วันศุกร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2554

Samsara : จริตและเพทนาการในภาพถ่ายแฟชั่นร่วมสมัย

Samsara: The beauty of Birth, Death and Everything else in between (repeat) / หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร / 18 กุมภาพันธ์ – 10 เมษายน 2554

“eyes of god” ธนนนท์ ธนากรกานต์

[“eyes of god” ธนนนท์ ธนากรกานต์]

หนึ่งในกิจกรรมที่น่าสนใจของเทศกาลวัฒนธรรมฝรั่งเศสหรือ “LA FETE” ประจำปีนี้คือ “Fashion3” รวมนิทรรศการภาพถ่ายแฟชั่น 3 หัวข้อ อันได้แก่ “Fashion Story(ies)” ภาพถ่ายแฟชั่นของ 4 ช่างภาพ ฌองมารี เปรีเย่ร์, เฌราด์ อูเฟร่าด์, ฟรองซวส อุ๊กกีเย่ และดีเรก ฮัดสัน สะท้อนโลกแฟชั่นฝรั่งเศสทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง, “Moonlight” ภาพถ่ายแฟชั่นของ ฌอง ฟรองซัว เลอปาจ ช่างภาพที่มีลักษณะเฉพาะตัวอันโดดเด่น และ “Samsara” ภาพถ่ายแฟชั่นของ 11 ช่างภาพชั้นนำของไทย

แฟชั่นเป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรมที่ขึ้นหน้าขึ้นตาของฝรั่งเศส โดยเฉพาะแฟชั่นชั้นสูง ความก้าวล้ำในองคาพยพของวงการแฟชั่นโลกล้วนรวมศูนย์อยู่ที่นั่น รวมถึงการถ่ายภาพแฟชั่น ซึ่งยังคงเป็นสื่อหลักที่จำเป็นในการขับเน้นความงามของภาพลักษณ์และการออกแบบ ภาพถ่ายแฟชั่นมิเพียงสนองประโยชน์ในวงการแฟชั่น แต่ยังสะท้อนคตินิยมและยุคสมัย รวมทั้งทักษะ กลวิธี และกระบวนแบบทางศิลปะ

หากเปรียบเทียบจากผลงานที่แสดงในนิทรรศการ จะเห็นว่าช่างภาพไทยมีความสามารถไม่แพ้ช่างภาพในระดับสากล ทั้งฝีมือและความคิด จะต่างกันเพียงขนาดของอุตสาหกรรมที่เล็กกว่า การแข่งขันและแรงกดดันน้อยกว่า แต่การเชื่อมโยงถึงกันของการสื่อสารในยุคโลกาภิวัตน์ช่วง 10 ปีหลัง ทำให้ช่างภาพไทยต้องยกระดับตัวเองไปสู่มาตรฐานสากลด้วย

งานนิทรรศการ “Samsara: The beauty of Birth, Death and Everything else in between (repeat)” มี จิรวัฒน์ ศรีเลื่อนสร้อย บรรณาธิการแฟชั่นนิตยสาร LIPS เป็นภัณฑรักษ์คัดเลือกผลงาน ส่วนช่างภาพประกอบด้วย ศักดิ์ชัย กาย, ณัฐ ประกอบสันติสุข, พันธ์สิริ สิริเวชชะพันธ์, ธาดา วารีช, สุรัตน์ จริยวัฒนวิจิตร, กรกฤช เจียรพินิจนันท์, เทริดไทร วิทย์วรสกุล, สุรศักดิ์ อิทธิฤทธ์, ธนนนท์ ธนากรกานต์, จุฑารัตน์ พรมุณีสุนทร และเบญญา เฮเกนบาต

เห็นรายชื่อแล้วจะอยู่ในกลุ่มช่างภาพรุ่นใหม่ขึ้นไปถึงรุ่นกลาง ซึ่งมีแนวทางการทำงานที่แปลกใหม่ก้าวหน้าเสียส่วนมาก การแสดงงานเช่นนี้เปิดโอกาสให้ช่างภาพได้แสดงออกตามความสนใจของตน นอกเหนือจากงานประจำ หัวข้อ “Samsara” หรือ “ความงามแห่งวัฏชีวิต” ท้าทายให้ขบคิดและตีความ ซึ่งแต่ละคนได้นำเสนอด้วยรูปแบบและวิธีการที่ต่างกัน รวมทั้งการติดตั้งจัดวาง

อย่าง ศักดิ์ชัย กาย ก็ถ่ายภาพดอกไม้ตามความชอบ เล่นกับสีและรูปทรงของดอกไม้กับนางแบบ โดยแต่งเติมนางแบบให้ละม้ายดอกไม้ เป็นแฟนซีที่ตกแต่งมนุษย์ให้คล้ายธรรมชาติ จนเป็นจินตภาพที่ประหลาดมหัศจรรย์

ภาพถ่ายของ ณัฐ ประกอบสันติสุข เป็นมโนภาพแบบแฟนตาซีที่แสดงวัฏจักรของชีวิตตั้งแต่วัยสาวจนร่วงโรย ผ่านภาพนางแบบ 3 วัยในกิริยาลอยคว้างกลางอากาศเป็นวงกลม แปลกตาด้วยเป็นท่วงท่าที่ขัดกับแรงดึงดูดของโลกตามพื้นฐานความเป็นจริง

ส่วน พันธ์สิริ สิริเวชชะพันธ์ ใช้ฟิล์มเอกซเรย์ถ่ายภาพตัวแบบที่แต่งองค์ทรงเครื่อง แต่ก็เห็นเพียงวัตถุที่ตกแต่งและโครงสร้างกระดูกอันเป็นแก่นสารที่ปรากฏ ไม่ได้เห็นเนื้อหนังเป็นตัวตนขึ้นมา

