วันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ขาดๆ เกินๆ ก็กรุงเทพฯ

Bangkok Stories / หลายคนเขียน / Fullstop Publishing, ตุลาคม 2552

Bangkok Stories / Fullstop Publishing

นักเขียนการ์ตูนไทยปัจจุบันมีพัฒนาการใช่น้อย แม้ขนาดตลาดจะจำกัด ทำให้การลงทุนสู้สังคมที่มีความพร้อมกว่าไม่ได้ แต่ในแง่ของฝีมือและมุมมอง ความเฉียบคมไม่เป็นรองใครแน่นอน

สภาพของสังคมไทยมีส่วนอย่างมากในการหล่อหลอมผลงานที่ดีขึ้นมา ท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีขนบธรรมเนียมเดิมอยู่เป็นพื้น และเปิดกว้างต่อความทันสมัย ชีวิตของผู้คนที่ผสมปนเปกันทั้งยากดีมีจน ก่อให้เกิดประสบการณ์ทางความรู้สึกที่แตกต่างกัน เป็นวัตถุดิบชั้นดีสำหรับนักเขียนที่สามารถคลี่คลายจากอิทธิพลที่ได้รับมาเบื้องต้น และต้องการสร้างตัวตนขึ้นมาจากแรงบันดาลใจรายรอบตัว

อาจแบ่งนักเขียนการ์ตูนออกได้เป็น 2 กลุ่มกว้างๆ คือ กลุ่มที่ทำงานตามความต้องการของตลาด กับกลุ่มที่ทำงานตามความต้องการของตัวเอง กลุ่มแรกอาจจะมีรูปแบบและเนื้อหาตามธรรมเนียมการอ่านในวงกว้าง ทั้งในแง่ความบันเทิงหรือในเชิงความรู้ก็ตาม ส่วนกลุ่มหลังจะมุ่งหมายแสดงออกถึงความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง และมีความเป็นตัวของตัวเองมากกว่า แต่ก็จะมีข้อจำกัดในการสื่อสารกับคนวงกว้าง

เพราะความต้องการที่จะบอกเล่าความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง ทำให้ผลงานของนักเขียนในกลุ่มหลังสะท้อนความเป็นไปของสังคมได้มากกว่า นอกเหนือจากความหลากหลายของรูปแบบการทำงานที่แตกต่างกันไปตามลักษณะเฉพาะของตน

มีหลายสำนักพิมพ์ที่รวบรวมนักเขียนการ์ตูนอิสระเหล่านี้เป็นเล่มเฉพาะกิจ ตามแต่ความคิดรวบยอดที่ตั้งขึ้นมา เช่น สำนักพิมพ์ Fullstop ซึ่งมักจะเน้นทำหนังสือที่มีการออกแบบรูปเล่มสวยงาม ก็มีหนังสือการ์ตูนรวมนักเขียนออกมาเป็นระยะ

เล่มหนึ่งคือ Bangkok Stories ซึ่งว่าด้วยเรื่องของกรุงเทพฯ เมืองที่นักเขียนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตและทำงานอยู่นั่นเอง ความน่าสนใจอยู่ที่การดึงเอาบริบทแวดล้อมมาเป็นแรงบันดาลใจในการเขียน จะเห็นถึงมุมมองที่นักเขียนมีต่อสังคม และหากคิดมากหน่อยก็จะเห็นความเป็นจริงของชีวิตและโครงสร้างของสังคมอยู่ในพื้นหลัง

นักเขียนในเล่มนี้ประกอบด้วย ศศิ วีระเศรษฐกุล, องอาจ ชัยชาญชีพ, สุทธิชาติ ศราภัยวานิช, ทรงวิทย์ สี่กิติกุล, ต้องการ, The Duang และ Summer

ธรรมชาติการเล่าเรื่องของการ์ตูนจะประกอบด้วยความเกินจริง (hyperbole) หรือน้อยกว่าความเป็นจริง (understatement) เพื่อลดทอนและขับเน้นสิ่งที่นำเสนอในลักษณะที่ไม่สมจริง เป็นโลกแห่งจินตนาการที่อยู่เหนือความจริง นักเขียนสามารถวาดแต่งเรื่องราวได้อย่างอิสระ แต่การ์ตูนที่ดีก็มักจะเกี่ยวพันกับความเป็นจริงในสังคมอย่างลึกซึ้ง เพียงแต่จะแฝงอยู่ในความเหนือจริงนั้น

