วันพุธที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2551

มาฟังเพลงแล้วร้องไห้กันดีกว่า

ดนตรีที่มีน้ำตา / ปราบดา หยุ่น / สำนักหนังสือไต้ฝุ่น, พิมพ์ครั้งแรก กันยายน 2551

ดนตรีที่มีน้ำตา / ปราบดา หยุ่น

ด้วยความประจวบเหมาะหลายอย่าง ปราบดา หยุ่น จึงเป็นภาพแทนของวรรณกรรมและความเป็นนักเขียนที่เปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมของสังคมไทยในช่วงทศวรรษ 2540 มีการเปรียบกรณีของเขากับ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ในช่วงทศวรรษ 2500 และโดยเฉพาะหลังจากที่ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ กลับจากอเมริกาในช่วงต้นทศวรรษ 2510 ซึ่งเป็นยุคทองของหนังสือพ็อคเก็ตบุ๊คระลอกแรก ตั้งแต่เริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ตามอย่างประเทศตะวันตกหลังปี 2500 เป็นต้นมา

หลังผ่านวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ภาคธุรกิจหลายส่วนค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นตามลำดับ ปราบดา หยุ่น ปรากฏตัวขึ้นพร้อมกับปัจจัยที่เหมาะกับเงื่อนไขใหม่ในปัจจุบัน เช่น การมีภาพลักษณ์เฉพาะตัวเป็นที่ต้องตาของสื่อมวลชน การมีความคิดอ่านและรสนิยมอันนำสมัยจากการผ่านชีวิตนักเรียนนอกมาใหม่หมาด และเหนืออื่นใดคือความสามารถทางวรรณศิลป์ของเขา ซึ่งยืนพื้นอยู่บนรากฐานอันหนักแน่นมั่นคง

การเปรียบเทียบ ปราบดา หยุ่น กับ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ย่อมใกล้เคียงกันในแง่ของการสร้างสีสันใหม่ให้แก่วงการวรรณกรรม เพียงแต่อาจจะแตกต่างกันในรูปแบบที่สัมพันธ์กับยุคสมัย งานเขียนของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ เรียกร้องความสนใจของผู้อ่านด้วยภาษาที่มีสีสันจัดจ้านโฉบเฉี่ยว สะท้อนจิตวิญญาณของความทันสมัยในตอนนั้น ส่วนงานเขียนของ ปราบดา หยุ่น จะมีลักษณะเล่นล้อกับภาษาและความคิด อันเป็นอารมณ์ร่วมเชิงปฏิกิริยาของการสร้างสรรค์ในยุคบริโภคนิยม ซึ่งคุณค่าดั้งเดิมกลายเป็นเรื่องของการค้าขายไปหมด

เช่นเดียวกับ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ บทบาทของ ปราบดา หยุ่น มีความสำคัญในการวางแนวทางใหม่ๆ ตามมา ทั้งรูปแบบการเขียน ภาพลักษณ์ความเป็นนักเขียน ตลอดจนการออกแบบรูปเล่มหนังสือ นอกจากนี้ไวยากรณ์ในการสร้างสรรค์ของเขายังแปรไปทำงานด้านอื่นได้หลากหลาย

ปลายทศวรรษ 2540 สังคมไทยเกิดภาวะชะงักงัน จากความขัดแย้งระหว่างความเย้ายวนของการเติบโตทางเศรษฐกิจกับวิกฤตทางจริยธรรม ซึ่งไม่เพียงเฉพาะในแวดวงการเมืองเท่านั้น หากสังเกตให้ดีจะเห็นได้ทั่วไปในหลายมิติซับซ้อน เพราะฉะนั้นย่อมส่งผลกระทบต่อทิศทางการสร้างสรรค์ในส่วนต่างๆ ด้วย

