วันจันทร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2551

81 ปี ยังอลังการ : อังคาร กัลยาณพงศ์

อังคาร  กัลยาณพงศ์, “กนกฟ้อน” ปี 2543, ชาร์โคล์บนกระดาษ 54.5 x 79 ซม.

[อังคาร กัลยาณพงศ์, “กนกฟ้อน” ปี 2543, ชาร์โคล์บนกระดาษ 54.5 x 79 ซม.]

อังคาร  กัลยาณพงศ์, “กนกฟ่ายฟ้อน 4” ปี 2550, ชาร์โคล์บนกระดาษ 39.5 x 54.5 ซม.

[อังคาร กัลยาณพงศ์, “กนกฟ่ายฟ้อน 4” ปี 2550, ชาร์โคล์บนกระดาษ 39.5 x 54.5 ซม.]

อัจฉริยภาพทางกวีและศิลปะของ อังคาร กัลยาณพงศ์ เจาะทะลุเพดานของความเป็นเลิศมาตั้งแต่หนุ่ม และยังคงความวิเศษมหัศจรรย์นั้นมาโดยตลอด แม้จะดูเหมือนว่าเขาชอบใช้จินตภาพที่ซ้ำเดิม แต่กระบวนแบบทางศิลปะที่เข้าถึงความสมบูรณ์แล้วระดับหนึ่ง อาจไม่ต้องเปลี่ยนรูปลักษณ์มากนัก และเพียงปรับรายละเอียดให้เหมาะกับเจตนาของแต่ละงาน

สำคัญตรงการทำซ้ำนั้นเป็นเพียงผลผลิตของความชำนาญอย่างช่างฝีมือ หรือมีชีวิตเคลื่อนไหวอันเป็นผลมาจากปฏิกิริยาระหว่างศิลปินกับกาลเทศะที่อยู่รายรอบตัวเขา

หากติดตามงานของอังคารในช่วงเวลาต่างๆ จะพบว่า ร่องรอยนั้นแตกต่างกัน ตัว “กนก” ของเขาแต่ละช่อจะฟ่ายฟ้อนไปในจังหวะลีลาของเส้นและน้ำหนักที่ไม่เหมือนกันทั้งหมด แต่ยังคงมีพลังน่าตื่นตาตื่นใจเหมือนเดิม เช่นเดียวกับดอกกุหลาบที่มีรูปทรงเหมือนกัน แต่มีความพิเศษแตกต่างกันไปในแต่ละดอก

หรือเขาอาจจะชอบวาดภาพผู้หญิงที่มีโครงหน้าและสัดส่วนแฝงกลิ่นอายศิลปะพื้นบ้านทางภาคใต้เหมือนเคย แต่ภาพผู้หญิงของอังคารในวัยที่เป็นหนุ่มฉกรรจ์นั้นมีหลายหน้าซ้อนกัน และมีตาเป็นเพชร คิ้วเป็นหนอน ปากเป็นปลา ผมเป็นรังนก ตุ้มหูเป็นงู สวมเสื้อปิดทองคำเปลว และมีเห็บเหาไต่อยู่ตามใบหน้าเผ้าผม แต่ภาพผู้หญิงในปัจจุบันจะเป็น “สุภาพสตรี-ปลูกดอกไม้ในดวงใจ” เสียมากกว่า หรือไม่ก็เป็นภาพ “ไม้เท้าผู้เฒ่าปรารถนาเป็นลูกสาว” แม้จะวาดภาพ “ผู้หญิงสัปรส” บ้าง แต่ก็ด้วยน้ำเสียงสั่งสอนมากกว่าประณาม

อาจจะมีข้อสังเกตในเชิงเสียดายบ้าง ว่าอังคารไม่ได้ใช้ความเป็นเลิศของเขาทำงานใหญ่ไว้เลย อย่างงานจิตรกรรมส่วนใหญ่ก็มักจะวาดด้วยแท่งถ่านเกรยองหรือชาร์โคล์บนกระดาษ แม้เขาจะเขียนสีได้ยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน ดังงานจิตรกรรมฝาผนังที่ทำไว้สองสามแห่ง หรือกวีนิพนธ์ก็ไม่มีผลงานที่จำหลักภูมิปัญญาของเขาขึ้นเป็นมหาวิหารไว้เช่นกัน เพียงแสดงฝีมือเป็นชิ้นๆ แล้วนำมารวบรวมกันในภายหลัง

