วันอังคารที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2553

My Name is Red : พลังแห่งตัณหาและความงาม

นวนิยาย : My Name is Red / นักเขียน : ออร์ฮาน ปามุก (Orhan Pamuk) / ผู้แปล : นันทวัน เติมแสงสิริศักดิ์ / Bliss Publishing, พิมพ์ครั้งแรก กุมภาพันธ์ 2553

นวนิยาย : My Name is Red / นักเขียน : ออร์ฮาน ปามุก (Orhan Pamuk) / ผู้แปล : นันทวัน เติมแสงสิริศักดิ์

นวนิยายเปิดเรื่องด้วยเสียงเล่าอันเป็นกระแสสำนึกของศพที่ก้นบ่อน้ำ ซึ่งถูกฆ่าตายอย่างโหดเหี้ยม ด้วยฝีมือของฆาตกรที่ทิ้งไว้เป็นปริศนาไม่รู้ว่าเป็นใคร ผู้อ่านจะได้รับรู้ตามมุมมองที่จำกัดของเสียงเล่า คือรู้ว่าผู้ตายเป็นหนึ่งในนายช่างเอกที่ทำงานวาดภาพตกแต่งหนังสือของราชสำนัก และมีความขัดแย้งเกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาและงานที่ทำ กระทั่งมีภัยถึงแก่ชีวิต

ด้วยปมฆาตกรรมนี้เปิดความใคร่รู้ให้อยากติดตามไปตลอดทั้งเรื่อง

จากนั้นนวนิยายจะเปลี่ยนมุมมองของเสียงเล่าเป็นตัวละครอื่น ซึ่งต่างเล่าเรื่องของตัวเอง และเกี่ยวพันกันอย่างหลวมๆ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เสียงเล่าดังกล่าวจะสลับกันไปมาตลอดทั้งเรื่อง จนเห็นเป็นกลวิธีการประพันธ์ที่โดดเด่นของนวนิยาย

และที่แปลกไปกว่านั้นคือ มิใช่มีเพียงเสียงเล่าของคนปรกติธรรมดา นอกจากเสียงเล่าของวิญญาณผู้ตายแล้ว ยังมีเสียงเล่าของฆาตกรที่แฝงอยู่ในตัวละครใดตัวละครหนึ่ง เสียงเล่าของตัวตน (อีกคน) ที่แฝงอยู่ภายในตนเอง เสียงเล่าของภาพที่เขียนขึ้นมา เช่น หมา ต้นไม้ ม้า ภาพนักพรตเถื่อน ตลอดจนมัจจุราช และซาตาน กระทั่งเสียงเล่าของวัตถุเช่นเหรียญทอง และเสียงเล่าของสีแดง

ทั้งเสียงเล่าของบุคคลและบุคลาธิษฐานของสิ่งที่สมมติขึ้นมาเสมือนคน ล้วนมีพื้นอารมณ์ในกระแสสำนึกออกไปทางเผยความต้องการเบื้องลึกในจิตใจตน ทั้งความต้องการทางโลกธรรมดา ความต้องการเชิงอุดมคติความเชื่อ ตลอดจนความต้องการในกิเลสตัณหาที่เกินเลย หรือวิปริตไปจากธรรมดา

เมื่อเป็นเรื่องของเหล่าศิลปินที่ท่วมท้นไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกอันพลุ่งพล่าน รสชาติของนวนิยายโดยรวมจึงออกไปทางจัดจ้าน เหมือนคุณลักษณะของสีแดงที่เป็นชื่อเรื่อง

“หากเราแตะมันด้วยปลายนิ้ว มันจะให้ความรู้สึกเหมือนเหล็กผสมทองแดง ถ้าเราจับมันมาใส่ในฝ่ามือ มันจะแผดเผา ถ้าเราลิ้มชิมรส มันจะเข้มข้นเหมือนเนื้อหมักเกลือ ถ้าเราจับมันใส่ปากก็จะรู้สึกเต็มปากเต็มคำ ถ้าเราดม มันจะมีกลิ่นเหมือนม้า หากมันเป็นดอกไม้ กลิ่นมันจะเหมือนดอกเดซี ไม่ใช่กุหลาบแดง” (หน้า 257)

เสียงเล่าที่สลับกันไปมานี้นับแล้วมีอยู่ประมาณ 20 เสียง สะท้อนแง่มุมต่างๆ ของฉากในนวนิยายอันเป็นเรื่องอิงประวัติศาสตร์ ย้อนกลับไปในปี ค.ศ.1591 หรือหนึ่งปีก่อนครบรอบหนึ่งพันปีของศักราชฮิจเราะห์ในศาสนาอิสลาม เหตุการณ์เกิดขึ้นในกรุงอิสตันบูล เมืองหลวงของจักรวรรดิออตโตมาน ตรงกับรัชสมัยของสุลต่านมูราตที่สาม อันเป็นยุคทองของจิตรกรรมออตโตมาน ซึ่งสืบทอดแบบอย่างของศิลปะในโลกอิสลามที่พัฒนาต่อเนื่องกันมาหลายร้อยปี

ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในปูมหลังทางวัฒนธรรมของตน ประกอบกับความเป็นเลิศในการสำแดงออกผ่านวรรณกรรมสมัยใหม่ ทำให้ ออร์มาน ปามุก (Orhan Pamuk) นักเขียนชาวตุรกี สรรค์สร้าง “My Name is Red” (ปี ค.ศ.1998) ขึ้นมา จนเป็นผลงานชิ้นเอกของยุคสมัย สมกับเกียรติยศที่ได้รับในเวลาต่อมา อาทิ รางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม ในปี ค.ศ.2006 เป็นต้น

จักรวาลวิทยาในนวนิยายเรื่อง “My Name is Red” จึงเป็นส่วนผสมของโลกทัศน์ในวรรณกรรมสมัยใหม่ที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง และเรื่องเล่าในสมัยโบราณซึ่งสรรพสิ่งล้วนมีความสำคัญทัดเทียมกันในสายตาของพระเจ้า กระทั่งอาจจะมีตัวตนหรือจิตวิญญาณของตนเอง

