สัตว์วิกาล : ภาพเรืองแสงของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล / โครงการดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) / openbooks, พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2550
เป็นความมหัศจรรย์อันหนึ่งที่มีผู้กำกับภาพยนตร์อย่าง อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล กำเนิดขึ้นในสังคมไทย สังคมที่ขาดความเอาใจใส่ต่อบรรยากาศของการทำงานสร้างสรรค์ทุกประเภท และยังเต็มไปด้วยแรงเสียดทานประหลาดมากมาย
ความน่าอัศจรรย์อันดับต่อมาคือ สิ่งสามัญธรรมดาในสังคมไทยปัจจุบันนั่นเองที่เป็นแรงบันดาลใจและวัตถุดิบให้อภิชาติพงศ์นำมาใช้สร้างสรรค์งานภาพยนตร์ของเขา
ตอนนี้ชื่อของอภิชาติพงศ์ขึ้นไปต่อแถวรอเป็นผู้กำกับฯ ชั้นครู (master) ของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์โลกอีกคนหนึ่งแล้ว ต่อความเป็นปรมาจารย์นั้นนอกจากจะมีความรู้ในศาสตร์แห่งวิชาชีพของตนอย่างครบถ้วนในแต่ละกระบวนการ และมีความสามารถเชี่ยวชาญระดับนายแห่งเครื่องมือ เขายังมี “ภาษาหนัง” ของตัวเอง เป็นต้นแบบบริสุทธิ์ที่มีอิทธิพลให้แรงบันดาลใจและคิดต่อได้ไม่จบสิ้น
ตามปกติแล้วหนังโดยทั่วไปซึ่งทำหน้าที่ให้ความบันเทิงเป็นหลัก จะใช้โครงสร้างของภาษาที่เข้าใจคุ้นเคยกันเพื่อสื่อสารกับคนในวงกว้าง โครงสร้างนั้นประกอบด้วยวิธีดำเนินเรื่อง ลักษณะตัวละคร และการใช้สัญลักษณ์ ความแตกต่างของภาษาที่ว่าจะเป็นตัวกำหนดประเภทของหนัง เช่น หนังรัก หนังบู๊ หนังตลก หนังผี หนังสารคดี ฯลฯ แต่ผู้กำกับฯ ชั้นครูจะสร้างภาษาของตัวเองขึ้นมารองรับสิ่งที่ตนต้องการสื่อสารเป็นการเฉพาะ บางครั้งก็เป็นที่เข้าใจได้ทั่วไป แต่บางครั้งก็ยากจะเข้าใจเพราะผิดไปจากความคุ้นเคย บางคนจึงจัดประเภทเป็นหนังศิลปะ การสร้างสรรค์ไวยากรณ์ในหนังของผู้กำกับฯ เหล่านี้เป็นต้นแบบให้คนทำหนังในชั้นหลังหยิบยืมไปใช้ประกอบปรุงแต่งเป็นงานของตนบ้าง เพราะฉะนั้นจึงถือกันเป็นครูด้วยจิตคารวะ
แม้จะเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ แต่ที่ทางของอภิชาติพงศ์ในสังคมไทยยังอยู่ในแวดวงเฉพาะ แม้ผลงานของเขาจะเข้าไปสะสมอยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะระดับโลกหลายแห่ง แต่คนไทยส่วนใหญ่ก็ไม่มีโอกาสได้สัมผัส หรือแม้จะได้ดูก็มีน้อยคนจะเข้าใจ เพราะไม่อาจสลัดตัวเองออกจากการดูหนังที่สนองความคาดหวังซ้ำเดิม เพราะฉะนั้นคนที่จะชอบงานของอภิชาติพงศ์น่าจะมีอยู่ 2 กลุ่ม คือ พวกที่แสวงหาสุนทรียภาพอันสดใหม่อยู่เสมอ กับพวกที่ไม่มีความคาดหวังต่อหนังมาก่อนเลย
อย่างไรก็ตาม อภิชาติพงศ์ยังคงเป็นชัยชนะที่น่าภาคภูมิใจของแวดวงคนทำหนังอิสระในบ้านเรา ซึ่งเริ่มต้นพร้อมกับการเกิดใหม่อีกครั้งของหนังไทยมาได้กว่าสิบปีแล้ว หนังสือ “สัตว์วิกาล” หรือ “Unknown Forces” นอกจากจะสรุปภาพรวมการทำงานของอภิชาติพงศ์เท่าที่ผ่านมา และเห็นถึงทิศทางการก้าวย่างต่อไปแล้ว ยังให้ภาพการต่อสู้ด้วยใจรักของคนทำหนังกลุ่มหนึ่งในช่วงที่ผ่านมาด้วย
หนังสือให้ภาพความเป็นมาของอภิชาติพงศ์เท่าที่จำเป็น จากเด็กหนุ่มที่เติบโตในจังหวัดขอนแก่น และเรียนจบปริญญาตรีวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เขาพิสูจน์ความรักในศิลปะภาพยนตร์ของตนด้วยการไปเรียนต่อด้านนี้โดยตรงที่ The School of the Art Institute of Chicago แล้วเริ่มต้นทำหนังในปี 2533 ด้วยหนังทดลองในบริบทของศิลปะ ซึ่งเป็นสนามให้เขาได้ฝึกฝนฝีมือและความคิด จนค้นพบแนวทางเฉพาะตนที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงพบเจอที่ทางอยู่รอดในฐานะคนทำหนังอิสระด้วย ภาพยนตร์เรื่องยาวที่เขาได้ทำในเวลาต่อมา ส่วนใหญ่จะเป็นการขยายต่อเนื่องจากงานที่เขาทำมาก่อนนั่นเอง
