วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2550

มะเดี่ยว – ธรรรักษ์ แสงสุวรรณ : จากการ์ตูนขายหัวเราะสู่ศิลปะประชานิยม

นิทรรศการ – POZ and ME / ศิลปิน – ธรรรักษ์ แสงสุวรรณ (มะเดี่ยว) / Art Republic อาคารเพนนินซูล่าพลาซ่า ถนนราชดำริ, 15 พฤศจิกายน – 29 ธันวาคม 2550

madeaw

หากใครเคยอ่านหนังสือการ์ตูนขายหัวเราะ ต้องคุ้นตากับลายเส้นอันมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวของนักเขียนการ์ตูนที่ใช้นามแฝงว่า “มะเดี่ยวศรี (หลานยายปริก)” ด้วยรูปลักษณ์ของตัวการ์ตูนที่ออกแบบอย่างสวิงสวายตามสมัยนิยม ผสมกับบรรยากาศและเรื่องราวในชีวิตประจำวันของชาวบ้านร้านตลาด มะเดี่ยวชอบวาดตัวการ์ตูนที่เป็นวัยรุ่นแต่งกายตามแฟชั่นที่นิยมกันอยู่ตามท้องถนนในตอนนั้น และ “แก๊ก” ของเขาก็มักจะเป็นการหยอกล้อกันระหว่างความเฉิ่มเชยกับความทันสมัยนั่นเอง

ตอนนี้มะเดี่ยวหรือ ธรรรักษ์ แสงสุวรรณ หันมาบุกเบิกงานการ์ตูนศิลปะ (Cartoon Pop Art) ซึ่งเป็นที่นิยมในต่างประเทศมาหลายปีแล้ว บ้านเราก็มีคนชอบไม่น้อย เพราะให้ความรู้สึกคุ้นเคยเข้าใจง่าย อย่างงานของ โยชิโตโมะ นาระ เป็นต้น ลักษณะของงานประเภทนี้จะเป็นการนำเอาจินตภาพของการ์ตูนมาเป็นแรงบันดาลใจหรือตัวสื่อในการแสดงออก อาจจะเป็นจิตรกรรม ประติมากรรม และงานออกแบบต่างๆ หรือศิลปินบางคนอาจจะทำผลิตภัณฑ์ออกจำหน่ายเป็นเรื่องเป็นราวด้วย

นิทรรศการ “POZ and ME” จัดแสดงงานจิตรกรรมและประติมากรรมส่วนหนึ่งของมะเดี่ยว เป็นงานชุดที่เขาบอกว่าได้แรงบันดาลใจมาจากเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่เคยรู้จักสมัยยังเป็นเด็กนักเรียน เขาเขียนภาพเด็กผู้หญิงคนนั้นซ้ำๆ ในรูปของการ์ตูนบนผืนผ้าใบขนาดใหญ่ เหมือนต้องการควานหาภาพของเธอซึ่งลางเลือนอยู่ในความทรงจำ และเขียนภาพตัวการ์ตูน “มะเดี่ยว” ซึ่งแทนตัวเขาเป็นเค้าโครงของรูปทรงที่อยู่ในบรรยากาศเศร้าตรม

ส่วนประติมากรรมก็เป็นรูปจำลองตัวการ์ตูนเด็กผู้หญิงอยู่ในอาการโดดเดี่ยว หรือประกอบกับวัตถุอันตราย ทำให้อารมณ์ของงานโดยรวมออกไปทางเป็นทุกข์วิตกกังวล ระหว่างภาพลักษณ์บริสุทธิ์ไร้เดียงสาของการ์ตูนเด็กผู้หญิง กับความสับสนหม่นหมองในท่าทีแสดงออกของศิลปิน

การ์ตูนโดยทั่วไปมีบทบาทให้ความบันเทิง แต่การ์ตูนในบริบทของศิลปะต้องการสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของศิลปินมากกว่านั้น เช่นเดียวกับการเขียนภาพเหมือนจริงหรือภาพนามธรรม และคุณค่าของงานก็จะอยู่ที่ความจริงใจและความสดใหม่ในการแสดงออกนั่นเอง

