วันจันทร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

เมล็ดพันธุ์ที่รอวันงอกงาม

ซ่อนไว้ในสิม : ก-อ ในชีวิตอีสาน / อู่ทอง ประศาสน์วินิจฉัย / Fullstop, พิมพ์ครั้งแรก ปี 2551

ซ่อนไว้ในสิม : ก-อ ในชีวิตอีสาน / อู่ทอง ประศาสน์วินิจฉัย

คนอีสานเรียกโบสถ์ว่า “สิม” ซึ่งน่าจะมาจากคำว่า “สีมา” หรือ “เสมา” สิมแต่ดั้งเดิมนอกจากจะเป็นศาสนสถานสำคัญที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางสงฆ์แล้ว ยังเป็นเครื่องสะท้อนภูมิปัญญาของชาวอีสานด้วย ตั้งแต่รูปแบบสถาปัตยกรรมที่ใช้วัสดุท้องถิ่นในการก่อสร้างเสียเป็นส่วนใหญ่ และยังมีรูปทรงที่เรียบง่าย พอเหมาะ สมถะ และหนักแน่น บ่งบอกปรัชญาในการดำเนินชีวิต รวมทั้งการตีความพุทธธรรมด้วยประสบการณ์ท้องถิ่น

สิมจึงมีความงามที่ควรค่าแก่การพินิจพิจารณา

นอกจากนี้สิมยังประดับด้วยจิตรกรรมฝาผนังที่เรียกว่า “ฮูปแต้ม” ซึ่ง “ช่างแต้ม” ชาวอีสานได้รังสรรค์ขึ้นอย่างอิสระ ภายใต้ขนบประเพณีของตนเอง เพราะห่างไกลจากแบบแผนศิลปกรรมของช่างหลวง จิตรกรรมฝาผนังบนสิมจึงเต็มไปด้วยลักษณะเฉพาะตัว มีความบริสุทธิ์จริงใจในการแสดงออก ขณะเดียวกันก็บันทึกวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอีสานลงไปอย่างซื่อตรง จนเรียกได้ว่าสิมก็คือยุ้งฉางทางวัฒนธรรมของชาวอีสาน ซึ่งช่วยเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์แห่งภูมิปัญญาไว้ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้เพื่อบ่มเพาะเป็นความเจริญงอกงามต่อไปเบื้องหน้า

แบบอย่างทางศิลปะของงานจิตรกรรมที่ประดับอยู่บนผนังสิมยังมีคุณค่าในเชิงสุนทรียภาพ เนื่องจากสิมโดยทั่วไปจะมีขนาดเล็ก ภายในเพียงพอแก่การทำพิธีของพระสงฆ์เท่านั้น จิตรกรรมฝาผนังภายในสิมก็จะเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับศาสนาโดยตรงด้วย เช่น ภาพพุทธประวัติ เป็นต้น ผนังภายนอกสิมนั่นเองที่เป็นพื้นที่วาดภาพตกแต่งด้วยเรื่องราวที่เปิดกว้างและเป็นอิสระกว่า แม้จะอิงอยู่กับคำสอนทางศาสนา เช่น เรื่องชาดกต่างๆ หรือวรรณคดีที่นิยมในท้องถิ่น แต่ศิลปินก็สามารถสอดแทรกจินตนาการหรือแรงบันดาลใจส่วนตัวได้อย่างคล่องมือ การแสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึกก็ทำได้โดยซื่อ ลีลาที่บริสุทธิ์จริงใจเป็นความงามแบบดิบๆ ในลักษณะเดียวกับงานกราฟฟิตี้ที่นิยมกันในศิลปะร่วมสมัย