เสียงเล่าแต่ละเสียง เหมือนกระดาษแต่ละแผ่นที่จิตรกรแยกย้ายกันไปวาดภาพตามความคิดและทักษะของตน ตามกระบวนการทำหนังสือสมัยก่อนที่จะมีแท่นพิมพ์ ซึ่งต้องอาศัยการทำด้วยฝีมือที่วิจิตรบรรจง หรืออาจจะมีข้อผิดพลาด นั่นเป็นทั้งเสน่ห์และความยุ่งยากในการอ่านตามความคุ้นเคย เพราะผู้อ่านจะต้องรวบรวมเสียงเล่าแต่ละแผ่นเป็นเรื่องราวเดียวกัน ขณะเดียวกันก็ต้องแกะรอยความผิดพลาดที่ปรากฏ เพื่อค้นหาเงื่อนปมในจิตใจมนุษย์ อันเป็นผลกระทบจากสภาพแวดล้อมของสังคม หรือความขัดแย้งในตนเอง

เงื่อนปมฆาตกรรมก็คือเงื่อนปมในจิตใจคน และเงื่อนปมของปัญหาในสังคมมนุษย์

วรรณกรรมปัจจุบันที่อยู่ในแนวคิดหลังสมัยใหม่ไม่ได้มีท่าทียกย่องมนุษยนิยมเหมือนวรรณกรรมสมัยใหม่ยุคแรก ตรงกันข้าม - กลับพยายามสะท้อนหรือชำแหละความบกพร่องของมนุษย์ออกมามากกว่า นวนิยายของ ออร์ฮาน ปามุก เรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน จะพบว่าเขาเขียนถึงพลังทางจิตใจของมนุษย์ที่สำแดงออกมาในการสร้างสรรค์งานศิลปะ ซึ่งทั้งน่าชื่นชมสรรเสริญและน่าพรั่นพรึงไปพร้อมกัน เพราะเส้นแบ่งของความรู้สึกถึงความงามกับตัณหาราคะนั้นอยู่ใกล้กันนิดเดียว เพียงรอยต่อของการเปลี่ยนผ่านหรือระหว่างการเสียระเบียบควบคุมตามแบบแผนเดิม เสรีภาพแห่งตัวตนก็อาจจะเปิดเผยความน่าเกลียดน่ากลัวออกมา หลังจากถูกกดทับอยู่ภายใต้อาณาจักรของพระเจ้ามาเนิ่นนาน

เรียกได้ว่ามนุษย์นั้นไม่สง่างามนัก หากการยอมรับความจริงในความไม่สมบูรณ์นั้นคือความงามของวรรณกรรมในยุคหลัง

“My Name is Red” ถ่ายแบบความซับซ้อนในธรรมชาติความเป็นมนุษย์ ผ่านการสืบค้นทางจิตวิทยา และตีแผ่อำนาจของความต้องการในจิตใจเบื้องลึก ด้วยการแสดงออกทางอารมณ์ที่เข้มข้นในหมู่ศิลปิน ซึ่งเป็นกลุ่มอาชีพที่ต้องอาศัยแรงผลักดันจากความรู้สึกภายในเกินธรรมดาสามัญ เพียงแต่อาจจะอยู่ในกรอบเกณฑ์หรือธรรมเนียมการสร้างงานที่ต่างกันไปในแต่ละยุคสมัย หรือปลดปล่อยผ่านความทะเยอทะยานสู่ความเป็นเลิศของฝีมือและชื่อเสียง

เสน่ห์ของเรื่องอยู่ที่ข้อมูลรายละเอียดในชีวิตประจำวันและสังคมของเหล่าจิตรกรแห่งราชสำนักออตโตมาน ตลอดจนกระบวนการทำหนังสือภาพวิจิตร ประวัติจิตรกร และความเป็นมาของลักษณะเฉพาะทางจิตรกรรม ทั้งรูปแบบและเนื้อหา รวมถึงหลักนิยมทางสุนทรียภาพ และผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงหรืออิทธิพลของรูปแบบศิลปะจากภายนอก โดยเฉพาะจากสังคมตะวันตก ซึ่งเป็นปมขัดแย้งสำคัญของเรื่องด้วย

ลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์เหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องประดับตกแต่งให้เกิดรสชาติแปลกใหม่ในนวนิยายเท่านั้น ยังเป็นเค้าโครงให้เหตุการณ์ต่างๆ เกาะเกี่ยวกันเป็นเนื้อเรื่องขึ้นมาด้วย เพื่อรองรับมุมมองและทรรศนะที่คมคายของผู้ประพันธ์

ความขัดแย้งระหว่างแนวนิยมในการสร้างสรรค์ศิลปะแบบตะวันออกและตะวันตก กลายมาเป็นปมเหตุที่ทำให้เกิดการฆาตกรรม เพราะแฝงไว้ด้วยการแสวงอำนาจและการสูญเสียประโยชน์ อันเป็นผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น

ภายใต้ความขัดแย้งในโครงสร้างใหญ่นั้นคือการเผยโฉมหน้าของมนุษย์ซึ่งมีความขัดแย้งภายในตนเอง ระหว่างเหตุการณ์ที่เคลื่อนเปลี่ยนไปในประวัติศาสตร์ เผยให้เห็นชีวทัศน์ของผู้คนในเชิงจิตวิทยา ต่างคนต่างดิ้นรนไขว่คว้าไปตามสิ่งที่ตนปรารถนา หากความเปลี่ยนแปลงนั้นนำความหวังมาให้บางคน และนำความสูญเสียมาให้บางคน กระทั่งกลายเป็นโศกนาฏกรรมที่ยากจะหลีกเลี่ยง

การดำเนินเรื่องดูเหมือนจะให้ตัวละครที่ชื่อ “แบล็ก” เป็นตัวเอกและศูนย์กลางของเรื่องราวทั้งหมด เขาพลัดไปอยู่ที่อื่นนานนับสิบปี ก่อนจะกลับมาสู่นครหลวงอิสตันบูลที่เป็นบ้านเกิด เพื่อช่วยน้าของเขาทำหนังสือลับเฉพาะ ตามคำสั่งขององค์สุลต่าน ขณะเดียวกันเขาก็ต้องเยียวยาบาดแผลเกี่ยวกับความรักที่มีต่อเชคูเร - ม่ายสาวลูกสองซึ่งเป็นบุตรสาวของน้าด้วย

แบล็กต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรม ทั้งในฐานะผู้ต้องสงสัยและผู้สืบสวน เขาอยู่ตรงกลางระหว่างความขัดแย้งในชีวิตส่วนตัวกับความขัดแย้งในระดับจักรวาลวิทยาซึ่งคุกรุ่นอยู่ในสังคม

เสียงเล่าในมุมมองต่างๆ ก็คือการเผยปัญหาในแต่ละด้านออกมา

การฆาตกรรมคือสัญญาณของการเสียระเบียบแห่งจักรวาล ซึ่งนำไปสู่ความล่มสลายทางจิตวิญญาณ เมื่อสัญชาตญาณดิบฉวยโอกาสสำแดงตัวในระหว่างรอยต่อของการเปลี่ยนผ่านที่ไม่ราบรื่นนัก

