วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2550

ภิกษุสันดานกา : ศิลปกรรมความทุกข์แห่งชาติ

นิทรรศการ – การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 53 / จัดแสดง – มหาวิทยาลัยศิลปากร / ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ จังหวัดนครปฐม, 6 กันยายน – 30 ตุลาคม 2550

อนุพงษ์  จันทร, “ภิกษุสันดานกา” ปี พ.ศ. 2550, สีอะคริลิคบนผ้าจีวร 200x290 ซม.

[อนุพงษ์ จันทร, “ภิกษุสันดานกา” ปี พ.ศ. 2550, สีอะคริลิคบนผ้าจีวร 200x290 ซม.]

ข่าวกลุ่มจัดตั้งชาวพุทธกลุ่มหนึ่งที่มีทั้งพระสงฆ์และฆราวาสดำเนินกิจกรรมเคลื่อนไหวประท้วงภาพ “ภิกษุสันดานกา” ของ อนุพงษ์ จันทร ซึ่งได้รับรางวัลเหรียญทองจากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 53 ประจำปีนี้นั้น สะท้อนช่องว่างอันห่างไกลกันระหว่างศิลปะร่วมสมัยกับสังคมที่ต่างคนต่างอยู่มาเนิ่นนาน

ด้วยความไม่เข้าใจจึงแยกแยะไม่ออกว่าการทำลายด้วยความคึกคะนองกับการสร้างสรรค์ด้วยภูมิปัญญานั้นแตกต่างกันอย่างไร

และด้วยความไม่เข้าใจเช่นกันจึงละเลยหลงลืมไปว่าการวิพากษ์วิจารณ์กับการลบหลู่ดูหมิ่นอยู่ใกล้กันมาก ดังนั้นจึงต้องทำอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะกับสิ่งที่คนนับถือศรัทธาอย่างศาสนา เพราะศาสนารองรับคนหลายระดับ ปัญญาชนอาจสนใจเฉพาะหลักธรรม แต่ชาวบ้านยังต้องอาศัยพิธีกรรมและศรัทธา

การประท้วงในลักษณะนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ก่อนหน้านี้ ไมเคิล เชาวนาศัย เคยถ่ายภาพตัวเองห่มผ้าเหลืองและแต่งหน้าทาปาก จนโดนประท้วงเป็นข่าวหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์มาแล้ว แต่ศิลปินถอนภาพนี้ได้เพราะไม่ใช่สาระสำคัญ ประเด็นของเขาคือต้องการนำเสนอภาวะก้ำกึ่งทางเพศสภาพและวัฒนธรรม ซึ่งสามารถแสดงออกได้หลายรูปแบบโดยไม่จำเป็นต้องก้าวล่วงไปถึงพระ

หรืองานจิตรกรรมขนาดใหญ่ “พระพุทธเจ้าเสด็จเมืองไทย 2535” ของ วสันต์ สิทธิเขตต์ ก็เคยถูกประท้วงเช่นกัน ภาพนั้นเป็นรูปพระพุทธเจ้าปางลีลาเสด็จมาท่ามกลางผู้คนในสังคมอันฟอนเฟะไปด้วยอาการต่างๆ เพื่อสะท้อนว่าคนในยุคปัจจุบันเอาแต่ลุ่มหลงมัวเมาอยู่กับกิเลสตัณหา จนไม่สนใจธรรมะอันผ่องแผ้วของพระพุทธองค์ แต่ก็มีผู้ตีความเจตนาผิด เพราะขัดตากับลักษณะการแสดงออกอันก้าวร้าวรุนแรงของศิลปะแนวสำแดงพลังอารมณ์ (Expressionism) ซึ่งเป็นวิธีการสื่อสารที่ต้องการกระชากความรู้สึกของผู้ชมให้ตระหนกและตระหนักต่อปัญหาความเป็นไปในสังคม หากเทียบกับพิธีกรรมทางศาสนาคงคล้ายกุศโลบายที่ส่งเสียงดังเอ็ดตะโรให้ตกใจในการสวดภาณยักษ์

