วันจันทร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2550

คู่มือวิวัฒนาการ

MIMIC เลียนแบบทำไม? / แทนไท ประเสริฐกุล / openbooks, พฤศจิกายน 2549

MIMIC เลียนแบบทำไม? / แทนไท ประเสริฐกุล

สังคมไทยกำลังต้องการนักวิชาการหรือปัญญาชนที่มีวิชาความรู้ความชำนาญเฉพาะด้านมาพัฒนากิจการต่างๆ ให้ลึกซึ้งมากขึ้น เสริมแทนบทบาทของปัญญาชนสาธารณะที่ส่วนใหญ่จะมีความรู้รอบแบบองค์รวม แต่ขาดความรู้ลึกในรายละเอียด ขณะที่ปัญหาหลายอย่างต้องการความรู้เฉพาะด้านในการจัดการ เช่นปัญหาสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติก็ต้องการองค์ความรู้ในการฟื้นฟูรักษา นอกเหนือจากการแสดงออกทางความรู้สึก

แต่นักวิชาการที่ได้รับการฝึกฝนเฉพาะด้านมักจะติดอยู่กับการมองโลกแบบแยกส่วนตามสาขาที่ตนศึกษามา ทำให้ไม่อาจเชื่อมโยงความรู้สัมพันธ์เข้ากับส่วนอื่นๆ ของสังคม ดังนั้นจึงปรากฏว่านักวิชาการในสังคมทุนนิยมจำนวนมากใช้วิชาความรู้แสวงหาประโยชน์เพื่อตนเองอย่างเดียว เพราะมองไม่เห็นว่าจะประสานประโยชน์กับส่วนรวมอย่างไร เช่นนั้นเองความก้าวหน้าทางวิทยาการจึงมักจะเป็นไปเพื่อการค้าพาณิชย์มากกว่าประโยชน์สาธารณะของมนุษยชาติโดยรวม

แทนไท ประเสริฐกุล เป็นนักชีววิทยาหนุ่มรุ่นใหม่ ชอบการคิดการเขียน และงานเขียนของเขาก็สะท้อนจิตสำนึกทางสังคมพอสมควร ความเป็นคนรุ่นใหม่ทำให้เขามีมุมมองที่แปลกใหม่ และเปรียบเปรยด้วยประสบการณ์ร่วมสมัยตามวัยของเขา แต่เครื่องหมายที่บ่งบอกว่าเขารู้จักมองโลกแบบเชื่อมโยง เห็นความสัมพันธ์ของสิ่งหนึ่งกับสิ่งอื่นๆ ก็คือลักษณะของน้ำเสียงเสียดสีที่เขาใช้นั่นเอง

งานเขียนของแทนไทส่วนหนึ่งจะเป็นข้อเขียนที่แสดงออกถึงมุมมองส่วนตัวในลีลายียวนกวนความคิด จนไปถึงขั้นเพี้ยนแปลกประหลาด อีกส่วนหนึ่งสาระจะอิงอยู่กับวิชาความรู้ที่เขาร่ำเรียนมา

“MIMIC เลียนแบบทำไม?” เป็นหนังสือที่ว่าด้วยปรากฏการณ์หนึ่งในวิวัฒนาการของธรรมชาติ นั่นคือการเลียนแบบ (Mimicry) ซึ่งเป็นอีกวิธีในการอยู่รอดและสืบพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต เช่น ผีเสื้อพันธุ์หนึ่งเลียนแบบลวดลายของผีเสื้ออีกพันธุ์ที่มีพิษ เพื่อให้ปลอดพ้นจากการตกเป็นเหยื่อของนก เป็นต้น

แทนไทสรรหาตัวอย่างดังกล่าวมาเล่าด้วยสำนวนภาษาปาก ความสนุกอยู่ตรงเรื่องแปลกประหลาดมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่เขาเลือกมาถ่ายทอด และอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบกับพฤติกรรมของมนุษย์นั่นเอง

