วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2555

รอย/ร่าง : การแสดงภาพพิมพ์และวาดเส้นนานาชาติ ครั้งที่ 3

การแสดงภาพพิมพ์และวาดเส้นนานาชาติ ครั้งที่ 3 (The 3rd Bangkok Triennale International Print and Drawing Exhibition) / หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, 17 พฤษภาคม – 29 กรกฎาคม 2555

“Essence, Truth, Reality No.13”  บุญมี  แสงขำ, Mezzotint 105-75 ซม. ปี 2554

[“Essence, Truth, Reality No.13” บุญมี แสงขำ, Mezzotint 105-75 ซม. ปี 2554]

งานภาพพิมพ์และวาดเส้นรวมอยู่ในงานศิลปะประเภทเลขนศิลป์หรือ Graphic art ซึ่งแสดงความงามของร่องรอยจากวิธีการสร้างสรรค์ ต่างจากงานจิตรกรรมที่แสดงความงามของสีและการระบาย หรือประติมากรรมที่แสดงความงามจากมวลของรูปทรง

งานภาพพิมพ์ (print) สร้างรูปรอยขึ้นมาจากแม่พิมพ์ ส่วนงานวาดเส้น (drawing) สร้างรูปร่างขึ้นมาจากการขีดเขียนโดยตรง

ภาพพิมพ์ยังแบ่งตามลักษณะของแม่พิมพ์ได้ 4 ประเภท คือ

1. แม่พิมพ์ผิวนูน ซึ่งภาพจะเกิดจากหมึกที่ติดอยู่บนผิวนูนของแม่พิมพ์ เช่น ภาพพิมพ์แกะไม้ (woodcut) ภาพพิมพ์แกะสลัก (engraving) ภาพพิมพ์ยาง (linocut) และภาพพิมพ์วัสดุปะติด (collagraph)

2. แม่พิมพ์ร่องลึก ภาพจะเกิดจากหมึกที่ติดอยู่ในร่องของแม่พิมพ์โลหะ เช่น ภาพพิมพ์จารเข็ม (drypoint) ภาพพิมพ์กัดกรด (etching) ภาพพิมพ์โลหะไล่น้ำหนัก (mezzotint) และภาพพิมพ์กัดกรดไล่น้ำหนัก (aquatint)

3. แม่พิมพ์ผิวเรียบ ภาพจะเกิดจากความไม่เข้ากันระหว่างน้ำกับน้ำมันบนแม่พิมพ์ เช่น ภาพพิมพ์หิน (lithograph) และภาพพิมพ์ออฟเซต (offset)

4. แม่พิมพ์ฉลุลาย ซึ่งภาพจะเกิดจากการลงสีผ่านช่องที่ฉลุไว้บนแม่พิมพ์ เช่น ภาพพิมพ์ฉลุลาย (stencil) และภาพพิมพ์ตะแกรงไหน (silk screen)

เดิมทีทั้งงานภาพพิมพ์และวาดเส้นใช้เพื่อสื่อความหมายหรือประโยชน์ใช้สอยอย่างอื่น ต่อมาจึงกลายเป็นงานศิลปะที่แสดงออกด้านสุนทรียภาพประเภทหนึ่ง ซึ่งมีคุณค่าในความเป็นต้นแบบไม่ด้อยไปกว่างานประเภทอื่น

งานภาพพิมพ์ในเมืองไทยเริ่มมาพร้อมกับการพิมพ์ มีการตั้งกองแกะไม้ขึ้นในปี 2448 เพื่อทำต้นฉบับตำราเรียน และต่อมาได้กลายเป็นโรงเรียนเพาะช่าง การทำงานภาพพิมพ์ในเชิงศิลปะเริ่มขึ้นในมหาวิทยาลัยศิลปากรตั้งแต่ปี 2496 และเป็นสาขาวิชาหนึ่งในปี 2511 การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติก็เริ่มมีสาขาภาพพิมพ์ในปี 2504 ชลูด นิ่มเสมอ บัณฑิตคนแรกของมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นศิลปินที่บุกเบิกศิลปะภาพพิมพ์เป็นคนแรก และได้รางวัลเหรียญทองในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติจากงานภาพพิมพ์เป็นคนแรกด้วย เขาเป็นศิลปินไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลในงานแสดงภาพพิมพ์นานาชาติที่ยูโกสลาเวียและญี่ปุ่น และเป็นผู้วางรากฐานวิชาภาพพิมพ์ในมหาวิทยาลัยศิลปากร ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์

ต่อมาก็มีศิลปินภาพพิมพ์ที่มีคุณภาพเกิดขึ้นมากมาย และได้รางวัลจากการประกวดภาพพิมพ์นานาชาติบ่อยครั้ง เช่น อิทธิพล ตั้งโฉลก, พิษณุ ศุภนิมิตร, ถาวร โกอุดมวิทย์, ญาณวิทย์ กุญแจทอง, สุรสีห์ กุศลวงศ์ เป็นต้น จนได้ชื่อว่าเป็นยุคทองของภาพพิมพ์ต่อเนื่องกันมาร่วม 2 ทศวรรษ ระหว่างปี 2520-2540 กล่าวได้ว่าในช่วงเวลานั้นงานศิลปะภาพพิมพ์โดดเด่นและก้าวหน้า รางวัลเหรียญทองในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติส่วนใหญ่ก็เป็นงานภาพพิมพ์

จากนั้นพัฒนาการก็ซบเซาไปบ้าง กระทั่งมหาวิทยาลัยศิลปากรริเริ่มจัดการแสดงภาพพิมพ์และวาดเส้นนานาชาติครั้งแรกขึ้นในปี 2546 วงการภาพพิมพ์จึงกระเตื้องตื่นตัวขึ้นมาอีกครั้ง

การแสดงภาพพิมพ์และวาดเส้นนานาชาติในปีนี้เป็นครั้งที่ 3 มีศิลปินจาก 60 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมประกวดและแสดง ภาพรวมอาจจะอ่อนแรงลงกว่าครั้งก่อน แต่ยังคงความน่าตื่นเต้นในรูปแบบผลงานอันหลากหลาย จากศิลปินที่มาจากสังคมและวัฒนธรรมต่างกัน เทคนิคการทำงานก็มีความเลิศล้ำในแนวทางของแต่ละคน

อย่างงานที่ได้รางวัล Grand Prize ในประเภทภาพพิมพ์คือ “Essence, Truth, Reality No.13” ของ บุญมี แสงขำ เป็นภาพพิมพ์ mezzotint ซึ่งแสดงน้ำหนักเข้มดำทั่วทั้งภาพ แล้วค่อยๆ ขูดเกลี่ยผิวแม่พิมพ์โลหะอย่างละเอียดอ่อน ปรากฏเป็นรูปผลไม้และเมล็ดในความมืด แสดงผิวสัมผัสนุ่มหยุ่นของผลและความมันวาวของเมล็ด วางจังหวะของความสุกงอม ผุดเล็ด และร่วงหล่น อย่างงดงาม ตามเนื้อหาของศิลปินที่ต้องการบอกถึงสัจธรรมในพุทธศาสนา อนิจจังหรือความไม่แน่นอนของชีวิตแทนค่าด้วยรูปผลไม้สุกงอมร่วงหล่นในธรรมชาติ และความเชื่อเรื่องกรรมตามเหตุปัจจัยก็แทนค่าด้วยเมล็ดที่ร่วงออกมาจากผลนั้น บอกถึงความสืบเนื่องไม่จบสิ้นตามผลของกรรมในจินตภาพของศิลปิน สมบูรณ์ด้วยเทคนิคแมซโซตินต์อันเหมาะสม

