นิทรรศการ – So zu sehen (ก็อย่างที่เห็นนั่นแหละ) / ศิลปิน – สมบูรณ์ หอมเทียนทอง / หอศิลป์ตาดู ชั้น 7 อาคารบาเซโลนามอเตอร์ ถ.เทียมร่วมมิตร, 11 ตุลาคม – 17 พฤศจิกายน 2550 และ เดอะ สีลมแกลเลอเรีย อาร์ทสเปซ อาคารเดอะสีลมแกลเลอเรีย ถ.สีลม, 18 ตุลาคม – 17 พฤศจิกายน 2550
[สมบูรณ์ หอมเทียนทอง, “ทุกชีวิตหาธรรมชาติของตนเอง” ปี พ.ศ. 2531, หมึกดำบนผ้าใบ 150x200 ซม.]
[สมบูรณ์ หอมเทียนทอง, “ไม่มีชื่อ” ปี พ.ศ. 2550, สีอะคริลิกบนผ้าใบ ขนาดภาพละ 150x200 ซม.]
นามของ สมบูรณ์ หอมเทียนทอง เป็นที่รู้จักกันในฐานะศิลปินไทยที่ไปใช้ชีวิตและทำงานศิลปะอยู่ในประเทศเยอรมนีกว่า 30 ปี ก่อนจะนำผลงานกลับมาจัดแสดงให้คนไทยได้ชื่นชมกันเป็นระยะ จนกระทั่งย้ายกลับมาสร้างบ้านและสตูดิโอในเมืองไทยช่วง 10 ปีให้หลัง
การ “โกอินเตอร์” ของศิลปินไทยสมัยนั้นเป็นไปเพราะต้องการสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการทำงานศิลปะ เพราะแม้การศึกษาศิลปะสมัยใหม่จะลงหลักปักฐานในสังคมไทยมาได้หลายสิบปีก่อนหน้านั้น แต่คตินิยมของสุนทรียภาพที่แยกความงามบริสุทธิ์ออกมาจากทักษะฝีมือและประโยชน์ใช้สอยในเชิงช่างก็ยังแปลกแยกจากคนไทยโดยทั่วไปอยู่มาก ศิลปินที่ต้องการทุ่มเทพลังชีวิตสร้างสรรค์งานศิลปะอย่างจริงจังจึงอยู่ได้ยาก ดังปรากฏเป็นตำนานความลำบากแสนเข็ญของศิลปินรุ่นบุกเบิกหลายต่อหลายคน
นอกจากนี้บรรยากาศทางการเมืองในยุคสงครามเย็นก็เป็นปัจจัยสำคัญ ตั้งแต่ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ระหว่างฝ่ายขวากับฝ่ายซ้ายในสังคม ซึ่งขีดเส้นแบ่งฝ่ายกันแบบหยาบๆ จนแทบไม่เหลือพื้นที่ให้ความคิดอื่นได้เติบโตอย่างหลากหลาย ดังนั้นจึงไม่เอื้อต่อภาวะการสร้างสรรค์ ประกอบกับมีการช่วยเหลือสนับสนุนจากประเทศฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตยต่อประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายในรูปของทุนทางการศึกษาและวัฒนธรรม เพื่อเหนี่ยวรั้งไม่ให้ปัญญาชนในประเทศเหล่านั้นเอนเอียงไปทางฝ่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ซึ่งทุนเกี่ยวกับศิลปะก็มีไม่น้อย ศิลปินหลายคนจึงตัดสินใจไปเรียนต่อยังประเทศตะวันตกและทำงานที่นั่น
แต่ด้วยการแข่งขันอันสูงยิ่ง คนที่ประสบความสำเร็จจนสามารถยืนหยัดอยู่ได้ในสังคมนั้นย่อมมีไม่มาก และต้องนับว่าเก่งจริง
ศิลปินไทยซึ่งเป็นที่รู้จักกันในลักษณะนี้ก็เช่น กมล ทัศนาญชลี ซึ่งไปใช้ชีวิตและทำงานอยู่ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา, ธนะ เลาหกัยกุล เป็นศิลปินและอาจารย์อยู่ที่รัฐเทกซัส และ ประวัติ เล้าเจริญ ทำงานภาพพิมพ์อยู่ในนครนิวยอร์ก, ชวลิต เสริมปรุงสุข ไปเป็นศิลปินอยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์, สมยศ หาญอนันทสุข และ สมบูรณ์ หอมเทียนทอง เป็นศิลปินอยู่ในนครมิวนิค ประเทศเยอรมนี เป็นต้น
