[พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช, “ไม่มีชื่อ”, สีน้ำมันบนผ้าใบ 59x75 ซม.]
เป็นที่ประจักษ์แจ้งแก่ใจทุกผู้คนว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นกษัตริย์ที่ดีเลิศพระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์ มิใช่เฉพาะชาวไทยเท่านั้น แต่เป็นที่ยอมรับยกย่องกันในนานาประเทศด้วย
พระองค์ทรงเป็นประมุขของประเทศ เป็นที่เคารพสักการะตามจารีตประเพณี และเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ
นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเป็นผู้นำและแบบอย่างของการดำเนินชีวิตและประกอบหน้าที่การงาน ประชาชนทุกสาขาอาชีพสามารถเทิดทูนพระองค์เป็นต้นแบบหรือ “ไอดอล” (Idol) อันเป็นมงคลแก่ตน ทั้งข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ครูอาจารย์ นักการเมือง นักวิชาการ พ่อค้านักธุรกิจ ลูกจ้างพนักงาน เกษตรกร ช่างฝีมือ ศิลปิน สื่อมวลชน นักเรียนนักศึกษา ฯลฯ เพราะพระองค์ทรงเป็นทั้งนักการปกครอง นักบริหาร จอมทัพ ปราชญ์ นักพัฒนา นักประดิษฐ์ นายช่าง ศิลปิน นักดนตรี นักกีฬา นักการศึกษา นักเทคโนโลยีสารสนเทศ ฯลฯ มิใช่เพียง “เป็น” หรือ “ทำได้” เท่านั้น แต่ทรงมีพระราชปณิธานและพระราชวิริยะอุตสาหะที่จะ “ทำให้ดีที่สุด” ในกิจการงานนั้นๆ ด้วย เพราะฉะนั้นพระองค์จึงทรงเข้าถึงความเป็นเลิศในหลายด้าน
กล่าวได้ว่านอกจากพระราชภารกิจในฐานะพระเจ้าแผ่นดิน ปัจเจกภาพส่วนพระองค์ก็เต็มเปี่ยมในความเป็นมนุษย์ ทั้งอุดมคติของ “มนุษย์ที่สมบูรณ์” ตามแนวทางอารยธรรมตะวันตก และอุดมคติของ “มนุษย์ที่แท้” ตามแนวทางอารยธรรมตะวันออก
ตามพระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยในการศึกษาศิลปวิทยาการทั้งหลายมาแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ ทรงสนพระราชหฤทัยในวิทยาศาสตร์ผ่านงานช่างประดิษฐ์สิ่งของต่างๆ และทรงสนพระราชหฤทัยในศิลปะทั้งดนตรีและจิตรกรรม
ทรงได้รับประกาศนียบัตรทางอักษรศาสตร์ และเข้าศึกษาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ในมหาวิทยาลัยโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ภายหลังเมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปศึกษาต่อในวิชารัฐศาสตร์และกฎหมาย
ช่วงเวลาที่เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นระยะเปลี่ยนผ่านของประวัติศาสตร์สมัยใหม่ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดการจัดระเบียบใหม่ของอำนาจทั้งการเมืองระหว่างประเทศและการเมืองภายในประเทศ ระบบเศรษฐกิจในบ้านเราเริ่มเข้าสู่ยุคพัฒนาเป็นสังคมสมัยใหม่เต็มตัว และยังคงขยับขยายอยู่ในโครงสร้างเดิมมาจนถึงปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าแม้จะผ่านวิกฤตหรือความขัดแย้งมาหลายครั้ง แต่ด้วยพระบารมีของพระองค์ก็ช่วยบรรเทาไม่ให้ปัญหาต่างๆ รุนแรงเกินไปนัก คนไทยส่วนใหญ่จึงอยู่เย็นเป็นสุขกันเรื่อยมา จะมีความทุกข์ร้อนบ้างตามธรรมดาของโลกสามัญ แต่ก็ไม่หนักหนาเหมือนสังคมอื่น
สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นหลักยึดเหนี่ยวของความเป็นชาติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทำให้ความหมายนั้นเปี่ยมคุณค่าอย่างแท้จริง
นอกจากพระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติในฐานะองค์พระประมุขของประเทศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงสนพระราชหฤทัยในกิจการด้านต่างๆ อย่างกว้างขวาง และด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อราษฎรของพระองค์ ยามเสด็จพระราชดำเนินไปตามท้องที่ต่างๆ พระองค์จะทรงรับรู้ความทุกข์ยากของประชาชน และพระราชทานความช่วยเหลือ ตั้งแต่ด้านสุขภาพ การศึกษา อาชีพ และบรรเทาอุบัติภัย จนกระทั่งเกิดพระราชดำริที่จะศึกษาวิจัยปัญหาต่างๆ ให้ถ่องแท้เพื่อแก้ไขและพัฒนาอย่างยั่งยืน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดงานพัฒนา ดังปรากฏเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากมาย และด้วยพระราชอัจฉริยภาพ พระองค์ยังทรงสังเคราะห์องค์ความรู้จากการศึกษาและประสบการณ์เป็นทฤษฎีหรือปรัชญาที่ครอบคลุมแนวทางปฏิบัติต่อไปด้วย
หากศึกษาพระราชดำริและหลักการทรงงานของพระองค์ จะพบว่าทรงให้ความสำคัญกับพื้นฐาน และการพัฒนาสร้างสรรค์จากพื้นฐานของสิ่งนั้น ตัวอย่างเช่น การบริหารจัดการที่ดิน พระองค์จะทรงศึกษาและสังเกตจนเข้าใจธรรมชาติของดิน แล้วจึงทรงมีพระราชดำริเป็นทฤษฎีใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูสภาพดินด้วยทฤษฎี “แกล้งดิน” หรือการป้องกันการเสื่อมโทรมและพังทลายของดินด้วยหญ้าแฝก ตลอดจนทฤษฎีการเกษตรแบบพึ่งตนเอง หรือการบริหารจัดการน้ำ พระองค์ก็จะทรงศึกษาจนเข้าใจธรรมชาติของน้ำ แล้วมีพระราชดำริเป็นทฤษฎีพัฒนาทรัพยากรน้ำ ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎี “ฝนหลวง” การบำบัดน้ำเสียโดยธรรมชาติ อาศัยผักตบชวา หรือนำน้ำดีมาไล่น้ำเสีย การบำบัดด้วย “กังหันน้ำชัยพัฒนา” ตลอดจนการบำบัดด้วยกระบวนการทางฟิสิกส์เคมี รวมถึงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมด้วยทฤษฎี “แก้มลิง”
กล่าวได้ว่าพื้นฐานที่พระองค์ทรงเข้าถึงนั้นคือความจริงแท้ตามหลักธรรมชาติของสรรพสิ่งนั่นเอง ซึ่งมีกระบวนการดำเนินต่อเนื่องเป็นวงจร การแก้ปัญหาหรือพัฒนาสิ่งใดก็เพียงรักษาหรือเสริมให้วงจรของสิ่งนั้นดำเนินต่อเนื่องอย่างสมบูรณ์
อย่างปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงก็ให้ยืนอยู่บนพื้นฐานของการพึ่งตนเองและพอประมาณ มิได้ปฏิเสธระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม เพียงไม่ให้ทำอะไรเกินตัวจนทำลายพื้นฐานของการดำรงอยู่ที่มั่นคงนั้น
การทรงงานลักษณะนี้จะพบในการสร้างสรรค์ส่วนพระองค์อย่างงานศิลปะประเภทต่างๆ ด้วยเช่นกัน
