วันพฤหัสบดีที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ชิ้นส่วนที่แตกกระจาย

สูญ เล่ม 1 / สุทธิชาติ ศราภัยวานิช (SS) / LET’S Comic, พิมพ์ครั้งแรก กันยายน 2551

สูญ เล่ม 1 / สุทธิชาติ ศราภัยวานิช (SS)

กระแสวัฒนธรรมย่อยของคนหนุ่มสาวในช่วงทศวรรษ 2540 หรือที่เรียกกันว่า “อินดี้” (independence) ซึ่งมีค่านิยมเน้นความเป็นตัวของตัวเองและการทำเอง ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์ในแนวทางใหม่ๆ ขึ้นในหลายวงการ แต่ส่วนใหญ่ก็จะสลายตัวไปตามกาลเวลา เพราะตลาดไม่ได้ขยายให้มีขนาดพอที่จะรองรับ ส่วนคนที่จะทำต่อก็ต้องปรับตัวหรือยืนยันตัวเองด้วยเงื่อนไขเฉพาะของแต่ละคน

วงการการ์ตูนก็เกิดคนเขียนการ์ตูนที่สร้างรูปแบบใหม่ๆ ขึ้นจำนวนหนึ่ง ด้วยคุณภาพของผลงานที่น่าพึงพอใจไม่น้อย และเมื่อผ่านช่วง “ปล่อยของ” กันมาแล้ว หลายคนก็พยายามจะเกาะกลุ่มกันเพื่อให้ทำงานได้ต่อเนื่อง แต่จะเติบโตได้แค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับการตอบรับของตลาดนั่นเอง

ตัวอย่างของนักเขียนการ์ตูนสายพันธุ์ใหม่ซึ่งมีความโดดเด่นในลักษณะการทำงานที่ใกล้เคียงกันก็เช่น สุทธิชาติ ศราภัยวานิช ผู้เขียน “JOE the SEA-CRET agent” วิศุทธิ์ พรนิมิตร ผู้เขียน “hesheit” และ ทรงศีล ทิวสมบุญ ผู้เขียน “Improvise” ด้วยรูปแบบเฉพาะตัวที่จัดจ้านทั้งลายเส้นและการเล่าเรื่อง สามารถสร้างความเป็นต้นแบบในระดับสากล ทั้งยังสะท้อนสภาพจิตใจของยุคสมัยด้วย

ความรู้สึกที่คล้ายกันอาจแสดงออกผ่านลายเส้นที่รกรุงรังและเต็มไปด้วยร่องรอยเปรอะเปื้อน ตามรสนิยมทางสายตาแบบพวก Maximalism เนื้อหาก็อัดแน่นไปด้วยแรงบันดาลใจอันรกเรื้อและหมิ่นเหม่ออกไปทางด้านมืดของมนุษย์ แต่ก็ไม่ได้ล้ำเส้นศีลธรรม และยังมีขอบเขตความดีงามแบบไทยๆ ตีกรอบอยู่ในสำนึกเสมอ เพียงแต่อาจจะตั้งคำถามต่อแบบอย่างของสังคมด้วยท่าที “ถอดรื้อ” (deconstruction) บ้าง อันเป็นลีลาที่ตกค้างมาจากกระแสทางเลือกในวัฒนธรรมร่วมสมัยยุค ’90

หากจะวัดกันที่การยืนระยะแล้ว ต้องยกให้ สุทธิชาติ ศราภัยวานิช เป็นพี่ใหญ่ของการ์ตูนแนวที่กล่าวมา เพราะเขาสร้างชื่อมาตั้งแต่ตัวการ์ตูนนักสืบหนวดปลาหมึก JOE the SEA-CRET agent ที่ลงในนิตยสาร Katch ซึ่งเป็นสื่อกลางของวัยรุ่นในยุค “สายเดี่ยว” และ Center Point เฉิดฉาย ความโดดเด่นของสุทธิชาติอยู่ที่การสร้างคาแร็กเตอร์ของตัวการ์ตูน อย่างเรื่อง “JOE” เขาสร้างโลกสมมุติขึ้นมาให้พวกสัตว์ทะเลวิวัฒนาการมาใช้ชีวิตอยู่ร่วมในสังคมมนุษย์ด้วย ความแปลกประหลาดของบรรดากุ้งหอยปูปลาต่างๆ เปิดโอกาสให้เขาสร้างตัวการ์ตูนที่มีบุคลิกน่าสนใจขึ้นมากมาย ทั้งที่อยู่ในเรื่อง และแตกออกมาเป็นเรื่องสั้นต่างหาก