อันที่จริงศิลปินและกวีของบ้านเราก็ไม่ค่อยมีใครทำอะไรใหญ่โตนัก เคยมีหลายคนวิเคราะห์ว่าเพราะสังคมไทยชอบอยู่กันอย่างสบายๆ มากกว่า และไม่ค่อยมีความขัดแย้งที่หนักหนารุนแรงจนกดดันให้ศิลปินต้องทะเยอทะยานสร้างงานอันยิ่งใหญ่ขึ้นมา อย่างงานสถาปัตยกรรมทางศาสนาของเราก็ไม่ได้มีโครงสร้างโอฬารเหมือนปราสาทหินของเขมร หรือไม่ได้แข่งกันสร้างเจดีย์ใหญ่จนเต็มทุ่งเหมือนพม่า เราเพียงแสดงความงามทางอุดมคติผ่านการประดับประดาและเส้นสายโค้งอ่อน ซึ่งไม่ได้มีคุณค่าทางสุนทรียภาพที่ด้อยกว่าเลย การเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ของเราก็ไม่ได้ผ่านประวัติศาสตร์แห่งความเจ็บปวดทั้งสังคมเหมือนอีกหลายประเทศ ความขัดแย้งทางปรัชญาที่ต้องใช้ปัญญาขบคิดก็ไม่ค่อยปรากฏ เพราะดูเหมือนว่าพุทธศาสนาจะมีคำตอบครอบคลุมทุกอย่างไว้อยู่แล้ว

เพราะฉะนั้นศิลปินของเราจึงมักจะแสดงความเป็นเลิศผ่านเรื่องปลีกย่อย แต่ในโอกาสพิเศษก็สามารถสร้างงานที่สำคัญได้เหมือนกัน อย่างไรก็ตามความงามคงไม่ได้อยู่ตรงขนาดหรือวัสดุภายนอก เพียงเส้นไม่กี่เส้น หรือคำไม่กี่คำ ย่อมบ่งบอกถึงความเลิศล้ำได้แล้ว

อย่าง อังคาร กัลยาณพงศ์ ต้องถือว่าเป็นศิลปินทั้งชีวิตเลยทีเดียว เพียงถ้อยคำสนทนาของเขาก็เต็มไปด้วยโวหารความเปรียบน่าตื่นตะลึง จากพื้นฐานความรู้อันหนักแน่น การแสดงออกในที่สาธารณะด้วยความบริสุทธิ์ใจหลายครั้งก็มีนัยยะทางศิลปะ เพราะถูกกระตุ้นด้วยความรู้สึกเชิงสุนทรียะ หรือต้องการกระตุ้นปัญญาของผู้อื่น ซึ่งอาจจะเทียบได้กับศิลปะแบบ “เพอร์ฟอร์มานซ์” ในสมัยหลัง

และเหนืออื่นใดคือน้ำจิตน้ำใจของเขา การทุ่มเททั้งชีวิตให้กับการศึกษาและทำงานศิลปะอย่างจริงจัง เสมือนนักบวชเคร่งครัดกับวัตรปฏิบัติ ด้วยเป้าหมายเพื่อสร้างสิ่งที่ดีงามประดับไว้ให้กับโลก เหมือนการบานของดอกไม้ตามธรรมชาติ แม้วิถีแห่งศิลปินในประเทศนี้จะออกไปทางกันดารมากกว่าสะดวกสบายก็ตาม

