วันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2555

อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล : สัจนิยมมายา/อนาธิปัตย์

ปลุกผี (Primitive) / อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล / หอศิลป์ บ้านจิม ทอมป์สัน, 1 ธันวาคม 2554 – 29 กุมภาพันธ์ 2555

เครื่องจักรอุทิศ, วิดีโอเงียบความยาว 1 นาที

[เครื่องจักรอุทิศ, วิดีโอเงียบความยาว 1 นาที]

จากแรงบันดาลใจเบื้องต้นที่ได้จากหนังสือซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของคนระลึกชาติในพื้นที่อีสานตอนบน เปิดนำให้อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ออกเดินทางเพื่อสำรวจความเป็นจริงที่พบเห็น และค้นหาสิ่งกระทบใจที่จะขุดคุ้ยเอาความติดข้องในตัวตนของเขาออกมา กลายเป็นผลงานภาพยนตร์เรื่อง “ลุงบุญมีระลึกชาติ” และโครงการศิลปะ “ปลุกผี” (Primitive) ซึ่งประสบความสำเร็จได้รับรางวัลในระดับนานาชาติมากมาย

การระลึกชาติก็คือการรื้อฟื้นความทรงจำที่หลงลืมไปแล้ว ตามคติความเชื่อเดิมที่เชื่อในวิญญาณและการเวียนว่ายตายเกิดเป็นหลายชาติภพ แต่การรื้อฟื้นอดีตหรือคาดหมายอนาคตล้วนอยู่ในปัจจุบัน อภิชาติพงศ์สำรวจพื้นที่ชนบทในเวลาปัจจุบัน เพื่อรื้อฟื้นเอาเรื่องราวที่กลบทับกันหลายชั้นออกมา กลายเป็นมิติมหัศจรรย์ที่มีจักรวาลของความจริงในหลายความเชื่อซ้อนเหลื่อมกัน

มิเพียงความทรงจำส่วนตัว อภิชาติพงศ์ยังขุดคุ้ยเอาความทรงจำของสังคมที่หลงลืมกันไปออกมาด้วย แม้จะเป็นบาดแผลที่พยายามจะลืมหรือถูกกระทำให้ลืมก็ตาม

อย่างหมู่บ้านนาบัวในจังหวัดนครพนม ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ขัดแย้งทางอุดมการณ์การเมืองในยุคสงครามเย็น ชาวบ้านที่นี่เคยเป็นคอมมิวนิสต์ที่จับอาวุธต่อสู้กับอำนาจรัฐมาก่อน แต่ก็เป็นความทรงจำซึ่งยากจะย้อนรำลึกของชาวบ้านในปัจจุบัน อย่างน้อยก็เป็นความพิพักพิพ่วนที่ไม่อยากจำแต่ก็ไม่อาจลืม เพราะไม่รู้ว่าจะจัดวางอยู่ในปัจจุบันด้วยสถานะหรือความหมายใด ท่าทีและความรู้สึกกระอักกระอ่วนในความผิดแผกแปลกประหลาดดังกล่าวแสดงอยู่ในนิทรรศการศิลปะ “ปลุกผี” ซึ่งประกอบไปด้วยภาพยนตร์ ภาพเคลื่อนไหวจัดวาง ภาพนิ่ง และหนังสือ เปิดให้ความทรงจำในเวลาและพื้นที่ที่ต่างกันเข้าปะทะเหลื่อมซ้อนกัน

อภิชาติพงศ์เติบโตในภาคอีสาน ก่อนจะข้ามไปเรียนต่อด้านศิลปะภาพยนตร์ที่สหรัฐอเมริกา ภาพยนตร์และหนังทดลองของเขามีส่วนผสมของหนังศิลปะและมหรสพชาวบ้านในรสของความดิบสด ผสมมุมมองส่วนตัวเข้ากับประเด็นทางสังคมและการเมืองได้อย่างน่าประหลาดในความรู้สึก การทำงานในชุดนี้เป็นเหมือนการสำรวจดินแดนที่เขาเติบโตมา เพื่อทำความเข้าใจกับรากเหง้าส่วนหนึ่งที่ผสมอยู่ในความเป็นตัวเขา

