วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2550

มะเดี่ยว – ธรรรักษ์ แสงสุวรรณ : จากการ์ตูนขายหัวเราะสู่ศิลปะประชานิยม

นิทรรศการ – POZ and ME / ศิลปิน – ธรรรักษ์ แสงสุวรรณ (มะเดี่ยว) / Art Republic อาคารเพนนินซูล่าพลาซ่า ถนนราชดำริ, 15 พฤศจิกายน – 29 ธันวาคม 2550

madeaw

หากใครเคยอ่านหนังสือการ์ตูนขายหัวเราะ ต้องคุ้นตากับลายเส้นอันมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวของนักเขียนการ์ตูนที่ใช้นามแฝงว่า “มะเดี่ยวศรี (หลานยายปริก)” ด้วยรูปลักษณ์ของตัวการ์ตูนที่ออกแบบอย่างสวิงสวายตามสมัยนิยม ผสมกับบรรยากาศและเรื่องราวในชีวิตประจำวันของชาวบ้านร้านตลาด มะเดี่ยวชอบวาดตัวการ์ตูนที่เป็นวัยรุ่นแต่งกายตามแฟชั่นที่นิยมกันอยู่ตามท้องถนนในตอนนั้น และ “แก๊ก” ของเขาก็มักจะเป็นการหยอกล้อกันระหว่างความเฉิ่มเชยกับความทันสมัยนั่นเอง

ตอนนี้มะเดี่ยวหรือ ธรรรักษ์ แสงสุวรรณ หันมาบุกเบิกงานการ์ตูนศิลปะ (Cartoon Pop Art) ซึ่งเป็นที่นิยมในต่างประเทศมาหลายปีแล้ว บ้านเราก็มีคนชอบไม่น้อย เพราะให้ความรู้สึกคุ้นเคยเข้าใจง่าย อย่างงานของ โยชิโตโมะ นาระ เป็นต้น ลักษณะของงานประเภทนี้จะเป็นการนำเอาจินตภาพของการ์ตูนมาเป็นแรงบันดาลใจหรือตัวสื่อในการแสดงออก อาจจะเป็นจิตรกรรม ประติมากรรม และงานออกแบบต่างๆ หรือศิลปินบางคนอาจจะทำผลิตภัณฑ์ออกจำหน่ายเป็นเรื่องเป็นราวด้วย

นิทรรศการ “POZ and ME” จัดแสดงงานจิตรกรรมและประติมากรรมส่วนหนึ่งของมะเดี่ยว เป็นงานชุดที่เขาบอกว่าได้แรงบันดาลใจมาจากเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่เคยรู้จักสมัยยังเป็นเด็กนักเรียน เขาเขียนภาพเด็กผู้หญิงคนนั้นซ้ำๆ ในรูปของการ์ตูนบนผืนผ้าใบขนาดใหญ่ เหมือนต้องการควานหาภาพของเธอซึ่งลางเลือนอยู่ในความทรงจำ และเขียนภาพตัวการ์ตูน “มะเดี่ยว” ซึ่งแทนตัวเขาเป็นเค้าโครงของรูปทรงที่อยู่ในบรรยากาศเศร้าตรม

ส่วนประติมากรรมก็เป็นรูปจำลองตัวการ์ตูนเด็กผู้หญิงอยู่ในอาการโดดเดี่ยว หรือประกอบกับวัตถุอันตราย ทำให้อารมณ์ของงานโดยรวมออกไปทางเป็นทุกข์วิตกกังวล ระหว่างภาพลักษณ์บริสุทธิ์ไร้เดียงสาของการ์ตูนเด็กผู้หญิง กับความสับสนหม่นหมองในท่าทีแสดงออกของศิลปิน

การ์ตูนโดยทั่วไปมีบทบาทให้ความบันเทิง แต่การ์ตูนในบริบทของศิลปะต้องการสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของศิลปินมากกว่านั้น เช่นเดียวกับการเขียนภาพเหมือนจริงหรือภาพนามธรรม และคุณค่าของงานก็จะอยู่ที่ความจริงใจและความสดใหม่ในการแสดงออกนั่นเอง

