วันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2554

Passing through the Veil : สันตติในปุราณวิทยา

Passing through the Veil / Bruce Gundersen / หอศิลปวิทยนิทรรศน์ ศูนย์วิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 30 มิถุนายน – 23 กรกฎาคม 2554

With the Fish, 74x102 ซม. ปี 2554

[With the Fish, 74x102 ซม. ปี 2554]

ศิลปะร่วมสมัยบางแนวทางพัฒนาอยู่บนฐานความคิดหรือความรู้มากกว่ากระบวนแบบทางจินตภาพหรือการแสดงออกทางเทคนิค กระทั่งมีวิธีการทำงานในลักษณะงานวิจัยทางวิชาการ อย่างผลงานของ บรูซ กันเดอร์เซ่น (Bruce Gundersen) ศิลปินชาวนิวยอร์ค ซึ่งสนใจเรื่องเล่าของนิทานหรือตำนานปรัมปราในวัฒนธรรมต่างๆ แล้วนำมาตีความเป็นปฏิบัติการทางศิลปะในหลากหลายรูปแบบ ทั้งศิลปะแสดงสด หุ่นจำลอง ภาพยนตร์ และภาพถ่าย เรียกได้ว่าเนื้อหาเป็นแก่นในการใช้รูปแบบที่แตกต่างกัน

อย่างนิทรรศการ “Passing through the Veil” ซึ่งมีชื่อรองว่า “Reflections on the Legends of Southeast Asia” เป็นการทำงานศิลปะกึ่งงานมานุษยวิทยา ซึ่งศิลปินได้เข้ามาศึกษาวิจัยนิทานพื้นบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาศัยข้อมูล ทั้งวรรณคดี การสัมภาษณ์ ภาพจิตรกรรมฝาผนัง และศิลปะพื้นถิ่น ภาพถ่ายทิวทัศน์ สถาปัตยกรรม ตัวละคร และนักแสดงนาฏศิลป์ จากนั้นก็นำข้อมูลที่ได้มากำหนดเนื้อหา เพื่อถ่ายภาพและตัดต่อตกแต่งด้วยเทคนิคดิจิตอล (digital photomontages) เป็นมโนภาพตามเรื่องราวที่ศิลปินตีความและถ่ายทอดออกมา อันเป็นเสมือนบันทึกการเดินทางด้านจิตวิญญาณของศิลปินเองด้วย ภายใต้รูปลักษณ์และบรรยากาศของศิลปะพื้นถิ่นที่กระทบใจเขา

ตัวงานเป็นภาพถ่ายตัดต่อด้วยเทคนิคดิจิตอล พิมพ์ลงบนวัสดุอย่างผ้าม่านบาง กรอบภาพโบราณ หรือเป็นภาพเคลื่อนไหวฉายผ่านจอ ภาษาภาพเลียนอย่างธรรมเนียมจิตรกรรมโบราณอันแสดงลักษณะเฉพาะของท้องถิ่น เล่นล้อระหว่างพื้นผิว รอยคราบ และร่องรอยเลือนรางในความเก่าคร่ำคร่าของพื้นหลัง กับภาพถ่ายตัวแบบแต่งตัวและวางท่วงท่าเลียนอย่างตัวละครในเรื่องเล่าพื้นบ้าน นำมาซ้อนทับเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืนในบรรยากาศที่คลุมเครือ ลี้ลับ มลังเมลือง แล้วตกแต่งภาพด้วยเทคนิคพิเศษ เพื่อแสดงมโนทัศน์ในระบบความเชื่อต่อโลกจิตวิญญาณและเรื่องราวเหนือธรรมชาติ

