เส้นทางสู่ศิลปะ (The Way to Art) / นักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาจิตรกรรม คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร / หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, 21 เมษายน – 6 พฤษภาคม 2554
[ศุภวัฒน์ วัฒนภิโกวิท “ตามกำลังสัตว์ทา” สีน้ำมันบนผ้าใบ, 120x160 ซม.]
การศึกษาศิลปะในระดับมหาบัณฑิตหรือปริญญาโท เน้นไปที่การค้นคว้าทดลอง เพื่อให้ผู้เรียนค้นพบแนวทางของตัวเอง หลังจากผ่านการเรียนพื้นฐานในระดับปริญญาตรีมาแล้ว คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นสถาบันเก่าแก่ที่วางรากฐานและเป็นศูนย์กลางของศิลปะร่วมสมัยมาช้านาน แนวทางการสอนก็มีมาตรฐานเข้มข้นเป็นระบบชัดเจน
“เส้นทางสู่ศิลปะ” (The way to art) เป็นการแสดงผลงานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาภาควิชาจิตรกรรมปีล่าสุด จำนวน 10 คน จะเห็นผลงานที่เป็นการประมวลผลของการค้นคว้าทดลองระหว่างการเรียน เห็นกระบวนการคิดและกระบวนการทำงาน ตลอดจนเห็นตัวตนในฐานะมนุษย์ของศิลปินผู้สร้างงาน และเห็นสภาพสังคมแวดล้อมที่สะท้อนแฝงอยู่ด้วย
ผลสำเร็จที่เห็นได้ชัดอย่างแรกคือทักษะทางเทคนิค ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้แสดงคุณค่าเชิงผัสสะออกมาได้ตามที่ผู้สร้างงานต้องการ นักศึกษาต่างมีความสามารถเชี่ยวชาญในแนวทางที่ตนสนใจและถนัด ทำให้งานศิลปะที่สร้างสรรค์ขึ้นมามีคุณค่าทางสุนทรียะ ส่วนความคิดริเริ่มนั้นพอจะมีอยู่บ้าง และเป็นเรื่องของอนาคตที่แต่ละคนจะต้องขับเคี่ยวตนเอง นำรวมประสบการณ์กลั่นกรองออกมาเป็นเนื้อแท้ของชีวิตและศิลปะ
เบื้องต้นของการสร้างสรรค์งานศิลปะคือแรงขับของความคับข้องใจหรือความต้องการที่ถูกขัดขวางอยู่ภายใต้จิตสำนึก และศิลปินก็คือผู้ปรับเปลี่ยนความขัดแย้งในพฤติกรรมของมนุษย์ให้แสดงออกมาเป็นความงามทางอารมณ์ ผลงานของนักศึกษาแต่ละคนบ่งบอกว่าพวกเขามิได้เป็นเพียงผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิค เหมือนเช่นการศึกษาในระดับพื้นฐาน แต่ยังอาศัยแรงขับของสัญชาตญาณในการขับเคลื่อนออกมาเป็นผลผลิตทางศิลปะ นั่นเองที่ทำให้ผลงานของพวกเขามีพลัง
มองอย่างผิวเผินอาจเห็นเพียงสไตล์หรือกระบวนแบบที่สะดุดตา อย่างเช่นงานจิตรกรรม Super Realism ของ พีรนันท์ จันทมาศ ซึ่งขยายภาพถ่ายอาหารขึ้นมาเป็นงานจิตรกรรมขนาดใหญ่ข่มความรู้สึก แต่เนื้อหาในภาพสีสันจัดจ้านนั้นคือความจริงที่ถูกขยายขึ้นมาให้ตระหนก ไม่คุ้นตาด้วยขนาดที่ใหญ่เกินจริงไปมาก และสะท้อนความวิตกกังวลในใจมากกว่าที่จะเชิญชวนให้อยากกิน
งานสื่อผสมของ วรรณพล แสนคำ ใช้ยางพาราทาเคลือบลงไปบนวัตถุที่ทำให้ระลึกถึงคนที่ผูกพันและอดีตที่ผ่านพ้น เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ตู้ หน้าต่าง เหมือนจะทำแม่พิมพ์หล่อ แต่ก็เพียงลอกออกมา และจัดวางพร้อมวัตถุต้นแบบ เหมือนเป็นเงาของความทรงจำที่ปรากฏ ด้วยสีหม่นหมองและพื้นผิวผุกร่อนของแม่พิมพ์ที่ลอกออกมา สะท้อนถึงความทรงจำที่พร่าเลือนและแหว่งวิ่น เช่นเดียวกับกาลเวลาที่ไหลผ่าน มิอาจฉวยคว้าอะไรให้คงทน ไม่ว่าในโลกของความเป็นจริงและความทรงจำ
เช่นเดียวกับงานจิตรกรรมของ วัลลภัคร แข่งเพ็ญแข ซึ่งเป็นภาพเด็กทารกนอนหลับ ขยายขึ้นมาใหญ่โตเกินขอบ เห็นเพียงบางส่วนของใบหน้าและท่าทางทุรนทุราย เหมือนกำลังอยู่ในความฝัน แสดงฝีแปรงหยาบกระด้างสีสันหม่นมัว ปล่อยพื้นหลังโล่งว่าง มีวัตถุเช่นโต๊ะเก้าอี้อยู่ในอาการคล้ายเคลื่อนไหวเล่นกันในจินตนาการ เป็นเนื้อหาในเชิงจิตวิเคราะห์
