วันอังคารที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2553

My Name is Red : พลังแห่งตัณหาและความงาม

นวนิยาย : My Name is Red / นักเขียน : ออร์ฮาน ปามุก (Orhan Pamuk) / ผู้แปล : นันทวัน เติมแสงสิริศักดิ์ / Bliss Publishing, พิมพ์ครั้งแรก กุมภาพันธ์ 2553

นวนิยาย : My Name is Red / นักเขียน : ออร์ฮาน ปามุก (Orhan Pamuk) / ผู้แปล : นันทวัน เติมแสงสิริศักดิ์

นวนิยายเปิดเรื่องด้วยเสียงเล่าอันเป็นกระแสสำนึกของศพที่ก้นบ่อน้ำ ซึ่งถูกฆ่าตายอย่างโหดเหี้ยม ด้วยฝีมือของฆาตกรที่ทิ้งไว้เป็นปริศนาไม่รู้ว่าเป็นใคร ผู้อ่านจะได้รับรู้ตามมุมมองที่จำกัดของเสียงเล่า คือรู้ว่าผู้ตายเป็นหนึ่งในนายช่างเอกที่ทำงานวาดภาพตกแต่งหนังสือของราชสำนัก และมีความขัดแย้งเกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาและงานที่ทำ กระทั่งมีภัยถึงแก่ชีวิต

ด้วยปมฆาตกรรมนี้เปิดความใคร่รู้ให้อยากติดตามไปตลอดทั้งเรื่อง

จากนั้นนวนิยายจะเปลี่ยนมุมมองของเสียงเล่าเป็นตัวละครอื่น ซึ่งต่างเล่าเรื่องของตัวเอง และเกี่ยวพันกันอย่างหลวมๆ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เสียงเล่าดังกล่าวจะสลับกันไปมาตลอดทั้งเรื่อง จนเห็นเป็นกลวิธีการประพันธ์ที่โดดเด่นของนวนิยาย

และที่แปลกไปกว่านั้นคือ มิใช่มีเพียงเสียงเล่าของคนปรกติธรรมดา นอกจากเสียงเล่าของวิญญาณผู้ตายแล้ว ยังมีเสียงเล่าของฆาตกรที่แฝงอยู่ในตัวละครใดตัวละครหนึ่ง เสียงเล่าของตัวตน (อีกคน) ที่แฝงอยู่ภายในตนเอง เสียงเล่าของภาพที่เขียนขึ้นมา เช่น หมา ต้นไม้ ม้า ภาพนักพรตเถื่อน ตลอดจนมัจจุราช และซาตาน กระทั่งเสียงเล่าของวัตถุเช่นเหรียญทอง และเสียงเล่าของสีแดง

ทั้งเสียงเล่าของบุคคลและบุคลาธิษฐานของสิ่งที่สมมติขึ้นมาเสมือนคน ล้วนมีพื้นอารมณ์ในกระแสสำนึกออกไปทางเผยความต้องการเบื้องลึกในจิตใจตน ทั้งความต้องการทางโลกธรรมดา ความต้องการเชิงอุดมคติความเชื่อ ตลอดจนความต้องการในกิเลสตัณหาที่เกินเลย หรือวิปริตไปจากธรรมดา

เมื่อเป็นเรื่องของเหล่าศิลปินที่ท่วมท้นไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกอันพลุ่งพล่าน รสชาติของนวนิยายโดยรวมจึงออกไปทางจัดจ้าน เหมือนคุณลักษณะของสีแดงที่เป็นชื่อเรื่อง

“หากเราแตะมันด้วยปลายนิ้ว มันจะให้ความรู้สึกเหมือนเหล็กผสมทองแดง ถ้าเราจับมันมาใส่ในฝ่ามือ มันจะแผดเผา ถ้าเราลิ้มชิมรส มันจะเข้มข้นเหมือนเนื้อหมักเกลือ ถ้าเราจับมันใส่ปากก็จะรู้สึกเต็มปากเต็มคำ ถ้าเราดม มันจะมีกลิ่นเหมือนม้า หากมันเป็นดอกไม้ กลิ่นมันจะเหมือนดอกเดซี ไม่ใช่กุหลาบแดง” (หน้า 257)