เช่นเดียวกับผลงานของศิลปินแห่งชาติอย่าง ถวัลย์ ดัชนี ก็เคยถูกต่อต้านอย่างหนักในอดีต เพราะเสนอภาพเกี่ยวข้องกับศาสนาในลักษณะเหนือจริงแสดงท่าผิดไปจากความคุ้นเคย แต่ทุกวันนี้ก็เป็นที่ยอมรับยกย่องกันแล้ว

แต่หากจะลองมองกลับกัน ด้วยการเอาใจเขามาใส่ใจเรา อยากยกตัวอย่างจากกรณีที่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์เคยเสนอบทความเกี่ยวกับการค้าขายงานศิลปะ และตีพิมพ์ภาพประกอบเป็นรูปอนุสาวรีย์อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ติดป้าย “Sale” ลดราคา ซึ่งถือว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ที่แหลมคมกระตุ้นความคิด แต่ผู้คนในมหาวิทยาลัยศิลปากรและแวดวงศิลปินกลับมองว่าเป็นการลบหลู่ดูหมิ่น และเกิดการประท้วงที่อึกทึกครึกโครมไม่แพ้กัน

ขอบเขตของการวิพากษ์วิจารณ์และท่าทีของการรับฟังหรือตอบโต้อย่างเหมาะสมอยู่ตรงไหน

นอกเหนือจากการประท้วงภาพ “ภิกษุสันดานกา” ซึ่งเป็นสิทธิที่พึงกระทำได้แล้ว การแสดงบทบาทเคลื่อนไหวทางสังคมของพระสงฆ์และฆราวาสในครั้งนี้รวมถึงหลายกรณีที่ผ่านมาก็ได้รับการตั้งคำถามจากสังคมด้วย เพราะแม้จะอ้างว่าเพื่อปกป้องรักษาพระพุทธศาสนาหรือวัฒนธรรมของชาติ แต่ก็มักจะแสดงออกด้วยท่าทีที่ถือทิฐิมั่น มุ่งหมายเอาชนะ และไม่รับฟังเหตุผลของคนอื่น ซึ่งชาวพุทธโดยทั่วไปมองเห็นแล้วไม่งามตา และไม่น่าจะใช่วัฒนธรรมไทยที่พึงส่งเสริม

การเคลื่อนไหวด้วย “เมตตา” เพื่อให้เกิด “ปัญญา” แก่สังคมน่าจะเป็นประโยชน์กว่า

และสิ่งที่เรียกร้องกันนั้นก็มักจะเป็นเพียงเปลือกนอกของศาสนา เป็นเพียงเครื่องอำนวยประโยชน์ที่เปลี่ยนรูปไปได้ตามกาลสมัย มิใช่แก่นแท้ของธรรมะซึ่งพระพุทธองค์ทรงให้ความสำคัญมากกว่า เมื่อภาพ “ภิกษุสันดานกา” มีเจตนาเพื่อเตือนสติให้ชาวพุทธตระหนักต่อความเสื่อมเสียจากผู้ที่เข้ามาอาศัยผ้าเหลืองเอาเปรียบสังคม การประท้วงภาพนี้ย่อมนำไปสู่ความสงสัยต่อบทบาทที่ควรจะเป็น

อันที่จริงงานศิลปะเป็นแค่เครื่องสะท้อนความเป็นไปในสังคม คนเสพรับงานศิลปะก็เพื่อจรรโลงจิตใจและปัญญาเฉพาะตน แต่ไม่มีผลกระทบต่อสังคมวงกว้างมากนัก ข่าวพระที่ปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์มีผลต่อการรับรู้ของผู้คนมากกว่า และโดยมากก็มักจะเป็นข่าวในแง่ลบ งานศิลปะที่วิจารณ์ด้านเสื่อมของศาสนาก็สะท้อนมาจากอารมณ์ความรู้สึกของคนในสังคมนั่นเอง และไม่ได้มีแค่ภาพนี้เท่านั้น แต่ยังมีให้เห็นอีกมาก งานวรรณกรรมที่วิจารณ์เรื่องนี้ก็มีเยอะ ด้วยคนไทยที่เป็นพุทธศาสนิกชนจะสะเทือนใจกับข่าวประเภทนี้มาก จนต้องแสดงออก แม้แต่ในงานจิตรกรรมฝาผนังหรือวรรณคดีของคนไทยสมัยก่อนก็ยังมีให้เห็น