น่าสนใจว่าแทบไม่มีนักศึกษาคนไหนทำงานในรูปแบบนามธรรมบริสุทธิ์ หรือแสดงความงามขององค์ประกอบศิลป์อย่างเดียวโดยไม่เกี่ยวพันกับชีวิตเลย อย่างน้อยก็ต้องมีรูปลักษณ์ที่อ้างอิงโลกแห่งความเป็นจริง หรืออ้างอิงกระบวนการทำงานที่เกี่ยวพันกับชีวิตความเป็นอยู่
อย่างงานจิตรกรรม Super Realism ของ นักรบ กระปุกทอง ขยายภาพถ่ายธรรมชาติที่ถูกรุกรานทำลายโดยเครื่องจักรกล แสดงรายละเอียดด้วยพื้นผิวอันเป็นเทคนิคของจิตรกรรม เพื่อขยายความรู้สึกหยาบกระด้างขึ้นมา เป็นภาพที่อาจพบเห็นได้ในทุกท้องถิ่น แต่เมื่อศิลปินนำมาขยายเก็บรายละเอียดด้วยความใส่ใจ (เหลือเกิน) พลังของงานจิตรกรรมที่เหมือนจริง (เหลือเกิน) ก็ชวนให้ใครต่อใครต้องหยุดพิจารณาไปด้วย
งานจิตรกรรมของ รณชัย กิติศักดิ์สิน ตัดต่อภาพวัตถุในความทรงจำมาประกอบเข้าด้วยกันในบรรยากาศฟุ้งฝันของจินตนาการ แต่ปรากฏอยู่ในอาการซ้อนเหลื่อมพร่าเลือนไม่ชัดเจน ขณะที่งานจิตรกรรมของ เกรียงไกร กุลพันธ์ อ้างอิงรูปแบบจิตรกรรมประเพณีท้องถิ่น เพื่อเล่าขานนิทานพื้นบ้าน อันเป็นสัญลักษณ์สะท้อนความในใจของศิลปินอีกชั้นหนึ่ง
ความจริงที่ประจักษ์เห็นในผลงานทั้งหมด ล้วนเป็นปัญหาเรื่องการดำรงอยู่ของมนุษย์ เป็นปรากฏการณ์ที่ศิลปินพบเห็นในการสำรวจชีวิตและสังคม และตระหนักถึงความคับข้องในตนเอง บ่งบอกว่ามโนภาพของความเป็นมนุษย์ที่พร่องไม่สมบูรณ์ซึ่งศิลปะหลังสมัยใหม่ฉายให้เห็น เข้ามามีบทบาทแม้ในสถาบันที่มีรากฐานของหลักวิชาแน่นหนา และเป็นฐานที่มั่นของศิลปะสมัยใหม่ซึ่งเชิดชูความสง่างามของมนุษย์ ผ่านคตินิยมที่แสดงความงามบริสุทธิ์ของกระบวนแบบหรือเทคนิคอันล้ำเลิศ
มิได้หมายความว่าจะหย่อนยานเรื่องชั้นเชิงฝีมือ แต่การเรียนที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการคิด ขับเน้นให้ผู้เรียนต้องใส่ใจต่อเนื้อหานอกเหนือจากรูปแบบภายนอก กล่าวคือนอกจากความงามที่มองเห็น ยังต้องมีความงามที่นึกเห็นด้วย ความงามในมโนคติจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีความรู้สึกหรือปัญญาให้สัมผัสถึงหรือรองรับ
การคิดของศิลปินทัศนศิลป์อาจไม่ได้จำกัดด้วยถ้อยคำ แต่คิดด้วยภาพหรือจินตทัศน์ ซึ่งจะเปิดกว้างต่อการตีความ ภาพเหล่านั้นอาจเป็นสัญลักษณ์ที่ซ่อนเร้นความหมายหลากหลาย และเปิดกว้างต่อปฏิสัมพันธ์ มีลักษณะส่วนตัว หรือตอบสนองต่อความเคลื่อนไหวในสังคม ซึ่งนอกจากจะแสดงบุคลิกลักษณะของศิลปินแล้ว ยังบอกการเห็นแจ้งของศิลปินด้วย
งานจิตรกรรมของ พิเชษฐ บุรพธานินทร์ ประกอบภาพสิ่งก่อสร้างทางสถาปัตยกรรมในลักษณะเสื่อมพังไม่มั่นคง บอกถึงการเห็นอนิจจังในแก่นสาร งานจิตรกรรมของ ศุภวัฒน์ วัฒนภิโกวิท เล่นกับมายาคติของสัญลักษณ์ในพระพุทธศาสนา เพื่อแสดงแก่นธรรมในด้านกลับผ่านการวิพากษ์ งานจิตรกรรมของ สุเมธ พัดเอี่ยม เป็นงานกึ่งนามธรรมที่สะท้อนจินตภาพแทนรูปทรงของจิต และงานสื่อผสมของ สุนทรี เฉลียวพงษ์ ก็ใช้เทคนิคของงานเย็บปักถักร้อยมาถ่ายทอดห้วงความรู้สึกภายในของผู้หญิง แม้จะปรากฏเป็นภาพนามธรรมไร้รูปลักษณ์ แต่ร่องรอยของการถักร้อยก็ให้ระลึกถึงสิ่งที่คุ้นคล้ายในชีวิตประจำวัน
แรงจูงใจของศิลปินทำให้เขากระหายที่จะถ่ายทอดทัศนภาพภายในของตนออกมา หากเป็นไปอย่างเที่ยงแท้ก็จะแทนทัศนภาพภายในของผู้อื่นด้วย การค้นหาเพื่อทำความเข้าใจของศิลปินจึงเป็นการสะสางปัญหาของผู้อื่นไปพร้อมกัน.
[พิมพ์ครั้งแรก: Vote]