รวมทั้งวัสดุที่ใช้รองรับและสีซึ่งได้มาจากธรรมชาติพื้นถิ่นยังให้เสน่ห์เฉพาะตัว

หนังสือ “ซ่อนไว้ในสิม : ก-อ ในชีวิตอีสาน” ที่เรียบเรียงโดย อู่ทอง ประศาสน์วินิจฉัย เป็นงานรวบรวมความรู้ในเชิงสังคมวิทยาของชาวอีสานที่ปรากฏอยู่ในจิตรกรรมฝาผนังของสิมหลายแห่ง อันเป็นการชี้ให้เห็นคุณค่าของ “ฮูปแต้ม” เหล่านั้นในเชิงเนื้อหา ว่าซ่อนองค์ความรู้อันลึกซึ้งเช่นไรไว้บ้าง

เนื้อหาของหนังสือไล่เรียงตามลำดับตัวอักษรของคำสำคัญ และใช้รูปพชัญชนะของภาษาไทยน้อย ซึ่งเป็นตัวหนังสือที่ใช้กันในอีสานก่อนที่จะมีการปฏิรูปการศึกษาในสมัยรัชกาลที่ 5 เพราะฉะนั้นจึงมีอยู่ทั้งหมด 25 คำ 25 รูปพยัญชนะ ตั้งแต่ ก.กองฮด จนถึง อ.อาชีพ

วิธีการเล่าเรื่องของอู่ทองเป็นแบบลำลอง เหมือนเขียนจดหมายให้เพื่อนอ่าน เพราะฉะนั้นจึงเข้าใจง่าย และไม่น่าเบื่อ ด้วยเป็นมุมมองของคนร่วมสมัย เรื่องที่เล่าก็จะเป็นสิ่งละอันพันละน้อยซึ่งสัมพันธ์กับชีวิตปัจจุบัน เช่น การเล่าถึงชีวิตประจำวัน กิจกรรมของคนหนุ่มสาว ความเป็นครอบครัว และการทำมาหากิน แต่ก็อาจจะทำให้สงสัยในความน่าเชื่อถือบ้าง เพราะนี่ไม่ใช่งานวิชาการที่เสนอหลักฐานใหม่ หรือตีความใหม่ เพียงแต่นำข้อมูลที่มีอยู่มาเรียบเรียงแล้วนำเสนอให้เข้าใจง่าย เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นสนใจวัฒนธรรมอีสาน หรืออ่านเล่นในฐานะความรู้รอบตัวก็สนุกเหมือนกัน เพียงแค่ภาพงานจิตรกรรมฝาผนังเต็มเล่ม ซึ่งทีมงานตระเวนถ่ายมาจากวัดเกือบ 20 แห่งก็คุ้มค่าแล้ว

เรื่องราวที่ปรากฏอยู่ใน “ฮูปแต้ม” บอกเล่าขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวอีสาน เช่น ตอน บ.บุญ เล่าว่า คนอีสานชอบทำบุญมาก จนมีคำกล่าวว่า “ฮีตสิบสอง” ซึ่งหมายถึงจารีตการทำบุญ 12 เดือน คือจะมีงานบุญประเพณีกันทุกเดือนตลอดปีเลยทีเดียว รายละเอียดของศิลปะและวัฒนธรรมทั้งหลายก็มักจะแตกออกมาจากงานบุญต่างๆ นั่นเอง

พิธีกรรมเป็นกลวิธีของการอยู่ร่วมกันในสังคม เช่น ตอน ฝ.ฝน เล่าถึงพิธีขอฝนของชาวอีสาน ซึ่งล้วนเป็นการสร้างความสามัคคีขึ้นมาในหมู่คณะ ยามเผชิญหน้ากับภัยธรรมชาติ ขณะเดียวกันการแสดงที่หยาบคายโปกฮาก็เป็นการระบายความตึงเครียดของแต่ละคนด้วย หรือการเรียกงานศพว่า “งันเฮือนดี” ก็เพื่อให้เป็นมงคล และพิธี “กองฮด” ที่จัดขึ้นเพื่อยกย่องพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ก็เป็นการช่วยควบคุมดูแลพระสงฆ์ให้อยู่ในพระธรรมวินัยอีกทางหนึ่ง