หลักการสร้างสรรค์งานศิลปะของวัฒนธรรมตะวันออกจะเป็นเรื่องของโลกในอุดมคติมากกว่า ขณะที่การสร้างสรรค์ศิลปะของวัฒนธรรมตะวันตกจะเป็นเรื่องของโลกทางกายภาพที่มนุษย์ประจักษ์เห็น

อย่างงานจิตรกรรมของอิสลามถือเป็นงานศิลปะตกแต่งเท่านั้น หรือเป็นการจำลองมโนภาพของโลกที่พระเจ้าทรงเห็น การวาดภาพเลียนแบบความเป็นจริงตามที่ตาเห็นถือเป็นเรื่องที่ขัดต่อหลักศาสนา เพราะจะเป็นการสร้างสัญลักษณ์หรือรูปเคารพขึ้นมา และการสร้างก็เป็นการตีตนเสมอพระเจ้า

“อย่าลืมสิว่าในพระคัมภีร์อัลกุรอาน หน้าที่ ‘ผู้สร้าง’ เป็นของอัลลอฮ์ พระองค์ต่างหากเป็นผู้สร้างสิ่งไม่มีตัวตนให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา พระองค์ประทานจิตวิญญาณให้กับสิ่งไม่มีชีวิต ใครหน้าไหนก็ไม่มีสิทธิ์ต่อกรกับพระองค์ บาปหนักหนาที่สุดคือการที่จิตรกรตีตนเสมอพระองค์ ยกตนขึ้นเป็นผู้สร้างเสียเอง” (หน้า 222)

ตามธรรมเนียมศิลปินจะเก็บซ่อนอารมณ์ปรารถนาและความเป็นตัวเองไว้ภายใต้ศรัทธา และแปรเป็นเครื่องส่งเสริมความงามให้แก่ศรัทธานั้น มิใช่เพื่อความพึงพอใจส่วนตน

และเจตจำนงนั้นเองที่เป็นตัวกำหนดรูปแบบของศิลปกรรม

“สิ่งสำคัญคือการวาดด้านลึกลับของสิ่งที่เราไม่รู้จัก ไม่ใช่อะไรที่เราเห็นแจ่มแจ้งอยู่แล้ว” (หน้า 179)

ขณะที่แนวคิดแบบมนุษยนิยมเริ่มเจริญเติบโตขึ้นในสังคมตะวันตก จิตรกรตะวันตกสั่งสมทักษะและวิชาการในการวาดภาพเหมือนจริงตามที่ตาเห็น แม้แต่ชาวบ้านร้านตลาดก็นิยมเขียนภาพเหมือนของตัวเองประดับผนัง ซึ่งสำหรับจิตรกรมุสลิมในสมัยนั้น การเขียนภาพมนุษย์ไว้ตรงกลาง หรือการเขียนภาพเหมือน ล้วนเป็นความผิดบาปอย่างร้ายแรง

กระนั้นด้วยวิสัยของศิลปิน การเขียนภาพแนวใหม่ย่อมเย้ายวนแรงเร้าภายในอย่างมาก และยิ่งเป็นแรงเร้าของความเป็นมนุษย์ที่ถูกกดทับอยู่ภายใต้ประเพณีดั้งเดิมมายาวนาน อารมณ์ปั่นป่วนระหว่างความต้องการและการหวงห้ามย่อมกระฉอกล้นออกมาเป็นความผิดเพี้ยน

แต่ก็ยังมีบางคนที่พยายามประนีประนอม หาทางประสานสองแนวทางเข้าด้วยกัน เช่นน้าของแบล็ก ซึ่งรับผิดชอบทำหนังสือพิเศษให้แก่องค์สุลต่าน หนังสือเล่มนี้จะใช้วิธีวาดภาพและการมองโลกแบบชาวตะวันตกเข้ามาผสมผสานด้วย เพื่อสำแดงฝีมือของจิตรกรเอกแห่งราชสำนักออตโตมานให้เป็นที่ประจักษ์

“จิตรกรฝรั่งใช้ศิลปะการวาดรูปคนอวดศักดาเหมือนเด็กที่ชอบเอาชนะ หากเรานำมาใช้บ้าง ไม่เพียงจะช่วยเสริมสร้างบารมีให้ฝ่าบาท แต่ยังเสมือนเป็นกำลังรับใช้ศาสนาของเราด้วย เพราะทำให้คนที่พบเห็นตกอยู่ใต้มนตร์สะกด” (หน้า 156)

เพราะเป็นวิธีการที่ขัดต่อหลักศาสนา ดังนั้นจึงต้องเก็บเรื่องนี้ไว้เป็นความลับ แต่คนที่เกี่ยวข้องก็ใช่ว่าจะเห็นชอบตามทั้งหมด ด้วยความหวาดหวั่นต่อการเปลี่ยนแปลง ประกอบกับความหวาดกลัวต่อความเชื่อเดิม ขับให้เกิดเรื่องเลวร้ายขึ้นมา

แสดงให้เห็นถึงความยุ่งยากของการผสมผสาน ซึ่งยากที่จะกลมกลืนกันโดยไม่ผิดเพี้ยนอัปลักษณ์ เนื่องเพราะมาจากหลักสุนทรียศาสตร์ที่ต่างกัน

“สมมติเราเดินไปตามถนนเส้นหนึ่ง ถ้าเป็นภาพวาดฝรั่ง การวาดแบบมีมิติจะทำให้เราเดินหลุดออกมานอกกรอบและนอกภาพวาด แต่หากเป็นภาพวาดที่ทำขึ้นตามแนวทางของจิตรกรเอกเฮราต มันจะนำพาเราไปยังสถานที่ซึ่งอัลลอฮ์ทรงมองดูเราอยู่ แต่ถ้าเป็นภาพวาดของจีน เราจะติดอยู่ในภาพ เพราะภาพเขียนจีนนั้นกว้างใหญ่ไพศาลไม่สิ้นสุด” (หน้า 317)

สำหรับคนที่ต้องทุ่มเทชีวิตให้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมานาน ลักษณะพันทางเช่นนี้นับเป็นเรื่องที่น่าอัปยศ

“ความพยายามผสมผสานศิลปะสองขั้วที่แตกต่างกัน ยังผลให้จิตรกรของข้ากับเจ้าตัวตลกไร้ความคิดที่เพิ่งตายไปสร้างผลงานอันปราศจากซึ่งทักษะใดๆ ทั้งสิ้น ความอ่อนหัดไร้ฝีมือนี้ทำให้ข้าโกรธยิ่งกว่าการที่ภาพถูกสร้างขึ้นจากโลกทัศน์สองขั้วเสียอีก” (หน้า 337)

