง ทั้งยังปรับปรุงเรื่องราว ภาพ และเสียง อย่างพิถีพิถัน หรือภาพยนตร์แอนิเมชั่นของ “เน็กซัส” (Nexus) ก็มีความแปลกตาด้วยอารมณ์ขันแบบเพี้ยนๆ ขณะที่ “นิวทรัล” (Neutral) เป็นบริษัทออกแบบสื่อดิจิตอลที่นำเสนอประสบการณ์ใหม่ด้วยจินตนาการจากการทดลองทางเทคนิคอันล้ำหน้า

งานออกแบบสถาปัตยกรรมของ โธมัส เฮทเธอร์วิค (Heatherwick Studio) สร้างประดิษฐกรรมที่เป็นความทรงจำใหม่ อย่าง สะพานม้วนโรลลิ่งบริดจ์ หรือประติมากรรมบีออฟเดอะแบงที่สูงที่สุดในสหราชอาณาจักร และงานสถาปัตยกรรมของ ซาฮา ฮาดิด (Zaha Hadid) ก็มาจากการทดลองออกแบบด้วยกระบวนการทางดิจิตอลเพื่อให้เกิดผลลัพธ์อันคาดไม่ถึงเท่าที่เทคนิคทางโครงสร้างวิศวกรรมจะรองรับ

คนทั่วไปมักจะนึกถึงงานออกแบบในแง่ของความงามอันฟุ่มเฟือยจนถึงแปลกประหลาด แต่หน้าที่เบื้องต้นของการออกแบบก็คือการตั้งโจทย์และแก้ปัญหาทั้งด้านประโยชน์ใช้สอยและสุนทรียภาพ งานออกแบบจึงสัมพันธ์กับชีวิตมนุษย์ กำเนิดมาจากมนุษย์ และรับใช้มนุษย์

อย่างตราสัญลักษณ์ของ TCDC เป็นรูปห่อใบตองเสียบด้วยไม้กลัด ซึ่งถือเป็นงานออกแบบที่ยอดเยี่ยมเช่นกัน ทั้งด้านประโยชน์ใช้สอยคือเป็นวัสดุห่ออาหารที่สะดวกและย่อยสลายง่าย และด้านสุนทรียภาพก็คือรูปทรงอันงดงามลงตัว มีความเป็นธรรมชาติไม่เป็นพิษเป็นภัย และยังมีกลิ่นหอมของใบตองชวนรับประทานยิ่งขึ้น งานออกแบบเช่นนี้กำเนิดขึ้นในสังคมไทย และสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนไทยมาแต่เก่าก่อน

ประสบการณ์การออกแบบจากอังกฤษเกิดขึ้นในเงื่อนไขปัจจัยของสังคมนั้น นอกเหนือจาก “สไตล์” ที่มองเห็นภายนอกคือความสัมพันธ์กับชีวิต นอกจากหัวข้อของนิทรรศการคือ “ความรัก” และ “เงิน” แล้ว ยังต้องมองให้เห็นถึง “ชีวิต” ด้วย เพาะงานออกแบบกำเนิดมาจากชีวิตคน และรับใช้ชีวิตคน

เช่นเดียวกัน วิถีชีวิตของคนไทยในปัจจุบันยังคงเต็มไปด้วยวัตถุดิบและโจทย์ให้นักออกแบบรื้อค้นนำไปแปรรูปเป็นงานสร้างสรรค์.

วันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2550

Prana (ปราณ) : สัมผัสที่ไม่อาจจับต้อง

นิทรรศการ – Prana : Art, Light, Space / ศิลปิน – คิว ฮุย เชียน, เถกิง พัฒโนภาษ, ริชาร์ด สไตรท์แมทเตอร์-ตรัน, นพไชย อังควัฒนะพงษ์ / ภัณฑารักษ์ – ดร.ไบรอัน เคอร์ติน / หอศิลปวิทยนิทรรศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 16 สิงหาคม – 29 กันยายน 2550

ริชาร์ด  สไตรท์แมทเตอร์-ตรัน, “Dongkok” ปี 2006, วิดีโอ

[ริชาร์ด สไตรท์แมทเตอร์-ตรัน, “Dongkok” ปี 2006, วิดีโอ]

ห้องแสดงงานอยู่บนชั้นสูงสุดของอาคารหอสมุดใจกลางมหาวิทยาลัยห่างจากทางสัญจร คนที่จะมาชมงานต้องตั้งใจเป็นพิเศษ ประตูทางเข้าปิดด้วยผ้าม่านหนา เพื่อควบคุมบรรยากาศภายในให้เป็นโลกเฉพาะ แบ่งแยกตัดขาดจากโลกภายนอก จะติดตัวเข้ามาเพียงสัญญาหรือความจำได้หมายรู้ของแต่ละคน ซึ่งต่างตีความงานศิลปะกระทบผ่านผัสสะไปตามประสบการณ์ของตน

แสงและเสียงที่กำหนดจัดวางอยู่ในห้องนั้นแผกต่างจากความคุ้นเคยในชีวิตประจำวัน ทำให้เกิดความสงบรำงับ เหมือนเข้าไปในศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์ คนที่คุ้นเคยกับความวุ่นวายอึกทึกอยู่ตลอดเวลา ทั้งจากโลกภายนอกและเสียงภายในความคิดของตัวเอง อาจจะรู้สึกอึดอัดเมื่อเข้าไปอยู่ในสถานที่เช่นนั้น เพราะบรรยากาศรายรอบตัวจะเรียกร้องให้หยุดนิ่งและดิ่งลึกกับสัมปชัญญะหรือความรู้ตัวในขณะนั้น เพื่อตั้งสติรับรู้พิจารณาสิ่งต่างๆ ที่อยู่ตรงหน้า

“Prana” หรือ “ปราณ” เป็นหัวข้อที่ ไบรอัน เคอร์ติน (Brian Curtin) ผู้เป็นภัณฑารักษ์หรือ “Curator” ของงานนิทรรศการนี้กำหนดขึ้น และคัดเลือกผลงานของศิลปิน 4 คนมาร่วมจัดแสดง คือ คิว ฮุย เชียน (Khiew Huey Chian) ศิลปินชาวสิงคโปร์, ริชาร์ด สไตรท์แมทเตอร์-ตรัน (Richard Streitmatter-Tran) ศิลปินชาวเวียดนาม-อเมริกัน, เถกิง พัฒโนภาษ และ นพไชย อังควัฒนะพงษ์ ศิลปินชาวไทย

ปัจจุบัน ไบรอัน เคอร์ติน เป็นอาจารย์สอนอยู่ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวข้อและลักษณะของงานที่เขาเลือกมาจัดแสดงบ่งบอกถึงความสนใจในเรื่อง “space” หรือมิติสัมพันธ์ อันเป็นปัจจัยและโจทย์สำคัญของการสร้างสรรค์งานศิลปะประเภทกินระวางเนื้อที่ (space art) อย่างงานสถาปัตยกรรม ซึ่งสถาปนิกต้องออกแบบสิ่งก่อสร้าง พื้นที่ว่าง ประโยชน์ใช้สอย และความงาม เพื่อให้สัมพันธ์สอดคล้องกันตามจุดมุ่งหมาย หรือตามปกติแล้วงานทัศนศิลป์ไม่ว่าจะอยู่ในรูป 2 มิติ อย่างจิตรกรรม หรือ 3 มิติ อย่างประติมากรรม ล้วนต้องอาศัย “space” หรือ “ที่ว่าง” ในการแสดงตัว เพียงแต่จะมีบทบาทเป็นแค่พื้นหลังรองรับตัวงานเท่านั้น แต่ศิลปะร่วมสมัยหลายแนวทางขับเน้น “space” ขึ้นมามีบทบาทเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้าง/เสพสุนทรียภาพด้วย หรือเป็นมิติที่ 4 ที่จะขาดไม่ได้สำหรับการเสพรับงานนั้นให้สมบูรณ์