นอกจากนี้ “ฮูปแต้ม” ยังบอกถึงปรัชญาความเชื่อหรือคติธรรมของชาวอีสาน ผ่านทางตำนานพุทธประวัติและอดีตพุทธ โดยเฉพาะ “ผะเหวด” หรือพระเวสสันดรชาดก ซึ่งทำให้การทำทานหรือการให้กลายเป็นคุณธรรมอันสำคัญของคนอีสาน รวมถึงตำนานเรื่องพระมาลัยท่องนรก และความเชื่อเรื่องเปรต ก็กลายเป็นช่องทางสำคัญของการสั่งสอนเรื่องบาปบุญคุณโทษ

ตำนานแถนหรือผีสางเทวดาทั้งหลายก็ยังมีชาวอีสานนับถือผูกผันอยู่มาก รวมถึงวรรณคดีเรื่อง “สินไซ” ซึ่งเพียบพร้อมไปด้วยคติธรรมคำสอนสำหรับนักปกครองและชาวบ้านธรรมดา

ระหว่างการบอกเล่าถึงสิ่งสำคัญเหล่านั้นเอง มีภาพชีวิตของชาวบ้านสอดแทรกอยู่เป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต การทำมาหากิน บ้านเรือนไร่นา อาหารการกิน ข้าวของเครื่องใช้ การช่างฝีมือ สัตว์เลี้ยง และพาหนะ ซึ่งสาระสำคัญบอกถึงการพึ่งตนเองบนฐานทรัพยากรที่จำกัด เช่น นาไร่ที่ต้องเป็นแหล่งอาหารสารพันอยู่ทุกฤดูกาล การทำปลาแดกไว้กินยามขัดสน ลานกลางบ้านที่ใช้ทำกิจกรรมสารพัด หรือการจัดสานและทอผ้าไว้ใช้เอง

กระนั้นอีสานก็ยังเป็นแหล่งกำเนิดศิลปะและการละเล่นอันสำคัญ เช่น การเล่นแคน ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีโบราณชนิดหนึ่งที่ได้รับการยกย่องว่าไพเราะยิ่ง เพราะสามารถบรรเลงทำนอง สร้างเสียงประสาน ไล่ลำดับเสียง และควบคุมจังหวะได้ในเวลาเดียวกัน ด้วยผู้เล่นคนเดียว การทำว่าวของชาวอีสานก็เป็นเลิศในความสุนทรีย์ เช่นเดียวกับการฟ้อนรำซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า

“ท่าฟ้อนของชาวอีสานก็เหมือนกับการแต้มฮูป คือมีความเป็นอิสระสูง ไม่มีข้อจำกัดตายตัวทั้งมือและเท้า ส่วนใหญ่ท่าฟ้อนจะได้มาจากท่าทางหรืออิริยาบถตามธรรมชาติ ไม่มี ‘ท่ามาตรฐาน’ แล้วแต่ผู้ฟ้อนว่าจะคิดประดิษฐ์ท่าขึ้นมาได้อย่างไรจึงจะเข้ากับดนตรีและมองดูสวยงาม” (หน้า 195)

อันที่จริงวัฒนธรรมของคนไทยในปัจจุบันต้องถือว่ากลายพันธุ์มาจากเดิมมากแล้ว ขณะที่วัฒนธรรมพื้นบ้านไม่ว่าจะเป็นทางเหนือหรืออีสานยังคงรักษาลักษณะดั้งเดิมไว้ได้มาก ท่ามกลางกระแสโลกที่ต้องการความเป็นตัวของตัวเองออกไปแข่งขัน การกลับไปทำความเข้าใจกับรากเหง้าความเป็นมาของตัวเองให้ถ่องแท้จึงเป็นเรื่องจำเป็น เช่นนั้นเองสิมหลังน้อยในวัดเล็กๆ ของอีสานจึงมีความสำคัญยิ่งนัก.