อันที่จริงนวนิยายเรื่องนี้เป็นผลมาจากการผสมผสานเช่นกัน เป็นการบรรจบกันของโลกทัศน์สองแบบในลักษณะที่น่าตื่นตะลึงยิ่ง แน่นอนว่าวรรณกรรมปัจจุบันยืนพื้นอยู่บนพัฒนาการของวรรณกรรมตะวันตก แต่การย้อนกลับไปสำรวจจิตวิญญาณดั้งเดิมในรากเหง้าวัฒนธรรมของตน ทำให้มองเห็นแง่มุมใหม่ของความงามที่กระทบต่อความรู้สึกและพื้นเพทางวัฒนธรรมด้วย

สัญญาณแห่งการล่มสลายของระเบียบเดิม แสดงตัวออกมาเป็นอารมณ์อันปั่นป่วนรุนแรง กำกวม กระทั่งวิปริต ยากจะแยกแยะระหว่างอุดมคติหรือตัณหา ความเกินเลยย่อมนำไปสู่การสูญเสีย ขณะที่การเปลี่ยนแปลงนำมาซึ่งความขัดแย้งในความต้องการจำเป็นของมนุษย์

นวนิยายเพียงเผยวิสัยธรรมดาในธรรมชาติของโลกและมนุษย์ด้วยลีลาอันฉูดฉาด ความเป็นไปนอกเหนือจากนี้ก็สุดแล้วแต่ผู้อ่านจะแลเห็น.

[พิมพ์ครั้งแรก: Vote]

วันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ขาดๆ เกินๆ ก็กรุงเทพฯ

Bangkok Stories / หลายคนเขียน / Fullstop Publishing, ตุลาคม 2552

Bangkok Stories / Fullstop Publishing

นักเขียนการ์ตูนไทยปัจจุบันมีพัฒนาการใช่น้อย แม้ขนาดตลาดจะจำกัด ทำให้การลงทุนสู้สังคมที่มีความพร้อมกว่าไม่ได้ แต่ในแง่ของฝีมือและมุมมอง ความเฉียบคมไม่เป็นรองใครแน่นอน

สภาพของสังคมไทยมีส่วนอย่างมากในการหล่อหลอมผลงานที่ดีขึ้นมา ท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีขนบธรรมเนียมเดิมอยู่เป็นพื้น และเปิดกว้างต่อความทันสมัย ชีวิตของผู้คนที่ผสมปนเปกันทั้งยากดีมีจน ก่อให้เกิดประสบการณ์ทางความรู้สึกที่แตกต่างกัน เป็นวัตถุดิบชั้นดีสำหรับนักเขียนที่สามารถคลี่คลายจากอิทธิพลที่ได้รับมาเบื้องต้น และต้องการสร้างตัวตนขึ้นมาจากแรงบันดาลใจรายรอบตัว

อาจแบ่งนักเขียนการ์ตูนออกได้เป็น 2 กลุ่มกว้างๆ คือ กลุ่มที่ทำงานตามความต้องการของตลาด กับกลุ่มที่ทำงานตามความต้องการของตัวเอง กลุ่มแรกอาจจะมีรูปแบบและเนื้อหาตามธรรมเนียมการอ่านในวงกว้าง ทั้งในแง่ความบันเทิงหรือในเชิงความรู้ก็ตาม ส่วนกลุ่มหลังจะมุ่งหมายแสดงออกถึงความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง และมีความเป็นตัวของตัวเองมากกว่า แต่ก็จะมีข้อจำกัดในการสื่อสารกับคนวงกว้าง

เพราะความต้องการที่จะบอกเล่าความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง ทำให้ผลงานของนักเขียนในกลุ่มหลังสะท้อนความเป็นไปของสังคมได้มากกว่า นอกเหนือจากความหลากหลายของรูปแบบการทำงานที่แตกต่างกันไปตามลักษณะเฉพาะของตน

มีหลายสำนักพิมพ์ที่รวบรวมนักเขียนการ์ตูนอิสระเหล่านี้เป็นเล่มเฉพาะกิจ ตามแต่ความคิดรวบยอดที่ตั้งขึ้นมา เช่น สำนักพิมพ์ Fullstop ซึ่งมักจะเน้นทำหนังสือที่มีการออกแบบรูปเล่มสวยงาม ก็มีหนังสือการ์ตูนรวมนักเขียนออกมาเป็นระยะ

เล่มหนึ่งคือ Bangkok Stories ซึ่งว่าด้วยเรื่องของกรุงเทพฯ เมืองที่นักเขียนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตและทำงานอยู่นั่นเอง ความน่าสนใจอยู่ที่การดึงเอาบริบทแวดล้อมมาเป็นแรงบันดาลใจในการเขียน จะเห็นถึงมุมมองที่นักเขียนมีต่อสังคม และหากคิดมากหน่อยก็จะเห็นความเป็นจริงของชีวิตและโครงสร้างของสังคมอยู่ในพื้นหลัง

นักเขียนในเล่มนี้ประกอบด้วย ศศิ วีระเศรษฐกุล, องอาจ ชัยชาญชีพ, สุทธิชาติ ศราภัยวานิช, ทรงวิทย์ สี่กิติกุล, ต้องการ, The Duang และ Summer

ธรรมชาติการเล่าเรื่องของการ์ตูนจะประกอบด้วยความเกินจริง (hyperbole) หรือน้อยกว่าความเป็นจริง (understatement) เพื่อลดทอนและขับเน้นสิ่งที่นำเสนอในลักษณะที่ไม่สมจริง เป็นโลกแห่งจินตนาการที่อยู่เหนือความจริง นักเขียนสามารถวาดแต่งเรื่องราวได้อย่างอิสระ แต่การ์ตูนที่ดีก็มักจะเกี่ยวพันกับความเป็นจริงในสังคมอย่างลึกซึ้ง เพียงแต่จะแฝงอยู่ในความเหนือจริงนั้น

อย่างเรื่อง “Going to” ของ ศศิ วีระเศรษฐกุล ใช้ภาพที่ลดทอนมุมมองลงเพียง 2 มิติ จัดองค์ประกอบเรียงกันอย่างง่ายๆ และขยายสัดส่วนเล็กใหญ่ตามความรู้สึก เหมือนสายตาไร้เดียงสาของเด็ก เพื่อถ่ายทอดเสียงเล่าอันบริสุทธิ์ของตัวละคร ซึ่งต้องจากชนบทมาตามหาความฝันในเมือง

