วันศุกร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2551

มนุษย์ไม่สมบูรณ์ : ภาพคนขาดเกินของ ทวีศักดิ์ ศรีทองดี และ วุฒิกร คงคา

> นิทรรศการ Freeze / ทวีศักดิ์ ศรีทองดี / 44 Arts Gallery, 3-34 สิงหาคม 2551

> นิทรรศการ Reverie / วุฒิกร คงคา / Galerie N, 4 สิงหาคม – 7 กันยายน 2551

ทวีศักดิ์ ศรีทองดี, “โลกาอมนุษย์” ปี 2539, สีอะคริลิกบนผ้าใบ 170x200 ซม.

[ทวีศักดิ์ ศรีทองดี, “โลกาอมนุษย์” ปี 2539, สีอะคริลิกบนผ้าใบ 170x200 ซม.]

ทวีศักดิ์ ศรีทองดี, “FAKK” ปี 2551, ภาพพิมพ์หิน 59x44 ซม.

[ทวีศักดิ์ ศรีทองดี, “FAKK” ปี 2551, ภาพพิมพ์หิน 59x44 ซม.]

ทวีศักดิ์ ศรีทองดี, “ZQ” ปี 2551, ภาพพิมพ์หิน 59x44 ซม.

[ทวีศักดิ์ ศรีทองดี, “ZQ” ปี 2551, ภาพพิมพ์หิน 59x44 ซม.]

ทวีศักดิ์ ศรีทองดี, “OPARELO” ปี 2551, ภาพพิมพ์หิน 59x44 ซม.

[ทวีศักดิ์ ศรีทองดี, “OPARELO” ปี 2551, ภาพพิมพ์หิน 59x44 ซม.]

วุฒิกร คงคา, “ลำธารมรณะ” ปี 2535, เทคนิคผสม 240x300 ซม.

[วุฒิกร คงคา, “ลำธารมรณะ” ปี 2535, เทคนิคผสม 240x300 ซม.]

วุฒิกร คงคา, “Chapter 2 : In the White House Playground” ปี 2551, สีอะคริลิกบนผ้าใบ 170x170 ซม.

[วุฒิกร คงคา, “Chapter 2 : In the White House Playground” ปี 2551, สีอะคริลิกบนผ้าใบ 170x170 ซม.]

วุฒิกร คงคา, “Chapter 3 : In the Space Love and Miss” ปี 2551, สีอะคริลิกบนผ้าใบ 120x120 ซม.

[วุฒิกร คงคา, “Chapter 3 : In the Space Love and Miss” ปี 2551, สีอะคริลิกบนผ้าใบ 120x120 ซม.]

วุฒิกร คงคา, “Chapter 4 : In the Battlefield Mask Warrior (Man)” ปี 2551, สีอะคริลิกบนผ้าใบ 150x150 ซม.

[วุฒิกร คงคา, “Chapter 4 : In the Battlefield Mask Warrior (Man)” ปี 2551, สีอะคริลิกบนผ้าใบ 150x150 ซม.]

ตลอดประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่ที่ผ่านมา มีการกล่าวว่า “จิตรกรรมตายแล้ว” อยู่หลายครั้ง

ครั้งแรกคือตอนที่กล้องถ่ายภาพได้รับการประดิษฐ์จนใช้งานได้สำเร็จ ทำให้บทบาทของจิตรกรรมในฐานะวิธีการบันทึกความเป็นจริงภายนอกตามที่ตาเห็นต้องลดความสำคัญลง

แต่ต่อมาจิตรกรรมก็พัฒนาตัวเองด้วยการหันมาถ่ายทอดความจริงภายในตัวตนของศิลปินแทน ทั้งอารมณ์ความรู้สึกและความคิดจินตนาการ นั่นทำให้ศิลปะก้าวเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ด้วย จากการเน้นลักษณะเฉพาะในความเป็นปัจเจกหรืออัตลักษณ์พิเศษของศิลปิน

