วันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2550

Prana (ปราณ) : สัมผัสที่ไม่อาจจับต้อง

นิทรรศการ – Prana : Art, Light, Space / ศิลปิน – คิว ฮุย เชียน, เถกิง พัฒโนภาษ, ริชาร์ด สไตรท์แมทเตอร์-ตรัน, นพไชย อังควัฒนะพงษ์ / ภัณฑารักษ์ – ดร.ไบรอัน เคอร์ติน / หอศิลปวิทยนิทรรศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 16 สิงหาคม – 29 กันยายน 2550

ริชาร์ด  สไตรท์แมทเตอร์-ตรัน, “Dongkok” ปี 2006, วิดีโอ

[ริชาร์ด สไตรท์แมทเตอร์-ตรัน, “Dongkok” ปี 2006, วิดีโอ]

ห้องแสดงงานอยู่บนชั้นสูงสุดของอาคารหอสมุดใจกลางมหาวิทยาลัยห่างจากทางสัญจร คนที่จะมาชมงานต้องตั้งใจเป็นพิเศษ ประตูทางเข้าปิดด้วยผ้าม่านหนา เพื่อควบคุมบรรยากาศภายในให้เป็นโลกเฉพาะ แบ่งแยกตัดขาดจากโลกภายนอก จะติดตัวเข้ามาเพียงสัญญาหรือความจำได้หมายรู้ของแต่ละคน ซึ่งต่างตีความงานศิลปะกระทบผ่านผัสสะไปตามประสบการณ์ของตน

แสงและเสียงที่กำหนดจัดวางอยู่ในห้องนั้นแผกต่างจากความคุ้นเคยในชีวิตประจำวัน ทำให้เกิดความสงบรำงับ เหมือนเข้าไปในศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์ คนที่คุ้นเคยกับความวุ่นวายอึกทึกอยู่ตลอดเวลา ทั้งจากโลกภายนอกและเสียงภายในความคิดของตัวเอง อาจจะรู้สึกอึดอัดเมื่อเข้าไปอยู่ในสถานที่เช่นนั้น เพราะบรรยากาศรายรอบตัวจะเรียกร้องให้หยุดนิ่งและดิ่งลึกกับสัมปชัญญะหรือความรู้ตัวในขณะนั้น เพื่อตั้งสติรับรู้พิจารณาสิ่งต่างๆ ที่อยู่ตรงหน้า

“Prana” หรือ “ปราณ” เป็นหัวข้อที่ ไบรอัน เคอร์ติน (Brian Curtin) ผู้เป็นภัณฑารักษ์หรือ “Curator” ของงานนิทรรศการนี้กำหนดขึ้น และคัดเลือกผลงานของศิลปิน 4 คนมาร่วมจัดแสดง คือ คิว ฮุย เชียน (Khiew Huey Chian) ศิลปินชาวสิงคโปร์, ริชาร์ด สไตรท์แมทเตอร์-ตรัน (Richard Streitmatter-Tran) ศิลปินชาวเวียดนาม-อเมริกัน, เถกิง พัฒโนภาษ และ นพไชย อังควัฒนะพงษ์ ศิลปินชาวไทย

ปัจจุบัน ไบรอัน เคอร์ติน เป็นอาจารย์สอนอยู่ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวข้อและลักษณะของงานที่เขาเลือกมาจัดแสดงบ่งบอกถึงความสนใจในเรื่อง “space” หรือมิติสัมพันธ์ อันเป็นปัจจัยและโจทย์สำคัญของการสร้างสรรค์งานศิลปะประเภทกินระวางเนื้อที่ (space art) อย่างงานสถาปัตยกรรม ซึ่งสถาปนิกต้องออกแบบสิ่งก่อสร้าง พื้นที่ว่าง ประโยชน์ใช้สอย และความงาม เพื่อให้สัมพันธ์สอดคล้องกันตามจุดมุ่งหมาย หรือตามปกติแล้วงานทัศนศิลป์ไม่ว่าจะอยู่ในรูป 2 มิติ อย่างจิตรกรรม หรือ 3 มิติ อย่างประติมากรรม ล้วนต้องอาศัย “space” หรือ “ที่ว่าง” ในการแสดงตัว เพียงแต่จะมีบทบาทเป็นแค่พื้นหลังรองรับตัวงานเท่านั้น แต่ศิลปะร่วมสมัยหลายแนวทางขับเน้น “space” ขึ้นมามีบทบาทเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้าง/เสพสุนทรียภาพด้วย หรือเป็นมิติที่ 4 ที่จะขาดไม่ได้สำหรับการเสพรับงานนั้นให้สมบูรณ์