เพราะการพัฒนาของเครื่องมือบันทึกความจริงทางกายภาพ ทำให้ศิลปะสมัยใหม่หันมาถ่ายทอดความจริงภายในตัวตนของมนุษย์แทน และส่วนหนึ่งก็ก้าวพ้นกรอบจำกัดของทฤษฎีและหลักวิชา ด้วยการเรียนรู้แรงบันดาลใจอันบริสุทธิ์จากศิลปะดั้งเดิม (Primitive Art) ศิลปะพื้นบ้าน และศิลปะเด็ก อย่างปิกัสโซ่ที่ศึกษาพลังความดิบหยาบจากศิลปะแอฟริกัน เป็นต้น แล้วความจริงใจก็กลายเป็นหลักนำของการสร้างสรรค์ศิลปะสมัยใหม่มาโดยตลอด เพราะฉะนั้นความสำเร็จของศิลปินจึงอยู่ตรงการค้นพบรูปแบบและวิธีการที่เหมาะสมกับตัวเอง ด้วยเหตุนี้พัฒนาการของศิลปะร่วมสมัยย่อมเป็นไปอย่างหลากหลาย

ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960 ศิลปินบางกลุ่มในอังกฤษและอเมริกาเริ่มนำภาพลักษณ์จากสิ่งของสามัญธรรมดาที่พบเห็นกันอยู่ดาษดื่นในชีวิตประจำวันมาเป็นแรงดลใจของการสร้างสรรค์งานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นตัวสินค้า งานโฆษณา สื่อมวลชน เครื่องหมายตราสัญลักษณ์ หรือแม้แต่การ์ตูน เรียกกันว่าเป็นศิลปะประชานิยม (Pop Art) หรือเป็นศิลปะที่นำวัฒนธรรมประชานิยม (Popular Culture) มาทำให้เป็นงานวิจิตรศิลป์ โดยสกัดบทบาทเดิมของสิ่งนั้นทิ้งไปเสีย แล้วนำเสนอในบริบทใหม่ที่กระตุ้นความรู้สึกนึกคิดอย่างอื่น

ของเหล่านี้ส่วนใหญ่จะผ่านกระบวนการผลิตซ้ำในระบบอุตสาหกรรม และจัดเป็นรสนิยมสาธารณ์ (Kitsch) เพราะฉะนั้น “ป็อปอาร์ต” จึงทำลายบรรทัดฐานของสุนทรียภาพที่แบ่งศิลปะออกเป็นชั้นสูงและชั้นล่าง เป็นการเสนอความจริงของสังคมสมัยใหม่ที่รายล้อมไปด้วยการบริโภค และทำให้ศิลปะกับชีวิตใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น

กลวิธีที่ศิลปินใช้สร้างงานแนวป็อปอาร์ตมีหลากหลาย วิธีหนึ่งที่นิยมกันมากคือการนำเอาภาพลักษณ์สำเร็จรูปมาล้อเลียน เสียดสีเยาะเย้ย หรือวิพากษ์วิจารณ์รหัสทางวัฒนธรรมที่คุ้นเคยเหล่านั้น บ้างก็เพื่อถอดรื้ออคติที่อำพรางแฝงเร้น ภาพลักษณ์ที่ปรากฏในบริบทของศิลปะจึงไม่ได้อ้างอิงความหมายเดิม แต่เป็นความหมายใหม่ที่แตกตัวได้ไม่รู้จบ เช่น ภาพกระป๋องซุปแคมเบลของ แอนดี้ วาร์โฮล หรือภาพธงชาติอเมริกันของ แจสเปอร์ จอห์น เป็นต้น

นอกจากนี้คตินิยมของศิลปะแนวนี้ยังเปิดให้คนที่ไม่ได้เป็นศิลปินโดยอาชีพ หรือไม่ได้ศึกษาทางศิลปะมาโดยตรง เข้ามาในพื้นที่ของศิลปะด้วย เช่น ช่างภาพ นักออกแบบ ดารา และคนดัง หรือบางครั้งก็เล่นกับความมีชื่อเสียงนั่นเอง อย่าง ฌอง มิเชล บาสเควท ที่เติบโตมาจากการเขียนภาพกราฟฟิติตามข้างถนน และสร้างชื่อเสียงฉูดฉาดในวงสังคมของนิวยอร์คไม่ต่างจากดาราเลยทีเดียว