หากศิลปินแสดงออกอย่างเกินเลยไม่เหมาะสม เขาก็จะได้รับการตรวจสอบจากคุณค่าของตัวงานนั่นเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้โดยอาศัยเวลาไม่นานเลย

ธรรมะนั้นสอนได้หลายวิธีการ พระพุทธเจ้าก็ทรงใช้วิธีที่หลากหลาย แต่ละวิธีจะมีผลต่อคนต่างจริตกัน บางคนเพียงแนะให้เกิดปัญญาแก่ตน บางคนต้องชี้ให้เห็นประโยชน์ บางคนอาจกล่อมให้รู้สึกถึงความสุขทางกายด้วยมโนภาพของสวรรค์ และบางคนต้องขู่ให้กลัวต่อความทุกข์ทางกายด้วยมโนภาพของนรก

อนุพงษ์ จันทร ทำงานจิตรกรมไทยร่วมสมัยชุด “นรกภูมิ” และ “เปรตภูมิ” มาอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 5 ปี และได้รางวัลมากมาย ความโดดเด่นในผลงานของเขามาจากการเลือกหยิบเอาจินตภาพด้านลบ (negative) จากศิลปะไทยประเพณีมาสร้างสุนทรียภาพเฉพาะตัว ขณะที่ก่อนหน้านี้คนอื่นมักจะเลือกหยิบยกเอาแง่มุมของความงามมาพัฒนาต่อ เนื้อหาในงานของเขามีลักษณะอุปมานิทัศน์ (allegory) หรือเป็นอุทาหรณ์เปรียบเทียบ เตือนให้คนเกรงกลัวต่อบาปกรรม ด้วยภาพที่แสดงรูปลักษณ์และทัศนธาตุอันเร้าความรู้สึกไปในทางน่าเกลียดน่ากลัว ด้วยนรกก็คือความทุกข์ในใจของผู้คนนั่นเอง และเปรตก็คือผู้ผจญทุกข์

งานช่วงแรกเป็นการนำเอาสัญลักษณ์และเรื่องราวของนรกในศิลปะไทยมาดัดแปลงจัดองค์ประกอบใหม่ เป็นภาพของผู้รับกรรมในภพภูมิต่างๆ จากนั้นเขาขยายเรื่องเปรตขึ้นมา เป็นรูปทรงอสุรกายผิดส่วนตามนิยามความเชื่อ และแฝงตัวอยู่ในฐานะพุทธบริษัท จนมาถึงเปรตที่แอบแฝงอยู่ในผ้าเหลืองขยายจนเต็มกรอบภาพ การขัดกันระหว่างรูปร่างน่าเกลียดน่ากลัวภายใต้ภาพลักษณ์ของความดีงามก่อให้เกิดธรรมารมณ์รุนแรง

แนวคิดและรูปแบบที่พัฒนาจนสมบูรณ์ ทำให้เขาได้รางวัลสำคัญ อย่าง เหรียญทองบัวหลวง ประเภทจิตกรรมไทยแนวประเพณี จากการแสดงจิตรกรรมบัวหลวงครั้งที่ 26 และรางวัลยอดเยี่ยมศิลปกรรม “นำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต” ครั้งที่ 16 ในปี พ.ศ. 2547 รางวัลเหรียญทอง “ศิลป์ พีระศรี” จากการแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยของศิลปินรุ่นเยาว์ครั้งที่ 22 ในปี พ.ศ. 2548