ทั้งนี้เพราะคำว่า “ศิลปะ” ของ อังคาร กัลยาณพงศ์ เจาะทะลุนิยามแบบสมัยใหม่ไปผสานกับความหมายดั้งเดิมที่เป็นมาแต่โบราณด้วย นิยามของศิลปะในกระแสนิยมบางสไตล์อาจมีอายุแค่ไม่กี่สิบปี นิยามของศิลปะสมัยใหม่ก็มีอายุไม่กี่ร้อยปีเท่านั้น และโดยแนวโน้มแล้ววันหนึ่งมันจะต้องไหลเนื่องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของมหาสมุทรแห่งอารยธรรมที่หล่อเลี้ยงมนุษย์มาหลายพันปีก่อน เพราะเป็นสาระที่จริงแท้มากกว่า อธิบายตามภาพพจน์ของบางศาสนาก็คือ ถึงที่สุดแล้วศิลปินอาจจะต้องขยายตัวตนในฐานะปัจเจกบุคคลไปสู่ตัวตนที่กว้างใหญ่กว่านั้น หรือจากอัตตาไปสู่เอกภพ ซึ่งอาจจะหมายถึงความเป็นมนุษย์ทั้งหมด ความเป็นธรรมชาติ หรือสัจธรรมที่แสดงผ่านสัญลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะศิลปะสมัยใหม่ให้ความสำคัญกับความเป็นปัจเจกของศิลปินมากเกิน และการเป็นหน่วยย่อยแยกโดดเดี่ยวก็ทำให้ตีบตันวนเวียนอยู่ที่เดิมได้ง่าย ขณะที่การสร้างสรรค์ไม่ได้เกิดจากตัวบุคคลตามลำพัง และตัดขาดจากสิ่งอื่น แต่เป็นผลมาจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างศิลปินกับสิ่งที่แวดล้อมอยู่รายรอบตัวเขา นอกจากนี้การหมกมุ่นอยู่กับตัวเองยังทำให้เกิดช่องว่างที่คนทั่วไปในสังคมยากจะเข้าใจหรือเข้าถึง หากนฤมิตกรรมอันยิ่งใหญ่ของศิลปะสมัยก่อนจะปราศจากการจารึกชื่อศิลปินผู้สร้าง เพราะศิลปินไม่ได้ทำในนามของตัวเอง แต่ทำในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของตัวตนที่ใหญ่กว่านั้น

จากการเรียนรู้ทั้งศิลปะสมัยใหม่และศิลปะโบราณอย่างแตกฉาน มโนภาพความเป็นศิลปินของ อังคาร กัลยาณพงศ์ จึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่การเป็นผู้สร้างงานศิลปกรรมเท่านั้น หากพิจารณาจากบทกวี “ปณิธานกวี” ของเขา ซึ่งเป็นเหมือนคำประกาศเจตนา (manifesto) ของศิลปินต่อแนวทางการทำงานงานศิลปะ จะพบว่าเขาเริ่มด้วยการปฏิเสธความเป็นเจ้าของสรรพสิ่ง และบอกว่ามนุษย์ไม่อาจครอบครองสิ่งใดได้ทั้งสิ้น

“ใครจะอาจซื้อขายฟ้ามหาสมุทร / แสนวิสุทธิ์โลกนี้ที่พระสร้าง / สุดท้ายกายวิภาคจะจากวาง / ไว้ระหว่างหล้าและฟ้าต่อกันฯ / เรามิใช่เจ้าของฟ้าอวกาศ / โลกธาตุทั้งสิ้นทุกสรวงสวรรค์ / มนุษย์มิเคยนฤมิตตะวันจันทร์ / แม้แต่เม็ดทรายนั้นสักธุลีฯ”

ก่อนจะมาถึงวรรคทองอันลือลั่นที่เขากล่าวปฏิเสธการหลุดพ้นไปจากโลกเช่นกัน เพราะต้องการ “สร้างสรรค์กุศลศิลป์ไว้อนันตกาล”

“จะไม่ไปแม้แต่พระนิรพาน / จะวนว่ายวัฏฏะสังสารหลากหลาย / แปลค่าแท้ดาราจักรมากมาย / ไว้เป็นบทกวีแด่จักรวาลฯ / เพื่อลบทุกข์โศก ณ โลกมนุษย์ / ที่สุดสู่ยุคเกษมศานต์ / วารนั้นฉันจะป่นปนดินดาน / เป็นฟอสซิลทรมานอยู่จ้องมองฯ”

