วันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2554
วิรุณ ตั้งเจริญ : เจตคติในรูปนาม
รูป นาม ความคิด (Abstract Applied Attitude) / วิรุณ ตั้งเจริญ / แกลเลอรี่ g23 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 4 กุมภาพันธ์ – 22 พฤษภาคม 2554
[“The Same Piece of Charcoal II” สีน้ำมันบนผ้าใบ, ปี 2552]
งานนิทรรศการศิลปะ “รูป นาม ความคิด” (Abstract Applied Attitude) ของ วิรุณ ตั้งเจริญ เป็นหนึ่งในกิจกรรมเปิดพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรมแห่งใหม่ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ทั้งแกลเลอรี่ g23 และศูนย์ศิลปกรรมแห่งประเทศไทย “SWUACT” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่บริการและนวัตกรรม “SWUNIPLEX” ริมถนนอโศกมนตรี ศูนย์กลางธุรกิจที่สำคัญแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร
ด้วยอรรถประโยชน์ครบวงจรทั้งด้านการศึกษา บริการสาธารณะ การจัดแสดงและพัฒนานวัตกรรม บริเวณนี้ย่อมกลายเป็นแหล่งความรู้และกิจกรรมสร้างสรรค์ที่สำคัญในอนาคต อย่างศูนย์ศิลปกรรมก็ครอบคลุมทั้งงานทัศนศิลป์ ดนตรี ศิลปะการแสดง แฟชั่น เครื่องประดับ มัลติมีเดียและแอนิเมชั่น มีหอศิลป์และห้องจัดแสดงครบครัน
ปัจจุบัน ศ.ดร.วิรุณ ตั้งเจริญ ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มีบทบาทเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัย กำหนดแนวทางดำเนินนโยบาย ก่อนหน้านี้เขาเป็นที่รู้จักในฐานะนักการศึกษาและนักการศิลปะที่ขยันขันแข็ง ทำกิจกรรมและมีผลงานมากมาย ทั้งในบทบาทของนักวิชาการ อาจารย์ และผู้บริหาร นักกิจกรรมเพื่อสังคม บรรณาธิการ และนักวิจารณ์ศิลปะ ตลอดจนบทบาทของศิลปิน กวี และนักเขียน
แม้ทำงานหลากหลาย แต่ทั้งหมดก็ขมวดอยู่ในเจตคติเดียวกัน นั่นคือความสนใจต่อองค์ความรู้และพัฒนาการศึกษา
งานศิลปะของวิรุณจึงมิได้อยู่ในฐานะปัจเจกศิลปินเพียงลำพัง แต่ยังคาบเกี่ยวกับบทบาทด้านอื่น และแฝงเจตคติจากแนวทางความคิดของเขาโดยตลอด
“รูป นาม ความคิด” เป็นนิทรรศการที่รวบรวมและคัดสรรผลงานจิตรกรรมของวิรุณในแต่ละช่วงเวลามาจัดแสดง นับแต่อดีตถึงปัจจุบัน รวมเวลากว่า 30 ปี เพื่อให้เห็นตัวตนของเขา พัฒนาการของรูปแบบและเนื้อหา ตลอดจนสภาพสังคมตามยุคสมัยที่สะท้อนอยู่ในการแสดงออกของเขา
ด้วยบทบาทที่ผ่านมา ต้องนับว่าเขาเป็นแรงกระเพื่อมหนึ่งในแวดวงศิลปะร่วมสมัย และถือว่าเป็นตัวแทนของความคิดอีกฟากฝั่งหนึ่งทั้งทางวิชาการและปฏิบัติ
กล่าวโดยทั่วไปแล้ว งานจิตรกรรมของวิรุณจัดอยู่ในแนวแบบ Abstract Expressionism ตามอิทธิพลของศิลปะอเมริกันในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ที่แตกต่างออกมาคืองานของเขาแฝงเนื้อหาสะท้อนชีวิตและสังคมไว้ในเจตคติหรือท่าทีด้วย
เป็นท่าทีที่อยู่ตรงข้ามกับกระแสหลักของศิลปะร่วมสมัยในยุคสมัยที่ผ่านมา ซึ่งเน้นความช่ำชองของทักษะฝีมือตามหลักวิชา และเชิดชูความงามบริสุทธิ์ไว้เหนือคุณค่าด้านอื่น
กล่าวได้ว่าแนวนิยมกระแสหลักก็คือความคิดแบบ “ศิลปะเพื่อศิลปะ” ขณะที่จุดยืนของวิรุณจะอยู่อีกฟากฝั่งหนึ่ง คือแนวคิดแบบ “ศิลปะเพื่อชีวิต”
แม้ทั้งสองฝ่ายจะเคยปะทะกันทางความคิดบ้าง แต่เอาเข้าจริงแล้วแทบไม่มีหลักเกณฑ์อะไรแยกออกจากกัน กระทั่งตัวงานก็ปะปนกันอยู่ทั้งสองกลุ่ม จะต่างกันเพียงการแสดงความคิดเชิงสังคมและการเมือง แต่ก็ไม่ส่งผลต่อรูปแบบการทำงานมากนัก
