วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2554

นาม (ไร้รูป) : เนื้อแท้และที่มา

นาม (ไร้รูป) / ชำเรือง วิเชียรเขตต์, นนธิวรรธน์ จันทนะผะลิน, อินสนธิ์ วงศ์สาม, เข็มรัตน์ กองสุข / หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, 14 กรกฎาคม – 18 กันยายน 2554

อนุสาวรีย์แห่งความทรงจำ, เข็มรัตน์  กองสุข

[“อนุสาวรีย์แห่งความทรงจำ” เข็มรัตน์ กองสุข, ปูนปลาสเตอร์ระบายสี 250x120x120 ซม. ปี 2538]

การจัดนิทรรศการศิลปะที่มีเจตนาเพื่อนำเสนอองค์ความรู้และความเข้าใจในศิลปะ และให้การศึกษาที่เป็นระบบแบบแผน มีให้เห็นไม่มากนัก นิทรรศการ “นาม (ไร้รูป)” (Finding Abstraction) เป็นโครงการนำร่องของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อนำเสนอนิทรรศการที่อ้างอิงประวัติศาสตร์ศิลปะร่วมสมัย พัฒนาขึ้นมาจากงานวิจัยของ ผศ.ทักษิณา พิพิธกุล เรื่อง “การศึกษาประติมากรรมนามธรรมของศิลปินสมัยใหม่ไทย: กรณีศึกษาผลงานประติมากรรมของ ชำเรือง วิเชียรเขตต์, นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน, อินสนธิ์ วงศ์สาม และเข็มรัตน์ กองสุข ในช่วงปี พ.ศ.2508-2549” รวบรวมผลงานชิ้นเอกของศิลปินชั้นครูทั้ง 4 ท่าน มาจัดแสดงตามเนื้อหาของงานวิจัย

ชำเรือง วิเชียรเขตต์, อินสนธิ์ วงศ์สาม และนนธิวรรธน์ จันทนะผะลิน เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ด้านประติมากรรม ประจำปี 2539 ปี 2542 และปี 2549 ตามลำดับ ส่วน เข็มรัตน์ กองสุข เป็นศิลปินชั้นเยี่ยม สาขาประติมากรรม จากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ปี 2538 ทั้ง 4 ท่านล้วนมีชื่อในการบุกเบิกสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมในแบบนามธรรมจนได้รับการยกย่อง และแต่ละท่านก็มีแนวคิดและลักษณะเฉพาะตัวอันโดดเด่นน่าศึกษา

ศิลปะนามธรรม (abstract art) เป็นศิลปะที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยไม่ได้จำลองรูปลักษณ์หรือถ่ายแบบจากสิ่งที่พบเห็นในโลกแห่งความเป็นจริง แต่แสดงความงามของทัศนธาตุทางศิลปะในตัวมันเอง เหมือนดนตรีบรรเลงที่ปราศจากเนื้อร้อง และแสดงเนื้อแท้ของท่วงทำนองในตัวเอง แยกย่อยได้หลายประเภทตามลักษณะความสำคัญที่ศิลปินขับเน้น ขณะที่ผู้ชมก็มีอิสระในการตีความหรือซาบซึ้งกับความงามได้ตามแต่แลเห็น

เบื้องต้นศิลปะนามธรรมแบ่งตามลักษณะของรูปทรงได้ 2 ประเภท คือ รูปทรงเรขาคณิต (geometric) กับรูปทรงอิสระ (free form)

สำหรับนิทรรศการ “นาม (ไร้รูป)” แบ่งรูปแบบของผลงานออกเป็น 5 กลุ่ม ตามที่มาของกระบวนการสร้างงาน คือ “การสร้างสรรค์งานนามธรรมจากรูปทรงมนุษย์” “การสร้างสรรค์งานนามธรรมจากรูปทรงอินทรีย์รูป” “การสร้างสรรค์งานนามธรรมรูปทรงเรขาคณิต” “การสร้างสรรค์งานนามธรรมรูปทรงเรขาคณิต ผสมกับรูปทรงอินทรีย์รูป” และการสร้างงานจาก “อุดมคติและความเชื่อ”

เนื่องจากการศึกษาวิชาประติมากรรมพื้นฐาน ต้องเรียนรู้รูปทรงมนุษย์ก่อน ช่วงแรกของการสร้างสรรค์งานประติมากรรมนามธรรมในบ้านเราจึงเป็นการคลี่คลายมาจากรูปทรงคน ดังเช่นผลงาน “กลุ่ม” (ปี 2508) ของ ชำเรือง วิเชียรเขตต์ ซึ่งได้รับรางวัลเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง จากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 16 และถือว่าเป็นการบุกเบิกประติมากรรมนามธรรมให้เป็นที่ยอมรับกันครั้งแรก ยังเป็นการพัฒนารูปทรงมาจากรูปคนยืนเกาะกันเป็นกลุ่ม แล้วลดทอนลงจนเหลือเพียงเค้าร่าง ปรับแต่งให้กลมกลืนในจังหวะโค้งเว้าล้อรับกันคล้ายระลอกคลื่น กลายเป็นรูปทรงบริสุทธิ์ในอุดมคติที่มีชีวิตชีวา