บทกวีนี้สั่นสะเทือนความรู้สึก เพราะคติของพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทในบ้านเราค่อนข้างให้ความสำคัญกับนิพพานไว้สูงยิ่ง กระทั่งไม่ค่อยมีใครกล้าอ้างอิงพาดพิงถึง เพียงแต่วางไว้เป็นเป้าหมายของการปฏิบัติธรรมเท่านั้น เราคุ้นกันว่าหากปฏิเสธโลกิยะก็ต้องมุ่งไปสู่นิพพานไม่ว่าจะถึงหรือไม่ก็ตาม การปฏิเสธนิพพานเพื่อทำงานศิลปะของอังคารจึงทำให้นิยามของศิลปินเทียบเคียงกับพระโพธิสัตว์ตามคติของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ซึ่งปฏิเสธการเข้าสู่นิพพานเพื่อจะช่วยเหลือมนุษย์ให้พ้นทุกข์เช่นกัน

แต่ต้องเข้าใจด้วยว่านั่นคือภาษาความเปรียบ เพื่อให้สัมผัสถึงเนื้อสารในจินตภาพ มิใช่เป็นความจริงตามตัวอักษร เช่นเดียวกับที่อังคารใช้สัญลักษณ์จากศิลปะตามประเพณีมาสร้างสรรค์ อย่างภาพ “นกอรหันต์” ซึ่งแทนภาวะอันเป็นนิรันดร์ดังกล่าว หรือภาพ “ฟอสซิลไข่อวิชชา” ที่ให้ฉุกคิดว่าบ่อเกิดของความโฉดเขลาก็น่าจะอยู่ในห้วงกาลอันเก่าแก่ดึกดำบรรพ์ประมาณกัน จนมาถึงภาพ “ตัวอวิชชากระชากดอกไม้มโนธรรมจากดวงเดือน” ก็ให้เห็นอาการฮึกเหิมของความโฉดเขลาประจักษ์แก่จินตนาการ

มโนภาพของความเป็นศิลปินจึงเป็นตัวกำหนดบทบาทและรูปแบบการแสดงออกของศิลปินผู้นั้น หากประเมินจากประวัติของ อังคาร กัลยาณพงศ์ จะพบว่า เขาเกิดในตระกูลช่างฝีมือเก่าแก่ของนครศรีธรรมราช และตระหนักในอุปนิสัยหรือ “พรสวรรค์” ทางศิลปะของตนมาตั้งแต่เด็ก เขาสัมผัสได้ถึงความงามและพลังสะเทือนอารมณ์ในวรรณคดีต่างๆ ซึ่งเป็นเหมือนกุญแจเปิดประตูให้เข้าไปสู่ภูมิปัญญาโบร่ำโบราณได้ง่ายดายขึ้น การศึกษาพื้นฐานทางศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่าง และการลงลึกในวิชาการทางศิลปะอันเป็นสากลในมหาวิทยาลัยศิลปากร ย่อมหล่อหลอมให้ทักษะฝีมือและการเข้าถึงสุนทรียภาพของเขากล้าแข็ง ยิ่งมีความสนใจอย่างกระหายต่อศิลปะและวรรณคดีแต่เก่าก่อน เขาก็นำตัวเองโน้มเอียงไปทางนั้นเพื่อเติมความใคร่รู้จนปะติดปะต่อเป็นตัวตนที่เต็มเปี่ยม อย่างการติดตามอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ไปคัดลอกจิตรกรรมฝาผนังตามที่ต่างๆ เพื่อเก็บรักษาไว้ก่อนจะสูญหาย หรือติดตามคณะของอาจารย์ประยูร อุรุชาฏะ ไปสำรวจโบราณสถาน ทำให้มีโอกาสได้ค้นพบแบบอย่างของศิลปกรรมอันงดงาม และเหมาะกับจริตของเขาเอง ประกอบกับความศรัทธาในพุทธธรรม และการศึกษาทางปริยัติอย่างจริงจัง พลังสร้างสรรค์ของเขาจึงสมบูรณ์พร้อมทั้งความมลังเมลืองในรูปแบบและสัจจะสาระในเนื้อหา

