คนและความคิดทางสถาปัตยกรรม / ต้นข้าว ปาณินท์ / สำนักพิมพ์สมมติ, พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม 2553
การศึกษาในบ้านเราไม่ว่าแขนงไหนมักเน้นไปที่ความต้องการทางวิชาชีพ ปรัชญาหรือทฤษฎีไม่ค่อยเน้น หรือท่องจำไปอย่างนั้นโดยไม่เห็นความสำคัญเชื่อมโยงกับการทำงานในชีวิตจริง ทั้งที่การเรียนรู้เรื่องความคิดน่าจะเป็นเบื้องต้นของการปฏิบัติ เพราะความคิดเป็นตัวกำหนดแนวทาง ทำไปโดยไม่คิดก็คือไม่มีแนวทาง ผลออกมาก็คือสะเปะสะปะไปคนละทิศละทาง
การศึกษาสถาปัตยกรรมก็เช่นกัน ต้นข้าว ปาณินท์ เป็นนักวิชาการรุ่นใหม่ที่สนใจศึกษาปรัชญาและทฤษฎีทางสถาปัตยกรรม หนังสือ “คนและความคิดทางสถาปัตยกรรม” บ่งบอกถึงความสนใจของเธอ และประเด็นนำเสนอที่ขยายความได้อีกมาก เป็นหัวข้อที่พยายามตั้งโจทย์และตอบคำถามเกี่ยวกับบทบาทของสถาปัตยกรรม ด้วยการสืบค้นเพื่อทำความเข้าใจกับรากที่มา แล้วเรียบเรียงออกมาอย่างเรียบง่าย
เริ่มด้วยการตั้งคำถามกับสภาพแวดล้อมของคนในสังคม ต้นข้าวตั้งข้อสังเกตว่า คนเรามักจะสยบยอมหรือวางเฉยต่อสถาปัตยกรรมมากกว่าตั้งคำถาม จากนั้นก็ชี้ให้เห็นว่าสถาปัตยกรรมไม่ได้เป็นเพียงสิ่งก่อสร้างเพื่อประโยชน์ใช้สอยเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์และการสื่อสาร ซึ่งมีปฏิสัมพันธ์ต่อระบบความสัมพันธ์ของคนในสังคมด้วย
ส่วนที่เธอสนใจนั้นคือจินตภาพและความคิดเบื้องหลังสถาปัตยกรรมเหล่านั้น หรือที่เรียกว่า “ทฤษฎี”
ต้นข้าวอธิบายคำศัพท์ว่า “ทฤษฎี” แปลมาจาก “Theory” ในภาษาอังกฤษ ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า “Theoria” แปลว่า การมอง การพิจารณา การคาดเดา
“ดังนั้นจุดเริ่มต้นของความคิดในเชิงทฤษฎีจึงมาจากการสังเกตและการตั้งคำถามถึงความหมาย ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ เมื่อการสังเกตและการตั้งคำถามนำไปสู่การคาดเดา การพยายามสร้างคำตอบอย่างเป็นระบบ กระทั่งเกิดเป็นความเชื่อ สิ่งที่เรียกว่าทฤษฎีจึงถือกำเนิด และเมื่อคำตอบนั้นถูกนำมาใช้กับการกระทำใดการกระทำหนึ่ง ทฤษฎีก็กลายเป็นสิ่งที่กำหนดแนวทางหรือทิศทางในการปฏิบัติ” (หน้า 21)
การตีความที่ต่างกัน นำไปสู่ทฤษฎีหรือกรอบในการทำงานที่ต่างกัน
เช่น ชนชั้นกลางในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เริ่มตระหนักถึงอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของตน ดังนั้นจึงแสดงออกด้วยการลอกเลียนรูปแบบสถาปัตยกรรมของชนชั้นปกครองในอดีต ด้วยการประดับประดาตกแต่งอย่างฟุ่มเฟือย จนเกิดเป็นแนวทางของสถาปัตยกรรมแบบ Historicism ขึ้นมา
อดอล์ฟ โลส สถาปนิกชาวออสเตรียก็ได้ตั้งคำถามต่อความหลอกลวงของสถาปัตยกรรมเหล่านั้น และออกแบบอาคารในลักษณะเรียบง่ายแบบสัจนิยมขึ้นมาเป็นตัวแทนของสถาปัตยกรรมยุคใหม่
หรือจะเห็นได้จากทฤษฎีทางสถาปัตยกรรมที่ได้เรียบเรียงไว้เป็นตำรับตำรา นับแต่เรื่อง “The Ten Books of Architecture” ของ มาร์คัส วิทรูเวียส โปลลิโอ สถาปนิกชาวโรมัน จนถึงทฤษฎีสมัยใหม่ของ เลอ คอร์บูซิเอร์
แล้วต้นข้าวก็ชี้ให้เห็นถึงหัวใจของงานสถาปัตยกรรม นั่นคือ “Space” หรือ “ที่ว่าง” และการออกแบบสถาปัตยกรรมก็คือการออกแบบ Space หรือระบบความสัมพันธ์ของ “ที่ว่าง” นั่นเอง
เธอสาวลึกไปถึงรากศัพท์ของ Space และความหมายในทางสถาปัตยกรรม แล้วไล่เรียงให้เห็นการตีความ Space ด้วยทฤษฎีที่ต่างกัน ซึ่งจะกำหนดรูปแบบของสถาปัตยกรรมด้วยแก่นแกนที่แตกต่าง