หากจะถอดไวยากรณ์ในหนังของอภิชาติพงศ์ออกมา ส่วนผสมสำคัญน่าจะประกอบด้วย 3 สิ่ง คือ ความธรรมดา ความมหัศจรรย์ และความในใจของเขาเอง
การกลับสู่ความธรรมดาเป็นลักษณะร่วมอย่างหนึ่งของกระแสวัฒนธรรมในช่วงทศวรรษ 1990 ซึ่งถือกันว่าไม่มีอะไรใหม่อีกแล้ว ก่อนหน้านี้ศิลปะสมัยใหม่จะแข่งกันทำอะไรก้าวหน้าแปลกใหม่จนมาสุดที่สุญญากาศของความว่างเปล่า หลังจากนั้นคือการย้อนกลับไปหยิบสิ่งต่างๆ มามองใหม่และทำซ้ำในอีกบริบทหนึ่ง อย่างที่ปรากฏในศิลปะแบบหลังสมัยใหม่ทั้งหลาย เช่น การกลับมาของจิตรกรรมที่เน้นความบริสุทธิ์จริงใจของศิลปิน ดนตรีอัลเทอร์เนทีฟที่ใช้ทักษะเบื้องต้นถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกแทนชั้นเชิงแพรวพราว หรือหนังอิสระที่เน้นความจับใจทดแทนงานสร้างอลังการ
หนังของอภิชาติพงศ์สะท้อนอิทธิพลจากสุนทรียศาสตร์กระแสที่มองหาความงามในความเรียบง่ายธรรมดา เขาพยายามจะไม่ปรุงแต่งให้หนังของเขาสวยเกินความเป็นจริง หรือไม่ก็จะเจตนาปรุงแต่งอย่างซื่อๆ ไม่สมจริงให้เห็นชัดว่าแต่งขึ้นมา ตัวละครของเขาไม่ใช่ดารา หน้าตาธรรมดา แสดงเป็นธรรมชาติ ไม่เร้าอารมณ์ และมีความเคอะเขินแบบนักแสดงสมัครเล่น การดำเนินเรื่องเป็นไปอย่างอิสระ บ้างก็สมจริงจนจืดชืด บ้างก็เหนือจริงชวนพิศวง ภาพที่ออกมาจะไม่เล่นเทคนิคพิเศษเกินไปกว่าคุณสมบัติพื้นฐานของเครื่องมือ
เขาถ่ายทอดเรื่องราวผ่านชีวิตของคนธรรมดาที่พบเห็นได้ทั่วไปในสังคมไทย ด้วยสายตาที่อ่อนโยนยิ่ง และยังหยิบยืมวัฒนธรรมบันเทิงของชนชั้นล่างขึ้นมามองใหม่และทำใหม่อย่างให้เกียรติ อาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่เขามองหาในความธรรมดานั้นคือความมหัศจรรย์ เขาพยายามมองหาความมหัศจรรย์ในกระบวนการพื้นฐานของการทำหนัง ซึ่งไม่อาจแสดงออกได้ด้วยสื่อประเภทอื่นนอกจากภาพยนตร์เท่านั้น เช่นเดียวกับความประทับใจในลักษณะพิเศษของการบันทึกผ่านเครื่องมือแต่ละประเภท ซึ่งบางครั้งไม่อาจสัมผัสได้ด้วยตาเปล่า
ความมหัศจรรย์นั้นไม่ได้เป็นเพียงภาพแปลกประหลาดที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า แต่เป็นความรู้สึกที่สะท้อนอยู่ภายในตัวตนอันมืดดำของผู้พบเห็น ซึ่งแม้แต่เจ้าตัวเองก็อาจจะไม่รู้มาก่อนว่าตนเป็นเช่นนั้น ชีวิตมนุษย์ธรรมดาที่เวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสารเป็นสิ่งที่น่าพิศวงมหัศจรรย์สำหรับเขา
และแน่นอนว่าแก่นแกนของหนังแต่ละเรื่องก็คือความในใจของเขาเอง เช่นเดียวกับผู้กำกับฯ ที่มีไวยากรณ์ของตัวเองทั้งหลาย เขาต้องมีความรู้สึกนึกคิดที่ชัดเจนเสียก่อน จึงจะสามารถกำหนดองค์ประกอบต่างๆ ให้ไปในทิศทางเดียวกัน จนกลายเป็นส่วนผสมเฉพาะขึ้นมา ยิ่งเคารพต่อความรู้สึกจริงแท้ของตัวเองมากแค่ไหน ภาษาหนังก็จะยิ่งชัดเจนเท่านั้น มวลแห่งความในใจของอภิชาติพงศ์เป็นความรู้สึกที่เหมือนกับการพยายามคว้าจับอะไรบางอย่างทั้งที่รู้ทั้งรู้ว่ามันเป็นเพียงมายา และสุดท้ายก็คือความว่างเปล่า สิ่งนั้นอาจจะเป็นความปรารถนาของตัวละคร การตกอยู่ในภวังค์ของภาพยนตร์ หรือแม้กระทั่งชีวิตของเราเอง
นอกจากวงการภาพยนตร์ ความสำคัญของไวยากรณ์ที่อภิชาติพงศ์ค้นพบยังมีประโยชน์ต่อการสร้างสรรค์ในอีกหลายวงการ อย่างน้อยก็ทำให้เห็นว่าความพิลึกพิลั่นเลอะเทอะที่สำแดงอาการอยู่ในสังคมไทยทุกวันนี้ไม่ใช่กองขยะที่ต้องเบือนหน้าหนีอย่างเดียว แต่ยังเป็นวัตถุดิบหรือปุ๋ยชั้นเลิศสำหรับบำรุงปัญญาและความคิดสร้างสรรค์ให้งอกงามด้วย.
[พิมพ์ครั้งแรก: Vote]
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น