ลักษณะพิเศษที่พบในงานของ อังคาร กัลยาณพงศ์ ทั้งกวีนิพนธ์และจิตรกรรมก็คือ พลังการเคลื่อนไหวที่มีชีวิตจนล้นเกินออกมาจากแบบแผนของความประสานกลมกลืนกัน อย่างเส้นในลายกระหนกของเขาจะบิดสะบัดพลิ้วไหวเป็นเปลวเพลิงล้นเกินออกจากโครงสร้างของตัวกระหนกธรรมดา เพื่อสำแดงพลังอารมณ์ด้วยตัวของมันเอง แทนที่จะเป็นเพียงเครื่องประดับเท่านั้น ความเปรียบในบทกวีของเขาก็มักจะใช้ภาพพจน์ที่ตัดกันรุนแรง ระหว่างของสูงกับของต่ำ หรือระหว่างสิ่งหนึ่งกับอีกสิ่งที่แตกต่างกันมาก นอกจากนี้ยังแสดงกิริยาอารมณ์ในเชิงบุคลาธิษฐานอย่างมนุษย์ จนดูเหนือจริงและก้าวร้าวในบางครั้ง เพราะเขานำวิธีการสร้างจินตภาพของกวีโบราณซึ่งโดยมากจะเขียนถึงสิ่งที่อยู่เหนือมนุษย์มารองรับความรู้สึกสามัญของปัจเจกบุคคลธรรมดา เพียงอาการตัดพ้อต่อว่าของกวีจึงดูรุนแรงประหนึ่งคำสาปแช่งของเทพเจ้า

เสียงและการใช้คำในบทกวีของอังคารก็ติดความอลังการโอ่อ่าเช่นนั้นมา จะสัมผัสได้เมื่ออ่านออกเสียง หรือฟังเขาขับทำนองเสนาะ กระนั้นเขาก็เคยถูกวิจารณ์ว่าเขียนร้อยกรองผิดฉันทลักษณ์ ซึ่งอันที่จริงตัวงานย่อมบ่งบอกแล้วว่าเขาเคารพและได้แบบอย่างจากของโบราณมามากแค่ไหน เพียงแต่ที่มาอาจจะเจาะทะลุหลักเกณฑ์ของศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ขึ้นไปหายุคที่เก่ากว่านั้น เพราะสังคมไทยสมัยรัตนโกสินทร์เป็นยุคแห่งการสร้างชาติ ตั้งแต่การฟื้นฟูความรุ่งเรืองหลังการล่มสลายของกรุงศรีอยุธยา และการตกแต่งหน้าตาให้มีศักดิ์ศรีทัดเทียมชาติตะวันตก ศิลปะไทยสมัยรัตนโกสินทร์จึงมีระเบียบแบบแผนชัดเจน และเป็นการเลือกสรรปรับปรุงจากของเดิมจนเข้าสู่ความสมบูรณ์สูงสุดในงานหลายประเภท แต่ศิลปะก่อนหน้านั้นอย่างสมัยอยุธยาจะมีอิสระของแรงบันดาลใจอันพลิ้วไหวมากกว่า และอังคารก็เข้าถึงความงามเช่นนั้นทั้งกวีนิพนธ์และจิตรกรรม

อย่างที่อังคารเคยกล่าวไว้ว่า เมื่อ “มีมโนคติเป็นแก้วสารพัดนึก” เช่นนี้แล้ว “จะนฤมิตสรรพสิ่งใดๆ ก็ได้ทั้งสิ้น เว้นไว้แต่ทิพยญาณในโลกุตระ นิรพานแล้วไซร้ ไม่มีอะไรที่ไหนที่มโนคติจะไม่เจาะทะลุเข้าถึงแก่นแท้”

เช่นนั้นเองเขาจึงเขียนถึงได้ทุกสิ่ง ด้วยจินตนาการบรรเจิดพริ้งพรายไม่แพ้กัน ตั้งแต่อารมณ์ความรู้สึกส่วนตัว อย่างบทกวี “อนิจจา”

“อนิจจาน่าเสียดาย / ฉันทำชีวิตหายครึ่งหนึ่ง / ส่วนที่สูญนั้นลึกซึ้ง / มีน้ำผึ้งบุหงาลดามาลย์ฯ”

จนไปถึงพุทธปรัชญา หรือสัจธรรมตามธรรมชาติ อย่างบทกวี “โลก”