เนื้องานของอภิชาติพงศ์มักมีความรู้สึกที่เป็นขบถต่อความคิดกระแสหลักในสังคม แต่ไม่ได้มีเป้าหมายหรือนำเสนอแนวทางอื่นใดที่ชัดเจน เรียกได้ว่าเป็นการปฏิเสธอำนาจหรือระเบียบสังคมในลักษณะอนาธิปัตย์มากกว่า เขาสนใจความทรงจำที่เป็นบาดแผลจากการต่อสู้ทางการเมืองที่สูญเปล่า จนเหมือนจะไร้ความหมายในลักษณะอนาธิปัตย์เช่นกัน อันที่จริงในภาคอีสานก็มีประวัติศาสตร์ของการต่อสู้กับอำนาจรัฐในลักษณะขบถผีบุญมาโดยตลอด และหลงเหลือเพียงตำนานหรือความทรงจำที่เลือนราง การจับอาวุธขึ้นต่อสู้ด้วยความแตกต่างของอุดมการณ์ทางการเมือง แม้จะอ้างอิงกับโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมในสังคม แต่เมื่อผ่านไปแล้วก็เหลือเพียงริ้วรอยความทรงจำที่รางเลือนเสมือนเป็นตำนานที่ห่างไกลเช่นกัน ยากที่จะหาความเป็นจริงอันแน่ชัด และเข้าถึงได้เพียงจินตนาการที่สับสนปนเปกับปัจจุบัน

เช่น มิวสิควิดีโอ “เพลงแห่งนาบัว” ซึ่งถ่ายใบหน้าของชายผู้หนึ่งที่แสดงความรู้สึกปวดร้าว ประกอบกับเพลงที่เด็กหนุ่มในหมู่บ้านแต่งขึ้นมาเพื่อรำลึกถึงวันที่ 7 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันเสียงปืนแตก แต่ทั้งผู้แสดงและผู้แต่งเพลงก็เป็นคนรุ่นปัจจุบันที่ห่างไกลจากประสบการณ์นั้นอยู่มาก และให้ความรู้สึกแปลกแปร่ง

เช่นเดียวกับภาพ “Ghost Teen” เป็นภาพวัยรุ่นใส่หน้ากากผีปลอม งานของอภิมชาติพงศ์มักปล่อยให้เห็นความจริงของการจัดแต่งในสื่อนั้น ด้วยความดิบซื่อของการประกอบสร้าง แต่ความเป็นจริงอันกระด้างกลับก่อบรรยากาศลี้ลับแปลกประหลาดเหมือนความฝันขึ้นมาในจินตนาการ ดังเช่นวิดีโอเรื่อง “ยิงยามเย็น” ซึ่งเป็นกลุ่มชายหนุ่มแต่งกายคล้ายทหารกำลังซ้อมยิงปืนกันอยู่หลังบานหน้าต่าง ยิงไปยังชายผู้หนึ่งที่เดินผ่านมา และล้มตายครั้งแล้วครั้งเล่าไม่รู้จบ ผ่านเหตุการณ์ที่ฉายซ้ำวนไปมา

จากกิจกรรมในโครงการศิลปะ “ปลุกผี” เป็นงานคอนเซ็ปช่วลอาร์ตที่ผสานกระบวนการทำงานศิลปะหลายรูปแบบเข้าด้วยกัน แล้วบันทึกไว้ด้วยภาพเคลื่อนไหวและภาพนิ่ง จะมีตั้งแต่การสร้างศิลปวัตถุอย่างยานอวกาศขึ้นมา ด้วยฝีมือและการมีส่วนร่วมของชาวบ้านธรรมดา อย่างที่บันทึกไว้ในวิดีโอเรื่อง “เบื้องหลังการสร้างยานอวกาศ” บันทึกข้อมูลและภาพถ่ายระหว่างการทำงานก็รวมไว้เป็นหนังสือ “คูโจ หนังสือของศิลปิน” เมื่อนำเอายานอวกาศไปทดลองปล่อยก็กลายเป็นงานศิลปะผสานสิ่งแวดล้อม ดังที่บันทึกไว้ในวิดีโอเรื่อง “เครื่องจักรอุทิศ” เช่นเดียวกับวิดีโอเรื่อง “นาบัว” ซึ่งบันทึกปรากฏการณ์จากกิจกรรมที่ทำร่วมกับชาวบ้านในเวลากลางคืน การเล่นกับแสงไฟในความมืด ติดตั้งชนวนล่อฟ้าและระเบิดเพื่อให้ฟ้าผ่าลงกลางหมู่บ้านและทุ่งนา แสงจากการฉายภาพยนตร์ การเตะลูกบอลไฟ และจอหนังที่ติดไฟลุกไหม้