เป็นที่ประจักษ์กันว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระปรีชาสามารถในงานศิลปะหลายประเภท ทั้งดนตรี จิตรกรรม ภาพถ่าย วรรณกรรม และงานช่าง รวมถึงทรงเข้าพระราชหฤทัยในแก่นแท้ของศิลปะเหล่านั้น สมดังพระราชสมัญญา “อัครศิลปิน” โดยแท้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดงานศิลปะตามแนวทางที่สำแดงเอกัตภาพ (Individuality) หรือความเป็นตัวของตัวเองของปัจเจก เช่น ทรงโปรดดนตรีแจ๊ส (Jazz) ซึ่งเป็นดนตรีประเภทที่เปิดให้นักดนตรีแสดงอารมณ์ความรู้สึกของตนเองออกมาเป็นทำนองเพลงได้อย่างอิสระในกรอบของจังหวะและแนวเพลง ทรงโปรดจิตรกรรมแนวสำแดงพลังอารมณ์หรือ “เอ็กเพรสชั่นนิสม์” (Expressionism) ซึ่งเป็นแนวนิยมที่แสดงอารมณ์ความรู้สึกของศิลปินออกมาอย่างจริงใจและกล้าหาญ และทรงโปรดกีฬาเรือใบ ซึ่งต้องใช้ความสามารถเฉพาะตนในการควบคุมเรือให้สัมพันธ์กับคลื่นลมได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงใช้พระปรีชาสามารถด้านการช่างออกแบบและต่อเรือเอง ทรงเป็นนักกีฬาเรือใบทีมชาติ และทรงเรือที่ต่อขึ้นด้วยพระองค์เองเข้าร่วมแข่งขันในกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 ปี พ.ศ. 2510 จนชนะเลิศได้รางวัลเหรียญทอง
ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ก็แสดงมุมมองส่วนพระองค์มากกว่าองค์ประกอบตามแบบแผน และยังแสดงการคิดค้นทดลองเทคนิคใหม่ๆ อยู่เสมอ เนื้อหาในงานพระราชนิพนธ์วรรณกรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ” “ติโต” “พระมหาชนก” และ “ทองแดง” ก็ทรงมีพระราชปรารภให้เป็นเครื่องพิจารณาเพื่อประโยชน์ในการดำเนินชีวิตอันเป็นมงคลแก่บุคคลทั้งหลาย เพราะเมื่อแต่ละคนพัฒนาตนจนสมบูรณ์แล้วก็จะนำความเจริญมาสู่ตัวเองและส่วนรวมได้มาก
และไม่ว่าจะทรงงานใดพระองค์ยังคงให้ความสำคัญกับพื้นฐานความเข้าใจก่อนเสมอ ทรงศึกษาและฝึกฝนวิชาการดนตรีแบบคลาสสิกจนแตกฉาน ก่อนที่จะทรงดนตรีแจ๊ส ทรงศึกษาและฝึกฝนวิธีการวาดภาพแบบเหมือนจริง ก่อนจะสร้างสรรค์รูปแบบเฉพาะของพระองค์เองขึ้นมา นอกจากนี้ยังทรงให้ความสำคัญกับความเพียรและการพึ่งตนเอง ทรงทำความสะอาดและซ่อมแซมเครื่องดนตรีด้วยพระองค์เอง ทรงล้างฟิล์มและอัดขยายภาพในห้องมืดด้วยพระองค์เอง และเมื่อเชี่ยวชาญแล้วก็จะทรงพัฒนาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา ดังจะเห็นว่าบทเพลงพระราชนิพนธ์ของพระองค์แต่ละเพลงมีความสดใหม่ไม่ซ้ำกันเลย ทั้งวิธีการและรูปแบบ หรือเมื่อทรงสนพระราชหฤทัยในกีฬาเรือใบ พระองค์ก็จะทรงออกแบบเรือขึ้นมาใหม่ให้เหมาะกับคนไทย เช่น เรือมด เรือซูปเปอร์มด และเรือไมโครมด เป็นต้น
งานจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็จะมีพัฒนาการในแต่ละภาพต่างกัน บางภาพจะแสดงอารมณ์ตราตรึงแบบโรแมนติก (Romanticism) บางภาพจะแสดงบรรยากาศที่ทรงประทับใจในแบบอิมเพรสชั่นนิสม์ (Impressionism) บางภาพจะสำแดงพลังอารมณ์แบบเอ็กเพรสชั่นนิสม์ และบางภาพก็จะแสดงพลังของสีสันแบบโฟวิสม์ (Fauvism)
บางภาพจะแสดงหน้าตัดของรูปทรงในโครงสร้างเลขาคณิตแบบศิลปะคิวบิสม์ (Cubism) บางภาพจะแสดงพลังความเคลื่อนไหวแบบศิลปะฟิวเจอริสม์ (Futurism) บางภาพจะแสดงสัญลักษณ์แบบศิลปะซิมโบลิสม์ (Symbolism) และบางภาพจะแสดงจิตไร้สำนึกแบบศิลปะเซอร์เรียลิสม์ (Surrealism)