[พิมพ์ครั้งแรก: Vote]

วันจันทร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

เสวนากับสถาปนิก

คุยกับต้นกล้าสถาปนิก / นิธิ สถาปิตานนท์ / ลายเส้น พับบลิชชิ่ง, พิมพ์ครั้งที่ 2 มีนาคม 2551

คุยกับต้นกล้าสถาปนิก / นิธิ สถาปิตานนท์

สถาปนิกเป็นอาชีพหนึ่งที่ต้องใช้ความรู้เฉพาะด้าน และต้องผ่านการศึกษาอย่างเข้มงวดพอๆ กับแพทย์หรือวิศวกรเลยทีเดียว กว่าจะประสบความสำเร็จตั้งตัวได้ก็ต้องผ่านประสบการณ์การทำงานเบื้องต้นไม่น้อยกว่า 10 ปี เรียกว่าถ้าไม่ใช่ตัวจริงก็ยืนอยู่ยาก

ความรู้ที่สถาปนิกใช้ประกอบอาชีพมีทั้งหลักวิชาในเชิงวิทยาศาสตร์และความเป็นศิลปะอยู่ด้วยกัน ต้องคำนึงถึงความเป็นจริงของวัตถุและวิธีการ พร้อมกับนึกถึงความสัมพันธ์ต่อชีวิตมนุษย์ด้วย นอกจากนี้ยังเป็นอาชีพที่ต้องใกล้ชิดกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นความนึกคิดของสถาปนิกจึงน่ารับฟัง โดยเฉพาะผู้ที่มีวุฒิภาวะตกผลึกเป็นปรัชญาในวิชาชีพถึงขั้น “master” แล้ว จะได้มุมมองที่น่าสนใจหลากหลายมิติ ทั้งในแง่เทคนิค ซึ่งบางเรื่องสามารถนำไปดัดแปลงใช้ในงานด้านอื่น อย่างแนวคิดเกี่ยวกับการจัดการพื้นที่หรือโครงสร้างเป็นต้น หรือมุมมองทั่วไปเกี่ยวกับเรื่องสภาพแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ

สถาปนิกบางคนไม่ค่อยเปิดเผยตัวนัก แต่เพียงเห็นผลงานที่ปรากฏก็บ่งบอกความลึกซึ้งในภูมิปัญญา อย่าง องอาจ สาตรพันธ์ ซึ่งมีความเป็นกวีนิพนธ์อยู่ในการจัดวางจังหวะและรายละเอียดสูงมาก

และด้วยระบบคิดดังกล่าว สถาปนิกที่ผันตัวเองไปทำงานด้านอื่นมักประสบความสำเร็จในการวางโครงสร้างใหม่ของงานด้านนั้นด้วย จะเห็นได้จากตัวอย่างในวงการบันเทิง วงการโฆษณา และงานในเชิงพัฒนาสังคมบางส่วน อย่างคนที่สนใจในองค์ความรู้เกี่ยวกับศิลปะและวัฒนธรรมทั่วไปก็อาจคุ้นชื่อของ แสงอรุณ รัตกสิกร ซึ่งสามารถอธิบายความสัมพันธ์ของสถาปัตยกรรมหรือผลผลิตทางวัฒนธรรมกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและสังคมได้อย่างปรุโปร่ง หรือ วิโรฒ ศรีสุโร ผู้เชี่ยวชาญในการศึกษาสถาปัตยกรรมและศิลปะพื้นบ้านอีสาน ออกแบบโบสถ์วัดศาลาลอย และบุกเบิกเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน หรือหนังสือเรื่อง “น้ำ : บ่อเกิดแห่งวัฒนธรรมไทย” ของ ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา ก็ยังเปี่ยมคุณค่าอยู่ถึงปัจจุบัน

กระนั้นองค์ความรู้ในวิชาชีพที่เกิดจากประสบการณ์ของสถาปนิกไทยเองยังนับว่าน้อย เช่นเดียวกับวิชาชีพอื่นๆ ในสังคมไทยซึ่งยังขาดการประเมินผลงานและสรุปบทเรียนอย่างเป็นระบบ