เสียงเล่าที่สลับกันไปมานี้นับแล้วมีอยู่ประมาณ 20 เสียง สะท้อนแง่มุมต่างๆ ของฉากในนวนิยายอันเป็นเรื่องอิงประวัติศาสตร์ ย้อนกลับไปในปี ค.ศ.1591 หรือหนึ่งปีก่อนครบรอบหนึ่งพันปีของศักราชฮิจเราะห์ในศาสนาอิสลาม เหตุการณ์เกิดขึ้นในกรุงอิสตันบูล เมืองหลวงของจักรวรรดิออตโตมาน ตรงกับรัชสมัยของสุลต่านมูราตที่สาม อันเป็นยุคทองของจิตรกรรมออตโตมาน ซึ่งสืบทอดแบบอย่างของศิลปะในโลกอิสลามที่พัฒนาต่อเนื่องกันมาหลายร้อยปี

ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในปูมหลังทางวัฒนธรรมของตน ประกอบกับความเป็นเลิศในการสำแดงออกผ่านวรรณกรรมสมัยใหม่ ทำให้ ออร์มาน ปามุก (Orhan Pamuk) นักเขียนชาวตุรกี สรรค์สร้าง “My Name is Red” (ปี ค.ศ.1998) ขึ้นมา จนเป็นผลงานชิ้นเอกของยุคสมัย สมกับเกียรติยศที่ได้รับในเวลาต่อมา อาทิ รางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม ในปี ค.ศ.2006 เป็นต้น

จักรวาลวิทยาในนวนิยายเรื่อง “My Name is Red” จึงเป็นส่วนผสมของโลกทัศน์ในวรรณกรรมสมัยใหม่ที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง และเรื่องเล่าในสมัยโบราณซึ่งสรรพสิ่งล้วนมีความสำคัญทัดเทียมกันในสายตาของพระเจ้า กระทั่งอาจจะมีตัวตนหรือจิตวิญญาณของตนเอง

เสียงเล่าแต่ละเสียง เหมือนกระดาษแต่ละแผ่นที่จิตรกรแยกย้ายกันไปวาดภาพตามความคิดและทักษะของตน ตามกระบวนการทำหนังสือสมัยก่อนที่จะมีแท่นพิมพ์ ซึ่งต้องอาศัยการทำด้วยฝีมือที่วิจิตรบรรจง หรืออาจจะมีข้อผิดพลาด นั่นเป็นทั้งเสน่ห์และความยุ่งยากในการอ่านตามความคุ้นเคย เพราะผู้อ่านจะต้องรวบรวมเสียงเล่าแต่ละแผ่นเป็นเรื่องราวเดียวกัน ขณะเดียวกันก็ต้องแกะรอยความผิดพลาดที่ปรากฏ เพื่อค้นหาเงื่อนปมในจิตใจมนุษย์ อันเป็นผลกระทบจากสภาพแวดล้อมของสังคม หรือความขัดแย้งในตนเอง

เงื่อนปมฆาตกรรมก็คือเงื่อนปมในจิตใจคน และเงื่อนปมของปัญหาในสังคมมนุษย์

วรรณกรรมปัจจุบันที่อยู่ในแนวคิดหลังสมัยใหม่ไม่ได้มีท่าทียกย่องมนุษยนิยมเหมือนวรรณกรรมสมัยใหม่ยุคแรก ตรงกันข้าม - กลับพยายามสะท้อนหรือชำแหละความบกพร่องของมนุษย์ออกมามากกว่า นวนิยายของ ออร์ฮาน ปามุก เรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน จะพบว่าเขาเขียนถึงพลังทางจิตใจของมนุษย์ที่สำแดงออกมาในการสร้างสรรค์งานศิลปะ ซึ่งทั้งน่าชื่นชมสรรเสริญและน่าพรั่นพรึงไปพร้อมกัน เพราะเส้นแบ่งของความรู้สึกถึงความงามกับตัณหาราคะนั้นอยู่ใกล้กันนิดเดียว เพียงรอยต่อของการเปลี่ยนผ่านหรือระหว่างการเสียระเบียบควบคุมตามแบบแผนเดิม เสรีภาพแห่งตัวตนก็อาจจะเปิดเผยความน่าเกลียดน่ากลัวออกมา หลังจากถูกกดทับอยู่ภายใต้อาณาจักรของพระเจ้ามาเนิ่นนาน