อย่างเรื่อง “Going to” ของ ศศิ วีระเศรษฐกุล ใช้ภาพที่ลดทอนมุมมองลงเพียง 2 มิติ จัดองค์ประกอบเรียงกันอย่างง่ายๆ และขยายสัดส่วนเล็กใหญ่ตามความรู้สึก เหมือนสายตาไร้เดียงสาของเด็ก เพื่อถ่ายทอดเสียงเล่าอันบริสุทธิ์ของตัวละคร ซึ่งต้องจากชนบทมาตามหาความฝันในเมือง

เป็นตัวการ์ตูนที่วาดขึ้นมาง่ายๆ ไร้เอกลักษณ์เฉพาะตัว เหมือนจะแทนใครก็ได้ที่คล้ายกัน

ผิดกับเรื่อง “Bangkok Paradise” ของ องอาจ ชัยชาญชีพ ซึ่งตัวละครเป็นมนุษย์ประหลาด มีหัวสี่เหลี่ยมเป็นขนม เขาพยายามปลอมแปลงตัวเอง ด้วยกลัวว่าคนอื่นจะสังเกตเห็นความแปลกประหลาดของตน ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่วาดขึ้นมาหวัดๆ และผู้คนที่เป็นเพียงเค้าโครงไร้อัตลักษณ์ กลับไม่มีใครสนใจใครเลย กระทั่งเกิดเหตุร้ายกับเขาก็ยังไม่มีใครสน

เรื่อง “Bangkok” ของ สุทธิชาติ ศราภัยวานิช ถ่างช่องว่างของการรับรู้ออก มีเพียงถ้อยคำสนทนาทางอินเตอร์เน็ตกับภาพวาดสีน้ำ ซึ่งเป็นโจทย์ของหญิงสาวที่อยู่ห่างไกลให้ชายหนุ่มที่อยู่ในกรุงเทพฯ วาดภาพให้เธอเห็น เป็นกรุงเทพฯ ในสายตาของเขา

คนอ่านจะต้องเชื่อมโยงระหว่างภาพวาดกับบทสนทนาด้วยตนเอง ช่องว่างระหว่างนั้นคือจินตนาการที่นักเขียนได้สอดแทรกการวิพากษ์วิจารณ์สังคมไว้อย่างแหลมคม

เช่นเดียวกับเรื่อง “City of C(V)ulture” ของ ทรงวิทย์ สี่กิติกุล ซึ่งเล่าเรื่องสองมุมมองคู่ขนานกัน ระหว่างคนขับแท็กซี่ที่เพิ่งโกงเงินผู้โดยสาร กับหญิงสาวที่เพิ่งโดนมิจฉาชีพหลอก

ระหว่างคนที่รู้สึกว่า “ถึงจะมาจากต่างจังหวัด แต่ผมก็อยู่ที่นี่นานพอ... นานพอที่จะเป็นคนกรุงเทพฯ” กับคนที่รู้สึกว่า “ฉันอยู่กรุงเทพฯ มาตลอดชีวิต... เพิ่งจะรู้ว่า... ฉันยังรู้จักกรุงเทพฯ ไม่มากพอ...” เมื่อต้องมาพบกัน แล้วใครจะเป็นฝ่ายใจอ่อน

อีกด้านหนึ่ง เรื่อง “BKK © U” ของ ต้องการ ก็บอกเล่าความผูกพันต่อกรุงเทพฯ ของตัวละครหนุ่มสาวที่กำลังจะจากกัน ด้วยลายเส้นสะอาดตาชวนซาบซึ้ง

เรื่อง “Versus” ของ “The Duang” ก็บอกเล่าความสัมพันธ์ของตัวละครที่พบเจอกันในเกมออนไลน์ ด้วยลายเส้นที่หนักแน่นเด็ดขาด ท่ามกลางสภาพแวดล้อมยุ่งเหยิง ตัวละครได้มาพบกันโดยไม่รู้ตัวในเหตุการณ์ที่ไม่คาดหมาย