งานของ ปราบดา หยุ่น หลังการปรากฏตัวอันน่าตื่นตาตื่นใจมีการคลี่คลายไปไม่น้อย ลองอ่านเทียบกันระหว่างเรื่องสั้นในเล่ม “เมืองมุมฉาก” “ความน่าจะเป็น” และ “อุทกภัยในดวงตา” กับเรื่องสั้นในเล่ม “ความสะอาดของผู้ตาย” หรืออ่านเทียบกันระหว่างนวนิยายเรื่อง “ชิทแตก!” และ “แพนด้า” กับ “ฝนตกตลอดเวลา” และ “นอนใต้ละอองหนาว” หรืออ่านไล่เรียงมาจากบทความในเล่ม “ภาพไม่นิ่ง” “น้ำใส่กะโหลก” “กระทบไหล่เขา” (เล่มนี้ขอจัดเป็นบทความ แม้จะใช้รูปแบบการเขียนเป็นเรื่องสั้น) “เรื่องตบตา” จนมาถึง “ดนตรีที่มีน้ำตา”

จะเห็นว่าอาการสวิงสวายในลีลาทั้งรูปแบบการเขียนและการคิด ลดลงเป็นเพียงชั้นเชิงเฉพาะตน แล้วเพิ่มความลุ่มลึกของเนื้อหาและอารมณ์มากขึ้น เห็นได้ตั้งแต่ชื่อหนังสือ ซึ่งช่วงแรกจะเล่นกับคำและความหมายที่ชวนฉงน แต่ช่วงหลังจะเป็นชื่อที่เรียบง่ายแฝงนัยยะพิเศษทางความรู้สึกแทน

“ดนตรีที่มีน้ำตา” เป็นหนังสือรวมบทความจากนิตยสารสารคดี ความน่าสนใจอยู่ที่ว่า “ปราบดา หยุ่น ตั้งใจเขียนถึง ‘เสียงร้อง’ ของนักร้องนักดนตรีผู้มีเอกลักษณ์พิเศษค่อนไปในทางเศร้าหม่น ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายเสน่ห์ทางดนตรีที่เขาชื่นชอบมานาน”

ความนิยมชมชอบในดนตรีของ ปราบดา หยุ่น ไม่เป็นที่กังขา เขาถึงกับทำเพลงออกเป็นอัลบั้มมาแล้ว ส่วนอารมณ์ “หม่นเศร้า” นั้นอาจจะไม่เคยคุ้นกันอยู่บ้าง เพราะน้ำเสียงในการเล่าเรื่องของเขาจะออกไปทางยียวนกวนความคิดเสียมากกว่า แต่ก็จะแฝงอยู่เสมอในหลายงานที่ผ่านมา

นักร้องที่ ปราบดา หยุ่น เลือกมาเขียนถึงเป็นที่คุ้นชื่อคุ้นหูกันอยู่แล้ว เช่น แฟรงก์ ซินาตรา, จอห์น เลนนอน, โจนี มิตเชลล์, บิลลี ฮอลิเดย์ ฯลฯ แต่ที่อาจจะไม่ได้เคยนึกก็คือน้ำเสียงหม่นเศร้าในบทเพลงเหล่านั้นบ่งบอกถึงอะไร และสมมุติฐานของปราบดาก็ว่าศิลปินเหล่านี้น่าจะผ่านประสบการณ์ในชีวิตจริงมาอย่างเข้มข้น กระทั่งเกิดเป็นริ้วรอยที่มีเสน่ห์เฉพาะในเนื้อเสียง จากนั้นเขาก็ไปค้นคว้าประวัติชีวิตของศิลปินและสภาพสังคมแวดล้อมในสมัยนั้น มาอธิบายหรือตีความเสียงร้องที่เขามองเห็นความงาม

“เหมือนกับที่มีความเชื่อว่าแววตาไม่อาจปกปิดความรู้สึกที่แท้จริงของคน น้ำเสียงก็เป็นอีกหนึ่ง ‘หลักฐาน’ ทางธรรมชาติที่สามารถเปิดเผย ‘ระยะทาง’ และจำนวน ‘บาดแผล’ ในการเดินทางของชีวิต” (หน้า 51)