นิธิ สถาปิตานนท์ เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาสถาปัตยกรรม ผลงานของเขาจะสร้างสรรค์ในรูปแบบร่วมสมัยเสียเป็นส่วนมาก และมีหลากหลายประเภท ทั้งที่ทำในนามส่วนตัวและบริษัท ความโดดเด่นอยู่ที่คุณภาพอันสม่ำเสมอมากกว่า เขาจะให้ความสำคัญกับหน้าที่ใช้สอยมาเป็นอันดับต้น เพราะฉะนั้นรูปแบบภายนอกจึงขึ้นอยู่กับโจทย์ที่ได้มา และแสดงความชัดเจนอย่างเรียบง่าย

การยอมรับอีกอย่างหนึ่งดูเหมือนจะเป็นบทบาทของการพัฒนาวิชาชีพ ทั้งในงานส่วนตัว บริษัท สถาปนิก 49 ที่เขาก่อตั้งขึ้นมากลายเป็นสถาบันในการสร้างคนเข้าสู่วงการ เช่นเดียวกับบริษัท ดีไซน์ 103 ที่เขาเคยร่วมงานมาในอดีต และแบบอย่างในการบริหารจัดการจนมีกลุ่มงานรองรับได้ครบถ้วนก็น่าศึกษา รวมถึงบทบาทของการเป็นผู้นำในงานกิจกรรมของสังคมวิชาชีพ

น่าสนใจว่า นิธิ สถาปิตานนท์ จะเริ่มวางมือจากงานบริหาร แล้วหันมาจับงานหนังสือที่เป็นองค์ความรู้ทางสถาปัตยกรรมมากขึ้น หนังสือของเขาเท่าที่คุ้นตากันอยู่ในร้านหนังสือส่วนใหญ่จะเป็นงานลายเส้นภาพร่างในช่วงเวลาต่างๆ ซึ่งพิถีพิถันงดงามอย่างงานจิตรกรรม ระยะหลังจึงเห็นเป็นข้อเขียนออกมาบ้าง

หนังสือชุด “Conversations with Architects Series” ออกมา 2 เล่ม คือ คุยกับสถาปนิกรุ่นใหม่ และคุยกับสถาปนิกหญิง เป็นบรรยากาศที่น่ารักตรงที่ว่า สถาปนิกรุ่นใหญ่ระดับศิลปินแห่งชาติลงมาสัมภาษณ์สถาปนิกรุ่นน้อง เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์ในแวดวงวิชาชีพเดียวกัน จากเล่ม “คุยกับต้นกล้าสถาปนิก” จะเห็นว่านิธิเลือกคนที่มีผลงานโดดเด่นเป็นที่ยอมรับกันจริงๆ ในปัจจุบัน มิใช่เลือกจากความสัมพันธ์ส่วนตัว หรือคนที่มีแนวคิดใกล้เคียงกับตัวเองเท่านั้น แม้แต่คนที่มีแนวทางแตกต่างเขาก็อยากสนทนาด้วย

นอกจากนี้เขายังกล้าตั้งคำถามถึงปัญหาในแวดวงอาชีพอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งแม้แต่ผู้ให้สัมภาษณ์เองยังไม่ค่อยกล้าตอบ

สถาปนิกทั้ง 12 รายที่นิธิเลือกมา อาจแบ่งได้จากลักษณะการทำงานเป็น 3 กลุ่ม คือ

หนึ่ง – กลุ่มที่มีความเป็นนักวิชาการ ช่างฝีมือ และมีพื้นฐานอันหนักแน่น สร้างชื่อมาด้วยความเป็นมืออาชีพชำนาญการ ผลงานอาจไม่โฉบเฉี่ยวสะดุดตานัก เพราะฝีมือจะแสดงออกในทางตอบโจทย์ให้ตรงกับเป้าหมายมากกว่า ซึ่งเป็นแนวทางที่ใกล้เคียงกับตัวผู้สัมภาษณ์มากที่สุด สถาปนิกในกลุ่มนี้ก็เช่น พิรัส พัชรเศวต, พรชัย บุญสม, วิฑูรย์ คุณาลังการ, ประดิษญา สิงหราช และ ชาตรี ลดาลลิตสกุล

