วันเสาร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2554

กมล ทัศนาญชลี : ทัศนธาตุแห่งเสรีภาพและจิตวิญญาณ

นิทรรศการผลงานศิลปะ 67 ปี กมล ทัศนาญชลี ศิลปินสองซีกโลก / หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ / 5 กุมภาพันธ์ – 29 มีนาคม 2554

“Buddha Footprint, Nang-Yai Series II” สื่อผสม, ปี 2525

[“Buddha Footprint, Nang-Yai Series II” สื่อผสม, ปี 2525]

ประดาศิลปินไทยที่ไปใช้ชีวิตและทำงานศิลปะในต่างประเทศจนประสบความสำเร็จ อาทิ สมบูรณ์ หอมเทียนทอง และสมยศ หาญอนันทสุข ในเยอรมนี ชวลิต เสริมปรุงสุข ในเนเธอร์แลนด์ หรือ ธนะ เลาหกัยกุล ในสหรัฐอเมริกา นามของ กมล ทัศนาญชลี นับเป็นแบบอย่างที่โดดเด่น และมีบทบาทหรืออิทธิพลต่อวงการศิลปะในบ้านเราไม่น้อย ทั้งแนวทางการสร้างสรรค์และกิจกรรมส่งเสริม

อย่างน้อยต้องถือว่าเขาเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกศิลปะสื่อผสมและจัดวาง

เขาได้ทุนไปเรียนต่อที่อเมริกาตั้งแต่ปี 2512 และใช้ชีวิตทำงานศิลปะอยู่ที่นั่นจนเป็นที่ยอมรับ นำผลงานกลับมาแสดงในเมืองไทยครั้งแรกปี 2515 จากนั้นก็กลับมาทำกิจกรรมสม่ำเสมอ จนเป็นที่คุ้นเคยในหมู่ผู้ชมงานศิลปะ และเห็นพัฒนาการในการทำงานของเขาโดยลำดับ กระทั่งได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรมสื่อผสม) ในปี 2540 แม้เขาจะไม่ได้ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในประเทศไทยก็ตาม

เรียกได้ว่ากมลเป็นสะพานเชื่อมโยงโลกศิลปะในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือว่าเป็นมหาอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม และเป็นผู้นำของประเทศฝ่ายเสรีประชาธิปไตยในยุคสงครามเย็น มาสู่โลกศิลปะในประเทศไทย ผ่านรูปธรรมที่เป็นผลงานของเขา

ขณะเดียวกันกมลก็ได้นำวัตถุดิบและแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมไทยไปสร้างสรรค์จนเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ดังเช่นผลงาน “Buddha Footprint, Nang Yai Series II” ปี 2525 ซึ่งปรากฏอยู่ในหนังสือ “2000 Gardener’s Art Through the Ages 11th Edittion” ร่วมกับศิลปินระดับโลกมากมาย มันก็เป็นงานในชุดที่เขาได้แรงบันดาลใจจากรูปทรงของหนังใหญ่ เค้าร่างของรอยพระพุทธบาท ประกอบกับวัสดุอย่างโครงไม้ไผ่ และพื้นผิวของกระดาษทำมือที่มีส่วนผสมของเยื่อกระดาษสา

งานศิลปะของกมลจัดเป็นงานนามธรรมและกึ่งนามธรรมที่สำแดงตัวตนของศิลปินผ่านร่องรอยของกระบวนการแสดงออกในวิธีการที่หลากหลายผสมผสานกัน แม้จะใช้ภาพลักษณ์ที่เข้าใจได้หรือสัญลักษณ์อื่นใดก็มักจะไม่มีความหมายเด่นชัด นอกจากเป็นส่วนผสมของทัศนธาตุทางศิลปะที่แสดงความงามผ่านรูปทรงเส้นสีหรือคุณลักษณะของวัสดุเท่านั้น เป็นอิทธิพลที่เห็นได้ชัดจากศิลปะสมัยใหม่แบบอเมริกัน โดยเฉพาะแนวทางแบบ “Abstract Expressionism” ซึ่งเน้นให้ศิลปินค้นพบตัวเองด้วยการสำแดงออกอย่างอิสระ แสดงตัวตนผ่านร่องรอยที่ปรากฏ ความสำเร็จอยู่ที่การมีปัจเจกภาพที่โดดเด่น อันเป็นทรรศนะตามปรัชญาแบบเสรีนิยม ซึ่งให้ความสำคัญกับเจตจำนงเสรีของปัจเจกบุคคล ทั้งในทางความคิดและการกระทำ

ก่อนที่จะไปจากเมืองไทยและช่วงที่อยู่ในอเมริกาขวบปีแรก กมลยังทำงานศิลปะในแนวสะท้อนสังคม กระทั่งเขาปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระทั้งทางวิธีการและเนื้อหา ทำงานจิตรกรรมและภาพพิมพ์ที่ผสมผสานหลายเทคนิคเข้าด้วยกัน เป็นจินตภาพอิสระที่แสดงร่องรอยของการแสดงออกตามจิตใต้สำนึก ผลสำเร็จใดเป็นที่พึงพอใจก็ทำซ้ำ จนกระทั่งเกิดเป็นจักรวาลหรือภาษาที่เป็นต้นแบบของตัวเองขึ้นมา