เมื่อศิลปะสมัยใหม่วิวัฒน์มาจนถึงขีดสุดในช่วงทศวรรษ 1960 ด้านรูปแบบและวิธีการก็หลุดพ้นจากกรอบภาพหรือห้องแสดงงานไปไกลโพ้นแล้ว มีการใช้สื่อสมัยใหม่ วัสดุสำเร็จรูป หรือแม้แต่ร่างกายของศิลปินเอง เป็นสื่อในการแสดงออกแทนวิธีการดั้งเดิม เช่นนั้นจึงมีการกล่าวว่า “จิตรกรรมตายแล้ว” อีกครั้ง

ครั้นเข้าสู่ช่วงทศวรรษ 1970 งานจิตรกรรมก็กลับมาอยู่ในความสนใจของวงการศิลปะอีกครั้ง ในฐานะวิธีการที่แสดงร่องรอยปฏิสัมพันธ์ของศิลปินกับโลกที่เขารับรู้อย่างเป็นธรรมชาติ

นั่นคือการกลับสู่พื้นฐานของจิตรกรรมในฐานะภาษาแรกของมนุษย์ เช่นเดียวกับมนุษย์ในสมัยโบราณเขียนภาพบนผนังถ้ำ หรือเด็กที่เริ่มขีดเขียนภาพอันบ่งบอกถึงตัวตนและความสนใจของเขา

เพราะฉะนั้นจิตรกรรมจึงไม่มีวันตาย เพราะมันคือการแสดงออกตามธรรมชาติของมนุษย์ จิตรกรที่ประสบความสำเร็จจึงเป็นผู้ที่สามารถถ่ายทอดจิตวิญญาณของตนออกมาเป็นจินตภาพใหม่ได้อย่างซื่อตรง และเป็นตัวแทนมโนทัศน์ของผู้คนร่วมยุคสมัยเดียวกันด้วย อาจจะแสดงออกด้วยรูปแบบที่ต้องใช้ทักษะฝีมือความเชี่ยวชาญอย่างมาก หรือแสดงออกด้วยรูปแบบที่ง่ายหยาบไร้การปรุงแต่ง แต่สิ่งที่สำคัญก็คือร่องรอยของความจริงใจอันสดใหม่บนพื้นผิวงาน ซึ่งไม่อาจเสแสร้งหรือหลบเลี่ยงได้เหมือนการใช้สื่อประเภทอื่น

สำหรับศิลปะร่วมสมัยในบ้านเรา หลังจากศิลปินรุ่นครูได้บุกเบิกงานจิตรกรรมสมัยใหม่ไว้หลายรูปแบบตั้งแต่ช่วงแรกแล้ว พัฒนาการของจิตรกรรมก็คลี่คลายไปตามรอยทางเดิมเป็นส่วนมาก ด้วยจังหวะก้าวที่สม่ำเสมอไม่โฉบเฉี่ยว และถึงกับหยุดนิ่งในบางครั้ง โดยเฉพาะในช่วงที่วงการศิลปะกำลังตื่นเต้นกับสื่อใหม่ๆ

การกล่าวคำว่า “ตายแล้ว” ในทางศิลปะก็คือภาวะหยุดนิ่งไม่มีการพัฒนาต่อนั่นเอง

กระนั้นก็ยังมีศิลปินบางคนที่มุ่งมั่นทำงานจิตรกรรมสวนกระแสความนิยม ด้วยฝีมือและความคิดอันจัดจ้าน ก่อเป็นพลังที่ทำให้งานจิตรกรรมกลับมาอยู่ในความสนใจได้อีกครั้ง ดังปรากฏการณ์ในช่วงปลายทศวรรษ 2530 ซึ่งมีศิลปินอย่าง ชาติชาย ปุยเปีย, ธเนศ อ่าวสินธุ์ศิริ, ปริทรรศ หุตางกูร, ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี และ ไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์ เป็นต้น