บางภาพจะเสนอมโนทัศน์นามธรรมแบบศิลปะแอบสแตร็ก (Abstract Art) และบางภาพจะแสดงพลังปฏิกิริยาฉับพลันแบบศิลปะแอบสแตร็กเอ็กเพรสชั่นนิสม์ (Abstract Expressionism)
จะเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพัฒนาและทดลองวิธีการเขียนภาพแบบแปลกๆ ใหม่ๆ อยู่เสมอ ตั้งแต่ภาพเหมือน ภาพกึ่งนามธรรม ไปจนถึงภาพนามธรรม ช่วงที่ทรงงานจิตรกรรมอย่างจริงจังระหว่างปี พ.ศ. 2502-2510 นั้น ต้องถือว่าเป็นการบุกเบิกศิลปะสมัยใหม่ในเมืองไทยไปพร้อมกับศิลปินร่วมสมัยด้วย และยังก้าวทันวิวัฒนาการของศิลปะในทางสากล ซึ่งตอนนั้นยังอยู่ในช่วงปลายกระแสของศิลปะแบบแอบสแตร็กเอ็กเพรสชั่นนิสม์ หรือจิตรกรรมแบบแอ็กชั่นเพนติ้ง (Action Painting) ในสหรัฐอเมริกา
แต่จิตรกรรมฝีพระหัตถ์ทุกภาพจะแสดงลักษณะเฉพาะของพระองค์เองอย่างเด่นชัด อันเป็นอัตลักษณ์ของศิลปินที่แท้ และแนวทางที่ครอบคลุมอยู่โดยทั่วไปก็คือการสำแดงพลังอารมณ์แบบเอ็กเพรสชั่นนิสม์ ทั้งภาพในรูปแบบเหมือนจริงและนามธรรม ล้วนต้องการแสดงความจริงภายในตามจิตวิสัยของศิลปิน
สุนทรียภาพในงานจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะแสดงผ่านมวลของรูปทรงที่เป็นกลุ่มก้อนอยู่กลางภาพ ไม่ว่าจะเป็นรูปทรงคนหรือรูปทรงอิสระก็ตาม เส้นโค้งจะขับเน้นความเป็นกลุ่มก้อนของรูปทรงนั้น และเปล่งพลังด้วยสีสันหนักทึบสดเข้มเป็นส่วนใหญ่
ศิลปะเอ็กเพรสชั่นนิสม์เชิดชูเสรีภาพในการแสดงออกของปัจเจกบุคคล นัยยะทางการเมืองจึงออกไปทางเสรีนิยม (Liberalism) คือถืออิสระความเป็นไทแก่ตน อาจจะแบ่งย่อยออกเป็นเสรีนิยมสุดขั้วอย่างพวกอนาธิปไตย เสรีนิยมที่มีความรับผิดชอบอย่างอุดมการณ์ประชาธิปไตย หรือเสรีนิยมแบบมีพันธะเพื่อสังคม
คนที่มีแนวคิดแบบเผด็จการในสำนึกมักไม่ค่อยชอบศิลปะเอ็กเพรสชั่นนิสม์ เพราะจะขัดตากับการแสดงออกอย่างอิสระนั้น หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ศิลปินหลายสาขาในเยอรมนีรวมตัวกันเป็นขบวนการศิลปะแนวเอ็กเพรสชั่นนิสม์ เพื่อสะท้อนความไม่พอใจต่อสภาพสังคม และแสดงความคิดเห็นทางการเมือง วิพากษ์วิจารณ์ผลของสงครามและความละโมบของนายทุน พร้อมกับเสนออนาคตของสังคมในอุดมคติด้วย แต่ฮิตเลอร์และพรรคนาซีแสลงใจกับศิลปะในแนวนี้มาก ถึงกับเรียกว่าเป็นศิลปะของพวกป่าเถื่อน ผิดปกติ พิกลพิการ แล้วจัดนิทรรศการใหญ่รวบรวมผลงานของศิลปินเหล่านี้มาจัดแสดงให้ประชาชนประณามหยามหมิ่นในฐานะศิลปะที่เป็นมลพิษแก่ชาติพันธุ์อารยันบริสุทธิ์ แต่ภายหลังกาลเวลาก็ได้พิสูจน์แล้วว่าผลงานดังกล่าวล้วนเป็นเครื่องบุกเบิกแนวทางในการแสดงออกถึงจิตวิญญาณแห่งยุคสมัย ขณะที่ศิลปะแบบโฆษณาชวนเชื่อซึ่งฮิตเลอร์นิยมชมชอบยังสร้างความกระอักกระอ่วนใจให้คนเยอรมันมาจนถึงปัจจุบัน
ตอนนั้นศิลปินเยอรมันหลายคนได้อพยพไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา และเป็นส่วนหนึ่งในการบุกเบิกศิลปะสมัยใหม่ของอเมริกาจนเป็นศูนย์กลางการเคลื่อนไหวอีกแห่งหนึ่ง ต่อมาศิลปะแนวแอบสแตร็กเอ็กเพรสชั่นนิสม์ก็กลายเป็นตัวแทนของอุดมการณ์ฝ่ายเสรีนิยมในช่วงสงครามเย็น เช่นเดียวกับดนตรีแจ๊ส
