[อพาร์ตเมนต์คุณป้า, บันทึกการแสดงสด “live and wrong” ปี 2550]
ช่วงทศวรรษ 2540 ที่ผ่านมา มีวัฒนธรรมย่อยกลุ่มหนึ่ง ซึ่งกำเนิดขึ้น เฟื่องฟู และคลี่คลายไปอย่างน่าสนใจยิ่ง แล้วยังทิ้งเชื้อไว้ให้กลายพันธุ์ต่อไปตามสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม นั่นคือแนวทางการสร้างสรรค์งานศิลปะและวัฒนธรรมที่เป็นอิสระจากระบบหรือเงื่อนไขที่ครอบงำมาแต่เดิม อาจจะเรียกกันว่าเป็นวัฒนธรรมนอกกระแส หรือ “อินดี้” (Independence) หรือเรียกตามลักษณะที่ต่อเนื่องจากทศวรรษก่อนหน้านี้ว่าเป็นวัฒนธรรมทางเลือก (Alternative) ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ทั้งดนตรี ภาพยนตร์ หนังสือ ศิลปะ งานออกแบบ กลุ่มกิจกรรม และวิถีชีวิต แม้จะไม่ได้มีขนาดที่ใหญ่โตนัก แต่ค่อนข้างมีพลังในการเปลี่ยนแปลง อย่างน้อยค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ก็ต้องปรับวิธีการทำงาน จากการผลิตในเชิงอุตสาหกรรม แบ่งหน้าที่เป็นส่วนๆ รวมกัน หันมาแตกค่ายย่อยในสังกัดให้ศิลปินมีอิสระในการทำงานด้วยตนเองมากขึ้น วงการภาพยนตร์ก็จะเห็นความหลากหลายกว่าแต่ก่อน จากคนทำหนังที่เติบโตมากับการทำหนังอิสระ หรือวงการศิลปะก็มีการเคลื่อนไหวของศิลปินและภัณฑารักษ์อิสระ ซึ่งเชื่อมโยงเข้ากับการเคลื่อนไหวในระดับนานาชาติด้วย
กระแส “อินดี้” ในบ้านเราเริ่มจากวิกฤตเศรษฐกิจตอนต้นทศวรรษ เมื่อคนหนุ่มสาวจำนวนหนึ่งต้องฝันสลายกับการสร้างความมั่นคงให้ชีวิตแบบชนชั้นกลาง แล้วหันมาพบว่าตนเองสามารถทำอะไรได้หลายอย่างกว่าที่เคยคิด
ก่อนหน้านี้คนที่คิดจะทำเพลงของตัวเอง อาจจะนึกถึงทางเลือกอื่นไม่ออกเลย นอกจากจะต้องผ่านกระบวนการผลิตของบริษัทค่ายเพลง ซึ่งมักจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของตลาดอีกชั้นหนึ่ง พอเริ่มมีคนทำเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า “ทำเองก็ได้ง่ายจัง” ประกอบกับการพัฒนาของเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ช่วยอำนวยความสะดวก คนอื่นก็ทำตามๆ กันออกมาบ้าง เช่นเดียวกับอีกหลายแวดวงที่มีลักษณะคล้ายกัน
กระแสทำเองเริ่มก่อตัวให้จับต้องได้ในปี พ.ศ. 2543 และเฟื่องฟูในยุครัฐบาลพรรคไทยรักไทย ซึ่งดูเหมือนว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น จนการลงทุนสะพัดไปในหลายวงการ แล้วค่อยแผ่วผ่าวลงตอนปลายทศวรรษ ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจที่เปราะบาง แต่สาเหตุสำคัญน่าจะมาจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค อันเนื่องมาจากเทคโนโลยีการสื่อสารในโลกดิจิตอลอย่างโทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ตเริ่มส่งผลกระทบมากขึ้นทั้งด้านกว้างและลึก เหมือนกับที่ครั้งหนึ่งโทรทัศน์และเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เคยเปลี่ยนวัฒนธรรมบันเทิงของผู้คนมาแล้ว