จนเข้าสู่ทศวรรษ 2540 ศิลปินรุ่นใหม่หลายคนก็ได้ใช้จิตรกรรมเป็นสื่อในการแสดงออกอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่แพ้การใช้สื่ออื่นที่หลากหลายเลย

มีศิลปินหนุ่ม 2 คนที่มุ่งมั่นทำงานจิตรกรรม จนถือว่าประสบความสำเร็จในวิชาชีพระดับหนึ่งแล้ว ด้วยอายุการทำงานและคุณภาพที่หนักแน่นสม่ำเสมอ พอจะนำมาเป็นตัวอย่างในการศึกษาพัฒนาการของจิตรกรรมร่วมสมัยในปัจจุบันได้อย่างเด่นชัด นั่นคือ ทวีศักดิ์ ศรีทองดี และ วุฒิกร คงคา

ทวีศักดิ์และวุฒิกรเป็นบัณฑิตในสาขาวิชาจิตรกรรม จากมหาวิทยาลัยศิลปากรรุ่นเดียวกัน ทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท เพียงแต่อาจจะเติบโตกันคนละลักษณะ

วุฒิกร คงคา จะดำเนินตามสูตรสำเร็จของศิลปินในมาตรฐานของบ้านเรา นั่นคือมีผลการเรียนที่ดีเด่นสม่ำเสมอตั้งแต่เป็นนักศึกษา จนเรียนจบด้วยคะแนนเกียรตินิยมอันดับ 2 และสร้างชื่อตามเวทีประกวดศิลปกรรมระดับชาติ จนได้รางวัลแทบจะครบทุกแห่งไม่ต่ำกว่า 10 รางวัล

ซึ่งที่สำคัญก็เช่น รางวัลเกียรตินิยมอันดับ 3 เหรียญทองแดง และรางวัลเกียรตินิยมอันดับ 2 เหรียญเงิน จากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 38 ปี 2535 และครั้งที่ 43 ปี 2540 ตามลำดับ รางวัลที่ 1 เหรียญทอง จิตรกรรมบัวหลวง โดยธนาคารกรุงเทพ ปี 2536 รางวัลชนะเลิศศิลปกรรมร่วมสมัย โดยธนาคารกสิกรไทย ปี 2535 และปี 2537 ตามลำดับ

จากนั้นเขาก็เป็นอาจารย์ และทำงานศิลปะไปพร้อมกันด้วย

ส่วน ทวีศักดิ์ ศรีทองดี หรือ “โลเล” เหมือนจะรู้ว่ารูปแบบงานของเขาเป็นที่ต้องใจของตลาดชนชั้นกลางในเมืองที่กำลังขยายตัวมากกว่า เพราะฉะนั้นเขาจึงเริ่มสร้างชื่อด้วยการเขียนภาพประกอบในนิตยสารชั้นนำ ตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา จากนั้นก็ทำกิจกรรมทางศิลปะและพาณิชย์ศิลป์มากมาย จนผลงานเป็นที่คุ้นตา

พร้อมกันนั้นเขาก็ได้ประมวลความคิดทำงานเป็นชุดจัดแสดงอย่างต่อเนื่อง เช่น นิทรรศการ “Dream” ในปี 2540 นิทรรศการเดี่ยวที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ปี 2543 แสดงที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และที่สิงคโปร์ ปี 2544 นิทรรศการ “The Bangkok Trend Recorder” และ “Trance” ปี 2545 “Neo-Morph” ปี 2546 “Groove” ปี 2547 นิทรรศการ “Hero” และ “Flesh” ปี 2549

และปีนี้ก็มีนิทรรศการ “Soldier” และ “Strawberry”

เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทวีศักดิ์ ศรีทองดี และ วุฒิกร คงคา จัดแสดงผลงานเดี่ยวขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน คือ นิทรรศการ “Freeze” ของทวีศักดิ์ที่ 44 Arts Gallery และยังนำงานชุดเดียวกันนี้ไปจัดแสดงที่แกลเลอรีอีก 3 แห่ง รวมเป็น 4 มุมเมือง ส่วนวุฒิกรก็มีนิทรรศการ “Reverie” ที่ Galerie N ซึ่งถือว่าเป็นการแสดงผลงานเดี่ยวอย่างจริงจังครั้งแรกของเขา จากที่เคยแสดงเป็นกลุ่มร่วมกับคนอื่นมาตลอด

ทั้งสองงานต่างเสนอจินตภาพล่าสุดและการเติบโตทางความคิดของ 2 ศิลปินหนุ่มที่ทำงานในแนวทางใกล้เคียงกัน และต่างมีความเป็นตัวของตัวเองอย่างโดดเด่น

งานจิตรกรรมของทวีศักดิ์และวุฒิกรเป็นศิลปะแสดงรูปลักษณ์ (figurative art) ที่บิดผันตัดเติมรูปทรง เพื่อแสดงโลกภายในตามทัศนะของศิลปิน อันเป็นแนวทางที่พวกเขาค้นพบตัวเองมาตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว

เนื้อหาในงานของวุฒิกรจะเล่นเรื่องความลี้ลับที่ซ่อนอยู่ในตัวตน เขาจะใช้เทคนิคผสมสารพัด ปาดป้ายขีดเขียนทุกอย่างลงบนผืนผ้าใบอย่างอิสระ เพื่อนำจินตภาพที่ฝังลึกอยู่ในจิตใจออกมา ความสำเร็จของเขาอยู่ที่พลังของผลงานขนาดใหญ่ ซึ่งเต็มไปด้วยร่องรอยและพื้นผิวของเนื้อสีหรือวัสดุที่ซ้อนทับกันอย่างแน่นหนา เต็มไปด้วยเรื่องราว แต่ยังคงรักษาบรรยากาศมืดดำลึกลับ รวมถึงองค์ประกอบที่สอดคล้องกับหัวข้อนำเสนอ

งานช่วงแรกของเขาจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความฝันในลักษณะจิตวิเคราะห์ อันเต็มไปด้วยประสบการณ์ส่วนตัว และอารมณ์ความรู้สึกในเชิงกวีนิพนธ์

ช่วงต่อมาเขายังคงหลงใหลในบรรยากาศมืดดำลี้ลับ แต่เปลี่ยนมาเล่นเรื่องจิตวิญญาณแทน ตั้งแต่ความรู้สึก “กลัวผี” หรือสิ่งลี้ลับที่ซ่อนเร้นอยู่ในความมืด แล้วคลี่คลายมาเป็นความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณที่แฝงอยู่ในธรรมชาติ ทำให้มีกลิ่นอายของวัฒนธรรมประเพณีคลุกเคล้าอยู่กับกระแสนิยมเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ

ต่อมาเขาก็ยังจมอยู่กับความมืดดำนั่นเอง เพียงแต่เปลี่ยนเนื้อหามาเป็นการสะท้อนสังคมบ้าง เขาเขียนถึงชีวิตของคนกลางคืนแทนสภาพสังคมแบบวัตถุนิยมในปัจจุบัน ซึ่งตัวมนุษย์เองได้กลายเป็นวัตถุกึ่งเลือดเนื้อที่สับสนซับซ้อนไปด้วย และยังหันมาใช้เทคนิคจิตรกรรมแท้ๆ อย่างการเขียนสีน้ำมันมากขึ้น