เพราะการพัฒนาของเครื่องมือบันทึกความจริงทางกายภาพ ทำให้ศิลปะสมัยใหม่หันมาถ่ายทอดความจริงภายในตัวตนของมนุษย์แทน และส่วนหนึ่งก็ก้าวพ้นกรอบจำกัดของทฤษฎีและหลักวิชา ด้วยการเรียนรู้แรงบันดาลใจอันบริสุทธิ์จากศิลปะดั้งเดิม (Primitive Art) ศิลปะพื้นบ้าน และศิลปะเด็ก อย่างปิกัสโซ่ที่ศึกษาพลังความดิบหยาบจากศิลปะแอฟริกัน เป็นต้น แล้วความจริงใจก็กลายเป็นหลักนำของการสร้างสรรค์ศิลปะสมัยใหม่มาโดยตลอด เพราะฉะนั้นความสำเร็จของศิลปินจึงอยู่ตรงการค้นพบรูปแบบและวิธีการที่เหมาะสมกับตัวเอง ด้วยเหตุนี้พัฒนาการของศิลปะร่วมสมัยย่อมเป็นไปอย่างหลากหลาย

ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960 ศิลปินบางกลุ่มในอังกฤษและอเมริกาเริ่มนำภาพลักษณ์จากสิ่งของสามัญธรรมดาที่พบเห็นกันอยู่ดาษดื่นในชีวิตประจำวันมาเป็นแรงดลใจของการสร้างสรรค์งานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นตัวสินค้า งานโฆษณา สื่อมวลชน เครื่องหมายตราสัญลักษณ์ หรือแม้แต่การ์ตูน เรียกกันว่าเป็นศิลปะประชานิยม (Pop Art) หรือเป็นศิลปะที่นำวัฒนธรรมประชานิยม (Popular Culture) มาทำให้เป็นงานวิจิตรศิลป์ โดยสกัดบทบาทเดิมของสิ่งนั้นทิ้งไปเสีย แล้วนำเสนอในบริบทใหม่ที่กระตุ้นความรู้สึกนึกคิดอย่างอื่น

ของเหล่านี้ส่วนใหญ่จะผ่านกระบวนการผลิตซ้ำในระบบอุตสาหกรรม และจัดเป็นรสนิยมสาธารณ์ (Kitsch) เพราะฉะนั้น “ป็อปอาร์ต” จึงทำลายบรรทัดฐานของสุนทรียภาพที่แบ่งศิลปะออกเป็นชั้นสูงและชั้นล่าง เป็นการเสนอความจริงของสังคมสมัยใหม่ที่รายล้อมไปด้วยการบริโภค และทำให้ศิลปะกับชีวิตใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น

กลวิธีที่ศิลปินใช้สร้างงานแนวป็อปอาร์ตมีหลากหลาย วิธีหนึ่งที่นิยมกันมากคือการนำเอาภาพลักษณ์สำเร็จรูปมาล้อเลียน เสียดสีเยาะเย้ย หรือวิพากษ์วิจารณ์รหัสทางวัฒนธรรมที่คุ้นเคยเหล่านั้น บ้างก็เพื่อถอดรื้ออคติที่อำพรางแฝงเร้น ภาพลักษณ์ที่ปรากฏในบริบทของศิลปะจึงไม่ได้อ้างอิงความหมายเดิม แต่เป็นความหมายใหม่ที่แตกตัวได้ไม่รู้จบ เช่น ภาพกระป๋องซุปแคมเบลของ แอนดี้ วาร์โฮล หรือภาพธงชาติอเมริกันของ แจสเปอร์ จอห์น เป็นต้น

นอกจากนี้คตินิยมของศิลปะแนวนี้ยังเปิดให้คนที่ไม่ได้เป็นศิลปินโดยอาชีพ หรือไม่ได้ศึกษาทางศิลปะมาโดยตรง เข้ามาในพื้นที่ของศิลปะด้วย เช่น ช่างภาพ นักออกแบบ ดารา และคนดัง หรือบางครั้งก็เล่นกับความมีชื่อเสียงนั่นเอง อย่าง ฌอง มิเชล บาสเควท ที่เติบโตมาจากการเขียนภาพกราฟฟิติตามข้างถนน และสร้างชื่อเสียงฉูดฉาดในวงสังคมของนิวยอร์คไม่ต่างจากดาราเลยทีเดียว