การเลียนแบบในธรรมชาตินั้นเกิดขึ้นด้วยเป้าประสงค์และวิธีการที่ต่างกันตามความจำเป็นของปัจจัยแวดล้อม อย่างสัตว์ที่เป็นเหยื่อจะเลียนแบบสิ่งอื่นเพื่อ “พราง” ไม่ให้สังเกตเห็นตนได้ง่าย เช่น แมวน้ำมีขนสีขาวเพื่อให้กลมกลืนไปกับหิมะ หนูทะเลทรายก็มีสีน้ำตาลอ่อน ม้าน้ำบางพันธุ์เลียนแบบสาหร่ายเพื่อพรางตัว กบบางชนิดเลียนแบบสีสันของใบไม้ เช่นเดียวกับแมลงหลายชนิดที่เลียนแบบรูปร่างของกิ่งไม้ใบหญ้า ไปจนถึงพืชในทะเลทรายที่พรางตัวด้วยการเลียนแบบก้อนหิน

ส่วนสัตว์ที่เป็นผู้ล่าก็จะเลียนแบบเพื่อ “ซุ่ม” โจมตีเหยื่อ เช่น ปลากบเลียนแบบก้อนฟองน้ำ ตั๊กแตนหรือแมงมุมบางพันธุ์เลียนแบบทรงและสีของดอกไม้เพื่อซุ่มจับแมลง

ชั้นเชิงของการเลียนแบบซับซ้อนขึ้นตามปัจจัยที่ซับซ้อนของธรรมชาติ เช่น แมงมุม “หลอก” เป็นมด เต่า alligator snapping turtle หลอกให้ปลาเข้ามาในปากด้วยลิ้นที่กระดุกกระดิกเลียนแบบไส้เดือน ปลา angler fish มีครีบหลังยื่นออกมาเหมือนคันเบ็ดที่ตกเหยื่อหลอกปลาเล็กให้เข้ามาหา แมงมุมบางพันธุ์สามารถเลียนแบบกลิ่นฟีโรโมนของแมลงตัวเมีย เช่นเดียวกับหิ่งห้อย Photuris เลียนแบบสัญญาณกะพริบของหิ่งห้อยพันธุ์อื่น เพื่อหลอกตัวผู้มากิน หรือซับซ้อนขนาดหนอนด้วง blister สามารถรวมตัวประกอบร่างกันเป็นผึ้งตัวเมียปลอม เพื่อหลอกผึ้งตัวผู้มาเป็นพาหะพามันไปสู่จุดหมาย

บางครั้งการเลียนแบบนั้นก็ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ จนดูเหมือน “โม้” เช่น งูไม่มีพิษ เต่า และหนอน เลียนแบบลายของงูพิษ เพื่อไม่ให้ใครมายุ่งกับมัน แมลงวันบางพันธุ์เลียนแบบลายของผึ้ง ลายบนปีกของผีเสื้อเลียนแบบดวงตาของสัตว์ล่าเนื้อเพื่อหลอกนก สัตว์บางพันธุ์จะเลียนแบบอวัยวะตัวเอง (automimicry) เช่น หางเลียนแบบหัว จนแยกแยะไม่ออกว่าไหนหัวไหนหาง เพื่อให้ศัตรูงุนงง หรือสัตว์บางพันธุ์ก็จะชอบเลียนแบบกิริยาอาการของสัตว์อื่น อย่างปลาหมึกชนิดหนึ่ง หรือนกประเภทที่ชอบเลียนเสียงร้องตามที่ได้ยิน

และบางครั้งการเลียนแบบนั้นก็ “เนียน” เสียจนเหมือนวางแผนมาแล้วอย่างแยบคาย เช่น พฤติกรรมของพวกนกกาฝาก พยาธิ หรือสัตว์ต่างๆ ที่ชอบแอบเข้าไปอยู่ในรังของมดและปลวก เป็นต้น

ไม่เพียงเลียนแบบสิ่งอื่นหรือโลกภายนอก สัตว์หลายชนิดยังใช้ “กลยุทธ์กะเทย” ปลอมเป็นตัวเมียเพื่อความอยู่รอดภายในสายพันธุ์ของมันเอง หรือหมาในฮายีน่าตัวเมียจะมีลึงค์เทียมปลอมเป็นตัวผู้ เพื่อไม่ให้ถูกตัวเมียที่ดุร้ายกว่าทำร้าย นอกจากนี้ยังมีกรณีเลียนแบบตัวเอง อย่างลิงบาบูน gelada จะปลอมก้นเอาไว้ที่อก เพื่อเป็นเครื่องหมายบ่งบอกถึงระยะสืบพันธุ์