นอกจากรูปทรงคน แรงบันดาลใจจากรูปทรงในธรรมชาติก็เป็นพื้นฐานการสร้างสรรค์ของประติมากรไทยไม่น้อย ดังเช่นผลงานของ นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน ซึ่งนิยมใช้รูปทรงอิสระแบบอินทรีย์รูป (organic form) ในการแทนความรู้สึกงอกงามและเอิบอิ่มสมบูรณ์ อย่างผลงาน “เติบโต” (ปี 2515) ซึ่งนนทิวรรธน์ใช้รูปทรงกลมมาเกาะกลุ่มยึดโยงยืดขยายเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืนและกลมกลึง ละม้ายทรวงอกผู้หญิงหรือผลไม้เต็มอิ่ม จนกลายเป็นความงามในอุดมคติที่สมบูรณ์ในตัวเอง

อันที่จริงในทางประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่สากล ศิลปะนามธรรมพัฒนามาจากรูปทรงเรขาคณิต ตามปรัชญาสมัยใหม่ที่เห็นว่าเป็นรูปทรงโครงสร้างพื้นฐานของสรรพสิ่ง แต่ศิลปินไทยยังนิยมใช้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติมากกว่าการคิดวิเคราะห์ด้วยเหตุผล เท่าที่นิทรรศการนี้ยกตัวอย่างมาก็คืองานประติมากรรมนามธรรมชุด “ใต้ทะเล” (ปี 2511) ของ อินสนธิ์ วงศ์สาม ซึ่งเป็นแบบจำลองประติมากรรมเชื่อมโลหะที่ศิลปินตั้งใจจะนำไปวางใต้ทะเล เมื่อครั้งที่เขายังทำงานศิลปะอยู่ที่นิวยอร์ค และได้รับแรงบันดาลใจของรูปทรงเรขาคณิตมาจากสภาพแวดล้อมของเมืองใหญ่และเครื่องจักรอุตสาหกรรม

การสร้างสรรค์งานประติมากรรมรูปทรงเรขาคณิตผสมกับรูปทรงอินทรีย์รูปดูเหมือนจะประสบความสำเร็จและมีพลังมากกว่า ดังจะเห็นได้จากผลงานของศิลปินหลายท่านในเวทีการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ซึ่งตัวแทนของประติมากรในแนวทางนี้ที่โดดเด่นอยู่แถวหน้าก็คือ เข็มรัตน์ กองสุข อย่างเช่นผลงาน “การผนึกของรูปทรงหมายเลข 6” เป็นงานแกะหินที่แสดงความขัดแย้งกันของรูปทรงอิสระที่เหมือนจะเคลื่อนไหวขยับขยายกับรูปทรงเรขาคณิตที่เป็นกรอบจำกัดขอบเขตแน่นอน ผลก็คือรูปทรงที่ซ้อนเหลื่อมคลาดเคลื่อน เหมือนจะมีพลังที่บีบรัดและขยายออกไปพร้อมกัน

อย่างไรก็ตามประติมากรไทยก็ยังคงมีอุดมคติและความเชื่อที่แนบแน่นอยู่กับวัฒนธรรมไทยอย่างลึกซึ้ง และส่งสะท้อนออกมาในผลงาน แม้ว่าจะเป็นประติมากรรมนามธรรมก็ตาม ตั้งแต่รูปทรงที่นิยมความโค้งมนกลมกลืนอ่อนช้อยอย่างศิลปะประเพณี ดังที่เห็นในพุทธศิลป์สมัยสุโขทัย หรือการใช้วัสดุอย่างการหล่อสำริด ซึ่งเป็นความชำนาญของช่างศิลป์ไทยมาแต่เดิม

มิเพียงนั้น ประติมากรแต่ละท่านยังศึกษาพุทธปรัชญา และนำมาสื่อสร้างเป็นผลงานได้อย่างน่าสนใจ อาจเป็นเพราะว่าด้วยอาชีพประติมากรต้องทำงานเกี่ยวข้องกับศาสนาอยู่บ้าง และพุทธศิลป์ไทยแต่เดิมก็ใช้รูปทรงและสัญลักษณ์ในลักษณะนามธรรมอยู่แล้ว

อย่างศิลปินแต่ละท่านในนิทรรศการครั้งนี้ก็ได้นำทักษะความชำนาญในทางประติมากรรมของตนมาใช้สื่อถึงอุดมคติและความเชื่อดังกล่าวไม่มากก็น้อย เช่น ผลงาน “สุญญตา” (ปี 2537) ของ ชำเรือง วิเชียรเขตต์ ซึ่งใช้วงกลมและพื้นผิวขรุขระหลอมละลาย แทนความว่างเปล่าไม่เที่ยงแท้ หรือผลงาน “อนุสาวรีย์แห่งความทรงจำ” (ปี 2538) ของ เข็มรัตน์ กองสุข ก็ใช้รูปทรงของเจดีย์พานพุ่มผ่ากลาง เพื่อเผยให้เห็นภายในที่บิดผัน สร้างความรู้สึกสะเทือนใจด้วยรูปลักษณ์จากศิลปะประเพณีที่แทนความเคารพผูกพัน และต้องฉีกขาดออกจากกัน

งานนิทรรศการนี้แสดงให้เห็นว่า งานศิลปะนามธรรมมิได้แยกห่างออกจากชีวิตและสังคม หากศิลปินได้แปรแปลงประสบการณ์ทางโลกของตน ผ่านกระบวนการสังเคราะห์ เป็นตัวงานที่แสดงความงามบริสุทธิ์ ซึ่งไม่ได้เกาะเกี่ยวกับความหมายทางโลก แต่เป็นการสื่อสารด้วยคุณสมบัติภายในของทัศนธาตุทางศิลปะนั่นเอง

ความเข้าใจเช่นนี้เป็นประตูบานสำคัญที่เปิดสู่การเข้าถึงศิลปะ.

[พิมพ์ครั้งแรก: Vote]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น