Locution-(re)-locations.. ผนังของโลกหม่นบางคล้ายผนังระฆังทองคำ (เต็มไปด้วยทัศนะ..เต็มไปด้วยความรู้สึก) / ภาพตะวัน สุวรรณกูฏ / 100 ต้นสนแกลเลอรี่, 19 พฤษภาคม – 10 กรกฎาคม 2554
[“Grey wall of the World, fragile as the sound of golden bell” สีอะคริลิคบนผ้าใบ 180x75 ซม. ปี 2550 และ “One Step at a Time” หมึกบนผ้าทอมือ 220x35 ซม. ปี 2553]
นับแต่จิตรกรรมไทยประเพณีได้รับการฟื้นฟูและสร้างสรรค์ใหม่ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ต้องนับว่าตื่นตัวและพัฒนาไม่น้อย ทั้งในแง่อนุรักษ์ ประยุกต์ให้เหมาะสมกับสังคมปัจจุบัน และแปรแปลงไปสู่บทบาทหรือความหมายที่แตกต่าง ในบรรดาศิลปินที่ทำงานจิตรกรรมไทยมีผู้หญิงอยู่ไม่มากนัก และในจำนวนนั้น ภาพตะวัน สุวรรณกูฏ ก็ยังต่างจากคนอื่นออกมา
ด้วยพื้นฐานของครอบครัวที่ทำงานจิตรกรรมไทยมาโดยตลอด เนื่องจาก ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ เป็นผู้บุกเบิกจิตรกรรมไทยในรูปแบบปัจจุบันคนสำคัญ เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังในวัดตามประเพณีเดิม และเขียนภาพจิตรกรรมไทยตกแต่งอาคารสถานที่เอกชน เช่น โรงแรม หรือสำนักงาน ภาพตะวันผู้เป็นบุตรสาวก็เติบโตมากับการเรียนรู้ทักษะและองค์ความรู้เกี่ยวกับจิตรกรรมไทยดังกล่าว และทำงานแทนพ่อในช่วงหลัง ส่วนตัวเธอเองเรียนระดับปริญญาตรีด้านอักษรศาสตร์ ซึ่งช่วยเสริมฐานภาพเดิมในการขยายความเข้าใจต่อคตินิยมของศิลปะไทยที่มักจะเกี่ยวพันกัน โดยไม่อาจแยกประเภทออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด อย่างงานจิตรกรรมก็มักจะใช้เนื้อหาตามวรรณคดีเป็นต้น แต่ความเข้าใจที่เปิดกว้างออกกลับทำให้เธอคิดต่างออกไปจากร่องรอยเดิม และต่างออกไปจากศิลปินที่ฝึกฝนมาทางศิลปะอย่างเดียว
ภาพตะวัน สุวรรณกูฏ ฝากฝีมือไว้กับงานจิตรกรรมฝาผนังหลายแห่ง เช่นที่วัดศรีโคมคำ จ.พะเยา ร่วมกับ อังคาร กัลยาณพงศ์ งานจิตรกรรมไทยของเธอมีความเรียบง่ายกลมกลืนสอดคล้อง เป็นแบบแผนตามหลักวิชาที่ประมวลขึ้นมาในยุคหลัง ต่อเมื่อนำทักษะความชำนาญของเธอมาแสดงออกในพื้นที่ศิลปะร่วมสมัย จึงได้เห็นการตรึกตรองที่เป็นเรื่องราวของโลกและชีวิตในปัจจุบัน
เช่น การใช้รูปลักษณ์ของนารีผลในงานจิตรกรรมไทยเป็นสัญลักษณ์แทนปัญหาการค้าประเวณีและตกเขียวเด็กผู้หญิง นับเป็นการใช้คตินิยมที่ต่างไปจากฐานภาพเดิม หรือเธอมักจะใช้ช้างเป็นสัญลักษณ์แทนภูมิธรรมดั้งเดิม อันหมายรวมถึงพ่อ ครอบครัว และพื้นภูมิที่เธอเติบโตมา
เมื่อความซับซ้อนของสัญลักษณ์ไม่ได้จำกัดอยู่กับความหมายเดิม แต่เปิดการตีความให้กว้างออกเป็นปัจจุบัน กลวิธีในการทำงานแบบประเพณีก็กลายเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวที่ได้เปรียบ หลังจากไปศึกษาต่อด้านศิลปะที่ออสเตรเลีย และได้พำนักอยู่ที่นั่นในเวลาต่อมา งานของภาพตะวันในช่วงหลังเป็นการผสมผสานระหว่างจิตรกรรมไทยกับบริบทการแสดงออกอย่างศิลปะร่วมสมัย เนื้อหาก็จะเห็นความพยายามที่จะควบรวมพุทธปรัชญาในศิลปะประเพณีเข้ากับความรู้สึกนึกคิดของปัจเจกศิลปิน และยังพยายามรวมบทบาทในการสะท้อนสภาพแวดล้อมของโลกปัจจุบันไว้ด้วย
งานนิทรรศการศิลปะ “Locution-(re)-locations.. ผนังของโลกหม่นบางคล้ายผนังระฆังทองคำ (เต็มไปด้วยทัศนะ..เต็มไปด้วยความรู้สึก)” เป็นการแสดงผลงานคัดสรรในช่วง 7 ปีของภาพตะวัน จะเห็นประเด็นนำเสนอปรากฏอย่างน่าสนใจทั้งในรูปแบบและเนื้อหา บอกถึงการครุ่นคิดใคร่ครวญของศิลปิน ผ่านรูปลักษณ์และวิธีการที่เธอคุ้นเคย แต่ก็เหมือนจะไกลห่างออกไปจนเหลือแต่เงาร่างล่องลอย ซ้อนบัง และเลือนราง