แต่ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่เหมือนกันจะเลียนแบบกันเสมอ เพราะอาจจะเป็นเรื่องของความบังเอิญที่ต้องตอบโจทย์คล้ายกัน เช่น ฉลามขาวกับปลาวาฬเพชฌฆาตมีที่มาต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่มีรูปร่างคล้ายกัน เพราะต่างก็ “ทำอาชีพ” เป็นนักล่าแห่งท้องทะเลเหมือนกัน หรือค้างคาวกับโลมาที่ไม่จำเป็นต้องใช้ตาในการมองเห็น จึงพัฒนาระบบ sonar หรือการนำทางด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงขึ้นมาใช้เหมือนกัน

ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากวิวัฒนาการตามธรรมชาติ ผ่านการคัดเลือกจากลักษณะที่เป็นประโยชน์ต่างกันทีละเล็กละน้อย ค่อยๆ สะสมจนเปลี่ยนแปลงไปเช่นนั้นเอง อย่างที่แทนไทแจ้งว่า “เอาเป็นว่าไม่ว่าผมจะใช้ศัพท์บ้านๆ ยังไงก็ตาม ก็ขอให้พวกท่านรู้ไว้ละกันครับว่า กระบวนการในธรรมชาติจริงๆ มันไม่ได้เกิดโดยมีสำนึก เจตนาและความหมายเป็นตัวกำหนด เหมือนอย่างในการกระทำของคนเรา” (หน้า 124)

เพราะฉะนั้นการตีความปรากฏการณ์ธรรมชาติเป็นความหมายรองรับการกระทำของมนุษย์จึงเป็นเรื่องที่ไม่จริงทั้งหมด ไม่ว่าพวกที่ “เลียนแบบ” ด้านที่โหดร้ายของธรรมชาติมาเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน แล้วอ้างสัญชาตญาณของความอยู่รอด ซึ่งแทนไทเห็นว่า “เรา และเราเท่านั้น เป็นสัตว์เพียงชนิดเดียวในโลก ซึ่งครอบครองศักยภาพในการเอาชนะสัญชาตญาณที่ธรรมชาติให้มาได้... ถึงแม้ไม่หลุดพ้นไปเลยทีเดียว แต่สามารถข่มลดและขยายเพิ่มได้ในสิ่งที่เราเห็นว่าดีและไม่ดี” (หน้า 220)

เช่นเดียวกับพวกที่ “เลียนแบบ” ด้านที่สวยงามของธรรมชาติ จนมองเห็นโลกฝันหวานไปหมด แทนไทก็ชี้ให้เห็นว่า “ดอกไม้จริงๆ แล้วเป็นอวัยวะสืบพันธุ์ของพืช มีไว้เพื่อล่อแมลงให้มาผสมเกสรให้มัน ไม่ได้มีไว้เพื่อให้มนุษย์เชยชมเลยแม้แต่น้อย” (หน้า 222) หรือ “ผีเสื้อที่เราเห็นว่าสวยๆ พออ่านเรื่อง mimic แล้ว เราก็จะรู้ว่าลายของมันมีไว้เพื่อความอยู่รอด เป็นเรื่องของความเป็นความตาย ไม่ใช่เรื่องของความงาม” (หน้า 223)

แต่ก็ใช่ว่าเขาจะเสนอให้คนเรามองเห็นความจริงของธรรมชาติอย่างแห้งแล้งไร้ความรู้สึกหรือจินตนาการ เพราะเมื่อลองล้วงแคะแกะคุ้ยลึกลงในรายละเอียดของธรรมชาติตามเขาไปแค่บางซอกมุม ยังรู้สึกอัศจรรย์ใจใน “ความงาม” อันแท้จริงของธรรมชาติมากขึ้นไปอีก เป็นความงามที่สลับซับซ้อน ซึ่งจะมองเห็นได้เมื่อก้าวพ้นจากสายตาอันจำกัดคับแคบของมนุษย์ไปแล้วเท่านั้น.

[พิมพ์ครั้งแรก: Vote]