วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

สุขสันต์ เหมือนนิรุทธ์/สันติภาพ นาโค : เสียงแห่งทุกขารมณ์/เสียงแห่งมนุษยธรรม

โลกของสุขสันต์ : ดินแดนของสันติภาพ / สุขสันต์ เหมือนนิรุทธ์ (สันติภาพ นาโค) / หอศิลป์ g23 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 23 กรกฎาคม – 29 ธันวาคม 2554

พระเจ้าองค์ใหม่, ปากกาบนกระดาษ ปี 2550/2552, 61.5x44 ซม.

[พระเจ้าองค์ใหม่, ปากกาบนกระดาษ ปี 2550/2552, 61.5x44 ซม.]

งานศิลปะเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ของสังคม แต่ไม่ใช่บันทึกข้อเท็จจริง เป็นบันทึกของมโนทัศน์และอารมณ์ความรู้สึกของศิลปิน อันเป็นภาพแทนวัฒนธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง

หอศิลป์ g23 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จัดแสดงนิทรรศการศิลปะ “โลกของสุขสันต์ : ดินแดนของสันติภาพ” รวบรวมงานจิตรกรรมลายเส้นและบทกวีของ สุขสันต์ เหมือนนิรุทธ์ หรือนามแฝง “สันติภาพ นาโค” ซึ่งสร้างสรรค์ขึ้นในช่วงกว่า 25 ปี ระหว่างปี 2525-2553 งานจิตรกรรมของสุขสันต์อยู่ในแนวแบบที่เรียกกันว่าศิลปะเพื่อชีวิต หรือ Social Realism ซึ่งเน้นสะท้อนปัญหาความเป็นจริงในสังคม อันเป็นแนวนิยมที่แพร่หลายพร้อมกับการตื่นตัวของความคิดเชิงสังคม นับแต่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ปี 2516 เรื่อยมา จนบังเกิดเป็นแบบแผนทั้งทางวรรณกรรม ดนตรี และศิลปะ ซึ่งมีการสร้างสรรค์และทำซ้ำเป็นกลุ่มก้อนทางวัฒนธรรมที่ชัดเจน และยังคงมีบทบาทในสังคมไทยร่วมสมัยสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

งานของสุขสันต์ที่จัดแสดงเป็นตัวอย่างที่สมบูรณ์ในการศึกษาแนวแบบดังกล่าว ทั้งทางทัศนศิลป์และวรรณกรรม เพราะเขาเขียนภาพประกอบบทกวีด้วยปากกา แท่งถ่าน ดินสอ และหมึกดำ เป็นวาดเส้นขาวดำบนกระดาษในรูปแบบเดียวกัน ทำมาอย่างต่อเนื่องร่วม 700 ชิ้น ส่วนหนึ่งเคยตีพิมพ์รวมเล่มเป็นหนังสือ “เพลงขลุ่ยเหนือทุ่งข้าว” ในปี 2526 และได้รับการคัดสรรจัดแสดงในนิทรรศการนี้เอง

ตามประวัตินั้น สุขสันต์ เหมือนนิรุทธ์ เกี่ยวพันใกล้ชิดกับแผนกศิลปะ เทคนิคโคราช หรือปัจจุบันคือคณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลนครราชสีมา ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของนักศึกษาหัวก้าวหน้าในเขตภาคอีสานมาตั้งแต่ยุคแสวงหา มีการเคลื่อนไหวด้านศิลปะและวัฒนธรรมที่ขับเคลื่อนด้วยความคิดเชิงสังคมอย่างกระตือรือร้นในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ทั้งในภาคอีสาน และการจัดแสดงคัตเอาท์การเมืองในกรุงเทพฯ กระทั่งโดนกล่าวหาจากเจ้าหน้าที่รัฐว่าเป็นที่ทำการของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และโดนกวาดล้างในช่วงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ปี 2519

อาจารย์และศิลปินที่มีบทบาทสำคัญในช่วงเวลานั้นคือ ทวี รัชนีกร นักศึกษาที่มีชื่อเสียงในภายหลังก็เช่น พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ, มงคล อุทก, ทองกราน ทานา, สุรพล ปัญญาวชิระ และเทอดเกียรติ พรหมนอก ส่วนสุขสันต์นั้นเป็นนักศึกษาและอาจารย์ในเวลาต่อมา หลังจากโดนจับกุมคุมขังด้วยข้อกล่าวหาทางการเมือง เขาก็ไปเป็นครูสอนศิลปะอยู่ที่ขอนแก่น และทำงานศิลปะสม่ำเสมอ