และเรื่องสุดท้ายคือ “ผมเกิดที่เยาวราช เธออยู่กับน้าที่ปากคลองฯ” ของ Summer เป็นการผูกเรื่องมาจากสิ่งของที่ผู้แต่งนำมาประกอบกันเป็นหุ่นรูปคน อันเป็นของประจำย่านการค้าต่างๆ เช่น เยาวราช วรจักร วังบูรพาฯ คลองถม พลับพลาไชย ปากคลองตลาด พาหุรัด สำเพ็ง ท่าพระจันทร์ พันธุ์ทิพย์พลาซ่า จตุจักร ข้าวของแต่ละอย่างก็สะท้อนสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่รองรับ

นักเขียนในกลุ่มนี้จะมีตัวตนที่โดดเด่น ทั้งลายเส้นและเรื่องเล่า ต่างกันไปตามลักษณะเฉพาะตัว เป็นผลผลิตที่น่าภูมิใจท่ามกลางเงื่อนไขปัจจัยเท่าที่พร้อม หรืออย่างน้อยก็เป็นการแสดงออกของความรักในสิ่งที่ตัวเองทำ.

[พิมพ์ครั้งแรก: Vote]

วันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

แปลกแยกเพื่อกลับคืน

ทรอย ชิน ศิลปินป่วนกรุง ภาค 1 (The Resident Tourist Part 1) / ทรอย ชิน (Troy Chin) - เขียน / พลพงศ์ จันทร์อัมพร – แปล / ฟรีฟอร์มสำนักพิมพ์, มีนาคม 2553

ทรอย ชิน ศิลปินป่วนกรุง ภาค 1 (The Resident Tourist Part 1) / ทรอย ชิน (Troy Chin) - เขียน / พลพงศ์ จันทร์อัมพร – แปล

ชีวิตสมัยใหม่ในสังคมทุนนิยมเห็นมนุษย์เป็นปัจจัยการผลิต การศึกษาและการทำงานก็เป็นไปเพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ มิติความเป็นมนุษย์ในด้านอื่นจึงถูกมองข้าม เมื่อการศึกษาและการทำงานกลายเป็นความกดดัน ทั้งยังไม่อาจเติมเต็มความรู้สึกทั้งหมด มนุษย์สมัยใหม่จึงเกิดอาการที่เรียกว่า “ความแปลกแยก” (alienation) เป็นความกระวนกระวายใจว่างโหวงไร้สาเหตุและไม่อาจคลี่คลาย นอกจากใช้สิ่งอื่นกลบเกลื่อนไปเรื่อยๆ แม้จะมีวิถีชีวิตที่เป็นแบบแผนก็ตาม เช่นนั้นเองยิ่งสังคมมีระบบการผลิตที่เปี่ยมประสิทธิภาพเพียงใด คนก็ยิ่งแปลกแยก และอยากกลับคืนสู่ความเป็นมนุษย์ของตน

แต่ความแปลกแยกก็เป็นวัตถุดิบสำคัญของงานวรรณกรรมและศิลปะสมัยใหม่ เพราะธรรมชาติมนุษย์ย่อมโหยหาจิตวิญญาณที่สมบูรณ์

สิงคโปร์เปรียบเหมือนเมืองหลวงของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้จะเป็นเพียงเกาะเล็กๆ ปลายแหลมมลายู แต่ก็เป็นเมืองท่ามาแต่โบราณ และวางตนเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจสืบเนื่องมา ทำให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางความเจริญในหลายๆ ด้าน

กระนั้นเราก็แทบจะไม่ได้รับรู้ความรู้สึกอันแท้จริงของคนสิงคโปร์มากนัก หากเทียบกับประเทศรายรอบซึ่งจะเห็นการแสดงออกทางวรรณกรรมและศิลปะมากกว่า จะพบเพียงความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคมที่แทบจะหารอยตำหนิด่างพร้อยไม่เจอ ภายใต้การปกครองที่เข้มงวดเคร่งครัด

