วันเสาร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2551

ไมเคิล เชาวนาศัย : Media Art Hero (หรือที่สุดของความเป็นกลาง)

“Bunzai Chaiyo Episode II, The Adventure of Iron Pussy” ปี 2542

“Bunzai Chaiyo Episode II, The Adventure of Iron Pussy” ปี 2542

[^ “Bunzai Chaiyo Episode II, The Adventure of Iron Pussy” ปี 2542]

“หัวใจทรนง” (The Adventure of Iron Pussy) ปี 2546

“หัวใจทรนง” (The Adventure of Iron Pussy) ปี 2546

[^ “หัวใจทรนง” (The Adventure of Iron Pussy) ปี 2546]

“แม่พระแห่งแดนพื้นลุ่ม” (Our Lady of the Low Countries) ปี 2551

“แม่พระแห่งแดนพื้นลุ่ม” (Our Lady of the Low Countries) ปี 2551

[^ “แม่พระแห่งแดนพื้นลุ่ม” (Our Lady of the Low Countries) ปี 2551]

“8/8/08 – 8/8/38” ปี 2551

“8/8/08 – 8/8/38” ปี 2551

[^ “8/8/08 – 8/8/38” ปี 2551]

“Khmer-Donna Version -5-“ ปี 2550-2551

[^ “Khmer-Donna Version -5-“ ปี 2550-2551]

คนในวงกว้างอาจจะคุ้นหน้าและคุ้นชื่อ ไมเคิล เชาวนาศัย จากการเป็นนักแสดงและคนทำหนัง โดยเฉพาะจากภาพยนตร์ชุด “Iron Pussy” ที่เขาเป็นคนต้นคิดและผู้แสดงนำ แปลงร่างจากชายเป็นหญิง และยังเป็นนักแสดงสมทบในภาพยนตร์เรื่อง “แก๊งชะนีกับอีแอบ” “หมากเตะ...โลกตะลึง” และ “ความสุขของกะทิ” อีกด้วย

แต่ตัวตนของ ไมเคิล เชาวนาศัย ในวงการศิลปะเป็นศิลปินหัวก้าวหน้าที่มีลักษณะของนักคิดเชิงวิพากษ์ งานของเขาหลายเรื่องมีความหนักหน่วงรุนแรงในการนำเสนอความคิด จนเคยมีเหตุการณ์ประท้วงขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์มาแล้ว

ไมเคิลมีความสามารถในการย่อยความรู้สึกนึกคิดของตนออกมาเป็นก้อนมโนภาพที่สะดุดใจและคิดต่อได้สารพัด เขาใช้สื่อที่หลากหลาย ทั้งสื่อผสม วัสดุสำเร็จรูป ตัวอักษร ภาพถ่าย ภาพยนตร์ งานติดตั้งจัดวาง ไปจนถึงงานแสดง และชอบใช้ร่างกายของตนเป็นสื่อในการแสดงออกบ่อยครั้ง จนเป็นที่คุ้นตา

งานของเขาจัดเป็น “Media Art” หรือศิลปะผ่านสื่อที่ประสบความสำเร็จ จากการรู้จักเลือกใช้ลักษณะเฉพาะของสื่อแต่ละประเภทถ่ายทอดเนื้อสารของตนอย่างได้ผล ทั้งความหมายและความประทับใจ นอกจากนี้เขายังทำกิจกรรมทางศิลปะและวัฒนธรรมสารพัด เช่น จัดเทศกาลหนังเกย์และเลสเบี้ยน เป็นต้น

ตามประวัติไมเคิลเป็นลูกครึ่งไทย-อเมริกัน เกิดที่ฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา ผ่านการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียนศิลปะด้านภาพถ่ายจากสถาบันศิลปะซานฟรานซิสโก และเรียนต่อด้านการแสดงสดจากสถาบันศิลปะชิคาโก