ตัวอย่างเช่น งานประเภทศิลปะจัดวาง (Installation) ซึ่ง “สถานที่” มีความสำคัญต่อการสื่อสารเช่นเดียวกับวัตถุที่ติดตั้งจัดแสดง เพราะฉะนั้นผู้ชมจึงต้องเอาตัวเข้าไปมีส่วนร่วมในงานทั้งหมดถึงจะได้รับอรรถรสสมบูรณ์ และการบันทึกเพื่อเผยแพร่ประสบการณ์นั้นอาจทำได้ไม่ครบถ้วนใกล้เคียงอย่างการจำลองแบบศิลปะที่เป็นวัตถุรูปธรรม หรืองานประเภทศิลปะการแสดง (Performance Art) อากาศใน “ความสัมพันธ์” ระหว่างผู้แสดง ผู้ชม สถานที่ และเวลาขณะนั้น ก็มีความสำคัญเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน

การแยก “space” ออกมาพินิจพิเคราะห์เฉพาะด้านสุนทรียภาพในพื้นที่ศิลปะบริสุทธิ์ของ ไบรอัน เคอร์ติน กำหนดคำว่า “prana” ขึ้นมาเป็นกรอบในการตีความ ตามคำอธิบายของเขาคือ “‘ปราณ’ เป็นคำพราหมณ์โบราณ อันกินความลุ่มลึกหลากหลาย ไล่เรียงขนาดของนิยามได้ตั้งแต่ ‘ลมหายใจ’ สู่ ‘อากาศ’ จนถึงนัยอันไพศาลคือ ‘สเปซ’ หากถือเอานิยามตามที่นิยมกันว่า ‘พลังแห่งชีวิต’ ปราณย่อมมีนัยพินิจทางจิตวิญญาณ ทั้งอาจมีนิรุกติสัมพันธ์กับ ‘pneumatic’ ซึ่งเบ่งออกจากคำกรีกโบราณ ‘pneuma’ อันแปลได้คล้ายกันว่า ‘อากาศ’ ‘วิญญาณ’ หรือ ‘พลังแห่งชีวิต’ ยิ่งกว่านั้น ‘ปราณ’ ยังมีความหมายเนื่องกับ ‘ethereal’ ซึ่งอาจแปลได้ว่า ‘เบาบาง’ ‘จับต้องไม่ได้’ หรือ ‘เหนือโลก’” (จากสูจิบัตร แปลโดย เถกิง พัฒโนภาษ)

เมื่อเอ่ยคำว่า “ปราณ” ออกมา สิ่งที่ไร้ตัวตน (immaterial) อันเป็นสภาวะซึ่งสะท้อนมาจากการกระทบกันระหว่างความรู้สึกของผู้ชมกับวัตถุที่จัดแสดงนั้น เหมือนมีนัยยะทางจิตวิญญาณขึ้นมาด้วย แทนที่จะเป็นความงามบริสุทธิ์ธรรมดา

ตามความเชื่อของสังคมตะวันออก นอกจาก “กายเนื้อ” ของมนุษย์ และมวลสารที่มองเห็นจับต้องได้แล้ว ยังมี “พลังชีวิต” หรือ “คลื่นพลังงาน” ที่มองไม่เห็นจับต้องไม่ได้ดำรงอยู่ด้วย ตัวตนของคนเรามี “วิญญาณ” “ปราณ” หรือ “ชี่” เป็นส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้ร่างกายมีชีวิตสมบูรณ์ สิ่งต่างๆ ในธรรมชาติมี “ผี” หรือ “เทพารักษ์” คอยปกปักรักษา สถานที่ต่างๆ ก็มี “พระภูมิ-เจ้าที่” คอยดูแล หรือวัตถุบางชนิดก็มีอำนาจพิเศษต่อจิตใจคน เหล่านี้มักเล่าขานกันในฐานะเรื่องเหนือธรรมชาติ และมีความพยายามที่จะอธิบายด้วยทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์แผนใหม่อยู่บ้างเหมือนกัน