ศิลปะแนวป็อปอาร์ตยังคงดำเนินต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน และปรับเปลี่ยนรูปแบบไปตามการเล่นล้อกับวัฒนธรรมร่วมสมัย สื่อมวลชน และเครื่องมือสื่อสาร แหล่งของแรงบันดาลใจที่สำคัญอันหนึ่งคือการ์ตูน นับแต่ รอย ลิชเตนสไตน์ นำภาพการ์ตูนพร้อมบัลลูนคำพูดมาขยายลงบนผืนผ้าใบ วางสีพื้นแบนๆ และตัดเส้นขอบคมเหมือนต้นฉบับ จากนั้นก็มีศิลปินนำการ์ตูนมาดัดแปลงเป็นงานศิลปะในหลายลักษณะ จนมาถึงยุคการ์ตูนญี่ปุ่นครองเมืองในปัจจุบัน

การ์ตูนขายหัวเราะจัดเป็นวัฒนธรรมประชานิยมของบ้านเราโดยแท้ ด้วยเป็นที่นิยมชมชอบกันอย่างกว้างขวางในทุกกลุ่มชนชั้นของสังคม และมะเดี่ยวก็เป็นนักเขียนการ์ตูนที่มีคนชอบไม่น้อย เมื่อเขาก้าวเข้ามาในพื้นที่ของศิลปะ จึงเป็น “ป็อปอาร์ต” ในความหมายที่ตรงตัว

ลักษณะเด่นของการ์ตูนอยู่ตรงความปรารถนาที่จะใช้เส้นในเชิงจินตนาการล้อเลียนความจริง ประกอบเข้าเป็นรูปทรงที่ชัดเจนเรียบง่ายเป็นเบื้องต้น เมื่อนำมาทำเป็นงานศิลปะส่วนใหญ่ก็จะรักษาคุณสมบัติพื้นฐานนั้นไว้ก่อน

มะเดี่ยวเขียนรูปทรงการ์ตูนลงบนผืนผ้าใบด้วยฝีแปรงที่หยาบ ขาดห้วน เป็นภาพค้างคาไม่เสร็จสิ้นครบถ้วน ดังนั้นจึงให้ความรู้สึกขัดหูขัดตา สับสนคลุมเครือ เคอะเขินเงอะงะ เหมาะสมกับเนื้อหาที่เป็นเรื่องของความทรงจำอันขัดแย้งอยู่ภายในตัวตน

ความทรงจำเป็นสิ่งที่ว่างเปล่า เพราะมันผ่านพ้นไปแล้ว การระลึกถึงจึงมีทั้งความประทับใจอันงดงามและความเจ็บปวดระคนกัน แต่ก็เป็นกลไกทางจิตที่จะใช้จัดการกับความขัดแย้งในใจได้เหมือนกัน

งานจิตรกรรมของมะเดี่ยวยังคงติดอิทธิพลจากสไตล์การแสดงออกของศิลปินคนสำคัญในแนวทางใกล้เคียงกันมาบ้าง นั่นหมายความว่ามโนภาพจากความนึกคิดส่วนตัวของเขายังไม่เด่นชัดพอ แม้จะมีร่องรอยสะท้อนพลังทางอารมณ์ที่น่าสนใจแล้วก็ตาม แต่ปฏิภาณอันแยบคายอย่างที่เคยเขียนเป็นการ์ตูนยังไม่ได้สำแดงให้เห็นเต็มประสบการณ์เปี่ยมล้นของเขา

อาจจะเป็นเพราะยังเกร็งกับความขลังของคำว่าศิลปะ แม้การเข้าถึงความสมบูรณ์ของการแสดงออกทางศิลปะจะอยู่ที่การเห็นแจ้งในตัวตนนั่นเอง.

วันพฤหัสบดีที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2550

อวบ สาณะเสน : จิตรกรมือทอง

นิทรรศการผลงานศิลปกรรม – อวบ สาณะเสน 72 ปี / หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ, 26 พฤศจิกายน 2550 – 31 มกราคม 2551

Uab Sanasen

การเคลื่อนไหวของศิลปะร่วมสมัยในบ้านเรามีอยู่หลายแนวทาง ทางหนึ่งเรามีจิตรกรรมไทยประเพณีที่สนองต่อค่านิยมในปัจจุบันได้อย่างสมประโยชน์ เช่นงานของ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ทางหนึ่งเรามีศิลปะประท้วงความไม่เป็นธรรมในสังคมที่แสดงปฏิกิริยาทั้งในตัวงานและการเคลื่อนไหวในพื้นที่สาธารณะ เช่นงานของ วสันต์ สิทธิเขตต์ และอีกทางหนึ่งเรามีศิลปินระดับโลกอย่าง ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวณิช ซึ่งปฏิวัติวงการศิลปะสากลด้วยการทำผัดไทยในห้องแสดงงานที่นิวยอร์ก เพื่อเสนอศิลปะในฐานะกิจกรรมที่ผู้ชมมีส่วนร่วมกับกระบวนการนั้นด้วย