ความสนใจต่อภาวะของความเป็นมนุษย์คลี่คลายมาสู่งานชุด “Wallpaper” ซึ่งจัดแสดงที่หอศิลปมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ปี 2546 อันเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเขาเริ่มค้นพบธรรมชาติเดิมแท้ของการแสดงออกทางจิตรกรรม จากการใช้สีอะคริลิกขีดเขียนไปบนผนัง เหมือนการวาดภาพของเด็กหรือชนเผ่าอนารยะ ซึ่งสามารถบอกเล่าเรื่องราวได้มากมาย ทั้งสะท้อนตัวตนและสภาพสังคมภายนอก

และงานชุด “Reverie” ก็เป็นเหมือนบทสรุปของจินตภาพที่เขาค้นหาในช่วงหลัง ซึ่งจะเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจน จากที่เคยนิยมเขียนภาพระบายความรู้สึกเพ้อฝันในความมืดดำ เปลี่ยนมาเป็นอาการเพ้อฝันในที่สว่างบ้าง พื้นหลังก็เลยสดใสโล่งแจ้ง แลเห็นตัวตนของรูปทรงเบื้องหน้าได้เต็มตา แต่การเผยให้เห็นรูปร่างแหว่งวิ่นในความกระจ่างแจ้งก็กระตุ้นเร้าจินตนาการได้ไม่แพ้บรรยากาศลี้ลับเหมือนกัน

ส่วนงานของทวีศักดิ์จะจับประเด็นเรื่องวัฒนธรรมบริโภคและสังคมวัตถุนิยมที่ส่งผลต่อชีวิตมนุษย์มาตั้งแต่แรก และถ่ายทอดออกมาเป็นจินตภาพที่ผสมปนเปกันระหว่างรูปร่างมนุษย์กับภาพลักษณ์ที่ได้จากสื่อสารมวลชน ผ่านการบิดเบือน (distortion) เข้าเป็นมวลเดียวกัน ตามแรงขับของความปรารถนาที่ต้องการแสดงออก เป็นสัญลักษณ์ที่เปิดกว้างต่อการตีความ

เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกที่เขาจะกลายเป็นศิลปินขวัญใจคนรุ่นใหม่คนหนึ่ง เพราะพอเข้าสู่ทศวรรษ 2540 สังคมไทยโดยเฉพาะในเมืองก็กลายเป็นสังคมบริโภคนิยมอันคลาคล่ำไปด้วยข้อมูลข่าวสารเต็มรูปแบบ เทียบเท่ากับเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกเหมือนกัน ข่าวสารและภาพลักษณ์จำนวนมากที่ต้องรับรู้ในแต่ละวัน ต้องการไวยากรณ์ใหม่ในการจัดสรร และจินตภาพของทวีศักดิ์ก็เป็นไวยากรณ์ที่รับมือกับความหมกมุ่นยุ่งเหยิงได้ลงตัว เป็นภาพที่จับต้องได้ง่ายท่ามกลางความวุ่นวายซับซ้อน

ด้วยรูปแบบเดียวกัน ทวีศักดิ์สามารถใช้วิธีการแสดงออกได้หลายประเภท ทั้งจิตรกรรม ภาพประกอบ งานออกแบบตกแต่ง การ์ตูน ภาพเคลื่อนไหว กิจกรรมทางศิลปะ หรือกิจกรรมเชิงพาณิชย์อื่นๆ

งานภาพพิมพ์หินชุด “Freeze” ยังคงลักษณะเฉพาะของเขา แม้จะใช้เทคนิคภาพพิมพ์หินในการสร้างสรรค์ผลงาน แต่ก็เป็นการจำลองจินตภาพบางส่วนมาจากงานช่วงก่อนหน้านี้นั่นเอง โดยเฉพาะจากงานชุด “Soldier” และ “Strawberry” ซึ่งจัดแสดงไปเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ความน่าสนใจอยู่ที่ว่าเขาจะสนุกกับการสร้างร่องรอยสีสันระหว่างกระบวนการพิมพ์อย่างไร ส่วนลายเส้นรูปทรงก็เป็นไปตามแรงขับและความชอบของเขาในระยะหลัง นั่นคือใช้เส้นชัดเจนแบบงานกราฟิก และเขียนซ้อนกันแบบงานกราฟฟิตี้ตามฝาผนัง โดยเฉพาะเส้นสายที่พันกันยุ่งเหยิงเหมือนขดไส้หรือหนวดปลาหมึกนั้น เป็นที่มันมือของเขามาก