ส่วนงานที่ได้รางวัล Grand Prize ในประเภทวาดเส้นคือ “Hell and Heaven” ของ Cyprian Bielaniec ศิลปินจากโปแลนด์ เป็นภาพวาดด้วยดินสอบนกระดาษธรรมดา เรียบง่ายแต่ล้ำลึก เป็นรูปประตูและกำแพงที่ผุกร่อนไปตามกาลเวลา เบื้องบนคือท้องฟ้ามีริ้วลายเมฆเวิ้งว้าง รอยดินสอแรเงาน้ำหนักและพื้นผิวของวัตถุอย่างละเอียดลออ เห็นเป็นผิวโลหะ อิฐ หิน เนื้อสีและปูนกะเทาะร่อน รวมถึงปุยเมฆกระจัดกระจาย แต่ก็เบาบางด้วยเป็นเพียงร่างของรอยดินสอบนกระดาษ และให้ความรู้สึกชั่วครู่ยาม เปราะบางเหมือนกับชีวิตในวาระสุดท้าย เป็นประตูที่ไม่รู้จะเปิดไปสู่นรกหรือสวรรค์

ด้วยลักษณะจำเพาะทางเทคนิค งานภาพพิมพ์เหมาะที่จะแสดงความงามของร่องรอยพื้นผิวจากแม่พิมพ์หลากประเภท อย่างงาน “Kaleidoscopic Complexity – 16” ของ Anisuzzaman ศิลปินจากบังคลาเทศ สร้างร่องรอยขูดขีดขึ้นบนแม่พิมพ์ไม้ และอาศัยความเป็นระนาบขอบคมของแม่พิมพ์ไม้เพื่อสะท้อนชีวิตสมัยใหม่ที่แวดล้อมด้วยวัตถุหยาบกระด้างระคายเคือง บอกความรู้สึกทึบตัน แต่ก็แฝงความกังวลระแวงระวังไม่ปลอดภัย

ภาพดอกไม้ในเงาน้ำท่ามกลางความมืดดำในงาน “Sound of a Flowing Stream No.5” ของ พัดชา แก้วทองตาล เป็นความงามอันน่าสะเทือนใจ จากลักษณะขัดกันของภาพดอกไม้ที่อ่อนโยนตามธรรมชาติ กับผิวสัมผัสอันแข็งกระด้างของแม่พิมพ์กัดกรดบนโลหะ และยังเป็นมุมมองอันหลอกตาจากเงาสะท้อนในน้ำ

งานวาดเส้น “Agricultural Way of Life Figurative/Symbolic” ของ วิวัฒน์ จินดาวงศ์ ก็ผสมคุณสมบัติของแท่งถ่านเครยองและผงถ่านคาร์บอนเข้าด้วยกัน เพื่อให้ได้ทั้งพื้นผิวและความนุ่มนวลของน้ำหนัก วาดเสื้อเก่าๆ ของชาวไร่ชายนาที่แขวนไว้ในความมืดดำ เป็นสัญลักษณ์ของวิถีเกษตรกรรมที่ต้องใช้แรงงานอย่างหนักหน่วง

ขณะที่งาน “Human” ของ สุวพงศ์ สุทัศน์ ณ อยุธยา บอกเล่าความทุกข์ยากของมนุษย์ จากการวาดรูปทรงคนผิดส่วนในท่าคุดคู้จนศีรษะจมหายไปในร่างมืดดำ นิ้วมือและนิ้วเท้าประสานแผ่ออกข้างละเก้านิ้ว บอกความสับสนฟุ้งซ่าน วาดขึ้นด้วยหมึกจีนที่ให้พื้นผิวและสีอะคริลิกที่ให้น้ำหนักทึบดำ

การเลือกใช้เทคนิคและวิธีการที่เหมาะสมมีผลต่อความสำเร็จของงานภาพพิมพ์และวาดเส้นเป็นอย่างมาก เนื่องจากงานแต่ละประเภทให้ความรู้สึกสัมผัสต่างกัน ด้วยเสน่ห์ของร่องรอยและรูปร่างที่ต่างกัน เนื้อหาและรูปแบบมิได้จำกัด ความงามของงานภาพพิมพ์และวาดเส้นจึงเป็นศิลปะของวิธีการโดยแท้.

[พิมพ์ครั้งแรก: Vote]

วันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ศิลปกรรมฐาน : คามิน เลิศชัยประเสริฐ

ก่อนเกิด-หลังตาย (Before Birth – After Death) / คามิน เลิศชัยประเสริฐ / นำทองแกลเลอรี่, 24 มีนาคม – 31 พฤษภาคม 2555

“มีอยู่ทุกหนแห่ง ในเรา” อะคริลิกบนผ้าใบ 140x220 ซม.

[“มีอยู่ทุกหนแห่ง ในเรา” อะคริลิกบนผ้าใบ 140x220 ซม.]

ด้วยพื้นฐานเป็นคนช่างคิด ขยันทำ และหัวก้าวหน้า มาแต่ครั้งเป็นนักศึกษา งานศิลปะของ คามิน เลิศชัยประเสริฐ โดดเด่นแปลกตาออกจากแนวนิยมของศิลปินรุ่นเดียวกัน ด้วยความสนใจเฉพาะแน่วแน่ในตนเอง งานแสดงครั้งแรกในปี 2530 หลังจบจากมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นภาพถ่ายและภาพพิมพ์โลหะในรูปแบบเหนือจริงและสำแดงความรู้สึกภายในออกมา เพื่อสะท้อนอารมณ์เจ็บปวดรวดร้าวของความเป็นมนุษย์ ผ่านรูปทรงคนและวัตถุในกิริยาบิดเบี้ยวขัดแย้ง แสดงร่องรอยขูดขีดเสื่อมพัง

หลังจากนั้นเขาก็ไปเรียนรู้ต่อที่นิวยอร์ค งานของคามินไม่ยึดติดกับรูปแบบ เขาทดลองค้นหาวิธีการนำเสนอแปลกๆ ใหม่ๆ ที่ตรงกับความสนใจในขณะนั้นอยู่เสมอ งานช่วงแรกในนิวยอร์คยังเป็นการสำแดงความรู้สึกภายในตัวเองออกมา ด้วยงานจิตรกรรมที่วาดด้วยมือ เป็นรูปทรงและเรื่องราวเกี่ยวกับการดิ้นรนในชีวิตของมนุษย์ที่เป็นสากลมากขึ้น

