Already Mades / กฤช งามสม / Number 1 Gallery, 17 กันยายน – 31 ตุลาคม 2554
[“สรวงสวรรค์ของ...ดูซองค์” ปี 2554, สื่อผสม 49x88x180 ซม.]
เป็นศิลปินรุ่นใหม่อีกคนที่สร้างชื่อจากงานสื่อผสมจัดวางที่นำวัสดุสำเร็จรูปในชีวิตประจำวันมาประดิษฐ์ดัดแปลง เพื่อสื่อประสบการณ์และมโนทัศน์ของตน ซึ่งโดดเด่นด้วยจินตนาการที่ประกอบขึ้นมาจากข้าวของเครื่องใช้เหล่านั้น การแปลงรูปของเขาเล่นล้อกับหน้าที่หรือสัญลักษณ์และสร้างความหมายใหม่ขึ้นมา
กฤช งามสม แสดงผลงานเดี่ยวครั้งแรกในโครงการ Brand New 2008 ในชื่อนิทรรศการ “เทคโนโลยีตลาดล่าง จากประสบการณ์ลูกทุ่ง” (My Folk Experience of Kinetic Technology) ซึ่งเขาใช้ความซื่อและอารมณ์ขันในวิถีชีวิตและวิธีคิดแบบชาวบ้านต่างจังหวัด มาตีความและดัดแปลงกลไกหรือหน้าที่ของวัตถุซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ซึ่งเป็นวัสดุที่มีเสน่ห์ในรูปลักษณ์และบ่งบอกภูมิหลังในตัวเอง
เช่น เขานำบาตรพระมาเชื่อมต่อเรียงกัน แล้วขึงปากเป็นกลอง ทำกลไกให้ไม้ตีเป็นจังหวะ ในงาน “กลองเพล” (ปี 2551) นำโคมไฟมาดัดแปลงเป็นที่เลี้ยงปลาในงาน “โคมมัจฉา” (ปี 2551) นำตู้โบราณมาใส่ก้อนหินและกลไกเคลื่อนไหวในงาน “ตู้ทองเคลื่อนที่” (ปี 2551) นำถ้วยรางวัลมาวางบนแท่นอันดับหนึ่งที่ตัดฐานอันดับสองและสามออกเสียครึ่งหนึ่ง พร้อมกับใส่ธงชาติจำลองที่ขยับไปมา ในงาน “ถ้วยทอง” (ปี 2550) นำพัดลมโบราณสองตัวมาครอบโครงให้เผชิญหน้ากัน และเป่าลมใส่กัน ในงาน “พัดลมระบำ” (ปี 2551) นอกจากนี้เขายังนำดอกลำโพงมาใส่แทนใบพัดลม แล้วนำไปติดตั้งให้ส่ายไปมาอยู่หน้าไมโครโฟน จนเกิดเสียงสัญญาณสะท้อนเป็นจังหวะ
กฤชนำวัตถุเหล่านี้มาจากย่านการค้าต่างๆ แล้วทำให้มีชีวิตเคลื่อนไหวหรือเปล่งแสงด้วยกลไกและจินตนาการของเขา จนก่อให้เกิดความหมายอื่น นอกเหนือจากประโยชน์ใช้สอยของมัน เป็นความหมายที่สะท้อนถ่ายพฤติกรรมของมนุษย์ในลักษณะของการล้อเลียนด้วยวัตถุที่ไม่มีชีวิตเหล่านี้เอง
เป็นจินตภาพที่บอกภูมิหลังมากกว่านั้น อย่างงานชุด “เรื่องเล่าจากคลองถม” (Tales from Klong Tom) (ปี 2551) ซึ่งจัดแสดงในนิทรรศการ “กรุงเทพฯ 226” เขานำวัตถุราคาถูกสีสันจัดจ้านมาดัดแปลงประกอบเข้าด้วยกัน อย่างพวงโคมไฟจากไฟฉาย พัดลมสองตัวที่ประกบหน้าเข้าหากัน และส่ายไปมาที่ฐานล่างซึ่งติดล้อ หรือโทรศัพท์พลาสติกหลอมเหลว ทั้งหมดต่างพากันเคลื่อนไหว ส่งเสียง หรือส่องแสง บอกบรรยากาศวุ่นวายแบบตลาดนัดของชาวบ้าน
งานชุดใหม่ของ กฤช งามสม ไม่ใช่วัสดุเก็บตกหรือวัสดุสำเร็จรูปที่มีอยู่แล้ว แต่เป็นประติมากรรมสื่อผสมที่ทำขึ้นมาใหม่โดยเฉพาะ สิ่งที่เขาเก็บตกมาคือภาพลักษณ์ของงานศิลปะชิ้นสำคัญจากศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับโลก ผสมผเสกับภาพลักษณ์ที่คุ้นเคยจากชีวิตประจำวัน เป็นศิลปะพันธุ์ผสมที่ผสานรสนิยมของศิลปะสมัยใหม่กับวัฒนธรรมชาวบ้านเข้าด้วยกัน กลายเป็นผลงานที่สามารถรับรู้ได้ทั้งจากประสบการณ์ทางศิลปะ หรือความสนุกบันเทิงอย่างมหรสพชาวบ้าน ด้วยประติมากรรมสีสันสดใส ประกอบด้วยแสงสีเสียงและการเคลื่อนไหวอันน่าตื่นตาตื่นใจ ทำให้นิทรรศการศิลปะครั้งนี้มีบรรยากาศเหมือนเป็นงานวัดจำลอง