อภิชาติพงศ์สามารถสกัดความดิบแบบดั้งเดิมออกมาได้แม้จะเป็นสภาพแวดล้อมของหมู่บ้านในปัจจุบัน จนได้ความรู้สึกแบบอนารยะ อย่างมิวสิควิดีโอเพลง “ฉันยังคงหายใจ” ของโมเดิร์นด็อก เขาให้เด็กหนุ่มในหมู่บ้านรวมตัวกัน แล้ววิ่งไปตามถนน พร้อมกับเตะลูกบอลควันและลูกบอลไฟไปด้วย ก่อนจะขึ้นไปบนรถบรรทุกแล้วก็เต้น แสดงพลังชีวิตของมนุษย์ตามธรรมชาติออกมาอย่างดิบเถื่อน

แบบแผนของจักรวาลที่อภิชาติพงศ์ต้องการสะท้อนให้เห็นอยู่ในวิดีโอเรื่อง “ปลุกผี” ซึ่งฉายภาพยนตร์สองจอไปพร้อมกัน จอหนึ่งบอกเล่าเรื่องราวลึกลับที่ผสานญาณวิทยาหลายแบบเข้าด้วยกัน ทั้งเรื่องผีสาง วิญญาณ การเวียนว่ายตายเกิด การย้อนอดีตและข้ามเวลาไปยังอนาคต มียานอวกาศเป็นเสมือนจักรกลเดินทางข้ามมิติเวลา และกลุ่มเด็กหนุ่มที่นอนหลับฝันอยู่ในนั้นเป็นผู้บอกเล่าเรื่องราว เป็นเสียงเสียงเล่าถึงอดีตและอนาคตอันไกลโพ้นข้ามชาติภพ ขณะที่อีกจอหนึ่งฉายภาพกลุ่มเด็กหนุ่มในความเป็นจริงขณะที่ร่วมอยู่ในกองถ่าย ฉายควบคู่กันไปเสมือนเป็นภาพล้อของเรื่องราวสมมุติในจอแรก

อภิชาติพงศ์รวมอดีตและอนาคตอันไม่สิ้นสุดเข้าด้วยกันในห้วงเวลาปัจจุบัน เป็นบรรยากาศลี้ลับที่ก้ำกึ่งอยู่ระหว่างปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติและวิทยาศาสตร์กำมะลอ ผสมปนเประหว่างสถานการณ์ท้องถิ่นและโลกทรรศน์สากล ตรวจสอบกาลและที่ว่างด้วยนาฏกรรมที่กำหนดไว้และพฤติกรรมที่ไร้การควบคุม เหมือนเรื่องปรัมปราร่วมสมัยที่พยายามบอกเล่าถึงอุปาทานในวัฏสงสารของการเวียนว่ายตายเกิด

ตะกอนที่ขุ่นขึ้นมานั้นย่อมมีเรื่องที่ก่อกวนความรู้สึก ด้วยถูกกีดกันออกไปจากความทรงจำ และไม่สามารถสอดประสานเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน เป็นความจริงที่ถูกผลักไปอยู่ชายขอบ อาจจะพร่าเลือนแต่ไม่ได้สูญสลาย และกลายเป็นเหมือนภูตผีที่คอยหลอกหลอน

อาการเลื่อนลอยและไร้แบบแผนจึงเป็นวิธีเข้าถึงความจริงและเป็นความจริงอย่างที่อภิชาติพงศ์ต้องการแสดงให้เห็น.

[พิมพ์ครั้งแรก: Vote]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น