วันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2554

จักกาย ศิริบุตร : เปลือกหุ้มและความคลาดเคลื่อน

Shroud / จักกาย ศิริบุตร / หอศิลปวิทยนิทรรศน์ ศูนย์วิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 15 กันยายน – 15 ตุลาคม 2554

“Shroud”  ปี 2554, ถักเชือกป่านลงขี้ผึ้ง  200x200x160 ซม.

[“Shroud” ปี 2554, ถักเชือกป่านลงขี้ผึ้ง 200x200x160 ซม.]

เป็นที่คุ้นเคยจากงานภาพประกอบ ออกแบบ และทำนิตยสาร จักกาย ศิริบุตร ก้าวย่างในวิถีคนทำงานศิลปะด้วยความเข้มข้นทางความคิดมากขึ้นทุกขณะ จากผลงานที่แสดงนิทรรศการในช่วงเริ่มแรก ซึ่งมีสัดส่วนของงานภาพประกอบตกแต่งอยู่มาก ต่อมาจึงเพิ่มคุณค่าความหมายยิ่งขึ้น เมื่อขับเน้นเนื้อหา ขบคิดในประเด็นทางสังคมและวัฒนธรรม แฝงนัยยะเชิงวิพากษ์วิจารณ์ ประกอบกับการเลือกใช้วัสดุและวิธีการนำเสนอที่เสริมสุนทรียศาสตร์ของการรับรู้ให้เด่นชัดในผัสสะ ทั้งในแง่คุณลักษณะและความหมายทางวัฒนธรรม

จักกายร่ำเรียนมาทางศิลปะและออกแบบสิ่งทอจากสหรัฐอเมริกา ทำงานเกี่ยวกับสิ่งทอและแฟชั่น วัสดุและวิธีการที่เขาเลือกใช้ในช่วงหลังเกี่ยวข้องกับงานหัตถกรรม โดยเฉพาะงานผ้าและเย็บปักถักร้อย กลายเป็นว่าเขานำงานฝีมือและแฟชั่นข้ามมาสู่พรมแดนศิลปะ ด้วยการใช้เป็นสื่อนำเสนอความคิด กระทั่งขยายขอบเขตจากงานทัศนศิลป์สองมิติ มาสู่งานสามมิติอย่างประติมากรรมและงานติดตั้งจัดวาง ดังปรากฏในการแสดงผลงานชุดล่าสุดในชื่อ “Shroud”

การสร้างงานศิลปะด้วยงานฝีมือหรือใช้วัตถุสำเร็จรูปของจักกาย มีความคมคายในชั้นเชิงความคิด และมีความงามในนัยยะอันหลากหลาย เล่นล้อกับความหมายในสังคม ทั้งจากวัฒนธรรมชั้นนำและวัฒนธรรมชาวบ้าน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบมาจากข่าวสารความขัดแย้งในสังคมและการเมืองในช่วงเวลาที่ผ่านมา

งานหัตถกรรม เย็บปักถักร้อย หรือปั้นหล่อ เป็นแค่สื่อในการถ่ายทอดความคิดของจักกาย ตัวงานย่อมไม่ได้มีความประสงค์เรื่องประโยชน์ใช้สอยหรือประดับตกแต่งเป็นสำคัญ แต่เป็นพาหนะเพื่อนำเสนอแก่นสารทางศิลปะ ตัวมันเองก็แสดงเนื้อแท้ของสาระด้วยวัสดุนั่นเอง

ตัวอย่างเช่น สองข้างประตูเข้าห้องนิทรรศการ ติดตั้งงานประติมากรรมหล่อเรซิ่นระบายสี 2 ชิ้น คือ “I-Fulness II” และ “I-Fulness I” เป็นรูปปั้นชายชนชั้นกลางแต่งกายภูมิฐานในท่านั่งขัดสมาธิและเดินเยื้องย่าง มือถือโทรศัพท์สมาร์ตโฟน สายตาก็จดจ้องหน้าจอตลอดเวลาด้วยสีหน้าปริ่มสุข บนฐานหล่อซีเมนต์ระบายสีเป็นรูปฝักบัว ประดับลวดลายกลีบบัวแห้ง และดอกบัวลอยพ้นโคลนตม

ขณะที่ผลงานชิ้นเอกของนิทรรศการ คือ “Shroud” ซึ่งติดตั้งอยู่ด้านในนั้น เป็นพระพุทธรูปที่ถักขึ้นมาจากเชือกป่านราคาถูกเคลือบด้วยขี้ผึ้ง แขวนจากเพดาน เรียงกันขึ้นไปเป็นรูปทรงปีรามิดคล้ายเจดีย์

จะเห็นว่าจักกายสะท้อนวัฒนธรรมบริโภคด้วยวัสดุที่มีความมั่นคงแข็งแรง ทั้งยังเลียนอย่างความภูมิฐานของรูปเคารพทางศาสนา ขณะที่พระพุทธรูปกลับถักขึ้นด้วยวัสดุไร้ราคา เบาบาง ลอยแกว่ง มิคงรูปหนักแน่น

เนื้อแท้ของวัสดุที่เลือกใช้เป็นเปลือกนอก กระตุ้นให้เกิดความสงสัยใคร่ครวญต่อแก่นแท้ของสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง

เช่นเดียวกับงาน “Evening News” จักกายนำผ้าเช็ดปากบนโต๊ะอาหารมาปักตามภาพจากหนังสือพิมพ์ เสมือนบันทึกประจำวัน ระหว่างเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองจนนำไปสู่ความรุนแรงในปี 2553 ปรากฏการณ์ความขัดแย้งในสังคมยอกย้อนอยู่ในงานปักผ้า ซึ่งเป็นงานฝีมือที่ต้องใช้ความประณีต และบ่งบอกรสนิยมละเอียดอ่อนของชนชั้นกลาง แต่แทนที่จะเป็นการปักภาพประดับดอกไม้ลวดลายสวยงาม กลับนำมาบันทึกภาพความขัดแย้งทางการเมือง

จักกายนำภาพทั้งหมดมาแขวนแสดงบนเชือกไนล่อน ขึงยาวระหว่างมุมห้องหนึ่งกับอีกมุมหนึ่ง ตัดกันที่กลางห้อง ผ้าที่แขวนตากขุ่นมัวขะมุกขะมอม เย็บผ้าเปล่าอีกผืนปิดบังไว้ด้านหน้า และทำรอยไหม้เผยให้เห็นบางส่วนของภาพปัก หรือถ้ารอดไปอีกฝั่งก็จะเห็นภาพด้านหลังในลักษณะกลับข้าง และร่องรอยระโยงระยางขมวดปมของเส้นด้าย

ด้านล่างบนพื้นห้อง เป็นงานจัดวางที่ชื่อว่า “Tote” ประกอบด้วยถุงผ้าพลาสติกเย็บเป็นรูปศาลาศาลเจ้า และมีหุ่นปูนปลาสเตอร์หล่อเป็นรูปไก่ผสมยีราฟ ห่อด้วยผ้าบางลงขี้ผึ้ง วางเรียงเป็นขบวน เมื่อประกอบกับผ้าเช็ดปากที่แขวนไว้ข้างบนก็แลเหมือนธงทิว กลายเป็นขบวนแห่ของความเชื่อที่ประดิษฐ์ขึ้นจากวัสดุราคาถูก และประกาศรสนิยมชาวบ้าน

บนผนังยังจัดแสดงภาพปักด้วยวัสดุต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเล่นเรื่องความเชื่อ การเมือง และสังคม เช่นปักภาพคนในท่วงท่านางกวักประกอบคาถา ทั้งหุ้มบังและประดับแพรวพราว ในงาน “Hard Work” และ “Come to Me” เพื่อเสียดสีการโฆษณาชวนเชื่อที่ทั้งซ่อนเร้นและเกินจริง หรืองาน “Realpolitik” ก็ปักภาพตัวละครการเมืองในลักษณะล้อเลียนบนผ้านวม

จะเห็นว่าวัสดุเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้งานชุดนี้ของจักกายสัมฤทธิผล อย่างงาน “Blind Faith” ทั้ง 3 ชิ้น เขาก็เพียงนำเครื่องรางอย่างตะกรุด เหรียญจตุคามใส่กรอบพลาสติก และพระเครื่อง มาเย็บติดเต็มเสื้อเครื่องแบบลายพรางทหารจนเป็นเหมือนเสื้อเกราะ กางเกงก็เสริมด้วยผ้าปะเป็นลายอักษรคาถาตัวโตๆ

งาน “Somdej” ทั้ง 3 ชิ้น เขาก็ถักโครเชต์หุ้มพระเครื่องดินเผา แล้วนำมาเย็บติดกันเป็นผืนเดียว เกิดเป็นจังหวะตามความต่างของสีสันและพื้นผิวสัมผัส ซึ่งให้ความรู้สึกอ่อนหวาน แทนที่จะเป็นวัสดุขรึมขลังห่อหุ้มความเชื่อตามคตินิยม

เขานำกระเป๋ากระสอบหลากขนาดมาปะผ้าเป็นตัวเลขและตัวอักษรในงาน “Campaign Promises” แล้วนำมาลงขี้ผึ้งให้คงรูปในลักษณะตั้งบ้างย้วยบ้าง เรียงกันเป็นขบวนเพื่อเสียดสีการหาเสียงเลือกตั้งให้ความหวังแก่ชาวบ้าน ขบวนนี้มุ่งตรงไปที่ภาพปัก 3 ชิ้นสุดท้าย ซึ่งประดับประดาให้หรูหราเกินเลยแบบล้อเลียนในงานชื่อ “Hi-So” “Love” และ “Health”

เปลือกทำหน้าที่ปกปิดภายนอก เนื้อแท้ของเปลือกอาจเปิดเผยสิ่งที่อำพรางอยู่มากกว่านั้น เมื่อลองนำมายักเยื้องแปรผัน จักกาย ศิริบุตร เล่นกับเรื่องความเชื่อในหลายระดับ ตามระบบความเชื่อที่ซับซ้อนในสังคมไทย ซึ่งแม้จะมองไม่เห็นถึงการมีอยู่ แต่กลับปรากฏให้เห็นในหลายรูปลักษณ์ ทั้งยังส่งผลเป็นการกระทำหลายรูปแบบ และอาจจะคลาดเคลื่อนจากความหมายที่แท้จริง

งานของจักกายบอกถึงความเสื่อมของรูปลักษณ์และความหมาย แต่ก็สร้างความหมายใหม่ขึ้นด้วยการเล่นล้อกับสัญลักษณ์ซ้อนเข้าไปในความผิดเพี้ยนของสังคม สร้างความสัมพันธ์ใหม่ขึ้นมาเพื่อคลายความเชื่อที่ผู้คนยึดถือ และพลิกมุมมองต่อความเข้าใจในเรื่องนั้นๆ ไปอีกทาง

เปลือกอาจจะไม่ได้บอกความจริงที่อยู่ในนั้น แต่การเล่นกับเปลือกอาจบอกความจริงได้มากกว่านั้น.

[พิมพ์ครั้งแรก: Vote]