ปลายปี พ.ศ. 2539 เขาและคนหนุ่มสาวไฟแรงกลุ่มหนึ่งร่วมกันทำพื้นที่ทางศิลปะแบบทางเลือกขึ้นมาในนาม “Project 304” ด้วยจุดแข็งคือการจัดทำโครงการอย่างเป็นระบบจริงจัง และนำเสนอผลงานที่แปลกใหม่ล้ำหน้าทั้งรูปแบบและเนื้อหา และบ่อยครั้งจะเลือกใช้ภาพยนตร์หรือภาพเคลื่อนไหวเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดความคิดของตน ระยะแรกพวกเขาใช้เพียงห้องเล็กๆ ในแฟลตสหกรณ์กรุงเทพ สามเสน เป็นที่แสดงงาน ต่อมาก็เคลื่อนไหวทำกิจกรรมต่างๆ อย่างอิสระและหลากหลาย ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ รวมถึงเทศกาลหนังทดลองกรุงเทพฯ หรือ BEFF (Bangkok Experimental Film Festival) ที่จัดต่อเนื่องกันมายาวนาน

แกนนำซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในเวลาต่อมา คือ กฤติยา กาวีวงศ์ ภัณฑารักษ์มืออาชีพระดับมาตรฐานและมีสายตากว้างไกล ซึ่งมีอยู่เพียงไม่กี่คนในบ้านเรา อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับภาพยนตร์มือรางวัลระดับสากล และตัวไมเคิลเอง ทั้งสามล้วนผ่านการศึกษาจาก The School of Art Institute of Chicago มาเหมือนกัน

งานของไมเคิลเริ่มเป็นที่จับตามองในช่วงต้นทศวรรษ 2540 จากการใช้ร่างกายตัวเองเป็นวัตถุทางศิลปะ เช่น ภาพถ่ายตัวเขาเปลือยท่อนบนในท่าพนมมือ แล้วให้ผู้ชมขีดเขียนอะไรก็ได้ลงไปในภาพเขา

หรือภาพถ่ายตัวเขาแต่งเป็นผู้หญิง แม้เขาอาจจะไม่ใช่ศิลปินคนแรกที่นำเสนอในลักษณะเช่นนี้ออกมา แต่การตกแต่งประดับประดาจนสวยเกินผู้หญิงธรรมดาก็มีท่วงท่าของการวิพากษ์วิจารณ์เสียดสีมากกว่า เหมือนเป็นการตั้งคำถามต่อความเป็นผู้หญิงที่สังคมนิยามไว้ไปพร้อมกัน นอกจากนี้รายละเอียดของเครื่องตกแต่งก็มาจากแบบอย่างที่นิยมกันอยู่ในวงสังคมของบ้านเรานั่นเอง รวมทั้งการเลือกใช้ลักษณะของภาพถ่ายจากสตูดิโอถ่ายภาพที่มักจะตกแต่งให้สวยจนเกินจริง ช่วยเสริมความแปลกปลอมให้เด่นชัดขึ้นไปอีก

จะเห็นว่าลักษณะเฉพาะของ ไมเคิล เชาวนาศัย อยู่ที่ลีลาการเสียดสีล้อเลียนสังคม มิใช่เพียงเสนอตัวตนเท่านั้น ดังเช่นตัวละครไอออนพุซซี่ในหนังของเขา เป็นการล้อเลียนลักษณะอภิมนุษย์ของบรรดาซุปเปอร์ฮีโร่ในการ์ตูนหรือภาพยนตร์ ซึ่งทำหน้าที่สนองหรือทดแทนความรู้สึกไร้อำนาจของคนธรรมดา ไมเคิลแสดงเป็นทั้งพระเอกและนางเอกของเรื่อง ยามปรกติตัวเอกจะเป็นผู้ชายธรรมดาที่มีท่าทางสุภาพเรียบร้อย แต่เมื่อเขาแปลงร่างเป็นผู้หญิงในนามไอออนพุซซี่แล้ว เธอก็จะกลายเป็นยอดคนผู้เก่งกาจสารพัด ทั้งการต่อสู้และความฉลาดเฉลียว ทั้งงานบ้านการเรือนและการแสดงร้องเพลงเต้นรำ

ภาพยนตร์ชุด “Iron Pussy” ทำเป็นหนังสั้นออกมา 3 ภาค คือในปี พ.ศ. 2540, 2542 และ 2543 ตามลำดับ และภาคที่ 2 คือ “Bunzai Chaiyo Episode II, The Adventure of Iron Pussy” ก็ได้รางวัล รัตน์ เปสตันยี จากเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 3 ในปี พ.ศ. 2542 ของมูลนิธิหนังไทยฯ ด้วย