เรียกได้ว่ามนุษย์นั้นไม่สง่างามนัก หากการยอมรับความจริงในความไม่สมบูรณ์นั้นคือความงามของวรรณกรรมในยุคหลัง

“My Name is Red” ถ่ายแบบความซับซ้อนในธรรมชาติความเป็นมนุษย์ ผ่านการสืบค้นทางจิตวิทยา และตีแผ่อำนาจของความต้องการในจิตใจเบื้องลึก ด้วยการแสดงออกทางอารมณ์ที่เข้มข้นในหมู่ศิลปิน ซึ่งเป็นกลุ่มอาชีพที่ต้องอาศัยแรงผลักดันจากความรู้สึกภายในเกินธรรมดาสามัญ เพียงแต่อาจจะอยู่ในกรอบเกณฑ์หรือธรรมเนียมการสร้างงานที่ต่างกันไปในแต่ละยุคสมัย หรือปลดปล่อยผ่านความทะเยอทะยานสู่ความเป็นเลิศของฝีมือและชื่อเสียง

เสน่ห์ของเรื่องอยู่ที่ข้อมูลรายละเอียดในชีวิตประจำวันและสังคมของเหล่าจิตรกรแห่งราชสำนักออตโตมาน ตลอดจนกระบวนการทำหนังสือภาพวิจิตร ประวัติจิตรกร และความเป็นมาของลักษณะเฉพาะทางจิตรกรรม ทั้งรูปแบบและเนื้อหา รวมถึงหลักนิยมทางสุนทรียภาพ และผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงหรืออิทธิพลของรูปแบบศิลปะจากภายนอก โดยเฉพาะจากสังคมตะวันตก ซึ่งเป็นปมขัดแย้งสำคัญของเรื่องด้วย

ลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์เหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องประดับตกแต่งให้เกิดรสชาติแปลกใหม่ในนวนิยายเท่านั้น ยังเป็นเค้าโครงให้เหตุการณ์ต่างๆ เกาะเกี่ยวกันเป็นเนื้อเรื่องขึ้นมาด้วย เพื่อรองรับมุมมองและทรรศนะที่คมคายของผู้ประพันธ์

ความขัดแย้งระหว่างแนวนิยมในการสร้างสรรค์ศิลปะแบบตะวันออกและตะวันตก กลายมาเป็นปมเหตุที่ทำให้เกิดการฆาตกรรม เพราะแฝงไว้ด้วยการแสวงอำนาจและการสูญเสียประโยชน์ อันเป็นผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น

ภายใต้ความขัดแย้งในโครงสร้างใหญ่นั้นคือการเผยโฉมหน้าของมนุษย์ซึ่งมีความขัดแย้งภายในตนเอง ระหว่างเหตุการณ์ที่เคลื่อนเปลี่ยนไปในประวัติศาสตร์ เผยให้เห็นชีวทัศน์ของผู้คนในเชิงจิตวิทยา ต่างคนต่างดิ้นรนไขว่คว้าไปตามสิ่งที่ตนปรารถนา หากความเปลี่ยนแปลงนั้นนำความหวังมาให้บางคน และนำความสูญเสียมาให้บางคน กระทั่งกลายเป็นโศกนาฏกรรมที่ยากจะหลีกเลี่ยง

การดำเนินเรื่องดูเหมือนจะให้ตัวละครที่ชื่อ “แบล็ก” เป็นตัวเอกและศูนย์กลางของเรื่องราวทั้งหมด เขาพลัดไปอยู่ที่อื่นนานนับสิบปี ก่อนจะกลับมาสู่นครหลวงอิสตันบูลที่เป็นบ้านเกิด เพื่อช่วยน้าของเขาทำหนังสือลับเฉพาะ ตามคำสั่งขององค์สุลต่าน ขณะเดียวกันเขาก็ต้องเยียวยาบาดแผลเกี่ยวกับความรักที่มีต่อเชคูเร - ม่ายสาวลูกสองซึ่งเป็นบุตรสาวของน้าด้วย

แบล็กต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรม ทั้งในฐานะผู้ต้องสงสัยและผู้สืบสวน เขาอยู่ตรงกลางระหว่างความขัดแย้งในชีวิตส่วนตัวกับความขัดแย้งในระดับจักรวาลวิทยาซึ่งคุกรุ่นอยู่ในสังคม

