คุยกับต้นกล้าสถาปนิก / นิธิ สถาปิตานนท์ / ลายเส้น พับบลิชชิ่ง, พิมพ์ครั้งที่ 2 มีนาคม 2551
สถาปนิกเป็นอาชีพหนึ่งที่ต้องใช้ความรู้เฉพาะด้าน และต้องผ่านการศึกษาอย่างเข้มงวดพอๆ กับแพทย์หรือวิศวกรเลยทีเดียว กว่าจะประสบความสำเร็จตั้งตัวได้ก็ต้องผ่านประสบการณ์การทำงานเบื้องต้นไม่น้อยกว่า 10 ปี เรียกว่าถ้าไม่ใช่ตัวจริงก็ยืนอยู่ยาก
ความรู้ที่สถาปนิกใช้ประกอบอาชีพมีทั้งหลักวิชาในเชิงวิทยาศาสตร์และความเป็นศิลปะอยู่ด้วยกัน ต้องคำนึงถึงความเป็นจริงของวัตถุและวิธีการ พร้อมกับนึกถึงความสัมพันธ์ต่อชีวิตมนุษย์ด้วย นอกจากนี้ยังเป็นอาชีพที่ต้องใกล้ชิดกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นความนึกคิดของสถาปนิกจึงน่ารับฟัง โดยเฉพาะผู้ที่มีวุฒิภาวะตกผลึกเป็นปรัชญาในวิชาชีพถึงขั้น “master” แล้ว จะได้มุมมองที่น่าสนใจหลากหลายมิติ ทั้งในแง่เทคนิค ซึ่งบางเรื่องสามารถนำไปดัดแปลงใช้ในงานด้านอื่น อย่างแนวคิดเกี่ยวกับการจัดการพื้นที่หรือโครงสร้างเป็นต้น หรือมุมมองทั่วไปเกี่ยวกับเรื่องสภาพแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ
สถาปนิกบางคนไม่ค่อยเปิดเผยตัวนัก แต่เพียงเห็นผลงานที่ปรากฏก็บ่งบอกความลึกซึ้งในภูมิปัญญา อย่าง องอาจ สาตรพันธ์ ซึ่งมีความเป็นกวีนิพนธ์อยู่ในการจัดวางจังหวะและรายละเอียดสูงมาก
และด้วยระบบคิดดังกล่าว สถาปนิกที่ผันตัวเองไปทำงานด้านอื่นมักประสบความสำเร็จในการวางโครงสร้างใหม่ของงานด้านนั้นด้วย จะเห็นได้จากตัวอย่างในวงการบันเทิง วงการโฆษณา และงานในเชิงพัฒนาสังคมบางส่วน อย่างคนที่สนใจในองค์ความรู้เกี่ยวกับศิลปะและวัฒนธรรมทั่วไปก็อาจคุ้นชื่อของ แสงอรุณ รัตกสิกร ซึ่งสามารถอธิบายความสัมพันธ์ของสถาปัตยกรรมหรือผลผลิตทางวัฒนธรรมกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและสังคมได้อย่างปรุโปร่ง หรือ วิโรฒ ศรีสุโร ผู้เชี่ยวชาญในการศึกษาสถาปัตยกรรมและศิลปะพื้นบ้านอีสาน ออกแบบโบสถ์วัดศาลาลอย และบุกเบิกเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน หรือหนังสือเรื่อง “น้ำ : บ่อเกิดแห่งวัฒนธรรมไทย” ของ ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา ก็ยังเปี่ยมคุณค่าอยู่ถึงปัจจุบัน
กระนั้นองค์ความรู้ในวิชาชีพที่เกิดจากประสบการณ์ของสถาปนิกไทยเองยังนับว่าน้อย เช่นเดียวกับวิชาชีพอื่นๆ ในสังคมไทยซึ่งยังขาดการประเมินผลงานและสรุปบทเรียนอย่างเป็นระบบ