ภาพถ่ายคนจริงๆ จึงทับซ้อนคลุมเครืออยู่ในภาพวาดจากจินตนาการ เป็นความก้ำกึ่งระหว่างความจริงกับความเชื่อ การพิมพ์ภาพลงบนวัสดุอย่างผ้าม่านบาง นอกจากจะให้ความรู้สึกสัมผัสถึงความเป็นท้องถิ่น ยังพลิ้วไหวแสดงความรางเลือนไม่มั่นคงถาวรของเวลาและภาพที่ปรากฏให้เห็น เหมือนอยู่ในความฝันกระนั้น

นิทานพื้นบ้านที่ บรูซ กันเดอร์เซ่น เลือกมานำเสนอในนิทรรศการนี้ก็เช่น มโนราห์ สังข์ทอง ขุนช้างขุนแผน แม่นาค ฯลฯ โดยจะเลือกตัวละครหรือฉากที่เขาสนใจมาเป็นแรงบันดาลใจในการปรุงประกอบภาพตามการตีความของเขา แสดงความสัมพันธ์ระหว่างตัวตนภายในกับประสบการณ์ที่ได้จากการศึกษาระบบความเชื่อและวัฒนธรรมที่สะท้อนอยู่ในนิทานพื้นบ้าน เป็นประสบการณ์ทางจิตวิญญาณที่จำลองขึ้นมาด้วยเทคนิคสมัยใหม่ของศิลปะดิจิตอล แต่ยังคงปรุงด้วยท่าทีซื่อตรงดิบกระด้างและจริงใจอย่างศิลปะพื้นบ้าน

สัญลักษณ์ที่ปรากฏในเรื่องเล่าปรัมปราของแต่ละวัฒนธรรมบ่งบอกความหมายของความเข้าใจที่มีต่อธรรมชาติและสังคม หรือที่เรียกว่าระบบความเชื่อ คนในวัฒนธรรมนั้นอาจคุ้นเคยจนไม่เกิดความรู้สึกแปลกใหม่อีกแล้ว กระทั่งงานศิลปะที่ทำขึ้นมาภายใต้ความเชื่อนั้นก็เป็นการทำซ้ำที่ขาดความคิดริเริ่ม ต่อเมื่อคนต่างวัฒนธรรมเข้ามาศึกษา และสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ด้วยความเข้าใจของตน แม้จะพยายามรักษาภาษาและความหมายดั้งเดิมไว้มากแค่ไหนก็ตาม แต่ส่วนผสมที่ได้ย่อมมีสัดส่วนแปลกแปร่ง หรืออาจจะแปลกใหม่ในสุนทรียรส

เช่น บรูซ กันเดอร์เซ่น ที่มองเห็นความงามในบรรยากาศขรึมขลังคร่ำคร่ารางเลือนของงานจิตรกรรมโบราณ และใช้คุมพื้นหลังของภาพ เพื่อให้อยู่ในห้วงกึ่งจริงกึ่งฝันเหมือนกันทั้งหมด เขาสนใจลวดลายประดับ สัญลักษณ์ของยันต์ อักขระ และเครื่องรางของขลัง ท่วงท่าและการแต่งกายอย่างละครของตัวแบบก็มีลักษณะเรียบง่ายแบบพื้นบ้าน มิใช่ศิลปะชั้นสูงแบบทางการ แม้แต่อมนุษย์ในเทพนิยายที่เขานำเสนอก็ไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐาน กล่าวได้ว่าความเป็นคนนอกวัฒนธรรมของ บรูซ กันเดอร์เซ่น ทำให้เขามีสายตาดิบซื่ออย่างชาวบ้าน มากกว่าที่จะเป็นผู้ชำนาญการอย่างช่างฝีมือ

ดังนั้นเองเครื่องนุ่งห่มของผู้มีไสยเวทย์ในภาพของกันเดอร์เซ่นจึงเป็นจีวรอย่างพระ นางยักษ์พันธุรัตน์ผู้เลี้ยงดูสังข์ทองก็มีลักษณะเหมือนหญิงชาวบ้านธรรมดา บ้องไฟในภาพผาแดงนางไอ่มีหน้าตาคล้ายจรวด เมฆในทิวทัศน์ก็มีรูปลักษณ์อย่างภาพวาด กุมารทองเข้ามาเล่นรถปิกอัพของเล่นในห้องนอนของสาวคาราโอเกะ หรือผีแม่นาคก็ปรากฏในรูปลักษณ์ที่แปลกตา กระทั่งท้าทายความเชื่อเดิม