เสียงเล่าในมุมมองต่างๆ ก็คือการเผยปัญหาในแต่ละด้านออกมา

การฆาตกรรมคือสัญญาณของการเสียระเบียบแห่งจักรวาล ซึ่งนำไปสู่ความล่มสลายทางจิตวิญญาณ เมื่อสัญชาตญาณดิบฉวยโอกาสสำแดงตัวในระหว่างรอยต่อของการเปลี่ยนผ่านที่ไม่ราบรื่นนัก

หลักการสร้างสรรค์งานศิลปะของวัฒนธรรมตะวันออกจะเป็นเรื่องของโลกในอุดมคติมากกว่า ขณะที่การสร้างสรรค์ศิลปะของวัฒนธรรมตะวันตกจะเป็นเรื่องของโลกทางกายภาพที่มนุษย์ประจักษ์เห็น

อย่างงานจิตรกรรมของอิสลามถือเป็นงานศิลปะตกแต่งเท่านั้น หรือเป็นการจำลองมโนภาพของโลกที่พระเจ้าทรงเห็น การวาดภาพเลียนแบบความเป็นจริงตามที่ตาเห็นถือเป็นเรื่องที่ขัดต่อหลักศาสนา เพราะจะเป็นการสร้างสัญลักษณ์หรือรูปเคารพขึ้นมา และการสร้างก็เป็นการตีตนเสมอพระเจ้า

“อย่าลืมสิว่าในพระคัมภีร์อัลกุรอาน หน้าที่ ‘ผู้สร้าง’ เป็นของอัลลอฮ์ พระองค์ต่างหากเป็นผู้สร้างสิ่งไม่มีตัวตนให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา พระองค์ประทานจิตวิญญาณให้กับสิ่งไม่มีชีวิต ใครหน้าไหนก็ไม่มีสิทธิ์ต่อกรกับพระองค์ บาปหนักหนาที่สุดคือการที่จิตรกรตีตนเสมอพระองค์ ยกตนขึ้นเป็นผู้สร้างเสียเอง” (หน้า 222)

ตามธรรมเนียมศิลปินจะเก็บซ่อนอารมณ์ปรารถนาและความเป็นตัวเองไว้ภายใต้ศรัทธา และแปรเป็นเครื่องส่งเสริมความงามให้แก่ศรัทธานั้น มิใช่เพื่อความพึงพอใจส่วนตน

และเจตจำนงนั้นเองที่เป็นตัวกำหนดรูปแบบของศิลปกรรม

“สิ่งสำคัญคือการวาดด้านลึกลับของสิ่งที่เราไม่รู้จัก ไม่ใช่อะไรที่เราเห็นแจ่มแจ้งอยู่แล้ว” (หน้า 179)

ขณะที่แนวคิดแบบมนุษยนิยมเริ่มเจริญเติบโตขึ้นในสังคมตะวันตก จิตรกรตะวันตกสั่งสมทักษะและวิชาการในการวาดภาพเหมือนจริงตามที่ตาเห็น แม้แต่ชาวบ้านร้านตลาดก็นิยมเขียนภาพเหมือนของตัวเองประดับผนัง ซึ่งสำหรับจิตรกรมุสลิมในสมัยนั้น การเขียนภาพมนุษย์ไว้ตรงกลาง หรือการเขียนภาพเหมือน ล้วนเป็นความผิดบาปอย่างร้ายแรง

กระนั้นด้วยวิสัยของศิลปิน การเขียนภาพแนวใหม่ย่อมเย้ายวนแรงเร้าภายในอย่างมาก และยิ่งเป็นแรงเร้าของความเป็นมนุษย์ที่ถูกกดทับอยู่ภายใต้ประเพณีดั้งเดิมมายาวนาน อารมณ์ปั่นป่วนระหว่างความต้องการและการหวงห้ามย่อมกระฉอกล้นออกมาเป็นความผิดเพี้ยน

แต่ก็ยังมีบางคนที่พยายามประนีประนอม หาทางประสานสองแนวทางเข้าด้วยกัน เช่นน้าของแบล็ก ซึ่งรับผิดชอบทำหนังสือพิเศษให้แก่องค์สุลต่าน หนังสือเล่มนี้จะใช้วิธีวาดภาพและการมองโลกแบบชาวตะวันตกเข้ามาผสมผสานด้วย เพื่อสำแดงฝีมือของจิตรกรเอกแห่งราชสำนักออตโตมานให้เป็นที่ประจักษ์