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดวิธีการใช้สีและฝีแปรงของพวกเอ็กเพรสชั่นนิสม์ ตอนที่ทรงประทับอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ พระองค์ยังเคยเสด็จพระราชดำเนินไปยังห้องทำงานของ ออสการ์ โคโคชกา ศิลปินเอ็กเพรสชั่นนิสม์คนสำคัญ เพื่อทอดพระเนตรและทรงมีพระราชปฏิสันถารถึงการทำงานจิตรกรรม
ภายหลังแม้พระองค์จะไม่ได้ทรงงานศิลปะอย่างจริงจังอีก เนื่องจากมีพระราชภารกิจด้านอื่นมากขึ้น แต่หากพิจารณาจากงานที่ทรงพระราชทานเข้าร่วมในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติแต่ละปีนั้น จะเห็นว่าพระองค์ยังทรงเท่าทันในสุนทรียภาพของยุคสมัยอยู่เสมอ อย่างคตินิยมของศิลปะแบบหลังสมัยใหม่ซึ่งมีท่าทีเล่นล้อกับความจริง พระองค์ก็ทรงแสดงออกในงานภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ เช่น ภาพขยายสิ่งที่เล็กจิ๋วอย่างยุง หรือภาพนิ่งของสิ่งที่เคลื่อนไหวฉับพลันอย่างฟ้าผ่า ซึ่งใครเห็นก็ต้องอุทานว่าถ่ายได้อย่างไร เป็นการตั้งคำถามกับความจริงจากการบันทึกปรากฏการณ์ที่เกินวิสัยอันคุ้นเคยของมนุษย์นั่นเอง
การทำงานศิลปะเป็นการผ่อนคลาย บำบัดอารมณ์ และค้นหาตัวตน เพื่อขัดเกลาปัจเจกภาพให้สมบูรณ์ และยังสามารถนำประสบการณ์ที่ได้ไปปรับใช้กับหน้าที่การงานได้อีก อย่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์บทเพลงพระราชทานที่ทำประโยชน์เนื่องในโอกาสต่างๆ เช่น เพลง “พรปีใหม่” เพลงประจำสถาบันการศึกษาและกองทัพ เพลงปลุกใจให้รักชาติ และเพลงที่มีเนื้อหาปลอบขวัญอีกมากมาย ประสบการณ์ทางศิลปะของพระองค์ก็ปรากฏในพระราชดำริเกี่ยวกับงานด้านศิลปะและวัฒนธรรม ซึ่งทรงเข้าพระราชหฤทัยอย่างลึกซึ้ง เหนืออื่นใดคือทรงเข้าพระราชหฤทัยในชีวิตและโลกอย่างถ่องแท้ อันสืบเนื่องมาจากทรงเข้าพระราชหฤทัยในพระองค์เองเป็นเบื้องต้น
มนุษย์ที่มีปัจเจกภาพอันสมบูรณ์ คิดพึ่งตนเอง มีความเพียร และรู้จักประมาณตน ย่อมมีวิจารณญาณแยกแยะถูกผิดดีชั่วได้อย่างเที่ยงตรง อันความดีงามนั้นไม่ใช่คุณธรรมเลื่อนลอยไร้เหตุผลความเป็นจริงรองรับ แต่เป็นหลักธรรมชาติที่นำตนและส่วนรวมไปสู่ความเจริญงอกงาม ส่วนความชั่วร้ายมิเพียงเบียดเบียนคนอื่น ยังนำความเสื่อมมาสู่ตนและส่วนรวมเสมอ เพราะผิดหลักธรรมชาตินั่นเอง
การปกครองระบอบประชาธิปไตยต้องการประชาชนที่ตื่นรู้ในสิทธิเสรีภาพและหน้าที่ของตน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานแนวทางในการดำเนินชีวิตไว้มากมายหลายประการ หากพิจารณาอย่างแยบคายก็จะเห็นความจริงแท้เหมาะควรแก่เหตุผลโดยไม่มีสิ่งใดผิดเพี้ยนไปเลย อาจจะมีข้อจำกัดในเชิงสถาบันที่ไม่อาจแสดงเป็นรูปธรรมได้ทุกเรื่อง แต่ก็เป็นกิจที่ประชาชนในภาคส่วนต่างๆ พึงกระทำด้วยตนเอง ตามแบบอย่างที่พระองค์ทรงจัดวางไว้ดีแล้ว.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น