แต่เราก็ยังมีศิลปะในรูปแบบที่คุ้นเคยสำหรับคนทั่วไปอย่างงานจิตรกรรมแสดงความงามจากฝีมืออันวิจิตร เช่นงานของ จักรพันธุ์ โปษยกฤต และอีกคนที่จัดเป็นยอดฝีมือชั้นครู (Master) ในทุกกระบวนท่าทางจิตรกรรมคือ อวบ สาณะเสน

งานนิทรรศการผลงานศิลปกรรม อวบ สาณะเสน 72 ปี รวบรวมผลงานจิตกรรมสีน้ำมันชิ้นเอกตลอดชีวิตการทำงานของ อวบ สาณะเสน ร่วม 200 ภาพ มาจัดแสดงเต็มตลอดชั้น 1 และชั้น 2 ของหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ธนาคารกรุงเทพสาขาผ่านฟ้า นับเป็นโอกาสดีที่จะได้ชื่นชม “ของจริง” ของผลงานอันลือลั่นเหล่านี้พร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นภาพหุ่นนิ่งชุดเครื่องถ้วยเบญจรงค์ ภาพชุดไวโอลิน ภาพชุดจิตรกรรมไทยประยุกต์ ภาพผู้หญิงเปลือย ภาพทิวทัศน์ ภาพหุ่นนิ่งแจกันดอกไม้ ตลอดจนภาพเหมือนศิลปินและบุคคลต่างๆ ซึ่งนอกจากจะได้ศึกษาฝีแปรง (brush-work) ที่แสดงความชำนาญและจิตวิญญาณของศิลปินในแต่ละภาพแล้ว ยังเห็นถึงภูมิปัญญาของการสร้างสรรค์ในภาพรวมด้วย

อวบ สาณะเสน สร้างชื่อในหมู่ผู้นิยมสะสมงานศิลปะมาตลอด 30 ปี ด้วยจิตรกรรมคุณภาพสูงที่มีพัฒนาการอยู่เสมอ เขาเคยจัดงานแสดงเพียง 3 ครั้ง คือในปี พ.ศ. 2526, 2530 และ 2531 แต่ประชาชนทั่วไปก็มักจะเคยเห็นผลงานของเขาผ่านสื่อหรือคุ้นตากับภาพจำลองและงานลอกเลียนแบบจากการสร้างสรรค์ของเขา เพราะอวบเป็นศิลปินชั้นครูที่มีผู้ดำเนินรอยตามอย่างกว้างขวาง

จากพื้นฐานของครอบครัวที่มีรสนิยมทางศิลปะ อวบชอบวาดภาพและเล่นดนตรีมาตั้งแต่เด็ก เขาเรียนจบคณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร รุ่นที่ 13 เคยเป็นอาจารย์พิเศษโรงเรียนศิลปศึกษา (วิทยาลัยช่างศิลป) คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และแผนกอิสระวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยทำงานศิลปกรรมในหน่วยงาน เช่น ไทยโทรทัศน์ช่อง 4 สถาบันเยอรมัน องค์การซีโต และบริษัทไทยวัฒนาพานิช เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและอำนวยการสถาบันทางวัฒนธรรม เช่น ศูนย์ศิลปนวลนาง หอขวัญศิลปสถาน มูลนิธิวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพฯ และเป็นที่ปรึกษาหรือกรรมการอีกหลายแห่ง

คนที่ชอบอ่านหนังสือจะคุ้นชื่อของเขาในฐานะผู้ร่วมบุกเบิกวารสารเมืองโบราณ และจะเห็นภาพของเขาปรากฏร่วมกับ ประยูร อุลุชาฎะ (น. ณ ปากน้ำ) และ อังคาร กัลยาณพงศ์ ในการสำรวจค้นคว้าและเก็บบันทึกหลักฐานทางโบราณคดีตามสถานที่ต่างๆ หรือไม่ก็ทำกิจกรรมร่วมกับ ส.ศิวรักษ์ ซึ่งเป็นเพื่อนนักเรียนอัสสัมชัญรุ่นเดียวกัน