เนื้อเรื่องก็ทำให้เป็นสากลไปเสีย ไม่ได้ฝืนเป็นไทยให้พิพักพิพ่วน เส้นสายที่โปรดปรานของเขาคือการเขียนถึงความรกเรื้อรุงรัง อันเป็นร่องรอยของขยะจากวัฒนธรรมบริโภคนิยม ตัวละครในลักษณะหลุดลุ่ยจากแบบแผน และเหล่าคนนอกของสังคม ฉากต่อสู้ที่เละเทะกระจุยกระจาย รสชาติคล้ายยำทะเลรวมมิตร

ความสำเร็จของนักเขียนการ์ตูนวัดกันที่การสร้างคาแร็กเตอร์ให้เป็นที่ประทับใจจดจำ พอมีบุคลิกของตัวการ์ตูนที่ชัดเจนแล้ว เดี๋ยวเรื่องราวก็ตามมาเอง จากเรื่อง “JOE the SEA-CRET agent” และเรื่องปลีกย่อยที่เขาเขียนต่อจากนั้น เป็นข้อพิสูจน์ว่าสุทธิชาติมีความสามารถในการสร้างตัวละครที่โดดเด่นหลากหลาย จะขาดก็แต่เงื่อนไขที่รองรับการทำงานอย่างต่อเนื่องเท่านั้น

จนมาถึงเรื่อง “สูญ” ที่เขาเขียนเป็นประจำลงใน LET’S นิตยสารการ์ตูนไทยรายเดือน ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เปิดโอกาสให้เขาสร้างโลกสมมุติขึ้นมาใหม่ทั้งใบอีกครั้ง และได้แสดงความสามารถในการสร้างคาแร็กเตอร์ของตัวการ์ตูนอันโดดเด่น อย่างเรื่อง “JOE the SEA-CRET agent” เขาสนุกกับการนำข้อมูลสัตว์ทะเลประเภทต่างๆ มาเขียนเป็นการ์ตูน และสำหรับเรื่อง “สูญ” เขาก็นำของเล่นหลากประเภทมาเป็นแรงบันดาลใจ

เหมือนกับเด็กผู้ชายที่ชอบนำของเล่นมาต่อสู้กัน เรื่อง “สูญ” ก็มีเค้าโครงวางอยู่บนการต่อสู้ของ “ทอยส์” ซึ่งเป็นสิ่งประดิษฐ์ของนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องคนหนึ่งชื่อ “กาก้า” (ชื่อเดียวกับขนมกรุบกรอบแถมของเล่นสมัยที่นักเขียนเป็นเด็ก) ทอยส์แต่ละชิ้นจะต้องต่อสู้กันเพื่อช่วงชิงพลังแห่งพระเจ้าที่เรียกว่า “เนอร์วาน่า”

เรื่องราวดำเนินผ่านเด็กผู้หญิงชื่อแชมพูซึ่งมีตุ๊กตาหมีท่าทางห่ามๆ ติดอยู่ที่หลัง มันทำให้เธอไม่โตเป็นผู้ใหญ่ ขณะเดียวกันพลังของเจ้าตุ๊กตาหมีก็ถูกจำกัดด้วย เพราะมันจะยืดร่างเป็นหมีนักสู้ตัวสูงใหญ่คิ้วหนาได้ก็เฉพาะเวลาที่เธอหลับเท่านั้น แต่ก็ต้องมีตัวเธอติดอยู่ที่หลังตลอดเวลา และจะกลืบคืนสภาพเดิมทันทีที่เธอตื่น

เด็กหญิงกับพี่หมีต้องเดินทางออกจากหมู่บ้าน เพื่อไปตามหาหมอที่จะช่วยแยกทั้งสองออกจากกัน ระหว่างทางก็ต้องพบกับเหล่าวายร้าย ซึ่งมักจะกลายเป็นเหยื่อให้พี่หมีได้จัดการยืดเส้นยืดสาย จากนั้นก็พบกับความลับของทอยส์มากขึ้นทุกขณะ