และในปี พ.ศ. 2549 งานจิตรกรรม “เศษบุญ-เศษกรรม” ของเขาก็ได้รับรางวัลเหรียญทอง จากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 52 แล้วปีนี้เขาก็ได้รางวัลอันดับหนึ่งเหรียญทองติดต่อกันอีก ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แสดงถึงพลังสร้างสรรค์ที่สมบูรณ์ต่อเนื่องไม่ขาดสาย

คนที่เคยผ่านตากับงานของอนุพงษ์มาบ้างอาจไม่รู้สึกแปลกใจกับภาพ “ภิกษุสันดานกา” มากนัก เพราะเขามีพัฒนาการมาตามลำดับ แต่คนที่เพิ่งเคยเห็นย่อมสะดุดตา เพราะภาพชุดนี้เขาเลือกนำเสนออย่างชัดเจนเห็นรูปร่างเป็นตัวเป็นตนออกมาจากพื้นหลัง และไม่ได้หลบเลี่ยงอำพรางด้วยเงามืดเหมือนงานชุดก่อน

และภาพนี้ก็มีสุนทรียรสที่ก่อให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจในตัวเอง ภาพอสุรกายรูปลักษณ์ผิดส่วนมีปากเป็นกานุ่งห่มผ้าเหลือง 2 ตน ทำท่าเยื้อแย่งของในบาตรด้วยอาการโรยแรงเบียดแน่นกันอยู่เต็มกรอบ มวลของรูปทรงขดรวมเป็นกลุ่มก้อนเต็มพื้นสีส้มของผ้าจีวร เน้นน้ำหนักแสงเงาสร้างความลึกด้วยสีน้ำตาลของผิวเนื้อและย่าม ทิศทางของน้ำหนักดำตรงปากและตัวอีกาพุ่งมาที่จุดเด่นรวมสายตาคือน้ำหนักสีดำของบาตร เนื้อตัวส่วนที่สะท้อนแสงสีเหลืองอ่อนสว่างมาทางด้านบน และสีเขียวของรอยสักตามผิวหนัง เป็นส่วนประกอบเสริมขัดให้องค์รวมมีความจัดจ้านขึ้น เพื่อไม่ให้จมไปในทางเดียวกันทั้งหมด

แม้หรี่ตามองจนไม่เห็นเป็นรูปอะไรชัดเจน ด้วยองค์ประกอบทางทัศนธาตุของภาพนี้ยังก่อกวนความรู้สึก เพราะฉะนั้นมันจึงมีพลังรบกวนจิตใจผู้พบเห็น หากศิลปินเขียนภาพภิกษุปากเป็นกาด้วยฝีมือที่ไม่ถึงขั้นคงไม่มีใครรู้สึกตาม

แต่ก็ยังเกิดคำถามว่ามีความจำเป็นแค่ไหนในการเสนอภาพอสุรกายภายใต้คราบของพระภิกษุอย่างตรงไปตรงมาขนาดนั้น และไม่มีวิธีที่แสดงชั้นเชิงมากกว่านี้แล้วหรือ

หากพิจารณาจากผลงานในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติปีนี้ทั้งหมด จะพบว่าศิลปินจำนวนมากนิยมแสดงออกถึงเนื้อหาที่รุนแรงด้วยรูปแบบตรงไปตรงมาเช่นเดียวกัน จนภาพ “ภิกษุสันดานกา” กลายเป็นปรากฏการณ์ธรรมดา เพราะมันเป็นอารมณ์ร่วมของยุคสมัย