ต่อมาในปี พ.ศ. 2546 เขาก็ร่วมกับ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ทำเป็นภาพยนตร์เต็มรูปแบบ คือ “The Adventure of Iron Pussy” หรือ “หัวใจทรนง” นั่นเอง

ภารกิจของไอออนพุซซี่ในฉบับหนังสั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการช่วยเหลือเด็กหนุ่มในสถานบริการยามค่ำคืนจากการเอาเปรียบรังแกของพวกเหล่าร้าย ตลอดทั้งเรื่องจะเต็มไปด้วยลีลาเสียดสีสารพัด เช่น บทสนทนาจะแกล้งใช้ภาษาอังกฤษสำเนียงไทยๆ ทั้งเรื่อง หรือการใช้สัญลักษณ์ในเชิงสองแง่สองง่ามด้วยน้ำเสียงตลกร้าย

ส่วนฉบับหนังใหญ่ไอออนพุซซี่ต้องทำเรื่องใหญ่ไปด้วย นั่นคือช่วยรัฐบาลปราบปรามยาเสพติด ภายใต้สีสันและโครงเรื่องของหนังไทยย้อนอดีตเต็มรูปแบบ อันเป็นทั้งการคารวะและล้อเลียนไปพร้อมกัน

หากมองอย่างผิวเผินอาจเข้าใจว่าไมเคิลเน้นเรื่องความเป็นเกย์ อัตลักษณ์ของพวกรักร่วมเพศ หรือเรียกร้องสิทธิของเพศที่สามทำนองนั้น แต่ถ้ามองเห็นภาพรวมทั้งหมดจะพบว่า เขายังคงให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์ และความเป็นอยู่ของมนุษย์ในสังคมปัจจุบันนั่นเอง เพียงแต่ใช้ความเป็นกลางทางเพศข้ามเส้นแบ่งของสิ่งต่างๆ เพื่อยั่วแย้งให้ฉุกคิด และมันก็ทำให้เขามีอิสระในการก้าวผ่านพรมแดนต่างๆ

อย่างงานภาพถ่ายชุด “ms@oas” ในปี พ.ศ. 2545 ซึ่งเขาถ่ายภาพตัวเองเปลือยทั้งเรือนร่างและแสดงความรู้สึกในอากัปกิริยาต่างๆ แล้วขยายใหญ่คมชัดจนรบกวนความรู้สึกของผู้ชม มันก็มีมิติของความเป็นมนุษย์ให้ขบคิดได้หลากหลาย เช่น ภาพเปลือยเต็มตัวใช้เทคนิคคอมพิวเตอร์ลบอวัยวะเพศและหัวนมทิ้ง ภาพใบหน้าลบดวงตา ภาพใบหน้าลบหูทั้งสองข้าง หรือภาพเต็มหน้าแสดงอารมณ์สุดขีด การแสดงออกอย่างเปิดเผยเกินเลยของศิลปินชวนให้เราทบทวนตัวเองตามไปด้วย จากปริศนาในภาพนั้นเอง

ไมเคิลสามารถข้ามไปเล่นบนพื้นที่ของความเป็นชาย อย่างประเด็นเรื่องปรัชญาศาสนา หรือการเมือง ขณะเดียวกันก็สามารถข้ามไปเล่นในพื้นที่ของความเป็นหญิง อย่างค่านิยมในสังคม แฟชั่น ความสวยความงาม หรือการบริโภค และยังสามารถรับส่งประเด็นข้ามไปมาระหว่าง 2 พื้นที่นั้นด้วย หรือเข้าถึงปมปัญหาสากลที่ไม่ได้จำกัดอยู่กับความเป็นเพศ

เช่น งานภาพถ่ายจัดวางชุด “ผู้หญิงในอุดมคติ” (Saints & Whores) ในปี พ.ศ. 2548 เขาถ่ายภาพตัวเองแต่งตัวเป็นผู้หญิงในช่วงวัยต่างๆ ตั้งแต่เป็นนักเรียนดีเด่น เป็นนางงาม เป็นบัณฑิตสาวเกียรตินิยม เป็นเจ้าสาวในวันแต่งงาน เป็นคุณแม่อุ้มลูกน่ารัก และสุดท้ายคือเป็นแม่ชีถือดอกบัว ติดเรียงบนผนังเหมือนภาพถ่ายที่แสดงความสำเร็จในชีวิตของบุคคลตามบ้านต่างๆ อันบ่งบอกถึงค่านิยมในสังคม ภาพเช่นนี้จะเปลี่ยนเป็นลำดับชีวิตของผู้ชายก็ได้เหมือนกัน แต่เมื่อเป็นผู้ชายที่แต่งเป็นผู้หญิงย่อมหลอกหลอนตามากกว่า