ต่อมาจึงเริ่มปรากฏสัญลักษณ์ในเชิงล้อเลียนเสียดสีด้วยอารมณ์ขัน เพื่อยั่วล้อภูมิปัญญาของมนุษยชาติและสุนทรียศาสตร์ของศิลปะ ขณะที่อีกด้านหนึ่งเขาก็เริ่มมีสำนึกถึงความเป็นคนตะวันออกในตัวเอง ท่ามกลางชาวต่างชาติ และเริ่มทำงานวาดเส้นที่ได้อิทธิพลจากปรัชญาหยิน-หยาง เต๋า และเซน จนกลายเป็นลายเส้นเฉพาะตัว จากนั้นก็เริ่มตั้งคำถามถึงความเป็นไทยด้วยงานชุด “ก เอ๋ย ก ไก่” ปี 2534 ซึ่งนำพยัญชนะไทยมาเป็นแรงดลใจในการสร้างงานจิตรกรรมและภาพพิมพ์ เป็นกรอบสำรวจประสบการณ์ภายในของตัวเองตามพยัญชนะนั้น

เมื่อกลับเมืองไทยเขาก็ออกสำรวจสังคมไทยร่วมสมัย ถ่ายภาพปรากฏการณ์อันแปลกตาและกระทบใจเขา มาประทับด้วยภาพพิมพ์ที่แกะจากรองเท้าแตะ และวาดเส้นตามแบบของเขา เป็นงานชุด “นิราศไทยแลนด์” ปี 2535

คามินเริ่มวางแผนทำงานภายใต้กรอบเวลา 1 ปี ในชุด “ม่วงงิ้ง แซ่เล้า” ปี 2536 ซึ่งเป็นชื่อในวัยเด็กของเขา ด้วยงานจิตรกรรมที่แสดงออกอย่างใสซื่อตรงไปตรงมาแบบศิลปะเด็ก บันทึกความรู้สึกในแต่ละวัน และเขียนภาพขนาดใหญ่ต่อเนื่องกัน เพื่อแสดงสภาพแวดล้อมของสังคม อันมีที่มาจากเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองในเดือนพฤษภาคม ปี 2535 ด้วย นอกจากนี้ยังวาดเส้นผสมตัวอักษรในชุด “อะไรในใจฉัน” ปี 2537

การวางแผนทำงานทุกวันภายใต้กรอบเวลา 1 ปี เข้มข้นขึ้นในชุด “ปัญหา-ปัญญา” ปี 2538 เมื่อเขานำหนังสือพิมพ์รายวันมาเลือกข่าวที่กระทบใจหนึ่งข่าว แล้วพิจารณาจนตกผลึกเป็นความคิด ก่อนจะนำหนังสือพิมพ์ที่เหลือมาปั้นเป็นประติมากรรมกระดาษ ซึ่งว่าด้วยปัญหาและปัญญาที่เกิดจากการพิจารณานั้น

และเมื่อหันมาศึกษาพุทธศาสนาอย่างจริงจัง การพิจารณาปัญหาส่วนตัวและสังคมของเขาก็อยู่บนพื้นฐานของพุทธปรัชญา ดังที่เห็นในงานวาดเส้นเชิงบันทึกบทรำพึงธรรมในชุด “ธรรมดา-ธรรมชาติ” ปี 2540 และงานวาดเส้นชุด “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” ปี 2542 ซึ่งวาดรูปลักษณ์ต่างๆ ที่ล้วนแฝงไตรลักษณ์ของสัจธรรมดังกล่าวอยู่ด้วย

คามินวางแผนการทำงานภายใต้กรอบเวลา 1 ปี ต่อเนื่องมาอีกหลายต่อหลายชุด เป็นงานวาดเส้นบ้าง จิตรกรรมบ้าง ประติมากรรมบ้าง สื่อผสมหรือติดตั้งจัดวางบ้าง เนื้อหาก็ว่าด้วยปรัชญาความคิดที่ได้จากการรำพึงธรรม สอดแทรกการล้อเลียนเสียดสีพฤติกรรมและค่านิยมของคนร่วมสมัยบ้าง

ระหว่างนั้นคามินก็ร่วมกับเพื่อนศิลปินทำกิจกรรมเชิงศิลปะและสังคมหลายโครงการ เช่น “โครงการที่นา” ปี 2541 และ “อุโมงค์ศิลปธรรม” ปี 2545 ซึ่งรวมกันเป็น “มูลนิธิที่นา” ในภายหลัง ล่าสุดคือการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์จิตวิญญาณร่วมสมัยของทศวรรษที่ 31 เพื่อให้ผู้คนมาแลกเปลี่ยนแรงบันดาลใจแก่กัน

งานชุดใหม่ของคามินคือ “ก่อนเกิด-หลังตาย” (Befor Birth – After Death) ยังคงอยู่ในวิถีการใช้ชีวิตและทำงานศิลปะของเขา เขาเริ่มโครงงานนี้ในปี 2551 ด้วยการตัดแปะวัสดุสิ่งพิมพ์ที่กระทบใจในชีวิตประจำวันลงบนกระดาษ จากนั้นก็พิจารณาให้เห็นหัวข้อรำพึงธรรม และวาดรูปหัวกะโหลกทับลงไปบนภาพ เมื่อครบ 1 ปี เขาก็เลือกชิ้นที่พอใจมาขยายเป็นงานจิตรกรรม และทำเป็นประติมากรรมจำนวนหนึ่ง

งานที่จัดแสดงจึงเป็นยอดของภูเขาน้ำแข็งจากฐานที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง คุณค่าของงานศิลปะชุดนี้จึงอยู่ที่กระบวนการทั้งหมดที่ทำมา เรียกได้ว่าอยู่ที่วัตรปฏิบัติของศิลปินเอง

ด้วยมีต้นแบบมาจากสิ่งพิมพ์ในชีวิตประจำวัน เมื่อมองอย่างผิวเผินงานจิตรกรรมสีสันสดใสเหล่านี้ละม้ายงานประเภทป็อปอาร์ต แต่ด้วยกระบวนการถือเป็นงานคอนเซ็ปต์ช่วลที่เสนอมโนทัศน์ทางศาสนา แม้จะไม่ใช้รูปแบบศิลปะประเพณี แต่กลับมีความเป็นพุทธศิลป์ร่วมสมัยที่มีพื้นฐานทางการปฏิบัติอันหนักแน่น เมื่อพิจารณารายละเอียด ภาพตัดแปะจากสื่อสิ่งพิมพ์ที่ขยายขึ้นใหญ่โตเหล่านั้น อ้างอิงข้อมูลข่าวสารที่ประสมปนเปกันตามประสบการณ์ส่วนตัวของศิลปิน แล้วแต่ผู้ชมจะตีความ แต่คามินก็สะกดทุกภาพไว้ด้วยเค้าร่างของหัวกะโหลก เล่นล้อกับรูปทรงของภาพเบื้องหลัง เสมือนต้องการบอกว่ามีความตายอยู่ในทุกหนแห่งไม่ว่าจะมองเห็นหรือคิดเรื่องอะไรอยู่ก็ตาม

เมื่อความงามย้ายไปอยู่ที่วิธีคิดหรือกระบวนการ ตัวงานศิลปะก็เป็นแค่หลักฐานบันทึกให้จับต้องมองเห็น อย่างไรก็ตามงานศิลปะยังคงต้องการธรรมารมณ์เพื่อกระทบใจผู้ชมให้คล้อยตาม ด้วยพลังความงามจากทัศนธาตุของมันเอง เพื่อพิสูจน์ว่าไม่ได้เป็นเพียงภาพประกอบการอ้างอิงของคำอธิบาย.