ตัวอย่างเช่น ภาพจิตรกรรมสีน้ำมัน “ความทุกข์ของข้าพเจ้า หมายเลข 1” ของ ธณฤษภ์ (ศักดา) ทิพย์วารี เป็นภาพศีรษะของศิลปิน 4 หัว วางเรียงอยู่คับห้อง ใบหน้าแสดงอารมณ์ตึงเครียด ท่ามกลางระบำของนางมารที่มีมือและนมหลายคู่ และบรรยากาศฟุ้งฝัน สีสดตัดกันรุนแรงเต็มผ้าใบขนาดใหญ่โตสูงเกือบ 3 เมตร และยาวเกือบ 6 เมตร ทำให้นึกสงสัยว่ามีความทุกข์อะไรหนักหนาขนาดนั้น

ประติมากรรมไฟเบอร์กราส “ราคะแห่งตัวตน” ของ ภัฏ พลชัย ก็สร้างอนุสาวรีย์ของตัวราคะสูงเกือบ 6 เมตร เป็นรูปใบหน้าขนาดยักษ์ประทับริมฝีปากลงบนปลายฐานรูปนมที่มีนมขนาดเล็กประดับอยู่โดยรอบ ดวงตาเบิกโพลง คิ้วขมวดแน่นจนหน้าผากเป็นริ้วรอย และเส้นผมชูชันชี้ขึ้นฟ้า

ภาพจิตรกรรมสีน้ำมัน “ในวงล้อม” ของ ไกรสิงห์ สุดสงวน เป็นรูปหญิงสาวขาวผ่องนอนสลบไสลอยู่บนพื้นสีแดง และมี “ตัวเหี้ย” เยื้องย่างอยู่รายรอบ

ภาพจิตรกรรมสีน้ำมัน “The Land of Lust No. 3” ของ เกรียงไกร กุลพันธ์ และภาพจิตรกรรมสีอะคริลิค “Hot Promotion” ของ บุญเหลือ ยางสวย เป็นภาพกลุ่มคนบิดเบี้ยวผิดรูปในอาการเคลื่อนไหวรุนแรงน่ากลัวภายใต้โครงสีแดงและเส้นหยาบกระด้าง ฯลฯ

เห็นแล้วต้องตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับการสร้างสรรค์ของศิลปินในเวทีศิลปกรรมแห่งชาติ ทำไมระยะหลายปีมานี้การแสดงออกด้วยความรุนแรง (violent) จึงเพิ่มมากขึ้นจนกลบรูปแบบเดิมไปเกือบหมด

เดิมทีงานศิลปะในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติมักจะเน้นเรื่องทักษะฝีมือในการค้นคว้าทดลองด้านเทคนิควิธีการและรูปแบบเพื่อผลในเชิงความงาม และศิลปินส่วนใหญ่ก็จะไม่นิยมแสดงอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัวออกมาโดยตรง จะเห็นตัวอย่างจากงานของศิลปินรับเชิญ เช่น ภาพสีน้ำมัน “วัวกระทิง” ของ ประหยัด พงษ์ดำ ก็เน้นน้ำหนักโครงสีน้ำตาลแสดงความงามในพลังของรูปทรงวัว งานประติมากรรมดินสดประกอบบาตรพระ “อรุณรุ่ง” ของ เข็มรัตน์ กองสุข ก็แสดงรูปทรงกึ่งนามธรรมในแนวตั้งอย่างสงบ ตัดทอนรายละเอียดจนเหลือเพียงเค้าโครงความงามอันเรียบง่าย และแสดงสัจจะตามพื้นผิวของวัสดุอันบอบบางไม่ถาวร

ภาพจิตรกรรมสื่อประสม “ชีวิตและน้ำ” ของ เดชา วรชุน และ “วิถีชีวิต...วิถีธรรม” ของ วิโชค มุกดามณี ก็แสดงความงามของวัสดุและวิธีการ เพื่อจำลองจินตภาพของวิถีชีวิตความเป็นไทยในแบบนามธรรม

แม้งานของ เกียรติศักดิ์ ชานนนารถ, กัญญา เจริญศุภกุล และ ศรีวรรณ เจนหัตถการกิจ จะพูดถึงชีวิตอีกด้าน แต่ก็ด้วยอารมณ์ขันและความเข้าใจในสัจธรรมมากกว่า