แม้จะใช้รูปแบบการแสดงออกที่เป็นสากล ลักษณะเด่นของศิลปินเหล่านี้ก็อยู่ที่การผสมผสานความเป็นตะวันออกกับความเป็นตะวันตกเข้าด้วยกัน เพราะโดยทั่วไปแล้วศิลปะตะวันตกมักจะเน้นความชัดเจนของวัตถุวิสัยหรืออัตวิสัยของศิลปินเป็นหลัก ขณะที่ศิลปะตะวันออกจะแฝงมิติทางจิตวิญญาณมากกว่า และศิลปินไทยก็มีความละเอียดอ่อนวิจิตรบรรจงอยู่ในฝีไม้ลายมือเสมอ อย่างที่เห็นในงานศิลปหัตถกรรมไทยแต่เดิมมา
สมบูรณ์ หอมเทียนทอง เกิดและเติบโตในกรุงเทพฯ ละแวกฝั่งธนฯ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมของยุคสมัยที่น้ำยังใสเรือกสวนร่มรื่น เรียนพื้นฐานทางศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่าง และศึกษาปรัชญาความคิดกับ จ่าง แซ่ตั้ง ร่องรอยของสุนทรียภาพแบบธรรมชาตินิยมตามแนวทางของ จ่าง แซ่ตั้ง และ ประเทือง เอมเจริญ ยังฉายเงาอยู่ในงานของเขาจนถึงปัจจุบัน
จ่าง แซ่ตั้ง และ ประเทือง เอมเจริญ เริ่มมีบทบาทในแวดวงศิลปะร่วมสมัยของไทยตั้งแต่กลางทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา ด้วยพื้นฐานที่คล้ายกัน คือไม่เคยผ่านการศึกษาในระบบมาก่อน แต่ฝึกฝนทักษะเบื้องต้นจากงานรับจ้างวาดภาพเหมือนและเขียนป้ายโฆษณา จากนั้นก็เรียนรู้ด้วยตัวเอง ผ่านการทำงานและศึกษาปรัชญาความคิดอย่างเข้มข้น จนเขาทั้งสองกลายเป็นเหมือนสถาบันเสียเอง มีลูกศิษย์มากมาย และเป็นต้นแบบของศิลปินในอุดมคติที่มีผู้ดำเนินรอยตามจนเห็นเป็นภาพลักษณ์อันเจนตา ทั้งการแต่งตัวเรียบง่ายแบบเดียว ปล่อยผมเผ้าและหนวดเครายาว รวมทั้งวัตรปฏิวัติที่เคร่งครัดอย่างนักบวช
เนื้อดินอันอุดมของฝั่งธนบุรีเป็นต้นกำเนิดของศิลปะจากสามัญชนมาตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ กระทั่งเข้าสู่ยุคศิลปะสมัยใหม่ ยังหล่อหลอมคนอย่างจ่างและประเทืองขึ้นมา การตีความปรัชญาของศิลปะเข้ากับธรรมะของศาสนาและสัจจะของธรรมชาติ เกิดขึ้นท่ามกลางดินน้ำอากาศและผู้คนละแวกนั้น เมื่อเกิดขึ้นจากความเป็นจริงของชีวิตย่อมออกดอกออกผลส่งแรงกระทบและสืบทอดเมล็ดพันธุ์ได้จริง
ตอนสมบูรณ์ไปเรียนต่อที่มิวนิคในปี พ.ศ. 2516 ปรัชญาธรรมชาติของโลกตะวันออกเติบโตอยู่ในตัวเขาเต็มที่แล้ว ครั้นผสมผสานกับรูปแบบการทำงานที่เป็นระบบระเบียบของวงการศิลปะเยอรมัน ดอกผลก็เบ่งบานให้เขาได้ใช้ประโยชน์