[พิมพ์ครั้งแรก: Vote]

วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ประดิษฐ์/ประเดิด : สุธี คุณาวิชยานนท์

ดีเป็นบ้า! (Crazily Good!) / สุธี คุณาวิชยานนท์ / Number 1 Gallery, 15 มีนาคม – 21 เมษายน 2555

“ประเทศไทยหัวทิ่ม” ปี 2555, สีน้ำมันบนไม้อัด 300 ซม.

[“ประเทศไทยหัวทิ่ม” ปี 2555, สีน้ำมันบนไม้อัด 300 ซม.]

หนังสือ “จากสยามเก่าสู่ไทยใหม่” (ปี 2545) ของ สุธี คุณาวิชยานนท์ เป็นบันทึกเล่มสำคัญที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทย ซึ่งมีเนื้อหาครบถ้วนเท่าที่สามารถค้นคว้าถึง ทั้งผู้เขียนยังสรุปประเด็นเป็นหัวข้อที่เข้าใจง่าย อธิบายความเปลี่ยนแปลงของศิลปะที่สัมพันธ์กับสังคม และยังตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจไว้ไม่น้อย ด้วยเข้าใจในสัญญะและมายาคติของศิลปะเหล่านั้น กระทั่งสามารถเล่นล้อได้อย่างคมคาย ดังที่เห็นในผลงานศิลปะของเขาด้วย

ความรู้ในประวัติศาสตร์ของสังคม ทำให้สุธีเป็นศิลปินที่มีความคิดอ่านแหลมคมในการวิพากษ์วิจารณ์สังคมและวัฒนธรรม ด้วยการประดิษฐ์งานสื่อผสมแปลกๆ ใหม่ๆ เพื่อสะท้อนความประดักประเดิดของภาพลักษณ์และความหมายที่ผิดเพี้ยน เขาเล่นล้อเช่นนั้นได้เพราะเข้าใจว่าความหมายของวัฒนธรรมไม่ใช่ความจริงตามธรรมชาติ แต่เป็นประดิษฐกรรมที่ประกอบสร้างขึ้นมา เมื่ออยู่ผิดที่ผิดเวลาก็อาจจะแปลกแปร่งไปจากที่ควรเป็น นั่นเป็นอรรถรสที่เขาพึงใจนำมาใช้แสดงความคิดเห็นต่อความเป็นไปในสังคม

งานของสุธีสมัยเรียนคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นภาพพิมพ์ผสมภาพถ่ายและซิลค์สกรีน เป็นภาพเพื่อนฝูงบุคคลใกล้ชิด ทับซ้อนด้วยร่องรอยลวดลายสีสดฉูดฉาด บ่งบอกถึงความสนใจในการทดลองผสมผสานวิธีการแปลกๆ ใหม่ๆ ในการนำเสนอความรู้สึกภายในออกมา

งานในช่วงที่ไปเรียนออสเตรเลีย และจัดแสดงระหว่างปี 2534-37 ยังคงเป็นการสะท้อนความรู้สึกในตัวตน ผ่านงานวาดเส้น จิตรกรรม ภาพถ่าย ภาพพิมพ์ ผสมปนเป ติดตั้งจัดวาง เป็นภาพแทนของกระแสสำนึก และแฝงแนวคิดเกี่ยวกับสภาวะของจิตในทางพุทธศาสนา

ความคิดเชิงสังคมเริ่มเป็นรูปธรรมในงานชุด “ช้างเผือกสยาม” ปี 2538 ซึ่งสุธีใช้ช้างเผือกเป็นสัญลักษณ์แทนสิ่งที่มีคุณค่าในสังคมไทย และกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่วิกฤตสุ่มเสี่ยงเช่นเดียวกับช้างไทย เขานำเสนอทั้งงานจิตรกรรม ประติมากรรม สื่อผสม และติดตั้งจัดวาง ทดลองใช้วัสดุที่แสดงสภาพต่างๆ แม้จะเป็นการตอบโจทย์เรื่องความเป็นไทยเช่นเดียวกับศิลปินอีกหลายคนที่กำลังตั้งคำถาม และแสวงหาแนวทาง แต่การตีความสัญลักษณ์ของสุธีก็ไปไกลถึงขั้นเห็นความแปลกปลอมไม่แน่นอนของความหมายทางวัฒนธรรม

ปี 2540 สุธีเริ่มทำงานสื่อผสมที่ให้ผู้ชมมีส่วนร่วมในงานแสดง และมีเนื้อหาเล่นล้อเสียดสีสัญญะทางวัฒนธรรม เช่น ประติมากรรมรูปคนไหว้ ซึ่งเมื่อใช้เท้าเหยียบแป้นแล้วจะก้มหัวลง พร้อมกับเปิดศีรษะกลวงเปล่าออกมาเหมือนฝาถังขยะ หรือประติมากรรมหุ่นยางที่ผู้ชมต้องช่วยกันเป่าลมให้พองเป็นรูปขึ้นมา เหมือนความกลวงเปล่าของรูปลักษณ์ต่างๆ ซึ่งต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของผู้คนจึงจะมีชีวิตขึ้นมา

ตลอดทศวรรษ 2540 หลังวิกฤตเศรษฐกิจและท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ที่มีผลกระทบต่อสังคมและวัฒนธรรมมากมาย สุธีเฝ้าถอดรื้อมายาคติความเป็นไทยในสังคมร่วมสมัยโดยอาศัยพื้นฐานความรู้ที่มีน้ำหนัก เขาทำงานศิลปะโดยแอบอิงอยู่กับงานวิชาการนอกกรอบกระแสหลัก ทำให้มีความหลักแหลมในการนำเสนอมุมมองด้านกลับ ทั้งเนื้อหา รูปแบบ และวิธีการ

เช่นงานชุด “ห้องเรียนประวัติศาสตร์” ปี 2543 เขานำโต๊ะนักเรียนมาแกะไม้ด้านหน้าเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทย แล้วนำไปจัดวางให้ผู้ชมใช้กระดาษวางทาบ และฝนดินสอด้านบน เป็นภาพพิมพ์นูนสูงที่สามารถเรียนรู้วิธีทำและนำกลับบ้านได้ด้วยตนเอง น่าสนใจว่าประวัติศาสตร์ที่สุธีนำมาบอกเล่ามิใช่ประวัติศาสตร์ที่สอนกันอยู่ในสถานศึกษา แต่เป็นประวัติศาสตร์กระแสรองซึ่งถูกทำให้ละเลยและหลงลืมด้วยแนวคิดทางการเมืองที่แตกต่างกัน กระทั่งคนส่วนใหญ่ในสังคมก็ไม่รู้อดีตความเป็นมาอย่างครบถ้วน เมื่อเกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นมาก็ไม่อาจเข้าใจได้อย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งสุธีมองออกว่าเป็นเรื่องของการศึกษา และจำลองความประดักประเดิดดังกล่าวออกมาเป็นงานศิลปะ