ส่วนภาพเคลื่อนไหวที่เขานำเสนอเป็นการเล่นกับรูปทรงของนางรำและลวดลายบนผ้ายันต์ในลักษณะนามธรรม โดยใช้เทคนิคดิจิตอลช่วยสรรผสานแปลงภาพ

ความหมายของสัญลักษณ์ที่ปรากฏในภาพของกันเดอร์เซ่นย่อมยักเยื้องไปจากธรรมเนียมนิยมในวัฒนธรรม กระทั่งออกห่างจากความหมายเดิมมาสู่การตีความใหม่ในฐานะวัตถุทางศิลปะ ซึ่งผู้ชมอาจจะไม่มีพื้นความรู้เกี่ยวข้อง แต่สามารถรับรู้ความลุ่มลึกทางวัฒนธรรมได้จากมโนทัศน์ที่ซับซ้อนนั้น หรือผู้ชมที่พอจะมีความรู้อยู่บ้างก็สามารถเทียบเคียงประสบการณ์ของตนกับการตีความของศิลปิน

อย่างไรก็ตามผลงานของกันเดอร์เซ่นก็ยังคงแสดงแม่บท (motif) ของเค้าโครงความคิดที่เขาได้ศึกษามา ผ่านองค์ประกอบของท่าทีลีลาที่แสดงต้นเค้าของท้องถิ่นได้อย่างถึงแก่น ขณะเดียวกันก็สามารถแสดงลักษณะเฉพาะตัวของตนได้ด้วย อันเป็นการสืบต่อระหว่างของเก่ากับสิ่งใหม่ในอีกกาลเทศะหนึ่ง ขณะเดียวกันก็มีการปรับเปลี่ยนแปรแปลงเกิดขึ้นด้วย

เรื่องปรัมปราเก่าแก่ที่เล่ากันมาช้านานจึงยังคงมีชีวิตจากการสนทนาของศิลปินผ่านงานศิลปะ เนื้อสารนั้นแม้จะว่าด้วยเรื่องเหนือธรรมชาติเป็นส่วนมาก แต่ก็เป็นความเชื่อและวิถีปฏิบัติของผู้คนในสังคมแต่เก่าก่อน อาจจะมีอุปมานิทัศน์บางความหมายที่เป็นสากล และยังคงนำมาอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ ในสังคมปัจจุบัน

อันที่จริงศิลปะพื้นบ้านมิได้ถือเป็นงานสร้างสรรค์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่เป็นกระแสการสร้างสรรค์ของสังคมที่สืบต่อกันมา และปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ตราบใดที่ยังไม่สูญเสียแก่นแท้ นั่นก็คือจิตวิญญาณ งานของ บรูซ กันเดอร์เซ่น เข้าถึงจิตวิญญาณที่ว่านั้น เขาเข้าถึงหัวใจของศิลปะพื้นบ้านซึ่งเชื่อในภาวะที่สรรพสิ่งทั้งปวงมีชีวิตและวิญญาณในตัวเอง แม้จะเป็นคนนอกวัฒนธรรม แต่เขาก็ไม่ตัดสินใดเลย เพียงเชื่อตามและสะท้อนออกมา อันเป็นท่าทีของศิลปะสมัยหลังซึ่งไม่ถือว่าสิ่งใดเป็นความจริงอีกแล้ว และปรากฏการณ์ก็เป็นเพียงเงาสะท้อนของม่านมายาที่มีอยู่เพียงชั่วครู่ยาม.

[พิมพ์ครั้งแรก: Vote]