การ์ตูนของ ทรอย ชิน (Troy Chin) จึงเป็นร่องรอยที่แฝงความขุ่นข้องหมองมัวอยู่ในลายเส้นและเรื่องราวที่เรียบง่าย

ทรอย ชิน ไม่ได้ประกอบอาชีพนักเขียนการ์ตูนมาตั้งแต่แรก เขาเคยทำงานอยู่ในธุรกิจดนตรีที่นิวยอร์กเกือบสิบปี ก่อนจะตัดสินใจหักดิบทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างกลับมายังสิงคโปร์เพื่อเริ่มหัดวาดการ์ตูน ทั้งที่เขาวาดรูปได้ไม่ดีนักตอนเป็นเด็ก

ลายเส้นของ ทรอย ชิน ไม่สมบูรณ์แบบเหมือนการ์ตูนญี่ปุ่น มันยังผิดส่วนไม่ลงตัว แต่จะเห็นความพยายามและตั้งใจมุ่งมั่น ความตั้งใจนั้นสอดรับอย่างสำคัญกับเรื่องราวของการขัดขืนสวนกระแสค่านิยมในสังคม แม้แต่ตัวเองก็ต้องฝืนทำในสิ่งที่ไม่ถนัดมาก่อน ความท้าทายที่จะเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่กลายเป็นความหลงใหลและตื่นเต้น ซึ่งพาให้ผู้อ่านตื่นตัวตามเขาไปด้วย

เนื้อหาในการ์ตูนของ ทรอย ชิน จัดอยู่ในประเภท “นิยายภาพ” (graphic novel) คือไม่ใช่การ์ตูนสำหรับเด็ก แต่เป็นการ์ตูนของผู้ใหญ่ นอกจากนี้สาระแห่งความเป็นมนุษย์ที่นำเสนอก็ลึกซึ้งเข้าขั้นวรรณกรรม

ความแปลกแยกในสังคมสมัยใหม่ทำให้มนุษย์ต้องกลับมาสำรวจการดำรงอยู่ของตน อันเป็นที่มาของปรัชญาและวรรณกรรมแบบ “อัตถิภาวนิยม” (existentialism) การกลับมาสิงคโปร์ของ ทรอย ชิน มิใช่เพราะคิดถึงของกินอย่างที่คนอื่นเข้าใจกัน แต่เพราะเขาอยากสำรวจตัวตนที่ติดค้าง จากความเป็นมาที่หล่อหลอมตัวเขา แม้ว่าสิ่งที่คุ้นเคยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จากความเจริญที่รุกล้ำไม่หยุดยั้ง และไม่สนใจความรู้สึกของใครทั้งนั้น

เปิดเรื่องมาก็จะเห็นความอึดอัดคับข้องของตัวละครที่เต็มไปด้วยความไม่ชอบ เขาไม่ชอบนั่งเครื่องบิน ไม่ชอบตอนเช้าๆ เพราะไม่ชอบเสียงนาฬิกาปลุก ไม่ชอบหิมะเพราะว่ามันสกปรก แม้อยากจะกระโดดแม่น้ำฮัดสัน แต่เขาก็ไม่ชอบความสกปรกของมัน เขาไม่ชอบกินลูกชิ้นเนื้อที่ใครๆ ก็ชอบกัน ไม่ชอบตราเมอร์ไลออนซึ่งเป็นสัญลักษณ์การท่องเที่ยวของสิงคโปร์บนปกซีดีเพลงวงโปรด

เขาไม่เคยพูดว่าชอบรองเท้ากีฬา เขาแค่ซื้อเอาไปใส่วิ่ง เหมือนเขาหาซื้อทีวีซีอาร์ทีที่เลิกขายกันแล้ว เพื่อเอาไปตะแคงเล่นเกม

เขาชอบไปย่านเก่าๆ เพื่อรำลึกถึงอดีต

การเป็นตัวของตัวเอง ไม่ยอมทำตามค่านิยมในสังคม ทำให้เขาโดนทักบ่อยครั้งว่า “เป็นคนสิงคโปร์หรือเปล่า” แม้แต่เพื่อนยังเรียกเขาว่าเป็นนักท่องเที่ยว (tourist) เพราะไม่ยอมทำงานเป็นหลักแหล่ง เฝ้าหมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่คนอื่นไม่เข้าใจ เขากลับมาบ้านเกิดเพื่อค้นหาอะไรบางอย่าง แต่กลับกลายเป็นนักท่องเที่ยวในประเทศของตัวเอง