เป็นตัวการ์ตูนที่วาดขึ้นมาง่ายๆ ไร้เอกลักษณ์เฉพาะตัว เหมือนจะแทนใครก็ได้ที่คล้ายกัน

ผิดกับเรื่อง “Bangkok Paradise” ของ องอาจ ชัยชาญชีพ ซึ่งตัวละครเป็นมนุษย์ประหลาด มีหัวสี่เหลี่ยมเป็นขนม เขาพยายามปลอมแปลงตัวเอง ด้วยกลัวว่าคนอื่นจะสังเกตเห็นความแปลกประหลาดของตน ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่วาดขึ้นมาหวัดๆ และผู้คนที่เป็นเพียงเค้าโครงไร้อัตลักษณ์ กลับไม่มีใครสนใจใครเลย กระทั่งเกิดเหตุร้ายกับเขาก็ยังไม่มีใครสน

เรื่อง “Bangkok” ของ สุทธิชาติ ศราภัยวานิช ถ่างช่องว่างของการรับรู้ออก มีเพียงถ้อยคำสนทนาทางอินเตอร์เน็ตกับภาพวาดสีน้ำ ซึ่งเป็นโจทย์ของหญิงสาวที่อยู่ห่างไกลให้ชายหนุ่มที่อยู่ในกรุงเทพฯ วาดภาพให้เธอเห็น เป็นกรุงเทพฯ ในสายตาของเขา

คนอ่านจะต้องเชื่อมโยงระหว่างภาพวาดกับบทสนทนาด้วยตนเอง ช่องว่างระหว่างนั้นคือจินตนาการที่นักเขียนได้สอดแทรกการวิพากษ์วิจารณ์สังคมไว้อย่างแหลมคม

เช่นเดียวกับเรื่อง “City of C(V)ulture” ของ ทรงวิทย์ สี่กิติกุล ซึ่งเล่าเรื่องสองมุมมองคู่ขนานกัน ระหว่างคนขับแท็กซี่ที่เพิ่งโกงเงินผู้โดยสาร กับหญิงสาวที่เพิ่งโดนมิจฉาชีพหลอก

ระหว่างคนที่รู้สึกว่า “ถึงจะมาจากต่างจังหวัด แต่ผมก็อยู่ที่นี่นานพอ... นานพอที่จะเป็นคนกรุงเทพฯ” กับคนที่รู้สึกว่า “ฉันอยู่กรุงเทพฯ มาตลอดชีวิต... เพิ่งจะรู้ว่า... ฉันยังรู้จักกรุงเทพฯ ไม่มากพอ...” เมื่อต้องมาพบกัน แล้วใครจะเป็นฝ่ายใจอ่อน

อีกด้านหนึ่ง เรื่อง “BKK © U” ของ ต้องการ ก็บอกเล่าความผูกพันต่อกรุงเทพฯ ของตัวละครหนุ่มสาวที่กำลังจะจากกัน ด้วยลายเส้นสะอาดตาชวนซาบซึ้ง

เรื่อง “Versus” ของ “The Duang” ก็บอกเล่าความสัมพันธ์ของตัวละครที่พบเจอกันในเกมออนไลน์ ด้วยลายเส้นที่หนักแน่นเด็ดขาด ท่ามกลางสภาพแวดล้อมยุ่งเหยิง ตัวละครได้มาพบกันโดยไม่รู้ตัวในเหตุการณ์ที่ไม่คาดหมาย

และเรื่องสุดท้ายคือ “ผมเกิดที่เยาวราช เธออยู่กับน้าที่ปากคลองฯ” ของ Summer เป็นการผูกเรื่องมาจากสิ่งของที่ผู้แต่งนำมาประกอบกันเป็นหุ่นรูปคน อันเป็นของประจำย่านการค้าต่างๆ เช่น เยาวราช วรจักร วังบูรพาฯ คลองถม พลับพลาไชย ปากคลองตลาด พาหุรัด สำเพ็ง ท่าพระจันทร์ พันธุ์ทิพย์พลาซ่า จตุจักร ข้าวของแต่ละอย่างก็สะท้อนสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่รองรับ

นักเขียนในกลุ่มนี้จะมีตัวตนที่โดดเด่น ทั้งลายเส้นและเรื่องเล่า ต่างกันไปตามลักษณะเฉพาะตัว เป็นผลผลิตที่น่าภูมิใจท่ามกลางเงื่อนไขปัจจัยเท่าที่พร้อม หรืออย่างน้อยก็เป็นการแสดงออกของความรักในสิ่งที่ตัวเองทำ.

[พิมพ์ครั้งแรก: Vote]

วันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

แปลกแยกเพื่อกลับคืน

ทรอย ชิน ศิลปินป่วนกรุง ภาค 1 (The Resident Tourist Part 1) / ทรอย ชิน (Troy Chin) - เขียน / พลพงศ์ จันทร์อัมพร – แปล / ฟรีฟอร์มสำนักพิมพ์, มีนาคม 2553

ทรอย ชิน ศิลปินป่วนกรุง ภาค 1 (The Resident Tourist Part 1) / ทรอย ชิน (Troy Chin) - เขียน / พลพงศ์ จันทร์อัมพร – แปล

ชีวิตสมัยใหม่ในสังคมทุนนิยมเห็นมนุษย์เป็นปัจจัยการผลิต การศึกษาและการทำงานก็เป็นไปเพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ มิติความเป็นมนุษย์ในด้านอื่นจึงถูกมองข้าม เมื่อการศึกษาและการทำงานกลายเป็นความกดดัน ทั้งยังไม่อาจเติมเต็มความรู้สึกทั้งหมด มนุษย์สมัยใหม่จึงเกิดอาการที่เรียกว่า “ความแปลกแยก” (alienation) เป็นความกระวนกระวายใจว่างโหวงไร้สาเหตุและไม่อาจคลี่คลาย นอกจากใช้สิ่งอื่นกลบเกลื่อนไปเรื่อยๆ แม้จะมีวิถีชีวิตที่เป็นแบบแผนก็ตาม เช่นนั้นเองยิ่งสังคมมีระบบการผลิตที่เปี่ยมประสิทธิภาพเพียงใด คนก็ยิ่งแปลกแยก และอยากกลับคืนสู่ความเป็นมนุษย์ของตน

แต่ความแปลกแยกก็เป็นวัตถุดิบสำคัญของงานวรรณกรรมและศิลปะสมัยใหม่ เพราะธรรมชาติมนุษย์ย่อมโหยหาจิตวิญญาณที่สมบูรณ์