มิเพียงแสดงถึงสภาวะและบุคลิกเฉพาะตัว เขายังนำรูปทรงของวัตถุใกล้ตัวศิลปินอย่างหลอดสี จานสี ลูกกลิ้ง เกรียง มาขยายความและแปรสภาพในหลายวิธีการ เป็นที่รู้จักกันในชุด “Artist’s Colors” ซึ่งเริ่มจากนำงานภาพพิมพ์มาเป็นวัสดุในการทำหลอดสีจำลองขนาดใหญ่เกินจริง แล้วจัดวางติดตั้งในแนวคิดต่างๆ ทั้งในห้องแสดงงาน และสภาพแวดล้อมในธรรมชาติ นอกจากนี้เขายังจำลองหลอดสีและอุปกรณ์ทำงานศิลปะด้วยวัสดุอื่นๆ ทั้งโลหะ ไม้ เรซิ่น แขวนลอยเป็นประติมากรรมโมบาย หรือทำเป็นประติมากรรมขนาดใหญ่ติดตั้งในพื้นที่สาธารณะ ประกอบน้ำพุ น้ำตก หรือไฟนีออน

หลอดสีของกมลเป็นจินตภาพสำเร็จรูปที่นำมาใช้ล้อเลียนอย่างพวกป็อปอาร์ต หรือบางครั้งก็เป็นจินตนาการเหนือจริงอย่างพวกเซอร์เรียลิสม์ แต่ล้วนเป็นการตอกย้ำเนื้อหาที่เป็นการพูดถึงโลกส่วนตัวของศิลปิน และการหมกมุ่นอยู่กับศิลปะ ภาพพิมพ์บนหลอดสีจำลองหรือประติมากรรมหลอดสีโลหะขนาดใหญ่ในพื้นที่สาธารณะ เป็นการแสดงจินตนาการของศิลปินด้วยเครื่องมือของศิลปินเอง เป็นศิลปะที่ยกย่องศิลปะหรือตัวมันเอง และเป็นเสรีภาพในตัวเองโดยสมบูรณ์

ต่อมาในปี 2518-19 กมลเริ่มทำงานสื่อผสมบนกระดาษทำเอง และเยื่อกระดาษสาที่นำมาจากเมืองไทย พื้นผิวและขอบที่ไม่เรียบร้อยของกระดาษทำมือให้อารมณ์เป็นอิสระกว่าวัสดุอุตสาหกรรม และยังให้ความรู้สึกถึงชีวิตและธรรมชาติมากกว่า ประกอบกับการทำงานศิลปะในสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ อย่างการนำงานชุดหลอดสีไปติดตั้งและโรยสีฝุ่นในทะเลทราย ทำบนหิมะ ภูเขา ชายทะเล หรือแม้แต่ท้องนาในเมืองไทย ทำให้เขาพบประสบการณ์ของพลังธรรมชาติที่เข้ามามีส่วนร่วมในสถานการณ์ที่ศิลปินสร้างขึ้นมา การสำแดงปัจเจกภาพของศิลปินในงานของกมลจึงไม่ได้เป็นแค่เรื่องของวิธีการและทัศนธาตุทางศิลปะ แต่ยังมีมิติลี้ลับของพลังชีวิตและธรรมชาติแฝงอยู่ด้วย หรือเรียกได้ว่ามีมิติทางจิตวิญญาณ

เสรีภาพในงานศิลปะของกมลจึงไม่ใช่เสรีภาพทางความคิดและการกระทำเท่านั้น แต่ยังสื่อถึงเสรีภาพทางจิตวิญญาณที่เชื่อมโยงสู่ชีวิตและธรรมชาติ

เสรีภาพในศิลปะตะวันตก และจิตวิญญาณในศิลปะตะวันออก แสดงพื้นฐานเด่นชัดเมื่อกมลเริ่มนำเค้าโครงของหนังใหญ่ไปสร้างสรรค์ ตั้งแต่ปี 2523 และประสบความสำเร็จอย่างมาก ด้วยโครงสร้างไม้ที่ทาบลงบนตัวงานรูปทรงอิสระ เหมือนเป็นโครงยึดเกาะอยู่ภายในแทนกรอบจำกัดภายนอก และยังเป็นขาตั้งหรือที่จับเหมือนเวลาจะเชิดหนังใหญ่ด้วย

ต่อมาเขาก็นำเค้าโครงของรอยพระพุทธบาทและสัญลักษณ์ในศิลปะไทย รวมถึงวัสดุที่บ่งบอกถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมปะปนลงในการทำงานศิลปะของเขา

จากนั้นก็ได้ศึกษาศิลปะและวิถีชีวิตของอินเดียแดงในหลายพื้นถิ่น แล้วสร้างงานชุดอเมริกันอินเดียนขึ้นมา โดยใช้เค้าโครงของหนังใหญ่และกระดาษทำมือ ผสมสีสัน สัญลักษณ์ และวัสดุของอินเดียนแดงลงไปในงาน ขับมิติลี้ลับด้านจิตวิญญาณที่เชื่อมโยงถึงธรรมชาติให้เด่นชัดขึ้นอีก

งานในยุคหลัง เขามักจะใช้รูปทรงและสัญลักษณ์ที่สื่อเนื้อหาถึงพลังธรรมชาติ และการทดลองทางเทคนิคอื่นๆ อย่างเซรามิก และจิตรกรรมสีน้ำ ซึ่งยังคงแสดงตัวตนผ่านร่องรอยที่คุ้นตา และเป็นภาพแทนของพลังสร้างสรรค์และธรรมชาติเช่นกัน

สภาวะอารมณ์ อุดมคติ และความทรงจำ ซ้อนผสานอยู่ในการสร้างสรรค์ของศิลปิน จากเสรีภาพทางความคิดและการกระทำ นำไปสู่อิสรภาพทางจิตวิญญาณ และความกลมกลืนกับธรรมชาติในเบื้องท้าย ดังจะเห็นจากการทำงานในปัจจุบันของ กมล ทัศนาญชลี และการเดินทางอันยาวไกลของเขา.

[พิมพ์ครั้งแรก: Vote]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น