ดังถ้อยคำที่บอกเล่าถึงถิ่นที่ไกลห่าง แต่ก็เป็นเพียงการทำซ้ำด้วยภาษาที่ไม่อาจเข้าถึงได้โดยตรง เป็นเพียงความเปรียบนามธรรม และการพรรณนาอันเปราะบาง ศิลปะของภาพตะวันก็คือการพรรณนานั้น
การติดตั้งจัดวางในห้องแสดงงานมีส่วนช่วยสร้างบรรยากาศเหลื่อมซ้อนของผัสสะระหว่างชิ้นงาน เกิดเป็นมิติสัมพันธ์ที่เสมือนเป็นกลุ่มงานเดียวกัน ส่งสะท้อนซึ่งกันและกัน ขณะเดียวกันผู้ชมก็จะเข้าไปสัมพันธ์ในมิติที่กินพื้นที่ลอยตัวออกมา และสัมผัสกับภาวะซ้อนบังนั้นด้วยผัสสะของตนเอง
อย่างงานชื่อ “Grey wall of the World, fragile as the sound of golden bell” ปี 2550 เป็นภาพแนวตั้ง 3 ภาพติดเคียงกัน วาดบ้านเรือนแบบตะวันตกในลักษณะแบน 2 มิติอย่างงานจิตรกรรมไทย และมีฉายาของพระพุทธเจ้าปางลีลาซ้อนเหลื่อมอยู่ทั้งสามภาพ
แต่ผู้ชมก็จะเห็นงานชิ้นนี้ไม่ถนัดนัก เนื่องจากมีผลงานชื่อ “One Step at a Time” ปี 2553 ซึ่งเป็นผ้าทอมือเขียนตัวอักษรด้วยหมึก แขวนบังอยู่ข้างหน้า เหมือนม่านยาวจรดพื้น เว้นช่องไฟให้พอมองผ่าน และเดินผ่านเข้าไป แต่ก็จำกัดมุมมองให้ไม่อาจเห็นทั้งหมด บนผ้าทอมือเขียนตัวอักษรสำนวนโบราณหลายต่อหลายเรื่อง ปะติดปะต่อไม่ถนัดชัดเจนนัก และรับรู้เป็นเพียงกลิ่นอายเท่านั้น
เมื่อขยับมาข้างหน้าก็จะเป็นงาน “Un(for)seen” ปี 2553 ซึ่งเป็นภาพลายเส้นและตัวอักษรไทย บนม้วนกระดาษไข ผ้าไหม และผ้าทอมือ แขวนลงมาจากเพดานจรดพื้นในลักษณะซ้อนบังชิดติดกัน จนไม่อาจมองผ่านหรือเดินผ่าน
ส่วนด้านหน้าและผนังอีกด้านเป็นงาน “Rebirth Mandala” ปี 2550-2553 อันประกอบด้วยรังไหมที่ถักขึ้นมาใหม่จากเส้นไหม แขวนลอยอยู่กลางห้อง และแผ่นการ์ดกระดาษทำมือวาดเส้นประกอบตัวอักษร จัดวางคู่กับผ้าทอมือพับเป็นรูปทรงพีระมิด วางเรียงเสมือนเป็นบันทึกส่วนตัวจำนวน 42 ชิ้น
เส้นไหมกลับเป็นรังไหมด้วยการถักของศิลปิน มณฑลของจักรวาลดั้งเดิมก็ย่อส่วนลงในขอบเขตจำกัดแค่โปสการ์ด
ผนังด้านตรงข้ามเป็นงานจิตรกรรมชุด “Three Worlds” ปี 2552 คัดสรรมาจัดแสดง 5 ภาพ เป็นจิตรกรรมไทยประยุกต์ วางองค์ประกอบในแนวตั้ง ผสมผสานภูมิทัศน์ต่างบ้านต่างเมืองเข้ากับคตินิยมในจิตรกรรมไทย มีตัวอักษรไทยในสำนวนโบราณเป็นพื้นหลัง บ่งบอกตัวตนอันเป็นส่วนผสมของฐานภาพในอดีตกับสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน ซึ่งทั้งขัดแย้งยากจะเข้าใจและพยายามประสมกลมกลืนเข้าด้วยกัน
ส่วนงาน “The Elephant and the Journey” ประกอบด้วยจิตรกรรมขนาดใหญ่เป็นรูปภูมิทัศน์ต่างบ้านต่างเมืองเช่นกัน และมีแผ่นกระจกฝ้าวาดลายเส้นรูปช้างบังสลับกัน มองผ่านซ้อนภาพเลือนมัว และยังคงมีตัวอักษรประกอบ
ผลงานที่ปรากฏไม่ได้เป็นเพียงรูปแบบ แต่ยังบอกการติดข้องในสภาวะจิตของศิลปิน การเพ่งพินิจพิจารณาความเป็นตัวเอง แสดงออกผ่านภูมิปัญญาและประสบการณ์ที่สั่งสม งานศิลปะของ ภาพตะวัน สุวรรณกูฏ เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า แบบอย่างของศิลปะแบบประเพณียังคงนำมาใช้รองรับประสบการณ์ร่วมสมัยได้อีกหลายเรื่อง ด้วยสุนทรียอารมณ์ที่ยังคงสง่างาม.
[พิมพ์ครั้งแรก; Vote]
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น