หนังสือเพิ่งออกมาเพียงเล่มแรก หรือ 10 ชิ้น (ตอน) และเพิ่งมีทอยส์ปรากฏตัวเพียง 3 ชิ้น คือ พี่หมีที่ติดอยู่หลังแชมพู บิลด์ที่ประกอบขึ้นมาจากตัวเลโก้ และสามารถแยกร่างประกอบเป็นอะไรก็ได้ และ MIYATA ที่เป็นแค่โครงประกอบกลวงๆ แต่เมื่อมันไปแตะโดนใครเข้า ร่างของคนผู้นั้นจะแยกชิ้นส่วนกลายเป็นโมเดลของเล่นไปทันที แถมด้วย Mr.G ที่เป็นผู้บันทึกเรื่องราวทั้งหมด

ตามเนื้อเรื่องจะต้องมีทอยส์ถึง 100 ชิ้น แต่เพียงแค่นี้ก็สนุกกับจินตนาการอันบรรเจิดของผู้เขียนแล้ว

ความเปลี่ยนแปลงในลายเส้นของสุทธิชาติจะเห็นได้จากการลดความรกรุงรังลงกว่าแต่ก่อน และมีความชัดเจนมากขึ้น รวมถึงความชัดเจนในแนวคิดที่นำเสนอด้วย แต่ลักษณะของภาพที่เป็นเหมือนลายเซ็นของเขาก็ยังมีให้เห็นอยู่เสมอ เช่น ฉากปะทะกันกระจุยกระจาย หรือสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมพังทลาย

“ลายเซ็น” อันหนึ่งที่เห็นมาตั้งแต่ JOE คือการเขียนภาพตัวการ์ตูนที่ขาดวิ่นหลุดลุ่ยไปซีกหนึ่ง จนเห็นเนื้อหนังมังสาภายในกะรุ่งกะริ่งเป็นชิ้นๆ เช่นเดียวกับโลโก้เรื่อง “สูญ” ที่เป็นวงกลมหลุดลุ่ยยุ่งเหยิงไปแถบหนึ่ง นั่นเป็นมโนภาพที่สะท้อนความรู้สึกของยุคสมัย การตระหนักถึงความเสื่อมสลายอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าจะอยู่ท่ามกลางสังคมบริโภคอันล้นเกินก็ตาม

การทำหน้าที่ของการ์ตูนในการปลดปล่อยอารมณ์ดิบหยาบในจิตใต้สำนึกออกมาเป็นจินตภาพที่เกินจริงเป็นศิลปะอันละเอียดอ่อน ไต่ขอบเส้นศีลธรรมเฉียดฉิว ก้ำกึ่งอยู่ระหว่างอารมณ์ขันกับความห่าม เช่นนั้นเองการ์ตูนที่ตั้งหน้าตั้งตาสอนศีลธรรมโดยตรงจึงมักจะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะกลไกการทำงานของการ์ตูนจะคล้ายกับความฝันเวลาหลับ มันจะช่วยขัดเกลาจิตใจด้วยการจำลองสถานการณ์ที่เกินจริงทั้งในด้านบวกและลบ เพื่อให้สภาพจิตที่ผ่านการปะทะขัดแย้งมาในชีวิตประจำวันได้ปรับสมดุล ยิ่งวิถีชีวิตมีความยุ่งเหยิงมากแค่ไหน ความเกินจริงในจินตนาการก็จะผกผันรุนแรงเท่านั้น

การ์ตูนที่ผู้เขียนสร้างขึ้นมาด้วยเงื่อนไขอันเป็นอิสระ ไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่กับข้อจำกัดของตลาดมากเกินไปนัก จึงมีคุณค่าในฐานะภาพสะท้อนสังคมได้ดีเช่นเดียวกับงานวรรณกรรมหรือศิลปะแขนงอื่น และ สุทธิชาติ ศราภัยวานิช ก็เป็นหนึ่งในนักเขียนการ์ตูนคนสำคัญของเราในยุคสมัยปัจจุบัน.

[พิมพ์ครั้งแรก: Vote]