ชื่อนิทรรศการ “Freeze” มาจากกระบวนการในการทำภาพพิมพ์หิน ซึ่งต้องใช้ความเย็นเข้ามาเกี่ยวข้อง และยังต้องใจเย็นในการจำลองภาพจากต้นแบบให้เสร็จสิ้นในแต่ละขั้นตอนด้วย ขณะเดียวกันการทำใหม่ในอีกวิธีการหนึ่งก็เหมือนกับการแช่แข็งเก็บรักษาจินตภาพเดิมไว้ในอีกสถานะหนึ่งนั่นเอง งานวาดเส้นอย่างทวีศักดิ์นั้นเขาอาจจะเขียนขึ้นใหม่ได้ง่ายกว่าและใช้เวลาเพียงเล็กน้อย แต่ในกระบวนการจำลองเป็นภาพพิมพ์ก็มีร่องรอยเฉพาะของเทคนิคที่คาดไม่ถึง และได้ผลสำเร็จอันแปลกตาไปจากเดิม

นอกจากนี้ในห้องแสดงงานของ 44 Arts Gallery ยังนำอุปกรณ์การทำงานภาพพิมพ์หิน และภาพทดลองพิมพ์หรือภาพที่พิมพ์เสียมาจัดแสดงด้วย บ่งบอกว่ากว่าจะเสร็จสิ้นต้องผ่านความยุ่งยากมาอย่างไรบ้าง

ส่วนนิทรรศการ “Reverie” ของวุฒิกร มีหุ่นฟิกเกอร์ (figure) ที่นักเรียนศิลปะใช้ศึกษาสัดส่วนและกล้ามเนื้อของมนุษย์เป็นตัวละครเอกตลอดรายการ เพียงวางท่าต่างกัน แล้วยังมีทั้งตัวผู้ชาย ตัวผู้หญิง และตัวเด็กด้วย เรียกได้ว่ามากันทั้งครอบครัวทีเดียว ทั้งหมดนำเสนอตัวเองอยู่บนพื้นหลังที่เปิดโล่ง ลวดลายสีสันอ่อนหวานไม่แพ้งานของทวีศักดิ์เลย สะท้อนถึงวัฒนธรรมมวลชนหรืองานศิลปะที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมมวลชนเริ่มมีอิทธิพลต่อมโนทัศน์ของศิลปินมากแล้ว แต่หุ่นทุกตัวก็ยังคงวางสีหน้าเรียบเฉยเหมือนงานช่วงก่อนของเขานั่นเอง และมีความชำรุดขาดหายเหมือนผ่านกาลเวลามาเนิ่นนาน แม้จะบอกเล่าถึงชีวิตในปัจจุบัน

เสน่ห์ของงานชุดนี้อยู่ตรงพื้นผิวร่องรอยที่วุฒิกรสร้างขึ้นมาบนตัวรูปทรงคนด้วยเทคนิคจิตรกรรมสีอะคริลิก เหมือนศิลปินต้องการจะบอกว่ามนุษย์นั้นบกพร่องไม่สมบูรณ์มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว ท่ามกลางท่วงท่าที่บ่งบอกถึงความพึงพอใจในตัวตน อำนาจ และการสืบพันธุ์ ซึ่งสะท้อนออกมาด้วยรูปร่างอันสมบูรณ์ แท้แล้วกลับเต็มไปด้วยริ้วรอยของการสึกกร่อน กระทั่งเห็นเป็นลายกล้ามเนื้อหรือวงปีที่บอกกาลเวลา กล่าวได้ว่าชีวิตของมนุษย์ปัจจุบันที่วุฒิกรมองเห็นเป็นเพียงความหลงละเมอเพ้อฝันของซากร่างอารยธรรมที่ผุกร่อน และบางรูปทรงก็หวนประหวัดย้อนไปถึงศิลปะยุคก่อนอารยธรรมด้วยซ้ำ

