แปลกใหม่ และ/หรือ คุ้นเคย (Foreign – Familiar) / หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, 4-30 มิถุนายน 2554
[“ที่ว่างตรงกลาง” (Space-In-Between), โอลิวิเยร์ พิน-ฟัต]
ภาพถ่ายได้ชื่อว่าเป็นสื่อที่ใช้บันทึกความจริงตามที่ตาเห็น แต่กระนั้นก็เป็นเพียงส่วนเสี้ยวของความจริงที่ปรากฏ เพราะภาพถ่ายยังจำกัดอยู่ด้วยกรอบในมุมมองของผู้ถ่ายภาพ กรอบจำกัดนั้นมิใช่เพียงวัตถุที่มองเห็น แต่รวมถึงทัศนคติของผู้ถ่ายภาพด้วย
ความเป็นศิลปะของภาพถ่าย นอกจากความเชี่ยวชาญในทักษะวิธีการ ยังอยู่ที่ทัศนคติของผู้ถ่ายภาพนั่นเอง
นิทรรศการภาพถ่าย “แปลกใหม่ และ/หรือ คุ้นเคย” (Foreign-Familiar) จัดขึ้นโดยสถาบันเกอเธ่ และมี วอล์ฟกัง เบลล์วิงเคิล ช่างภาพชาวเยอรมันเป็นภัณฑารักษ์ คัดเลือกผลงานของช่างภาพชาวตะวันตก 9 คนที่พำนักและทำงานอยู่ในทวีปเอเชีย เพื่อสะท้อนสภาวะของสภาพแวดล้อมและการใช้ชีวิตที่ปรากฏอยู่ในสังคมเอเชียปัจจุบัน ตามมุมมองและทัศนคติของช่างภาพแต่ละคน
สิ่งที่ได้เห็นก็คือลักษณะเฉพาะตัวของช่างภาพทั้ง 9 คนในการสะท้อนลักษณะเฉพาะในสังคมนั้นๆ ที่พวกเขาได้สัมผัสรับรู้ และน่าสนใจที่ส่วนใหญ่เป็นการสะท้อนในเชิงวิพากษ์ เป็นแง่มุมของความจริงที่ไม่ค่อยปรากฏในสื่อปรกติเท่าใดนัก หรือแม้แต่ในภาพถ่ายท่องเที่ยวทั่วไปที่มุ่งเน้นความสวยงามอันดาษดื่น เป็นความจริงในด้านที่ผู้คนในสังคมนั้นๆ อาจมองข้าม ด้วยความคุ้นเคยหรือตั้งใจที่จะหลบเลี่ยงก็ตาม ดังนั้นจึงเป็นสายตาของคนนอกที่กระทบใจแล้วถ่ายทอดมานำเสนอ
อย่างไรก็ตาม ต้องตระหนักว่านั่นเป็นเพียงมุมมองหนึ่ง มิใช่ทั้งหมด และเป็นมุมมองที่มีความนัยกำกับการตีความ เป็นการพรรณนาถึงสิ่งที่พบเห็น แต่อาจจะไม่ใช่คำอธิบายถึงความเป็นไปทั้งหมด
ความแปลกใหม่ของภาพที่ปรากฏมาจากความรู้สึกที่เป็นอื่นของคนนอก มิใช่ความเข้าใจที่คุ้นเคยของคนในสังคมนั้น ซึ่งอาจจะไม่เห็นสำคัญจนต้องบอกเล่าออกมา
ยิ่งเป็นผู้คนในสังคมที่กำลังพัฒนาอย่างเร่งรัด ย่อมละเลยมองข้ามหลายสิ่งหลายอย่างไปเสีย และต้องอาศัยสายตาคนอื่นในการชี้นำให้เห็นความจริงบางด้าน
อย่างภาพถ่ายของ เฟริต คูยาส ช่างภาพชาวสวิตเซอร์แลนด์ บันทึกสิ่งก่อสร้างในนครฉงชิ่ง เมืองใหญ่เมืองหนึ่งของจีนที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด เต็มไปด้วยสิ่งปลูกสร้างสูงใหญ่โอฬาร ทั้งตึกระฟ้า สะพานและถนนต่างระดับ ตัดข้ามภูมิประเทศที่เป็นภูเขาและแม่น้ำ ท่ามกลางอากาศที่เจือไปด้วยหมอกมัว เผยให้เห็นความหยาบกระด้างของวัตถุและสิ่งปลูกสร้างแปลกปลอม เป็นภาพในมุมกว้างที่ให้ความรู้สึกเวิ้งว้างเปล่าเปลี่ยว ซึ่งคนที่อยู่ในสังคมนั้นอาจมองเห็นแต่ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของตน จนมองข้ามแก่นแท้ของการดำรงอยู่
ภาพถ่ายของ โอลิวิเยร์ พิน-ฟิต ช่างภาพชาวอังกฤษลูกครึ่งจีน-ฝรั่งเศส บันทึกสิ่งแปลกตาที่เขาพบเห็นในเมืองไทย ด้วยเทคนิคการถ่ายภาพแบบฉับพลัน จับความเคลื่อนไหวในชั่วขณะ และเพียงส่วนเสี้ยวของวัตถุที่พบเห็น จนความหมายของสิ่งที่ปรากฏคลุมเครือไม่ชัดเจนว่าเป็นอะไร แต่ก็สะดุดตาด้วยความแปลกประหลาดพิลึกพิกลของรูปทรง ซึ่งชวนหวาดระแวง แฝงความรู้สึกรุนแรงเกี่ยวกับการดิ้นรนดำรงอยู่และความตาย เป็นภาพพจน์ส่วนตัวจากสิ่งคับข้องที่อยู่ภายในจิตใจของผู้ถ่ายภาพเอง มากกว่าที่จะเป็นสารัตถะของวัตถุที่นำเสนอ
