วันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

แปลกแยกเพื่อกลับคืน

ทรอย ชิน ศิลปินป่วนกรุง ภาค 1 (The Resident Tourist Part 1) / ทรอย ชิน (Troy Chin) - เขียน / พลพงศ์ จันทร์อัมพร – แปล / ฟรีฟอร์มสำนักพิมพ์, มีนาคม 2553

ทรอย ชิน ศิลปินป่วนกรุง ภาค 1 (The Resident Tourist Part 1) / ทรอย ชิน (Troy Chin) - เขียน / พลพงศ์ จันทร์อัมพร – แปล

ชีวิตสมัยใหม่ในสังคมทุนนิยมเห็นมนุษย์เป็นปัจจัยการผลิต การศึกษาและการทำงานก็เป็นไปเพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ มิติความเป็นมนุษย์ในด้านอื่นจึงถูกมองข้าม เมื่อการศึกษาและการทำงานกลายเป็นความกดดัน ทั้งยังไม่อาจเติมเต็มความรู้สึกทั้งหมด มนุษย์สมัยใหม่จึงเกิดอาการที่เรียกว่า “ความแปลกแยก” (alienation) เป็นความกระวนกระวายใจว่างโหวงไร้สาเหตุและไม่อาจคลี่คลาย นอกจากใช้สิ่งอื่นกลบเกลื่อนไปเรื่อยๆ แม้จะมีวิถีชีวิตที่เป็นแบบแผนก็ตาม เช่นนั้นเองยิ่งสังคมมีระบบการผลิตที่เปี่ยมประสิทธิภาพเพียงใด คนก็ยิ่งแปลกแยก และอยากกลับคืนสู่ความเป็นมนุษย์ของตน

แต่ความแปลกแยกก็เป็นวัตถุดิบสำคัญของงานวรรณกรรมและศิลปะสมัยใหม่ เพราะธรรมชาติมนุษย์ย่อมโหยหาจิตวิญญาณที่สมบูรณ์

สิงคโปร์เปรียบเหมือนเมืองหลวงของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้จะเป็นเพียงเกาะเล็กๆ ปลายแหลมมลายู แต่ก็เป็นเมืองท่ามาแต่โบราณ และวางตนเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจสืบเนื่องมา ทำให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางความเจริญในหลายๆ ด้าน

กระนั้นเราก็แทบจะไม่ได้รับรู้ความรู้สึกอันแท้จริงของคนสิงคโปร์มากนัก หากเทียบกับประเทศรายรอบซึ่งจะเห็นการแสดงออกทางวรรณกรรมและศิลปะมากกว่า จะพบเพียงความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคมที่แทบจะหารอยตำหนิด่างพร้อยไม่เจอ ภายใต้การปกครองที่เข้มงวดเคร่งครัด

การ์ตูนของ ทรอย ชิน (Troy Chin) จึงเป็นร่องรอยที่แฝงความขุ่นข้องหมองมัวอยู่ในลายเส้นและเรื่องราวที่เรียบง่าย

ทรอย ชิน ไม่ได้ประกอบอาชีพนักเขียนการ์ตูนมาตั้งแต่แรก เขาเคยทำงานอยู่ในธุรกิจดนตรีที่นิวยอร์กเกือบสิบปี ก่อนจะตัดสินใจหักดิบทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างกลับมายังสิงคโปร์เพื่อเริ่มหัดวาดการ์ตูน ทั้งที่เขาวาดรูปได้ไม่ดีนักตอนเป็นเด็ก

ลายเส้นของ ทรอย ชิน ไม่สมบูรณ์แบบเหมือนการ์ตูนญี่ปุ่น มันยังผิดส่วนไม่ลงตัว แต่จะเห็นความพยายามและตั้งใจมุ่งมั่น ความตั้งใจนั้นสอดรับอย่างสำคัญกับเรื่องราวของการขัดขืนสวนกระแสค่านิยมในสังคม แม้แต่ตัวเองก็ต้องฝืนทำในสิ่งที่ไม่ถนัดมาก่อน ความท้าทายที่จะเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่กลายเป็นความหลงใหลและตื่นเต้น ซึ่งพาให้ผู้อ่านตื่นตัวตามเขาไปด้วย

เนื้อหาในการ์ตูนของ ทรอย ชิน จัดอยู่ในประเภท “นิยายภาพ” (graphic novel) คือไม่ใช่การ์ตูนสำหรับเด็ก แต่เป็นการ์ตูนของผู้ใหญ่ นอกจากนี้สาระแห่งความเป็นมนุษย์ที่นำเสนอก็ลึกซึ้งเข้าขั้นวรรณกรรม

ความแปลกแยกในสังคมสมัยใหม่ทำให้มนุษย์ต้องกลับมาสำรวจการดำรงอยู่ของตน อันเป็นที่มาของปรัชญาและวรรณกรรมแบบ “อัตถิภาวนิยม” (existentialism) การกลับมาสิงคโปร์ของ ทรอย ชิน มิใช่เพราะคิดถึงของกินอย่างที่คนอื่นเข้าใจกัน แต่เพราะเขาอยากสำรวจตัวตนที่ติดค้าง จากความเป็นมาที่หล่อหลอมตัวเขา แม้ว่าสิ่งที่คุ้นเคยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จากความเจริญที่รุกล้ำไม่หยุดยั้ง และไม่สนใจความรู้สึกของใครทั้งนั้น

