Bakery & I / กมล สุโกศล แคลปป์ และ พีรภัทร โพธิสารัตนะ / a book, พิมพ์ครั้งแรก - มิถุนายน 2550
หนังสือเล่มนี้อ่านสนุกและดีเหลือเกิน ลำพังแค่เรื่องราวของ “สุกี้” กมล สุโกศล แคปป์ อดีตผู้บริหารคนสำคัญของ “Bakery Music” ก็น่าสนใจแล้ว เพราะนี่คือค่ายเพลงระดับตำนานที่ปฏิวัติวงการเพลงไทยหลายอย่างในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ตั้งแต่การเป็นค่ายเพลงอินดี้หรือ Independent Label ค่ายแรกที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม หรือการสร้าง “เสียง” แนวทางใหม่ๆ ซึ่งจะยังมีอิทธิพลอยู่ต่อไปอีกนาน
สุกี้คือผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของศิลปินหลายรายในฐานะของโปรดิวเซอร์ เขาค้นพบ และดึงศักยภาพของศิลปินแต่ละรายออกมาให้ทำงานกันเอง อันเป็นวิธีที่ต่างจากระบบของอุตสาหกรรมเพลงไทยในเวลานั้น ทำให้ศิลปินเติบโต และต่อมาหลายคนก็ได้กลายเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาวงการดนตรีขึ้นไปอีก
นอกจากนี้สุกี้ในฐานะมือกีตาร์ยังเป็นศิลปินที่สร้างเสียงเฉพาะของวงร็อกที่ก้าวหน้าที่สุดอย่าง “พรู”
เนื้อหาที่ดีของหนังสือเล่มนี้ส่วนหนึ่งมาจากความเป็นคนคิดมากของสุกี้นั่นเอง จะเห็นว่านอกจากเขาจะเรียนมาทางด้าน Music Technology โดยตรงแล้ว เขายังเรียนวิชาเอกปรัชญาด้วย บ่งบอกนิสัยความสนใจในลักษณะของนักคิด ชอบค้นหาความหมายของชีวิตและตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ อยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกที่ข้อสังเกตหรือวิสัยทัศน์ของเขาต่อวงการดนตรีจะมีความแหลมคมน่าพิจารณาอยู่เสมอ
ความลุ่มลึกในการคิดของสุกี้เปิดเผยอย่างเต็มที่ในหนังสือเล่มนี้เอง จากการลำดับเรื่องราวที่ผ่านมาในชีวิต เรียงร้อยตามเหตุผลและแรงจูงใจ มีการปูพื้นในวัยเยาว์ เรียนรู้ผ่านความสำเร็จและล้มเหลว โดยมีปมขัดแย้งบางอย่างอยู่ในใจตลอดเวลา แล้วลงท้ายด้วยบทสรุปแห่งชีวิตในช่วงหนึ่งด้วยแง่คิดอันกระจ่าง จนเหมือนกับอ่านนิยายหรือดูหนังดีๆ สักเรื่องเลยทีเดียว
แน่นอนว่าบทบาทของผู้เรียบเรียงก็มีส่วนไม่น้อย พีรภัทร โพธิสารัตนะ ทำงานในรูปแบบนี้ได้เหมาะเจาะ การเล่าเรื่องกระชับ มีจังหวะจะโคน และสอดรับกับเรื่องราว จนหวังว่าน่าจะได้เห็นงานเขียนในลักษณะนี้อีก เพราะไม่ค่อยมีคนทำนัก
สำหรับนักสังเกตการณ์ล่องหนอย่างผม ซึ่งมีความสุขกับการเห็นการเคลื่อนไหวทางศิลปะและวัฒนธรรมหรือการสร้างสรรค์ในแวดวงต่างๆ หนังสือเล่มนี้ก็ให้ความสุขกับการเติมเต็มความเข้าใจจากการสังเกตการณ์อยู่วงนอก อย่างน้อยก็เคยเห็นและสัมผัสกับความมุ่งมั่นของคนกลุ่มนี้มาตั้งแต่เริ่มต้น และตื่นเต้นชื่นชมกับปรากฏการณ์ที่พวกเขามีส่วนในการนำ ไม่ว่าจะเป็นวงโมเดิร์นด็อกกับกระแสดนตรีอัลเทอร์เนทีฟ โจอี้ บอย กับกระแสดนตรีฮิปฮอป บอย โกสิยพงษ์ กับกระแสดนตรีอาร์แอนด์บี ตลอดไปจนถึง Triumphs Kingdom เสื้อสายเดี่ยว และเซ็นเตอร์พอยต์ Dojo City และนิตยสาร Katch
ขณะที่อ่านผมรู้สึกว่ามันมีกุญแจอยู่ดอกหนึ่งที่ไขไปสู่ประตูแห่งความสำเร็จเหล่านั้น อาจจะเป็นการให้ความสำคัญกับสัญชาตญาณเบื้องต้น การเผชิญหน้ากับปัญหาและเรียนรู้วิธีจัดการอย่างรวดเร็ว และถึงแม้วันนี้ทุกอย่างจะแปรเปลี่ยนไปจากเดิมแล้วตามธรรมดาของโลก แต่การถือกุญแจดอกนั้นอยู่ในมือก็เหมือนจะทำให้การรับมือกับความเป็นไปต่างๆ ที่คล้ายจะยุ่งยากทำได้ไม่ยากนัก
อย่างที่เขาได้คำตอบกับตัวเองอย่างหนึ่งว่า “มันไม่ได้อยู่ที่คนข้างนอกเขาจะมองเราอย่างไร แต่มันอยู่ที่เรามองตัวเราเองอย่างไรต่างหาก ขอเพียงเรายอมรับมันได้แล้วมีความสุขไปกับมัน เท่านี้เรื่องทุกอย่างก็จบแล้ว” (หน้า 299)
และเมื่ออ่านจนจบแล้วผมก็พบว่า บางทีกุญแจดอกนั้นอาจจะเป็นความจริงใจและการไม่ยอมลงให้กับความจอมปลอมอย่างที่เขาปูพื้นไว้แต่ต้นนั่นเอง.
[พิมพ์ครั้งแรก: Vote]
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น