สิงคโปร์เปรียบเหมือนเมืองหลวงของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้จะเป็นเพียงเกาะเล็กๆ ปลายแหลมมลายู แต่ก็เป็นเมืองท่ามาแต่โบราณ และวางตนเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจสืบเนื่องมา ทำให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางความเจริญในหลายๆ ด้าน

กระนั้นเราก็แทบจะไม่ได้รับรู้ความรู้สึกอันแท้จริงของคนสิงคโปร์มากนัก หากเทียบกับประเทศรายรอบซึ่งจะเห็นการแสดงออกทางวรรณกรรมและศิลปะมากกว่า จะพบเพียงความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคมที่แทบจะหารอยตำหนิด่างพร้อยไม่เจอ ภายใต้การปกครองที่เข้มงวดเคร่งครัด

การ์ตูนของ ทรอย ชิน (Troy Chin) จึงเป็นร่องรอยที่แฝงความขุ่นข้องหมองมัวอยู่ในลายเส้นและเรื่องราวที่เรียบง่าย

ทรอย ชิน ไม่ได้ประกอบอาชีพนักเขียนการ์ตูนมาตั้งแต่แรก เขาเคยทำงานอยู่ในธุรกิจดนตรีที่นิวยอร์กเกือบสิบปี ก่อนจะตัดสินใจหักดิบทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างกลับมายังสิงคโปร์เพื่อเริ่มหัดวาดการ์ตูน ทั้งที่เขาวาดรูปได้ไม่ดีนักตอนเป็นเด็ก

ลายเส้นของ ทรอย ชิน ไม่สมบูรณ์แบบเหมือนการ์ตูนญี่ปุ่น มันยังผิดส่วนไม่ลงตัว แต่จะเห็นความพยายามและตั้งใจมุ่งมั่น ความตั้งใจนั้นสอดรับอย่างสำคัญกับเรื่องราวของการขัดขืนสวนกระแสค่านิยมในสังคม แม้แต่ตัวเองก็ต้องฝืนทำในสิ่งที่ไม่ถนัดมาก่อน ความท้าทายที่จะเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่กลายเป็นความหลงใหลและตื่นเต้น ซึ่งพาให้ผู้อ่านตื่นตัวตามเขาไปด้วย

เนื้อหาในการ์ตูนของ ทรอย ชิน จัดอยู่ในประเภท “นิยายภาพ” (graphic novel) คือไม่ใช่การ์ตูนสำหรับเด็ก แต่เป็นการ์ตูนของผู้ใหญ่ นอกจากนี้สาระแห่งความเป็นมนุษย์ที่นำเสนอก็ลึกซึ้งเข้าขั้นวรรณกรรม

ความแปลกแยกในสังคมสมัยใหม่ทำให้มนุษย์ต้องกลับมาสำรวจการดำรงอยู่ของตน อันเป็นที่มาของปรัชญาและวรรณกรรมแบบ “อัตถิภาวนิยม” (existentialism) การกลับมาสิงคโปร์ของ ทรอย ชิน มิใช่เพราะคิดถึงของกินอย่างที่คนอื่นเข้าใจกัน แต่เพราะเขาอยากสำรวจตัวตนที่ติดค้าง จากความเป็นมาที่หล่อหลอมตัวเขา แม้ว่าสิ่งที่คุ้นเคยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จากความเจริญที่รุกล้ำไม่หยุดยั้ง และไม่สนใจความรู้สึกของใครทั้งนั้น

เปิดเรื่องมาก็จะเห็นความอึดอัดคับข้องของตัวละครที่เต็มไปด้วยความไม่ชอบ เขาไม่ชอบนั่งเครื่องบิน ไม่ชอบตอนเช้าๆ เพราะไม่ชอบเสียงนาฬิกาปลุก ไม่ชอบหิมะเพราะว่ามันสกปรก แม้อยากจะกระโดดแม่น้ำฮัดสัน แต่เขาก็ไม่ชอบความสกปรกของมัน เขาไม่ชอบกินลูกชิ้นเนื้อที่ใครๆ ก็ชอบกัน ไม่ชอบตราเมอร์ไลออนซึ่งเป็นสัญลักษณ์การท่องเที่ยวของสิงคโปร์บนปกซีดีเพลงวงโปรด

เขาไม่เคยพูดว่าชอบรองเท้ากีฬา เขาแค่ซื้อเอาไปใส่วิ่ง เหมือนเขาหาซื้อทีวีซีอาร์ทีที่เลิกขายกันแล้ว เพื่อเอาไปตะแคงเล่นเกม

เขาชอบไปย่านเก่าๆ เพื่อรำลึกถึงอดีต

การเป็นตัวของตัวเอง ไม่ยอมทำตามค่านิยมในสังคม ทำให้เขาโดนทักบ่อยครั้งว่า “เป็นคนสิงคโปร์หรือเปล่า” แม้แต่เพื่อนยังเรียกเขาว่าเป็นนักท่องเที่ยว (tourist) เพราะไม่ยอมทำงานเป็นหลักแหล่ง เฝ้าหมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่คนอื่นไม่เข้าใจ เขากลับมาบ้านเกิดเพื่อค้นหาอะไรบางอย่าง แต่กลับกลายเป็นนักท่องเที่ยวในประเทศของตัวเอง

การ์ตูนเรื่องนี้สะท้อนสังคมสิงคโปร์อย่างที่เป็น ตัวเอกก็เป็นคนสิงคโปร์เต็มตัวอย่างที่เขาตอบคนอื่น แม้พวกเขาจะรู้สึกว่า “ที่นี่น่าเบื่อจะตาย” เพราะบนเกาะเล็กๆ นั้นไม่มีอะไรให้น่าจดจำมากนัก นอกจากศูนย์อาหาร ห้างสรรพสินค้า ทุ่งหญ้าเพียงไม่กี่แห่ง วิถีชีวิตก็อยู่กับการทำงานและพักผ่อนด้วยการบริโภค แต่เมื่อเติมความเป็นมนุษย์ลงไปแล้ว แม้ความสัมพันธ์ผิวเผินกับสิ่งรอบข้างก็มีนัยยะชวนคิด