เปิดเรื่องมาก็จะเห็นความอึดอัดคับข้องของตัวละครที่เต็มไปด้วยความไม่ชอบ เขาไม่ชอบนั่งเครื่องบิน ไม่ชอบตอนเช้าๆ เพราะไม่ชอบเสียงนาฬิกาปลุก ไม่ชอบหิมะเพราะว่ามันสกปรก แม้อยากจะกระโดดแม่น้ำฮัดสัน แต่เขาก็ไม่ชอบความสกปรกของมัน เขาไม่ชอบกินลูกชิ้นเนื้อที่ใครๆ ก็ชอบกัน ไม่ชอบตราเมอร์ไลออนซึ่งเป็นสัญลักษณ์การท่องเที่ยวของสิงคโปร์บนปกซีดีเพลงวงโปรด

เขาไม่เคยพูดว่าชอบรองเท้ากีฬา เขาแค่ซื้อเอาไปใส่วิ่ง เหมือนเขาหาซื้อทีวีซีอาร์ทีที่เลิกขายกันแล้ว เพื่อเอาไปตะแคงเล่นเกม

เขาชอบไปย่านเก่าๆ เพื่อรำลึกถึงอดีต

การเป็นตัวของตัวเอง ไม่ยอมทำตามค่านิยมในสังคม ทำให้เขาโดนทักบ่อยครั้งว่า “เป็นคนสิงคโปร์หรือเปล่า” แม้แต่เพื่อนยังเรียกเขาว่าเป็นนักท่องเที่ยว (tourist) เพราะไม่ยอมทำงานเป็นหลักแหล่ง เฝ้าหมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่คนอื่นไม่เข้าใจ เขากลับมาบ้านเกิดเพื่อค้นหาอะไรบางอย่าง แต่กลับกลายเป็นนักท่องเที่ยวในประเทศของตัวเอง

การ์ตูนเรื่องนี้สะท้อนสังคมสิงคโปร์อย่างที่เป็น ตัวเอกก็เป็นคนสิงคโปร์เต็มตัวอย่างที่เขาตอบคนอื่น แม้พวกเขาจะรู้สึกว่า “ที่นี่น่าเบื่อจะตาย” เพราะบนเกาะเล็กๆ นั้นไม่มีอะไรให้น่าจดจำมากนัก นอกจากศูนย์อาหาร ห้างสรรพสินค้า ทุ่งหญ้าเพียงไม่กี่แห่ง วิถีชีวิตก็อยู่กับการทำงานและพักผ่อนด้วยการบริโภค แต่เมื่อเติมความเป็นมนุษย์ลงไปแล้ว แม้ความสัมพันธ์ผิวเผินกับสิ่งรอบข้างก็มีนัยยะชวนคิด

เรื่องของ ทรอย ชิน น่าจะต้องใจใครหลายคน โดยเฉพาะคนที่เติบโตมาในรุ่นราวคราวเดียวกัน มีประสบการณ์ทางอารมณ์ร่วมกัน ชอบเล่นเกม ชอบฟังเพลง ผูกพันกับข้าวของประดามีอยู่ในโลกส่วนตัว หรือทะเยอทะยานกับความสำเร็จในอาชีพการงาน แม้ตัวละครจะมีความคิดและพฤติกรรมแตกต่างจากคนอื่น แต่ก็ยังเห็นความเอาจริงเอาจังของเขา เรียกได้ว่าความท้าทายของเขาอยู่ระหว่างการวางแผนกับสิ่งที่ไม่อยู่เหนือการควบคุม เหมือนการเล่นเกมที่ไม่อาจเอาชนะ แต่ก็อาจจะได้พบกับสิ่งที่คาดไม่ถึง

“ถ้าคุณจงใจเปลี่ยนทิศทางขณะกำลังเดิน คุณอาจพบกับบางสิ่งที่ไม่คาดฝัน ไอศกรีมให้รสชาติดีกว่า ถึงแม้ว่าคุณจะไม่ชอบผลิตภัณฑ์จากนมก็ตาม”

ความฝันที่ติดค้างอยู่ในใจชวนให้ค้นหาคำตอบ ความสัมพันธ์และมิตรภาพช่วยคลายความโดดเดี่ยว ปลอบประโลมใจได้บ้าง แต่ก็คงไม่มีใครเข้าใจกันได้ทั้งหมด เพราะชีวิตก็คือเกมที่ต้องเล่นคนเดียว และถ้ามันจบแล้วก็ไม่อาจหยอดเหรียญเล่นต่อ ระบบเศรษฐกิจในสังคมทุนนิยมก็เหมือนกับเกมตู้ที่เร่งให้ทุกคนเล่นเร็ว และแน่นอนว่าไม่มีใครเอาชนะมันได้จริงๆ เลย

ตัวละครในลักษณะคนนอกสังคม ขบถต่อค่านิยมของคนส่วนมาก และซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกของตัวเอง เป็นตัวแบบที่พบเห็นได้เสมอในวรรณกรรม ภาพยนตร์ การ์ตูน หรือสื่ออื่นๆ เพียงแต่ต่างกันที่ประสบการณ์เฉพาะ ดังเช่นการ์ตูนของ ทรอย ชิน ที่กลั่นกรองมาจากการดำรงอยู่ของเขาเอง

เป็นสีสันของรายละเอียดที่แตกต่างตามภูมิหลังของสังคม แต่ช่วยต่อเติมความรู้สึกที่คล้ายกัน เพราะเนื้อแท้ในความโดดเดี่ยวของมนุษย์นั้นเหมือนกัน.

[พิมพ์ครั้งแรก: Vote]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น