อวบ สาณะเสน เริ่มอาชีพศิลปินเต็มตัวตอนอายุ 42 ปี ด้วยความรู้และความเข้าใจในศิลปะและวัฒนธรรมอย่างกว้างขวาง งานจิตรกรรมของเขาจึงแสดงภูมิปัญญาอันล้ำลึก แม้จะใช้รูปแบบธรรมดาอย่างงานจิตรกรรมเชิงพาณิชย์ทั่วไปก็ตาม อย่างประดาถ้วยโถโอชามหรือลายผ้าในภาพหุ่นนิ่งของเขาล้วนมีคุณค่าของความเป็นมาและมีความหมาย ภาพทิวทัศน์ก็แสดงถึงความเข้าใจในหลักวิชาทัศนียภาพของตะวันตก และเข้าถึงบรรยากาศของความเป็นไทยด้วย หรือภาพจิตรกรรมไทยประยุกต์ก็จับหัวใจของสุนทรียภาพแบบไทยที่แฝงอารมณ์ขันทีเล่นทีจริงได้อย่างถ่องแท้ นอกจากนี้เขายังเป็นศิลปินครบเครื่องที่ทำงานได้ดีในทุกรูปแบบ เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกที่ชื่อของเขาจะติดอยู่ในอันดับต้นๆ ของตลาดซื้อขายงานศิลปะ

ประจวบกับทศวรรษที่ 2520 และ 2530 นั้น เศรษฐกิจในบ้านเราเติบโตอย่างรวดเร็ว และคนไทยก็หันมาสนใจงานศิลปะกันมากขึ้น จนกลายเป็นลูกค้ากลุ่มใหม่ที่มีกำลังซื้อ ทำให้รูปแบบของงานในตลาดเปลี่ยนไปด้วย จากเดิมลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างประเทศ เพราะฉะนั้นงานศิลปะที่ขายได้จึงเน้นความงามอันแปลกตา (Exotic) สำหรับชาวต่างชาติ เช่น ภาพตลาดน้ำ งานที่แสดงวิถีชีวิตและวัฒนธรรม หรือธรรมชาติอันมีลักษณะเฉพาะ เป็นต้น แต่สำหรับตลาดกลุ่มคนไทยจะต้องการความงามที่โอ่อ่าและแสดงรสนิยมอันสูงค่า เช่น ภาพธรรมชาติเหมือนจริงตามเหตุผล หรือแสดงฝีมืออันวิจิตรพิสดารของศิลปิน ภาพที่แสดงวัฒนธรรมล้ำค่าในอดีต ภาพที่แสดงความงามสง่าแบบคลาสสิก หรือแสดงอารมณ์โรแมนติกอย่างศิลปะตะวันตก

งานจิตรกรรมของ อวบ สาณะเสน ยืนพื้นอยู่บนความงามแบบคลาสสิก หรือดำเนินตามสุนทรียภาพของศิลปะชั้นสูงในยุคทองที่นิยมแสดงฝีมืออันช่ำชองและอุดมคติดีงาม แบบอย่างเช่นนี้เป็นผลผลิตของแนวคิดแบบมนุษยนิยม ซึ่งพบในศิลปะตะวันตกตั้งแต่ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance) เป็นต้นมา เจตนาพื้นฐานคือต้องการแสดงภาพแทนของโลกในอุดมคติที่มีความสมบูรณ์พร้อม อย่างงานของอวบมักจะจัดวางองค์ประกอบแบบกลมกลืนลงตัวตามสูตรเรขาคณิตที่เรียกกันว่า “สัดส่วนทองคำ” (Golden Section) แม้แต่วัตถุที่เขาเลือกเขียน อย่างไวโอลิน หรือแจกันดอกไม้ ยังแสดงความงามตามสัดส่วนทองคำด้วย ซึ่งจะให้ความรู้สึกสง่าและสูงส่งของรสนิยมที่ผ่านการขัดเกลามาดีแล้ว

ผลงานที่นำมาแสดงในนิทรรศการครั้งนี้จะจัดกลุ่มเป็นหมวดหมู่ตามเนื้อหา ตั้งแต่ภาพคนเหมือน ภาพหุ่นนิ่ง ภาพทิวทัศน์ ภาพจินตนาการ และภาพไทยประยุกต์ คนที่ไปชมก็จะได้เปรียบเทียบระหว่างรูปแบบและวิธีการของงานที่สร้างสรรค์ขึ้นต่างวาระกัน เพราะบางภาพเขาจะระบายแบบทึบแสง แสดงบรรยากาศขรึมขลังแนวคลาสสิก หรือแสดงบรรยากาศเร้าอารมณ์แนวโรแมนติก แต่บางภาพเขาก็จะระบายแบบโปร่งแสง แสดงความนุ่มนวลอ่อนหวานด้วยการควบคุมจังหวะเปียกแห้งของสีอย่างแม่นยำ และบางภาพเขาก็จะระบายทิ้งรอยฝีแปรงแบบอิมเพรสชั่นนิสม์