อาจจะแบ่งสิ่งที่มาขัดเกลาเนื้อเสียงของนักร้องที่ปราบดาเลือกมาเขียนถึงได้ 3 กลุ่ม คือ

กลุ่มแรกเป็นศิลปินที่ผ่านบรรยากาศความขัดแย้งหรือการเปลี่ยนแปลงในสังคมมาอย่างรู้ซึ้ง เช่น กรณีของนักร้องนักดนตรีผิวดำ ซึ่งให้กำเนิดวัฒนธรรมทางดนตรีอันยิ่งใหญ่แก่โลกสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นดนตรีบลูส์ แจ๊ซ ร็อก หรือฮิปฮอป ล้วนออกมาจากอารมณ์ความรู้สึกอันทุกข์ยากของความเป็นทาสหรือคนชั้นล่างในสังคมอเมริกันนั่นเอง ดังตัวอย่างที่ปราบดาเขียนถึง บิลลี ฮอลิเดย์ และ นีนา ซิโมน ราชินีนักร้องเพลงแจ๊ซผิวดำ หรืออย่างน้ำเสียงหม่นเศร้าจากความช่างคิดของ โจนี มิตเชลล์ ปราบดาก็เห็นว่ามันแยกไม่ออกจากบรรยากาศการปฏิวัติทางวัฒนธรรมของพวกเสรีชนในยุคหกศูนย์

กลุ่มที่สอง เป็นศิลปินที่ผ่านประสบการณ์การเติบโตจนน้ำเสียงกร้านกร้าวหรือหนักแน่นขึ้นตามวัย บางคนเคยผ่านความรุ่งเรืองมาก่อนในวัยหนุ่มสาว ผ่านความตกต่ำ กระทั่งกลับมาอีกครั้งด้วยเนื้อเสียงที่เต็มไปด้วยริ้วรอยประสบการณ์ เช่น แฟรงก์ ซินาตรา และ แมรีแอน เฟธฟูลล์ บางคนก็ลุ่มลึกขึ้นตามวัย จนน่าสงสัยว่าอาจจะมีอะไรลึกๆ อยู่ในใจที่ไม่อาจคลี่คลาย เช่น เลโอนาร์ด โคเฮน และ จอห์นนี แคช

และกลุ่มที่สาม เป็นศิลปินที่ขับขานเสียงร้องออกมาจากตัวตนของเขาเอง เป็นตัวตนที่ขาดพร่องในอาการต่างๆ แต่กลับเติมเต็มทางความรู้สึกให้กับผู้คนด้วยผลงานที่พวกเขาสร้างสรรค์ขึ้นมา เช่น นิก เดรก, เช็ต เบเกอร์, ทิม บั๊กเลย์, มาร์วิน เก และ จอห์น เลนนอน

แต่ด้วยการแสดงออกและสะท้อนถึงตัวตนของความเป็นปัจเจกบุคคลดังกล่าว ประกอบกับความเป็นนักทดลองเล่นแร่แปรธาตุทางการเปล่งเสียง และมีมุมมองที่ละเอียดอ่อนต่อการมองโลกและชีวิต เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ปราบดาเห็นว่าทำให้ผลงานของศิลปินเหล่านี้ยังคงงดงามเป็นอมตะอยู่เหนือกาลเวลา กลับไปฟังเมื่อใดก็ยังไพเราะอยู่เสมอ

แม้กระทั่งน้ำตาที่หลั่งออกมาจากการเสพรับผลงานเหล่านี้ก็ยังสดใหม่อยู่นั่นเอง มิใช่น้ำตาสำเร็จรูปจากสูตรที่ผ่านการปรุงแต่งมาอย่างชาญฉลาดของสินค้าทางวัฒนธรรมที่คุ้นเคยกันในยุคหลัง

ความเป็นจริงของชีวิตบาดลึกให้น้ำเสียงงามเศร้า แล้วน้ำเสียงงามเศร้านั้นก็พาไปสัมผัสกับความเป็นจริงของชีวิตอีกทอดหนึ่ง.

[พิมพ์ครั้งแรก: Vote]