นิธิ สถาปิตานนท์ เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาสถาปัตยกรรม ผลงานของเขาจะสร้างสรรค์ในรูปแบบร่วมสมัยเสียเป็นส่วนมาก และมีหลากหลายประเภท ทั้งที่ทำในนามส่วนตัวและบริษัท ความโดดเด่นอยู่ที่คุณภาพอันสม่ำเสมอมากกว่า เขาจะให้ความสำคัญกับหน้าที่ใช้สอยมาเป็นอันดับต้น เพราะฉะนั้นรูปแบบภายนอกจึงขึ้นอยู่กับโจทย์ที่ได้มา และแสดงความชัดเจนอย่างเรียบง่าย
การยอมรับอีกอย่างหนึ่งดูเหมือนจะเป็นบทบาทของการพัฒนาวิชาชีพ ทั้งในงานส่วนตัว บริษัท สถาปนิก 49 ที่เขาก่อตั้งขึ้นมากลายเป็นสถาบันในการสร้างคนเข้าสู่วงการ เช่นเดียวกับบริษัท ดีไซน์ 103 ที่เขาเคยร่วมงานมาในอดีต และแบบอย่างในการบริหารจัดการจนมีกลุ่มงานรองรับได้ครบถ้วนก็น่าศึกษา รวมถึงบทบาทของการเป็นผู้นำในงานกิจกรรมของสังคมวิชาชีพ
น่าสนใจว่า นิธิ สถาปิตานนท์ จะเริ่มวางมือจากงานบริหาร แล้วหันมาจับงานหนังสือที่เป็นองค์ความรู้ทางสถาปัตยกรรมมากขึ้น หนังสือของเขาเท่าที่คุ้นตากันอยู่ในร้านหนังสือส่วนใหญ่จะเป็นงานลายเส้นภาพร่างในช่วงเวลาต่างๆ ซึ่งพิถีพิถันงดงามอย่างงานจิตรกรรม ระยะหลังจึงเห็นเป็นข้อเขียนออกมาบ้าง
หนังสือชุด “Conversations with Architects Series” ออกมา 2 เล่ม คือ คุยกับสถาปนิกรุ่นใหม่ และคุยกับสถาปนิกหญิง เป็นบรรยากาศที่น่ารักตรงที่ว่า สถาปนิกรุ่นใหญ่ระดับศิลปินแห่งชาติลงมาสัมภาษณ์สถาปนิกรุ่นน้อง เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์ในแวดวงวิชาชีพเดียวกัน จากเล่ม “คุยกับต้นกล้าสถาปนิก” จะเห็นว่านิธิเลือกคนที่มีผลงานโดดเด่นเป็นที่ยอมรับกันจริงๆ ในปัจจุบัน มิใช่เลือกจากความสัมพันธ์ส่วนตัว หรือคนที่มีแนวคิดใกล้เคียงกับตัวเองเท่านั้น แม้แต่คนที่มีแนวทางแตกต่างเขาก็อยากสนทนาด้วย
นอกจากนี้เขายังกล้าตั้งคำถามถึงปัญหาในแวดวงอาชีพอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งแม้แต่ผู้ให้สัมภาษณ์เองยังไม่ค่อยกล้าตอบ
สถาปนิกทั้ง 12 รายที่นิธิเลือกมา อาจแบ่งได้จากลักษณะการทำงานเป็น 3 กลุ่ม คือ
หนึ่ง – กลุ่มที่มีความเป็นนักวิชาการ ช่างฝีมือ และมีพื้นฐานอันหนักแน่น สร้างชื่อมาด้วยความเป็นมืออาชีพชำนาญการ ผลงานอาจไม่โฉบเฉี่ยวสะดุดตานัก เพราะฝีมือจะแสดงออกในทางตอบโจทย์ให้ตรงกับเป้าหมายมากกว่า ซึ่งเป็นแนวทางที่ใกล้เคียงกับตัวผู้สัมภาษณ์มากที่สุด สถาปนิกในกลุ่มนี้ก็เช่น พิรัส พัชรเศวต, พรชัย บุญสม, วิฑูรย์ คุณาลังการ, ประดิษญา สิงหราช และ ชาตรี ลดาลลิตสกุล