“Space ทางสถาปัตยกรรมจึงไม่ใช่ที่ว่าง แต่เป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยโครงสร้างของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งอื่นๆ รอบตัว / ความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อสิ่งรอบข้าง มีต่อสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะอยู่ในวัตถุประสงค์ด้านการใช้สอย ความงาม หรือกระทั่งอารมณ์ความรู้สึก ล้วนเป็นสิ่งที่มนุษย์ให้ความหมายในทางความคิด” (หน้า 68)
การจำแนกประเภทของสถาปัตยกรรมเรียกว่า “Type” และ “Typology” ซึ่งเป็นโครงร่างเชิงจินตภาพที่เป็นกรอบกำหนดรูปทรงและพื้นที่ใช้สอยของอาคาร ต้นข้าวอธิบายว่า Type เปรียบเสมือน “มารดาผู้ให้กำเนิดบุตรที่สามารถเติบโตไปเป็นตัวของตัวเองจากฐานของความสัมพันธ์เดียวกัน” ส่วน Typology นั้นเปรียบเสมือน “เข็มทิศชี้นำแนวทางเพื่อการพัฒนาเปลี่ยนแปลง” และ “เป็นกระบวนการสร้างสรรค์อิสระที่มีจุดอ้างอิงจากประวัติศาสตร์และรากของสังคมวัฒนธรรม”
ด้วยสนใจต่อ “นัย (แห่ง) ความสัมพันธ์” ของสถาปัตยกรรมกับสภาพแวดล้อม หรือที่เรียกว่า “Context” หรือ “บริบท” เธอเห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างงานสถาปัตยกรรมกับบริบทจะแปรเปลี่ยนไปไม่คงเดิม และเป็นกระบวนการที่มีชีวิตในตัวเอง ซึ่งบางครั้งก็อยู่นอกเหนือการควบคุมของสถาปนิก เช่นนั้นเองเธอจึงไม่เห็นด้วยกับการวิจารณ์งานสถาปัตยกรรมในยุคโมเดิร์นของพวกโพสต์โมเดิร์น ซึ่งมองเพียงผิวเผิน หาว่าพวกโมเดิร์นให้ความสำคัญกับวัตถุนิยมสมบูรณ์แบบ จนละเลยต่อบริบทความสัมพันธ์เชิงวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ เป็นเครื่องจักรที่ขาดมิติทางจิตวิญญาณและความเป็นมนุษย์
เธอเห็นว่างานสถาปัตยกรรมสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมอยู่แล้ว แม้จะใช้รูปแบบอันเป็นสากล แต่ก็จะต่างกันไปตามองค์ประกอบของพื้นที่ตั้ง พร้อมยกตัวอย่างงานของ เลอ คอร์บูซิเอร์ 2 เรื่อง งานเรก เลอ คอร์บูซิเอร์ ออกแบบบ้านให้เจ้าของทางไปรษณีย์ โดยไม่เคยไปเยือนสถานที่ตั้งเลย และอีกงานหนึ่ง เลอ คอร์บูซิเอร์ ออกแบบบ้านขึ้นมาก่อน แล้วตระเวนหาสถานที่ปลูกบ้านทีหลัง
อธิบายเรื่องความคิดทางสถาปัตยกรรมแล้ว “คน” ที่ต้นข้าวกล่าวถึงน่าจะหมายถึงความเป็นมนุษย์ ดังที่เธอเขียนถึงเรื่อง “Dwelling ความหมายของการอยู่” เธออยากให้สถาปัตยกรรมให้ความสำคัญกับ “การอยู่” ของมนุษย์
“‘การอยู่’ หรือ Dwelling นั้นไม่ได้จำกัดอยู่กับการอยู่อาศัยในบ้าน แต่รวมไปถึงการครอบครองพื้นที่ของมนุษย์ในสภาพแวดล้อมทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอกอาคาร ไม่ว่าบทบาทหน้าที่ทางวัตถุของงานสถาปัตยกรรมจะพัฒนาเปลี่ยนแปลงผันแปรไปเช่นไร พื้นฐานความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสัญชาตญาณในการอยู่ก็ยังคงเกี่ยวพันกับความคิด 3 ประการที่สำคัญคือ ความคิดเกี่ยวกับตำแหน่งหรือ Location, ความคิดเกี่ยวกับขอบเขตหรือ Boundary, และความผูกพันเป็นเจ้าของหรือ Belonging” (หน้า 146)
ตอนท้าย ต้นข้าวเรียกร้องให้สถาปนิกฟื้นฟูสัญชาตญาณแห่งสหวิทยาการกลับมา เนื่องจากการทำงานสถาปัตยกรรมควรมีความรู้รอบในหลายสาขาวิชา นอกเหนือจากความชำนาญในวิชาชีพ โดยเฉพาะความรู้ในทางปรัชญาและสังคมวิทยา
อันที่จริงไม่ใช่เฉพาะสถาปนิก แต่ทุกอาชีพน่าจะปลดตัวเองจากความรู้แบบแยกส่วนด้วย.
[พิมพ์ครั้งแรก: Vote]
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น