ขณะที่อีกด้านหนึ่งเขาก็ยังคงมองตัวตนตามพุทธปรัชญา จำลองสังขารที่เริ่มโรยราของตัวเองเป็นหุ่นยางนั่งสมาธิ หรือเป็นหุ่นนักมวยที่กำลังจะชกต่อยกันเอง

หลังปฏิวัติในปี 2549 และเข้าสู่ทศวรรษ 2550 ด้วยความขัดแย้งทางการเมืองที่ซับซ้อนและรุนแรง จากการบิดเบือนของความหมายที่ใช้ต่อสู้กัน จนเกิดเป็นวิกฤตคุณค่าที่สับสนอลหม่านกว่ายุคสมัยใดที่ผ่านมา งานของสุธีก็สะท้อนออกจากมุมที่เขามอง และฐานความรู้ที่สะสมมาก่อนหน้า

เขาตั้งคำถามต่อความเป็นไทยด้วยน้ำเสียงเสียดเย้ยอีกครั้งในงานชุด “ครึ่งหนึ่งของความจริง” ปี 2553 ซึ่งนำรูปแบบศิลปะไทยประเพณีมาผสมปนเปกับวัฒนธรรมประชานิยมรากหญ้าในลักษณะประดักประเดิด เช่น เขียนภาพจิตรกรรมไทยประเพณีเป็นรูปมือชูนิ้วกลางอย่างอ่อนช้อย เป็นต้น

นอกจากนี้เขายังลงลึกในการศึกษาและเลียนแบบศิลปะชาตินิยมในยุคริเริ่มสร้างชาติให้เป็นสมัยใหม่ในงานชุด “โหยสยาม ไทยประดิษฐ์” และเสียดสีการลอยตัวอยู่เหนือปัญหาในสังคมในงานชุด “ลอย” ปี 2554 เป็นหุ่นคนนั่งสมาธิ ติดดวงไฟไว้ข้างใน แล้วนำไปแขวนไว้เหนือตรอกตึกแถวในลักษณะผิดที่ผิดทาง

การติดตามความอลหม่านทางวัฒนธรรมอันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมือง สะท้อนออกมาเป็นงานแสดงล่าสุดคือ “ดีเป็นบ้า!” (Crazily Good!) ซึ่งประกอบด้วยงานศิลปะ 3 ชุด จัดวางประสมกัน

เริ่มจากแผนที่ประเทศไทยหัวทิ่ม ทำด้วยไม้อัดขนาดสูง 3 เมตร และตัดด้วยกระดาษห้อยกลับหัวลงมา เล่นกับสีเหลืองและสีแดงตามนัยยะขัดแย้งทางการเมือง

งานจิตรกรรมสีอะคริลิกชุด “นวดมหาประลัย” ประสมท่วงท่าการนวดแผนไทยเข้ากับมวยไทยอย่างพิสดาร และแสดงความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ เป็นภาพแทนของวัฒนธรรมไทยปัจจุบันซึ่งบิดผันไปด้วยอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในยุคโลกาภิวัตน์ นอกจากนี้ก็ยังมีโต๊ะเรียนแกะไม้ตามภาพต้นแบบให้ผู้ชมใช้ดินสอฝนเป็นภาพพิมพ์นำกลับบ้านด้วย

และงานประดิษฐ์ตัวอักษรเลียนอย่างโฆษณาสมัยก่อน เป็นถ้อยคำที่ชวนคิดในหลายเรื่อง เช่น “อยากเลิกอยาก” “โปรดถามให้ตรงคำตอบ” “รักประชาธิปไตย แต่เกลียดเสียงข้างมาก” เป็นต้น

เมื่อนำงานทั้งหมดมาติดตั้งจัดวางรวมกัน มันก็ให้ทัศนวิสัยแบบจับฉ่ายอย่างตลาดนัด ซึ่งมีเรื่องราวหลากหลายผสมผสานกันอย่างอิสระจนแทบไร้เหตุผล ไร้รสนิยม และไร้สติ แล้วแต่ผู้ชมว่าจะกระทบใจกับสิ่งใดตามพื้นฐานของตน ซึ่งมีตั้งแต่เรื่องการเมือง บันเทิง ไปจนถึงธรรมะ

ความสับสนอลหม่านของวาทกรรมจากหลายแหล่งที่มา ทำให้ไม่มีมายาคติใดชักนำเป็นหลัก น้ำเสียงเชิงวิพากษ์ของศิลปินก็เป็นการยั่วเย้าให้ขบคิด อารมณ์ขันคลายความขัดแย้งที่ตึงเครียดลงไปได้มาก และทำให้เห็นได้ว่า หากยากที่จะเป็นระเบียบเรียบร้อย บางทีความรกรุงรังก็อาจมีวิธีจัดการตัวมันเอง.

[พิมพ์ครั้งแรก: Vote]

วันเสาร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2555

ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ : รอยวัฏฏารมณ์/รูปวิลักษณ์

โลกียธรรม / ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ / หอศิลป์ร่วมสมัยอาร์เดล, 16 กุมภาพันธ์ - 18 มีนาคม 2555

“สามขุม” หล่อสัมฤทธิ์ 65x65x25 ซม.

[“สามขุม” หล่อสัมฤทธิ์ 65x65x25 ซม.]

แบบแผนของศิลปกรรมประเพณีสืบทอด แลกเปลี่ยน และพัฒนา มาเป็นเวลากว่าพันปี นับเนื่องจากงานช่างประดับตกแต่งทางศาสนาและการปกครอง หลังจากรับแบบอย่างทางศาสนาและศิลปะจากอู่อารยธรรม ท้องถิ่นต่างๆ ก็นำมาปรับปรุงให้เหมาะสมกับตน จนเกิดลักษณะเฉพาะถิ่นขึ้นมา

ลวดลายประดับอย่างกระหนกก็ได้พัฒนาจนเป็นลายไทยที่คุ้นตา และมีความสำคัญมาก เพราะศิลปะไทยไม่ว่าจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม หรือหัตถกรรม ล้วนนิยมตกแต่งประดับประดาอย่างวิจิตรบรรจง งานศิลปะร่วมสมัยในแนวทางประเพณีย่อมต้องอาศัยลายกระหนกเหล่านี้ในการสร้างสรรค์เช่นกัน และยังมีการประดิษฐ์คิดค้นให้แปลกใหม่ไปกว่าเดิม

ต้นทศวรรษ 2530 ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ ประสบความสำเร็จในการนำลวดลายศิลปะโบราณมาผสมกับรูปแบบการแสดงออกและกลวิธีของศิลปะสมัยใหม่ โดยสกัดเอาเฉพาะแก่นสารที่เป็นสากลร่วมกัน แสดงรูปลักษณ์ของพลังความเปลี่ยนแปลงในธรรมชาติ ผ่านเส้นและรูปทรงที่สำแดงการเคลื่อนไหวในลักษณะนามธรรม ผสมกับลวดลายและร่องรอยพื้นผิวที่หมุนวนพลิ้วไหวไปในลีลาที่สอดคล้องเล่นล้อกัน ภายใต้มวลน้ำหนักทึบแน่นทึมเทาแวดล้อม การเคลื่อนไหวปรากฏเป็นริ้วรอยสีขาวบริเวณกลางภาพ หมุนวนไปพร้อมกับลวดลายและสีทองซึ่งให้ความรู้สึกถึงคุณค่าตามสัญลักษณ์ของอุดมคติที่ดีงามในวัฒนธรรมดั้งเดิม