การ์ตูนเรื่องนี้สะท้อนสังคมสิงคโปร์อย่างที่เป็น ตัวเอกก็เป็นคนสิงคโปร์เต็มตัวอย่างที่เขาตอบคนอื่น แม้พวกเขาจะรู้สึกว่า “ที่นี่น่าเบื่อจะตาย” เพราะบนเกาะเล็กๆ นั้นไม่มีอะไรให้น่าจดจำมากนัก นอกจากศูนย์อาหาร ห้างสรรพสินค้า ทุ่งหญ้าเพียงไม่กี่แห่ง วิถีชีวิตก็อยู่กับการทำงานและพักผ่อนด้วยการบริโภค แต่เมื่อเติมความเป็นมนุษย์ลงไปแล้ว แม้ความสัมพันธ์ผิวเผินกับสิ่งรอบข้างก็มีนัยยะชวนคิด

เรื่องของ ทรอย ชิน น่าจะต้องใจใครหลายคน โดยเฉพาะคนที่เติบโตมาในรุ่นราวคราวเดียวกัน มีประสบการณ์ทางอารมณ์ร่วมกัน ชอบเล่นเกม ชอบฟังเพลง ผูกพันกับข้าวของประดามีอยู่ในโลกส่วนตัว หรือทะเยอทะยานกับความสำเร็จในอาชีพการงาน แม้ตัวละครจะมีความคิดและพฤติกรรมแตกต่างจากคนอื่น แต่ก็ยังเห็นความเอาจริงเอาจังของเขา เรียกได้ว่าความท้าทายของเขาอยู่ระหว่างการวางแผนกับสิ่งที่ไม่อยู่เหนือการควบคุม เหมือนการเล่นเกมที่ไม่อาจเอาชนะ แต่ก็อาจจะได้พบกับสิ่งที่คาดไม่ถึง

“ถ้าคุณจงใจเปลี่ยนทิศทางขณะกำลังเดิน คุณอาจพบกับบางสิ่งที่ไม่คาดฝัน ไอศกรีมให้รสชาติดีกว่า ถึงแม้ว่าคุณจะไม่ชอบผลิตภัณฑ์จากนมก็ตาม”

ความฝันที่ติดค้างอยู่ในใจชวนให้ค้นหาคำตอบ ความสัมพันธ์และมิตรภาพช่วยคลายความโดดเดี่ยว ปลอบประโลมใจได้บ้าง แต่ก็คงไม่มีใครเข้าใจกันได้ทั้งหมด เพราะชีวิตก็คือเกมที่ต้องเล่นคนเดียว และถ้ามันจบแล้วก็ไม่อาจหยอดเหรียญเล่นต่อ ระบบเศรษฐกิจในสังคมทุนนิยมก็เหมือนกับเกมตู้ที่เร่งให้ทุกคนเล่นเร็ว และแน่นอนว่าไม่มีใครเอาชนะมันได้จริงๆ เลย

ตัวละครในลักษณะคนนอกสังคม ขบถต่อค่านิยมของคนส่วนมาก และซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกของตัวเอง เป็นตัวแบบที่พบเห็นได้เสมอในวรรณกรรม ภาพยนตร์ การ์ตูน หรือสื่ออื่นๆ เพียงแต่ต่างกันที่ประสบการณ์เฉพาะ ดังเช่นการ์ตูนของ ทรอย ชิน ที่กลั่นกรองมาจากการดำรงอยู่ของเขาเอง

เป็นสีสันของรายละเอียดที่แตกต่างตามภูมิหลังของสังคม แต่ช่วยต่อเติมความรู้สึกที่คล้ายกัน เพราะเนื้อแท้ในความโดดเดี่ยวของมนุษย์นั้นเหมือนกัน.

[พิมพ์ครั้งแรก: Vote]