งานจิตรกรรมเคยเป็นอุปกรณ์แสดงถึงอุดมคติอันสมบูรณ์แบบของมนุษย์ เช่นการวาดภาพเหมือนที่เสนอความสง่างามเหนือกาลเวลาของบุคคลในภาพ หรือแสดงถึงฝีมือความสามารถอันสูงส่งของศิลปิน

แต่จิตรกรรมในสมัยหลังไม่ได้เชิดชูความเป็นมนุษย์มากนัก และกลับเป็นอุปกรณ์ที่แสดงความขาดเกินของมนุษย์ได้อย่างคล่องมือด้วยซ้ำ ตั้งแต่เนื้อหาที่มีความบกพร่องไม่สมบูรณ์ของมนุษย์เป็นแรงบันดาลใจอันสำคัญไปแล้ว นอกจากนี้รูปแบบและวิธีการก็ยังมองเห็นความงามในความจริงใจที่ไม่ได้ตกแต่งให้สวยงาม คล้ายสุนทรียะในศิลปะเด็ก หรือศิลปะของชนเผ่าอนารยะ การขีดๆ เขียนๆ อย่างอิสระ ตรงไปตรงมา ดิบหยาบ และทิ้งร่องรอยของความบังเอิญไม่ตั้งใจ กลายเป็นช่องทางของการแสดงความเป็นมนุษย์ที่แท้ในระดับของสัญชาตญาณ และสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงปฏิกิริยาของความสัมพันธ์ต่อโลกภายนอก

อย่างภาพของทวีศักดิ์ก็ลดทอนความเป็นมนุษย์ลง เป็นแค่ตัวการ์ตูนที่ถูกตัดแต่งด้วยวัตถุและภาพลักษณ์จากค่านิยมร่วมสมัยในสังคม ปนเปกันแบบจับฉ่ายไร้เหตุผล จนมีรูปร่างพิลึกพิกลประหลาดตา หรือบางภาพก็มีแต่ภาพลักษณ์ล้วนๆ อย่างภาพรอยสักเสือเผ่นเป็นต้น หรืองานของ วุฒิกร คงคา ก็มองทะลุเนื้อหนังภายนอกเข้าไปสำรวจริ้วรอยลวดลายสึกกร่อน ด้วยสำนึกถึงกาลเวลาในเชิงประวัติศาสตร์ แม้แต่หุ่นที่เป็นตัวแบบศึกษาของอุดมคติเชิงมนุษยนิยมยังหักพัง อารยธรรมยังล่มสลายลงได้เลย แล้วตัวมนุษย์เล่า

แม้ผลงานชุดใหม่ของทั้งสองคนจะเห็นถึงเจตนาในการออกแบบที่เอาใจตลาดบ้าง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย โดยเฉพาะกับศิลปินระดับนี้ซึ่งรู้จักรักษาสัดส่วนของการประนีประนอมที่ไม่สูญเสียตัวเอง

ทวีศักดิ์ ศรีทองดี และ วุฒิกร คงคง เป็นศิลปินหนุ่มที่มีจิตใจรักการเรียนรู้เยี่ยงปัญญาชน และมีความคิดที่เปิดกว้าง เมื่อผสมผสานกับทักษะฝีมือที่รองรับแรงเร้าในการแสดงออกทางจิตรกรรมตามธรรมชาติของตนแล้ว งานสร้างสรรค์ของพวกเขาย่อมลุ่มลึกและคลี่คลายไปได้ตลอด.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น