เขาได้รับรางวัลในหลายเวทีจากแนวทางดังกล่าว งานในช่วงแรกจะเป็นการแสวงหาวิธีการแสดงออกของศิลปะประเพณีในรูปแบบใหม่ๆ เขาสนใจมวลของรูปทรงที่มีน้ำหนักทึบแน่น ประดับลวดลายประดิษฐ์ที่ดัดแปลงมาจากศิลปะประเพณี ซึ่งแสดงอาการเกี่ยวร้อยบีบรัดเข้าด้วยกัน เพื่อขับสัญลักษณ์ที่บอกถึงความดีงามหรือความจริงสูงสุดในภาพนั้นให้โดดเด่น ต่อมาเขาขยายความอัดแน่นไปทั้งภาพ และแสดงอาการเคลื่อนไหวภายใต้ความทึบตันเช่นนั้น เช่นภาพครุฑจับนาคในจินตนาการใหม่ ซึ่งครุฑแสดงอาการดิ้นรนต่อสู้อยู่ในการร้อยรัดพัวพันของนาคที่ขดแน่น และเมื่อเขาตัดทอนรูปทรงเหลือเพียงสัญลักษณ์ที่แสดงออกในลักษณะนามธรรม ความรู้สึกภายในก็สามารถถ่ายทอดผ่านทัศนธาตุที่เลือกสรรแล้วอย่างทรงพลัง

ลวดลายประดับของศิลปะประเพณีไทยรับอิทธิพลเบื้องต้นจากอารยธรรมที่มีมาก่อน แล้วประดิษฐ์ดัดแปลงตามรสนิยมของตน ซึ่งหล่อหลอมขึ้นจากวิถีชีวิตและสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ เช่นลายกระหนกของไทยพัฒนาสูงสุดในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย จากวงโค้งของหัวกระหนกก็สะบัดปลายพลิ้วไหว อย่างลีลาของเปลวไฟ สายควัน กระแสลม หรือกระแสน้ำ

ธงชัยจับเอาเฉพาะลีลาและลวดลายมาแทนปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ แล้วนำเสนอในเชิงสัญลักษณ์ที่เป็นนามธรรม เพื่อสื่อถึงสภาวะของการเคลื่อนไหวแปรเปลี่ยน เช่น ร่องรอยของเถ้าธุลีในลีลาที่คล้ายการเผาไหม้ของเปลวเพลิงสีทอง หรือพลังความเปลี่ยนแปลงในธรรมชาติซึ่งมีลีลาเคลื่อนไหวเหมือนสายน้ำหมุนวน กระทั่งพลังจักรวาลที่ละม้ายการเคลื่อนไหวของกลุ่มดาวฤกษ์ในเอกภพ หรือแทนความหมายของนักษัตบริวารทางดาราศาสตร์โบราณ

ระยะต่อมาเขาลดทอนรูปทรงอีกจนเป็นการจัดองค์ประกอบเพื่อแสดงพุทธิปัญญา ภายใต้เค้าโครงนั้นยังคงประดับลวดลายประดิษฐ์ดัดแปลงจากศิลปะโบราณ เช่นลวดลายบนเครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง การเล่นกับน้ำหนักและร่องรอยพื้นผิว และยังคงใช้สีขาว เทา ดำ และสีทอง เป็นหลัก เค้าโครงรูปทรงที่นิยมใช้จนเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวคือทรงกลม ซึ่งแทนความหมายได้หลายอย่าง ทั้งอุดมคติ ความดีงาม หลักสัจธรรม พลังธรรมชาติ รูปลักษณ์แห่งจักรวาล หรือความเปลี่ยนแปรไม่จบสิ้น บางครั้งเขาจะจัดองค์ประกอบร่วมกับรูปทรงสามเหลี่ยมหรือสี่เหลี่ยมบ้าง ทดลองวิธีการและวัสดุใหม่ๆ บ้าง ตลอดจนทำเป็นประติมากรรม

ช่วงทศวรรษ 2540 ธงชัยยังคงทดลองปรับเปลี่ยนองค์ประกอบและวิธีการนำเสนอภายใต้ร่องรอยเดิมนั่นเอง กระทั่งเข้าสู่ต้นทศวรรษ 2550 เขาก็ฉีกตัวเองกลับมาเขียนภาพที่แสดงรูปลักษณ์เรื่องราวอีกครั้ง คือไม่ได้เป็นภาพนามธรรมเหมือนเดิม รวมทั้งเพิ่มสีสันขึ้นบ้าง อย่างเช่นงานชุด “มหาวิเนษกรมณ์” หรือการออกผนวชของเจ้าชายสิทธัตถะ เขาวาดภาพที่ลวงตาด้วยมวลตื้นลึกเสมือนเป็นประติมากรรม ประกอบกับเครื่องตกแต่งร้อยรัดซึ่งมีมวลแน่นหนักเช่นกัน ภายใต้บรรยากาศเหนือจริงผสมปนเปกันทั้งจิตรกรรมสองมิติและสามมิติ เสมือนเป็นกิเลสที่หนักหนารกรุงรังยากจะตัดขาด

น่าสนใจว่าการนำเสนอรูปลักษณ์ของธงชัยกระหายที่จะแสดงมวลอย่างประติมากรรม มากกว่าที่จะแสดงเส้นสีอย่างงานจิตรกรรม ทั้งยังกระหายที่จะผสมความสมจริงของกายวิภาคตามธรรมชาติมากกว่าที่จะเป็นเพียงรูปทรงในอุดมคติเท่านั้น

มาพลิกรูปโฉมโดยสิ้นเชิงทั้งรูปแบบและเนื้อหาในผลงานชุด “โลกียธรรม” ซึ่งธงชัยสร้างสรรค์งานประติมากรรมแสดงรูปลักษณ์ที่ผสมกันระหว่างศิลปะจารีตกับศิลปะเหนือจริง กระหวัดประกอบเข้าด้วยกันในลักษณะพิลึกพิกลมากกว่าสวยงาม และผิดประหลาดในลักษณะแฟนตาซีมากกว่าสง่างาม เรื่องราวที่นำเสนอแม้จะเกี่ยวกับเทพปกรณัม แต่ก็ไม่ได้อยู่ในอาการหลุดพ้น แนวทางใหม่ที่แปลกไปสำหรับธงชัยคือน้ำเสียงในเชิงเสียดสีเย้ยหยัน ซึ่งไม่ปรากฏชัดเจนนักในการทำงานนามธรรมที่เนื้อหายังคงอยู่ในกรอบจารีต