สอง – กลุ่มที่มีความคิดก้าวหน้า วิธีการล้ำสมัย พลิกโฉมแบบแผน และสร้างชื่อด้วยแนวทางที่เป็นสากล เช่น วสุ วิรัชศิลป์ กับ บุญเลิศ ดียืน, พลวัต บัวศรี กับ ทรงสุดา อธิบาย และ สุรชัย เอกภพโยธิน กับ จุฑาทิพย์ เตชะจำเริญ งานในกลุ่มนี้จะเคลื่อนตามกระแสของสถาปัตยกรรมในระดับโลกด้วยความเท่าทัน หลายคนประสบความสำเร็จในการประกวดแบบนานาชาติอย่างน่าชื่นชม

และสาม - กลุ่มที่เป็นเสมือนตัวแทนของการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมร่วมสมัยที่โดดเด่นของบ้านเราในปัจจุบัน และเป็นที่ยอมรับในสายตาต่างชาติด้วย ลักษณะเด่นจะอยู่ที่ความใส่ใจในรายละเอียดของกระบวนการทำงาน ตั้งแต่การคิด การหาข้อมูลรอบด้าน การออกแบบ ตลอดไปจนถึงการก่อสร้าง ผลงานที่ออกมาจึงมีความเรียบง่ายกลมกลืน สัมพันธ์กับลักษณะการใช้งาน ขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยความลุ่มลึกอันซับซ้อน ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางที่สถาปนิกไทยทำได้ดีและยากที่จะหาชาติอื่นใดเทียบ

สถาปนิกในกลุ่มนี้ก็เช่น อมตะ หลูไพบูลย์ กับ ทวีตีย์ วัชราภัย เทพาคำ, กรรณิการ์ รัตนปรีดากุล, บุญเลิศ เหมวิจิตรพันธ์ และ ดวงฤทธิ์ บุนนาค

ข้อเสนอแนะของหลายคนยังคงน่าสนใจ อย่างการมองภาพรวมในระดับมหภาคของกรรณิการ์ที่ว่า “พวกเราไม่ค่อยตั้งโจทย์ให้กับตัวเองมากพอ ในการกำหนดเส้นทางว่าเราในฐานะสถาปนิกควรจะมีบทบาทอะไร และก้าวเดินไปในทิศทางไหน เมื่อมองภาพรวมของสถานการณ์ของสังคมไทยและสังคมโลก เรายังมีนิสัยที่จะเดินตามเส้นทางที่ถูกกำหนดไว้โดยสภาวะทางเศรษฐกิจและแผนการของนักลงทุนมากกว่าแผนการของเราเอง เราทำงานตามแนวทางที่นายทุนสร้างขึ้นมาให้ในตลาดมากกว่าที่เราจะมีส่วนในการร่วมกำหนดวาระของสิ่งที่สมควรพัฒนาเพื่ออนาคตของสังคมและประเทศชาติ” (หน้า 203)

การเลือกสรรสิ่งที่ดีมานำเสนอให้ได้รับรู้กัน เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยสร้างบรรยากาศแห่งการสร้างสรรค์ ช่วยถ่วงดุลและกลบกลืนสิ่งที่ไม่ดีให้น้อยลง เช่นที่ นิธิ สถาปิตานนท์ ได้แนะนำต้นกล้าสถาปนิกที่มีคุณภาพให้ได้รู้จักกัน ซึ่งสิ่งที่ดีนั้นไม่ว่าจะอยู่ในวงการใดย่อมช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้แตกแขนงต่อเนื่องได้ไม่รู้จบ.

[พิมพ์ครั้งแรก: Vote]