สมบูรณ์ทำงานหลายประเภท ทั้งประติมากรรม วาดเส้น จิตรกรรม ศิลปะจัดวาง และสื่อผสม แต่ละประเภทจะมีความสมบูรณ์ในตัวเองทั้งรูปแบบและวิธีการ ส่วนที่เหมือนกันคือลักษณะอันเป็นนามธรรม แสดงความขัดแย้งตามสภาวะธรรมชาติ อย่างการหยุดนิ่งและเคลื่อนไหว การแข็งขืนและโรยรา การสถิตและแปรเปลี่ยน หรือความเงียบงันกับเสียงสะท้อน ผลปรากฏบ่งบอกถึงวิธีการทำงานอย่างตั้งใจเป็นแบบแผน และผ่านการไตร่ตรองอย่างรอบคอบ หัวข้อที่นำเสนอก็มักจะเน้นย้ำซ้ำๆ ตามรอยเดิมจนหนักแน่น เขาจะไม่นิยมเปลี่ยนรูปแบบอย่างฉูดฉาดฉับพลัน แต่จะคลี่คลายงานในแต่ละประเภทแบบค่อยเป็นค่อยไปในส่วนของรายละเอียด เพื่อสะท้อนภาวะภายในของศิลปินในแต่ละช่วงเวลา รวมถึงว่าเขาชอบจัดแสดงงานเก่าให้พิจารณากันใหม่ในช่วงเวลาและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปด้วย นั่นอาจแสดงถึงความเป็นสากลไร้กาลเวลาอย่างหนึ่งในงานของเขา
สมบูรณ์นำผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นในเยอรมันมาจัดแสดงให้คนไทยได้ชื่นชมกันครั้งแรกปลายปี พ.ศ. 2532 ภายใต้ชื่อนิทรรศการ “เดินทางไปกับลมหายใจ” รวบรวมงานจิตรกรรมและภาพถ่ายประติมากรรมในช่วง 16 ปีของเขา ซึ่งสร้างความตื่นตาตื่นใจได้ไม่น้อย เพราะจะเห็นศิลปินไทยที่มีโอกาสทำงานจริงจังในเชิงวิจัยและทดลอง (research and experiment) อย่างต่อเนื่องยาวนานเช่นนี้ไม่มากนัก
ต้นปี พ.ศ. 2536 เขากลับมาอีกครั้งด้วยงานจิตรกรรมและลายเส้นชุดใหม่ในชื่อ “เวลาที่ไร้นาม (The Nameless Time)” และยังขึ้นไปทำงานประติมากรรมโลหะชื่อเดียวกันที่สวนสัตว์เชียงใหม่ด้วย
ปี พ.ศ. 2538 เขาแสดงงานอันเป็นผลมาจากการสำรวจเก็บเกี่ยวแรงบันดาลใจในแผ่นดินไทยได้ระยะหนึ่ง อย่างการเก็บหินแม่น้ำโขงมาจัดแสดงในนิทรรศการ “The Mekong River” และนำเสาโบสถ์จากวัดในอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน มาเป็นวัตถุทางศิลปะในนิทรรศการ “เสียงพูดที่ไม่ได้ยิน (The Unheard Voice)”
แล้วปีต่อมาเขาก็แสดงงานชุด “Thong” แทนค่าจินตภาพความเป็นไทยด้วยสีทองนั่นเอง
จากนั้นเขาก็นำงานเก่ามาจัดแสดงใหม่ทั้งวาดเส้นและประติมากรรม และแสดงงานใหม่หลังจากกลับมาอยู่และทำงานในสตูดิโอริมแม่น้ำโขง อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย รวมทั้งจัดแสดงเทียบเคียงกันระหว่างงานเก่ากับงานใหม่ด้วย
นิทรรศการ “So zu sehen” จัดแสดงขึ้นพร้อมกันทีเดียว 2 แห่ง คือที่หอศิลป์ตาดู และเดอะสีลมแกลเลอเรียอาร์ทสเปซ งานที่ตาดูนั้นเป็นจิตรกรรมลายเส้นหมึกดำ ซึ่งทำขึ้นที่มิวนิคระหว่างปี พ.ศ. 2526-31 ส่วนงานที่สีลมแกลเลอเรียเป็นจิตรกรรมสีอะคริลิก ทำขึ้นที่เชียงคานในช่วงปีปัจจุบัน
ตามคำอธิบายของศิลปิน “So zu sehen” เป็นภาษาเยอรมัน แปลว่า “ก็อย่างที่เห็นนั่นแหละ” ประโยคอันไร้ความหมายคงเหมาะสำหรับงานศิลปะนามธรรม (Abstract Art) ซึ่งไม่มี “เรื่อง” ให้รับรู้ เพราะฉะนั้นจึงดูไม่รู้เรื่อง เพียงรับรู้ตามเส้นสีรูปทรง “อย่างที่เห็นนั่นแหละ” ก็พอแล้ว