และบางครั้งมันกลายเป็นความได้เปรียบ เช่นเดียวกับไอออนพุซซี่ที่มีความแข็งแกร่งอย่างชาย แต่ขณะเดียวกันก็สามารถใช้ความละเอียดอ่อนอย่างผู้หญิงให้เป็นประโยชน์ หรือในฉบับหนังสั้น ไอออนพุซซี่ต้องสู้กับสาววายร้ายจากญี่ปุ่น เธอก็ใช้พละกำลังที่เหนือกว่าในการตบตีกันตัวต่อตัว และเมื่อโดนรุมคำนับให้วิงเวียน เธอก็ใช้อาวุธไม้ตายคือปืนฉีดน้ำจัดการเสีย

การข้ามเส้นแบ่งของขนบธรรมเนียม หรือการสลายพรมแดนของสิ่งต่างๆ ให้ความหมายเลื่อนไหลเข้าหาและผสมปนเปกัน เป็นวิธีการที่ไมเคิลใช้สร้างมิติอันหลากหลายให้แก่งานของเขา และทำให้งานของเขามีเนื้อหาสาระและความสนุกสนานระคนกัน เส้นแบ่งนั้นไม่ใช่เรื่องเพศอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องของความเป็นส่วนตัวกับพื้นที่สาธารณะ ศิลปะกับความบันเทิง รสนิยมชั้นสูงกับความไร้รสนิยม ความเป็นไทยกับความเป็นตะวันตก หรือธรรมะกับการผิดศีลธรรม ทั้งหมดมักจะแสดงออกด้วยท่าทีตรงไปตรงมาแต่แฝงนัยยะซับซ้อน

อย่างการเล่นกับตัวหนังสือระหว่างความหมายของคำและรูปลักษณ์ เช่น การแปลงเพศอย่างฉับพลัน ด้วยการเขียนภาษาอังกฤษคำว่า “HE” แล้วเติมเครื่องหมายวรรณยุกต์ไม้จัตวาแทนการผันเสียงในภาษาไทยกำกับไว้ด้วย หรือทำตัวหนังสือไฟนีออนอย่างที่เห็นตามสถานบันเทิงยามราตรีดัดเป็นคำว่า “กูละเบื่อ”

ความสามารถของไมเคิลอยู่ตรงความช่างสังเกตและช่างเลือก เห็นได้จากการวางสีหน้าท่าทางอย่างนักแสดง หรือการรู้จักเลือกใช้รูปแบบของสื่อและวัสดุให้สอดคล้องกับความคิดที่นำเสนอ

เช่น งานวิดีโอและภาพถ่ายชุด “Playgirl@Playground” ซึ่งจัดขึ้นที่ Play Gallery ในร้าน Playground เมื่อปี พ.ศ. 2548 ไมเคิลเล่นกับพื้นที่แสดงงานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของร้านขายเสื้อผ้าแฟชั่นชั้นนำ และลูกค้าส่วนใหญ่ก็จะเป็นตลาดคนในระดับกลางขึ้นไประดับบน เขาแสดงตนเป็นหญิงสาวที่มีชื่อเสียงในแวดวงสังคม 2 คน และฉายภาพในลักษณะตามถ่าย คนหนึ่งสวมชุดขาวน่ารักเล่นกับกล้องอย่างเปิดเผยเริงร่า คนหนึ่งสวมชุดดำลึกลับคอยหลบกล้องปกปิดซ่อนเร้น อันเป็นท่าที 2 แบบที่มักจะเห็นในภาพข่าวสังคมประเภทซุบซิบคนดัง

อันที่จริงสภาพแวดล้อมของสังคมไทยปัจจุบันก็อุดมต่อลักษณะการทำงานของเขาไม่น้อย เพราะเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยความแปลกปลอม เบื้องหน้าอย่างหนึ่ง ลับหลังอีกอย่าง ชีวิตประจำวันก็ดูเหมือนจะมีความหมายแฝงให้หยิบฉวยมาใช้เป็นวัตถุทางศิลปะเพื่อตั้งคำถามย้อนกลับต่อสังคมได้ทั้งนั้น แต่ศิลปินก็ต้องมีสายตาชำแหละแยกแยะความหมายทางวัฒนธรรมของสิ่งต่างๆ ด้วย เขาจึงสามารถจำแนกมายาคติออกมาจากความจริง และนำมาพลิกกลับเขย่าเข้าด้วยกันใหม่เพื่อเสนอเป็นงานศิลปะ