ตัวอย่างเช่น งานประเภทศิลปะจัดวาง (Installation) ซึ่ง “สถานที่” มีความสำคัญต่อการสื่อสารเช่นเดียวกับวัตถุที่ติดตั้งจัดแสดง เพราะฉะนั้นผู้ชมจึงต้องเอาตัวเข้าไปมีส่วนร่วมในงานทั้งหมดถึงจะได้รับอรรถรสสมบูรณ์ และการบันทึกเพื่อเผยแพร่ประสบการณ์นั้นอาจทำได้ไม่ครบถ้วนใกล้เคียงอย่างการจำลองแบบศิลปะที่เป็นวัตถุรูปธรรม หรืองานประเภทศิลปะการแสดง (Performance Art) อากาศใน “ความสัมพันธ์” ระหว่างผู้แสดง ผู้ชม สถานที่ และเวลาขณะนั้น ก็มีความสำคัญเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน

การแยก “space” ออกมาพินิจพิเคราะห์เฉพาะด้านสุนทรียภาพในพื้นที่ศิลปะบริสุทธิ์ของ ไบรอัน เคอร์ติน กำหนดคำว่า “prana” ขึ้นมาเป็นกรอบในการตีความ ตามคำอธิบายของเขาคือ “‘ปราณ’ เป็นคำพราหมณ์โบราณ อันกินความลุ่มลึกหลากหลาย ไล่เรียงขนาดของนิยามได้ตั้งแต่ ‘ลมหายใจ’ สู่ ‘อากาศ’ จนถึงนัยอันไพศาลคือ ‘สเปซ’ หากถือเอานิยามตามที่นิยมกันว่า ‘พลังแห่งชีวิต’ ปราณย่อมมีนัยพินิจทางจิตวิญญาณ ทั้งอาจมีนิรุกติสัมพันธ์กับ ‘pneumatic’ ซึ่งเบ่งออกจากคำกรีกโบราณ ‘pneuma’ อันแปลได้คล้ายกันว่า ‘อากาศ’ ‘วิญญาณ’ หรือ ‘พลังแห่งชีวิต’ ยิ่งกว่านั้น ‘ปราณ’ ยังมีความหมายเนื่องกับ ‘ethereal’ ซึ่งอาจแปลได้ว่า ‘เบาบาง’ ‘จับต้องไม่ได้’ หรือ ‘เหนือโลก’” (จากสูจิบัตร แปลโดย เถกิง พัฒโนภาษ)

เมื่อเอ่ยคำว่า “ปราณ” ออกมา สิ่งที่ไร้ตัวตน (immaterial) อันเป็นสภาวะซึ่งสะท้อนมาจากการกระทบกันระหว่างความรู้สึกของผู้ชมกับวัตถุที่จัดแสดงนั้น เหมือนมีนัยยะทางจิตวิญญาณขึ้นมาด้วย แทนที่จะเป็นความงามบริสุทธิ์ธรรมดา

ตามความเชื่อของสังคมตะวันออก นอกจาก “กายเนื้อ” ของมนุษย์ และมวลสารที่มองเห็นจับต้องได้แล้ว ยังมี “พลังชีวิต” หรือ “คลื่นพลังงาน” ที่มองไม่เห็นจับต้องไม่ได้ดำรงอยู่ด้วย ตัวตนของคนเรามี “วิญญาณ” “ปราณ” หรือ “ชี่” เป็นส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้ร่างกายมีชีวิตสมบูรณ์ สิ่งต่างๆ ในธรรมชาติมี “ผี” หรือ “เทพารักษ์” คอยปกปักรักษา สถานที่ต่างๆ ก็มี “พระภูมิ-เจ้าที่” คอยดูแล หรือวัตถุบางชนิดก็มีอำนาจพิเศษต่อจิตใจคน เหล่านี้มักเล่าขานกันในฐานะเรื่องเหนือธรรมชาติ และมีความพยายามที่จะอธิบายด้วยทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์แผนใหม่อยู่บ้างเหมือนกัน