งานแสดงมีทั้งประติมากรรมและจิตรกรรม แต่ประติมากรรมมีความโดดเด่นกว่า ด้วยสรีระของคน สัตว์ และลวดลายตกแต่ง ซึ่งผสมกันอย่างสมจริง แต่ผิดส่วน เพื่อแสดงวัฏฏารมณ์ของจิต อันที่จริงศิลปะประเพณีก็สร้างจินตภาพของสิ่งที่อยู่ในอุดมคติด้วยการผสมดัดแปลงรูปร่างของคน สัตว์ หรือพืช เข้าด้วยกัน เพื่อแสดงถึงสิ่งที่อยู่เหนือไปจากธรรมชาติ แต่ประติมากรรมของธงชัยกลับขับเน้นความแปลกประหลาดผิดส่วนขัดตา เพื่อยืนยันถึงความไม่สมบูรณ์ของโลกและมนุษย์

ดังนั้นจึงเห็นรูปหล่อสัมฤทธิ์ของเทพที่มีเพียงเศียรลุ่มหลงเงาตัวเอง เทพที่มีเรือนร่างคล้ายลิง หรือมีท่อนร่างเป็นสิงห์ที่พิลึกพิกล นกอรหันที่มีสัดส่วนอันขัดตาเหยียบอยู่บนหัวกะโหลก นางนกเงือกที่ตัวเป็นคนแขนเป็นปีก มนุษย์ในโลงสี่เหลี่ยมที่งอกขา ปีก และหาง ออกมาเป็นสารพัดสัตว์ หรือมนุษย์ที่แบกรับภาระเป็นวงล้อวัฏสงสาร

การดิ้นรนวนเวียนอยู่ในวัฏฏารมณ์เป็นหัวข้อที่ธงชัยสนใจมาแต่แรก เพียงนำเสนอในรูปแบบนามธรรมเป็นส่วนมาก และยังแสดงความสมมาตรขององค์ประกอบอยู่ในกรอบอุดมคติอันดีงาม แม้บรรยากาศในผลงานของเขาจะรู้สึกสัมผัสถึงความกดดันและการเคลื่อนไหวแปรเปลี่ยน แต่ก็ไม่มีลักษณะของการวิพากษ์ที่เด่นชัดมาก่อน ประติมากรรมของปวงเทพที่บิดเบี้ยวผิดส่วนย่อมละเมิดต่อสุนทรียศาสตร์ของศิลปะตามแบบแผน เป็นการยอมรับต่อโลกียธรรมซึ่งปิดกั้นกดทับอยู่ภายใต้อุดมคติที่เลิศลอยมานาน ทั้งที่อาจจะเป็นหนทางแห่งการเข้าถึงสัจธรรมที่จริงแท้กว่า.

[พิมพ์ครั้งแรก: Vote]

วันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

สมรรถพลและพุทธิปัญญาในจิตรกรรมบัวหลวง

ทศวรรษที่ 3 จิตรกรรมบัวหลวง / หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ, 7 กุมภาพันธ์ – 27 มีนาคม 2555

“เสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์” สุรทิน  ตาตะน๊ะ, สีอะคริลิค 165x125 ซม.

[“เสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์” สุรทิน ตาตะน๊ะ, สีอะคริลิค 165x125 ซม.]

เป็นเวลาสามสิบกว่าปีมาแล้วที่มูลนิธิธนาคารกรุงเทพจัดประกวดรางวัล “จิตรกรรมบัวหลวง” ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกในปี 2517 นับเป็นเวทีสำคัญในการส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย เปิดทางให้ศิลปินรุ่นใหม่ก้าวขึ้นสู่ความสำเร็จ รองลงมาจากเวทีการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ มีบทบาทต่อการสังสรรค์และพัฒนาแบบอย่างทางศิลปะ โดยเฉพาะจิตรกรรมไทยประเพณีซึ่งเวทีจิตรกรรมบัวหลวงให้การขับเน้น

เนื่องในวาระครบ 30 ปี ได้มีการจัดนิทรรศการพิเศษ แสดงผลงานของศิลปินที่เคยได้รับรางวัลย้อนหลัง พร้อมกับผลงานในปัจจุบัน แบ่งออกเป็น 3 ครั้ง คือ “ทศวรรษที่ 1 จิตรกรรมบัวหลวง” รวมงานของศิลปินที่ได้รางวัลตั้งแต่ครั้งที่ 1-10 ระหว่างปี 2517-2529 ซึ่งจัดขึ้นในปี 2551 “ทศวรรษที่ 2 จิตรกรรมบัวหลวง” รวมงานตั้งแต่ครั้งที่ 11-20 ระหว่างปี 2530-2539 จัดในปี 2552 และ “ทศวรรษที่ 3 จิตรกรรมบัวหลวง” รวมงานครั้งที่ 21-30 ระหว่างปี 2540-2551 เลื่อนมาจัดในปีนี้เอง

การประกวดจิตรกรรมบัวหลวงแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ จิตรกรรมไทยแบบประเพณี จิตรกรรมไทยแนวประเพณี และจิตรกรรมร่วมสมัย จิตรกรรมแบบประเพณีจะรักษาขนบธรรมเนียมตามแบบแผนไว้เป็นสำคัญ ส่วนจิตรกรรมไทย “แนว” ประเพณีจะเป็นรูปแบบประยุกต์ดัดแปลง และจิตรกรรมร่วมสมัยก็เปิดกว้างทางรูปแบบอย่างอิสระ

กระนั้นในระยะหลังการแบ่งประเภทก็เลือนเข้าหากัน เนื่องจากจิตรกรรมไทยประเพณีมีการนำเทคนิควิธีของจิตรกรรมร่วมสมัยมาปรับใช้อยู่มาก ขณะที่จิตกรรมร่วมสมัยก็นำหลายอย่างจากศิลปะประเพณีและศิลปะพื้นบ้านมาสร้างสรรค์

จิตรกรรมบัวหลวงเป็นสนามสำคัญให้ศิลปินร่วมสมัยแสดงออกถึงความเป็นไทยในปัจจุบัน ขณะที่สังคมสมัยใหม่ก้าวเข้าสู่ความเป็นสากล ซึ่งวิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลกแทบจะเหมือนกันไปหมด การรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ประจำชาติเป็นเรื่องที่คนในสังคมตระหนัก เห็นจำเป็นทั้งทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ แต่จะรักษาและพัฒนาไปอย่างไรเป็นโจทย์ที่ต้องพิจารณากันหลายชั้น ทั้งในชั้นแก่น กระพี้ และเปลือกนอก

งานศิลปะดั้งเดิมไม่ได้แยกออกจากชีวิตประจำวัน แต่เป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของผู้คน รวมอยู่ในข้าวของเครื่องใช้ การตกแต่งประดับประดา ความเชื่อ ศาสนา ประเพณีและพิธีกรรม แม้กระทั่งศิลปินผู้สร้างก็ไม่สลักสำคัญเท่ากับการสืบทอดแนวทางที่ยึดถือกันมา บางครั้งการทำอะไรผิดแปลกแหวกแนวถือเป็นการนอกครูที่มีความผิดร้ายแรง แต่ศิลปะสมัยใหม่ต้องการแสดงสมรรถพลของศิลปินในฐานะปัจเจกที่มีความโดดเด่นไม่เหมือนใครอื่น การลอกเลียนแนวทางของผู้อื่นถือเป็นความผิดร้ายแรงของศิลปินในปัจจุบัน