งานจิตรกรรมที่จัดแสดงในนิทรรศการแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ ชีวิตสุขสันต์ ธรรมสุขสันต์ รักสุขสันต์ และสังคมสุขสันต์ ตามเนื้อหาที่ขับเน้น

งานศิลปะตามความคุ้นเคยย่อมเป็นเรื่องของความสวยงาม แต่ศิลปะเพื่อชีวิตต้องการบีบเค้นความรู้สึกสะเทือนใจด้วยการนำเสนอด้านที่ทุกข์ยากของผู้คน เพื่อมุ่งให้ตระหนักและเกิดการเปลี่ยนแปลง หลักสุนทรียศาสตร์ของศิลปะแนวนี้จึงเน้นหนักไปที่เนื้อหามากกว่ารูปแบบ เป็นเนื้อหาในลักษณะศีลธรรมนิยมที่มีเป้าหมายจำเพาะ มากกว่าที่จะปล่อยให้คิดฝันอย่างอิสระ

ภาพชีวิตคนของสุขสันต์จึงเป็นเรื่องราวของผู้ใช้แรงงาน ชาวนายากจน แม่ค้าเร่ ครอบครัวยากไร้ คนชรา คนตกอับ ธรรมชาติอันโหดร้าย และเมืองที่แออัดทรุดโทรม ลายเส้นวาดด้วยปากกาหรือดินสอขับเน้นน้ำหนักเข้มข้นคมชัดแข็งกร้าว แสดงรูปทรงที่ลดทอน แต่งเติม หรือบิดผันให้เกินจริงไปตามอารมณ์ของเรื่องราว แต่ยังคงเข้าใจง่ายไม่ซับซ้อน ตามแนวนิยมของศิลปะเพื่อชีวิตที่ต้องการสื่อสารกับคนหมู่มาก

บทกวีของเขาก็ใช้ถ้อยคำเรียบง่ายชัดเจน เป็นร้อยแก้วและร้อยกรองที่เชื่อมสัมผัสกันด้วยฉันทลักษณ์ที่ไม่เคร่งครัดนัก เพียงให้เกิดจังหวะที่คล้องจองและกระชับในใจความ เช่น บท “ขุดดิน”

“ฉันเรียนแค่ชั้นปอสี่ / สิ่งที่มีคือแรงแข็งขยัน / รับจ้างขุดดินทุกวัน / ผิวกร้านหน้าดำคล้ำหมอง / หากินกันตายไร้ค่า / ยากจนทั่วหน้าพี่น้อง / ไร้ทรัพย์สินสิ้นเงินทอง / มีท้องร้องหิวทุกวี่วัน”

เพทนาการที่ปรากฏให้รับรู้และพิสูจน์ด้วยความต่อเนื่องยาวนาน บ่งบอกว่าศิลปินมิได้สร้างงานตามแนวนิยมเท่านั้น แต่เป็นความรู้สึกจริงแท้ของตนเอง ด้วยความต้องการที่จะแสดงสัจจะของชีวิตที่พบเห็น เพียงแต่อาจมองผ่านกรอบความคิดที่ได้ศึกษามาเป็นพื้นฐาน

ดังจะเห็นว่าสุขสันต์ไม่ได้มองความทุกข์ยากของชีวิตด้วยความคิดเชิงสังคมเท่านั้น เขายังมองผ่านกรอบของพุทธปรัชญา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอนิจจัง ความไม่เที่ยงแท้ สภาพและเหตุแห่งทุกข์ กิเลส ตัณหา ความอยาก ความไม่รู้ เรื่องของกรรม ตลอดจนอนิจจัง หรือความว่างเปล่า ความเลวร้ายที่ศิลปินแสดงให้เห็นจึงมิได้มาจากความไม่เป็นธรรมในสังคมอย่างเดียว แต่เป็นแก่นสารในธรรมชาติของชีวิตนั้นด้วย

ภาพเปรียบที่ทรงพลังในเสียงบริภาษยังคงเป็นความไม่เท่าเทียมกันในสังคมนั่นเอง เป็นมโนทัศน์ที่สะท้อนความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นธรรมในระบบการผลิตของสังคม หรือแสดงความขัดแย้งทางชนชั้นอย่างลัทธิมาร์ก เช่น ภาพท่อน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมกับผืนดินเกษตรกรรมที่แตกระแหง ภาพท้องถนนในเมืองที่แออัดไปทั้งคนจนคนรวย ภาพคนตกทุกข์ได้ยากน่าสมเพชเวทนา หรือภาพฝูงชนอ่อนล้าเบียดเสียดร้องขอ