ธาดา วารีช ถ่ายภาพนามธรรมที่ดูพิลึกไม่รู้ว่าเป็นอะไร แต่ก็แสดงพลังการเคลื่อนไหวของสิ่งที่เหมือนจะมีชีวิต เป็นการดิ้นรนของการเกิดหรือความตายก็ได้ทั้งนั้น

งานของ สุรัตน์ จริยวัฒนวิจิตร แสดงความดิบเถื่อนของวัตถุที่เสื่อมสลาย ผ่านบรรยากาศอันคลุมเครือ และพื้นผิวผุกร่อนหยาบกระด้าง ตัดกับเรือนร่างนางแบบที่เป็นตัวแทนของชีวิต

วิธีการถ่ายภาพของ กรกฤช เจียรพินิจนันท์ ต่างออกไป เป็นการจับจังหวะแบบฉับพลัน เพื่อบันทึกอากัปกิริยาในชั่วขณะอันตราตรึง

ส่วน เทริดไทร วิทย์วรสกุล จะบันทึกความจริงและสิ่งที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน เป็นความงามในสารัตถะที่ปรากฏอย่างตรงไปตรงมา

ขณะที่ สุรศักดิ์ อิทธิฤทธ์ นำเสนอด้วยการใช้เทคนิคซ้อนภาพรูปทรงตัวแบบเข้ากับภาพพื้นผิวแตกลอก แสดงความงามในความเสื่อมสลายไม่คงทน และความอาวรณ์ในสิ่งที่กำลังเลือนหาย

ช่างภาพรุ่นใหม่อีกคน ธนนนท์ ธนากรกานต์ ทดลองเล่นกับมุมมองรอบด้าน ประกอบแต่ละภาพเป็นภาพใหญ่ที่แผ่การมองเห็นโดยรอบ 360 องศา ปอกเปลือกโลกให้เห็นธรรมชาติของพื้นดินแห้งแล้งไร้พืชปกคลุม ต้นไม้ที่ตัดเป็นท่อนๆ ว่างกระจัดกระจาย และรูปร่างของนางแบบปะปนอยู่กับท่อนไม้เปลือย

ขณะที่ จุฑารัตน์ พรมุณีสุนทร ประทับใจกับเส้นผมที่เริ่มมีสีเทา-ขาวปะปน และเส้นไหมสีขาวจากเครื่องจักรที่มาโพกพันศีรษะนางแบบในบรรยากาศเหนือจริง ชวนให้ฉุกคิดและจินตนาการ

ส่วน เบญญา เฮเกนบาต เลือกเสนอภาพรูปทรงนางแบบในลักษณะย้อนแสง เพื่อให้เห็นเส้นสายรอบนอกของเค้าโครงอันงดงามของเรือนร่างและเครื่องประดับ

สาระในภาพถ่ายแฟชั่นเป็นเรื่องของภาพลักษณ์ สิ่งที่ช่างภาพถ่ายทอดก็คือคุณลักษณะของวัตถุที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย นางแบบ หรือฉากหลัง ล้วนถูกมองในฐานะวัตถุแห่งความงาม เรียกได้ว่าผ่านการมองจากสายตาที่ตกแต่งจริตแล้ว มิใช่ภาพถ่ายที่ต้องการแสดงความเป็นจริงอย่างในภาพข่าวหรือสารคดี สิ่งที่จะวัดความสามารถของช่างภาพแฟชั่นจึงอยู่ที่การมองเห็นภาพลักษณ์อันแปลกใหม่และน่าตราตรึง ประกอบกับทักษะฝีมือและเทคนิคการสร้างสรรค์

กล่าวได้ว่าความงามในภาพถ่ายแฟชั่นคือการเน้นรูปลักษณ์เด่นชัด แม้จะไม่สมจริง เพราะเกิดจากการตกแต่งขับเน้นเกินพอดีในคติแบบจริตนิยม (mannerism) ดังเช่นการวางท่าของนางแบบ ซึ่งต้องการแสดงให้เห็นความน่าสนใจของเสื้อผ้า หรือเพื่อดึงดูดสายตา มากกว่าที่จะเป็นท่วงท่าหรือกิริยาที่ปฏิบัติในชีวิตจริง ความรู้สึกที่ได้รับจึงออกไปทางเพ้อฝัน เร้าความสนใจ และต้องการความแปลกใหม่อยู่เสมอ

เมื่อนำกระบวนแบบดังกล่าวมาถ่ายทอดเนื้อสารจริงจังอย่างวัฏจักรชีวิต ความขัดแย้งกันของรูปแบบภายนอกที่ปรุงแต่งอย่างโฉบเฉี่ยวกับสัจธรรมของสรรพสิ่งที่ต้องผันแปรเสื่อมสลายไม่คงทน ตัดกันอย่างรุนแรงในการรับรู้สัมผัส เมื่อปลดเอาประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ออกชั่วคราว ภาพถ่ายแฟชั่นกลับกะเทาะเปลือกมายาคติในวงการแฟชั่นด้วยคุณสมบัติของตัวมันเอง และแสดงอนิจจังของชีวิตผ่านภาพลักษณ์อันเปราะบาง

ภาพถ่ายแฟชั่นจึงมิเพียงสนองประโยชน์ในวงการแฟชั่น แต่ทักษะ วิธีคิด และกระบวนแบบทางศิลปะของมัน ยังสร้างสรรค์คุณค่าในหลายด้านได้มากกว่านั้น.

[พิมพ์ครั้งแรก: Vote]