กฤชตั้งชื่องานชุดนี้ว่า “Already Mades” เป็นการนำผลงานของศิลปินคนสำคัญมาทำใหม่ ทั้งคารวะและล้อเลียนไปพร้อมกัน อย่าง Marcel Duchamp, Salvador Dali, Num June Paik, Jeff Koon และ Damien Hirst และสิ่งที่เขานำมาเปรียบเปรยประสมปนเปก็คือมโนภาพจากความคุ้นเคยอย่างชาวบ้านในสังคมไทยนี่เอง
เช่น งาน “สรวงสวรรค์ของ...ดูซองค์” (Duchamp’s Heaven) เขานำงาน “Bicycle Wheel” ของดูชองป์ ซึ่งเป็นการปฏิวัติศิลปะสมัยใหม่ด้วยการใช้วัสดุสำเร็จรูปอย่างวงล้อจักรยานมาติดตั้งบนเก้าอี้เป็นประติมากรรม กฤชนำมาทำใหม่ด้วยการประดิษฐ์ชิงช้าสวรรค์จำลองติดตั้งแทน เล่นล้อระหว่างรูปทรงละม้ายเหมือนของวงล้อจักรยานกับชิงช้าสวรรค์ แล้วก็ติดกลไกไฟฟ้าให้หมุน คนที่คุ้นเคยกับศิลปะสมัยใหม่ย่อมประหวัดถึงงานของดูชองป์ ส่วนคนที่คุ้นเคยกับงานวัดย่อมนึกถึงประสบการณ์กับชิงช้าสวรรค์
งาน “โถ...คุณ Mutt” (R.Mutt’s Toilet) เขาอ้างอิงงาน “Fountain” ของดูชองป์ ซึ่งนำโถปัสสาวะชายมาเซ็นชื่อ “R.Mutt” แล้วส่งเข้าแสดงในนิทรรศการศิลปะ กริชก็นำรูปทรงของโถปัสสาวะมาจำลอง แล้วติดตั้งเรียงกันขึ้นเป็นชั้นในอ่างน้ำพุประดับของจริง
งาน “เซอร์เรียวเร่าร้อน” (Surrealism Spiced) เขาอ้างอิงงาน “Lobster Telephone” ของดาลีที่นำรูปทรงกุ้งมาทำเป็นหูโทรศัพท์ เปรียบกับรูปทรงของหม้อไฟต้มยำกุ้งสีแดงสด ผ่าครึ่งกั้นกลางและลวงตาด้วยกระจกเงา
งาน “งานวัดของผม...วิดีโอของ Paik” (My Temple Fair) เขาอ้างอิงงาน “TV Buddha” ของ นัม จูน ไปค์ ซึ่งนำพระพุทธรูปปางสมาธิมาจัดวางเผชิญหน้ากับกล้องและจอโทรทัศน์ และปรากฏภาพของพระพุทธรูปในจอนั้น กฤชนำมาดัดแปลงด้วยนัยประหวัดถึงหนังกลางแปลงที่ฉายในวัด ท่ามกลางพระพุทธรูปรายล้อมพระหัตถ์ปางประทานพรที่เหมือนจะเป็นเครื่องฉายลงบนจอ และยังมีจอมอนิเตอร์ขนาดเล็กเลี่ยมกรอบทอง ฉายภาพพระเครื่องรุ่นต่างๆ สลับกัน
งาน “คิดถึงคุณ” (Kitsch-tung-Koons – I Miss You) อ้างอิงงาน “Balloon Dog” ของ เจฟฟ์ คูนส์ ด้วยการจำลองตุ๊กตาสุนัขที่ไร้รสนิยมและแฝงกามรมณ์ของคูนส์มาทำใหม่ในรูปม้าหมุน
และงาน “เฮิร์ต...ผมหิว” (Damien I’m Famished!) อ้างอิงงาน “The Physical Impossibility of Death in the Mind of Someone Living” ของ เดเมียน เฮิร์ต ซึ่งนำซากปลาฉลามมาดองอยู่ในตู้กระจก กฤชทำเป็นหุ่นจำลองปลาฉลามที่กำลังพุ่งทะลุตู้กระจกไปหาฝูงปลาจำลองที่เคลื่อนไหวด้วยกลไกอยู่เบื้องหน้า
อันที่จริงศิลปินที่กฤชเลือกมาอ้างถึงล้วนเป็นผู้แปรสภาพของสามัญให้กลายเป็นศิลปะชิ้นเอก ด้วยการปรับเปลี่ยนแก่นสารที่นำเสนออย่างรุนแรง แม้ตัวสื่อนั้นจะไม่ใช่วัตถุทางศิลปะโดยกำเนิดก็ตาม ทั้งยังหยิบยืมมาจากบริบทอื่น แล้วกฤชก็นำงานศิลปะเหล่านั้นย้อนกลับมาผสมปนเปกับวัฒนธรรมสามัญอีกครั้งหนึ่ง จนเกิดลักษณะก้ำกึ่งอยู่ในอารมณ์ขันและความขี้เล่น และยังแตกประเด็นออกไปได้ตามนัยยะที่เกี่ยวข้อง
การแปลงรูปซ้ำอีกครั้งอาจก่อให้เกิดความสงสัยต่อคุณค่าเชิงสุนทรียะและการลอกเลียน หากขาดแนวคิดที่ชัดเจนรองรับ การจำลองแบบพลาสติกของกฤชก็อาจเป็นแค่ของเล่นที่เรียกอารมณ์ขัน หากขาดความจริงเชิงปรัชญา ซึ่งจะได้มาจากความวิตกกังวลที่เป็นแรงกดดันภายในตัวของศิลปินเอง
กระนั้น กฤช งามสม ก็เป็นพ่อมดสื่อผสมที่เล่นแร่แปรธาตุวัตถุและความคิดได้อย่างมีเสน่ห์น่าติดตาม.
[พิมพ์ครั้งแรก: Vote]
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น