วันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2554

วิชญ มุกดามณี : วัสดุผันแปร/วัตถุวิภาษ

วัตถุคือชีวิต : Art-ificial Being / วิชญ มุกดามณี / พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า, 8-28 ธันวาคม 2554

“Re-assembling of a Bed Frame” ปี 2554, ภาพถ่าย

[“Re-assembling of a Bed Frame” ปี 2554, ภาพถ่าย]

นับเป็นศิลปินรุ่นใหม่อีกคนที่มีพื้นฐานแน่นหนา ทั้งประสบการณ์การสร้างสรรค์งานศิลปะ งานวิชาการ และกิจกรรมเกี่ยวเนื่อง จนน่าจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาศิลปะร่วมสมัย และโดยเฉพาะเมื่อเข้าเป็นอาจารย์หนุ่มเลือดใหม่ในคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเปรียบเสมือนหัวขบวนของการศึกษาศิลปะในบ้านเรา วิชญ มุกดามณี เป็นบุตรของ วิโชค มุกดามณี ซึ่งเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จในการทำงานเทคนิคสื่อประสม งานของวิชญเหมือนเดินตามรอยผู้เป็นพ่อ แต่มีความต่างในความสนใจของตัวเอง และเป็นการพัฒนาต่อยอดอย่างชาญฉลาด

งานของ วิโชค มุกดามณี จะใช้วัสดุจากอุตสาหกรรมเป็นหลัก เพื่อสร้างพื้นผิวร่องรอยแปลกตา จัดองค์ประกอบเป็นงานจิตรกรรม หรือจัดวางเป็นงานประติมากรรม เนื้อหาจะว่าด้วยสภาพแวดล้อมในสังคมปัจจุบัน ซึ่งอยู่ท่ามกลางวัตถุอุตสาหกรรม แต่ก็แสดงความงามของวัสดุที่ปรุงแต่งนั่นเอง เป็นความงามของทัศนธาตุทางศิลปะในลักษณะนามธรรม จะอ้างอิงสัญลักษณ์ที่สื่อความหมายบ้างก็เพียงรูปทรงภายนอก

ส่วนงานของวิชญ แม้จะใช้วัสดุจากอุตสาหกรรมเหมือนกัน ประสมจัดองค์ประกอบละม้ายกัน ต่างกันตรงไม่ได้แสดงความงามของวัสดุในลักษณะนามธรรมอย่างเดียว แต่ยังอาศัยนัยยะของวัตถุด้วย เรียกได้ว่ามีเรื่องราวประกอบอยู่ในตัวงานเหล่านั้น และยังหลงเหลือหรือเผยให้เห็นลักษณะเดิมของวัสดุนั้นมากกว่ากลายสภาพใหม่โดยสิ้นเชิง ตัวอย่างเช่น งานในชุด “วิถีชีวิตเมือง” (City Life, Bangkok) ปี 2550 “วัฏจักรเมือง” (Urban Motion) และ “นัยของวัตถุ” (Implication of Materials) ปี 2551

หลังกลับจากสหรัฐอเมริกา การนำเสนอความคิดของวิชญเป็นรูปเป็นร่างเด่นชัด ขณะที่วิธีการนำเสนอเปิดกว้างไปสู่สื่อหลายรูปแบบ การใช้วัสดุสำเร็จรูปก็กระทำดัดแปลงโดยที่ยังอ้างอิงเค้าโครงความหมายเดิม อย่างงานชุด “คืนกลับ-ผันเปลี่ยน” (Re-Appearing) ซึ่งนำเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้สำนักงานมาพลิกตั้งซ้อนพิงเป็นประติมากรรม แต่ไม่ได้เชื่อมต่อเข้าด้วยกันอย่างถาวร เพียงอาศัยการค้ำยันประคองรูปทรงตามแรงโน้มถ่วง นอกจากนี้ยังจัดแสดงภาพถ่ายและภาพเคลื่อนไหวของการจัดวางข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ในหลายมุมมอง เป็นการสะท้อนสภาพชีวิตของชนชั้นกลางในสังคมทุนนิยม