“โลกนี้มิอยู่ด้วย / มณี เดียวนา / ทรายและสิ่งอื่นมี / ส่วนสร้าง / ปวงธาตุต่ำกลางดี / ดุลยภาพ / ภาคจักรพาลมิร้าง / เพราะน้ำแรงไหนฯ / ภพนี้มิใช่หล้า / หงส์ทอง เดียวเลย / กาก็เจ้าของครอง / ชีพด้วย / เมาสมมุติจองหอง / หินชาติ / น้ำมิตรแล้งโลกม้วย / หมดสิ้นสุขศานต์ฯ”

ตลอดจนเชิดชูความงาม และความดีในตัวมนุษย์ หรือบริภาษความหยาบกระด้างของสังคมปัจจุบัน

งานจิตรกรรมของเขาที่ชอบใช้แท่งถ่านเกรยองปาดลงบนกระดาษ เพราะได้ทั้งเส้นและน้ำหนักไปพร้อมกัน เหมาะกับอุปนิสัยของเขาที่มีพลังพวยพุ่งอยู่ตลอดเวลา ทั้งยังแสดงถึงความแม่นยำในทักษะและสมาธิอันแน่วแน่ เขาก็สามารถใช้วิธีการเดียวกันนี้วาดภาพได้ทุกแบบ ตั้งแต่ภาพทิวทัศน์ที่ได้รางวัลเหรียญทองแดง จากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 9 ปี พ.ศ. 2501 วาดภาพบุคคล หรือภาพจิตรกรรมไทยประเพณีร่วมสมัย ซึ่งช่วงแรกเขาชอบถ่ายทอดมวลน้ำหนักของรูปทรงและโครงสร้างจากความประทับใจต่อศิลปะที่ประดับอยู่ภายนอกโบราณสถาน และต่อมาเขาก็เขียนเพียงตัวแบบที่ปรากฏในมโนคติ

อังคารจึงเป็นตัวอย่างอันดียิ่งของศิลปินที่เข้าถึงความเป็นตัวเอง ความเป็นท้องถิ่น ความเป็นชาติ และความเป็นสากลไปพร้อมกัน งานศิลปะของเขาแสดงผ่านออกมาจากอารมณ์ความรู้สึกอันแท้จริงเสมอ และเสนอเนื้อสารซึ่งประมวลมาจากภูมิปัญญาของเขา กลิ่นอายรากเหง้าพื้นถิ่นสกุลช่างนครศรีธรรมราชยังติดอยู่ในตัวงานของเขามาตลอด ขณะเดียวกันก็สืบทอดแก่นแท้ของศิลปะประจำชาติให้ดำรงอยู่ต่อไปในสังคมร่วมสมัย และเป็นสากลในเชิงคุณค่า คนต่างชาติต่างภาษาย่อมสัมผัสได้ถึงความงามในงานของเขา แม้จะไม่เข้าใจขนบธรรมเนียมประเพณีไทยเลยก็ตาม เช่นเดียวกับความเป็นสากลในกาลเวลา หากคนโบราณเห็นงานของเขาก็ต้องชื่นชม และคนในอนาคตก็สามารถเรียนรู้หาแรงบันดาลใจจากงานของเขาได้ไม่จบสิ้น

การแสดงศิลปกรรมของ อังคาร กัลยาณพงศ์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 81 ปี ตามโครงการเชิดชูเกียรติการสร้างสรรค์ศิลปกรรมของศิลปินไทย จัดขึ้นที่หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพฯ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นำผลงานแต่อดีตของอังคารมาร่วมแสดงด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นลายเส้นคัดลอกงานศิลปะโบราณ ภาพร่างบันทึกความคิด และบทกวีจากลายมืออันวิจิตร ทำให้นึกเห็นเค้าลางแห่งตัวตนของเขาในเวลาต่อมา ส่วนงานที่ทำในช่วงเวลาปัจจุบัน คือระหว่างปี พ.ศ. 2549-2550 จะเห็นรอยปาดแท่งถ่านเน้นชั้นเชิงเป็นช่อชั้นชัดเจนกว่าเดิม ซึ่งก่อนหน้านี้จะพริ้วไหวนุ่มนวลกว่า บ่งบอกถึงพลังที่ไม่ยอมลดน้อยถอยลงเลย ดังนั้นจึงน่าจะได้เห็นงานใหม่ของเขาติดตามมาให้ชื่นชมกันในอีกไม่ช้านาน.

[พิมพ์ครั้งแรก: ช่อการะเกด] 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น