อันที่จริงสังคมมีความจำเป็นต้องลงทุนและหล่อเลี้ยงวัฒนธรรมย่อยเหล่านี้ไว้ให้ต่อเนื่อง เพราะนอกจากจะเป็นพื้นที่ให้คนหนุ่มสาวได้ระบายพลังผ่อนคลายความตึงเครียดในทางที่สร้างสรรค์ และเป็นการเรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตทางอ้อมแล้ว ยังเป็นเหมือนเรือนเพาะชำหน่ออ่อนของความคิดสร้างสรรค์จากเนื้อดินของเราเอง เพื่อให้อุตสาหกรรมบันเทิงหรือผู้ผลิตสินค้าทางวัฒนธรรมทั้งหลายเด็ดยอดไปขยายผล มิเช่นนั้นต้องคอยนำเข้าหรือลอกเลียนแบบความสำเร็จจากสังคมอื่นอยู่นั่นเอง ซึ่งยากจะแข่งขันกับใครเขา และบางกรณียังขัดเขินกับสังคมของเราเองด้วย
อย่างกระแสอินดี้ที่ผ่านมาค่อนข้างเป็นไปตามธรรมชาติ และไม่ได้ขัดแย้งกับสังคมกระแสหลักเหมือนที่อื่น ออกจะประนีประนอมเข้าด้วยกันตามลักษณะนิสัยของคนไทยด้วยซ้ำ ดังการปรากฏขึ้นของกลุ่มหนุ่มสาวที่เรียกกันว่า “เด็กแนว” ซึ่งเป็นทั้งผู้เสพและผู้สร้างวัฒนธรรมย่อยเหล่านี้ขึ้นมา เหตุที่ใช้คำว่า “เด็กแนว” น่าจะมาจากความรู้สึกเดียวกัน คือเด็กกลุ่มนี้จะพยายามแสดงอัตลักษณ์ที่เป็นตัวของตัวเองไม่ซ้ำใครด้วยการมี “แนว” ของตัวเอง ทั้งเสื้อผ้าทรงผม ยามที่เห็นพวกเขารวมตัวกันตามงานต่างๆ จะพบสีสันการแต่งกายเป็นแนวๆ ที่หลากหลาย ทั้งแนวที่แบ่งได้ชัดเจน เป็นฮิปฮอป พั้งค์ ฮาร์ดคอร์ เร็กเก้ ฮิปปี้ แอฟโฟร ฯลฯ และแนวที่ผสมกันด้วยลักษณะร่วมบางอย่าง ส่วนใหญ่จะเป็นการดัดแปลงอ้างอิงแฟชั่นที่ย้อนไปในอดีต บางครั้งจึงดูเหมือนนำเสื้อผ้าของคุณพ่อคุณแม่ตอนเป็นหนุ่มสาวมาใส่เดิน
พื้นฐานของเด็กแนวคือเป็นลูกหลานชนชั้นกลางที่เริ่มอิ่มตัวกับสินค้าทางวัฒนธรรมเชิงอุตสาหกรรม แล้วต้องการแสวงหาความสดใหม่ให้แก่ชีวิต แม้จะเป็นสิ่งที่ไม่สมบูรณ์นักอย่างงานประเภททำมือก็ตาม ส่วนที่น่ารักของเด็กแนวคือ นอกจากพวกเขาจะต้องการสำแดงออกถึงตัวตนของตนแล้ว ยังใจกว้างยอมรับความแตกต่างในอัตลักษณ์ของคนอื่นด้วย เด็กแนวจึงมักจะฟังเพลงได้ทุกแบบ ขอให้ “เจ๋ง” จริง เพราะฉะนั้นพวกเขาจึงเป็นผู้เสพงานสร้างสรรค์ที่มีคุณภาพ ช่วยรองรับและเป็นกำลังใจให้คนที่ทำงานอย่างจริงจังซึ่งมีอยู่หลายแนวเช่นกัน น่าเสียดายที่ตอนนี้เด็กแนวเริ่มผลัดรุ่นเข้าสู่วัยทำงานแล้ว ซึ่งยังไม่รู้ว่าเมื่อผ่านการทุบตีจากประสบการณ์ในชีวิตจริงแล้ว พวกเขาจะกลายเป็นผู้ใหญ่แนวไหน