การแสดงงานศิลปะครั้งสำคัญของ วิชญ มุกดามณี ในชื่อ “วัตถุคือชีวิต” (Art-ificial Being) เป็นเสมือนสรุปบทเรียนจากการสร้างสรรค์งานที่ผ่านมา ประมวลแนวทางเป็นระบบความคิดชัดเจน ด้วยการเริ่มต้นจาก “วัสดุ” (Materials) และ “วัตถุ” (Objects) เช่นเคย และใช้สื่อหลายรูปแบบ ทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม การติดตั้งจัดวาง การแสดงสด ภาพถ่าย และภาพเคลื่อนไหว ทั้งหมดล้วนประสานสอดคล้องเข้าด้วยกันภายใต้แนวคิดที่ชัดเจน

ความสำคัญจึงไม่ได้อยู่ตรงวัตถุที่จัดแสดง ความโดดเด่นของงานนิทรรศการนี้อยู่ที่การแสดงกระบวนการทำงานต่างหาก เห็นการแปรสภาพของวัตถุในลักษณะวิภาษ หรือขัดแย้งกับความหมายเดิมด้วยการพลิกผัน แยกสลาย ประสมปนเป และซ้อนทับเข้าด้วยกัน เป็นการแสดงมิติสัมพันธ์ระหว่างวัตถุ ศิลปิน กระบวนการทำงาน และพื้นที่จัดแสดง ด้วยการอาศัยสื่อสมัยใหม่อย่างภาพถ่ายและภาพเคลื่อนไหวในการแสดงพลวัต และแสดงมิติเวลาที่ซ้อนเหลื่อมกัน

วิชญยังคงทำเรื่องวัตถุที่เป็นสภาพแวดล้อมของชีวิตในปัจจุบัน แรงบันดาลใจหลักในงานนี้คือเฟอร์นิเจอร์ราคาถูกที่ผู้คนส่วนใหญ่นิยมซื้อหาไปใช้งานกัน ซึ่งวิชญมองว่าเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมมหาชน (Pop Culture) เป็นสภาพแวดล้อมในความเป็นอยู่ที่แท้จริงของผู้คน

เขาใช้วิธีการหลายอย่างในการพลิกมุมมองและตีความวัตถุนั้น เช่น นำเฟอร์นิเจอร์สำเร็จรูปมาประกอบ ถอดรื้อ และพลิกแพลง เป็นรูปทรงประติมากรรม แล้วบันทึกภาพไว้เป็นลำดับ บ้างก็บันทึกเป็นภาพเคลื่อนไหวของศิลปินขณะทำงาน กลายเป็นการแสดงสด (Performance) ของศิลปินที่จัดการกับวัตถุเหล่านั้น ซึ่งบางทีก็ล้มพังลงมา และต้องแก้ปัญหาเพื่อก่อรูปขึ้นใหม่อีกครั้ง จากนั้นก็นำภาพเคลื่อนไหวไปฉายลงบนผืนผ้าใบขนาดใหญ่ แล้วอาศัยเค้าร่างของภาพเงาที่ปรากฏในการสร้างงานจิตรกรรมขึ้นมา เมื่อบันทึกเป็นภาพเคลื่อนไหวไว้อีกชั้นหนึ่ง จะเห็นเหมือนมีศิลปินอยู่สองร่างกำลังทำงานศิลปะซ้อนกัน ส่วนวัสดุจากเฟอร์นิเจอร์ก็นำไปแยกสลาย แล้วปะติดเข้าด้วยกันเป็นงานจิตรกรรมสื่อประสม อาศัยเค้าโครงสีและรูปทรงในการกำหนดโทนสีและฝีแปรง เป็นงานจิตรกรรมที่สำแดงพลังผ่านร่องรอยเฉียบพลัน