งานจิตรกรรมก็แยกตัวออกมาจากการประดับตกแต่ง เพื่อแสดงพุทธิปัญญาในการสร้างสรรค์ด้วยตนเอง กล่าวได้ว่างานจิตรกรรมแบบประเพณีในปัจจุบันก้าวหน้ากว่าอดีตมาก ด้วยศิลปินได้รับการศึกษาตามหลักวิชาอย่างเป็นระบบระเบียบ ประกอบกับเทคนิควิธีและวัสดุอุปกรณ์ได้พัฒนาไปมาก

แนวทางจะเริ่มเห็นตั้งแต่การนำเทคนิคการวาดภาพของศิลปะตะวันตกมาผสมผสานกับจิตรกรรมไทย อย่างที่เห็นในงานของขรัวอินโข่ง, สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศนานุวัดติวงศ์, พระเทวาภินิมมิต และเหม เวชกร จากนั้นก็เป็นการผสมผสานกับรูปแบบการแสดงออกตามอย่างลัทธิต่างๆ ของศิลปะสมัยใหม่ อย่างงานของ ชลูด นิ่มเสมอ, เฉลิม นาคีรักษ์, ถวัลย์ ดัชนี และอังคาร กัลยาณพงศ์ จนกระทั่งมาถึงปัจจุบันซึ่งมีการตีความและพัฒนาไปในหลายทิศทาง ซึ่งเห็นได้ตั้งแต่การประกวดจิตรกรรมบัวหลวงในปี 2517 เป็นต้นมา

ทศวรรษที่ 1 จิตรกรรมบัวหลวง จะเห็นฝีมือของศิลปินที่ผ่านการศึกษาฝึกฝนมาอย่างล้ำเลิศ อย่างการแสดงมุมมองของจิตรกรรมไทยผ่านแสงเงาของสถาปัตยกรรมในงานของ ปรีชา เถาทอง การแสดงความงามอันวิจิตรบรรจงในงานของ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ และการแปรแปลงเป็นจินตนาการเหนือจริงในงานของ ปัญญา วิจินธนสาร นอกจากนี้ยังเห็นชั้นเชิงในการจัดองค์ประกอบ เพื่อแสดงความงามของทัศนธาตุทางศิลปะในลักษณะนามธรรมในงานของ อิทธิพล ตั้งโฉลก, พิษณุ ศุภนิมิต และปริญญา ตันติสุข

พอเข้าสู่ทศวรรษที่ 2 จิตรกรรมบัวหลวง จะเห็นแรงบันดาลใจของศิลปินที่หลากหลายออกไปตามภูมิหลังและความสนใจเฉพาะตัว อย่างงานจิตรกรรมที่แสดงกลิ่นอายท้องถิ่นทางเหนือของ ประสงค์ ลือเมือง และเนติกร ชินโย หรือท้องถิ่นทางอีสานในงานของ ธีระวัฒน์ คะนะมะ และจินตนา เปี่ยมศิริ การนำสัญลักษณ์ของศิลปะประเพณีมาปรับใช้ในลักษณะนามธรรม อย่างงานของ ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ, เกรียงไกร วงษ์ปิติรัตน์ และอภิชัย ภิรมย์รักษ์ ส่วนจิตรกรรมร่วมสมัยก็จะเห็นงานที่สะท้อนตัวตนและสังคม อย่างงานของ ชาติชาย ปุยเปีย, สันติ ทองสุข และนาวิน เบียดกลาง

ส่วนทศวรรษที่ 3 จิตรกรรมบัวหลวง จะเห็นการลงรายละเอียดที่ลึกซึ้งขึ้น ทั้งในชั้นเชิงฝีมืออันวิจิตรอลังการ การเข้าถึงจิตวิญญาณพื้นบ้าน การใช้กลวิธีและวัสดุที่ให้ประสิทธิผล รวมถึงการนำเสนอมโนภาพในด้านที่เลวร้ายของชีวิตและสังคม นอกเหนือจากความงดงามที่เป็นอุดมคติเท่านั้น

จะเห็นชั้นเชิงฝีมืออันประณีต ละเอียดอ่อน ลำดับองค์ประกอบและควบคุมน้ำหนักบรรยากาศได้อย่างงดงาม ในงานของ สุรทิน ตาตะน๊ะ, เกรียงไกร เมืองมูล และพรมมา อินยาศรี หรือการแสดงฝีมือผ่านกลวิธีและวัสดุดั้งเดิมได้อย่างลงตัว อย่างงานรดน้ำลายทองของ สิโรจน์ พวงบุปผา และปรัชญ์ อินทรัตน์

การนำเสนอความเป็นพื้นบ้านท้องถิ่นมิใช่เป็นเพียงกลิ่นอาย แต่เข้าถึงรูปแบบและวิถีชีวิต หรือเรียกได้ว่าจับจิตวิญญาณขึ้นมาต่อยอดเป็นงานร่วมสมัย มีการแสดงออกที่จริงใจ ซื่อ และเป็นอิสระอย่างช่างพื้นบ้านมากกว่าช่างหลวง อย่างงานของ ลิปิกร พวงแก้ว ภาพพระบฏที่เสียดสีความเสื่อมของประเพณีความเชื่อของ นพวงษ์ เบ้าทอง งานตกแต่งสิมหรือโบสถ์ทางอีสานของ อัศวิณีย์ หวานจริง ขณะที่งานของ ชวลิต อุ๋ยจ๋าย และเจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ ก็สะท้อนบรรยากาศและสภาพชีวิตทางภาคใต้

การใช้วัสดุและสื่อผสมก็ทำให้เกิดความงามอันแปลกตา เกิดมิติในการมองเห็นที่มากกว่าระนาบแบนเรียบธรรมดา อย่างงานของ สากล สุทธิมาลย์ ซึ่งใช้ปูนปั้นเป็นภาพนูนต่ำและวาดทับด้วยสีฝุ่น หรืองานจิตรกรรมสื่อผสมของ ศรัณย์ ศิริเจริญ และระฐาพัชร์ พิชิตศิลปะธำรง เล่นระดับกับมิติทางสายตา งานวาดเส้นร้อนบนไม้ของ อภิชาติ เอี่ยมวิจารณ์ ก็ถ่ายทอดความทุกข์ทรมานของไฟนรกได้อย่างถึงอารมณ์

จิตรกรรมไทยในปัจจุบันมิได้สืบทอดอุดมคติจากอดีตเพียงถ่ายเดียว แต่ยังมีการตีความด้วยพุทธิปัญญาของศิลปินเอง อันเป็นผลมาจากทักษะ ความรู้สึกนึกคิดของศิลปิน และสภาพแวดล้อมของสังคม จินตภาพในจิตรกรรมที่เนรมิตขึ้นมาจึงยังคงสะท้อนมาจากชีวิตและสังคมนั่นเอง.

[พิมพ์ครั้งแรก: Vote]