ขณะที่งานของ วอล์ฟกัง เบลล์วิงเคิล เอง เลือกที่จะถ่ายภาพตึกสูงที่สร้างไม่เสร็จ จากกรุงเทพฯ จาการ์ตา และสิงคโปร์ ตัดพื้นหลังออกให้โล่งว่าง เหลือเพียงแท่งคอนกรีตร้างเปล่าเปลือย เป็นภาพประทับที่แทนความรู้สึกไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม
เช่นเดียวกับภาพถ่ายภายในบ้านชาวจีนปัจจุบันของ มาเรียเก้ เดอ มาร์ ช่างภาพชาวเนเธอร์แลนด์ จะเห็นร่างเงาของชีวิตประจำวันและวัฒนธรรมปรากฏอยู่ในข้าวของเครื่องใช้หรือเครื่องตกแต่งต่างๆ ด้วยเนื้อแท้ของวัตถุที่แสดงร่องรอยความเสื่อมตามกาลเวลา บอกถึงการดำรงอยู่เพียงครู่คราว และไม่จีรังยั่งยืนอะไรนัก
ภาพถ่ายชีวิตในกรุงเทพฯ ยามราตรีของ นิก นอสติส ช่างภาพชาวเยอรมัน แสดงความดิบกระด้างที่จัดจ้านกว่านั้น ด้วยกิจกรรมชีวิตที่เป็นเหมือนด้านมืดของตอนกลางวัน ทั้งอาชญากรรม การขายบริการทางเพศ ความตาย และชีวิตที่เติบโตตามยถากรรม เปิดเผยแจ่มจ้าในชั่วขณะที่แสงไฟส่องวาบ ตัดกับเงาของกลางคืนที่รายล้อม
คล้ายกับภาพถ่ายมนุษย์เงินเดือนในญี่ปุ่นของ บรูโน เกงเก้ต์ ช่างภาพชาวฝรั่งเศส จับภาพมนุษย์ที่อ่อนล้าโรยแรงอยู่ท่ามกลางความแข็งกระด้างของวัตถุอุตสาหกรรม ในจังหวะการเคลื่อนไหวที่สัมพันธ์กับสิ่งที่เป็นนัยยะอย่างคมคาย และเล่นล้อกับความหมายแฝงด้วยความชาญฉลาด
ขณะที่ช่างภาพชาวอเมริกัน ปีเตอร์ สไตน์เฮาเออร์ สนใจในทัศนียภาพที่เกี่ยวเนื่องกับจิตวิญญาณ ทั้งในด้านสงบและยุ่งเหยิง ผ่านภาพสถิตนิ่งของโบราณสถานในพม่า ความยุ่งเหยิงของตึกอาคารในฮ่องกง หรือตลาดน้ำในเวียดนาม เขายังสนใจสิ่งก่อสร้างและทิวทัศน์ที่ส่งผลทางอารมณ์เช่นนั้น เป็นภาพถ่ายขาวดำที่แสดงน้ำหนักเข้มอ่อนในการกำหนดอารมณ์ความรู้สึกโดยไม่ต้องมีสีสันรบกวน
ภาพถ่ายขาวดำของ ลอรองซ์ เลอบลอง ช่างภาพสาวชาวฝรั่งเศส ก็เน้นไปที่อารมณ์ของภาพเช่นกัน จับความเคลื่อนไหวของเด็กๆ ในกัมพูชาในอาการวูบไหวไม่ชัดเจน เห็นเพียงเงาร่างที่แสดงชีวิตชีวา เหมือนภาพประทับที่พร่าเลือนในความทรงจำ
ส่วนช่างภาพสาวชาวสวิตเซอร์แลนด์ กราเซียลล่า อันโตนินี่ ก็เดินทางในญี่ปุ่น เพื่อบันทึกภาพที่ชวนให้จินตนาการบรรเจิดเพริดแพร้ว จากการเปรียบต่างของสิ่งที่ปรากฏในภาพ ทั้งสีสันของวัฒนธรรมและธรรมชาติ เช่น ความคล้ายกันของรูปทรงดอกไม้และลายเสื้อ ต้นบอนไซและสวนจำลองในที่พักชมทิวทัศน์ธรรมชาติ สีเขียวของขนมกับใบไม้ ลวดลายบนผ้ากิโมโน และภาพทิวทัศน์ติดฝาผนังที่หลอกตาให้นึกถึงธรรมชาติจริงๆ
รวมแล้วมิใช่ภาพของเอเชียอย่างที่มักคุ้น แต่เป็นภาพที่ชวนให้ฉุกคิดพิจารณา ซึ่งย่อมดีกว่าการมองแต่ด้านที่สวยงามอย่างเดียว ความเป็นคนนอกของผู้สะท้อนอาจทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนไปบ้าง เนื่องจากแต่ละคนย่อมสะดุดใจกับสิ่งที่กระทบต่อภูมิหลังประสบการณ์ส่วนตัวของตน แต่หากเปิดใจรับรู้มุมมองอื่นที่มีมา อาจทำให้คนในสังคมนั้นเข้าใจตนเองมากขึ้น.
[พิมพ์ครั้งแรก; Vote]