หากศิลปะเป็นกระจกสะท้อนสังคมออกมาจากโลกภายในของศิลปิน ผลงานส่วนใหญ่ในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งนี้คงบอกถึงความรู้สึกไม่พอใจในสภาพแวดล้อมของสังคมปัจจุบัน จนเต็มไปด้วยความทุกข์วิตกกังวล สับสนวุ่นวาย หม่นหมองโศกเศร้า และสิ้นหวังกับการล่มสลายของวัฒนธรรมและจิตวิญญาณ

แม้แต่ภาพจิตรกรรมเหมือนจริงอย่าง “บันทึกมุมมองสิ่งก่อสร้าง หมายเลข 1” ของ พิเชษฐ บุรพธานินทร์ และ “วัดพระธาตุลำปางหลวง หมายเลข 2” ของ ยุทธศักดิ์ ร้อยแก่นจันทร์ ยังมีบรรยากาศคาบเกี่ยวระหว่างรอยต่อของเวลา แสดงอาการพะว้าพะวังในความรู้สึก

หรืองานนามธรรมอย่างจิตรกรรมสื่อประสม “องค์ประกอบ หมายเลข 2/2007” ของ รุ่ง ธีระพิจิตร ประติมากรรมเชื่อมเหล็ก “ลมหายใจของฉัน” ของ ไชยวัฒน์ กุดาพันธ์ ภาพพิมพ์แกะไม้ขนาดใหญ่ “การบุกรุก” ของ วีรพงษ์ ศรีตระกูลกิจการ และงานศิลปะสื่อประสม “พิษ” ของ พิชิต เพ็ญโรจน์ ก็แสดงความวิตกกังวลกับมลภาวะในสภาพแวดล้อมที่คุกคามต่อร่างกายและชีวิต ด้วยรูปทรงที่ดูไม่น่าไว้วางใจชวนหวาดหวั่น

เนื้อหาของงานจิตรกรรมสีอะคริลิคและชาร์โคล “แว่วเสียงแห่งชีวิต” ของ ตนุพล เอนอ่อน แสดงความวิตกกังวลต่อความเจ็บไข้ได้ป่วยของร่างกาย งานจิตรกรรมสีอะคริลิค “The Came” ของ มนัส เหลาอ่อน สะท้อนจินตนาการเหนือจริงในบรรยากาศเปล่าเปลี่ยวของโลกเฉพาะตัว งานจิตรกรรมสีน้ำมัน “ปรารถนา หมายเลข 6” ของ วรรณลพ มีมาก สะท้อนความฝันถึงความรักและชีวิตคู่อันระคนไปด้วยความระแวดระวังไม่แน่ใจ และภาพพิมพ์โลหะ “กลลวงของดอกไม้” ของ อภิรดี ชิตประสงค์ แสดงลักษณะแฝงพิษภัยของดอกไม้ที่ต้องปรับตัวให้อยู่รอดในสภาพแวดล้อมซึ่งแปรเปลี่ยนไปอย่างไม่ปลอดภัย

ภาพรวมเช่นนี้ทำให้การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติเต็มไปด้วยเสียงร่ำร้องของความทุกข์ จนอยากจะเรียกว่าเป็นนิทรรศการแห่งความทุกข์ มองในแง่นี้ภาพ “ภิกษุสันดานกา” ของ อนุพงษ์ จันทร ก็เป็นเพียงเสียงร้องทุกข์ของพุทธศาสนิกชนต่อความเสื่อมเสียของศาสนาในสังคมปัจจุบัน เพื่อเรียกร้องให้ทุกคนตระหนัก จนนำไปสู่การแก้ปัญหาซึ่งต้องมาจากหลายฝ่ายร่วมมือกัน

จากภาพสะท้อนของศิลปะบ่งบอกว่าสังคมกำลังมีความทุกข์ และต้องการธรรมะ.

[พิมพ์ครั้งแรก: มติชนสุดสัปดาห์]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น