เรื่องของ ทรอย ชิน น่าจะต้องใจใครหลายคน โดยเฉพาะคนที่เติบโตมาในรุ่นราวคราวเดียวกัน มีประสบการณ์ทางอารมณ์ร่วมกัน ชอบเล่นเกม ชอบฟังเพลง ผูกพันกับข้าวของประดามีอยู่ในโลกส่วนตัว หรือทะเยอทะยานกับความสำเร็จในอาชีพการงาน แม้ตัวละครจะมีความคิดและพฤติกรรมแตกต่างจากคนอื่น แต่ก็ยังเห็นความเอาจริงเอาจังของเขา เรียกได้ว่าความท้าทายของเขาอยู่ระหว่างการวางแผนกับสิ่งที่ไม่อยู่เหนือการควบคุม เหมือนการเล่นเกมที่ไม่อาจเอาชนะ แต่ก็อาจจะได้พบกับสิ่งที่คาดไม่ถึง

“ถ้าคุณจงใจเปลี่ยนทิศทางขณะกำลังเดิน คุณอาจพบกับบางสิ่งที่ไม่คาดฝัน ไอศกรีมให้รสชาติดีกว่า ถึงแม้ว่าคุณจะไม่ชอบผลิตภัณฑ์จากนมก็ตาม”

ความฝันที่ติดค้างอยู่ในใจชวนให้ค้นหาคำตอบ ความสัมพันธ์และมิตรภาพช่วยคลายความโดดเดี่ยว ปลอบประโลมใจได้บ้าง แต่ก็คงไม่มีใครเข้าใจกันได้ทั้งหมด เพราะชีวิตก็คือเกมที่ต้องเล่นคนเดียว และถ้ามันจบแล้วก็ไม่อาจหยอดเหรียญเล่นต่อ ระบบเศรษฐกิจในสังคมทุนนิยมก็เหมือนกับเกมตู้ที่เร่งให้ทุกคนเล่นเร็ว และแน่นอนว่าไม่มีใครเอาชนะมันได้จริงๆ เลย

ตัวละครในลักษณะคนนอกสังคม ขบถต่อค่านิยมของคนส่วนมาก และซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกของตัวเอง เป็นตัวแบบที่พบเห็นได้เสมอในวรรณกรรม ภาพยนตร์ การ์ตูน หรือสื่ออื่นๆ เพียงแต่ต่างกันที่ประสบการณ์เฉพาะ ดังเช่นการ์ตูนของ ทรอย ชิน ที่กลั่นกรองมาจากการดำรงอยู่ของเขาเอง

เป็นสีสันของรายละเอียดที่แตกต่างตามภูมิหลังของสังคม แต่ช่วยต่อเติมความรู้สึกที่คล้ายกัน เพราะเนื้อแท้ในความโดดเดี่ยวของมนุษย์นั้นเหมือนกัน.

[พิมพ์ครั้งแรก: Vote]

วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2553

สังคมวิทยาในภาพยนตร์ศึกษา

โรงงานแห่งความฝัน สู่การวิจารณ์ภาพยนตร์สำนักบริบท / บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา / Public Bookery, พิมพ์ครั้งแรก กันยายน 2552

โรงงานแห่งความฝัน สู่การวิจารณ์ภาพยนตร์สำนักบริบท / บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา

นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนที่ได้รับการยอมรับนับถือประหนึ่งว่าเป็นอาจารย์ใหญ่อีกท่านหนึ่งในบ้านเรา คือ บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา และด้วยการศึกษาและสอนวิชาเกี่ยวกับภาพยนตร์ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งของสื่อสารมวลชนมายาวนานหลายสิบปี ทำให้เขาได้ชื่อว่าเป็นอาจารย์ใหญ่ในทางวิชาการของภาพยนตร์ศึกษาและการวิจารณ์ภาพยนตร์ในบ้านเราด้วย

หนังสือ “ฐานันดรที่สี่ จากระบบโลกถึงรัฐไทย” กลายเป็นตำราที่นักสื่อสารมวลชนควรจะอ่าน เช่นเดียวกับหนังสือ “ศิลปะแขนงที่เจ็ด เพื่อวัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์ภาพยนตร์” ก็เป็นตำราที่ผู้สนใจในภาพยนตร์และการวิจารณ์ภาพยนตร์ควรจะอ่านด้วย

หนังสือ “ศิลปะแขนงที่เจ็ดฯ” (ปี 2533) ถือเป็นหนังสือกึ่งวิชาการเล่มแรกๆ ในบ้านเราที่พยายามยืนยันคุณค่าของภาพยนตร์ในฐานะศิลปะแขนงหนึ่ง นอกเหนือจากความบันเทิงที่คนทั่วไปคุ้นเคย ด้วยน้ำหนักของหลักวิชาที่แน่นหนา ชวนให้พิเคราะห์ภาพยนตร์เป็นวัตถุแห่งการศึกษาที่ตีความและเรียนรู้ได้หลายแง่มุม

พอมาถึงหนังสือ “โรงงานแห่งความฝัน สู่การวิจารณ์ภาพยนตร์สำนักบริบท” อ.บุญรักษ์ ก็เน้นให้เห็นถึงคุณค่าของภาพยนตร์ในฐานะเอกสารทางสังคมมากขึ้น

“ว่ากันทางสังคมศาสตร์ ภาพยนตร์คือเอกสารทางสังคมชนิดหนึ่ง ในกระบวนการผลิตภาพยนตร์ พลังทางสังคมมากมาย นับตั้งแต่สัมพันธภาพระหว่างรัฐและชนชั้น จนกระทั่งความรู้สึกนึกคิดของปัจเจกชน ต่างก็เข้ามามีส่วนส่งผลกระทบต่อรูปลักษณ์ของภาพยนตร์อย่างพิสดารทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ ภาพยนตร์จึงเป็นเอกสารในทำนองเดียวกันกับหนังสือ” (หน้า 95)

จะว่าไปแล้วหนังสือเล่มนี้ก็เป็นภาคต่อของ “ศิลปะแขนงที่เจ็ดฯ” นั่นเอง คือรวบรวมเอกสารการสอนและบทความที่ อ.บุญรักษ์ เขียนขึ้นต่างกรรมต่างวาระกัน ตั้งแต่ปี 2534-2549 ร่วม 15 ปีที่มีหลายประเด็นต่อเนื่องมาจาก “ศิลปะแขนงที่เจ็ดฯ” ตามการพัฒนาของภาพยนตร์ทั้งในระดับสากลและในบ้านเราเอง เป็นช่วงยาวที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในธุรกิจภาพยนตร์ เทคนิคการถ่ายทำ และเนื้อหาที่สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคม

ยกตัวอย่างเช่นในวงการภาพยนตร์ไทย หนังสือเล่มนี้บันทึกสภาพการณ์และแสดงความคิดเห็น ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2530 ซึ่งภาพยนตร์ไทยตกอยู่ในสภาพ “ไปไม่ถึงไหน” และ “ตกอยู่ในฐานะที่ไม่แตกต่างจาก ‘ศิลปะพื้นบ้าน’ คล้ายๆ กับลิเก อันตกค้างมาจากวัฒนธรรมเก่า” (หน้า 81) จนมาถึงปลายทศวรรษ 2540 ซึ่งภาพยนตร์ไทยเป็นที่สนใจในตลาดต่างประเทศ และเริ่มประสบความสำเร็จในระดับโลกประปราย ทั้งในแง่การค้าและศิลปะ ดังเช่นหนังของ จา พนม และ อภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล เป็นต้น

จะเห็นข้อเสนอแนะของ อ.บุญรักษ์ เป็นลำดับ ตั้งแต่การเสนอให้ปฏิรูปธุรกิจภาพยนตร์ เพื่อให้เท่าทันกับความต้องการของตลาดใหม่ๆ ที่มีอำนาจในการซื้อ การเสนอให้ตั้งสถาบันภาพยนตร์ เพื่อเป็นแกนกลางในการแก้ปัญหาและกำหนดทิศทางในภาพรวม การชี้ให้เห็นถึงคุณค่าของการอนุรักษ์หนังเก่า ซึ่งถือเป็น “มรดกทางวัฒนธรรมของชาติ” ตลอดจนการชี้ให้เห็น “มูลค่า” ของงานสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมอย่างภาพยนตร์ในทางเศรษฐกิจ จนอาจกล่าวได้ว่า อ.บุญรักษ์ เป็นคนแรกๆ ที่พูดถึงเรื่อง Creative Economy มาตั้งแต่เมื่อสิบกว่าปีก่อน

“ศิลปะและวัฒนธรรมจะเป็นองค์ประกอบหลักในยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจการเมือง ทั้งนี้โดยยึดการเปิดรับศิลปะและวัฒนธรรมต่างประเทศอย่างเลือกสรร ประกอบกับการพัฒนาสัดส่วนที่งดงามใน “ความเป็นไทย” ขึ้นในกรอบของชาตินิยมก้าวหน้า (progressive nationalism) ซึ่งเป็นการผสมผสานของดีจากภายนอกและภายในอย่างรู้สึกตัว” (หน้า 105)

จนมาถึงข้อแนะนำในยุคภาพยนตร์ไทย “โก อินเตอร์”

“ผู้ผลิตภาพยนตร์ไทยสำหรับตลาดโลกยังจะต้องเสาะแสวงหาและผลิตองค์ความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของโลก ทวีป ภูมิภาค กลุ่มวัฒนธรรม และภาษาต่างๆ รวมทั้งข้อกฎหมายที่กำกับธุรกิจภาพยนตร์ในแต่ละตลาดเป็นอย่างดีด้วย / องค์ความรู้ประเภทนี้คือ ‘กรอบแห่งการอ้างอิง’” (หน้า 113)

ภาคที่หนึ่งของหนังสือ เป็นเรื่องของ “โครงสร้าง นโยบาย และบทวิเคราะห์ภาพยนตร์ไทย” ภาคที่สอง เป็นประสบการณ์จาก “บางกระแสในภาพยนตร์ระหว่างประเทศ” ตั้งแต่บทบาทของฮอลลีวูดในฐานะเจ้าโลก กินส่วนแบ่งตลาดภาพยนตร์ทั่วโลกกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ นับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา จนกล่าวได้ว่า “โรงงานแห่งความฝัน” เหล่านี้เป็นอุสาหกรรมชั้นนำของสหรัฐอเมริกา และเป็นสินค้าส่งออกข้ามชาติที่ก่อรายได้มหาศาล จนภาพยนตร์สัญชาติอื่นไม่อาจเทียบเทียม

นอกจากนี้ค่านิยมตามความฝันแบบอเมริกันยังแพร่หลายไปทั่วโลกผ่านทางภาพยนตร์ฮอลลีวูดด้วย จนไปมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมสมัยใหม่ในสังคมต่างๆ ไม่น้อย

กระนั้นก็ยังมีหนังบางประเภทที่คัดง้างกับค่านิยมกระแสหลัก ซึ่งดูจะเป็นหนังที่ อ.บุญรักษ์ ชอบที่จะวิเคราะห์เป็นพิเศษ ดังตัวอย่างของหนังที่เลือกมาเขียนถึงในส่วนหลังของหนังสือ นอกจากจะให้ข้อมูลของหนังและผู้กำกับโดยสังเขปแล้ว ยังจะได้รู้ถึงบริบททางสังคมที่เกี่ยวข้อง ดังที่ อ.บุญรักษ์ เรียกว่าเป็นการวิจารณ์ภาพยนตร์สำนักบริบท (contextual criticism) ซึ่งมุ่งสำรวจตีความภาพยนตร์แต่ละเรื่องตามสายใยความสัมพันธ์ที่แวดล้อมอยู่ในหลายระดับความหมาย ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคมและเศรษฐกิจการเมืองที่ผู้เขียนมีความสนใจอยู่เป็นพื้นฐาน

จาก “ความเบื้องต้น” อ.บุญรักษ์ ได้เรียบเรียงให้มองเห็นพัฒนาการไว้ก่อนแล้วว่า การวิจารณ์ภาพยนตร์เริ่มจากตัวบทก่อน จากนักวิจารณ์ในตระกูลวารสารศาสตร์ที่รายงานและปริทัศน์ภาพยนตร์เป็นคู่มือการบริโภคในหน้าสื่อสิ่งพิมพ์ ต่อมาก็เกิดนักวิจารณ์ในตระกูลมนุษยนิยม ซึ่งเริ่มวิเคราะห์หนังอย่างเอาจริงเอาจังมากขึ้น และมีหลักในการประเมินคุณค่าบ้างแล้ว

พอเข้าสู่ยุค 60-70 การศึกษาภาพยนตร์อย่างเป็นวิชาการก็เริ่มแพร่หลายไปในหลายมหาวิทยาลัย ส่งผลให้เกิดทฤษฎีเกี่ยวกับภาพยนตร์ขึ้นมากมาย ส่วนหนึ่งก็พัฒนามาเป็นการวิจารณ์สำนักบริบท ซึ่งใช้ความรู้หลากหลายสาขามาทำความเข้าใจภาพยนตร์ เพื่อให้เข้าใจมิติทางสังคมที่เกี่ยวข้องมากขึ้น

บริบทเหล่านี้ช่วยทำให้เห็นว่าหนังก็เป็นบ่อเกิดของการเติบโตทางสติปัญญาได้อีกทางหนึ่ง.

[พิมพ์ครั้งแรก: Vote]