สอง – กลุ่มที่มีความคิดก้าวหน้า วิธีการล้ำสมัย พลิกโฉมแบบแผน และสร้างชื่อด้วยแนวทางที่เป็นสากล เช่น วสุ วิรัชศิลป์ กับ บุญเลิศ ดียืน, พลวัต บัวศรี กับ ทรงสุดา อธิบาย และ สุรชัย เอกภพโยธิน กับ จุฑาทิพย์ เตชะจำเริญ งานในกลุ่มนี้จะเคลื่อนตามกระแสของสถาปัตยกรรมในระดับโลกด้วยความเท่าทัน หลายคนประสบความสำเร็จในการประกวดแบบนานาชาติอย่างน่าชื่นชม
และสาม - กลุ่มที่เป็นเสมือนตัวแทนของการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมร่วมสมัยที่โดดเด่นของบ้านเราในปัจจุบัน และเป็นที่ยอมรับในสายตาต่างชาติด้วย ลักษณะเด่นจะอยู่ที่ความใส่ใจในรายละเอียดของกระบวนการทำงาน ตั้งแต่การคิด การหาข้อมูลรอบด้าน การออกแบบ ตลอดไปจนถึงการก่อสร้าง ผลงานที่ออกมาจึงมีความเรียบง่ายกลมกลืน สัมพันธ์กับลักษณะการใช้งาน ขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยความลุ่มลึกอันซับซ้อน ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางที่สถาปนิกไทยทำได้ดีและยากที่จะหาชาติอื่นใดเทียบ
สถาปนิกในกลุ่มนี้ก็เช่น อมตะ หลูไพบูลย์ กับ ทวีตีย์ วัชราภัย เทพาคำ, กรรณิการ์ รัตนปรีดากุล, บุญเลิศ เหมวิจิตรพันธ์ และ ดวงฤทธิ์ บุนนาค
ข้อเสนอแนะของหลายคนยังคงน่าสนใจ อย่างการมองภาพรวมในระดับมหภาคของกรรณิการ์ที่ว่า “พวกเราไม่ค่อยตั้งโจทย์ให้กับตัวเองมากพอ ในการกำหนดเส้นทางว่าเราในฐานะสถาปนิกควรจะมีบทบาทอะไร และก้าวเดินไปในทิศทางไหน เมื่อมองภาพรวมของสถานการณ์ของสังคมไทยและสังคมโลก เรายังมีนิสัยที่จะเดินตามเส้นทางที่ถูกกำหนดไว้โดยสภาวะทางเศรษฐกิจและแผนการของนักลงทุนมากกว่าแผนการของเราเอง เราทำงานตามแนวทางที่นายทุนสร้างขึ้นมาให้ในตลาดมากกว่าที่เราจะมีส่วนในการร่วมกำหนดวาระของสิ่งที่สมควรพัฒนาเพื่ออนาคตของสังคมและประเทศชาติ” (หน้า 203)
การเลือกสรรสิ่งที่ดีมานำเสนอให้ได้รับรู้กัน เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยสร้างบรรยากาศแห่งการสร้างสรรค์ ช่วยถ่วงดุลและกลบกลืนสิ่งที่ไม่ดีให้น้อยลง เช่นที่ นิธิ สถาปิตานนท์ ได้แนะนำต้นกล้าสถาปนิกที่มีคุณภาพให้ได้รู้จักกัน ซึ่งสิ่งที่ดีนั้นไม่ว่าจะอยู่ในวงการใดย่อมช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้แตกแขนงต่อเนื่องได้ไม่รู้จบ.
[พิมพ์ครั้งแรก: Vote]
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น