การสำรวจชีวิตและสังคมเช่นนี้มิได้กลายเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองดาษดื่น เพราะศิลปินมีความเห็นอกเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์อยู่ในสำนึก หรืออาจเรียกว่าเป็นมนุษยธรรมของเขาเอง มากกว่าที่จะทำขึ้นด้วยเป้าประสงค์อื่นใด ดังเช่นภาพที่เขาสะท้อนความรักในหมู่ผู้ยากไร้ออกมาได้อย่างงดงามในอารมณ์ ด้วยความขัดตาระหว่างสภาพที่ทรุดโทรมกับความอ่อนโยนที่ปรากฏออกมา ทั้งความรักของแม่กับลูก ความรักของคู่ชีวิต ความรักของครอบครัว หรือความรักของครูที่มีต่อศิษย์

บางส่วนที่กล่าวถึงอำนาจและการเมืองด้วยความเข้าใจประสบการณ์ชีวิตมีความเป็นสากลไม่น้อย แนวคิดทางสังคมและการเมืองของสุขสันต์ไม่โดดเด่นเท่าน้ำเสียงเชิงมนุษยธรรม สัญลักษณ์ที่ใช้ยังทำซ้ำอยู่ในแนวขนบที่คุ้นตา อย่างมุมมองต่อนักการเมือง ทหาร หรือการต่อสู้ของประชาชน ภาพวาดเส้นและบทกวีส่งเสริมซึ่งกันและกัน และมีความคมชัดไม่ด้อยไปกว่ากัน

ความจริงในงานศิลปะนั้นไม่ใช่ข้อเท็จจริง แต่เป็นประสบการณ์และทักษะส่วนบุคคลของศิลปินที่แสดงออกผ่านเครื่องมือของตน ประวัติศาสตร์ของสังคมในงานศิลปะจึงเป็นประวัติศาสตร์ของแบบแผนทางศิลปะ และความหมายในเชิงวัฒนธรรมของตัวมันเอง.

[พิมพ์ครั้งแรก: Vote]

วันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

กฤช งามสม : วัสดุสรรผสาน/คตินิยมผสมผเส

Already Mades / กฤช งามสม / Number 1 Gallery, 17 กันยายน – 31 ตุลาคม 2554

“สรวงสวรรค์ของ...ดูซองค์” ปี 2554, สื่อผสม 49x88x180 ซม.

[“สรวงสวรรค์ของ...ดูซองค์” ปี 2554, สื่อผสม 49x88x180 ซม.]

เป็นศิลปินรุ่นใหม่อีกคนที่สร้างชื่อจากงานสื่อผสมจัดวางที่นำวัสดุสำเร็จรูปในชีวิตประจำวันมาประดิษฐ์ดัดแปลง เพื่อสื่อประสบการณ์และมโนทัศน์ของตน ซึ่งโดดเด่นด้วยจินตนาการที่ประกอบขึ้นมาจากข้าวของเครื่องใช้เหล่านั้น การแปลงรูปของเขาเล่นล้อกับหน้าที่หรือสัญลักษณ์และสร้างความหมายใหม่ขึ้นมา

กฤช งามสม แสดงผลงานเดี่ยวครั้งแรกในโครงการ Brand New 2008 ในชื่อนิทรรศการ “เทคโนโลยีตลาดล่าง จากประสบการณ์ลูกทุ่ง” (My Folk Experience of Kinetic Technology) ซึ่งเขาใช้ความซื่อและอารมณ์ขันในวิถีชีวิตและวิธีคิดแบบชาวบ้านต่างจังหวัด มาตีความและดัดแปลงกลไกหรือหน้าที่ของวัตถุซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ซึ่งเป็นวัสดุที่มีเสน่ห์ในรูปลักษณ์และบ่งบอกภูมิหลังในตัวเอง

เช่น เขานำบาตรพระมาเชื่อมต่อเรียงกัน แล้วขึงปากเป็นกลอง ทำกลไกให้ไม้ตีเป็นจังหวะ ในงาน “กลองเพล” (ปี 2551) นำโคมไฟมาดัดแปลงเป็นที่เลี้ยงปลาในงาน “โคมมัจฉา” (ปี 2551) นำตู้โบราณมาใส่ก้อนหินและกลไกเคลื่อนไหวในงาน “ตู้ทองเคลื่อนที่” (ปี 2551) นำถ้วยรางวัลมาวางบนแท่นอันดับหนึ่งที่ตัดฐานอันดับสองและสามออกเสียครึ่งหนึ่ง พร้อมกับใส่ธงชาติจำลองที่ขยับไปมา ในงาน “ถ้วยทอง” (ปี 2550) นำพัดลมโบราณสองตัวมาครอบโครงให้เผชิญหน้ากัน และเป่าลมใส่กัน ในงาน “พัดลมระบำ” (ปี 2551) นอกจากนี้เขายังนำดอกลำโพงมาใส่แทนใบพัดลม แล้วนำไปติดตั้งให้ส่ายไปมาอยู่หน้าไมโครโฟน จนเกิดเสียงสัญญาณสะท้อนเป็นจังหวะ