วงดนตรีที่เป็นขวัญใจเด็กแนวสุดขั้ววงหนึ่งคือ “อพาร์ตเมนต์คุณป้า” และเพลงที่เป็นเหมือนคำแถลงอุดมการณ์ (manifesto) ของพวกเขาคือ “กำแพง” ซึ่งเคยขึ้นชาร์ตอันดับ 1 ของแฟตเรดิโอ และได้รางวัลเพลงยอดเยี่ยมของแฟตอวอร์ดครั้งที่ 2 ประจำปี 2547 เนื้อหาของเพลงนี้กล่าวถึงการทำลายกำแพงของดนตรีที่ถูกก่อขึ้นมาจากเงื่อนไขทางธุรกิจ โดยใช้ท่วงทำนองสนุกสนานของร็อคแอนด์โรลกระชากจังหวะแบบฟั้งกี้ รองรับลีลาการแร็ปของ ตุล ไวฑูรเกียรติ
อพาร์ตเมนต์คุณป้าเกิดจากการรวมตัวกันของสมาชิก 5 คน คือ ตุล ไวฑูรเกียรติ – ประพันธ์เพลงและร้องนำ, ปิย์นาท โชติกเสถียร (ปั๊ม) – กีตาร์, กันต์ รุจิณรงค์ (บอล) – กีตาร์, ทรรศน์ฤกษ์ ลิ่มศิลา (จ้า) – กลอง และ ภู่กัน สันสุริยะ (ใหม่) – เบส
ตุลกับปิย์นาทเป็นเพื่อนนักเรียน เคยทำวงดนตรีด้วยกันมาก่อน จากนั้นตุลก็ไปเรียนต่อด้านบริหารธุรกิจและการบันทึกเสียงที่นิวยอร์ก ก่อนจะกลับมาเป็นดีเจและนักแต่งเพลง ส่วนปิย์นาทสร้างชื่อจากวง “สยามซีเคร็ทเซอร์วิส” และร่วมกับตุลทำวง “อะไรจ๊ะ” อีกครั้ง
กันต์กับทรรศน์ฤกษ์จบการศึกษาวิชาดนตรีจาก Berklee Callege บอสตัน สหรัฐอเมริกา และเป็นอาจารย์พิเศษที่ภาควิชาดุริยางค์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นอกจากนี้กันต์ยังทำห้องบันทึกเสียง Sexy Pink Studio ซึ่งเป็นเหมือนค่ายเพลงของพวกเขาไปในตัว ส่วนภู่กันนั้นเรียนมาทางมัณฑนศิลป์
กันต์กับทรรศน์ฤกษ์และภู่กันทำวงกันในปี 2545 ก่อนจะผนวกกับตุลและปิย์นาท จนกลายเป็นอพาร์ตเมนต์คุณป้าในที่สุด
อพาร์ตเมนต์คุณป้าออกอัลบั้มแรกคือ “Bangkok Love Story” ในปี 2546 และออกอีพี “Your First Kiss” ในปี 2547 ก่อนจะมาถึงอัลบั้ม “Romantic Comedy” ในปี 2549 ซึ่งได้รับเสียงชื่นชมจากนักวิจารณ์ถ้วนหน้า และได้รับรางวัลศิลปินยอดเยี่ยมแห่งปีจากหลายเวทีด้วย
และระหว่างที่กำลังทำอัลบั้มใหม่ พวกเขาก็มีบันทึกการแสดงสด “live and wrong” ซึ่งคัดเลือกจากการเล่นตามที่ต่างๆ ตลอดปี 2550 ออกมาขั้นเวลา นอกจากจะแสดงฝีมือว่าหนักแน่นกันขนาดไหนแล้ว ยังมีเพลงฉบับต้นแบบและฉบับพิเศษอีกหลายเพลงด้วย
นักฟังเพลงรุ่นเก่าจะชอบอพาร์ตเมนต์คุณป้าได้ไม่ยาก เพราะดนตรีของพวกเขาเป็นร็อคแอนด์โรลที่มีน้ำหนักและน้ำเสียงประมาณเพลงฮาร์ดร็อคในยุค 60-70 ซึ่งยังคงสัมผัสได้ถึงพื้นฐานของดนตรีบลูส์ และแต่งแต้มสีสันด้วยชั้นเชิงแบบแจ๊สและฟั้งก์ นอกจากนี้เนื้อหาของหลายเพลงยังแสดงถึงความเป็นนักคิดและวุฒิภาวะที่เกินตัว โดยเฉพาะเพลงที่มีนัยยะสะท้อนชีวิต เสียดสีสังคมและการเมือง ซึ่งแสดงออกอย่างกล้าหาญ ฉลาด จริงใจ มีอารมณ์ขัน และจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน
ส่วนคนรุ่นใหม่อาจจะชอบอพาร์ตเมนต์คุณป้าที่ดนตรีสำแดงอารมณ์ปลุกเร้า ลีลาการร้องแร็ปพร่ำบ่นถ้อยคำสะดุดความคิด หรือยามร้องตะโกนก้าวร้าวแบบพวกพั้งค์ หรือบางเพลงก็เปิดเปลือยความรู้สึกอันเปลี่ยวเหงาของคนร่วมสมัยอย่างตรงไปตรงมาและสละสลวยระคนกัน