ทางฝ่าย “ศิลปะเพื่อชีวิต” อาจจะด้อยกว่าด้วยซ้ำ เพราะให้ความสำคัญกับคุณภาพของตัวงานน้อยกว่า และกลบเกลื่อนอยู่ภายใต้การแสดงความคิด แต่ก็ไม่ได้เป็นอุดมคติที่มีหลักการชัดเจน
อย่างวิรุณก็เป็นผลผลิตของการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเร่งรัดในยุคสงครามเย็น แนวคิดทางการศึกษารวมถึงแนวแบบในการทำงานศิลปะของเขาก็อยู่ในรอยทางแบบเสรีนิยม สำนึกเชิงสังคมที่แฝงอยู่อาจจะมาจากความตระหนักในสาระความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพที่ไม่เท่าเทียมกัน รวมถึงความขัดแย้งเชิงโครงสร้างของสังคม
งานจิตรกรรมของวิรุณจึงไม่ปลอดโปร่งหรือแสดงความงามบริสุทธิ์ของทัศนธาตุทางศิลปะ แต่จะรกเลอะไปด้วยฝีแปรงหรือรูปลักษณ์ที่ก่อกวนความรู้สึก เหมือนจะชวนให้คิด ภาพนามธรรมของโครงสร้างรูปทรงที่ถูกทำลายจนเหลือเพียงเค้าร่างที่คุ้นคล้าย แรงด้วยสีและเส้นฝีแปรงทึบหนา ทับซ้ำฉับพลัน ทิ้งร่องรอยพื้นผิวหยาบเปื้อน ปล่อยพลังจากจิตใต้สำนึกออกมา และปล่อยให้ปรากฏอยู่เช่นนั้น
เค้าร่างที่คล้ายจะเป็นหน้าคน ร่างผู้หญิงเปลือย ทิวทัศน์ ท้องทุ่ง หรือชุมชนแออัด กระทั่งรูปทรงในมโนคติ แทบจะดูไม่ออกว่าเป็นภาพอะไร แต่ก็คล้ายจะมีเรื่องเล่าแฝงอยู่ในการเคลื่อนไหวนั้น เป็นภาษาที่แสดงออกด้วยเส้นสีฝีแปรง มิใช่ตัวอักษร
บางภาพมีนัยของการวางจังหวะในลักษณะกวีนิพนธ์
ความขุ่นข้องที่ปาดป้ายปะปนขัดแย้งอยู่ในสีสันสดใสนั้นบ่งบอกถึงความวิตกกังวล แม้ไม่ได้บอกเล่าเรื่องราวแต่ก็บอกความรู้สึก
มีความเป็นนักคิดอยู่ในการแสดงออกทางศิลปะของวิรุณ นั่นเป็นข้อจำกัดให้เขาไม่อาจปลดปล่อยตัวเองไปตามสัญชาตญาณได้อย่างอิสระ หลายชิ้นงานจึงเห็นถึงความคาดหมาย มิใช่การค้นพบ หากเขาเป็นตัวแทนของแนวคิดทางศิลปะในกลุ่มพวกหนึ่ง มันก็บอกถึงข้อบกพร่องอย่างสำคัญในแนวทางนั้น
นั่นคือการคาดหมายความจริง มิใช่การค้นพบความจริง
งานจิตรกรรมของวิรุณเป็นการแสดงความรู้สึกเชิงจิตวิสัย ปลดปล่อยความรู้สึกภายในของศิลปิน แม้จะมีตัวแบบจากวัตถุวิสัยในโลกของความเป็นจริง แต่ก็ผ่านกระบวนการบิดผันในตัวตนออกมาแล้ว ต้นแบบของศิลปะทำนองนี้เป็นจิตใจแบบสมัยใหม่ที่เชิดชูปัจเจกภาพเป็นสำคัญ แต่อารมณ์สะเทือนใจของศิลปินก็หาใช่มาจากการหมกมุ่นอยู่แต่ตัวเองเท่านั้น สำนึกเชิงสังคมก็มีผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของศิลปินได้เหมือนกัน
เป็นสำนึกในความรู้สึกของมนุษย์มากกว่าสำนึกเชิงศีลธรรม เป็นกระบวนการรู้คิดที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าจากปรากฏการณ์ที่รู้เห็น และเป็นร่องรอยของธรรมชาติความเป็นมนุษย์ท่ามกลางความเจริญและความเสื่อมของวัตถุภายนอก
งานศิลปะของวิรุณบอกมิติความเป็นมนุษย์ในตัวเขา เช่นเดียวกับบทกวีและงานวรรณกรรมของเขา การเติบโตมาในยุคแสวงหา ก่อนที่จะรวมกลุ่มทำกิจกรรมเชิงสังคม หล่อหลอมให้จิตสำนึกของเขาแข็งแกร่ง แม้จะทำงานราชการ แต่ก็ประสบความสำเร็จในวิชาชีพโดยไม่สูญเสียความเป็นตัวเอง
การสร้างสรรค์งานศิลปะไม่จำกัดอยู่กับช่วงวัย นอกเหนือจากภารกิจที่ต้องทำ หนทางแห่งศิลปินจึงยังคงทอดยาวสำหรับ วิรุณ ตั้งเจริญ.
[พิมพ์ครั้งแรก: Vote]
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น