งานที่จัดแสดงทั้ง 2 แห่งสมบูรณ์ในตัวเอง และเป็นอิสระจากกัน จะแยกชม หรือจะติดตามชมทั้ง 2 แห่ง เพื่อสนทนาระหว่างความต่างกับความเหมือนของผลงาน 2 ช่วงเวลา/สถานที่ก็อาจจะได้สุนทรียรสยิ่งขึ้น
จิตรกรรมลายเส้นหมึกดำบนผ้าใบที่หอศิลป์ตาดูนั้น เป็นกลวิธีที่เขาพัฒนามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนไปเยอรมันแล้ว จะเห็นตัวอย่างอิทธิพลของ ประเทือง เอมเจริญ จากการใช้เส้นที่ละเอียดสร้างลีลาพลิ้วไหวไกล่เกลี่ยน้ำหนักกลมกลืน และอิทธิพลของ จ่าง แซ่ตั้ง จากความโอ่อ่าของรูปทรงหนักแน่นในความสัมพันธ์บนพื้นที่ว่าง แฝงอยู่ในตัวตนอันเข้มแข็งของสมบูรณ์เอง ซึ่งเขาได้สังเคราะห์แบบแผนเฉพาะตัวขึ้นมากำหนดอิสระในการแสดงออก ทั้งรอยเส้นบรรทัดที่เป็นระเบียบ และขอบเขตของรูปทรงบนพื้นที่ว่าง
น้ำหนักขาวดำหนาแน่นรางเลือนไหลเนื่องแสดงความผันแปรไม่แน่นอนอย่างปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ ละม้ายจังหวะในทิวทัศน์ สายน้ำ หมอกควัน หรือเส้นสายลายไม้ในธรรมชาติ ต้องถือเป็นงานลายเส้นที่ถึงพร้อมทั้งรูปแบบและวิธีการ
หากภาพขาวดำเป็นเสมือนตัวแทนจากอดีต ขณะปัจจุบันคงแสดงออกด้วยสีสัน งานจิตรกรรมสีอะคริลิกที่สีลมแกลเลอเรียสดใสด้วยโครงสีอันกระจ่างตา ความแตกต่างจากงานในรูปแบบเดียวกันสมัยที่เขาทำอยู่ในเยอรมันคือ การใช้สีที่สดชื่นขึ้น สีดำซึ่งเคยมีบทบาทสำคัญในการควบคุมองค์ประกอบของภาพลดน้อยลงและถูกบดบังจนเกือบไม่เห็นอยู่เลย สีฟ้า น้ำเงิน คราม เขียว และเทา เป็นโครงสีหลักในงานส่วนใหญ่ แซมด้วยสีเหลือง แดง และส้ม เพิ่มความจัดจ้าน ความขัดแย้งที่เคยเป็นพลังในงานของเขาทดแทนด้วยความกลมกลืน แม้ความจัดจ้านก็ไม่ได้เป็นไปเพื่อแสดงความขัดแย้ง แต่เสริมความแจ่มจ้าแทรกอยู่ในแนวเดียวกัน
หรือแม้แต่ฝีแปรงก็ระบายในแนวระนาบเหมือนกันเกือบทั้งหมด อาการของรูปทรงและเส้นที่ดิ้นรนเคลื่อนไหวทำลายความสงบนิ่งภายในภาพก็ลดลงด้วย เพียงจัดวางจังหวะ (rhythmic composition) ของฝีแปรงระบายสีเป็นแผ่นแบนๆ ในแนวนอน แม้เขียนวงกลมก็มักจะเอนไปในแนวนอน จะมีเส้นที่ขัดตาบ้างก็เพื่อความจัดจ้านของภาพ
งานจิตรกรรมนามธรรมจะแบ่งตามกระบวนแบบออกเป็น 2 แนวทาง คือ งานที่สำแดงพลังปฏิกิริยาอย่างฉับพลัน กับงานที่แสดงออกอย่างสุขุมลุ่มลึก จิตรกรรมนามธรรมของ สมบูรณ์ หอมเทียนทอง จัดอยู่ในแบบหลัง แม้จะไม่ละเอียดซับซ้อนอย่างลายเส้น แต่ก็เห็นได้ชัดว่าผ่านการไตร่ตรองมาแล้ว และต้องอาศัยประสบการณ์ในการเข้าถึงความงามเชิงศิลปะจึงจะได้องค์ประกอบที่สดใหม่อยู่เสมอ ขณะเดียวกันก็ต้องจริงใจต่อการค้นหาตัวตนในช่วงเวลานั้นด้วย
เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นการวาดเส้นที่ละเอียดลออ หรือการระบายสีด้วยฝีแปรงหยาบหนา งานศิลปะของ สมบูรณ์ หอมเทียนทอง ก็จัดอยู่ในประเภทนามธรรมเพ่งพินิจ (Meditative Abstraction) กล่าวง่ายๆ ว่าเป็นเสมือนการทำสมาธิภาวนาอย่างหนึ่ง
ความแตกต่างของงานที่จัดแสดง 2 แห่งอยู่ตรงรูปแบบภายนอก แห่งหนึ่งสร้างความงามด้วยน้ำหนักขาวดำของลายเส้น แห่งหนึ่งสร้างความงามด้วยสีสันสดชัด แห่งหนึ่งใช้วิธีการวาดเส้นด้วยหมึกดำอย่างละเอียด แห่งหนึ่งใช้ฝีแปรงขนาดใหญ่ปาดป้ายสีทิ้งรอยหยาบ แห่งหนึ่งสร้างสรรค์ขึ้นในช่วงวัยฉกรรจ์ท่ามกลางความกดดันของชีวิตในต่างแดน แห่งหนึ่งสร้างสรรค์ขึ้นในช่วงวัยผู้ใหญ่ท่ามกลางบรรยากาศผ่อนคลายของฉากหลังในประเทศบ้านเกิด
แต่ที่เหมือนกันคือเนื้อหาภายในของความรู้สึก เป็นความสงบและเคลื่อนไหวอยู่ภายใต้เอกภาพบางอย่าง งานส่วนใหญ่จะวางกรอบภาพในแนวตั้งเหมือนกัน และวาดหรือระบายไปทางแนวนอนเหมือนกัน บีบให้รู้สึกดิ่งลึก ตามสายตาที่ต้องกวาดขึ้นลงในแนวตั้งเพื่อสำรวจองค์ประกอบต่างๆ
กล่าวได้ว่าคตินิยมของศิลปะนามธรรมเป็นผลผลิตของความเป็นสมัยใหม่โดยแท้ ทั้งการแยกความงามออกมาจากบทบาทอื่น และไม่จำเป็นต้องจำลองเลียนแบบความจริงของโลกทางกายภาพ เพียงถ่ายทอดมโนทัศน์ภายในของศิลปินเท่านั้น ศิลปะนามธรรมจึงเป็นเรื่องของปัจเจกและเสรีนิยมอย่างยิ่ง ศิลปินคิดอย่างหนึ่ง คนเสพจะคิดอีกอย่างก็ไม่ผิดอะไร ตอนที่ความคิดแบบสมัยใหม่กำลังรุ่งเรือง ถือกันว่าศิลปะนามธรรมบริสุทธิ์สูงส่งกว่าศิลปะเหมือนจริงด้วยซ้ำ ปัจจุบันเนื้อหาในงานศิลปะกลับมามีความสำคัญอีกครั้ง จนกระทั่งไร้รูปแบบหรือวัตถุทางศิลปะไปเลย แต่ศิลปะนามธรรมก็ยังคงดำรงอยู่ตรงปลายทางแนวหนึ่ง
นอกเหนือจากการถ่ายทอดโลกเฉพาะของตัวเอง ยังมีความพยายามของศิลปินหลายคนที่ต้องการให้มโนทัศน์นามธรรมของตนเป็นภาพแทนสัจธรรมสูงสุดหรือความจริงแท้ของจักรวาล ผลักดันให้กระบวนการและภาพลักษณ์ของศิลปะนามธรรมบางสายออกไปทางศาสนา ศิลปินเป็นประหนึ่งนักบวช และการทำงานศิลปะก็เป็นเสมือนการปฏิบัติธรรม
แต่ศิลปินก็ไม่ใช่นักบวช ด้วยคุณสมบัติของศิลปินที่ต้องเป็นผู้มีผัสสะอันละเอียดอ่อนและไวต่อการกระทบ ย่อมยากที่จะครองสำรวมอย่างเพศบรรพชิต เพราะฉะนั้นผลงานอันเกิดจากการเพ่งพินิจภายในของศิลปินจึงเป็นเพียงร่องรอยของความพยายามเท่านั้น มิใช่แก่นแท้ของปรมัตถ์ธรรม และไม่อาจคาดหวังดังนั้น เพราะธรรมะเป็นประสบการณ์เฉพาะตัวของปัจเจกแต่ละบุคคล เช่นเดียวกับความงาม
เนื้อหาของ “ก็อย่างที่เห็นนั่นแหละ” จึงเป็นประสบการณ์จากความพยายามในวิถีแห่งศิลปะของ สมบูรณ์ หอมเทียนทอง บางครั้งการชื่นชมงานศิลปะก็คือการชื่นชมความวิริยะอุตสาหะของมนุษย์คนหนึ่ง.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น