กฤชนำวัตถุเหล่านี้มาจากย่านการค้าต่างๆ แล้วทำให้มีชีวิตเคลื่อนไหวหรือเปล่งแสงด้วยกลไกและจินตนาการของเขา จนก่อให้เกิดความหมายอื่น นอกเหนือจากประโยชน์ใช้สอยของมัน เป็นความหมายที่สะท้อนถ่ายพฤติกรรมของมนุษย์ในลักษณะของการล้อเลียนด้วยวัตถุที่ไม่มีชีวิตเหล่านี้เอง

เป็นจินตภาพที่บอกภูมิหลังมากกว่านั้น อย่างงานชุด “เรื่องเล่าจากคลองถม” (Tales from Klong Tom) (ปี 2551) ซึ่งจัดแสดงในนิทรรศการ “กรุงเทพฯ 226” เขานำวัตถุราคาถูกสีสันจัดจ้านมาดัดแปลงประกอบเข้าด้วยกัน อย่างพวงโคมไฟจากไฟฉาย พัดลมสองตัวที่ประกบหน้าเข้าหากัน และส่ายไปมาที่ฐานล่างซึ่งติดล้อ หรือโทรศัพท์พลาสติกหลอมเหลว ทั้งหมดต่างพากันเคลื่อนไหว ส่งเสียง หรือส่องแสง บอกบรรยากาศวุ่นวายแบบตลาดนัดของชาวบ้าน

งานชุดใหม่ของ กฤช งามสม ไม่ใช่วัสดุเก็บตกหรือวัสดุสำเร็จรูปที่มีอยู่แล้ว แต่เป็นประติมากรรมสื่อผสมที่ทำขึ้นมาใหม่โดยเฉพาะ สิ่งที่เขาเก็บตกมาคือภาพลักษณ์ของงานศิลปะชิ้นสำคัญจากศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับโลก ผสมผเสกับภาพลักษณ์ที่คุ้นเคยจากชีวิตประจำวัน เป็นศิลปะพันธุ์ผสมที่ผสานรสนิยมของศิลปะสมัยใหม่กับวัฒนธรรมชาวบ้านเข้าด้วยกัน กลายเป็นผลงานที่สามารถรับรู้ได้ทั้งจากประสบการณ์ทางศิลปะ หรือความสนุกบันเทิงอย่างมหรสพชาวบ้าน ด้วยประติมากรรมสีสันสดใส ประกอบด้วยแสงสีเสียงและการเคลื่อนไหวอันน่าตื่นตาตื่นใจ ทำให้นิทรรศการศิลปะครั้งนี้มีบรรยากาศเหมือนเป็นงานวัดจำลอง

กฤชตั้งชื่องานชุดนี้ว่า “Already Mades” เป็นการนำผลงานของศิลปินคนสำคัญมาทำใหม่ ทั้งคารวะและล้อเลียนไปพร้อมกัน อย่าง Marcel Duchamp, Salvador Dali, Num June Paik, Jeff Koon และ Damien Hirst และสิ่งที่เขานำมาเปรียบเปรยประสมปนเปก็คือมโนภาพจากความคุ้นเคยอย่างชาวบ้านในสังคมไทยนี่เอง

เช่น งาน “สรวงสวรรค์ของ...ดูซองค์” (Duchamp’s Heaven) เขานำงาน “Bicycle Wheel” ของดูชองป์ ซึ่งเป็นการปฏิวัติศิลปะสมัยใหม่ด้วยการใช้วัสดุสำเร็จรูปอย่างวงล้อจักรยานมาติดตั้งบนเก้าอี้เป็นประติมากรรม กฤชนำมาทำใหม่ด้วยการประดิษฐ์ชิงช้าสวรรค์จำลองติดตั้งแทน เล่นล้อระหว่างรูปทรงละม้ายเหมือนของวงล้อจักรยานกับชิงช้าสวรรค์ แล้วก็ติดกลไกไฟฟ้าให้หมุน คนที่คุ้นเคยกับศิลปะสมัยใหม่ย่อมประหวัดถึงงานของดูชองป์ ส่วนคนที่คุ้นเคยกับงานวัดย่อมนึกถึงประสบการณ์กับชิงช้าสวรรค์