ศิลปะแนวป็อปอาร์ตยังคงดำเนินต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน และปรับเปลี่ยนรูปแบบไปตามการเล่นล้อกับวัฒนธรรมร่วมสมัย สื่อมวลชน และเครื่องมือสื่อสาร แหล่งของแรงบันดาลใจที่สำคัญอันหนึ่งคือการ์ตูน นับแต่ รอย ลิชเตนสไตน์ นำภาพการ์ตูนพร้อมบัลลูนคำพูดมาขยายลงบนผืนผ้าใบ วางสีพื้นแบนๆ และตัดเส้นขอบคมเหมือนต้นฉบับ จากนั้นก็มีศิลปินนำการ์ตูนมาดัดแปลงเป็นงานศิลปะในหลายลักษณะ จนมาถึงยุคการ์ตูนญี่ปุ่นครองเมืองในปัจจุบัน

การ์ตูนขายหัวเราะจัดเป็นวัฒนธรรมประชานิยมของบ้านเราโดยแท้ ด้วยเป็นที่นิยมชมชอบกันอย่างกว้างขวางในทุกกลุ่มชนชั้นของสังคม และมะเดี่ยวก็เป็นนักเขียนการ์ตูนที่มีคนชอบไม่น้อย เมื่อเขาก้าวเข้ามาในพื้นที่ของศิลปะ จึงเป็น “ป็อปอาร์ต” ในความหมายที่ตรงตัว

ลักษณะเด่นของการ์ตูนอยู่ตรงความปรารถนาที่จะใช้เส้นในเชิงจินตนาการล้อเลียนความจริง ประกอบเข้าเป็นรูปทรงที่ชัดเจนเรียบง่ายเป็นเบื้องต้น เมื่อนำมาทำเป็นงานศิลปะส่วนใหญ่ก็จะรักษาคุณสมบัติพื้นฐานนั้นไว้ก่อน

มะเดี่ยวเขียนรูปทรงการ์ตูนลงบนผืนผ้าใบด้วยฝีแปรงที่หยาบ ขาดห้วน เป็นภาพค้างคาไม่เสร็จสิ้นครบถ้วน ดังนั้นจึงให้ความรู้สึกขัดหูขัดตา สับสนคลุมเครือ เคอะเขินเงอะงะ เหมาะสมกับเนื้อหาที่เป็นเรื่องของความทรงจำอันขัดแย้งอยู่ภายในตัวตน

ความทรงจำเป็นสิ่งที่ว่างเปล่า เพราะมันผ่านพ้นไปแล้ว การระลึกถึงจึงมีทั้งความประทับใจอันงดงามและความเจ็บปวดระคนกัน แต่ก็เป็นกลไกทางจิตที่จะใช้จัดการกับความขัดแย้งในใจได้เหมือนกัน

งานจิตรกรรมของมะเดี่ยวยังคงติดอิทธิพลจากสไตล์การแสดงออกของศิลปินคนสำคัญในแนวทางใกล้เคียงกันมาบ้าง นั่นหมายความว่ามโนภาพจากความนึกคิดส่วนตัวของเขายังไม่เด่นชัดพอ แม้จะมีร่องรอยสะท้อนพลังทางอารมณ์ที่น่าสนใจแล้วก็ตาม แต่ปฏิภาณอันแยบคายอย่างที่เคยเขียนเป็นการ์ตูนยังไม่ได้สำแดงให้เห็นเต็มประสบการณ์เปี่ยมล้นของเขา

อาจจะเป็นเพราะยังเกร็งกับความขลังของคำว่าศิลปะ แม้การเข้าถึงความสมบูรณ์ของการแสดงออกทางศิลปะจะอยู่ที่การเห็นแจ้งในตัวตนนั่นเอง.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น