อย่างเพลง “ไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ” ที่นำไปขับร้องและเรียบเรียงใหม่เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ แล้วได้รับความนิยมในวงกว้างพอสมควร บ่งบอกว่าพวกเขามีความพร้อมหากจะขยับไปสู่ตลาดที่ใหญ่กว่าเดิม ขึ้นอยู่กับความต้องการของพวกเขาเอง
หลายคนนึกเห็นการเติบโตของอพาร์ตเมนต์คุณป้าเปรียบเทียบกับวงคาราบาวช่วงก่อนที่จะพบสูตรสำเร็จอันลงตัวในอัลบั้มชุด “เมดอินไทยแลนด์” (ปี 2527) จากการประพันธ์เพลงอย่างคมคายของ ตุล ไวฑูรเกียรติ ประกอบกับสมาชิกซึ่งเป็นนักดนตรีอาชีพมากฝีมือ พวกเขาชอบพิสูจน์ตัวเองด้วยการแสดงสดอย่างเต็มที่สม่ำเสมอเช่นกัน และยังบริหารจัดการทางธุรกิจอย่างระมัดระวังตั้งแต่ต้น อัลบั้ม 4 ชุดแรกของคาราบาวก็เต็มไปด้วยพลังของแรงบันดาลใจอันหลากหลาย ตั้งแต่เพลงเชิงปรัชญาเข้าใจยาก จนถึงเพลงที่หมิ่นเหม่ต่อศีลธรรม เพียงแต่มีรายละเอียดของยุคสมัยที่แตกต่างกัน
หากพิจารณาจากความคิดและการใช้คำของ ตุล ไวฑูรเกียรติ จะเห็นว่าเขาเป็นคนอ่านหนังสือมากและหลากหลาย ตั้งแต่ปรัชญาไปจนถึงบริหารธุรกิจ การใช้ภาษาหนังสือในบทเพลงของเขาบางครั้งไม่ค่อยกลมกลืนกัน ทำให้เข้าใจยาก พอๆ กับเสียงร้องกวนๆ ของเขา ซึ่งต้องอาศัยลีลาช่วยเสริมแทน ภาพพจน์ในบทเพลงหลายเพลงก็โดดเด้งออกมาจนล้ำตัวเพลง เมื่อเขามีหนังสือรวมบทกวีร้อยแก้วออกมา 2 เล่ม คือ “หลบเวลา” (ปี 2549) และ “ไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ” (ปี 2550) จึงพอจะเข้าใจได้ว่าเพราะตัวเขาเป็นกวีด้วยนี่เอง
นับจาก สุรชัย จันทิมาธร ซึ่งเป็นทั้งนักแต่งเพลงและกวีที่ยอดเยี่ยมไปพร้อมกัน ต่อไปคงต้องนับ ตุล ไวฑูรเกียรติ ต่อแถวด้วยอีกคน เพียงแต่จะแสดงออกกันคนละแนวทาง ดนตรีโฟล์คกับบทกวีแสดงความรู้สึกและสะท้อนสังคมด้วยภาพพจน์อันงดงามของสุรชัยเข้ากันได้พอเหมาะ เช่นเดียวกับภาพพจน์แบบดิบๆ ฉับพลันไร้การขัดเกลาและเป็นส่วนตัวของตุลก็เหมาะกับดนตรีร็อคอันรุนแรง จินตภาพจัดจ้านถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดจากประสบการณ์ในชีวิตจริงอย่างดิบเถื่อน เป็นรูปแบบการประพันธ์ที่เขียนง่ายแต่ควบคุมยาก เพราะหากไม่จริงหรือทำได้ไม่ดีพอจะกลายเป็นหยาบคายแทน แต่ตุลก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเขาเป็น “กวีร็อค” ตัวจริงที่มีต้นทุนรองรับพอสมควร
ดังตัวอย่าง
“ฟ้าที่เป็นสีเทา / กับสายฝนราวฟ้ารั่ว / ทำให้ฉันเข้าใจว่า / รอยยิ้มในวันนี้ / ช่างไม่มีกาลเทศะเอาเสียเลย // ใช่... / วันนี้จะมีเพียงความผิดหวัง / เสียงหัวเราะ คือของต้องห้าม / ฉันจะไม่ยิ้ม / ไม่ขำ / ไม่แสดงความดีใจใดๆ ออกมา // และถ้าหากฉัน / มองเห็นเด็กๆ ที่น่ารัก / เดินมากับลูกโป่งสีสวยล่ะก็ / ฉันจะเอาบุหรี่จี้ซะ / เพื่อปลดปล่อยก๊าซไฮโดรเจน / ให้เป็นไท” (จาก “หลบเวลา” หน้า 144)