งาน “โถ...คุณ Mutt” (R.Mutt’s Toilet) เขาอ้างอิงงาน “Fountain” ของดูชองป์ ซึ่งนำโถปัสสาวะชายมาเซ็นชื่อ “R.Mutt” แล้วส่งเข้าแสดงในนิทรรศการศิลปะ กริชก็นำรูปทรงของโถปัสสาวะมาจำลอง แล้วติดตั้งเรียงกันขึ้นเป็นชั้นในอ่างน้ำพุประดับของจริง

งาน “เซอร์เรียวเร่าร้อน” (Surrealism Spiced) เขาอ้างอิงงาน “Lobster Telephone” ของดาลีที่นำรูปทรงกุ้งมาทำเป็นหูโทรศัพท์ เปรียบกับรูปทรงของหม้อไฟต้มยำกุ้งสีแดงสด ผ่าครึ่งกั้นกลางและลวงตาด้วยกระจกเงา

งาน “งานวัดของผม...วิดีโอของ Paik” (My Temple Fair) เขาอ้างอิงงาน “TV Buddha” ของ นัม จูน ไปค์ ซึ่งนำพระพุทธรูปปางสมาธิมาจัดวางเผชิญหน้ากับกล้องและจอโทรทัศน์ และปรากฏภาพของพระพุทธรูปในจอนั้น กฤชนำมาดัดแปลงด้วยนัยประหวัดถึงหนังกลางแปลงที่ฉายในวัด ท่ามกลางพระพุทธรูปรายล้อมพระหัตถ์ปางประทานพรที่เหมือนจะเป็นเครื่องฉายลงบนจอ และยังมีจอมอนิเตอร์ขนาดเล็กเลี่ยมกรอบทอง ฉายภาพพระเครื่องรุ่นต่างๆ สลับกัน

งาน “คิดถึงคุณ” (Kitsch-tung-Koons – I Miss You) อ้างอิงงาน “Balloon Dog” ของ เจฟฟ์ คูนส์ ด้วยการจำลองตุ๊กตาสุนัขที่ไร้รสนิยมและแฝงกามรมณ์ของคูนส์มาทำใหม่ในรูปม้าหมุน

และงาน “เฮิร์ต...ผมหิว” (Damien I’m Famished!) อ้างอิงงาน “The Physical Impossibility of Death in the Mind of Someone Living” ของ เดเมียน เฮิร์ต ซึ่งนำซากปลาฉลามมาดองอยู่ในตู้กระจก กฤชทำเป็นหุ่นจำลองปลาฉลามที่กำลังพุ่งทะลุตู้กระจกไปหาฝูงปลาจำลองที่เคลื่อนไหวด้วยกลไกอยู่เบื้องหน้า

อันที่จริงศิลปินที่กฤชเลือกมาอ้างถึงล้วนเป็นผู้แปรสภาพของสามัญให้กลายเป็นศิลปะชิ้นเอก ด้วยการปรับเปลี่ยนแก่นสารที่นำเสนออย่างรุนแรง แม้ตัวสื่อนั้นจะไม่ใช่วัตถุทางศิลปะโดยกำเนิดก็ตาม ทั้งยังหยิบยืมมาจากบริบทอื่น แล้วกฤชก็นำงานศิลปะเหล่านั้นย้อนกลับมาผสมปนเปกับวัฒนธรรมสามัญอีกครั้งหนึ่ง จนเกิดลักษณะก้ำกึ่งอยู่ในอารมณ์ขันและความขี้เล่น และยังแตกประเด็นออกไปได้ตามนัยยะที่เกี่ยวข้อง

การแปลงรูปซ้ำอีกครั้งอาจก่อให้เกิดความสงสัยต่อคุณค่าเชิงสุนทรียะและการลอกเลียน หากขาดแนวคิดที่ชัดเจนรองรับ การจำลองแบบพลาสติกของกฤชก็อาจเป็นแค่ของเล่นที่เรียกอารมณ์ขัน หากขาดความจริงเชิงปรัชญา ซึ่งจะได้มาจากความวิตกกังวลที่เป็นแรงกดดันภายในตัวของศิลปินเอง

กระนั้น กฤช งามสม ก็เป็นพ่อมดสื่อผสมที่เล่นแร่แปรธาตุวัตถุและความคิดได้อย่างมีเสน่ห์น่าติดตาม.

[พิมพ์ครั้งแรก: Vote]