มิใช่เพียงตัวงานที่ปรากฏให้เห็นตรงหน้า แต่เห็นกระบวนการแปรสภาพของชั้นไม้อัด ตู้พลาสติก หรือเตียงเหล็ก ผ่านปฏิบัติการทางศิลปะเหล่านั้น อันเป็นพัฒนาการของศิลปะร่วมสมัยที่มิได้ยึดเกาะอยู่เพียงกระบวนแบบภายนอก แต่มุ่งเน้นไปที่การนำเสนอแนวคิดหรือปัญญามากกว่า ตัวงานที่จัดแสดงจึงเป็นเพียงบันทึกร่องรอยให้นึกเห็นในกระบวนทัศน์ของศิลปิน

วิชญยังทดลองทำงานจิตรกรรมโดยใช้เครื่องมือเป็นศูนย์กลาง เขาเลือกใช้อุปกรณ์ทำความสะอาดบ้าน ทั้งไม้ถูพื้น ไม้ขัดพื้น คราด ไม้ปัดขนไก่ ฟองน้ำ แปรงซักผ้า และแปรงสีฟัน ทำงานจิตรกรรม เพื่อสังเกตร่องรอยที่ปรากฏออกมา พร้อมทั้งปะติดอุปกรณ์เหล่านั้นลงเป็นส่วนหนึ่งของตัวงานด้วย และบันทึกภาพเคลื่อนไหวแสดงกระบวนการทำงาน

การใช้วัตถุของวิชญจึงไม่ได้เป็นเพียงแรงบันดาลใจ หรือวัสดุที่ใช้สร้างงาน แต่ยังเป็นเครื่องมือหรือกลวิธีด้วย เขาพยายามสะท้อนชีวิตในสภาพแวดล้อมปัจจุบันผ่านกระบวนแบบทางศิลปะด้วยคุณลักษณะของวัตถุเหล่านั้น แต่ก็ไม่ได้เป็นภาววิสัยภายนอกเท่านั้น กลับแสดงอัตวิสัยภายในของศิลปินผ่านการตีความวัตถุ ด้วยประสบการณ์ ความคิด และความรู้สึกของตนเอง เหมือนกับการเล่นเกมวางหมากกับตัวเอง ซึ่งวิชญจัดแสดงให้เห็นที่มา ฉายซ้อนกับขณะปัจจุบัน เหมือนเห็นการดำเนินต่อไปไม่จบสิ้น

กระบวนการที่วิชญแสดงให้เห็นนอกเหนือจากตัวงานจึงสะท้อนการดิ้นรนของชีวิตนอกเหนือจากตัววัตถุเหล่านั้น อย่างงานชุดที่เขาได้แรงบันดาลใจจากน้ำท่วม บันทึกภาพตัวเองพยายามนำถุงผ้าพลาสติกวางเรียงบนเรือกลางน้ำท่วมอย่างทุกลักทุเล แต่ก็คงรูปเป็นประติมากรรมลอยน้ำอยู่ไม่นาน ก่อนที่ถุงผ้าพลาสติกเหล่านั้นจะร่วงหล่นลงมา และเขาก็ต้องลุยน้ำไปเก็บเรียงใหม่อีกครั้ง นอกจากนี้ยังหาเทคนิคสร้างงานจิตรกรรมจากเค้าโครงสีและลีลาอารมณ์จากสถานการณ์น้ำท่วมนั้นอีกด้วย

เงื่อนไขของวัตถุกำหนดแรงบันดาลใจของศิลปิน เช่นเดียวกับสภาพแวดล้อมทางวัตถุกำหนดชีวิตคน เมื่อเห็นศิลปินเคลื่อนไหวเพื่อแปรสภาพวัตถุเป็นงานศิลปะของเขา ย่อมสะท้อนชีวิตคนที่ดิ้นรนเพื่อครอบครองและควบคุมวัตถุเหล่านั้นไปตามความต้องการของตน ซึ่งการเคลื่อนไหวนั้นคือความหมายของชีวิตนั่นเอง.

[พิมพ์ครั้งแรก: Vote]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น