หากตีความตามความหมายดังกล่าว “space” ย่อมมีตัวตน และตัวตนของ “space” ก็คือปราณนั่นเอง

เหมือนเวลาเข้าไปในวิหารและนั่งอยู่หน้าพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ในนั้นก็จะรู้สึกสงบสำรวมขึ้นมา เพราะตัวตนของเราได้สัมผัสกับ “ปราณ” ของสถานที่นั้นนั่นเอง เป็นตัวตนของ “space” ที่อาศัยภูมิปัญญาโบราณจัดสร้างขึ้นมา ทั้งการกำหนดพื้นที่และแสงของอาคาร ความงามเชิงปฏิมาของพระพุทธรูป และลวดลายของจิตรกรรมที่ประดับประดาอยู่โดยรอบ อาจจะรวมถึงกลิ่นธูปและเสียงสวดมนต์ด้วย

ศิลปะร่วมสมัยนำสัมผัสเช่นนี้มาสร้างสรรค์เพื่อผลทางสุนทรียภาพโดยเฉพาะ

งาน 4 ชิ้นของศิลปิน 4 คนที่จัดแสดงในนิทรรศการนี้มีแนวคิดและใช้วิธีการกับวัสดุที่ต่างกัน

งาน “Enclosed Landscapes” (ปี 2007) ของ คิว ฮุย เชียน ใช้ตะปูตอกผนังตามตารางขึงด้ายเป็นแถวยาวจากด้านหนึ่งไปสุดผนังอีกด้าน ตีเส้นเรียงเป็นแนวขวางกั้นในระดับสายตา และลดหลั่นสลับกันไปจรดท้ายห้อง แลดูลวงตาเป็นภาพทิวทัศน์ในเชิงนามธรรม ขณะเดียวกันช่องว่างระหว่างเส้นด้ายเบาบางนี้ก็คอยรบกวนความรู้สึกถึงการไม่มีอยู่ของมันตลอดเวลา

ขณะที่งาน “Gasop” (ปี 2007) ของ เถกิง พัฒโนภาษ เป็นงานสื่อผสม สร้างภาพลวงตาในปริมาตร 3 มิติ ด้วยค่าต่างแสงที่เกิดจากการเจาะผนังขนาดเท่าประตู 2 ช่อง แล้วกำหนดสัดส่วนในช่องกลวงนั้นให้แลดูใกล้ไกลตื้นลึกในลักษณะขัดตา พุ่งไปจนสุดที่รูปทรงหย่อนนุ่มคุ้นคล้ายว่าเป็นอะไรสักอย่าง

ส่วนงาน “Dongkuk” (ปี 2006) ของ ริชาร์ด สไตรท์แมทเตอร์-ตรัน เป็นวิดีโออาร์ต บันทึกภาพแสงนีออนกะพริบซ้ำๆ หน้าสถานที่แห่งหนึ่ง พร้อมกับเสียงอื้ออึงของเครื่องแปลง แสงไฟกะพริบสว่าง-ดับอยู่ข้างถนนยามค่ำคืนพบเห็นได้ดาษดื่นเจนตา แต่เมื่อศิลปินบันทึกแล้วนำมาฉายในห้องแสดงงาน ซึ่งตัดขาดแยกห่างจากบริบทแวดล้อมเดิมของมันมาเฉพาะที่ปรากฏเห็นในกรอบนี้เท่านั้น ภาพบรรยากาศอันนิ่งงันซึ่งมีเพียงแสงไฟกะพริบซ้ำๆ ฉายอยู่บนผนังนั้นนำไปสู่ภวังค์ตราตรึงอย่างประหลาด และภาพที่มาจากแสงของเครื่องฉายก็มีลักษณะของมายาอันรางเลือน