หากตีความตามความหมายดังกล่าว “space” ย่อมมีตัวตน และตัวตนของ “space” ก็คือปราณนั่นเอง

เหมือนเวลาเข้าไปในวิหารและนั่งอยู่หน้าพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ในนั้นก็จะรู้สึกสงบสำรวมขึ้นมา เพราะตัวตนของเราได้สัมผัสกับ “ปราณ” ของสถานที่นั้นนั่นเอง เป็นตัวตนของ “space” ที่อาศัยภูมิปัญญาโบราณจัดสร้างขึ้นมา ทั้งการกำหนดพื้นที่และแสงของอาคาร ความงามเชิงปฏิมาของพระพุทธรูป และลวดลายของจิตรกรรมที่ประดับประดาอยู่โดยรอบ อาจจะรวมถึงกลิ่นธูปและเสียงสวดมนต์ด้วย

ศิลปะร่วมสมัยนำสัมผัสเช่นนี้มาสร้างสรรค์เพื่อผลทางสุนทรียภาพโดยเฉพาะ

งาน 4 ชิ้นของศิลปิน 4 คนที่จัดแสดงในนิทรรศการนี้มีแนวคิดและใช้วิธีการกับวัสดุที่ต่างกัน

งาน “Enclosed Landscapes” (ปี 2007) ของ คิว ฮุย เชียน ใช้ตะปูตอกผนังตามตารางขึงด้ายเป็นแถวยาวจากด้านหนึ่งไปสุดผนังอีกด้าน ตีเส้นเรียงเป็นแนวขวางกั้นในระดับสายตา และลดหลั่นสลับกันไปจรดท้ายห้อง แลดูลวงตาเป็นภาพทิวทัศน์ในเชิงนามธรรม ขณะเดียวกันช่องว่างระหว่างเส้นด้ายเบาบางนี้ก็คอยรบกวนความรู้สึกถึงการไม่มีอยู่ของมันตลอดเวลา

ขณะที่งาน “Gasop” (ปี 2007) ของ เถกิง พัฒโนภาษ เป็นงานสื่อผสม สร้างภาพลวงตาในปริมาตร 3 มิติ ด้วยค่าต่างแสงที่เกิดจากการเจาะผนังขนาดเท่าประตู 2 ช่อง แล้วกำหนดสัดส่วนในช่องกลวงนั้นให้แลดูใกล้ไกลตื้นลึกในลักษณะขัดตา พุ่งไปจนสุดที่รูปทรงหย่อนนุ่มคุ้นคล้ายว่าเป็นอะไรสักอย่าง

ส่วนงาน “Dongkuk” (ปี 2006) ของ ริชาร์ด สไตรท์แมทเตอร์-ตรัน เป็นวิดีโออาร์ต บันทึกภาพแสงนีออนกะพริบซ้ำๆ หน้าสถานที่แห่งหนึ่ง พร้อมกับเสียงอื้ออึงของเครื่องแปลง แสงไฟกะพริบสว่าง-ดับอยู่ข้างถนนยามค่ำคืนพบเห็นได้ดาษดื่นเจนตา แต่เมื่อศิลปินบันทึกแล้วนำมาฉายในห้องแสดงงาน ซึ่งตัดขาดแยกห่างจากบริบทแวดล้อมเดิมของมันมาเฉพาะที่ปรากฏเห็นในกรอบนี้เท่านั้น ภาพบรรยากาศอันนิ่งงันซึ่งมีเพียงแสงไฟกะพริบซ้ำๆ ฉายอยู่บนผนังนั้นนำไปสู่ภวังค์ตราตรึงอย่างประหลาด และภาพที่มาจากแสงของเครื่องฉายก็มีลักษณะของมายาอันรางเลือน