บางภาพเขาเขียนหุ่นนิ่งไวโอลินแสดงความงามของรูปทรงและแสงเงา บางภาพเขาเขียนไวโอลินลอยอยู่บนฟ้าในบรรยากาศเคลิ้มฝันแบบศิลปะเหนือจริง และบางภาพเขาจะตัดแบ่งรูปทรงไวโอลินด้วยระนาบเรขาคณิตแบบศิลปะคิวบิสม์ บางภาพเขาจะเขียนทิวทัศน์ในอารมณ์แบบโรแมนติก และบางภาพเขาจะเขียนทิวทัศน์ในอุดมคติที่แสดงความงาม 2 มิติอย่างจิตรกรรมไทยประเพณี

แต่ทั้งหมดยังคงเป็นการแสดงความงามตามอุดมคติ (Idealistic) หรือเป็นภาพลักษณ์ของความจริงแท้ที่สมบูรณ์แบบกว่าความเป็นจริง เป็นตัวแทนของความดีงามในความรู้สึกนึกคิด และเป็นโลกต้นแบบที่ใฝ่ฝันถึง

ความงามตามอุดมคติของวัฒนธรรมตะวันตกและวัฒนธรรมตะวันออกนั้นแสดงออกต่างกัน พื้นฐานของศิลปะตะวันตกเกิดจากปรัชญาการมองความจริงจากภายนอกตามที่ตาเห็น ดังนั้นจึงพัฒนาหลักวิชาของการสร้างภาพแบบเหมือนจริงขึ้นมา แต่พื้นฐานของศิลปะตะวันออกเกิดจากปรัชญาการมองความจริงภายในตามที่รู้เห็น เพราะฉะนั้นจึงไม่เน้นความเหมือนจริง แต่จะตัดทอนหรือขยายให้เป็นภาพเชิงสัญลักษณ์แทน

พัฒนาการของศิลปะสมัยใหม่ในสังคมตะวันตกเริ่มต้นจากการมองย้อนกลับเข้ามายังความจริงภายในตัวตนของแต่ละคน แต่ศิลปะสมัยใหม่ในสังคมตะวันออกจะเริ่มต้นที่การเรียนรู้ศิลปะตามหลักวิชา (Academic Art) ของตะวันตกก่อน เช่นเดียวกับในบ้านเรา เพราะฉะนั้นงานศิลปะแบบเหมือนจริงไม่ว่าจะเคร่งขรึมคลาสสิกหรือแสดงความรู้สึกโรแมนติก ล้วนเป็นความงามอย่างใหม่ที่แตกต่างจากศิลปะตามประเพณีซึ่งจำกัดอยู่กับบทบาทในสังคมเดิม และมีความสอดคล้องกับภาพฝันในอุดมคติของคนที่ได้รับการศึกษาแบบสมัยใหม่จากตะวันตกมากกว่า

สารัตถะในงานของ อวบ สาณะเสน คือความพยายามที่จะจำลองกาละอันเป็นอมตะและเทศะอันเป็นสากล ด้วยการสร้างสรรค์ภายใต้ขนบของรูปแบบทางศิลปะที่ยอมรับคุ้นเคยกันอยู่แล้ว แม้จะอาศัยภาพลักษณ์ดั้งเดิม แต่บทบาทก็สนองต่อชีวิตสมัยใหม่นั่นเอง เพราะโลกที่มีความสมดุลกลมกลืนเป็นระบบระเบียบ และสร้างขึ้นจากฝีมือช่างอันพิถีพิถันเป็นเลิศนั้น มิได้ทำขึ้นเพื่อถวายบูชาแด่สิ่งสูงค่าดังแต่ก่อน แต่เพื่อสร้างความรู้สึกมั่นคงในจิตใจให้แก่ผู้พบเห็นหรือครอบครอง

ทรรศนะต่อความงามย่อมเกี่ยวพันกับรูปแบบของการดำเนินชีวิตอย่างสอดคล้องพ้องกัน.