งานของไมเคิลในระยะหลังจะโฉ่งฉ่างน้อยลง และคิดซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิม ทำให้ต้องค้นหาความหมายลึกลงไปอีก และอาจจะดึงดูดความสนใจไม่เท่างานช่วงแรก

อย่างงานชุด “แม่พระแห่งแดนพื้นลุ่ม” (Our Lady of the Low Countries) ซึ่งจัดแสดงที่ คัดมันดู โฟโต้ แกลเลอรี่ เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2551 เป็นงานภาพถ่ายและวิดีโอบันทึกการแสดงสดของศิลปิน ซึ่งแต่งตัวเป็นหญิงมีฐานะไปนั่งและยืนนิ่งอยู่บนแท่นกลางวงเวียนสี่แยก พร้อมกับเก้าอี้หลุยส์ โต๊ะวางพวงมาลัยกับถาดผลทับทิม และผ้าคลุมแวววาวประดับดอกไม้สีสด จัดไฟสุมฉายส่องจนสว่างชัดตัดกับบรรยากาศมืดสลัวรายรอบ เหมือนเป็นอนุสาวรีย์ของเจ้าแม่อะไรสักอย่าง

ภาพถ่ายมีอยู่ 3 มุมมอง คือ ภาพยืน ภาพนั่งบนเก้าอี้ และภาพครึ่งตัว ส่วนงานวิดีโอจะเป็นการถ่ายบนรางเลื่อนหมุนรอบตัวศิลปิน 360 องศา จนเห็นแม่พระในทุกมุมมอง ทั้งยืน นั่ง เต็มตัว ครึ่งตัว ทำหน้านิ่ง ยิ้มมุมปาก และปรบมือ ทั้งหมดอยู่ในท่วงท่าสง่างามนิ่งงัน ชวนให้หวั่นเกรง

เป็นจินตภาพอันหลอกตาน่าตื่นตะลึงแปลกปลอมออกจากสภาพแวดล้อม บอกถึงปรากฏการณ์บางอย่างในสังคม ความเป็นหญิงที่น่ายกย่องวางท่าองอาจอยู่กลางวงเวียนในเมืองที่มีรถวิ่งวนไปมา ประดับประดาด้วยเครื่องเคราตามรสนิยมท้องถิ่น เป็นศูนย์กลางทางอุดมคติของกลุ่มชนที่แสดงผ่านสัญลักษณ์ของผู้หญิง หรือเป็นอีกสถานะหนึ่งของสตรี (หรือมนุษย์) ในสังคมที่ศิลปินมองเห็น และใช้ตัวเองเป็นสื่อแสดงออก

ศิลปินเป็นคนไม่ใช่รูปปั้นย่อมทำนิ่งอยู่ได้ไม่นาน เพียงบันทึกเป็นหลักฐานไว้เท่านั้น การอดทนวางท่าทรมานตัวเองอย่างเหนื่อยยาก แฝงน้ำเสียงชื่นชมเห็นใจแกมประชดเหน็บแนมระคนกัน หรือจะเข้าใจว่าเป็นอนุสาวรีย์ของ “Iron Pussy” ก็ได้เหมือนกัน เพราะเธอก็เสียสละต่อสู้กับเหล่าร้ายมาได้หลายปีแล้ว

หรืองานชุด “8/8/08 – 8/8/38” ซึ่งจัดขึ้นที่นำทองแกลเลอรี่ ระหว่างเดือนสิงหาคม ปี 2551 ก็มีความเป็นส่วนตัวอย่างยิ่ง ชื่องานเข้าใจว่ามาจากวันเกิดของศิลปิน ซึ่งมีอายุครบ 44 ปีพอดี 4 + 4 = 8 เป็นเลขมงคลของชาวจีนที่จัดพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกในวันที่ 8 เดือน 8 ปี ค.ศ. 2008 เช่นกัน วันที่ต่อท้ายคงเป็นการมองไปอีก 30 ปีข้างหน้า คือในปี ค.ศ. 2038 ซึ่งศิลปินจะมีอายุ 74 ปี เป็นช่วงที่ต้องผ่านวัยกลางคนเข้าสู่วัยชรา