“จิตรกรฝรั่งใช้ศิลปะการวาดรูปคนอวดศักดาเหมือนเด็กที่ชอบเอาชนะ หากเรานำมาใช้บ้าง ไม่เพียงจะช่วยเสริมสร้างบารมีให้ฝ่าบาท แต่ยังเสมือนเป็นกำลังรับใช้ศาสนาของเราด้วย เพราะทำให้คนที่พบเห็นตกอยู่ใต้มนตร์สะกด” (หน้า 156)

เพราะเป็นวิธีการที่ขัดต่อหลักศาสนา ดังนั้นจึงต้องเก็บเรื่องนี้ไว้เป็นความลับ แต่คนที่เกี่ยวข้องก็ใช่ว่าจะเห็นชอบตามทั้งหมด ด้วยความหวาดหวั่นต่อการเปลี่ยนแปลง ประกอบกับความหวาดกลัวต่อความเชื่อเดิม ขับให้เกิดเรื่องเลวร้ายขึ้นมา

แสดงให้เห็นถึงความยุ่งยากของการผสมผสาน ซึ่งยากที่จะกลมกลืนกันโดยไม่ผิดเพี้ยนอัปลักษณ์ เนื่องเพราะมาจากหลักสุนทรียศาสตร์ที่ต่างกัน

“สมมติเราเดินไปตามถนนเส้นหนึ่ง ถ้าเป็นภาพวาดฝรั่ง การวาดแบบมีมิติจะทำให้เราเดินหลุดออกมานอกกรอบและนอกภาพวาด แต่หากเป็นภาพวาดที่ทำขึ้นตามแนวทางของจิตรกรเอกเฮราต มันจะนำพาเราไปยังสถานที่ซึ่งอัลลอฮ์ทรงมองดูเราอยู่ แต่ถ้าเป็นภาพวาดของจีน เราจะติดอยู่ในภาพ เพราะภาพเขียนจีนนั้นกว้างใหญ่ไพศาลไม่สิ้นสุด” (หน้า 317)

สำหรับคนที่ต้องทุ่มเทชีวิตให้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมานาน ลักษณะพันทางเช่นนี้นับเป็นเรื่องที่น่าอัปยศ

“ความพยายามผสมผสานศิลปะสองขั้วที่แตกต่างกัน ยังผลให้จิตรกรของข้ากับเจ้าตัวตลกไร้ความคิดที่เพิ่งตายไปสร้างผลงานอันปราศจากซึ่งทักษะใดๆ ทั้งสิ้น ความอ่อนหัดไร้ฝีมือนี้ทำให้ข้าโกรธยิ่งกว่าการที่ภาพถูกสร้างขึ้นจากโลกทัศน์สองขั้วเสียอีก” (หน้า 337)

อันที่จริงนวนิยายเรื่องนี้เป็นผลมาจากการผสมผสานเช่นกัน เป็นการบรรจบกันของโลกทัศน์สองแบบในลักษณะที่น่าตื่นตะลึงยิ่ง แน่นอนว่าวรรณกรรมปัจจุบันยืนพื้นอยู่บนพัฒนาการของวรรณกรรมตะวันตก แต่การย้อนกลับไปสำรวจจิตวิญญาณดั้งเดิมในรากเหง้าวัฒนธรรมของตน ทำให้มองเห็นแง่มุมใหม่ของความงามที่กระทบต่อความรู้สึกและพื้นเพทางวัฒนธรรมด้วย

สัญญาณแห่งการล่มสลายของระเบียบเดิม แสดงตัวออกมาเป็นอารมณ์อันปั่นป่วนรุนแรง กำกวม กระทั่งวิปริต ยากจะแยกแยะระหว่างอุดมคติหรือตัณหา ความเกินเลยย่อมนำไปสู่การสูญเสีย ขณะที่การเปลี่ยนแปลงนำมาซึ่งความขัดแย้งในความต้องการจำเป็นของมนุษย์

นวนิยายเพียงเผยวิสัยธรรมดาในธรรมชาติของโลกและมนุษย์ด้วยลีลาอันฉูดฉาด ความเป็นไปนอกเหนือจากนี้ก็สุดแล้วแต่ผู้อ่านจะแลเห็น.

[พิมพ์ครั้งแรก: Vote]