วัฒนธรรมบันเทิงในชาติไทย : การเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมบันเทิงในสังคมกรุงเทพฯ พ.ศ. 2491-2500 / ภัทรวดี ภูชฎาภิรมย์ / ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ, มกราคม 2550
ทศวรรษ 2490 เป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านมาสู่ยุคปัจจุบันของสังคมไทย ด้วยพื้นฐานสำคัญหลายด้านที่จัดวางไว้ตั้งแต่ตอนนั้น ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ก่อนที่จะพัฒนาต่อมา โดยแทบไม่เคยเปลี่ยนพื้นฐานเดิมนั้นเลย จะเปลี่ยนก็เพียงเครื่องทรงภายนอกเท่านั้น
เพราะฉะนั้น หากจะทำความเข้าใจกับสังคมไทยปัจจุบัน การย้อนกลับไปศึกษาพื้นฐานในเวลานั้นน่าจะให้คำตอบที่น่าพิจารณาไม่น้อย
ระหว่างปี พ.ศ. 2491-2500 สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จากก่อนหน้านี้ที่ปรับเปลี่ยนมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ตอนต้นรัตนโกสินทร์ ผ่านการปรับปรุงให้เทียมหน้าอารยประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5 จนมาถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 แต่ก็เป็นการวิวัฒน์แบบค่อยเป็นค่อยไป และไม่ได้ส่งผลทั้งสังคม เพราะโครงสร้างทางเศรษฐกิจยังไม่ขยับขยายมากนัก
แต่หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ดุลยภาพทางการเมืองระหว่างประเทศก็เปลี่ยนไป ยุโรปซึ่งเคยเป็นเจ้าอาณานิคมมาก่อนต้องยับเยินจากสงคราม ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งไม่ได้บอบช้ำจากสงครามโดยตรง และอยู่ในฐานะผู้ชนะ กลายเป็นมหาอำนาจผู้นำของประเทศฝ่ายเสรีประชาธิปไตย รัฐบาลไทยในเวลานั้นเลือกที่จะเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา และแสดงจุดยืนต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างชัดเจน ดังนั้นจึงได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอเมริกัน ทั้งทางด้านการทหาร เศรษฐกิจ และวิชาการ เพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เจริญเติบโตและมีกำลังพอที่จะเป็นหน้าด่านในการต่อต้านฝ่ายคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคนี้
กลุ่มอำนาจชั้นนำในสังคมไทยเวลานั้นก็ใช้การสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาเป็นกำลังในการยึดครองพื้นที่ทางการเมืองเหนือคนกลุ่มอื่นด้วย วัฒนธรรมอเมริกันจึงมีอิทธิพลต่อสังคมไทยเป็นอย่างมากนับแต่นั้น
ปัจจัยของการเปลี่ยนแปลงประการสำคัญมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
เห็นได้ชัดจากการเติบโตของกรุงเทพฯ จากก่อนหน้านี้ที่มีศูนย์กลางความเจริญอยู่ไม่เกิน 30 กิโลเมตร หรือแทบจะไม่ต่างจากหัวเมืองสำคัญอื่นๆ มากนัก ตอนนั้นเริ่มขยายพื้นที่ออกไปในทุกทิศทางอย่างรวดเร็ว ประชากรก็เพิ่มมากขึ้นจนระบบสาธารณูปโภครองรับไม่ทัน เกิดคนกลุ่มใหม่ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจ ด้วยโอกาสทางการค้าที่ต่างจากช่วงก่อนสงคราม กลุ่มคนที่มีการศึกษาก็เพิ่มมากขึ้น และยังมีกลุ่มคนจากต่างจังหวัดเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้เองที่เป็นผู้กำหนดแนวทางของวัฒนธรรมในสังคมแทนคนกลุ่มเดิม
หนังสือ “วัฒนธรรมบันเทิงในชาติไทย : การเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมบันเทิงในสังคมกรุงเทพฯ พ.ศ. 2491-2500” ของ ภัทรวดี ภูชฎาภิรมย์ เป็นงานศึกษาปัจจัยสัมพันธ์ของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในเวลานั้น โดยกำหนดหัวข้อไว้ที่วัฒนธรรมความบันเทิงหรือมหรสพของคนกรุงเทพฯ