หรือ
“พบรักที่สยามสแควร์ / แต่แยกทางกันที่ลาดพร้าว / พันธนาการถูกทำลายลง / พร้อมๆ กับนาฬิกาทราย / ที่เต็มไปด้วยเกล็ดโคเคน / ขาวโพลน // ฉันจึงวางดอกกุหลาบ / ไว้ข้างๆ แก้ววิสกี้ / รอเพียงให้เงาของค่ำคืน / มาทักทายและพูดคุย / กับผีขี้เหงา / ที่หลบซ่อนอยู่ในสมองของฉัน // ริมฝีปากของเธอ / กับลิปสติกสีแดง / ช่างดูน่ากลัว...น่าขยะแขยง / รองเท้า PRADA ก็เช่นกัน / กระทืบฉันจนเมา” (จาก “ไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ” หน้า 26)
รายละเอียดของยุคสมัยในสังคมทุนนิยมบริโภคยังขับให้ท่าทีขบถของตุลและอพาร์ตเมนต์คุณป้าออกไปทางแอบเสิร์ด (absurd) มากกว่ายุคสมัยที่ผ่านมา ด้วยพื้นฐานของการมองเห็นโลกว่าไร้ความหมายและน่าหัวเราะเยาะ อันเป็นผลมาจากการทำให้ทุกอย่างกลายเป็นสินค้าของสังคมบริโภคทำลายคุณค่าดั้งเดิมสิ้น ซึ่งจะเห็นลักษณะนี้ได้ตั้งแต่ชื่อวง ก่อนหน้านี้วงดนตรีจะตั้งชื่อกันด้วยคำที่มีความหมายโดดเด่นอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ระยะหลังวงร็อคหลายกลุ่มโดยเฉพาะพวกที่มีแนวโน้มต่อต้านสังคม จะแข่งกันตั้งชื่อวงให้ไร้สาระน่าขำเข้าว่า แม้ “อพาร์ตเมนต์คุณป้า” จะหมายถึงสถานที่ที่พวกเขาใช้ซ้อมดนตรีกันก็ตาม แต่ด้วยตรรกะบางอย่างก็ทำให้ชื่อนี้ชวนหัวเราะตั้งแต่แรกได้ยิน
ตัวเพลงของพวกเขาก็มีลักษณะแอบเสิร์ดเช่นกัน อย่างการเสียดเย้ยด้วยความรู้สึกว่าทุกสิ่งทุกอย่างช่างไร้สาระหรือน่าหัวร่อ แม้แต่ในเพลงรัก สมดังชื่ออัลบั้ม “Romantic Comedy” และการใช้ถ้อยคำในบางเพลงก็เลื่อนลอยไม่ปะติดปะต่อจนเกือบจะไร้ความหมาย ขณะที่ดนตรีก็ช่วยส่งให้อารมณ์กระเจิดกระเจิงไม่แพ้กัน
อพาร์ตเมนต์คุณป้าจึงเป็นตัวอย่างหนึ่งให้เห็นว่า หากเป็นอิสระทางความคิด งานศิลปะก็จะสะท้อนสภาพชีวิต สังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ออกมาอย่างซื่อตรงยิ่ง และหากเป็นอิสระในการเคลื่อนไหว กลไกทางวัฒนธรรมก็จะมีกระบวนการตรวจสอบและแก้ไขความไม่เหมาะสมด้วยตัวมันเอง อย่างงานของอพาร์ตเมนต์คุณป้าซึ่งพวกเขาเรียกมันว่าเป็น “ดนตรีบำบัด” ปลดปล่อยความรู้สึกต่างๆ ผ่านทางดนตรี เพื่อเยียวยาจิตใจที่ขาดพร่องโดยไม่ต้องไปสร้างปัญหาทางอื่น ซึ่งส่วนใหญ่คนที่สร้างปัญหาให้แก่สังคมมักจะไม่ค่อยได้รับการขัดเกลาด้วยกลไกทางวัฒนธรรมอย่างเพียงพอ และกลไกนั้นก็ไม่ได้มีเพียงฟองน้ำอ่อนนุ่ม บางครั้งการขัดเกลายังต้องใช้กระดาษทรายชนิดหยาบด้วย.
ขอบคุณผลิตภัณฑ์นี้(รับประกัน100ปี)_:)
ตอบลบ