งานวิดีโอบันทึกการแสดงเป็นภาพศิลปินสวมชุดสีดำอยู่ในห้องมืดดำ ถ่ายในระยะประชิด (close-up) ครึ่งตัว และซูมเข้าไปใกล้จนเห็นผิวหนังที่เริ่มมีริ้วรอยของการกรำชีวิตผ่านวันเวลา เคลื่อนภาพไล่ไปตามอวัยวะต่างๆ บนใบหน้า และหมุนให้เห็นมุมมองโดยรอบ มีเสียงโลกภายนอกแทรกเข้ามาบ้าง ประกอบเสียงศิลปินอ่านบทกวีของ ออสการ์ ไวล์ด ทำเทคนิคซ้อนทับกัน และมีเสียงน้ำไหล สีหน้าของศิลปินแสดงอารมณ์เรียบเฉย ปลดปล่อยผ่อนคลาย และเหมือนจะร้องไห้ในบ้างครั้ง เห็นเม็ดเหงื่อและรูขุมขน หยดน้ำไหลรดศีรษะ

งานภาพถ่ายที่ร่วมแสดงอยู่ด้วยคือ “Khmer-Donna Version -5-“ ปี 2550-2551 เป็นภาพศิลปินอยู่ในคราบหญิงสาวสวมชุดดำ คล้ายเสื้อในโรงพยาบาลหรือสถานที่กักกัน ภาพหนึ่งเธอเอามือไขว้หลัง สบตาเผชิญหน้ากับกล้อง มีป้ายหมายเลข 5 กับ 08 ติดอยู่บนอก กับอีกภาพเธอนั่งหันข้างอุ้มเด็กวัยไม่เกินขวบอยู่บนเตียงเหล็ก ทั้งสองภาพเป็นภาพถ่ายขาวดำให้อารมณ์จริงจังอย่างงานสารคดี

หากอ่านจากชื่อภาพซึ่งเล่นคำ “Khmer-Donna” ที่น่าจะมาจาก “Madonna” อันเป็นสัญลักษณ์ของแม่พระผู้ใจบุญทางคริสต์ศาสนา “Khmer” ก็คือเขมร พอหันไปมองภาพอีกทีก็อาจจะประหวัดนึกไปถึงภาพค่ายกักกันในประเทศกัมพูชาสมัยที่ยังมีสงครามกลางเมือง รวมความแล้วก็คือ “แม่พระของชาวเขมร” ต่อจากนี้ก็สุดแล้วแต่ใครจะตีความตามประสบการณ์และความรู้ของตน

ความพ้องกันของงานทั้งสองชิ้นในนิทรรศการครั้งนี้อยู่ตรงความรู้สึกเกี่ยวกับการกำเนิด จากการครบรอบวันเกิดของศิลปินและภาพผู้หญิงกับเด็ก และยังเกี่ยวข้องกับการดำรงอยู่ในสถานที่อันจำกัด จนต้องเผชิญกับตัวตนของศิลปินอย่างใกล้ชิด ศิลปินอยู่ในห้องที่มืดดำตามลำพัง และภาพถ่ายขาวดำก็ให้ความรู้สึกจริงจังเศร้าหมอง เขาตั้งใจไม่ให้มีสีสันชวนสนุกสนานเหมือนงานชุดอื่น

ความช่างคิดของไมเคิลทำให้งานของเขามีความลุ่มลึกชวนวิเคราะห์ตาม และความช่างสังเกตของเขาก็ดึงประเด็นทางวัฒนธรรมมาเล่นได้อย่างแจ่มชัดและหลากความหมาย แล้วแต่ภูมิหลังของผู้ตีความ เขาจึงเป็นตัวอย่างของศิลปินที่ใช้สื่อได้ทรงพลังยิ่ง แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าสิ่งที่ทำให้งานของไมเคิลมีน้ำหนักของคุณค่าอยู่เสมอก็คือจิตสำนึกเชิงสังคม และสำนึกนี่เองจะทำให้เขาเป็นศิลปินที่น่านับถือชื่นชมของผู้คนไปตลอด.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น