งานศึกษาปูพื้นให้เห็นตั้งแต่วัฒนธรรมความบันเทิงแบบเดิมของสังคมไทยแต่เก่าก่อน ซึ่งสัมพันธ์กับประเพณีพิธีกรรม เช่น ดนตรีที่ใช้ในงานพระราชพิธี โขน หรือหนังใหญ่ อันเป็นเครื่องราชูปโภค ส่วนของชาวบ้านก็มีทั้งความบันเทิงเชิงพิธีกรรม และการร้องรำทำเพลงในชีวิตประจำวัน แต่วัฒนธรรมความบันเทิงของราชสำนักกับวัฒนธรรมความบันเทิงของราษฎรก็มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เมื่อราชสำนักรับเอารูปแบบของมหรสพจากชาวบ้านมาพัฒนาให้ประณีตงดงามเป็นแบบแผน แล้วย้อนกลับลงไปมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมบันเทิงของราษฎรอีกที เช่น ดนตรี ละคร หรือท่ารำต่างๆ
การรับอิทธิพลจากต่างชาติก็สำคัญ เพราะความน่าสนใจของมหรสพมักจะอยู่ที่ความแปลกใหม่ด้วย อย่างลิเกก็เป็นการแสดงที่พัฒนามาจากการสวดแขก แต่ได้รับการปรับปรุงให้เข้ากับรสนิยมของชาวบ้านอยู่เสมอ ดังนั้นจึงเป็นมหรสพที่ได้รับความนิยมตลอดมา
ระยะหลังอิทธิพลสำคัญคงหนีไม่พ้นวัฒนธรรมตะวันตก เพราะการดำเนินชีวิตของคนทั่วไปพัฒนาไปทางนั้น
จนมาถึงทศวรรษ 2490 วัฒนธรรมความบันเทิงในสังคมไทยเริ่มมีรูปแบบที่พบเห็นกันในปัจจุบันมากขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ วัฒนธรรมความบันเทิงที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นศิลปะที่สืบต่อมาจากราชสำนัก ทั้งบุคลากรและแบบแผน เพราะถือว่าเป็นศิลปะที่ได้รับการพัฒนาจนถึงขั้นคลาสสิกแล้ว สมควรจะได้รับการบำรุงรักษาไว้เป็นสมบัติและเอกลักษณ์ของชาติต่อไป กลุ่มต่อมาคือวัฒนธรรมความบันเทิงร่วมสมัย ซึ่งส่วนใหญ่รับรูปแบบมาจากสังคมตะวันตก แล้วนำมาดัดแปลงให้เข้ากับสังคมไทยสมัยใหม่ เช่น เพลงปลุกใจ หรือเพลงไทยสากลของวงสุนทราภรณ์ เป็นต้น ส่วนอีกกลุ่มคือวัฒนธรรมความบันเทิงของชาวบ้าน เช่น ลิเก และเพลงตลาดหรือเพลงลูกทุ่ง
เหล่านี้สะท้อนลักษณะของการอุปถัมภ์ ซึ่งแต่เดิมราชสำนักและชุมชนเป็นผู้อุ้มชูศิลปะประเภทต่างๆ ปัจจุบันรัฐบาลและตลาดผู้บริโภคเป็นคนสนับสนุน เพราะฉะนั้นรูปแบบก็ต้องตอบสนองต่อความต้องการ ซึ่งยังคงแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มนั่นเอง คือ วัฒนธรรมความบันเทิงตามแบบแผนที่ใช้จารีตเดิมเป็นมาตรฐาน เพื่อรักษาเอกลักษณ์ของความเป็นชาติ วัฒนธรรมความบันเทิงร่วมสมัยที่ใช้วัฒนธรรมตะวันตกเป็นมาตรฐาน ตามรูปแบบการใช้ชีวิตที่ดำเนินตามสังคมตะวันตก และวัฒนธรรมความบันเทิงของชาวบ้านที่ใช้วิถีชีวิตเป็นมาตรฐาน แม้จะรับอิทธิพลจากที่อื่นก็มักจะนำมาดัดแปลงให้เหมาะสมกับโลกทัศน์และความเป็นอยู่ของตน
แม้ทั้ง 3 กลุ่มนี้จะผสมปนเปกันบ้างในบางครั้ง แต่ต่อไปช่องว่างของความแตกต่างอาจจะห่างออกจากกันมากขึ้นเรื่อยๆ ตามลักษณะของความแตกต่างในสังคม กล่าวคือ เอกลักษณ์ของความเป็นชาติจะถูกท้าทายจากกระแสโลกาภิวัตน์ จนกลายเป็นเพียงสิ่งแปลกปลอมในชีวิตประจำวัน ขณะที่คนส่วนหนึ่งเข้าถึงและกลมกลืนไปกับกระแสโลกาภิวัตน์ จนการดำเนินชีวิตเป็นแบบตะวันตกโดยสมบูรณ์ แต่คนอีกส่วนหนึ่งยังคงอยู่ในสังคมแบบเดิมนั่นเอง
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าสังคมไทยจะสามารถพัฒนาเครื่องมือในการประสานและไกล่เกลี่ยความแตกต่างนั้นอย่างไร แต่ก็คาดได้ว่าน่าจะยืนอยู่บนพื้นฐานเดิมเป็นหลัก เพราะฉะนั้นจึงต้องทำความเข้าใจกับรากเหง้าของสังคมไทยให้ถ่องแท้ หากจะดำรงชีวิตอยู่ในสังคมนี้อย่างเป็นปกติสุข.
[พิมพ์ครั้งแรก: Vote]
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น