และงาน “Golden Wave” (ปี 2005-2007) ของ นพไชย อังควัฒนะพงษ์ เป็นงานติดตั้งโคมไฟกลม 4x10 แถวไว้เหนือศีรษะตามทางเดินรอด แล้วตั้งวงจรให้กะพริบสลับกันเป็นคลื่นไล่เรียงไปตามแถว เมื่อผู้ชมอยู่ใต้ผลงานก็จะได้สัมผัสกับแสงที่อาบไล้ร่างกายเป็นจังหวะ

แม้จะเป็นนิทรรศการขนาดย่อม แต่งานที่เลือกมาทั้ง 4 ชิ้นก็ตอบโจทย์ได้ตรงประเด็น น่าสนใจว่าวิธีการเหล่านี้เคยมีคนทำมาก่อนแล้ว แต่เมื่อศิลปินชาวเอเชียอาคเนย์ทั้ง 4 คนนำมาแสดงตัวตนของพวกเขา กลับมีมิติทางจิตวิญญาณอยู่ในผลงานด้วย ซึ่งไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ขณะที่ศิลปินชาวตะวันตกจะแสดงความชัดเจนทางแนวคิดในวิธีการนำเสนอตัวตนและวัตถุมากกว่า แม้จะใช้รูปแบบเดียวกันก็ตาม

หรือนี่จะเป็นตัวตนของศิลปินเอเชียอย่างที่พวกเขากำลังค้นหา

มิติทางจิตวิญญาณที่ว่านั้นก็เช่น การใช้วัสดุอย่างเส้นด้ายของ คิว ฮุย เชียน ซึ่งมีความผูกพันอันลึกซึ้งแฝงอยู่ด้วย ความสนใจต่อ “ที่ว่างภายใน” ของ เถกิง พัฒโนภาษ ก็ทำให้งานสื่อผสม 3 มิติของเขามีมิติที่ 4 เลื่อนไหลถ่ายเทเข้าออกระหว่างที่ว่างภายในกับที่ว่างภายนอก ดังปรากฏว่าเมื่อเปลี่ยนมุมมองต่องานของเขา ค่าต่างแสงที่ลวงตาอยู่ในลักษณะ 3 มิติก็จะเปลี่ยนไปด้วย การยืนมองอยู่ตรงหน้าห่างออกมาสักระยะ กับการชะโงกเข้าไปสู่ข้างในช่องกลวง จะให้ผลการรับรู้ที่ต่างกัน

ภวังค์ในภาพวิดีโอของ ริชาร์ด สไตรท์แมทเตอร์-ตรัน มีกลิ่นอายของความลี้ลับน่าพรั่นพรึงของอากาศในสถานที่นั้นอยู่ด้วย เช่นเดียวกับแสงของ นพไชย อังควัฒนะพงษ์ ไม่ได้มุ่งแสดงสารัตถะของวัสดุอย่างพวกมินิมอลเท่านั้น แต่มีสถานการณ์สัมพันธ์กับคนมากกว่า

ทั้งหมดนี้ล้วนน่าขบคิดเกี่ยวกับประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง “วัตถุ” กับ “จิต” ในงานศิลปะ

หรือวัตถุจะไม่ได้เป็นเพียงมวลสารที่แข็งกระด้างไร้ชีวิตเท่านั้น

การพัฒนาศิลปะร่วมสมัยต่อไปข้างหน้า บทบาทของ “Curator” จะสำคัญมากขึ้นทั้งในทางวิชาการและพาณิชย์ เพื่อให้การประเมินคุณค่า “พลังลมปราณ” ในงานศิลปะมีหลักการเป็นระบบแบบแผนกันมากขึ้น งานนิทรรศการนี้เป็นตัวอย่างเล็กๆ ของการตั้งโจทย์ที่มีเนื้อหากระตุ้นปัญญาความคิด ท้าทายทั้งการรับรู้ของผู้ชม ตัวศิลปิน และความหมายของศิลปะเอง.