และงาน “Golden Wave” (ปี 2005-2007) ของ นพไชย อังควัฒนะพงษ์ เป็นงานติดตั้งโคมไฟกลม 4x10 แถวไว้เหนือศีรษะตามทางเดินรอด แล้วตั้งวงจรให้กะพริบสลับกันเป็นคลื่นไล่เรียงไปตามแถว เมื่อผู้ชมอยู่ใต้ผลงานก็จะได้สัมผัสกับแสงที่อาบไล้ร่างกายเป็นจังหวะ

แม้จะเป็นนิทรรศการขนาดย่อม แต่งานที่เลือกมาทั้ง 4 ชิ้นก็ตอบโจทย์ได้ตรงประเด็น น่าสนใจว่าวิธีการเหล่านี้เคยมีคนทำมาก่อนแล้ว แต่เมื่อศิลปินชาวเอเชียอาคเนย์ทั้ง 4 คนนำมาแสดงตัวตนของพวกเขา กลับมีมิติทางจิตวิญญาณอยู่ในผลงานด้วย ซึ่งไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ขณะที่ศิลปินชาวตะวันตกจะแสดงความชัดเจนทางแนวคิดในวิธีการนำเสนอตัวตนและวัตถุมากกว่า แม้จะใช้รูปแบบเดียวกันก็ตาม

หรือนี่จะเป็นตัวตนของศิลปินเอเชียอย่างที่พวกเขากำลังค้นหา

มิติทางจิตวิญญาณที่ว่านั้นก็เช่น การใช้วัสดุอย่างเส้นด้ายของ คิว ฮุย เชียน ซึ่งมีความผูกพันอันลึกซึ้งแฝงอยู่ด้วย ความสนใจต่อ “ที่ว่างภายใน” ของ เถกิง พัฒโนภาษ ก็ทำให้งานสื่อผสม 3 มิติของเขามีมิติที่ 4 เลื่อนไหลถ่ายเทเข้าออกระหว่างที่ว่างภายในกับที่ว่างภายนอก ดังปรากฏว่าเมื่อเปลี่ยนมุมมองต่องานของเขา ค่าต่างแสงที่ลวงตาอยู่ในลักษณะ 3 มิติก็จะเปลี่ยนไปด้วย การยืนมองอยู่ตรงหน้าห่างออกมาสักระยะ กับการชะโงกเข้าไปสู่ข้างในช่องกลวง จะให้ผลการรับรู้ที่ต่างกัน

ภวังค์ในภาพวิดีโอของ ริชาร์ด สไตรท์แมทเตอร์-ตรัน มีกลิ่นอายของความลี้ลับน่าพรั่นพรึงของอากาศในสถานที่นั้นอยู่ด้วย เช่นเดียวกับแสงของ นพไชย อังควัฒนะพงษ์ ไม่ได้มุ่งแสดงสารัตถะของวัสดุอย่างพวกมินิมอลเท่านั้น แต่มีสถานการณ์สัมพันธ์กับคนมากกว่า

ทั้งหมดนี้ล้วนน่าขบคิดเกี่ยวกับประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง “วัตถุ” กับ “จิต” ในงานศิลปะ

หรือวัตถุจะไม่ได้เป็นเพียงมวลสารที่แข็งกระด้างไร้ชีวิตเท่านั้น

การพัฒนาศิลปะร่วมสมัยต่อไปข้างหน้า บทบาทของ “Curator” จะสำคัญมากขึ้นทั้งในทางวิชาการและพาณิชย์ เพื่อให้การประเมินคุณค่า “พลังลมปราณ” ในงานศิลปะมีหลักการเป็นระบบแบบแผนกันมากขึ้น งานนิทรรศการนี้เป็นตัวอย่างเล็กๆ ของการตั้งโจทย์ที่มีเนื้อหากระตุ้นปัญญาความคิด ท้าทายทั้งการรับรู้ของผู้ชม ตัวศิลปิน และความหมายของศิลปะเอง.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น